สามก๊กอิ๋น/ผู้วายชนม์

ประวัติ

นายชุบ มุนิกานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ที่จังหวัดลำพูน เป็นบุตรคนที่สองของนายช่วย และนางน้อย มุนิกานนท์ มีพี่น้อง ๓ คน คือ

๑. นายเชิด มุนิกานนท์

๒. นายชุบ มุนิกานนท์

๓. นายชอบ มุนิกานนท์ (ถึงแก่กรรม)

เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๑ ได้สมรสกับนางสาวยิ่งพันธุ์ สาครบุตร ธิดาพระยาและคุณหญิงพจนานุจร มีบุตรเพียงคนเดียว คือ นางอุรัจฉทา รอดประเสริฐ (สมรสกับนายจรินทร์ รอดประเสริฐ) และปัจจุบันมีหลายชายอายุ ๖ ขวบหนึ่งคน คือ เด็กชายหฤษฎ์ รอดประเสริฐ

การศึกษา เริ่มต้นการศึกษาที่จังหวัดลำพูน ต่อมา ได้ย้ายเข้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ จนสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ แผนกวิทยาศาสตร์ ที่สวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ แล้วจึงเข้าศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

การทำงาน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นครั้งแรกในกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และได้ย้ายไปสังกัดกระทรวงกลาโหมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การสวนยาง ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กระทรวงเกษตร ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ จนถึงอนิจกรรม นายชุบ มุนิกานนท์ ได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติในสาขาวิชาการเกษตรอยู่มาก จึงได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๔ และได้รับพระราชทานทวิติยาภรณ์มงกุฎไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๔

นอกจากนี้ นายชุบฯ ยังเป็นผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นว่า การศึกษาทำคนให้เป็นคน จึงสนใจให้ความสนับสนุนแก่ผู้ที่ตั้งใจเล่าเรียนแต่ขาดทุนทรัพย์และที่อยู่อาศัย นับตั้งแต่เริ่มรับราชการจนกระทั่งวาระสุดท้าย นายชุบฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้มาโดยตลอด และเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ได้มอบสวนยางพันธุ์ดีจำนวน ๔๗ ไร่เศษ โดยจัดตั้งเป็นมูลนิธิ "ชุบ มุนิกานนท์" เพื่อนำเอาผลประโยชน์ช่วยเหลือเด็กยากจนของครอบครัวคนทำงานองค์การสวนยาง จึงนับว่า ได้บำเพ็ญกุศลทานอันเป็นการให้ความสนับสนุนช่วยเหลือตลอดไป

นายชุบน เป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างใดเลย จนเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๓ ได้ไปตรวจเช็คร่างกาย แพทย์เอ็กซ์เรย์พบว่า มีหินปูนในเส้นโลหิตหน้าท้อง แพทย์คอยควบคุมความดันโลหิตมิให้สูง และสั่งให้ระวังการกระทบกระเทือนหน้าท้องและอุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยปกติจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่ประการใด จนเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๑๕ ภายหลังจากเลิกงานกลับมาถึงบ้านแล้ว บ่นว่า ครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ พอตกดึกมีอาการเจ็บปวดบริเวณหน้าท้อง และได้ทวีความเจ็บปวดยิ่งขึ้นโดยรวดเร็ว แม้ยาระงับความปวดก็ช่วยบรรเทาไม่ได้ ในวันอังคารที่ ๑๓ ได้เข้าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ก็สุดวิสัยที่แพทย์จะช่วยได้ นายชุบฯ จึงได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันพุธที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลา ๑๕ นาฬิกาเศษ คำนวณอายุได้ ๕๙ ปีกับ ๗ เดือน