บทนำ

ท่านที่เคยอ่านหนังสือชาดกมาแล้ว คงจะระลึกได้ว่า ในตอนท้ายของเรื่องมักจะบอกว่า ตัวละครในเรื่องนั้น ๆ ได้กลับชาติมาเกิดเป็นอะไรต่อไป

อย่างเรื่องที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ มหาเวสสันดรชาดก ก็มีบอกไว้ว่า ชูชกกลับชาติมาเกิดเป็นพระเทวทัตต์ นางอมิตดากลับชาติมาเกิดเป็นนางจิญจมาณวิกา นายพรานเจตบุตรกลับชาติมาเกิดเป็นพระฉันนเถระอันเป็นสหชาตกับพระพุทธเจ้า เทพยดาและนางเทพธิดาที่เนรมิตเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเพื่อมาอภิบาลปลอบประโลมสองกุมารในป่า ได้กลับชาติมาเป็นพระมหากัจจายนะและนางวิสาขา พระนางมัทรีกลับชาติมาเป็นพระนางยโสธรพิมพา พระชาลีกลับชาติมาเป็นพระราหุล และกัณหากลับชาติมาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี เช่นนี้เป็นต้น

การกลับชาติตามเรื่องชาดก เท่าที่ได้อ่านมา มีความเห็นว่า ผู้ที่กลับชาติมาเกิดใหม่นั้นมีทั้งผู้ที่ตามมาเกิดจองวรหรือใช้เวร และกลับมาเกิดพื่อประกอบกรรมดีเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป การจองเวร ก็คือ ตามมาเกิดด้วยความพยาบาทหมายจะคิดปองร้ายต่อไปอีก อย่างชูชกมาเกิดเป็นพระเทวทัตต์เพื่อจะขัดขวางพระพุทธเจ้า นางอมิตดากลับมาเกิดเป็นนางจิญจมาณวิกาก็เพื่อทำลายศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธเจ้าโดยแกล้งทำเป็นท้อง จนเทวดาทนดูไม่ได้ ต้องแปลงกายเป็นหนูไปกัดเชือกและผ้าที่ผูกมัดทำเป็นท้องให้ขาดหล่นลงมา และในที่สุด ทั้งสองคนก็ต้องใช้เวร คือ ใช้บาปที่ก่อขึ้นนั้น ด้วยการถูกธรณีสูบ ส่วนผู้ที่กลับมาเกิดเพื่อประกอบกรรมดี อย่างเช่น พระมหากัจจายนะ นางวิาขา พระราหุล พระอุบลวรรณาเถรี เป็นต้น

คติความเชื่อในเรื่องกลัชาติมาเกิดนั้นเป็นคติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณนานมาก แต่ในส่วนเฉพาะเรื่องชาดกที่ว่า มีการกลับชาติมาเกิดนั้น จะมีความจริงแค่ไหน เพียงใด ก็แล้วแต่ความเชื่อ การกลับชาติมาใหม่นั้น บางคนก็ระลึกชาติเดิมได้ บางคนก็ระลึกไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

"ถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่งไปตามทางซึงผู้รวบรวมชาดกเชื่อว่า ในชาติก่อน ๆ ของพระพุทธเจ้า พระองค์คงจะได้อุบัติขึ้นเป็นตัวสำคัญในนิทานทั้งหลายนี่ ก็อาจจะเป็นได้ เพราะท่านทั้งหลายนั้นเชื่อว่า พระพุทธเจ้าบรรลุวิชาอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า บุพเพนิวาสญาณ คือ ความรู้ให้ระลึกชาติที่เป็นอยู่ก่อน ๆ

