อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม/เรื่อง 5



เรื่องพระเทียรราชามีปรากฎในหนังสือปินโตโปจุเกตแต่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๑๕๗ เรื่อง ๑ มีในหนังสือพระราชพงศาวดารซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดำรัสสั่งให้พระโหราธิบดีแต่งเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๒๒๓ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) เมื่อยังเปนหลวงประเสริฐอักษรนิติ เปนผู้ได้ต้นฉบับมา หอพระสมุดฯ จึงเรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” เรื่อง ๑ มีในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพนฯ แต่งในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งต่อ จึงเรียกกันว่า “พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส” ฉบับ ๑

ในบันทึกนี้จะเอาเนื้อความตามพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ซึ่งเรื่องพิสดารกว่าฉบับอื่น มาตั้งเปนเค้าสำหรับวินิจฉัย แลแบ่งความปันเปนข้อ ๆ หมายเลขไว้โดยลำดับ ให้สดวกแก่การวินิจฉัย เรื่องพงศาวดารตอนพระเทียรราชามีบรรยายดังต่อไปนี้ คือ

เมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๘๘ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เสร็จการสงครามแล้ว เสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ เมื่อมากลางทาง เกิดประชวรพระโรคปัจจุบันสวรรคต (ในเดือน ๕) ปีกุญ จุลศักราช ๘๘๙

สมเด็จพระไชยราชาธิราชมี (แต่) พระราชโอรสเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอก ๒ พระองค์ ทรงพระนาม พระแก้วฟ้า (พงศาวดารบางฉบับเรียกว่า พระยอดฟ้า) พระชันสาได้ ๑๑ ปี พระองค์ ๑ พระศรีศิลป์ พระชันสาได้ ๕ ปี พระองค์ ๑ พระแก้วฟ้าได้รับรัชทายาทเปนพระเจ้าแผ่นดิน

พระแก้วฟ้าทรงพระเยาว์ จะว่าราชการแผ่นดินเองยังไม่ได้ ท้าวศรีสุดาจันทร์พระมารดาจึงว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์

การที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินครั้งนั้น พระเทียรราชาเชื้อพระวงศ์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ปินโตโปจุเกตว่าเปนพระอนุชาต่างพระชนนีกัน) มีความหวั่นหวาดเกรงว่า ถ้าคงเปนคฤหัสถ์อยู่ จะไม่พ้นภัยอันตราย พอเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงออกทรงผนวชเปนพระภิกษุอยู่ณวัดราชประดิษฐาน (ที่ตำบลท่าทรายในพระนคร)

พระแก้วฟ้าเสวยราชย์ (เปนปรกติ) มาได้ปี ๑ ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๘๙๐ เสด็จออกสนามพร้อมด้วยมุขอำมาตย์มนตรี มีรับสั่งให้เอาช้าง (ต้น) บำรูงากัน ผเอิญช้างตัวชื่อ พระยาไฟ นั้น งาหักเปน ๓ ท่อน แลต่อมาเกิดนิมิตต์อันเปนอัปมงคลอีกหลายอย่าง

อยู่มาวันหนึ่งท้าวศรีสุดาจันทร์ออกไปเที่ยวเล่นณพระที่นั่งพิมานรัตยาหอพระข้างหน้า เห็นพันบุตรศรีเทพพนักงารเฝ้าหอพระ นางเกิดสมัครักใคร่ (ครั้นเมื่อกลับคืนเข้าวัง) จึงให้ข้าหลวงเอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปประทาน ฝ่ายพันบุตรศรีเทพรู้ใจนาง ก็ฝากดอกจำปาให้สาวใช้เข้าไปถวายตอบแทน ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์จึงได้สั่งพระยาราชภักดีให้ย้ายพันบุตรศรีเทพเข้าไปเปนตำแหน่งขุนชินราช (รักษา) พนักงารเฝ้าหอพระข้างใน แล้วลอบเปนชู้กับขุนชินราชมาช้านาน

ท้าวศรีสุดาจันทร์อยากจะให้ขุนชินราชชายชู้ได้ครองราชสมบัติ จึงเลื่อนบันดาศักดิ์เปนขุนวรวงศาธิราช ให้มีตำแหน่งเปนผู้พิจารณาเลขสมสังกัดพรรค์ หวังจะให้มีกำลังมากขึ้น (ปินโตว่า ให้เปนผู้บังคับทหารรักษาพระราชวัง) แลให้อยู่ที่จวนริมศาลาสารบาญชี (ใกล้พระราชวังข้างด้านหน้า)

ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์สั่งให้ปลูกจวน (ศาลา) ที่ว่าการของขุนวรวงศาธิราช (ขึ้นในพระราชวัง) ที่ริมประตูดินใกล้ต้นหมัน แลให้เอาเตียงอันเปนราชอาสน์ไปตั้งไว้สำหรับขุนวรวงศาธิราชนั่ง หวังจะให้ข้าราชการทั้วปวงอ่อนน้อมยำเกรง

อยู่มาวันหนึ่ง (เจ้า) พระยามหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม กับพระยาราชภักดี (รู้ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนชู้กับขุนวรวงศาธิราช แลให้กำลังแก่ชู้ถึงปานนั้น) พูดกันว่า เมื่อแผ่นดินเปนทุรยศเช่นนี้ เราจะคิดประการใด รุ่งขึ้นท้าวศรีสุดาจันทร์มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยามหาเสนาบดีเข้าไปเฝ้าที่ประตูดิน (แกล้งหน่วงเหนี่ยวไว้) ครั้นกลับออกมาเวลาค่ำ มีผู้ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาบดีตาย

๑๐ขณะนั้นท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น จึงตรัสแก่ข้าราชการทั้งปวงว่า พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ยังไม่ปรกติ (นางจะว่าราชการแผ่นดินต่อไปแต่โดยลำพัง เกรงจะเหลือกำลัง) คิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปกว่าพระแก้วฟ้าจะทรงพระเจริญ ข้าราชการทั้งปวงจะเห็นประการใด พวกข้าราชการรู้อัธยาศัยของนาง ก็รับว่าเห็นชอบด้วย นางจึงให้กรมวังเอาพระราชยานไปรับขุนวรวงศาธิราชเข้าไปราชาภิเษกยกขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชจึงตั้งให้นายจันบ้านมหาโลกผู้น้องเปนพระมหาอุปราช แล้วให้มีตราให้หาผู้ว่าราชการหัวเมืองเข้ามา (ถือน้ำกระทำสัตย์ตามประเพณี)

๑๑เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน จึงคบคิดกับท้าวศรีสุดาจันทร์ให้คุมสมเด็จพระแก้วฟ้าไปปลงพระชนม์เสียณวัดโคกพระยาเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๘๙๑ สมเด็จพระแก้วฟ้าครองราชสมบัติได้ปี ๑ กับ ๒ เดือน

