พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502)/ผู้วายชนม์
ประวัติพลโท พระยากลาโหมราชเสนา ตามที่กล่าวมานี้เป็นข้อความที่พระยากสิภูมิพิทักษ์ (เจิม สาริกานนทื) รับฉันทะจากคุณหญิงกลาโหมราชเสนานำมาให้ข้าพเจ้าช่วยตรวจดูหรือจะแก้ไขอะไรบ้างก็แล้วแต่จะเห็นสมควร ข้าพเจ้ายินดีรับสนอง เพราะจะเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าได้สำแดงความเคารพระลึกถึงเป็นปฏิการะแด่ท่านเจ้าคุณกลาโหมราชเสนาในฐานะที่ท่านเคยมีไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนิทัศนอุทาหรณ์อันดีของผู้ใหญ่ที่มีต่อผู้น้อย
ข้าพเจ้าได้อ่านประวัติพลโท พระยากลาโหมราชเสนา ตลอดแล้ว เห็นว่าเรียงไว้เรียบร้อยดี คงมีแก้และตกเติมบ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น แต่ในประวัติมิได้กล่าวข้อความลางประการเกี่ยวกับพระยามหาเทพ (ทองปาน) ผู้ซึ่งเป็นปู่ของพลโท พระยากลาโหมราชเสนา และเป็นต้นสกุลปาณิกบุตร ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือพบเรื่องเกี่ยวกับพระยามหาเทพ (ทองปาน) ว่า เมื่อครั้งเป็นจมื่นราชามาตย์ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมาก เพราะ “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” ซึ่งเป็นความจริง ในสมัยนั้นถึงกับมีผู้แต่งเพลงยาวค่อนแคะพระยามหาเทพ (ทองปาน) ว่า “มิเสียทีที่เขามีวาสนา แต่เห็น ๆ ที่ได้เป็นขุนนางมา ไม่เหมือนราชามาตย์ในชาตินี้” เป็นต้น อนึ่ง ข้าพเจ้าเคยกราบเรียนท่านถึงเรื่องวัดดาวดึงษ์ที่อยู่ใต้ปากคลองบางยี่ขัน จังหวัดธนบุรี ซึ่งพระยามหาเทพ (ทองปาน) เป็นผู้สร้างใหม่ในวัดเดิม ว่าชำรุดทรุดโทรมมาก น่าเสียดายภาพจิตรกรรมที่มีอยู่จะต้องเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ท่านตอบว่า ท่านก็ทราบและหนักใจอยู่เหมือนกัน แต่การที่จะบูรณะให้คงสภาพของเดิมเห็นจะยาก ที่ท่านกล่าวนี้ข้าพเจ้าก็เห็นใจ เพราะเท่ากับบูรณะร่างกายที่เก่าชราคร่ำคร่าแล้วให้กลับมีสภาพเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยอีก ถึงไม่ต้องบอกใคร ๆ ก็ทราบว่าทำไม่ได้
บัดนี้ท่านเจ้าคุณกลาโหมราชเสนาได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว สังขารซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งเป็นรูปร่างของท่านเป็นร่างกายซึ่งเคยมีชีวิตและจิตใจ ก็กลายเป็นแต่สรีระร่างอย่างเดียว แต่คุณธรรมอันเป็นเกียรติประวัติของท่านจะคงอยู่ต่อไป เสมือนหนึ่งเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่มอบให้แก่อนุชนรุ่นหลังจะได้พยายามอนุวรรตตาม
สพฺเพเตว ชราธมฺมา | เภทธมฺมา จ เกวสา | |
อจฺจยนฺติ จ สพฺเพเต | สพฺเพสํว ปุนพฺภโว |
(สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ย่อมทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกทำลายไปเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปล่วง ย่อมมีภพใหม่)
ด้วยอำนาจคุณงามความดีพร้อมทั้งกุศลบุญราศีที่คุณหญิงกลาโหมราชเสนาได้บำเพ็ญเป็นทักษิณานุปทานอุทิศให้ด้วยความอาลัยระลึกถึงนานัปการ จงรวมกันบันดาลให้พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ประสบแต่อิฐวิบูลมนูญผลตลอดไปในภพใหม่ภพหน้าโน้นเทอญ.
