คำนำกรมศิลปากร
(พ.ศ. ๒๕๔๓)




ในอภิลักขิตสมัยสมมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุได้สองหมื่นหกพันสี่ร้อยหกสิบเก้าวันในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ อันเป็นสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งสองพระองค์ ด้วยการจัดสัมมนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติระหว่างวันที่ ๒๘–๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ ณ หอสมุดแห่งชาติ และการจัดพิมพ์เผยแพร่เอกสารต้นฉบับมีค่าและหายาก ในการนี้ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๔๓ ได้มาแจ้งแก่กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ว่า มีความประสงค์จะขอร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ โดยขอจัดพิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายากของชาติ ทั้งนี้ จะใช้หนังสือนี้เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาอันเนื่องในวาระนี้ด้วย

หนังสือเรื่องสามก๊กเป็นวรรณคดีประเภทความเรียงที่สำคัญเรื่องหนึ่งของไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ต้นสกุล "บุญ-หลง" เป็นผู้อำนวยการแปลจากหนังสือพงศาวดารของจีน เพื่อไว้ใช้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการบ้านเมือง ซึ่งความเป็นมาของเรื่องสามก๊กนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเรียบเรียงไว้ใน ตำนานหนังสือสามก๊ก ว่า

"หนังสือสามก๊กไม่ใช่เป็นพงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า "สามก๊กจี" แปลว่า จดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองแลการสงคราม แลแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน แลตลอดไปจนถึงประเทศอื่น ๆ

"ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้นทราบว่า เดิมเรื่องสามก๊กเป็นแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมา ถึงสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐–๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเป็นเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเป็นหนังสือ จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๘๑๑–๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่งชื่อ ล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้นเป็นหนังสือหนึ่งร้อยยี่สิบตอน ต่อมา มีนักปราชญ์จีนอีกสองคน คนหนึ่งชื่อ เม่าจงกัง คิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊กจึงแต่งคำอธิบายแลพังโพยเพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคนหนึ่งชื่อ กิมเสี่ยถ่าง อ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเองเป็นทำนองคำนำมอบให้เม่าจงกังไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉบับต่อไปถึงประเทศอื่น ๆ"

ส่วนหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลนี้ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เป็นยอดของความเรียงเรื่องนิทาน ด้วยความที่แปลนั้นชัดเจน ใช้ภาษาได้ไพเราะ งดงาม สละสลวย และได้อรรถรส มีลักษณะพิเศษเฉพาะ จนกระทั่งกลายเป็นแบบฉบับในการแปลหนังสือพงศาวดารและบันเทิงคดีของจีนเรื่องอื่น ๆ ในสมัยต่อมา อีกทั้งเนื้อเรื่องของสามก๊กเป็นต้นเค้าในวรรณคดีไทยบางเรื่องบางตอน และมีผู้นำมาแต่งเป็นบทขับร้องเพลงไทยอีกหลายตอนเช่นกัน ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงความนิยมชมชอบหนังสือเรื่องสามก๊กเป็นอย่างดี

เรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นี้พิมพ์ครั้งแรกในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒๐ ได้จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อนึ่ง ในวาระนี้ประจวบตรงกับวันครบรอบสิบแปดปีของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ทางสำนักพิมพ์จึงได้จัดพิมพ์หนังสือสามก๊กเพื่อแจกเป็นอภินันทนาการแก่ผู้มีอุปการคุณในโอกาสดังกล่าวด้วย

กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือเรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) คงจะอำนวยประโยชน์แก่บรรดาผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์จีนและวรรณคดีกวีนิพนธ์ของไทยโดยทั่วกัน


นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น
อธิบดีกรมศิลปากร


กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๒ สิงหาคม ๒๕๔๓