หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับญี่ปุ่น พ.ศ. 2466
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1070581.pdf |
หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับญี่ปุ่น
ลงชื่อกันที่กรุงเทพฯ วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๖๖
ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันที่กรุงเทพฯ
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๖๗
- สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม และสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชกรุงญี่ปุ่น มีพระราชประสงค์ที่จะกระทำให้ทางพระราชไมตรีและความเข้าใจอันดี ซึ่งมีผลต่อกันอยู่โดยผาสุกในระหว่างทั้ง ๒ ประเทศนี้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น และทรงเชื่อมั่นว่าทางที่จะให้สมความปราถนาอันนี้ ไม่มีอย่างอื่นดียิ่งกว่าที่จะแก้ไขบรรดาหนังสือสัญญาที่ได้มีต่อกันอยู่แล้วมาแต่ก่อน จึงได้ทรงตกลงจะกระทำการแก้ไขนั้นให้เปนอันสำเร็จ โดยถือความสมธรรมและให้ประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยเสมอภาคเปนหลัก และเพราะฉนั้นจึงได้ทรงแต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่ายคือ
- ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ เครื่องราชอิศริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ประถมาภรณ์ ผู้ทำการแทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศของพระองค์
- ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชกรุงญี่ปุ่นนั้น โจโนสุเกยาดา, ยูชิอิ, เครื่องราชอิศริยาภรณ์อาทิตย์อุทัยชั้น ๓ อัครราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มของพระองค์ ณ สำนักรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสยาม ผู้ซึ่งเมื่อได้แลกหนังสือมอบอำนาจให้ตรวจดูซึ่งกันและกันและได้เหนเปนอันถูกต้องแบบอย่างดีแล้ว ได้ปรึกษาตกลงกันทำสัญญาเปนข้อดังต่อไปนี้
ข้อ ๑
- กรุงสยามกับกรุงญี่ปุ่น จะต้องมีความสงบราบคาบเรียบร้อยกันอยู่เสมอ และจะต้องเปนไมตรีกันอยู่เป็นนิจนิรันดร คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีเสรีภาพที่จะเข้าไป และเดินทาง และอาศรัยอยู่ในอาณาเขตร์และดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง และทำการค้าขายและการหัตถกรรม และซื้อขายสินค้าทุกชนิดอันจะพึงค้าขายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และทำการในทางศาสนา ทางศึกษา และทางการกุศล และเปนเจ้าของหรือเช่า และอยู่ในเรือนโรงงานหัดถกรรม โรงเก็บสินค้าและร้าน และใช้ผู้อื่นรับธุระเปนตัวแทนตามที่ตนจะเลือกตั้ง และเช่าที่ดินสำหรับใช้เปนที่อยู่ ฤาทำการค้าขาย ทำการอุตสาหะกรรม ทำการศาสนา และทำการทานกุศล และเพื่อการอื่นๆอันชอบด้วยกฎหมายและเพื่อใช้เปนสุสาน และทำการต่างๆทั่วไปอันเกี่ยวข้องหรือจำเปนแก่การค้าขาย โดยมีกำหนดอย่างเดียวกันกับชาวเมือง แต่ต้องยอมตนอยู่ใต้อำนาจกฎหมายและข้อบังคับต่างๆซึ่งได้ตั้งขึ้นไว้ในประเทศนั้น
- คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ต้องถูกบังคับโดยอ้างเหตุใดๆเปนอันขาด ที่จะทำให้เสียค่าภาระ หรือภาษีอากรภายในอย่างใดๆนอกจากหรือยิ่งกว่าที่ชาวเมืองของประเทศนั้นได้เคยเสียอยู่ หรือจะได้เสียต่อไป
- คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่ออยู่ในอาณาเขตและดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องได้รับความคุ้มครองป้องกัน และความมั่นคงอันหนักแน่นอย่างยิ่งเปนนิจสำหรับกายตัวและทรัพย์สมบัติ และในกระบวนนี้จะต้องมีสิทธิ์ทั่วไปและสิทธิ์พิเศษเช่นเดียวกับที่ได้ให้มีอยู่ฤาจะได้ให้มีขึ้นแก่คนในบังคับซึ่งเปนชาวเมือง แต่ต้องยอมตัวอยู่ในอำนาจข้อลักษณะต่างๆซึ่งมีบังคับไว้สำหรับคนในบังคับซึ่งเปนชาวเมืองนั้นด้วย
- แต่คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่ออยู่ในอาณาเขตและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องได้รับความยกเว้นจากการเกณฑ์เปนทหารไม่ว่าทางบกหรือทางน้ำ ไม่ว่าในกองทหารประจำการสามัญ หรือในกองทหารรักษาการประจำชาติ หรือในเหล่าทหารมิลิเซียก็ดี และทั้งยกเว้นจากการต้องส่งเสียเงินโดยประการต่างๆ อันบังคับให้เสียแทนการเกณฑ์ตัวเปนทหาร และยกเว้นจากการต้องออกเงินให้กู้ยืมชนิดที่เปนการบังคับ หรือการเรียกเกณฑ์เอาเงิน หรือออกเงินเพื่อการทหารอย่างใดๆ ทั้งสิ้น
- คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ทั้งสองฝ่าย เมื่ออยู่ในอาณาเขตและดินแดนของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ จะต้องมีเสรีภาพบริบูรณ์ในทางถือศาสนาได้ตามชอบใจตน และเมื่อปฏิบัติตามกฎหมายและกฎข้อบังคับต่างๆแล้ว จะต้องมีสิทธิ์เพื่อประกอบการสักการบูชาตามลัทธิที่ตนนับถือได้ จะเปนการเฉพาะบุคคล ฤาในท่ามกลางสาธารณชนก็ดี
- ในการทั้งปวงที่เกี่ยวกับทางประกอบการอุตสาหะกรรมและทางทำมาหากิน และทางอาชีวะทั้งหลายรวมทั้งการเข้าถือ, ถืออยู่และจำหน่ายเสียซึ่งสิทธิเปนเจ้าของทรัพย์สมบัติทุกประเภทนั้น คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตลอดทั่วทุกแห่งไปในอาณาเขตและดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องตั้งอยู่ในฐานะอย่างเดียวกันกับคนในบังคับ หรือพลเมืองของชาติที่โปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่งนั้นทุกประการ
ข้อ ๒
- บรรดาเคหสถาน โรงเก็บของ โรงงานหัตถกรรมและร้านและสมบัติอย่างอื่นๆทั้งหลายของคนในบังคับประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งอยู่ในอาณาเขตและดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งสถานที่ต่างๆอันเกี่ยวข้องซึ่งใช้สำหรับเปนที่อยู่หรือสำหรับการค้าขายก็ดีนั้น ต้องให้นับถือว่าเปนที่มีเจ้าของทั้งสิ้น ห้ามมิให้เข้าไปตรวจหรือค้นเรือนโรงร้านและสถานที่เหล่านั้นแห่งหนึ่งแห่งใด หรือตรวจสอบสรรพสมุดหนังสือหรือบาญชีในนั้น เว้นไว้แต่ที่จะกระทำตามลักษณและตามแบบระเบียบที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายและข้อบังคับต่างๆสำหรับคบในบังคับซึ่งเปนชาวเมืองนั้น
ข้อ ๓
- ในระหว่างอาณาเขตและดินแดนของทั้งสองฝ่ายที่ทำสัญญาใหญ่นี้ จะต้องยอมให้มีการค้าขายและการเดินเรือไปมาได้โดยสดวกเต็มที่ทั้งหมดเสมอกันทั้งสองฝ่าย
- คนในบังคับประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ต่างฝ่ายถ้อยทีต้องไปมาหากันได้ตามอำเภอใจ โดยสดวกและปราศจากภยันอันตรายพร้อมกับกำปั่นและสินค้ายังสถานที่ ท่าและลำน้ำทุกแห่งในอาณาเขตและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้เปิดให้มีการค้าขายและการเดินเรือต่อเมืองต่างประเทศอยู่แล้ว หรือที่จะได้เปิดต่อไปภายหน้า และเมื่อได้ยอมปฏิบัติตามกฎหมายประเทศที่เข้าไปนั้นแล้ว จะต้องได้รับผลแห่งสิทธิทั่วไป สิทธิพิเศษ เสรีภาพและประโยชน์ที่โปรด กับทั้งผลแห่งการพ้นจากและยกเว้นจากภาระต่างๆในการค้าขายและการเดินเรือ เหมือนกันกับคนในบังคับซึ่งเปนชาวเมืองนั้นได้รับอยู่ในบัดนี้ หรือจะได้รับต่อไปในภายน่า
