อธิบายตำนานนิราศลอนดอน
อธิบายตำนานนิราศลอนดอน
แก้ไขเมื่อพิมพ์สมุดเล่มนี้ แต่แรกคิดว่าจะพิมพ์แต่จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย ครั้นพิมพ์แล้วส่งสมุดตัวอย่างไปถวายพระนางเจ้าฯ[1] ทอดพระเนตร มีรับสั่งมาว่าหม่อมราโชทัยได้แต่งเรื่องนิราศลอนดอนเนื่องจากจดหมายเหตุนี้มีอยู่อีกเรื่อง ๑ เหมือนเป็นหนังสือชุดเดียวกัน ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะพิมพ์หนังสือนิราศลอนดอนในสมุดเล่มนี้ ด้วยผู้อ่านจะได้อ่านหนังสือซึ่งหม่อมราโชทัยแต่งในครั้งนั้นให้บริบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงได้พิมพ์นิราศลอนดอนเพิ่มเข้าในสมุดเล่มนี้อีกเรื่อง ๑
หนังสือนิราศลอนดอนนี้ ปรากฏในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลว่า หม่อมราโชทัยแต่งภายหลังจดหมายเหตุระยะทางราชทูตไทยไปลอนดอน ๒ ปี แต่งแล้วขายกรรมสิทธิ์การพิมพ์ครั้งแรกให้หมอบรัดเลเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ หมอบรัดเลลงบันทึกว่าเปนครั้งแรกที่ได้ซื้อขายกรรมสิทธิ์หนังสือกันในเมืองไทย.
เรื่องนิราศลอนดอน ตั้งแต่พิมพ์ให้ปรากฏก็ยกย่องกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่าแต่งดีถึงชั้นเอกในหนังสือกลอนไทย ถึงนิราศของสุนทรภู่เรื่องที่นับว่าเป็นอย่างดีก็ไม่ดีกว่านิราศลอนดอน เห็นจะเปนด้วยประหลาดใจกันว่า หม่อมราโชทัยสิเปนนักเรียนภาษาฝรั่งทำไมจึงแต่งกลอนไทยได้ดีถึงเพียงนั้น จึงมีผู้สงสัยว่านิราศลอนดอนนี้หม่อมราโชทัยมิได้แต่งเอง พระสารสาสน์พลขันธ์ สมบุญ ได้เปนที่ขุนมหาสิทธิโวหาร อาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๔ บอกแก่ข้าพเจ้าว่า หม่อมราโชทัยได้วานขุนสารประเสริฐ นุช แต่ง แลยังมีผู้พูดกันอีกอย่าง ๑ ว่าหม่อมราโชทัยวานให้สุนทรภู่แต่ง อ้างว่าเมื่อสุนทรภู่ตาย เขาพบกากร่างนิราศลอนดอนที่บ้านสุนทรภู่ เสียงโจทสอดแคล้วเรื่องนิราศลอนดอนนี้เคยได้ยินมาแต่ก่อนเนืองๆ จนเมื่อก่อนจะพิมพ์สมุดเล่มนี้ยังมีผู้มาบอกแก่ข้าพเจ้าว่า เคยได้ยินเขาพูดกันว่า นิราศลอนดอนนั้นหม่อมราโชทัยหาได้แต่งเองไม่ ข้าพเจ้าจึงเอาหนังสือนิราศลอนดอนมาอ่านพิจารณาดูอิกครั้ง ๑ อ่านไปไม่เท่าใดก็เชื่อแน่แก่ใจว่า หนังสือเรื่องนี้หม่อมราโชทัยแต่งเอง หาได้วานผู้ใดแต่งไม่ ถ้าจะได้อาศรัยขุนสารประเสริฐ นุช บ้าง ก็เห็นจะเพียงวานให้ช่วยอ่านตรวจแก้ถ้อยคำบ้างเล็กน้อย ข้อที่ว่าวานสุนทรภู่แต่ง น่าจะเปนด้วยสังเกตเห็นกลอนในนิราศลอนดอนคล้ายสำนวนกลอนสุนทรภู่มีอยู่หลายแห่ง เช่นเมื่อราชทูตทูลลากลอนตรงนั้นว่า.