๑๒ครั้งนั้นขุนพิเรนทรเทพเชื้อพระวงศ์ กับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสนหา หลวงศรียศ (ชาว) บ้านลานตากฟ้า (แขวงสุพรรณบุรี) คิดกันจะกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ แลถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชาที่ทรงผนวช ครั้นพร้อมใจกันแล้ว จึงไปทูลความแก่พระเทียรราชา ๆ ก็เห็นชอบด้วย แล้วปรึกษากันต่อไปว่าควรจะเสี่ยงเทียนดูเสียก่อนให้รู้นิมิตต์ว่าจะทำการสำเร็จหรือไม่ ขุนพิเรนทรเทพไม่เห็นชอบด้วย แต่ต่อมาในเวลาค่ำวันหนึ่งพระเทียรราชากับคนทั้ง ๓ ขืนพากันไปเสี่ยงเทียนที่ในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐาน ขุนพิเรนทรเทพไปเห็นเข้าก็โกรธว่า จะทำการใหญ่โตถึงเพียงนี้ ยังจะมามัวเสี่ยงทาย ว่าแล้วก็คายชานหมากทิ้งไปด้วยกำลังขัดใจ ผเอิญชานหมากตรงไปถูกเปลวไฟเทียนเล่มขุนวรวงศาธิราชดับ แลขณะนั้นพอมีพระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปในพระอุโบสถ (เห็นเสี่ยงเทียนกัน) อวยพรว่า ให้สำเร็จดังปราถนาเถิด ก็เห็นเปนศุภนิมิตต์มีความยินดีทั้ง ๔ คน

๑๓เมื่อเสี่ยงเทียนแล้วประมาณ ๑๕ วัน พอมีข่าวบอกมาจากเมืองลพบุรีว่า ช้างพลายตัวใหญ่รูปงามเข้ามาติดโขลงหลวง (เจ้าพระยาจักรี) สมุหนายกนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามธรรมเนียม ขุนวรวงศาธิราชสั่งให้ปกโขลงช้างเข้ามาจับที่พะเนียดวัดซอง จะไปดูคล้องช้างนั้น

๑๔ขุนพิเรนทรเทพเห็นได้ช่อง จึงคิดกับพรรคพวกที่ร่วมใจ จะกำจัดขุนวรวงศาธิราชเวลาออกจากพระราชวังไปดูคล้องช้าง ขณะนั้นพอพระยาสวรรคโลกกับพระยาพิไชยเข้ามาถึงกรุงฯ ขุนพิเรนทรเทพจึงไปชักชวนเข้าเปนพรรคพวกอีก ๒ คน แลได้หมื่นราชเสนหา (นอกราชการ) เข้าร่วมคิดด้วยอีกคน ๑ คิดกันกะการที่จะทำร้ายขุนวรวงศาธิราชให้สิ้นทั้งพรรคพวก จึงให้หมื่นราชเสนหา (นอกราชการ) ปลอมเปนทนายเลือก (ที่ตั้งจุกช่องในทางเสด็จ) ไปคอยดักยิงอุปราชจันเมื่อเวลามาพะเนียด ส่วนขุนพิเรนทรเทพ กับพระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย หลวงศรียศ หมื่นราชเสนหา (ในราชการ) ลงเรือคนละลำ พลพายมีเครื่องศัสตราวุธซ่อนในเรือครบมือ ไปแต่เวลาดึก ไปจอดซุ่มอยู่ที่คลองบางปลาหมอ (สืบไม่ได้ความว่าอยู่ตรงไหน แต่เห็นจะเปนคลองแยกจากคลองเมืองทางฝั่งเหนือ อยู่พอพ้นเขตพระราชวังไปทางด้านตวันออก เดี๋ยวนี้สูญเสียแล้ว) ขุนอินทรเทพนั้น (เปนเวร) ลงเรือตามเสด็จในขบวร ก็เตรียมไปพร้อมสรรพเช่นเดียวกัน

๑๕ครั้นถึงวันกำหนดเวลาเช้าตรู่ขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์พาพระศรีศิลป์กับธิดาที่เกิดใหม่ลงเรือพระที่นั่ง (ที่ท่าวาสุกรี) ออกจากท่าไปพอพ้นปากคลองสระบัว พวกที่ไปซุ่มคอยทำร้ายก็พากันเอาเรือออกสกัดหน้า ขุนวรวงศาธิราชเห็นเรือมาแปลกประหลาท ร้องถามไปว่า “เรือใครเข้ามา” ขุนพิเรนทรเทพร้องตอบว่า “กูจะมาเอาชีวิตมึงทั้งสอง” ขณะนั้นเรือขุนอินทรเทพที่ไปในขบวรก็ขนาบขึ้นไป ช่วยกันกลุ้มรุมจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์แลธิดาฆ่าเสียในที่นั้น ส่วนอุปราชจันก็ถูกหมื่นราชเสนหา (นอกราชการ) ยิงตายกลางทางในเวลาเมื่อจะมาคอยรบเสด็จณพะเนียด ขุนพิเรนทรเทพสั่งให้เอาศพคนร้ายทั้งนั้นไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง

๑๖เมื่อกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์แล้ว ขุนพิเรนทรเทพกับขุนอินทรเทพแลขุนนางทั้งปวงก็กลับเข้าไปรักษาพระราชวัง แล้วสั่งให้พระรักษ์มนเทียนกับหลวงราชนิกูลเอาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปยังวัดราชประดิษฐาน ทูลอัญเชิญพระเทียรราชาให้ลาผนวช แล้วรับเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ข้าราชการทั้งปวงก็พร้อมกันถวายราชสมบัติราชาภิเษก ถวายพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

๑๗เมื่อเสร็จการราชาภิเษกแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้พระราชครูทั้ง ๔ ปรึกษาความชอบของผู้ที่ได้ร่วมคิดกันกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ แล้วปูนบำเหน็จตามลำดับกัน คือ

สถาปนาขุนพิเรนทรเทพเปนเจ้าขันธสิมาครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา เหตุด้วยฝ่ายบิดาเปนเชื้อราชวงศ์พระร่วง ฝ่ายมารดาเปนเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช ให้สำเร็จราชการหัวเมืองเหนือทั้งปวง แลพระราชทานพระสวัสดิราชธิดาซึ่งทรงสถาปนาเปนพระวิสุทธิกษัตรีย์ให้เปนพระมเหษีด้วย

