คำนำกรมศิลปากร
(พ.ศ. ๒๕๔๕)




บริษัทสามัคคีสาร (ดอกหญ้า) จำกัด (มหาชน) ได้มาแจ้งแก่กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ว่า มีความประสงค์จะขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อจำหน่ายเผยแพร่ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์พิจารณาแล้ว อนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามประสงค์

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีนั้น มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้านเช่นเมื่อครั้ง "บ้านเมืองดี" ทั้งด้านความมั่นคง ปลอดภัย เศรษฐกิจ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือขึ้นสำหรับพระนคร โดยมีทั้งที่แต่งขึ้นใหม่และที่แต่งขึ้นเพื่อทดแทนฉบับเดิมซึ่งสูญหายครั้งเสียกรุง และมีพระราชดำรัสให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทยสองเรื่อง ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ใน ตำนานหนังสือสามก๊ก ว่า

"ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทย มีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทยสองเรื่อง คือ เรื่องไซ่ฮั่น เรื่องหนึ่ง กับเรื่องสามก๊ก เรื่องหนึ่ง โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น แลให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก คำที่เล่ากันมาดังกล่าวนี้ไม่มีในจดหมายเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า เป็นความจริง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอาเป็นพระราชธุระขวนขวายสร้างหนังสือต่าง ๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับพระนคร หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับตำรับตำราในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทั้งที่รวบรวมของเก่า ที่แต่งใหม่ แลที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีมาก แต่ว่าในสมัยนั้นเป็นหนังสือเขียนในสมุดไทยทั้งนั้น ฉบับหลวงมักมีบานแพนกแสดงว่าโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กสองเรื่องนี้ต้นฉบับที่ยังปรากฏอยู่มีแต่ฉบับเชลยศักดิ์ขาดบานแพนกข้างต้น จึงไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญว่าแปลเมื่อใด ถึงกระนั้นก็ดี มีเค้าเงื่อนอันส่อให้เห็นชัดว่า หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองเรื่อง เป็นต้นว่า สังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่งซึ่งสมมุติให้พระอภัยมณีมีวิชาชำนาญในการเป่าปี่ ก็คือ เอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับคำเพลงปี่ของพระอภัยมณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ถ่ายมาจากกันเป็นแท้ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๑ สุนทรภู่เป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง ส่วนเรื่องสามก๊กนั้นเค้าเงื่อนก็มีอยู่เป็นสำคัญในบทละครนอกเรื่องคาวีซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทหนึ่งว่า

"'เมื่อนั้น ไวยทัตหุนหันไม่ทันตรึก
อวดรู้อวดหลักฮักฮึก ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ยายกลับไปทูลพระเจ้าป้า ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา'

"พึงเห็นได้ในบทละครนี้ว่า ถึงรัชกาลที่ ๒ หนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาไทยได้อ่านกันจนนับถืออยู่แล้ว สมกับที่อ้างว่าแปลในรัชกาลที่ ๑ ใช่แต่เท่านั้น มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานต่อไปอีกว่า ความนับถือเรื่องสามก๊กดังในพระราชนิพนธ์นั้นเป็นมูลเหตุให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ ในรัชกาลภายหลังต่อมา ข้อนี้มีจดหมายเหตุเป็นหลักฐานอยู่ในบานแพนกว่า ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้แปลเรื่องเลียดก๊กอีกเรื่องหนึ่ง แลปรากฏนามผู้รับสั่งให้เป็นพนักงานการแปลล้วนผู้มีศักดิ์สูงแลทรงความสามารถถึงสิบสองคน คือ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยาโชดึกราชเศรษฐี ๑ พระท่องสือ ๑ จมื่นวัยวรนาถ ๑ นายจ่าเรศ ๑ นายเล่ห์อาวุธ ๑ หลวงลิขิตปรีชา ๑ หลวงวิเชียรปรีชา ๑ หลวงญาณปรีชา ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑ พึงสันนิษฐานว่า เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นหนังสืออันสมควรแปลไว้เพื่อประโยชน์ราชการบ้านเมืองเช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้แปลเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ยังมีหนังสือเรื่องห้องสินกับเรื่องตั้งฮั่นอีกสองเรื่อง..."