ข้อ ๔
- ประเทศที่ทำสัญญาใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่กระทำการขัดขวางต่อการค้าขายระหว่างประเทศทั้งสอง โดยห้ามหรือจำการการขนส่งสินค้าชนิดใดๆ เข้าไปในเมืองออกจากเมือง หรือผ่านเมือง เว้นไว้แต่ประการต่างๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งถ้าแม้จะห้ามหรือจำกัดด้วยประการนั้นๆแล้วจะต้องเปนอันใช้ข้อซึ่งห้ามหรือจำกัดนั้น บังคับบันดาประเทศทั้งหลายได้ทั่วทุกประเทศ หรือมิฉะนั้น ก็บังคับบันดาประเทศที่ตกอยู่ในลักษณะการอย่างเดียวกันนั้นได้ คือ
- ๑ การห้ามหรือจำกัดเนื่องด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ในเวลามีพฤติการอันใช่ปรกติ
- ๒ การห้ามหรือจำกัดเพื่อเหตุแห่งความปลอดภัยของสาธารณชน หรือเพื่อเหตุแห่งการสาธารณสุข
- ๓ การห้ามหรือจำกัดสิ่งใดๆอันเปนของผูกขาดของรัฐบาลอยู่แล้วในเวลานี้ หรือจะได้เปนเช่นนั้นขึ้นต่อไปในภายน่า
- ๔ การห้ามหรือจำกัด เพื่อป้องกันปศุสัตว์ หรือพฤกษาชาติอันมีประโยชน์ ให้ปราศจากโรคและแมลงร้าย ฤากาฝากร้ายต่างๆ
- ๕ การห้ามหรือจำกัดสิ่งของต่างๆ อันคล้ายคลังกับสิ่งของภายในเมือง ซึ่งตามกฎหมายบ้านเมืองมิให้ทำขึ้นหรือขายหรือส่งไปมาในบ้านเมืองนั้น หรือถ้าแม้ให้กระทำเช่นนั้นๆได้ ก็โดยมีข้อขีดคั่นจำกัดอันคล้ายคลึงเหมือนกัน
ข้อ ๕
- คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีเสรีภาพที่จะไปยังศาลยุติธรรมของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเรียกร้องหรือป้องกันสิทธิของตน และจะต้องมีเสรีภาพเท่าเทียมกันกับคนในบังคับซึ่งเป็นชาวเมืองนั้น และกับคนในการที่บังคับหรือพลเมืองของชาติที่โปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะเลือกและใช้ผู้รู้กฎหมายทนายความและผู้แทนสำหรับให้ไปทำการเรียกร้องและป้องกันสิทธิ์ของตนต่อหน้าศาลนั้นๆ
- การที่คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเข้าไปทำการเหล่านี้ติดต่อกับศาลยุติธรรมของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องไม่ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามข้อลักษณะหรือความบังคับอย่างใดๆ ซึ่งมิได้ใช้แก่คนในบังคับซึ่งเป็นชาวเมืองนั้น หรือแก่คนในบังคับหรือพลเมืองของชาติที่โปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ข้อ ๖
- บริษัทจำกัดสินใช้ และบริษัทหุ้นส่วนอื่นๆ และสมาคมซึ่งได้ตั้งขึ้นแล้ว หรือซึ่งจะได้ตั้งขึ้นในภายน่าตามกฎหมายของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมได้รับอนุญาตในอาณาเขตและดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ปฏิบัติตามสิทธิ์ของตนได้ และให้ขึ้นศาลเพื่อเป็นโจทหรือจำเลยได้ตามกฎหมายของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง
- ในการที่บรรดา องค์คณะหรือบริษัทหรือสมาคม ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศที่ได้ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเข้าไปทำการเหล่านี้กับศาลยุติธรรมของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องไม่ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามข้อลักษณะหรือความบังคับอย่างใดๆ ซึ่งมิได้ใช้แก่องค์คณะหรือบริษัทหรือสมาคมแห่งพื้นเมืองนั้น หรือแก่องค์คณะหรือบริษัทหรือสมาคมของชาติที่โปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ข้อ ๗
- คนในบังคับของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ต่างฝ่ายถ้อยทีต้องได้รับประโยชน์ในอาณาเขตและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอเหมือนกับคนในบังคับซึ่งเปนชาวเมืองและทั้งกับคนในบังคับหรือพลเมืองของชาติที่โปรดให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งในการทั้งปวงซึ่งเกี่ยวข้องกับภาษีผ่านด่านภายใน กับการเก็บสินค้าไว้ในที่พัก กับเงินอนุญาตเกื้อกูลการค้าขาย กับการให้มีความสดวกต่างๆ กับการตรวจและตีราคาสินค้า และการคืนภาษีอันส่งกลับออกไปนอกเมือง
ข้อ ๘
- กรุงญี่ปุ่นนับถือว่า กรุงสยามมีอิศรภาพในการทั้งปวง ซึ่งเกี่ยวด้วยพิกัดอัตราเก็บภาษีสินค้าเข้าออก การคืนภาษีสินค้ากลับออกไปนอกเมือง และสรรพากรผ่านด่านภายใน และส่วยสาอากรอื่นๆทั้งปวง มีลักษณะเปนข้อสำคัญว่าจะต้องประพฤติให้เปนผลเสมอเหมือนประเทศอื่นๆในข้อเหล่านี้แล้ว
- กรุงญี่ปุ่นยอมให้กรุงสยามเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นกว่าที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีลักษณะเปนข้อสำคัญต่อไปอีกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีสิทธิ์จะรับผลพิเศษตามพิกัดภาษีที่มีอยู่นั้นยอมให้เพิ่มอัตราภาษีเช่นนี้ด้วยดี และไม่เรียกร้องเอาผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษแลกเปลี่ยนอย่างใดด้วย
ข้อ ๙
- ในการนำสิ่งของใดๆเข้ามาในอาณาเขต และดินแดนของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากว่าสิ่งของนั้นๆเกิดขึ้น หรือทำขึ้นในอาณาเขตและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งแม้ในเวลาเข้ามาจะมาแต่แห่งใดก็ดี ห้ามมิให้เรียกเก็บภาษีศุลกากรอย่างอื่น หรือสูงกว่าที่เรียกเก็บแต่สิ่งของเช่นกันอันเกิดขึ้นหรือทำขึ้นณะต่างประเทศอื่นๆ แม้ในเวลาเข้ามาจะมาแต่ใดก็ดี
- ส่วนศุลกากรหรือภาษีหรือค่าภาระประเภทใดๆก็ดี ที่จะพึงเรียกเก็บในอาณาเขตและดินแดนของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องแต่สิ่งของอันนำออกไปยังอาณาเขตและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ห้ามมิให้เรียกเก็บประการใดๆอย่างอื่น หรือสูงกว่าที่เสียอยู่แล้วในเวลานี้ หรือจะต้องเสียต่อไปในภายน่า สำหรับสิ่งของเช่นกันอันนำออกไปยังต่างประเทศอื่นๆนั้น
ข้อ ๑๐
- บรรดาสิ่งทั้งปวงอันเปนของที่จะนำเข้าไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในเวลานี้ หรือในเวลาต่อไปภายน่า ยังท่าเรือในอาณาเขตและดินแดนของกรุงสยามโดยเรือสยามหรือเรือของประเทศอื่นนั้น ก็ให้นำเข้าไปโดยเรือญี่ปุ่นยังท่าเรือเหล่านั้นได้ดุจกัน โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรหรือค่าภาระประการใดๆอย่างอื่นหรือสูงกว่าที่เก็บจากของที่นำเข้าไปโดยเรือสยามหรือเรือของประเทศอื่น และเพื่อเปนการตอบแทนซึ่งกันและกัน บรรดาสิ่งทั้งปวงอันเปนของที่จะนำเข้าไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในเวลานี้ หรือในเวลาต่อไปภายน่า ยังท่าเรือในอาณาเขตและดินแดนของกรุงญี่ปุ่นโดยเรือญี่ปุ่น หรือเรือของประเทศอื่นนั้น ก็ให้นำเข้าไปโดยเรือสยามยังท่าเรือเหล่านั้นได้ดุจกัน โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรหรือค่าภาระประการใดๆอย่างอื่นหรือสูงกว่าที่เก็บจากของที่นำเข้าไปโดยเรือญี่ปุ่นหรือเรือของประเทศอื่น การที่ถ้อยทีถ้อยตอบแทนซึ่งกันและกันโดยเสมอภาคเช่นนี้ จะต้องเปนอันใช้ได้โดยไม่เลือกว่าสิ่งของเหล่านั้นตรงมาจากถิ่นเดิมของสิ่งของนั้นๆ หรือมาจากแหล่งอื่นๆ
