ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Mopza (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย "{{หัวเรื่อง | ชื่อเรื่อง = พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเท..."
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:52, 19 กรกฎาคม 2559

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นเอกเทศ

Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


การรถไฟแห่งประเทศไทย


พ.ศ. ๒๔๙๔




ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร


ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔


เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔”


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๔

ในพระราชบัญญัตินี้

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” หมายความว่า การรถไฟซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


มาตรา ๕

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้



หมวด ๑


การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง





มาตรา ๖

ให้จัดตั้งการรถไฟขึ้น เรียกว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) รับโอนกิจการของกรมรถไฟจากกรมรถไฟ กระทรวงคมนาคม

(๒) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ


มาตรา ๗

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล


มาตรา ๘

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสาขาหรือผู้แทนขึ้น ณ ที่อื่นใดในราชอาณาจักรก็ได้ และจะตั้งสาขาหรือผู้แทนขึ้น ณ ต่างประเทศในเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก็ได้


มาตรา ๙

[2]

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) สร้าง ซื้อ จ้าง รับจ้าง จัดหา จำหน่าย แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ

(๒) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง อาศัย ให้อาศัย จำหน่าย แลกเปลี่ยน และดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ

(๓) กำหนดอัตราค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าภาระดังกล่าว

(๔) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ

(๕) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน ลงทุน ร่วมลงทุน หรือออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๖) รับส่งเงินทางรถไฟ

(๗) รับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ

(๘) ดำเนินกิจการโรงแรมและภัตตาคาร รวมตลอดถึงกิจการอื่นอันเป็นอุปกรณ์แก่กิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร

(๙) จัดบริการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ

(๑๐)[3] จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวจะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้

(๑๑)[4] เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟ


มาตรา ๑๐

ให้โอนทรัพย์สินและหนี้ทั้งสิ้นของกรมรถไฟให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย


มาตรา ๑๑

ให้จ่ายเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากงบประมาณรายจ่ายสามัญของกรมรถไฟประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ กับเงินทั้งหมดในงบประมาณรายจ่ายวิสามัญลงทุนที่เกี่ยวกับการรถไฟในงบเงินกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและงบการรถไฟประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย


มาตรา ๑๒

ทุนประเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ประกอบด้วย

(๑) สินทรัพย์ที่รับโอนมาจากกรมรถไฟเมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว

(๒) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๑๑


มาตรา ๑๓

ทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี


มาตรา ๑๔

บรรดาคดี การสอบสวน หรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการซึ่งกรมรถไฟเป็นคู่ความหรือเข้าเกี่ยวข้องในฐานะใด ๆ ที่ค้างอยู่ในชั้นไต่สวน สอบสวนพิจารณา หรือบังคับคดีนั้น ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นคู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในฐานะนั้น ๆ แล้วแต่กรณี แทนที่กรมรถไฟ และให้ถือว่าทนายความซึ่งกรมรถไฟได้แต่งตั้งไว้ในคดีหรือการพิจารณาดังกล่าวเป็นทนายความของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไปด้วย


มาตรา ๑๕

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ บรรดาที่กฎหมายให้ไว้แก่กรมรถไฟ


มาตรา ๑๕ ทวิ

[5]

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการรถไฟ ให้ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการมีอำนาจสั่งให้บุคคลผู้ซึ่งปลูกสร้างสิ่งใดโดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายภายในระยะสี่สิบเมตรวัดจากขอบรางรถไฟด้านริมสุดของแต่ละด้านรางรถไฟแต่ต้องไม่เกินเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างนั้นภายในกำหนดเวลาอันสมควรได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการมีอำนาจรื้อถอนหรือทำลาย โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น


มาตรา ๑๖

พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และบรรดากฎข้อบังคับที่ได้ออกตามพระราชบัญญัตินั้น ให้คงใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้เพียงเท่าที่มิได้มีความบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ และที่มิได้มีความขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

เพื่อประโยชน์แห่งการนำพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อนมาใช้บังคับต่อไป ให้อ่านคำบางคำในพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับนั้น ดังต่อไปนี้

คำว่า “กรมรถไฟแผ่นดิน” และคำว่า “กรมรถไฟ” ให้อ่านว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทย”

คำว่า “ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน” และคำว่า “อธิบดีกรมรถไฟ” ให้อ่านว่า “ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย”


มาตรา ๑๗

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๕ (๑๓) และ (๑๔) และมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ หรือการออกกฎข้อบังคับใหม่ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ให้ทำโดยกฎกระทรวง


มาตรา ๑๘

ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการและพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา


มาตรา ๑๙

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร


มาตรา ๒๐

เงินสำรองของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ประกอบด้วย เงินสำรองเผื่อขาด และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ เช่น ค่าเสื่อมราคาและค่าทำให้ดีขึ้น เป็นต้น ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร


มาตรา ๒๑

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

เชิงอรรถ

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘/ตอนท่ี ๔๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๔
  2. มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๕
  3. มาตรา ๙ (๑๐) แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๓
  4. มาตรา ๙ (๑๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๓
  5. มาตรา ๑๕ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๕




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"