ส่วนผู้มีความชอบนอกจากนั้น ให้ขุนอินทรเทพเปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้หลวงศรียศเปนเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ให้หมื่นราชเสนหา (ในราชการ) เปนเจ้าพระยามหาเทพ พระราชทานพระราชธิดาเกิดแต่พระสนมให้เปนภรรยาด้วยทั้ง ๓ คน หมื่นราชเสนหา (นอกราชการ) นั้นให้เปนพระยาภักดีนุชิต แลเลื่อนพระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย เปนเจ้าพระยาทั้ง ๒ คน แล้วทรงแช่งไว้มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำร้ายแก่ผู้ที่ได้มีบำเหน็จความชอบทั้งนั้นเปนอันมาก เรื่องพระเทียรราชาได้ราชสมบัติมีเนื้อความในหนังสือพงศาวดารดังแสดงมา

แต่ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสแตกต่างกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอยู่ ๓ ข้อ คือ

ข้อในฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๙๐๘ เสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ มายังกรุงศรีอยุธยา สวรรคตในเดือน ๖ ปีมะแม จุลศักราช ๙๐๙ ช้ากว่าที่กล่าวในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ๒๐ ปี (ตามที่ได้เคยสอบสวน ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐถูกถ้วนกว่าฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ)

ข้อในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ ประชวรเปนโรคปัจจุบันสวรรคตกลางทาง แต่ฉบับหลวงประเสริฐกล่าวความว่า เสด็จกลับถึงกรุงฯ แล้วจึงสวรรคต แลข้อนี้ปินโตโปจุเกตยังกล่าวไปเปนอย่างอื่นว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่ข้างหลัง ลอบคบชู้จนมีครรภ์ ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับ นางเกรงจะเกิดความ จึงลอบวางยาพิษในน้ำนมเครื่องต้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยยาพิษนั้นสวรรคตเมื่อเสด็จกลับถึงกรุงฯ ได้ ๕ วัน

ข้อในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ว่า สมเด็จพระแก้วฟ้าเสวยราชย์อยู่ปี ๑ กับ ๒ เดือนนั้นผิด คำณวรเวลาตามเรื่องควรจะเปน ๒ ปีกับ ๓ เดือน อนึ่งที่กล่าวว่า ขุนวรวงศาธิราชได้ครอบราชสมบัติอยู่ ๕ เดือนนั้น ในฉบับหลวงประเสริฐว่า ขุนวรวงศาธิราชครองราชสมบัติอยู่เพียง ๔๒ วัน ผิดกันอยู่ดังนี้

ความวินิจฉัยต่อไปนี้จะว่าเปนข้อ ๆ ตามลำดับเลขในคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว

วินิจฉัยเรื่องสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ในหนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับความยุติว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อวันสิ้นเดือน ๔ แล (ฉบับหลวงประเสริฐว่า) สวรรคตในเดือน ๖ พิเคราะห์ดูระยะเวลากล่าวเดือน ๑ เห็นว่าจะประชวรมากลางทาง แต่เสด็จมาถึงกรุงฯ แล้วจึงสวรรคต แลมีเค้าเงื่อนว่าจะได้ทรงสั่งมอบเวรราชสมบัติ ดังจะวินิจฉัยต่อไปในข้อหน้า

วินิจฉัยเรื่องพระแก้วฟ้ารับรัชทายาท พระแก้วฟ้าเปนพระราชบุตรของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เจ้าจอมมารดาเปนที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งในกฎหมายทำเนียบศักดินากำหนดว่าเปนตำแหน่ง “นางท้าวพระสนมเอก มีในทำเนียบ ๔ คนด้วยกัน เปนที่ท้าวอินทรสุเรนทร์ คน ๑ ท้าวศรีสุดาจันทร์ คน ๑ ท้าวอินทรเทวี คน ๑ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คน ๑ พระสนมเอกที่บันดาศักดิ์เปนนางท้าวนี้ยังมีจนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า น้องสาวพระเพทราชาคน ๑ ได้เปนที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หญิง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าแก้ว สมเด็จพระเพทราชาทรงสถาปนาเปนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า พระแก้วฟ้านั้นเดมเปนเพียงชั้นพระองค์เจ้าด้วยเปนลูกพระสนม ตรงกับราชกุมารศักดิ์อันมีอยู่ในกฎมนเทียรบาลว่า

พระราชกุมารเกิดด้วยพระอัครมเหษี เปนหน่อพระพุทธเจ้า

พระราชกุมารเกิดด้วยแม่อยั่วเมือง เปนมหาอุปราช

พระราชกุมารเกิดด้วยลูกหลานหลวง เปนลูกเธอ กินเมืองเอกโท

พระราชกุมารเกิดด้วยพระสนม เปนหน่อพระเยาวราช”

แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเรียกนามเจ้าจอมมารดาพระแก้วฟ้าว่า “แม่ญั่วศรีสุดาจันทร์” แลในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ เรียกว่า “แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” อันเห็นได้ว่า เขียนพลาดมาแต่ แม่อยั่ว นั่นเอง เปนเค้าเงื่อนให้เห็นว่า เจ้าจอมมารดาของพระแก้วฟ้านั้นเดิมเปนพระสนมเอก แล้วได้เลื่อนขึ้นเปนแม่อยั่วเมือง ตำแหน่งชั้นรองพระอัครมเหษีลงมา น่าสันนิษฐานว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงประชวรนั้น (จะเปนในเวลาเสด็จมาในระหว่างทางก็ตาม หรือเมื่อเสด็จมาถึงกรุงเทพฯ แล้วก็ตาม) ทรงปรารภถึงการที่จะสืบสันตติวงศ จึงทรงสถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งมีอยู่แต่ ๒ พระองค์แลยังทรงพระเยาวอยู่ด้วยกันให้เปนพระแก้วฟ้ามหาอุปราช พระองค์ ๑ พระศรีศิลป์ พระองค์ ๑ แลให้เลื่อนท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกขึ้นเปนแม่อยั่วเมือง ให้สมกับที่เปนพระชนนีของพระมหาอุปราช ดังนี้ ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ข้าราชการทั้งปวงจึงถวายราชสมบัติแก่พระแก้วฟ้าตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช

วินิจฉัยเรื่องผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าขึ้นเสวยราชย์ พระชันสาได้เพียง ๑๑ ปี คงต้องมีผู้ว่าราชการแผ่นดินต่างพระองค์ แต่ผู้ซึ่งจะสำเร็จราชการแผ่นดินเช่นนั้นมิใช่จะเปนได้โดยลำพังเปนพระญาติของพระเจ้าแผ่นดินหรือเปนข้าราชการที่สูงศักดิ์ ต้องมีผู้ตั้งให้เปน ดังเช่นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนได้ดำรัสสั่งตั้งไว้ก็ดี หรือถ้าไม่ได้ทรงสั่งตั้งผู้ใดไว้ เสนาบดีแลข้าราชการทั้งปวงต้องสมมตมอบอำนาจให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้นั้นจึงจะเปนผู้สำเร็จราชการแผ่มดินได้ ตามความที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะได้ทรงสถาปนาพระแก้วฟ้าเปนรัชทายาท แลเลื่อนยศท้าวศรีสุดาจันทร์ขึ้นเปนแม่อยั่วเมืองในการสืบสันตติวงศ์นั้น พอจะสันนิษฐานต่อไปได้อีกข้อ ๑ เพียงว่า คงจะได้ตรัสสั่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดไว้ให้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสั่งตั้งผู้ใด ข้อนี้ควรวินิจฉัย ถึงในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็อาจจะได้เปนต่อชั้นหลัง ชั้นแรกนั้นเห็นมีทางที่จะเปนได้อย่างอื่น เพราะการที่จะให้ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีความขัดข้องอยู่เปนข้อสำคัญ ด้วยประเพณีในกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีแบบอย่างที่จะให้สตรีเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แม้มีแบบอย่างในประเทศที่ใกล้เคียง คือ เมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้นเองมีนางพระยาว่าราชการเมือง ก็เปนอัปมงคลบ้านเมือง เกิดข้าศึกศัตรูไปย่ำยี ถึงต้องยอมแพ้แก่กองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราช นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีซึ่งเห็นกันอยู่ในขณะนั้น อนึ่ง กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นก็ต้องทำศึกสงครามอยู่เนือง ๆ ท้าวศรีสุดาจันทร์เคยเปนแต่พระสนม ไม่รอบรู้ราชการบ้านเมือง สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะทรงเห็นสมควรให้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้แลหรือ อาศรัยความขัดข้องมีอยู่ดังกล่าวมา น่าสันนิษฐานว่า ในชั้นแรกพระเทียรราชาเห็นจะได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะเปนพระบรมวงศผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้น ไม่มีผู้อื่นที่จะเหมาะกว่า แลข้อนี้ก็มีเค้าเงื่อนในเรื่องพงศาวดารที่ปรากฎว่า พระเทียรราชาเกิดเปนอริกับท้าวศรีสุดาจันทร์ถึงต้องออกทรงผนวช ถ้าหากว่าพระเทียรราชาไม่มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องในราชการ ก็จะหาเกิดเหตุอริกับท้าวศรีสุดาจันทร์ถึงปานนั้นไม่ จึงเห็นว่า ชั้นเดิมสมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะทรงตั้งให้พระเทียรราชาเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะฉนั้น เมื่อเปลี่ยนรัชกาล บ้านเมืองจึงเรียบร้อยเปนปรกติมากว่าปี ต่อพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะไม่มีตัวผู้อื่นจะเปน พอท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็จับเกิดเหตุการณ์วุ่นวายต่อมาโดยลำดับ

วินิจฉัยเหตุที่พระเทียรราชาออกทรงผนวช ในข้อนี้จะกล่าวถึงฐานะของพระเทียรราชาก่อน ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวแต่ว่า พระไชยราชาซึ่งเสวยราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช กับพระเทียนรราชาซึ่งเสวยราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทั้ง ๒ พระองค์นี้เปนเชื้อพระวงศ หาได้ระบุว่าเปนเชื้อพระวงศชั้นใดไม่ คงได้ความตามปินโตโปจุเกตกล่าวแต่ว่า พระเทียรราชาเปนน้องยาเธอต่างพระชนนีกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่เค้าเงื่อนมีอยู่ในนามที่ปรากฎว่าเปนพระไชยราชาแลพระเทียรราชาเมื่อก่อนเสวยราชย์นั้น ควรยุติได้ว่า คงเปนเจ้านายซึ่งทรงศักดิ์สูงถึงชั้นพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อคิดเทียบดูกับศักราช เห็นว่าคงเปนพระราชบุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดด้วยพระสนมทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะประสูติเมื่อสมเด็จพระราชบิดายังเปนพระมหาอุปราชอยู่ณเมืองพิษณุโลก พระชนนีเปนชาวเมืองนั้น จึงเปนญาติกับมารดาขุนพิเรนทรเทพซึ่งได้เปนพระมหาธรรมราชเมื่อภายหลัง แต่พระเทียรราชานั้นเห็นจะประสูติเมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้ผ่านพิภพเสด็จลงมาครองราชสมบัติอยู่ณกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระชนนีเปนชาวกรุงศรีอยุธยา

อนึ่ง มีเค้าเงื่อนที่จะคำณวนพระชันสาของพระเทียรราชาอยู่ คือ ในปีที่พระเทียรราชาได้ผ่านพิภพนั้น พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์ราชธิดาพระองค์ใหญ่ให้เปนมเหษีพระมหาธรรมราชา ถ้าสันนิษฐานว่า เวลานั้นพระวิสุทธิกษัตรีย์มีพระชันสาได้ ๑๕ ปี พระวิสุทธิกษัตรีย์ยังมีพระเชษฐาร่วมพระชนนีอีก ๒ พระองค์ สันนิษฐานพระชันสาถอยหลังขึ้นไปเปนลำดับว่า พระมหินทรพระชันสา ๑๘ ปี พระราเมศวรพระชันสา ๒๐ ปี แลสันนิษฐานต่อไปว่า เมื่อพระเทียรราชามีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่พระชันสาได้ ๑๘ ปีเช่นนี้ เมื่อพระเทียรราชาผ่านพิภพ พระชันสาได้ ๓๘ ปี คือ (ว่าตามศักราชในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๓ ได้เปนพระเจ้าลูกเธออยู่ ๑๙ ปี จึงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ความที่สันนิษฐานนี้ แม้ปีจะเคลื่อนคลาด ก็พอยุติได้ว่า พระชันสาของพระเทียรราชาทันเปนลูกเธอของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

อนึ่ง ความที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารมีหลายแห่งซึ่งส่อให้เห็นได้ว่า พระเทียรราชานั้นพระอัธยาศัยเปนอย่างไร คือ เปนผู้อยู่ในทำนองคลองธรรม มีความซื่อตรงจงรักต่อบ้านเมือง แต่ทว่าไม่ฉลาดหลักแหลมนัก แลไม่เปนนักรบกล้าหาญชำนาญศึกเหมือนเช่นสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่มีพระอัครชายาซึ่งต่อมาปรากฎพระนามว่า พระสุริโยทัย นั้น เปนสตรีที่สามารถ เห็นจะได้เปนกำลังช่วยพระสามีมาก

ลักษณการเมื่อตอนแรกสมเด็จพระแก้วฟ้าได้เสวยราชย์นั้น ถึงพระเทียรราชาเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็คงเปนอย่างหัวหน้าเสนาบดีทั้งปวง ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เมื่อได้เปนสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง ย่อมเปนผู้สำเร็จราชการสิทธิ์ขาดข้างฝ่ายใน ทั้งเปนผู้บำรุงเลี้ยงสมเด็จพระแก้วฟ้าฉันพระมารดา พระเทียรราชาแลข้าราชการทั้งปวงต้องเคารพนบนอบ แลมีกิจการที่ฝ่ายหน้าเกี่ยวกับฝ่ายใน หรือที่เปนการเนื่องในพระองค์สมเด็จพระแก้วฟ้า เช่นในการทรงศึกษาเปนต้น ซึ่งพระเทียรราชาจำต้องหารือท้าวศรีสุดาจันทร์เนือง ๆ เหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์จะเกิดผิดพ้องหมองใจกับพระเทียรราชา คงเปนเพราะพระเทียรราชาเปนผู้สำเร็จราชการนั้นเอง