- โดยนัยอย่างเดียวกันนี้ ในการเกี่ยวข้องด้วยการนำส่งสิ่งของออกไปนอกประเทศ ก็จะต้องปฏิบัติให้เสมอภาคบริบูรณ์เพื่อว่า ภาษีชั้นใน และภาษีขาออกก็ดี เงินอนุญาตเกื้อกูลการค้าขาย และเงินค่าคืนภาษีสินค้าอันส่งกลับออกไปก็ดีที่จะต้องเสียและได้รับในอาณาเขตรและดินแดนของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องด้วยการนำสิ่งของใดๆอันพึงจะนำออกไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายในเวลานี้ หรือต่อไปภายน่านั้น จะได้เปนอันให้เสียและให้ได้รับเปนอัตราสม่ำเสมออย่างเดียวกัน ไม่ว่าการที่นำออกไปนั้น จะได้นำออกไปโดยเรือสยามเรือญี่ปุ่น หรือเรือของประเทศอื่นก็ดี และไม่ว่านำออกไปสู่ท่าเรือแห่งใด จะเปนท่าเรือของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือจะเป็นท่าหรือของประเทศอื่นก็ดี
ข้อ ๑๑
- ไม่ให้เก็บภาษีค่าระวางเรือ ค่าท่า ค่านำร่อง ค่าประภาคาร ค่าด่านป้องกันโรค หรือภาษีที่คล้ายหรือทำนองเดียวกัน ไม่ว่าประเภทหรือเรียกชื่ออย่างใดๆ ซึ่งจะเรียกเก็บในนามหรือเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล หรือข้าราชการ หรือเอกชน หรือองค์คณะ หรือสถานใดๆ ณ ที่ท่าเรือในอาณาเขตและดินแดนของฝ่ายหนึ่ง จากเรือของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าแม้การที่เก็บนั้นในกรณีอย่างเดียวกันไม่เรียกเก็บให้เท่าเทียมกัน หรือไม่เรียกเก็บโดยลักษณอย่างเดียวกันจากเรือทั่วไปของชาติพื้นเมืองนั้น หรือเรือของประเทศอื่นก็ดี การปฏิบัติให้สม่ำเสมอเช่นนี้ ให้ใช้ปฏิบัติเปนการตอบแทนซึ่งกันและกัน แก่เรือแต่ละฝ่ายไม่ว่าเรือนั้นจะมาถึงท่าหรือหรือแห่งใดก็ดี และไม่ว่าจะออกไปสู่แห่งใดก็ดี
ข้อ ๑๒
- ในการทั้งปวงที่เกี่ยวกับเรือเข้า ออก หยุดกับที่ บรรทุกและขนสินค้าลงเรือขึ้นจากเรือ ที่เมืองท่า ที่ท้องน้ำ ที่อู่ ที่ทอดสมอ ที่อ่าวกำบังหรือที่ลำน้ำของประเทศทั้งสองนี้ จะต้องไม่ให้สิทธิพิเศษแก่เรือของประเทศอื่นนอกไปจากที่จะได้ให้แก่เรือของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเหมือนกัน ความตั้งใจของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ มีอยู่ว่าในกระบวนที่ว่านี้ ตั้งใจจะให้เรือแต่ละฝ่ายได้รับผลปฏิบัติอย่างที่ได้ให้แก่เรือของชาติที่โปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ข้อ ๑๓
- การค้าขายตามชายทะเลของประเทศทั้งสองที่ทำสัญญาใหญ่นี้นั้น เปนอันเว้นเสียจากข้อความในสัญญาฉบับนี้ และต้องเปนไปตามกฎหมายและกฎข้อบังคับต่างๆของกรุงสยาม หรือกรุงญี่ปุ่นตามแต่กรณี แต่เปนที่เข้าใจกันว่า คนในบังคับและเรือสยามในอาณาเขตและดินแดนของกรุงญี่ปุ่น และคนในบังคับและเรือญี่ปุ่นในอาณาเขตและดินแดนของกรุงสยาม จะต้องได้มีสิทธิในการอันนี้เหมือนกันกับคนในบังคับหรือพลเมืองและเรือของประเทศอื่นๆ ได้รับหรือจะได้รับต่อไปตามกฎหมายและกฎข้อบังคับเหล่านั้น
ข้อ ๑๔
