หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/21

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗

ที่ดัดแปลงแก้ไขวิธีพิจารณาของศาลยุตติธรรมให้ดีขึ้นและที่จัดการศาลยุตติธรรมให้เจริญเป็นลำดับมาดั่งนี้ นับว่าเป็นกิจการอันสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ[1]

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสอีกฉะบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม โดยฝ่ายฝรั่งเศสยอมขยายอำนาจศาลสยามออกไปอีก คือ ให้ศาลสยามธรรมดา (ไม่ใช่ศาลต่างประเทศ) มีอำนาจพิจารณาคดีบุคคลในบังคับหรืออารักขาฝรั่งเศสทั้งหมดในกรุงสยามซึ่งได้จดทะเบียนที่สถานทูตฝรั่งเศสภายหลังสัญญาฉะบับนี้ เว้นไว้แต่ผู้ที่จดทะเบียนก่อนสัญญา หรือบุคคลที่อยู่ในมณฑลอุดรและอิสาณ จะจดทะเบียนก่อนหรือหลังสัญญาก็ตาม ต้องขึ้นศาลต่างประเทศ โดยกงสุลมีสิทธิดำเนินการถอนคดีนั้น ๆ ได้ตามสัญญาเดิมปี ค.ศ. ๑๙๐๔ แต่สิทธิเช่นว่านี้หามีไม่ ถ้าในคดีนั้นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายซึ่งประเทศสยามได้ประกาศใช้และได้แจ้งให้สถานทูตฝรั่งเศสทราบแล้ว ศาลต่างประเทศนี้จะเลิกต่อเมื่อได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว การอุทธรณ์คดี ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ที่ศาลกรุงเทพฯ ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะต้องมีผู้พิพากษาชาวยุโรปลงนามสองนาย.

ตามสัญญากับฝรั่งเศสฉะบับนี้ จึงเห็นได้ว่า กรุงสยามเริ่มได้สิทธิในการพิจารณาคดีคนในบังคับต่างประเทศคีนมาบ้างแล้ว คือ คนในอารักขาหรือบังคับฝรั่งเศส แต่กรุงสยามก็ได้ให้สิ่งตอบแทนบ้าง คือ ยกเมืองพระตะบอง, เสียมราษฎร์, และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี สำหรับคนในบังคับหรืออารักขาที่เป็นชาวยุโรปแล้ว สยามยังไม่มีอำนาจเลย.

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๙ (ร.ศ. ๑๒๗) กรุงสยามได้เซ็นสัญญากับประเทศอังกฤษฉะบับหนึ่ง มีข้อความกล่าวถึงอำนาจศาลต่างประเทศ การถอน


  1. ดูหนังสือว่าด้วยการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม น่า ๑–๒ แจกในคราวมหาอำมาตย์ตรี พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุตติธรรม เป็นพระยายืนชิงช้าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