การที่เชื่อว่า ระลึกชาติได้นี้ ใช่จะมีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาก็หาไม่ เป็นข้อที่เชื่อกันอยู่ในโบราณกาลแม้ในหมู่คนนอกพระพุทธศาสนา จะนำมากล่าวไว้พอเป็นตัวอย่าง ในเรื่องราวของพวกกรีก มีนักปราชญ์ชาตินั้นผู้หนึ่งชื่อ ปิถักโกรัส เป็นเจ้าลัทธิในวิชาที่ว่าด้วยธรรมดาของรูปธรรมนามธรรมซึ่งเป็นเหตุเกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้น แลเป็นคนเข้าใจวิชาสำหรับคำนวณ เขาเกิดที่เมืองสามส ประเทศกรีก ครั้งยังแยกไปหลายอาณาจักร เมื่อก่อนคริสตศกราว ๕๘๒ ปี คือ ก่อนพุทธปรินิพพาน ๔๐ ปี ได้แก่ เวลากำลังเป็นพุทธกาลในตอนแรก ๆ พระพุทธเจ้าพึ่งได้ตรัสสัก ๕ ปีล่วงไปแล้ว เที่ยวสอนความรู้ของตนในเมืองทั้งหลายแถบประเทศกรีกตั้งมาเดิมซึ่งเรียกว่า มักนากรีเซีย (Magna Graecia) แลสันนิษฐานตามภูมิศาสตร์โบราณว่า ประเทศอิตาลีตอนใต้ เมื่อก่อนคริสตศกราว ๕๒๙ ปี คือ หลังพุทธปรินิพพานราว ๑๓ ปี ทำกาลกิริยาที่เมืองเมตตาปนตุม จังหวัดมักนากรีเซียนั้นเอง เมื่อก่อนคริสตศกราว ๕๐๐ ปีถ้วน คือ หลังพุทธปรินิพาน ๔๒ ปี ปีถักโกรัสผู้นั้นกล่าวอ้างว่า ตนระลึกชาติได้ คราวหนึ่งก่อนคริสตศกระวาง ๑๔๔๕ ลงมาหา ๑๑๔๙ ปี พวกกรีกสมทบกันทำสงครามต่อพวกโตรยัน คือ ชาวเมืองตรอย ในประเทศโตรอัด ปลายเขตแผ่นดินเอเซียไมนอร์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยสาเหตุ คือ ปาริส ราชบุตรของพระเจ้าไปรอัม พระราชาของพวกโตรยัน พาเอาพระนางเฮลเลน พระราชมเหสีของพระเจ้าเมเนลาอุส พระราชาเมืองสปาร์ตา อีกนัยหนึ่งชื่อ เมืองลัซซีดีมน ไป พวกกรีกก็หวังจะตามเอาคืนมาให้จงได้ สงครามครั้งนั้น ฝ่ายกรีกมีพระเจ้าอักกเมม์นน พระราชาเมืองไมนีซีและบริเวณอาร์โกลิส พระราชภาดาของพระเจ้าเมเนลาอุส เป็นจอมพล ต่อรบกันอยู่ถึง ๑๐ ปี พวกกรีกจึงมีชัยชนะ ได้เมืองตรอย แลได้พระนางเฮลเลคืนมา ในสงครามครั้งนั้น พระเจ้าเมเนลาอุสฆ่านายทหารพวกโตรยันชื่อ ยูฟอร์บุส ที่เป็นคนมีชื่อเสียงข้างกล้าหาญ ตาย แล้วเอาโล่ของเขาถวายไว้ ณ เทวสถานแห่งนางเทพอัปสรชื่อ ฮีรา ที่พวกกรีกนับถือว่า เป็นภคินีเทวีแห่งพระพฤหัสบดี แลเป็นแบบอย่างของสตรีที่มีความดี ทั้งที่เป็นภรรยาแลที่เป็นมารดา อันตั้งอยู่ใกล้เมืองไมซีนี บ้างก็ว่า ถวายไว้ ณ เทวสถานเทพบุตรอปอลโล โอรสพระพฤหัสบดี เป็นที่หมายแห่งแสงสว่างแลอำนาจอันจะทำให้เป็นแลให้ตายของพระอาทิตย์ บางทีก็มักเข้าใจว่า พระอาทิตย์เอง อันตั้งอยู่ที่เมืองบรางกิดี (Branchidae) ปิถักโกรัส นักปราชญ์กรีกผู้นั้น กล่าวอ้างว่า ในครั้งนั้น ตนเกิดเป็นยูฟอร์บุส ชาวโตรยันผู้ถูกพระเจ้าเมเนลาอุสฆ่าตายในสงครามคนนั้น แลเมื่อมาเกิดเป็นปิถักโกรัสแล้ว เมื่อภายหลังแต่นั้นราว ๖๐๐ ปีหรือเกือบเท่านั้น ยังจำโล่ของตนที่พระเจ้าเมเนลาอุสถวายไว้ ณ เทวสถานนั้นได้ เขายังอ้างถึงชาติก่อนแลหลังแต่นี้อีกว่า ครั้งนั้น เกิดเป็นคนชื่อนั้นและชื่อนั้น ถ้าจะตรวจค้นในเรื่องราวของพวกอื่น ก็คงยังจะพบอีก แต่เท่านี้ก็พอเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า คนโบราณแม้นอกพระพุทธศาสนาก็เชื่อถือความระลึกชาติได้เหมือนกัน

