พุทธชัยมงคล 8/ผู้วายชนม์

  • หลวงจำนงสุนทร (ช่วง โกมลานนท์)
  • ชาตะ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๓
  • มรณะ วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

คำปรารภ

ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อ กำหนดวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๐๔ ซึ่งครบ ๑๐๐ วันพอดี ลูก ๆ คิดจะหาหนังสือชนิดที่คุณพ่อชอบพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานนี้ น.ส.พเยาว์ อัศวเดชา หลานคนหนึ่งของคุณพ่อ รับราชการอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้นำความคิดนี้ไปปรึกษาอาจารย์กุลทรัพย์ ชื่นรุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกอักษรศาสตร์และวรรณคดี กรมศิลปากร ได้ให้คำแนะนำว่า หนังสือธรรมะ เรื่อง พุทธชัยมงคล ๘ คงจะถูกใจคุณพ่อและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้รับ ลูก ๆ ก็เห็นชอบด้วย จึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้เป็นอนุสรณ์

เจ้าภาพขอเรียนขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาช่วยเหลือและมาเป็นเกียรติในงานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อ ประโยชน์จากหนังสือนี้รวมทั้งกุศลกิจทั้งมวลที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญ ขอน้อมอุทิศเป็นวิบากสมบัติแด่คุณพ่อผู้ประเสริฐของลูกในสัมปรายภพเทอญ

จากลูก ๆ ของคุณพ่อ

ประวัติ
หลวงจำนงสุนทร (ช่วง โกมลานนท์)

เกิดวันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ณ บ้านปากคลองบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรนายโชติ นางนวน โกมลานนท์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๔ คน คือ

  1. หลวงจำนงสุนทร (ช่วง โกมลานนท์)
  2. นางสุ่น อัศวเดชา
  3. นางอรุณ สุธรรมาภินันท์
  4. นางสุดใจ จิตตานนท์

เมื่อเยาว์วัย ได้รับการศึกษา ณ สำนักโรงเรียนวัดโสมนัสวิหาร สอบไล่ได้ชั้นประโยค ๑ เมื่ออายุ ๑๔ ปี เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกในกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๖ บาท แล้วย้ายไปประจำการกองพลที่ ๑ ร.อ. เมื่อปลดประจำการแล้ว กลับเข้ารับราชการในกรมราชองครักษ์ ต่อมา ได้ย้ายมาอยู่กรมราชเลขานุการในพระองค์ จนกระทั่งออกรับบำนาญเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

โดยที่มีความอดทนขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานอย่างดีเลิศหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ท่านผู้ใหญ่ในกรมราชเลขานุการในพระองค์ได้ทราบอัธยาศัยอันดีงามนี้ จึงได้กรุณาช่วยให้กลับเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณอีกวาระหนึ่งในกรมเดิมจนครบเกษียณอายุราชการ จึงได้ออกรับพระราชทานบำนาญประเภทสูงอายุครั้งหลังเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๓

สำหรับราชการเสือป่า ได้เริ่มเข้าประจำการเป็นเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ในกรมปลัดเสือป่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานยศตั้งแต่นายหมู่ตรี จนถึงนายกองโทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

ยศ–บรรดาศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็น รองเสวกตรี
พ.ศ. ๒๔๖๒ " ขุนอมรวรรณยุต
พ.ศ. ๒๔๖๓ " รองเสวกโท
พ.ศ. ๒๔๖๗ " หลวงจำนงสุนทร
ราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. ๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเษก ร. ๖
พ.ศ. ๒๔๕๑ เสมาทองคำพระปรมาภิธัยย่อ
พ.ศ. ๒๔๖๔ เหรียญราชรุจิทอง ร. ๖
พ.ศ. ๒๔๖๖ ตราเบญจมาภรณ์มงกุฎ
พ.ศ. ๒๔๖๘ เหรียญบรมราชาภิเษก ร. ๗
พ.ศ. ๒๔๗๐ ตราเบญจมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. ๒๔๗๕ เหรียญเฉลิมพระนคร ๑๕๐ ปี
พ.ศ. ๒๔๘๑ เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๕ ร. ๘
พ.ศ. ๒๔๘๔ เหรียญจักรพรรดิมาลา
พ.ศ. ๒๔๘๖ ตราจตุรถาภรณ์มงกุฎ
พ.ศ. ๒๔๙๒ เหรียญบรมราชาภิเษก ร. ๙
อุปสมบท

อุปสมบท ณ วัดโบสถ์ ตำบลบางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ พระครูธรรมโสภิตเป็นพระอุชัชฌาย์จารย์

มีบุตรธิดาที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันรวม ๖ คน คือ

๑. พ.ท. เชาวน์ โกมลานนท์ มารดาชื่อ ผัน
๒. พ.อ. ชิต โกมลานนท์
๓. นายสนิท โกมลานนท์
๔. น.ส.เนาวรัตน์ โกมลานนท์ มารดาชื่อ เชื้อ
๕. น.ส.สมพร โกมลานนท์
๖. นายประสบศิลป์ โกมลานนท์

เมื่อออกจากราชการแล้ว ได้กลับเข้าไปอยู่ ณ บ้านเดิมในคลองบางใหญ่ นนทบุรี ประพฤติตนเยี่ยงพุทธมามกะที่ดีทั้งหลาย มีการทำบุญตักบาตรและฟังธรรมในวันธรรมสวนะเสมอมา ปฏิบัติตนเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา มีอุปการะสนองคุณจนถึงที่สุด เอื้อเฟื้อตลอดมาถึงน้อง ๆ และลูกหลานโดยสม่ำเสมอ ให้การศึกษาแก่ลูกเต็มความสามารถ ด้วยความชื่นชมและยินดีในความสำเร็จของลูก ๆ แม้บางโอกาส ลูก ๆ จะทำผิดพลาดบ้าง ก็ให้อภัย พยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้บุตรภรรยาทุกวิถีทางที่จะทำได้ แม้จะยากลำบากอย่างไร ก็ไม่ปริปากให้เป็นที่กระเทือนใจต่อผู้หนึ่งผู้ใดเลย ด้วยคุณธรรมข้อนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่บุตรภรรยา, วงศ์ญาติ, มิตรสหาย และผู้ใกล้ชิดโดยทั่วกัน ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ท่านเป็นบิดาที่ประเสริฐสุดของลูก

ท่านเริ่มป่วยด้วยโรคชราเสาะแสะเรื่อยมาประมาณ ๒ เดือนเศษ แต่ด้วยความเข้มแข็งแห่งจิตใจ ไม่ใคร่จะคร่ำครวญต่อทุกขเวทนา อดกลั้นไว้แต่ผู้เดียวด้วยขันติธรรม กำลังลดน้อยถอยลงตามลำดับ สังขารไม่อาจที่จะต้านทานพยาธิภัยต่อไปได้ จึงถึงแก่กรรมโดยสงบบริบูรณ์พร้อมทั้งสติสัมปชัญญะเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๔ เวลา ๑๐.๕๐ น. อายุได้ ๗๑ ปีเศษ.

อนิจฺจา วต สงฺขารา


อาลัยพ่อ

อนุสรณ์ตอนสำคัญวันที่สุด
ก่อนจะจุดไฟผลาญสังขารพ่อ
สะอื้นอั้นตันอุราน้ำตาคลอ
น้อมเศียรยอกรประนมก้มวันทา
โอ้ชาตินี้พ่อหนีลูกลับแล้ว
อย่าให้แคล้วพบกันใหม่ในชาติหน้า
กราบสการวิญญาณพ่อขอขมา
ปรารถนาเป็นพ่อลูกทุกชาติเอย.