พุทธชัยมงคล 8/คาถา
- พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
- คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
- ทานาธิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"พระยามารนิรมิตแขนพันหนึ่งถืออาวุธครบทุกมือ ขี่ช้างครีเมขล์ พร้อมด้วยเสนาโห่ร้องกึกก้อง เข้ามาผจญพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ให้พ่ายไปด้วยวิธีที่ชอบ มีทานเป็นต้น ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่บนรัตนบัลลังก์สูง ๑๔ ศอกใต้ต้นโพธิอัสสัตถพฤกษ์ บ่ายพระพักตร์สู่ปราจีนทิศ ผันพระปฤษฎางค์ไปข้างต้นพระมหาโพธิ คู้บัลลังก์นั่งสมาธิ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นจำเพาะต่ออานาปานาสติภาวนา แล้วทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ลุพระโพธิญาณเพียงไร จะไม่ลุกจากรัตนบัลลังก์นี้
ครั้งนั้น พระยาวสวัตดีมารผู้มีสันดานบาปทราบว่า พระพุทธเจ้าทำความเพียรจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ ก็ไม่พอใจ กลัวจะพ้นวิสัยของตนไป มีความโกรธแค้นมาก จึงนิรมิตแขนซ้ายขวาข้างละห้าร้อย ถืออาวุธต่าง ๆ ครบทุกมือ ขึ้นขี่ช้างคีรเมขล์สูง ๑๕๐ โยชน์ ยกเสนาซึ่งนิรมิตกายแปลกประหลาดต่าง ๆ กันมาทางทิศอุดร โห่ร้องกึกก้องเข้ามา หวังจะฟาดฟันพระองค์เสียให้สิ้นชีพ ขณะนั้น เทพดาในหมื่นจักรวาลซึ่งทรงเพศดุจเล่นมรสพมาแวดล้อมปฏิบัติรักษาพระองค์อยู่โดยรอบ ครั้นได้ยินเสียงกึกก้องสนั่นหวั่นไหวเข้ามาดังนั้น ทราบว่า พระยามารยกทัพมา ก็พากันสะดุ้งตกใจกลัว ท้าวสุยามเทวราชฉวยได้สุวรรณจามร สันดุสิตเทวราชฉวยได้วาลวิชนี ปัญจสิขเทพคนธรรพ์จับได้พิณทิพย์ พระอินทร์ฉวยฉุดได้สังขวิชัยยุทธ์ แล้วพากันเหาะหนีไปสู่พิภพ ครั้นพระองค์เห็นเทพดาหนีไปหมด จึงทรงระลึกถึงบารมี ๑๐ ทัศ มีทานเป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาในอเนกชาติด้วยอำนาจพระบารมี เสนามารก็มิอาจเข้ามาใกล้พระองค์ได้ พระยามารมีความโกรธแค้นเป็นกำลัง จึงนิรมิตห่าฝน ๙ ประการ คือ ๑. ห่าฝนลมพายุใหญ่ ๒. ห่าฝนมหาเมฆฝนตกใหญ่ ๓. ห่าฝนก้อนศิลา ๔. ห่าฝนอาวุธศัสตราต่าง ๆ ๕. ห่าฝนถ่านเพลิง ๖. ห่าฝนเถ้ารึงร้อนจัดดุจเถ้ารึงในกุกกุฬนรก ๗. ห่าฝนไฟกรด ๘. ห่าฝนเปือกตม ๙. ห่าฝนอันมืดมัวทั่วทุกทิศให้ตกลงมา ห่าฝน ๙ ประการนั้นก็มิอาจทำอันตรายแก่พระองค์ได้ กลับเป็นเครื่องสักการบูชาด้วยอำนาจพระบารมี มีทานเป็นต้น พระยามารเห็นดังนั้นก็ยิ่งโกรธมากขึ้น จึงเข้าไปร้องกล่าวตู่ว่า รัตนบัลลังก์นั้นเป็นของเกิดด้วยบุญสมภารแห่งตน สมควรแก่ตน แล้วอ้างเสนามารแห่งตนเป็นพยาน พระองค์จึงตรัสตอบว่า รัตนบัลลังก์เกิดด้วยบุญบารมีของพระองค์ พระยามารให้อ้างพยาน พระองค์ไม่มีใครจะเป็นพยาน จึงทรงระลึกถึงทานที่พระองค์ได้บริจาคในอเนกชาติ เช่น ได้ให้ทานบุตรและภรรยาในพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นต้น แล้วชี้นิ้วพระหัตถ์ลงไปตรงพื้นปฐพี นางพระธรณีก็ผุดขึ้นมายืนอยู่ตรงพระพักตร์แล้วทูลว่า ข้าพระบาทเป็นสักขีพยาน ได้ทราบบุญบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมา น้ำทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาของข้าพระบาทมากหาที่จะประมาณมิได้ แล้วนางพระธรณีก็บิดน้ำให้ไหลออกจากมวยผม แล้วไหลนองไปดุจห้วงมหาสมุทร ทั้งมหาปฐพีก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหวเป็นจลาจล พระยามารและพลมารก็มีความพิศวงครั่นคร้ามขามพระเดชานุภาพของพระองค์เป็นอันมาก จึงพากันสรรเสริญพระพุทธคุณยอกรประนมนมัสการ แล้วก็กลับไปสู่พิภพของตน