ที่พระเทียรราชาออกทรงผนวช คงเปนด้วยถูกต้องศรีสุดาจันทร์เกลียดชังถึงมุ่งมาทคาดร้าย ดังความในหนังสือพระราชพงศาวดารส่อให้เห็นเปนแน่ ข้อนี้ไม่มีสงสัย ข้อวินิจฉัยมีแต่ว่า เหตุใดท้าวศรีสุดาจันทร์จึงมุ่งมาทคาดร้ายพระเทียรราชา เพราะเวลานั้นพระโอรสของนางสิพึ่งได้เสวยราชย์แลยังทรงพระเยาว์ มีพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เช่นพระเทียรราชาไว้เปนกำลังราชการ ย่อมเปนประโยชน์อย่างสำคัญของพระโอรสตลอดจนถึงราชการบ้านเมือง อุปมาเหมือนมีเขื่อนขันธ์กันภัยอยู่อย่าง ๑ ซึ่งทำลายเสียก็จะต้องอ่อนกำลังลง เพราะฉนั้น ซึ่งท้าวศรีสุดาจันทร์คิดกำจัดพระเทียรราชา คงเปนด้วยมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งทำให้นางคิดเห็นว่า กำจัดเสียจะเปนประโยชน์ยิ่งกว่าเอาไว้เปนกำลังของพระโอรส ดังเช่นสงสัยว่าพระเทียรราชาจะชิงราชสมบัติเปนต้น แต่เห็นว่ามิใช่เหตุเรื่องนี้ เพราะถ้าสงสัยว่าพระเทียรราชาจะชิงราชสมบัติ การที่พระเทียรราชาออกทรงผนวชก็หาพอจะระงับเหตุได้ไม่ คงเปนด้วยเหตุอื่น เมื่อพิจารณาดูทางข้างฝ่ายพระเทียรราชา การซึ่งออกทรงผนวชนั้นดูก็เปนข้อขำ ถ้าหากเปนแต่ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์เกลียดชัง จะอดออมเอาดีต่อก็ได้ หรือมิฉนั้นจะหลีกเลี่ยงออกเสียให้ห่างก็พอจะได้ ที่ถึงต้องละเพศทิ้งครอบครัวออกทรงผนวช ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า เหตุที่เกิดขึ้นกับท้าวศรีสุดาจันทร์คงเปนเหตุสำคัญถึงใกล้ต่ออันตราย แต่ไม่อาจจะเปิดเผยให้ผู้อื่นช่วย เห็นจะรอดได้แต่ตัวด้วยอาศรัยผ้ากาสาวพัสตรเปนเครื่องป้องกัน จึงได้ออกทรงผนวช หรือว่าโดยย่อ เหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างท้าวศรีสุดาจันทร์กับพระเทียรราชานั้น คงมิใช่กรณีย์เหตุอย่างสามัญเช่นชิงอำนาจกัน คงเปนเหตุลับลี้อย่างหนึ่งอย่างใดเปนแน่แท้ เมื่อคิดอนุมานดูตามการอันเปนผลที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง เห็นว่า ที่พระเทียรราชาออกทรงผนวชนั้น เห็นจะเนื่องในเรื่องที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์เริ่มเปนชู้กับขุนชินราชในเวลาเมื่อพระเทียรราชายังสำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้นกิติศัพท์แพร่งพราย นางเกรงพระเทียรราชาจะกำจัด จึงคิดจะชิงกำจัดพระเทียรราชาเสียก่อน ด้วยเชื่อว่า ถ้ากำจัดพระเทียรราชาได้แล้ว อำนาจก็คงตกอยู่ในมือนาง ฝ่ายพระเทียรราชาไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ด้วยนางเปนพระราชชนนี จะเผยแผ่ความชั่วของนางให้ปรากฎ ก็เกรงสมเด็จพระแก้วฟ้าจะนิ่งอยู่ ก็เกรงจะมีภัยอันตรายมาถึงตัวเหมือนอย่างเจ้าพระยามหาเสนา จึงคิดหลีกเลี่ยงออกทรงผนวชเสีย

เหตุที่พระเทียรราชาออกทรงผนวช ถ้ามิได้เปนดังความที่กล่าวมา เห็นยังมีอีกทางหนึ่งซึ่งอาจจะเปนได้ คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์เกิดปดิพัทธ์ต่อพระเทียรราชาเอง แล้วแสดงเลศนัยอย่างไรให้พระเทียรราชารู้ตัว แต่ฝ่ายพระเทียรราชานั้นซื่อตรงต่อพระสุริโยทัย แลมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า จึงบิดเบือนไม่รับทางไมตรีของท้าวศรีสุดาจันทร์ นางก็โกรธแค้น สำคัญว่าพระสุริโยทัยเปนผู้เกียจกัน แสดงความอาฆาตมาทร้ายทั้งพระเทียรราชาแลพระสุริโยทัย พระเทียรราชาเกรงจะเกิดอันตรายถึงพระอัครชายา จึงยอมสละครอบครัวออกทรงผนวชเสียให้สิ้นสาเหตุเภทภัยที่จะเกี่ยวข้องถึงพระสุริโยทัย ถ้าเหตุเปนดังกล่าวในข้อหลังนี้ ต้องเปนเมื่อตอนจวนถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระไชยราชาธิราช ครั้นพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สำเร็จราชการ ต่อมาจึงคบขุนชินราชเปนชู้

วินิจฉัยเหตุที่ให้ช้างบำรูงา เรื่องตอนนี้ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กระจ่างชัดเจน ชวนให้เข้าใจไปว่า พระเจ้าแผ่นดินเปนเด็ก ให้เอาช้างต้นออกชนกันเปนการเล่นสนุกจนช้างงาหัก ที่แท้นั้นเนื่องในการออกสนามใหญ่เปนงารปี เพราะปรากฎว่ามีในวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงตำรา แลการบำรูงานั้นเปนการฝึกหัดช้างชนสำหรับทำยุทธหัตถี นับเปนข้อสำคัญอย่างหนึ่งในคชศาสตร (ลักษณการมีแจ้งอยู่ในหนังสือตำราขี่ช้างซึ่งพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงพิมพ์ประทานตอบรดน้ำสงกรานต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕) มักมีในเวลาออกสนามใหญ่ เปนคู่กับผัดพาน ที่สมเด็จพระแก้วฟ้าเสด็จออกทอดพระเนตรช้างบำรูงา ในหนังสือพระราชพงศาวดารก็กล่าวว่า หมู่มุขมาตยมนตรีเฝ้าพร้อมกันตามตำแหน่ง แลเวลานั้นนับแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตมาได้ ๑๑ เดือน ความส่อให้เห็นว่า ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเอาใจใส่ในการฝึกซ้อมกำลังยุทธสำหรับพระนครมิได้ประมาท แลเชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าออกทอดพระเนตรให้ชำนิชำนาญการณรงค์สงครามเปนส่วนหนึ่งในการที่ให้ทรงศึกษา ผเอิญงาช้างตัวหนึ่งหักไปเท่านั้น

วินิจฉัยเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ ในข้อนี้ปินโตโปจุเกตว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้แต่เมื่อสมเด็จพระราชสามีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะไม่จริง ด้วยเปนความคอขาดบาดตาย นางจะต้องเกรงพระราชอาญา อีกประการ ๑ พระราชนิเวศน์สถานย่อมมีการพิทักษ์รักษากวดขัน ชายชู้เปนแต่ขุนหมื่นพนักงารเฝ้าหอพระอยู่ข้างนอก ยากที่จะมีโอกาศเข้าไปสู่ที่ลับกับนางในได้ ความจริงคงเปนดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ต่อเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตแล้ว เพราะมาถึงชั้นนี้เปนพระราชชนนี ไม่ต้องต้องอยู่ในความควบคุมเหมือนเมื่อยังเปนนักสนม ทั้งมีอำนาจแลกอปด้วยอิศริยยศบริวารยศอย่างสูงสุดของขัติยนารีเช่นพรรณาในกฎมนเทียรบาล (สำหรับยศพระอัครมเหษี) ว่า “สรงด้วยสหัสธาราเงิน มีราชยาน มีกรมผู้ชายผู้หญิง มีหอพระ มีพระที่นั่งออก (ท้องพระโรง) มีสมโภช มีเลี้ยง ลูกขุนถวายบังคมตรุษสารท ใช้พระราชกฤษฎีกา มีขุนสนม มีขุนช้าง มีขุนม้า มีเรือแห่เรือกัน” ดังนี้ สันนิษฐานว่า อายุของนางก็เห็นจะกว่า ๓๐ ปีไป ใกล้เรือน ๔๐ ก็เลยวางตัวเปนคนแก่ จึงมีโอกาศถึงสามารถคบชู้ได้ ลักษณการที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้นั้น ลองคิดสันนิษฐานรายการดูเห็นว่า เนื้อความที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารสมต้นสมปลาย คือ ชายชู้นั้นเปนญาติกับท้าวศรีสุดาจันทร์ (ข้อนี้ได้ด้วยต่อมาให้เปนที่ขุนวรวงศาธิราช อันหมายความว่า เปนพระญาติของพระเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือ สมเด็จพระแก้วฟ้า) เริ่มเรื่องที่ท้าวศรีสุดาจันทร์จะคบชู้ ปรากฎว่า วันหนึ่งนางออกไปเที่ยวเล่น ไปถึงพระที่นั่งพิมานรัตยาอันเปนหอพระข้างหน้า (เห็นจะเปนพระราชมนเทียรเดิมองค์ ๑ ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศถวายเปนพุทธมนเทียรเมื่อถวายที่พระราชวังตอนนั้นสร้างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์) ไปพบพันบุตรศรีเทพเปนพนักงารเฝ้าหอพระ นางก็ปราสัยโดยฉันญาติที่รู้จักกันมาแต่ก่อน ครั้นกลับคืนเข้าพระราชวังแล้ว ให้ข้าหลวงเอาเมี้ยงหมาก (แม้ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค) ไปประทาน แลพันบุตรศรีเทพเก็บดอกไม้ใส่กระทงสำหรับนางจะได้บูชาพระฝากเข้าไปถวาย การทั้งนี้ก็ไม่ผิดปรกติ ถึงต่อมาเมื่อนางสั่งออกญาราชภักดี (ซึ่งทำนองจะเปนตำแหน่งเจ้ากรมของนาง) ให้ย้ายพันบุตรศรีเทพเข้าไปเปนตำแหน่งขุนชินราชพนักงารเฝ้าหอพระข้างใน (คือหอพระของนางที่เปนตอนผู้ชายอยู่) ก็ไม่เปนการผิดปรกติ อาจจะอ้างว่าเปนญาติ อยู่หอพระข้างนอก อด ๆ อยาก ๆ สงสาร ขอให้เข้ามาเฝ้าหอพระข้างใน จะได้ให้ทานกินให้อิ่มหนำ ดังนี้ ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ใดจะสงสัยว่า พระชนนีของพระเจ้าแผ่นดินจะสามารถผูกสมัครักใคร่คนเฝ้าหอพระ เพราะฉนั้น ออกญาราชภักดีจึงได้พาซื่อ ทำตามความประสงค์ของนาง สันนิษฐานว่า ขุนชินราชนั้นอายุก็เห็นจะอ่อนกว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ตั้ง ๖ ปี ๗ ปี นางคงวางกิริยาอย่างเปนน้าอาว์ปราณีหลาน จึงสามารถพูดจาวิสาสะได้สนิธต่อหน้าคน ต่อนานวันมาเมื่อคุ้นเคยสนิธกันหนักเข้า จึงเลยเปนชู้กับขุนชินราช

วินิจฉัยเหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ตั้งขุนชินราชเปนขุนวรวงศาธิราช ข้อนี้พิเคราะห์ดูตามเรื่องราวเห็นว่ามิใช่เพราะนางคิดจะใคร่ให้ครองราชสมบัติดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ถ้าคิดเช่นนั้นก็จะต้องคิดกำจัดสมเด็จพระแก้วฟ้าด้วย จึงจะให้ชายชู้ครองราชสมบัติได้ สมเด็จพระแก้วฟ้าสิเปนพระโอรสราชอันเปนที่พึ่งของนาง เพราะพระแก้วฟ้าเปนพระเจ้าแผ่นดิน นางเปนพระชนนี จึงได้มีบุญแลมีอำนาจ ถ้าสิ้นบุญของพระโอรส นางก็อาจจะสิ้นบุญสิ้นอำนาจด้วย ฝ่ายชายชู้เปนแต่ขุนหมื่นพนักงารเฝ้าหอพระ จะทำอย่างไรจึงจะให้คนทั้งแผ่นดินยินยอมให้ครองราชสมบัติได้ ถึงใจนางจะโหดร้ายหลงชู้สักเพียงไร คงต้องคิดเห็นความจริงเช่นกล่าวมา เหตุที่แท้ที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ตั้งชู้เปนขุนวรวงศาธิราช เห็นว่าจะเปนดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

มูลเหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบขุนชินราชเปนชู้นั้นเปนแต่โดยลุอำนาจแก่ราคจริต หาได้คิดเกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมืองอย่างใดไม่ เมื่อมีชู้แล้วก็ตั้งใจเพียงจะปกปิดความชั่วให้มิดชิดอย่างเดียว แต่ขุนชินราชอยู่ที่หอพระ จะลอบไปมาหาสู้กันได้แต่ละครั้งเปนการลำบากนัก อีกประการ ๑ ชายชู้เปนแต่เพียงพนักงารเฝ้าหอพระอยู่เช่นนั้น นางจะให้ทรัพย์สินอย่างไรก็กลัวผู้อื่นจะสงสัย เพราะมิได้มีหน้าที่แลโอกาศที่จะทำความชอบความดีอย่างไร นางจึงยกเหตุที่ขุนชินราชเปนราชินิกูลนั้นตั้งให้เปนที่ขุนวรวงศาธิราช (มีตำแหน่งในกรมวังหรือมหาดเล็ก) แล้วให้เปนผู้รับใช้สอยเข้าเฝ้าแหนได้โดยเปิดเผยตามตำแหน่ง เพื่อจะให้มีโอกาศหาสู่กันได้สดวกขึ้น ข้อที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชพิจารณาเลขสมสังกัดพรรค์ เห็นว่าจะเปนการต่อมาอีกชั้นหนึ่งซึ่งเนื่องในเรื่องเจ้าพระยามหาเสนาถูกแทงตาย จะวินิจฉัยในข้อ ๙ ต่อไปข้างหน้า

ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ปลูกที่ว่าราชการแลให้เอาราชอาสน์ไปทอดให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการที่ริมประตูดินโดยหวังจะให้ข้าราชการยำเกรงนั้น พิเคราะห์ดูเห็นว่า ถ้าทำเช่นนั้นจะกลับเปนการยั่วให้ข้าราชการเกลียดชังโดยหาประโยชน์อันใดมิได้ มูลของความที่กล่าวตรงนี้ เห็นจะเนื่องกับเหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ ดังจะวินิจฉัยในข้อ ๑๐

วินิจฉัยเหตุที่เจ้าพระยามหาเสนาถูกแทงตาย พิเคราะห์ดูในเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ เห็นว่าจับเกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมืองแต่ตั้งขุนชินราชเปนขุนวรวงศาธิราช คงเปนเพราะคนทั้งหลายเห็นท้าวศรีสุดาจันทร์โปรดปรานคนเฝ้าหอพระ เอามาใช้สอยสนิธสนมแลยกย่องให้มียศศักดิ์อย่างนั้น ก็เปนธรรดมาที่จะพากันคิดค้นหาเหตุ ก็เหตุเช่นความประพฤติของท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นย่อมเปนการยากที่จะปกปิดไว้ได้เปนนิจ ไม่ช้านานเท่าใดก็จะเกิดกิติศัพท์สงสัยกันขึ้น เจ้าพระยามหาเสนาออกปากปรารภความสงสัยกับออกญาราชภักดี ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้เข้าก็ตกใจ คงปรึกษาหารือกับขุนวรวงศาธิราชเห็นว่า เจ้าพระยามหาเสนาเปนเสนาบดีหัวหน้าทหาร เอาไว้ไม่ได้ จึงคิดอุบายฆ่าเสีย (ถ้าพระเทียรราชาไม่ได้ออกทรงผนวชเสียก่อนดังกล่าวไว้ในตอนท้ายวินิจฉัยข้อ ๔ นั้น) แล้วก็เลยคิดกำจัดต่อไปถึงพระเทียรราชาด้วย ครั้นพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สำเร็จราชการ จึงอ้างเหตุที่การปกครองอ่อนแอจนมีผู้ร้ายลอบทำร้ายเสนาบดีผู้ใหญ่ได้นั้นมอบอำนาจให้ขุนวรวงศาธิราชพิจารณาเลขสมสังกัดพรรค์ (คือให้ว่ากรมล้อมพระราชวังอย่างปินโตโปจุเกตว่า) โดยประสงค์จะให้มีกำลังสำหรับรักษาตัวด้วยกัน แม้ในชั้นนี้ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เห็นจะยังไม่คิดที่จะกำจัดพระแก้วฟ้าเอาราชสมบัติให้แก่ขุนวรวงศาธิราช เปนแต่เหตุการณ์กระชั้นตัว ก็คิดอุบายป้องกันอันตรายที่จะมีมาถึงตัวเท่านั้น

๑๐วินิจฉัยเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน ข้อนี้มีเค้าเงื่อนในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า วันเมื่อเจ้าพระยามหาเสนาจะถูกฆ่าตายนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์มีรับสั่งให้หาเข้าไปเฝ้าที่ประตูดิน ความส่อว่า ทางข้าราชการฝ่ายหน้าเข้าเฝ้าท้าวศรีสุดาจันทร์เดิรทางประตูดิน แลที่ริมประตูดินนั้นคงมีที่สำหรับข้าราชการพัก มูลเหตุที่ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการที่ริมประตูดินนั้นเห็นจะเกิดแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้รับสั่งออกมาสั่งราชการบางอย่างในตอนเมื่อนางได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชก็ออกมาสั่งณที่ข้าราชการคอยเฝ้าที่ริมประตูดิน แรก ๆ ก็จะเปนแต่บางมื้อบางคราว ครั้นนางมีครรภ์ขึ้น เริ่มขัดข้องแก่การเสด็จออก จึงมารยาบอกเจ็บป่วย ใช้ขุนวรวงศาธิราชมาฟังแลสั่งข้อราชการต่างพระองค์ถี่ขึ้น แลบางทีจะปลูกศาลาที่พักให้ขุนวรวงศาธิราชคอยรับสั่งที่ริมประตูดิน ก็กลายเปนทำนองอย่างขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการที่ริมประตูดินดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร

ข้อที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นเน คงคิดเมื่อตอนนางมีครรภ์ขึ้น โดยเห็นว่าจะปกปิดความชั่วไม่ได้ดังแต่ก่อน ก็คิดอ่านรักษาตัวอย่างเลยไปตามเลย แต่รายการที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ปรึกษาข้าราชการว่า สมเด็จพระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ยังไม่ปรกติ เห็นว่าควรจะให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปกว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าจะทรงพระเจริญวัย แลข้าราชการทั้งปวงรู้อัธยาศัยนางก็ยินยอม ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงให้ตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติ ดังนี้ เห็นว่าจะเปนความจริงไม่ได้ เพราะสมเด็จพระแก้วฟ้ายังเสวยราชย์อยู่ จะราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินขึ้นอีกองค์ ๑ อย่างไร เรื่องที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนนี้ดูทำนองจะเปนเรื่องเกิดต่อเมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าถูกปลงพระชนม์แล้ว ดังจะวินิจฉัยต่อไปข้างหน้า