- เรือรบหรือเรือค้าขายลำใดๆของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกพายุหรือมีเหตุทุกขภัยอย่างอื่นๆ จำเปนต้องเข้ากำบังอาศรัยในท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่งของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ต้องมีเสรีภาพในการที่จะแต่งเรือใหม่ ณ ที่นั่น ในการที่จะหาเสบียงและของใช้ที่จำเปนทุกอย่าง และในการที่จะออกเรือเดินทะเลต่อไปอีก โดยไม่ต้องใช้ค่าธรรมเนียมอันใดยิ่งกว่าที่เรือของประเทศนั้นจะพึงต้องใช้ แต่อย่างไรๆก็ดี ถ้าเปนการที่นายเรือค้าขายมีความจำเปนจะต้องจำหน่ายสินค้าเสียส่วนหนึ่งเพื่อที่จะได้เงินมาใช้จ่ายแล้ว นายเรือจะต้องอนุวัตตามข้อบังคับและพิกัดภาษีในท้องที่ซึ่งนายเรือได้ไปถึงอยู่นั้นด้วย
- ถ้าเรือรบหรือเรือสินค้าลำใดลำหนึ่งของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ติดตื้นหรืออัปปางตามฝั่งทะเลของอีกฝ่ายหนึ่ง เจ้าพนักงานท้องที่ต้องรีบบอกเหตุที่เกิดขึ้นแก่พนักงานกงสุลของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในตำบลนั้น หรือพนักงานกงสุลที่อยู่ในตำบลที่ใกล้เคียงที่สุด
- กำปั่นหรือเรือที่ติดตื้นหรืออัปปางเช่นนี้และส่วนใดๆของเรือกับทั้งเครื่องตกแต่งใช้สรอยทั้งปวงสำหรับเรือและเครื่องเรือทุกอย่าง กับสิ่งของและสินค้าที่ช่วยมาได้จากเรือ ทั้งของสิ่งใดๆ ซึ่งหากได้ทิ้งลงทะเลหรือเงินที่ได้จากการขายของนั้นๆ ถ้าหากได้ขายกับทั้งหนังสือที่ค้นพบบนกำปั่นหรือเรือซึ่งได้ติดตื้นหรืออัปปางทั้งปวงเช่นว่านี้ ต้องส่งคืนแก่เจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือในเวลาที่มาเรียกรับไป
- ถ้าเจ้าของเรือหรือตัวแทนเช่นนี้ไม่อยู่ ณ ที่นั่นแล้ว สมบัติที่ว่ามาแล้วหรือเงินที่ได้จากการจำหน่ายสมบัตินั้นๆ และหนังสือที่ค้นพบบนเรือนั้น ต้องส่งให้พนักงานกงสุลผู้มีน่าที่ของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ซึ่งเปนเจ้าของเรือที่อัปปางหรือติดตื้นนั้น ต่อเมื่อพนักงานกงสุลมาร้องขอจะรับไปภายในเวลาซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ และข้อบังคับของประเทศที่เรือมาอัปปางหรือติดตื้นอยู่นั้น และพนักงานกงสุลเช่นว่านี้ก็ดี เจ้าของเรือหรือตัวแทนเช่นว่านี้ก็ดี จะต้องใช้เงินแต่เพียงเปนค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสมบัตินั้น กับทั้งค่าใช้จ่ายในการช่วยเรือหรือค่าใช้จ่ายในการอื่นๆ ซึ่งจะพึงต้องใช้เหมือนกันในการอัปปางของเรือแห่งประเทศนั้นเอง
- สิ่งของและสินค้าที่ช่วยมาได้จากการอัปปางนั้น ต้องงดเว้นไม่เก็บภาษีศุลกากรทุกอย่าง ยกเสียแต่ที่ได้ปรากฎชัดว่าเจ้าของเอาของนั้นไปจำหน่ายให้คนในเมืองใช้สรอยจึงจะต้องเสียภาษีตามธรรมเนียม
- ในการที่เรือของคนในบังคับประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายหนึ่งได้ถูกพายุพัดเข้าไปติดตื้นหรืออัปปางอยู่ในอาณาเขตรและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือนั้นไม่ได้อยู่ ณ ที่นั่น หรืออยู่แต่เรียกร้องให้ทำเช่นนั้น พนักงานกงสุลผู้มีน่าที่ของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้และซึ่งเปนเจ้าของเรือนั้น มีอำนาจที่จะช่วยเปนธุระว่ากล่าว เพื่อจะให้ได้ช่วยเกื้อหนุนแก่คนในบังคับประเทศของตนตามการที่จำเปน
ข้อ ๑๕
- เรือรบของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเข้าไป, จะพักอยู่, และจะซ่อมเรือในท่าเรือและที่แห่งใด ในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยอมให้เรือรบของประเทศอื่นๆเข้าไปได้นั้นก็ได้ แต่เรือรบนั้นจะต้องยอมทำตามข้อบังคับทั้งหลายในที่นั้นและจะได้รับเกียรติยศ และประโยชน์และสิทธิพิเศษและความยกเว้นต่างๆเหมือนกันกับที่ให้มีอยู่แล้ว หรือจะได้ให้มีต่อไปในภายน่าแก่บรรดาเรือรบของประเทศอื่นประเทศใดประเทศหนึ่ง
ข้อ ๑๖
- ในการที่เกี่ยวกับเปเตนต์, เครื่องหมายการค้าขาย, ยี่ห้อค้าขาย, สิทธิในแบบอย่างต่างๆและสิทธิในสำเนาทั้งปวงนั้น คนในบังคับของประเทศที่สำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่อได้กระทำตามแบบพิธีซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว จะต้องได้รับความคุ้มครองป้องกันในอาณาเขตและดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอเหมือนกับคนในบังคับซึ่งเปนชาวเมืองหรือคนในบังคับหรือพลเมืองของชาติที่โปรดให้ได้รับประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการนั้นๆ
ข้อ ๑๗
- ประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องกงสุลเยเนอราล กงสุล ไวยกงสุล แลพนักงานหรือผู้แทนกงสุลอื่นๆ ให้ไปอยู่ ณ เมืองและเมืองท่าในอาณาเขตและดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้ยอมให้พนักงานอย่างเดียวกันของประเทศอื่นๆไปตั้งอยู่นั้นก็ได้
- แต่อย่างไรก็ดี พนักงานและผู้แทนกงสุลเช่นว่านี้จะต้องไม่เข้าทำการตามตำแหน่งจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบและอนุมัติของรัฐบาลซึ่งตนไปประจำอยู่ด้วยนั้น
- พนักงานและผู้แทนกงสุลเช่นว่านี้ จะต้องมีสิทธิทำการได้เต็มตามอำนาจ และมีเกียรติยศและสิทธิพิเศษและได้รับความยกเว้นและพ้นจากภาระทุกอย่าง ซึ่งให้มีอยู่แล้วหรือจะได้ให้มีในภายหน้าแก่พนักงานกงสุลทั้งหลายของชาติซึ่งโปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ข้อ ๑๘
- ถ้าคนในบังคับคนใดของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายลงในอาณาเขตหรือดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่มีผู้ใดในประเทศที่ถึงแก่ความตายนั้นปรากฎทราบกันว่าเปนทายาท หรือเปนผู้จัดการพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้แต่งตั้งไว้แล้ว เจ้าพนักงานท้องที่ผู้มีน่าที่จะต้องแจ้งความแก่พนักงานกงสุลแห่งประเทศของผู้ที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่สุดให้ทราบโดยพลัน เพื่อจะได้รีบแจ้งความที่จะต้องแจ้งให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบโดยทันที
- ถ้ามีคนในบังคับคนใดของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดถึงแก่ความตายลงในอาณาเขตหรือดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่มีผู้ใด ณ ที่ๆถึงแก่ความตายนั้น มีสิทธิตามกฎหมายของบ้านเมืองของผู้ที่ถึงแก่ความตายที่จะเข้ารักษาและจัดการทรัพย์มรดก ฉนั้นให้เจ้าพนักงานกลสุลอันมีหน้าที่แห่งประเทศของผู้ที่ถึงแก่ความตายนั้น เมื่อได้ปฏิบัติถูกต้องตามแบบพิธีการที่จำเปนทุกอย่างแล้ว มีอำนาจเข้าพิทักษ์และจัดการทรัพย์มรดกนั้น ตามวิธีการและความขีดคั่นซึ่งกฎหมายของบ้านเมืองที่มีทรัพย์สมบัติของผู้ที่ถึงแก่ความตายตกอยู่นั้นบัญญัติไว้
- ข้อความข้างบนนี้ให้เปนอันใช้ได้เหมือนกันในกรณีเมื่อมีคนในบังคับคนใดของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดได้ถึงแก่ความตายลงภายนอกอาณาเขตและดินแดนของประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มีทรัพย์สมบัติอยู่ภายในอาณาเขตและดินแดนนั้นโดยมิได้มีผู้ใดในนั้นมีสิทธิที่จะเข้ารักษาและจัดการทรัพย์มรดกนั้น