"พระทรงจิ้มจันทน์เจิมเฉลิมวิลาศ | แล้วผูกคาดด้ายขวัญรำพรรณสอน | |
เสร็จดำรัสตรัสอำนวยอวยพระพร | จงถาวรเรืองยศหมดทุกคน" |
กลอนเช่นนี้เปนกลอนสุนทรภู่แท้ แต่ถ้าสังเกตต่อไปในที่อื่นจะเห็นได้ว่า ที่จริงนั้นหม่อมราโชทัยเอากลอนสุนทรภู่เปนแบบอย่างแต่งตามด้วยความนับถือ แม้คำสำผัสก็พยายามรับแต่ตรงคำที่ ๓ ตามอย่างกลอนสุนทรภู่ แต่ความจริงสุนทรภู่อยู่มาในรัชกาลที่ ๔ ไม่กี่ปีเห็นจะตายเสียก่อนแต่งนิราศลอนดอนหลายปีแล้ว.
หลักฐานที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าหม่อมราโชทัยแต่งเองนั้น เพราะถ้าผู้อื่นแต่ง จะเปนสุนทรภู่ก็ตาม หรือขุนสารประเสริฐ นุช ก็ตาม คงจะต้องเอาจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยที่พิมพ์ข้างต้นสมุดเล่มนี้เปนหลัก แต่งกลอนตามความที่ปรากฏในจดหมายเหตุนั้นไม่นอกออกไปได้ แต่ในนิราศลอนดอน ถ้าใครสังเกตก็จะเห็นว่ามีความแปลกออกไปจากจดหมายเหตุหลายแห่ง มิใช่แต่ที่ชมนกชมปลา ซึ่งปล่อยให้กลอนพาไปเท่านั้น ยังมีความจริงซึ่งแต่งได้แต่ด้วยรู้เองเห็นเองอยู่ในนิราศลอนดอน อันมิได้ปรากฏในตัวจดหมายเหตุอีกมากมายหลายแห่ง ใช่วิสัยที่ผู้แต่งตามหนังสือจดหมายเหตุจะว่าได้อย่างนั้น ข้อนี้เปนหลักฐานมั่นคงว่านิราศลอนดอนนี้หม่อมราโชทัยแต่งเอง สมดังที่บอกไว้ในโคลงบานแพนกว่า
"ตัวเราเกลากล่าวเกลี้ยง | กลอนไข | |
คือหม่อมราโชทัย | ที่ตั้ง | |
แสดงโดยแต่จริงใจ | จำจด มานา | |
ห่อนจักพลิกแพลงพลั้ง | พลาดถ้อยความแถลง ฯ" |
เพราะฉนั้น หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ไม่ใช่เปนแต่ผู้แต่งหนังสือดีในทางความเรียง ซึ่งจะเห็นได้ในจดหมายเหตุที่พิมพ์ตอนต้นสมุดเล่มนี้อย่างเดียว ยังเปนกวีที่สมควรจะยกย่องว่าเปนชั้นสูงด้วยอิกอย่าง ๑ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายได้อ่านหนังสือนิราศลอนดอนตอนต่อไปในสมุดเล่มนี้แล้ว จะเห็นเปนอย่างเดียวกันทุกคน.
แท้จริงถึงมีผู้สอดแคล้วความสามารถของหม่อมราชโชทัยอยู่บ้างดังกล่าวมา แต่ผู้ที่ยกย่องนับถือความสามารถของหม่อมราโชทัยนั้นมากกว่ามาก มีผู้ที่ทราบว่าจะพิมพ์สมุดเล่มนี้แนะนำแก่ข้าพเจ้าหลายคนทั้งเปนผู้คนที่ได้เคยรู้จักตัวหม่อมราโชทัยแลผู้ที่ได้เคยเห็นแต่โวหารต่างตัวหม่อมราโชทัย ว่าควรพิมพ์รูปของหม่อมราโชทัยให้ปรากฏในสมุดเล่มนี้ด้วย รูปของหม่อมราโชทัยมีอยู่ในหอพระสมุด จึงได้ให้จำลองพิมพ์ไว้ในตอนนี้ ด้วยเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะพอใจได้เห็นหม่อมราโชทัยด้วยกันมาก รูปนี้หม่อมราโชทัยถ่ายเมื่อกลับมาจากยุโรปแล้วหลายปี จึงกลับไว้ผมมหาดไทยตามประเพณีในสมัยนั้น.
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ คือสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี
กลับไปหน้าหลัก | |
ก่อนหน้า | ถัดไป |