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพลโท พระยากลาโหมราชาเสนาเมื่อยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร
(จากซ้าย) | พระศัลยุทธวิธีกรร | (ภายหลังต่อมาเป็นพระยาสุรเสนา) |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ | กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช | |
นายร้อยเอก เล็ก | (พลโท พระยากลาโหมราชเสนา) | |
นายร้อยโท ฮวด | (พระยาดำรงแพทยาคุณ) |
พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ถ่ายเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นประธานในพิธียืนชิงช้า พ.ศ. ๒๔๗๑
พลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) เป็นบุตรชายคนเล็กของพันโท พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (เทศ) และนางพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (ปริก) เกิดที่บ้านริมวัดดุสิตาราม จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๒ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๖ คน คือ
- หม่อมละม้าย เกษมศรี ต.จ. ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ (ถึงแก่กรรม)
- เป็นหญิงชื่อละมุน (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)
- หม่อมเล็ก (ละม่อม) สุขสวัสดิ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช (ถึงแก่กรรม)
- เป็นชายชื่อแป๊ะ (ถึงแก่กรรม)
- พระนมจำเริญ เกษมศรี ในหม่อมเจ้าสมบัติสมบูรณ์เกษมศรี ได้รับหน้าที่เป็นพระนมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ (ถึงแก่กรรม)
- หลวงศรีอาญัติ (พลอย) ข้าราชการกระทรวงยุตติธรรม (ถึงแก่กรรม)
ท่านบิดาของพระยากลาโหมราชเสนาคือพันโท พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ เป็นบุตรพระยามหาเทพ (ทองปาน) ซึ่งเป็นบิดาท่านน้อย ภริยานายศัลวิไชย (ทองคำ) ซึ่งเป็นมหาดเล็กรับราชการมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ด้วยอีกผู้หนึ่ง นายศัยวิไชย (ทองคำ) และท่านน้อยมีธิดาชื่อสังวาล ซึ่งต่อมาได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔
พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์กับท่านน้อยจึงเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมมารดาสังวาล ธิดาของท่านน้อย จึงนับเนื่องเป็นพี่ของพระยากลาโหมราชเสนา และมีความกรุณารักใคร่น้องเป็นอันดี พระยากลาโหมราชเสนาได้ไปเยี่ยมเคารพเจ้าจอมมารดาสังวาลเสมอ และในยามว่างท่านก็ได้กรุณามาเยี่ยมถึงบ้าน เจ้าจอมมารดาสังวาลเป็นเจ้าจอมมารดาของเจ้านายซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
- พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราษี (สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกาญจนากร
ด้วยเหตุนี้เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์จึงทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระยากลาโหมราชเสนา และทรงนับว่าเป็นพระญาติ
มีเรื่องที่ควรเล่าในที่นี้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงพระเมตตาพระยากลาโหมราชเสนาเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งเมื่อพระยากลาโหมราชเสนาไปเฝ้าถวายน้ำสรงตามประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ พระองค์ท่านตรัสว่า “เจ้าคุณไม่ต้องมารดน้ำฉัน เพราะนับตามสกุลก็มีศักดิ์เป็นน้าฉัน ถ้าเจ้าคุณตายก่อนฉัน เวลาเผาฉันจะนุ่งขาวให้”
พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ขณะที่มีอายุได้ ๑๓ ปี การที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาแห่งนี้ก็โดยได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงฝากเข้าเป็นนักเรียนทหารของกรมยุทธนาธิการ ในสมัยนั้นเรียกว่า “คะเด๊ต” เนื่องจากคุณน้าของพระยากลาโหมราชเสนา คือ หม่อมชุ่ม สุขสวัสดิ์ เป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น และเป็นหม่อมมารดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมนัสสวาสดิ พระยากลาโหมราชเสนาได้ไปหาหม่อมน้าที่วังข้างวัดพระเชตุพน (วังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ) อยู่เสมอ และเมื่อได้ทรงฝากเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยแล้ว ก็ยังทรงห่วงใยเสด็จไปเยี่ยมและฝากฝังกับครูบาอาจารย์อยู่เสมอ ๆ ด้วย นับว่ามีคุณูปการแก่พระยากลาโหมราชเสนาอยู่เป็นอันมาก
การเล่าเรียนของพระยากลาโหมราชเสนาได้เป็นผลสำเร็จอย่างดี ปรากฏตามประวัติซึ่งกระทรวงกลาโหมบันทึกไว้ดังนี้
แรกเข้ารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก วันที่ ๑๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ในห้องชั้นเล็ก (ห้องดี) สอบไล่ในวิชาโรงเรียนนายร้อยทหารบก
ชั้น | เล็ก | เป็นที่ | ๑ | ปี ร.ศ. | ๑๑๓ | (พ.ศ. ๒๔๓๗) | ||||||
๑ | ๕ | ๑๑๔ | (พ.ศ. ๒๔๓๗) | |||||||||
๒ | ๓ | ๑๑๕ | (พ.ศ. ๒๔๓๙) | |||||||||
๓ | ๒ | ๑๑๖ | (พ.ศ. ๒๔๔๐) |
ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารตามลำดับดังนี้
ร้อยตรี | วันที่ | ๓๑ | กรกฎาคม | พ.ศ. ๒๔๔๒ | ||||
ร้อยโท | วันที่ | ๒๖ | เมษายน | พ.ศ. ๒๔๔๔ | ||||
ร้อยเอก | วันที่ | ๓๐ | พฤษภาคม | พ.ศ. ๒๔๔๕ | ||||
พันตรี | วันที่ | ๒๙ | มิถุนายน | พ.ศ. ๒๔๔๘ | ||||
พันโท | วันที่ | ๔ | มิถุนายน | พ.ศ. ๒๔๕๑ | ||||
พันเอก | วันที่ | ๒๐ | กันยายน | พ.ศ. ๒๔๕๓ | ||||
พลตรี | วันที่ | ๑๑ | เมษายน | พ.ศ. ๒๔๕๕ | ||||
พลโท | วันที่ | ๒๓ | มีนาคม | พ.ศ. ๒๔๕๙ |
ได้รับพระราชบรรดาศักดิ์ดังนี้