พระองค์ทรงชนะมารครั้งนี้เป็นวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เพลาพลบพระอาทิตย์จวนจะอัสดงคต และได้ตรัสรู้วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาปัจจุสมัยจวนใกล้รุ่ง
- มาราติเรกมภิยุชฺฌิตสพฺพรตฺตึ
- โฆรมฺปนาฬวกมกฺขมถทฺธยกฺขํ
- ขนฺตีสุทนฺตวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"อาฬวกยักษ์มีฤทธิ์กล้ายิ่งกว่าพระยามาร มีสันดานอันกระด้าง ปราศจากความอดทน เข้ามาผจญต่อสู้พระพุทธเจ้าคืนยังรุ่ง พระองค์ก็ได้ชนะด้วยวิธีทรมานเป็นอันดี คือ ความอดใจ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า อาฬวกยักษ์อาศัยอยู่ในวิมานใต้ต้นไทรใหญ่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้หยาบช้าทารุณมาก เคยกินคนและสัตว์ซึ่งเข้ามาในที่นั้น และกินคนที่พระเจ้าอาฬวีราช เมืองอาฬวี ส่งมาให้กินวันละคน ๆ ตามที่พระองค์ได้สัญญาไว้
เพลาเช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเล็งเห็นอุปนิสัยของอาฬวกยักษ์ซึ่งจะได้บรรลุโสดาปัตติปล พระองค์จึงเสด็จไปยังวิมานอาฬวกยักษ์ ๆ ไม่อยู่ไปที่ประชุมยักษ์และเทพดาในป่าหิมพานต์เสีย พบแต่คันธัพพยักษ์รักษาประตูวิมาน พระองค์เสด็จเข้าไปประทับบนรัตนบัลลังก์ของอาฬวกยักษ์แล้วทรงเปล่งรัศมี ๖ ประการ คือ เขียว เหลือง ขาว หงสบาท เลื่อม แดง ออกจากพระกาย ฝูงนางนักสนมและบริวารทั้งหลายของอาฬวกยักษ์เห็นพระรัศมี มีความเลื่อมใส พากันเข้าไปนมัสการ แล้วนั่งฟังธรรมอยู่ คันธัพพยักษ์ผู้รัฏษาประตูนมัสการพระองค์แล้วเหาะไปบอกอาฬวกยักษ์ ๆ โกรธ คิดจะกลับมาฆ่าเสีย ขณะนั้น สาตาคิริยักษ์ เหวมตายักษ์ พาบริวารคนละ ๕๐๐ เหาะมายังเชตวันวิหาร หวังจะนมัสการพระพุทธเจ้า ครั้นไม่พบ จึงเหาะไปยังวิมานอาฬวกยักษ์ เข้าไปเฝ้าถวายนมัสการพระพุทธเจ้า แล้วเหาะไปที่ประชุม ณ ป่าหิมพานต์ พบอาฬวกยักษ์ แล้วบอกว่า แก้วมณีเกิดขึ้นที่วิมานของท่าน อาฬวกยักษ์นึกว่าจริง ก็ยินดี เหาะกลับมาเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์แสดงธรรมแก่บริษัทของตนอยู่ ก็โกรธ จึงแผลงฤทธิ์ให้ห่าฝน ๙ ประการตกลงมา หวังจะให้ทำลายชีวิตรของพระองค์ ก็กลายเป็นเครื่องสักการบูชา อาฬวกยักษ์ยิ่งโกรธมากขึ้น จึงเอาผ้าโพกขว้างขึ้นไปบนอากาศ หวังจะให้ตกลงมาประหารพระองค์ ผ้าโพกก็แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังสนั่นกึกก้องไปในอากาศ แล้วกลับตกลงมาเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชา บริษัทของอาฬวกยักษ์และฝูงเทวดาเห็นดังนั้นก็มีความยินดี พากันร้องสาธุการเสียกกึกก้องโกลาหล อาฬวกยักษ์คิดว่า ผ้าโพกของเราผืนนี้ ถ้าจะขว้างภูเขาใหญ่เท่าเขาพระสุเมรุ ก็อาจจะทำลายให้ละเอียดไป หรือถ้าจะขว้างไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็จะแห้งไปหมด