เพราะเหตุที่พระพุทธกาลเป็นคราวเดียวกันกับเรื่องเหล่านี้ ผู้เรียบเรียงคัมภีร์ยังได้กล่าวไปตามความเชื่อเมื่อพบเห็นพระพุทธภาษิตที่ชักเรื่องเก่า ๆ มาเทียบให้ธรรมที่ทรงแสดงนั้นชัดขึ้น คือ ชาดกชั้นที่ ๑ จึงนึกว่า ใครเหมือนใคร ดังนี้ก่อน แล้วถึงใครได้แก่ใครครั้นต่อ ๆ มา จนถึงใครเป็นใครที่สุด เพราะฉะนั้น จึงควรจะเห็นได้ว่า ความเข้าใจค่อย ๆ เลื่อยมาเป็นชั้น ๆ จนถึงลงปลายยืนยันเอาเป็นมั่นคง ด้วยต้นเหตุแห่งความเชื่อบุพเพนิวาสญาณนั้น ถึงจะมีผู้นึกเคลือบแคลงสงสัยขึ้นมา ก็หักใจเสียว่า ไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะพึงพิจารณา ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่ธรรมหรือสุภาษิตต่างหาก"

นอกจากในเรื่องชาดกของไทยเราแล้ว ก็ปรากฏว่า ในนิทานจีนบางเรื่องได้กล่าวถึงการกลับชาติเหมือนกัน เช่น ในหนังสือ "สามก๊กอิ๋น" เป็นต้น คำว่า สามก๊กอิ๋น แปลเอาความว่า ต้นเรื่องสามก๊ก คือ กล่าวถึงชาติเดิมของบุคคลต่าง ๆ ที่จะกลับชาติไปเกิดในยุคสามก๊ก บุคคลสำคัญในเรื่องสามก๊กนั้นส่วนมากเป็นคนในยุคไซ่ฮั่นซึ่งเป็นพงศาวดารตอนต้นก่อนสามก๊ก อย่างเช่น แพอวดในสมัยไซ่ฮั่นนั้นได้กลับชาติไปเกิดในสมัยสามก๊กเป็นเล่าปี่ ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบแทนที่แพอวดมิได้เป็นคนคิดทรยศต่อผู้ใด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อความพิพากษาในเรื่องสามก๊กอิ๋นไม่ตรงกับในเนื้อเรื่องชาติเดิมสมัยไซ่ฮั่น เช่นว่า แพอวด เจ้าเมืองไต้เหลียง ถูกนางลีเฮาโอ้โลมจะให้เป็นสามี ครั้นแพอวดไม่ยอม ก็โกรธ ใช้ให้ขันทีเอากระบองอาญาสิทธิ์ตีแพอวดจนตาย แล้วเอาเนื้อไปทำเนื้อส้ม ห้ามมิให้มีการฝังศพ แต่ในพงศาวดารเล่าว่า แพอวดถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ และฮองเฮาทูลยุยงให้ฆ่าเสีย ตัดศีรษะเสียบไว้ที่ประตูเมืองลกเอี๋ยง ท่อนตัวนั้นให้สับละเอียดเอาไปแจกหัวเมืองทั้งปวง แล้วจับบรรดาญาติพี่น้องฆ่าเสียสามชั่วโคตร ดังนี้ ถ้าจะอ่านให้ได้ความดี ก็ควรจะอ่านเรื่องไซ่ฮั่นเสียก่อน