สำหรับประวัติของหนังสือสามก๊กนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ว่า

"หนังสือสามก๊กไม่ใช่เป็นพงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า "สามก๊กจี" แปลว่า จดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองแลการสงคราม แลแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน แลตลอดไปจนถึงประเทศอื่น ๆ

"ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้นทราบว่า เดิมเรื่องสามก๊กเป็นแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมา ถึงสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐–๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเป็นเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเป็นหนังสือ[ก] จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๘๑๑–๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่งชื่อ ล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้นเป็นหนังสือหนึ่งร้อยยี่สิบตอน ต่อมา มีนักปราชญ์จีนอีกสองคน คนหนึ่งชื่อ เม่าจงกัง คิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊กจึงแต่งคำอธิบายแลพังโพย[ข] เพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคนหนึ่งชื่อ กิมเสี่ยถ่าง อ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเองเป็นทำนองคำนำมอบให้เม่าจงกังไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉบับต่อไปถึงประเทศอื่น ๆ"

สามก๊กเป็นวรรณกรรมเอกเรื่องหนึ่งของโลก ได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ กว่าสิบภาษา สำหรับในประเทศไทย หนังสือสามก๊กสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดแห่งความเรียงเชิงนิทาน ด้วยการใช้คำสำนวนโวหารสละสลวยกลมกลืนและเปี่ยมคุณค่าสาระ แม้จะผ่านวันเวลามากว่าสองศตวรรษแล้วก็ยังนับถือเป็นตำราในการใช้ภาษาและการดำเนินชีวิตอย่างดียิ่ง ปัจจุบัน นักการทหาร นักธุรกิจ และนักเศรษฐศาสตร์ยังคงยึดถือสามก๊กเป็นคัมภีร์กำหนดการตัดสินใจในการดำเนินการหรือยุทธการ วรรณกรรมเรื่องสามก๊กได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศไทย ได้พัฒนาชิ้นงานประพันธ์ขึ้นอีกหลายรูปแบบ อาทิ

บทละครรำเรื่องสามก๊ก

- ตอนพระเจ้าเลนเต้ประพาสสวนจนถึงตั๋งโต๊ะเข้าไปขู่พระเจ้าเหี้ยเต้ หลวงพัฒนพงศ์ภักดีแต่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเล่นละคร

- ตอนอ้องอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทรฯ เล่นละคร

- ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทรฯ เล่นละคร

- ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หมิ่นเสนานุชิต (เจต) แต่งลงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

- ตอนจิวยี่รากเลือก หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทรฯ เล่นละคร

- ตอนนางซุนฮูหยินหนีกลับไปเมืองกังตั๋ง หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทรฯ เล่นละคร

บทละครร้องเรื่องสามก๊ก

- ตอนนางเตียวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า "นายบุญสะอาด" พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

- ตอนตั๋งโต๊ะหลงนางเตียวเสี้ยน ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า "เหม็งกุ้ยปุ้น" พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

- ตอนเล่าปี่แต่งงานจนจิวยี่รากเลือด ผู้แต่งใช้นามปากกว่า "ทิดโข่ง" พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑

- สามก๊กกลอนสุภาพ ตอนนางเตียวเสิ้ยนลวงตั๋งโต๊ะ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) แต่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

หนังสือสามก๊กนี้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พ.ศ. ๒๔๗๑ การพิมพ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๒๑ กรมศิลปากรหวังอย่างยิ่งว่า หนังสือเรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งบริษัทสามัคคีสาร (ดอกหญ้า) จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์ในครั้งนี้คงอำนวยประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่วกัน


นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น
อธิบดีกรมศิลปากร


กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๑๔ มีนาคม ๒๕๔๕