เราขว้างพระสมณะองค์นี้ มากลับกลายเป็นดอกไม้บูชา ดูน่าอัศจรรย์นัก อย่ากระนั้นเลย เราจะข่มสมณะนี้ด้วยวาทะ ถ้าแพ้เรา ๆ ก็จะฆ่าเสีย คิดแล้วจึงร้องว่า ท่านมานั่งบนที่นั่งเราทำไม จงลุกไปเสียข้างนอก พระองค์ก็เสด็จออกไป บอกให้กลับเข้ามานั่งที่เก่าอีก พระองค์ก็เสด็จเข้ามา อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้นยิ่งนึกอัศจรรย์มากว่า พระองค์ไม่โกรธตอบ และเป็นคนว่าง่าย บอกอย่างไรก็ทำตามทุกอย่าง พระองค์จึงตรัสว่า ท่านทำแก่เรา ๆ มิได้โกรธตอบและมิได้เข็ดขยาดเลย อย่าว่าแต่ท่านคนเดียว ถึงแม้อินทร์พรหมและเทวดาซึ่งมีฤทธานุภาพมากสักเท่าใด ๆ ก็มิอาจย่ำยีเราได้ ท่านคิดไว้ว่า จะถามปัญหากะเรา ก็จงถามเถิด แต่ปัญหาที่ท่านจะถามเรานั้น เราจะบอกให้ท่านรู้ก่อนว่า ไม่ใช่ปัญหาของท่านเอง เป็นปัญหาที่จำได้ต่อ ๆ กันมา คือ ท่านจำมาจากบิดาของท่าน บิดาของท่านจำมาจากปู่ของท่าน ปู่ของท่านฟังธรรมจำมาได้แต่สำนักพระกัสสปพุทธเจ้า อาฬวกจึงถามปัญหา ๔ ข้อว่า อะไรเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐของบุรุษในโลกนี้? ประพฤติอย่างไรจึงจะได้สุข? รสอะไรเป็นรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง? เป็นอยู่อย่างไรจึงจะชื่อว่า เป็นอยู่ประเสริฐ? พระองค์ทรงวิสัชนาว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐชองบุรุษในโลกนี้, ประพฤติชอบจึงจะได้สุข, รสคือความสัตย์เป็นประเสริฐกว่ารสทั้งปวง, เป็นอยู่ด้วยปัญญา ชื่อว่า เป็นอยู่ประเสริฐ แล้วพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมให้อาฬวกยักษ์ฟังต่อไป อาฬวกยักษ์ก็เสื่อมพยศลง มีความเลื่อมใส ได้สำเร็จโสดาปัตติผล แล้วถวายตัวเป็นอุบาสก
- นาฬคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ
- ทาวคฺคิจกฺกมสนีว สุทารุณนฺตํ
- เมตฺตมพุเสกวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ
"ช้างนาฬาคิรีตัวประเสริฐซับมันจัดดุร้ายนักประหนึ่งว่า ไฟไหม้ป่า หรือจักรผัน หรือสายอสุนี มาผจญพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ชนะเสียได้ด้วยวิธีแผ่เมตตาจิต ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า ช้างนาฬาคิรีจะแทงพระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกบิณฑบาต เหตุเกิดขึ้นเพราะพระเทวทัต คือ พระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์ชีพพระสุคตเสีย แล้วจะตั้งตัวขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษาความลับตกลงกัน แล้วไปที่โรงช้าง สั่งควาญช้างให้มอมสุราพญานาฬาคิรี ซึ่งปรกติเคยกินเหล้าแต่ ๘ กระออม ให้ทวีขึ้นถึง ๑๖ กระออม จนเมามันอาละวาดร้ายแรงกล้า ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จจากเวฬุวนารามมารับบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุพุทธบริวารเป็นอันมาก นายควาญช้างก็ปล่อยพญานาฬาคิรีให้อาละวาดพังโรงวิ่งแปร๋แปร้นไล่แทงคนอลหม่านสวนทางมาด้วยอาการอันชูงวงปรบหูตีหางตรงมาจะแทงพระพุทธเจ้า ทันใดนั้น พระอานนท์เถระก็ออกมายืนอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งแล้วบันดาลให้พระอานนท์เข้าปนในหมู่สงฆ์ เวลานั้น ยังมีหญิงลูกอ่อนอุ้มบุตรวิ่งหนีช้างตรงมาที่พระพุทธองค์ ครั้นช้างไล่จวนจะทัน เห็นว่า จะหนีไม่พ้น ทั้งเป็นการที่ยังห่างจากพระพุทธเจ้าด้วย จึงได้วางลูกเสีย แล้ววิ่งหลีกเข้าข้างทางไป ฝ่ายช้างก็ตรงเข้ามาจะแทงทารกนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดิษฐานอยู่ด้วยพรหมวิหาร และแผ่เมตตาเฉพาะต่อช้างนาฬาคิรี แล้วจึงตรัสสอนให้ช้างนาฬาคิรีรู้สึกตนได้สติเสื่อมคลายจากเมาเป็นปรกติดี ยืนทอดงวงและหู ไม่ประทุษร้ายเด็กนั้น แล้วเบนศีรษะเดินมาใกล้พระบาท ฟุบเท้าลง ยกงวงจบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นปรามาสลูบกระพอง แล้วตรัสประทานโอวาทให้ช้างมีจิตปราโมทย์ในธรรมจริยา
เวลานั้น ฝูงมหาชนที่คอยตักบาตรและถวายเครื่องสักการะที่ได้กระจัดกระจายหนีช้างซ่อนเร้นและป่ายปีนขึ้นที่สูงนั้น ครั้นเห็นพญาช้างสิ้นพยศอันร้ายแรงแล้ว ต่างคนก็มีจิตโถมนาการโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้และสรรพาภรณ์ต่าง ๆ ที่ตัวช้างจนปกคลุมท่วมตัว ครั้นแล้ว พญาช้างก็ถวายบังคมสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคกลับไปโรงของตนโดยปรกติ
- อุกฺขิตฺตขคฺคมติหตฺถสุทารุณนฺตํ
- ธาวนฺติโยชนปถงฺคุลิมาลวนฺตํ
- อิทฺธีภิสงฺขตมโน ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"องคุลิมาลโจรผู้มีสันดานอันหยาบช้าถือดาบเงื้อเงือดแล่นตามพระพุทธเจ้าไปไกล ๓ โยชน์ พระองค์มีพระหฤทัยน้อมไปในอิทธาภิสังขารก็ชนะได้ ด้วยเดชความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด”
เรื่องมีว่า องคุลิมาลโจรนั้นบ้านอยู่ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อ นางมันตานีพราหมณี บิดาเป็นพราหมณ์ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เดิมนั้น มารดาบิดาให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร ครั้นเจ้าอหิงสกกุมารนั้นเจริญวัย จึงไปเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักทิศาปาโมกข์อาจารย์ในเมืองตักกศิลา และเจ้าอหิงสกกุมารเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวกว่ามาณพทั้ง ๕๐๐ คนซึ่งเป็นเพื่อนศิษย์ด้วยกัน ทั้งเป็นผู้มีความเพียรมากและหมั่นปฏิบัติอาจารย์โดยเคารพ อาจารย์ก็รักมากกว่ามาณพอื่น ๆ พวกมาณพเหล่านั้นมีความริษยา พากันไปพูดยุยงอาจารย์ถึง ๒–๓ ครั้งว่า เจ้าอหิงสกมาณพคิดประทุษร้ายต่ออาจารย์ด้วยเหตุอันชั่วร้าย อาจารย์ก็พลอยเห็นจริงหลงเชื่อถ้อยคำ จึงคิดว่า จำเราจะคิดฆ่าอหิงสกมาณพนี้ด้วยอุบายปัญญา คือ จะหลอกให้ไปตายในกลางป่าด้วยฝีมือคนอื่นฆ่า แล้วจึงเรียกอหิงสกมาณพเข้ามาใกล้ กระซิบบอกว่า ศิลปศาสตร์ที่ท่านเรียนนี้สมบูรณ์ดีแล้ว แต่เรายังประสิทธิ์ให้ไม่ได้ เพราะยังขาดนิ้วมือมนุษย์ ๑๐๐๐ คน ท่านจงไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ ให้ได้พันหนึ่ง แล้วนำมาให้แก่เรา ๆ จึงจะประสิทธิ์ศิลปศาสตร์ให้ท่าน และตัวท่านจักเป็นผู้มีศิลปศาสตร์ประเสริฐในโลกได้คนหนึ่ง เจ้าอหิงสกมาณพได้ฟังก็หลงเชื่อ แล้วลาอาจารย์แต่งตัวถือดาบออกไปคอยสกัดฆ่ามนุษย์อยู่ที่ตำบลปากดงแห่งหนึ่ง แต่ไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ในเมืองและตามบ้านเรือนในป่าแล้วตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ แล้วเจาะร้อยสะพายแล่งไว้กับตัว ยังอีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน เหตุดังนี้ จึงมีนามปราฏว่า องคุลิมาลโจร
วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยขององคุลิมาลโจรว่า ควรจะได้เอหิภิกขุอุปสมบท จึงเสด็จไปทรมานองคุลิมาลโจร ณ ตำบลปากดงนั้น เมื่อองคุลิมาลโจรแลเห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่า สมณะองค์นี้จะถึงที่ตายแล้ว เราจะได้นิ้วมือครบพัน จึงชักดาบเงือดเงื้อวิ่งไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้เป็นแม่น้ำขวางหน้าองคุลิมาลโจรบ้าง เป็นป่าชัฏขวางหน้าบ้าง องคุลิมาลโจรนั้นต้องว่ายน้ำทวนคลื่นและลม ทั้งต้องวิ่งบุกป่าชัฏไล่ติดตาม ก็หาทันพระพุทธเจ้าไม่ พระองค์ก็เสด็จพระพุทธดำเนินตามปกติธรรมดา แต่องคุลิมาลโจรวิ่งไล่ไปสิ้นระยะทางไกลได้ ๓ โยชน์ ก็พอสิ้นกำลังลง จึงร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระองค์จึงตรัสตอบด้วยสุนทรวาจาอันไพเราะมีประการต่าง ๆ เมื่อองคุลิมาลโจรได้ฟังพระสุรเสียงก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระสมณะองค์นี้พูดเพราะนัก ชะรอยว่า จะเป็นพระสิทธารถราชกุมารที่เสด็จออกบรรพชาเป็นแน่แล้ว เสด็จมาทั้งนี้ด้วยทรงพระมหากรุณาจะโปรดเราให้พ้นทุกข์ ก็เกิดความเลื่อมใสอ่อนน้อม ทิ้งอาวุธเสีย แล้วถวายนมัสการโดยเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาให้องคุลิมาลโจรบวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา
- กตฺวาน กฏฺฐมุทรํ อิว คพฺภินียา
- จิญฺจาย ทุฏฺฐวจนํ ชนกายมชฺเฌ
- สนฺเตน โสมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"นางจิญจมานวิกาทำมารยาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องดุจสตรีมีครรภ์ แล้วมากล่าวคำชั่วหยาบหาว่า พระพุทธเจ้าทำอะไร ๆ กับตน พระองค์ก็ทรงชนะได้ด้วยวิธีอันงาม คือ อาการสงบ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า ในสมัยหนึ่ง เดียรถีย์ทั้งหลายมีลาภสักการเสื่อมถอยน้อยไป จึงประชุมกันคิดหาอุบายยกโทษพระพุทธเจ้าเพื่อจะให้ปราศจากลาภสักการ จึงอ้อนวอนให้นางจิญจมานวิกา ผู้เป็นสาวิกาของตน มีรูปร่างงาม ทั้งเป็นผู้ฉลาดในกลมารยาสตรี ให้ถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น ทำอาการประหนึ่งว่า จะไปนอนร่วมรักกับพระพุทธเจ้า และเดินสวนทางกับมหาชนที่พากันไปฟังธรรมแล้วกลับมา ดังนี้ทุก ๆ วันประมาณ ๓–๔ เดือน จึงเอาผ้าพันท้องให้พองขึ้นดังสตรีมีครรภ์อ่อน แล้วเที่ยวประกาศแก่พวกอันธพาลว่า ได้ร่วมรักกับพระพุทธเจ้า และคนอันธพาลเหล่านั้นก็ถือเอาเป็นจริงเชื่อลงเป็นแน่
ครั้นกาลนานมาประมาณ ๗–๙ เดือน นางจิญจมาณวิกาจึงเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้อง แล้วห่มผ้าคลุมไว้ แล้วเอาไม้มีสัณฐานดังคางโคทุบที่หลังมือและหลังเท้าให้บวมขึ้นดังสตรีมีครรภ์แก่จวนจะคลอด จึงชักชวนคนอันธพาลเป็นอันมากพากันไปยังพระเชตวัน นางจิญจมาณวิกาจึงหลีกคนเข้าไปยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระพุทธเจ้าท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ จึงกล่าววาจาหยาบต่อพระพุทธเจ้าว่า ได้ร่วมรักกันจนมีครรภ์ เป็นต้น บริษัทบางพวกก็เห็นจริงเชื่อถ้อยคำนางจิญจมาณวิกา บริษัทบางพวกก็ไม่เชื่อ บริษัทบางพวกก็มีความสงสัย