ผู้ที่แต่งเรื่องสามก๊กอิ๋นจะเป็นใครก็ตาม แต่เห็นได้ชัดว่า จะต้องรู้เรื่องไซ่ฮั่นและสามก๊กเป็นอย่างดี จึงได้จับมาโยงกันได้ อย่างนางลีกู๋ที่เป็นใจนางลีเฮาให้ทำการทุจริตนั้น ก็ได้ไปเกิดเป็นภรรยาเล่าอั๋นในเรื่องสามก๊ก ท่านที่เคยนอ่านเรื่องสามก๊กก็คงจะจำได้ว่า เมื่อเล่าปี่เสียเมืองเสียวพ่าย ได้หนีไปกับซุนเขียนเพื่อจะไปหาโจโฉ ขณะที่เดินทางมานั้น ได้แวะเข้าไปขออาศัยที่บ้านสองคนผัวเมียซึ่งเป็นคนยากจน เล่าปี่จึงถามเจ้าของบ้านว่า ชื่ออะไร เจ้าของบ้านก็บอกว่า ชื่อเล่าอั๋น แล้วเล่าอั๋นก็ซักถามเรื่องราวของคนทั้งสอง เล่าปี่ก็บอกความหลังให้ฟัง แล้วขอพักอาศัยสักคืนหนึ่ง เล่าอั๋นก็ยินดีให้พักแล้วจัดแจงหาของจะเลี้ยงเล่าปี่ แต่ไม่มีสิ่งใดจะทำอาหาร ครั้นจะไปเที่ยวหา เวลาก็พลบค่ำ เห็นจะไม่ทัน เล่าอั๋นจึงฆ่าภรรยาเชือดเอาเนื้อที่ลำแขนมาผัดคั่วเป็นเครื่องกับข้าว แล้วยกออกมาให้เล่าปี่กับซุนเขียนกิน

ดังนี้ จะเห็นว่า ที่นางลีกู๋สมคบกับนางลีเฮา พี่สาว กล่าวโทษแพอวด และให้เนื้อแพอวดทำเนื้อส้มไปให้คนกินนั้น กรรมก็ได้ตามสนองเมื่อกลับชาติมาเกิดเป็นภรรยาของเล่าอั๋นในสมัยสามก๊ก ต้องถูกฆ่าแล่เนื้อไปทำอาหารให้เล่าปี่ (คือ แพอวดกลับชาติมาเกิด) กินเป็นการทดแทน

การที่จะอ่านเรื่อง "สามก๊กอิ๋น" ให้สนุกนั้น จึงต้องอ่านไซ่ฮั่นอันเป็นเรื่องเดิมก่อน แล้วมาอ่านสามก๊กอีกเพื่อดูว่า ผลกรรมได้ตามสนองอย่างไรบ้าง ผู้ที่อ่านอย่างใช้สติพิจารณา ก็จะได้แลเห็นกฎแห่งกรรม โทษของความชั่ว และผลแห่งความดี สลัดกิเลสความลุ่มหลงต่าง ๆ ลงได้บ้าง

เรื่อง "สามก๊กอิ๋น" นี้ ปรากฏว่า มีผู้สนใจ ต้องการหาอ่านกันมาก แต่ต้นฉบับเดิมได้พิมพ์มานานแล้ว ไม่สู้แพร่หลายเท่าใดนัก ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้พิมพ์จากฉบับที่ลงพิมพ์ในวารสารวิทยุศึกษา ซึ่งได้มาจากหนังสือชำรุดอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้น ข้อความบางตอนจึงดูไม่ราบเรียบเท่าที่ควร ถึงกระนั้น ก็เห็นว่า ยังดีกว่าที่จะทิ้งให้สูญหายไปเสีย

ส. พลายน้อย
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