- อนึ่งเปนที่เข้าใจกันว่า ในสรรพการที่เกี่ยวแก่การจัดการทรัพย์มรดกของผู้ที่ได้ถึงแก่ความตาย บรรดาสิทธิทั่วไป, สิทธิพิเศษ, ประโยชน์ที่โปรดให้ความพ้นภาระอย่างใดๆซึ่งประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ให้ไว้แล้วหรือจะได้ให้ต่อไป แต่เจ้าพนักงานกงสุลของต่างประเทศใดๆนั้น จะต้องได้แก่เจ้าพนักงานกงสุลของประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้อีกฝ่ายหนึ่งดุจกันโดยทันที และไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
ข้อ ๑๙
- ตั้งแต่วันที่ได้แลกเปลี่ยนหนังสือสัตยาบันกันแล้ว นับไปอีก ๗ วัน หนังสือสัญญานี้จะต้องใช้แทนหนังสือสัญญาลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ฆ.ศ. ๑๘๙๘ แลโปรโตคลลงวันๆเดียวกันต่อท้ายสัญญานั้น กับทั้งความตกลงและความยินยอมกันทั้งปวงอันเนื่องจากหนังสือสัญญานั้น ทั้งนี้ที่ได้ตกลงกันทำไว้หรือที่มีอยู่ในระหว่างประเทศที่ได้ทำสัญญาใหญ่นี้ทั้งสองฝ่าย และตั้งแต่วันเดียวกันกับที่กล่าวแล้วนั้นไป หนังสือสัญญา, โปรโตคล, แลความตกลง และความยินยอมทั้งหลายที่ว่านั้นเปนอันยกเลิก ไม่เปนเครื่องผูกพันกันอีกต่อไป
ข้อ ๒๐
- หนังสือสัญญานี้ต้องเปนอันเริ่มใช้กันได้ในวันที่เจ็ดต่อจากวันที่ได้แลกเปลี่ยนหนังสือสัตยาบันนั้นไป แลจะต้องใช้ได้มีกำหนดสิบปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มใช้นั้นไป
- ถ้าประเทศที่ทำสัญญาใหญ่นี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่แจ้งความตั้งใจที่จะเลิกสัญญานี้ล่วงน่าสิบสองเดือนก่อนวันสิ้นกำหนดสิบปีที่กล่าวมาแล้วนั้น สัญญานี้จะเปนอันใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดปีหนึ่งนับตั้งแต่วันที่ประเทศซึ่งทำสัญญาใหญ่นี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้บอกเลิกสัญญานี้
- แต่เปนอันเข้าใจกันอย่างชัดเจน ว่าการที่บอกเลิกสัญญานี้เสียนั้นจะไม่นำมาซึ่งผลอันทำให้หนังสือสัญญา หรือโปรโตคล หรือความตกลง หรือความยินยอม อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวมาในข้อ ๑๙ ข้างบนนี้แล้วนั้น กลับมีอายุขึ้นอีกได้
ข้อ ๒๑
- หนังสือสัญญานี้จะต้องทำสัตยาบันต่อกัน และจะต้องแลกเปลี่ยนหนังสือสัตยาบันกันที่กรุงเทพฯ หรือกรุงโตกิโอ แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยเร็วที่จะกระทำได้
- ในการที่จะทำให้เปนหลักฐานมั่นคง ผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย ได้ลงชื่อและประทับตราหนังสือสัญญานี้ไว้เปนสำคัญ
- หนังสือสัญญานี้ได้ทำไว้เปนสองฉบับ ข้อความต้องกันเปนภาษาอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่สิบของเดือนที่สิบสองแห่งพระพุทธศักราชสองพันสี่ร้อยหกสิบหก ตรงกับวันที่สิบของเดือนที่สามแห่งปีที่สิบสามของรัชกาล ตะอิโช และตรงกับวันที่สิบเดือนมีนาคม ฆริสตศักราช พันเก้าร้อยยี่สิบสี่
(ประทับตราและลงพระนาม) ไตรทศประพันธ์
(ประทับตราและลงชื่อ) ซี. ยาดา
อ้างอิง
แก้ไข- ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๑ น่า ๒๔๖ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๖๗
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"