ในขณะนั้น ก็ร้อนไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงให้เทวบุตร ๔ องค์ลงมานิรมิตกายเป็นหนูตัวน้อยแฝงตัวเข้าไปกัดเชือกที่ผูกอยู่กับไม้ทาบท้องนั้น เชือกขาด ไม้ก็พลัดตกลงถูกเท้านางจิญจมาณวิกา เท้าก็ขาดเป็นสองท่อนดังตัดด้วยดาบอันคม นางจิญจมาณวิกาก็พ่ายแพ้แก่พระบรมพุทธานุภาพ
ทีนั้น มหาชนบริษัททั้งหลายก็พากันติโทษนางจิญจมาณวิกาด้วยประการต่าง ๆ แล้วพากันฉุดลากตัวออกไปเสียจากพระเชตวัน แต่พอลับคลองพระเนตรพระพุทธเจ้า แผ่นดินก็สูบนางจิญจมาณวิกาลงไปสู่มหาอเวจีนรกทั้งเป็น
- สจฺจํ วิหาย มติสจฺจกวาทเกตุํ
- วาทาภิโร ปิตมนํ อติอนฺธภูตํ
- ปญฺญาปทีปชลิโต ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"สัจจกนิครนถ์เป็นคนมืดเหลือเกิน มีประสงค์มละความจริงเสีย ชอบใจในการยกวาทะของตนขึ้นให้สูงดังธงพระพุทธเจ้าผู้โพลงด้วยประทีป คือ พระปัญญา ก็ชนะได้ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า สัจจกนิครนถ์ผู้นี้ได้เล่าเรียนปริศนาในสำนักบิดามารดา ๕๐๐ ข้อ แล้วเที่ยวสังสนทนาไต่ถามผู้ใด ก็ไม่มีใครที่จะโต้ตอบต้านทานปฏิภาณโวหารของสัจจกนิครนถ์ได้ กิตติศัพท์นี้ก็เล่าลือไปในทิศานุทิศ มหาชนนับถือพากันมาเป็นศิษย์มาก
ฝ่ายสัจจกนิครนถ์นั้นก็สำคัญใจเป็นแน่ว่า ตนเป็นผู้มีปัญญาวิชาความรู้เอกเลิศกว่าคนทั้งหลาย และภายในท้องของตนนั้นเต็มไปด้วยปัญญาวิชาทั้งนั้น คิดกลัวว่า ท้องจะแตกจะทลายไป จึงทำพืดเหล็กรัดท้องไว้
วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ได้ยินคำสรรเสริญว่า พระพุทธเจ้าเป็นเอกอัครบุคคลในโลก ทรงพระปัญญา รู้เหตุในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่จะคู่เคียงเป็นสอง บัดนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่งใกล้เมืองไพศาลีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก เมื่อสัจจกนิครนถ์ทราบความดังนั้น ก็มีความยินดี ตั้งใจจะถามข้อปริศนาอันลึกลับให้พระพุทธเจ้าแพ้แก่ตนให้จงได้ จึงพาศิษย์เป็นอันมากมายังเมืองไพศาลี แล้วเชิญพวกเจ้าลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ องค์ให้เสด็จมาสู่สำนักพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อจะได้เห็นจริงว่า ข้างไหนจะแพ้และชนะ
คราวนั้น เป็นมหาสมาคมใหญ่ บรรดาชาวเมืองไพศาลีก็พากันมาประชุมพร้อมกันเป็นสองพวก คือ สัมมาทิฏฐิพวก ๑ เอาใจช่วยพระพุทธเจ้า อยากจะให้พระพุทธเจ้าชนะมิจฉาทิฏฐิ พวก ๑ เอาใจช่วยสัจจกนิครนถ์ อยากจะให้สัจจากนิครนถ์ชนะ
เมื่อสัจจกนิครนถ์ยกวาทะของตนขึ้นให้สูงประหนึ่งว่าธงชัย แล้วถามข้อปริศนาอันลึกลับด้วยประการใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์แก้ได้ทุก ๆ ข้อด้วยพระปัญญาอันรุ่งเรืองดังประทีป สัจจกนิครนถ์ก็ถึงปราชัยพ่ายแพ้พระบารมีญาณของพระองค์ แล้วจึงมอบตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา.
- นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ
- ปุตฺเตน เถรภุชเคน ทมาปยนฺโต
- อิทฺธูปเทสวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"นันโทปนันทนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก พระพุทธเจ้าชนได้ด้วยวิธีที่ให้นาค คือ พระโมคคัลลานเถระผู้เป็นชิโนรส ไปแผลงฤทธิ์ทรมาน ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า นันโทปนันทนาคราชเป็นสัตว์ประกอบไปด้วยทิฏฐิและมีฤทธานุภาพมาก เพลาเช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของนันโทปนันทนาคราชซึ่งจะเสื่อมคลายจากความเห็นผิดและจะกลับมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย พระองค์ก็พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์พุทธบริบารล้วนแต่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เสด็จไปสู่เทวโลกโดยอากาศ นันโทปนันทนาคราชเห็นพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เหาะมาแต่ไกล สำคัญว่า จะเหาะข้ามศีรษะตนไป ก็โกรธ จึงนิรมิตอัตภาพให้ใหญ่โต พันเขาสุเมรุไว้ ๗ รอบ แล้วยกพังพานปกคลุมเขาพระสุเมรุและดาวดึงส์ไว้ แล้วบันดาลให้เป็นควันมืดคลุ้มไป พระรัฐปาละเห็นอาการดังนั้นจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า แต่ก่อนเมื่อมาถึงที่นี้ เคยได้แลเห็นเขาพระสุเมรุ และสุทัศนนคร กับเวชยันตปราสาท มาบัดนี้ หาเห็นไม่ เป็นด้วยเหตุใด พระองค์ตรัสว่า เป็นด้วยนันโทปนันทนาคราชทำฤทธิ์ พระเถระหลายองค์กราบทูลขอรับอาสาไปทรมานนันโทปนันทนาคราช พระองค์ไม่ทรงอนุญาต แล้วพระองค์โปรดให้พระโมคคัลลานเถระไปทรมาน ท่านจึงนิรมิตกายเป็นนาคราชใหญ่กว่านันโทปนันทนาคราชสองเท่า แล้วไปตวัดรัดนันโทปนันทนาคราชเข้าไว้กับเขาพระสุเมรุโดยแน่นหนาถึง ๑๔ รอบ นาคราชพ่นพิษให้เป็นควันและเปลวไฟ ท่านก็พ่นควันพ่นเปลวไฟบ้าง แต่ท่านไม่ร้อน นาคราชร้อนจนทนไม่ไหว จึงขออย่าให้ท่านจำแลงเป็นนาครัดเลย ท่านก็คืนอัตภาพเป็นพระเถระดังเกล่า แล้วทำฤทธิ์เข้าช่องโสตช่องนาสิกของนันโทปนันทนาคราช เข้าไปเบื้องขวาออกเบื้องซ้าย เข้าเบื้องซ้ายออกเบื้องขวา นาคราชคิดว่า ถ้าท่านเข้าไปในปาก จะเคี้ยวเสียให้ละเอียด ท่านรู้ใจ จึงเข้าทางปากไปจงกรมอยู่ในท้อง แล้วกลับออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชอ้าปากคอยงับแต่ไม่ทัน ครั้นเห็นจะสู้ฤทธิ์ท่านไม่ไหว จึงเริ่มหนี ท่านก็จำแลงเป็นครุฑใหญ่บินไปตามจับ นาคราชแพ้ฤทธิ์ท่าน จึงได้สละทิฏฐิผิด แล้วจำแลงเป็นมาณพเข้าไปนมัสการขอโทษท่าน ท่านว่า รับไม่ได้ จึงพาไปเฝ้าทูลต่อพระพุทธเจ้า แล้วพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง มีความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต.
- ทุคฺคาหทิฏฺฐิภุชเคน สุทฏฺฐหตฺถํ
- พฺรหมํ วิสุทฺธิชุติมิทฺธิพกาภิธานํ
- ญาณาคเทน วิธินา ชิตวา มุนินฺโท
- ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ ฯ.
"พกาพรหมผู้มีฤทธิ์สำคัญตนว่า รุ่งเรืองด้วยความบริสุทธิ์ มีมืออันอสรพิษ คือ การถือทิฏฐิผิด ขบไม่วง พระพุทธเจ้าก็ชนะได้ด้วยวิธี คือ พระญาณปรีชา ดังพิษ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด"
เรื่องมีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในป่าสุภวันใต้ร่มไม้รังใหญ่ต้นหนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของท้าวพกาพรหม จึงเสด็จขึ้นไปยังชั้นพรหมโลกชื่อ เวหัปผล ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าวพกาพรหมนั้น เมื่อท้าวพกาพรหม เมื่อท้าวพกาพรหมแลเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ก็ร้องเชิญให้เสด็จเข้ามาสู่ที่ใกล้ ในเวลานั้น บรรดาท้าวมหาพรหมทั้งหลายก็ตื่นข่าวเอิกเกริก พากันมาประชุมพร้อมกันในที่นั้นเป็นอันมากเพื่อจะคอยฟังปริศนาธรรม
เมื่อท้าวพกาพรหมได้โอกาสก็ยกวาทะของตนขึ้นถาม และแม้ถามด้วยประการใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสพยากรณ์ได้ทุกประการ แล้วตรัสว่า ท่านอวดอ้างว่า ตัวท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก จงแสดงฤทธิ์ คือ หายตัว ให้ปรากฏในเวลานี้ ตถาคตจะคอยดู
ท้าวพกาพรหมก็แสดงฤทธิ์เพื่อจะบังกายให้หายไป แต่จะเที่ยวเร้นซ่อนอย่างไร ๆ ก็ไม่หายตัวลับตนไปได้ ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงฤทธิ์ห้ามไว้ ท้าวพกาพรหมก็เสียใจ เข้าไปนั่งรัดเข่าอยู่ในวิมานของตน บรรดาท้าวมหาพรหมทั้งหลายก็พากันเยาะเย้ยด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ท้าวพกาพรหมจึงออกมาพูดว่า ทีนี้ พระสมณโคดม ท่านจงทำหายตัวบ้างซี พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงฤทธิ์กำบังพระกายหายพระองค์มิให้เห็นปรากฏแก่จักษุท้าวมหาพรหมทั้งปวง แล้วเสด็จเข้าไปตรัสธรรมเทศนาในท่ามกลางท้าวมหาพรหมทั้งปวง ๆ ได้ยินแต่พระสุรเสียง มิได้เห็นพระองค์ ต่อภายหลัง พระองค์จึงทรงแสดงพระกายให้ปรากฏ แล้วตรัสเทศนาให้ท้าวพกาพรหมฟังจนสิ้นสงสัย มีน้ำใจอ่อนน้อม เชื่อแท้ในพระบรมพุทโธวาท แล้วสละละวางทิฏฐิเสีย ปฏิบัติตามทางตรง คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นอันดี แล้วก็เสด็จกลับมายังพระเชตวันซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์.
- เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคลอฏฺฐคาถา
- โย วาจโน ทินทิเน สรเต มตนฺที
- หิตฺวานเนกวิวิธานิ จุปทฺทวานิ
- โมกฺขํ สุขํ อธิคเมยฺย นโร สปญฺโญ ฯ.
"คาถาทั้ง ๘ อันแสดงชัยมงคลของพระพุทธเจ้าเหล่านี้ แม้นรชนผู้ใดหมั่นสวดระลึกทุก ๆ วัน นรชนผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญา ละเสียซึ่งอุปัทวันอันตรายทั้งหลายมีประการต่าง ๆ เป็นอันมากแล้ว และบรรลุถึงซึ่งสุข คือ พระนิพพาน โดยแท้"
ก่อนบอกวิธีใช้พุทธชัยมงคลคาถาหรือบทถวายพรพระ ข้าพเจ้าขอแนะคำหรือชี้แจงไว้แก่ท่าน ดังต่อไปนี้ คือ เมื่อท่านจะใช้คำบาลีสำหรับภาวนาหรือเสกอะไรสำหรับผู้อื่น ท่านจงใช้คำบาลีทุกคำให้ตรงตามบทคาถาแต่ละบทนั้นทั้งแปดบท แต่ว่าถ้าท่านจะใช้คำบาลีตามบทนั้น ๆ ให้เป็นคุณประโยชน์สำหรับตัวท่านเอง ขอท่านจงเปลี่ยนคำว่า "เต" หลัง ภวตุ เต เป็น ภวตุ “เม” ดังนี้ทุก ๆ บท ทั้งนี้ เพราะเหตุคำว่า "เต" แปลว่า ท่าน แต่คำว่า "เม" แปลว่า ข้าพเจ้า
บทถวายพรพระมีวิธีใช้ทั้งแปดบทและบทสุดท้าย ดังต่อไปนี้:–
บทที่๑ใช้ภาวนา ศัตรูมิอาจประจญได้เลย พ่ายแพ้เรา ถ้าจะขับผี ภาวนา ๓ ที ทำน้ำมนตร์ถอนคุณคนคุณผีได้สาระพัด
บทที่๒ถ้าผู้ใดภาวนาทุกค่ำเช้า ดีนัก ใช้เสกยากินทาทุกชนิด แก้โรคภัยไข้เจ็บ เพิ่มฤทธิ์ยาให้แรงขึ้น เสกน้ำมนต์รดก็ได้
บทที่๓ใช้ภาวนากันเสือ ช้าง สัตว์ทุกอย่าง ไม่กล้าแผ้วพานทำร้ายได้ ภาวนาเดินป่าดีนัก ภูตผีปีศาจมิอาจรบกวน ทั้งกันโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย
บทที่๔เสกน้ำล้างหน้า เกิดสวัสดิมงคล ป้องกันการกระทำทั้งปวง
บทที่๕ถ้าจะแก้ยาแฝด ให้หาส้มป่อย ๗ ฝัก ๆ ละ ๗ ข้อ ใส่น้ำมนต์เสกแล้วรดหัวหรือเสกน้ำมันดิบกินทาก็ได้
บทที่๖ถ้าเกิดทุกขภัย เป็นถ้อยความกัน ให้ใช้คาถานี้ภาวนา มีชัยชนะ พ้นจากทุกข์แล
บทที่๗ภาวนาทุกวัน กันสาระพัด ถ้าถูกอสรพิษสัตว์ เช่น งู กัดก็ดี ให้เอาคาถานี้ปัดเป่าดับพิษ ก็หายสิ้น
บทที่๘ภาวนาทุกวัน กันปิศาจและโรคระบาดทั้งปวง ถ้าจะขับผี ให้ว่า บทพาหุง ๓ ที บทมาราติเรก ๓ ที บททุคคา ๓ ที ขับผีได้สิ้น
บทสุดท้าย ใช้ปัดพิษทั้งปวง ทำน้ำมันต์แก้โรคภัยไข้เจ็บได้ทุกอย่าง