๑๑วินิจฉัยเหตุที่สมเด็จพระแก้วฟ้าถูกปลงพระชนม์ สมเด็จพระแก้วฟ้าผ่านพิภพเมื่อพระชันษา ๑๑ ปี เสวยราชย์อยู่จนพระชันษาเกือบ ๑๔ ปีจึงถูกปลงพระชนม์ ว่าโดยอำเภอพระชันสา มิใช่เด็กนัก พอจะรู้ความผิดชอบแลดำริห์ตริการได้ เหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างเวลา ๒ ปีเศษนั้นคงจะต้องทราบมิมากก็น้อย เห็นจะไม่เพิกเฉยเลยละ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึง จึงได้แต่ลองคิดสันนิษฐานดูตามรูปเรื่อง คือ

สมเด็จพระแก้วฟ้าเคยอยู่ในความปกครองของท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้เปนพระชนนีมาแต่เดิม เมื่อมาได้เสวยราชย์ พระชันสาก็เพียง ๑๑ ปี คงเคารพรักใคร่เชื่อฟังท้าวศรีสุดาจันทร์ยิ่งกว่าผู้อื่น การที่นางอุปถมภ์บำรุงพันบุตรศรีเทพให้เปนขุนชินราชแล้วเลื่อนเปนขุนวรวงศาธิราชโดยฐานที่เปนญาติ ก็ไม่เปนการผิดปรกติดังกล่าวมาแล้ว ถึงสมเด็จพระแก้วฟ้าจะชอบหรือจะชังขุนวรวงศาธิราช ก็เห็นจะไม่สงสัยว่า พระมารดาคบขุนวรวงศาธิราชเปนชู้ แม้ผู้อื่นคิดสงสัย ก็จะไม่มีใครกล้ากราบทูลกล่าวโทษพระชนนีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า ๆ คงทรงทราบว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนชู้กับขุนวรวงศาธิราชต่อเมื่อนางมีครรภ์ตั้ง ๔ เดือน ๕ เดือน ซึ่งพ้นเวลาที่จะปกปิดได้แล้ว เมื่อทรงทราบก็คงโทมนัสแลเกิดเคียดแค้นขุนวรวงศาธิราชเปนธรรมดา สมเด็จพระแก้วฟ้าเห็นจะคิดการกำจัดขุนวรวงศาธิราชในตอนนี้ แต่ทำการไม่สนิธ ขุนวรวงศาธิราชรู้ตัว จึงชิงปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้าด้วยลอบวางยาพิษในพระกระยาหาร (ตามเค้าความที่ปินโตโปจุเกตกล่าว) หาได้จับกุมคุมพระองค์ไปปลงพระชนม์ที่วัดโคกพระยาดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ ถ้าหากจับสมเด็จพระแก้วฟ้าซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินไปปลงพระชนม์เช่นว่า น่าจะเกิดวุ่นวาย หาเปนการสงบเงียบมาได้ไม่ อีกประการ ๑ ในเรื่องที่ปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้านั้น คิดดูไม่น่าเชื่อว่าท้าวศรีสุดาจันทร์จะได้รู้เห็นเปนใจด้วยเมื่อก่อเหตุ เพราะธรรมดามารดาถึงจะชั่วช้าอย่างไร ที่จะเปนใจให้ฆ่าบุตรนั้นยากที่จะเปนได้ อาศรัยข้อความทั้งปวงที่กล่าวมา จึงเห็นว่า การที่ปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้านั้น ขุนวรวงศาธิราชคงลอบทำโดยลำพังความคิดของตน ปกปิดมิให้ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้เมื่อก่อเหตุ ต่อสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตแล้ว จึงช่วยกันคิดกลอุบาย (หรือโดยท้าวศรีสุดาจันทร์หลงเชื่อ) บอกว่า สมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตโดยประชวรโรคปัจจุบัน เช่นเปนลม ผู้อื่นแม้ที่สงสัย ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันว่าถูกวางยาพิษ ก็ต้องจำยอมว่าประชวรสวรรคต จึงไม่เกิดวุ่นวาย

ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ปรึกษาข้าราชการว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น งามจะเข้ากับเรื่องตรงนี้ คือ เมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์ราชอนุชาย่อมเปนรัชทายาท ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นว่าจะปกปิดเรื่องเปนชู้กับขุนวรวงศาธิราชต่อไปไม่ได้แล้ว นางประสงค์จะให้ขุนวรวงศาธิราชมีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดิน มิให้ผู้ใดอาจทำร้ายได้ จึงปรึกษาข้าราชการผู้ใหญ่ว่า พระศรีศิลป์พระชันสาได้เพียง ๗ ขวบ กำลังสาละวนแต่จะเล่น ตัวนางก็เจ็บ ๆ ป่วย ๆ จะว่าราชการบ้านเมืองอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ขอให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการไปกว่าพระศรีศิลป์จะทรงพระเจริญ เพราะเปนพระญาติวงศ พอจะไว้วางใจได้ ฝ่ายข้าราชการจะไม่ยินยอมก็ไม่มีเหตุอื่นที่จะยกขึ้นอ้างคัดค้านนอกจากประจานความชั่วของนาง ถ้าประจานขึ้นในขณะนั้น ก็คงถึงจับกุมฆ่าฟันกัน เพราะเวลานั้นกำลังรี้พลในพระราชวังอยู่ในมือขุนวรวงศาธิราช ไม่มีใครได้ตระเตรียมจะต่อสู้ เพราะเหตุนี้ จึงจำยอมให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการตามประสงค์ของท้าวศรีสุดาจันทร์ อีกประการ ๑ ข้าราชการโดยมากคงคิดเห็นว่า เหตุทุรยศเกิดขึ้นถึงปานนั้น มีทางแก้ไขอย่างเดียวแต่ต้องกำจัดทั้งท้าวศรีสุดาจันทร์แลขุนวรวงศาธิราชเสียด้วยกัน ในขณะนั้นไม่สามารถจะกำจัดได้ ก็ยอมพอถ่วงเวลาหาอุบายแลโอกาศที่จะกำจัดต่อไป

แต่ฝ่ายขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์เมื่อเห็นข้าราชการยินยอมพร้อมใจกันหมด อาจจะเข้าใจว่าเปนด้วยความนิยมหรือเกรงกลัวทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง จึงเลยกำเริบถึงให้ราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน แต่เห็นจะอ้างว่าจะให้พระศรีศิลป์เปนผู้รับรัชทายาทต่อไป ส่วนนายจนน้องชายขุนวรวงศาธิราช ที่ว่าให้เปนพระมหาอุปราชนั้น ที่จริงเห็นจะเปนเจ้าพระยามหาอุปราชตามตำแหน่งที่มีในทำเนียบ หาได้เปนพระมหาอุปราชาอย่างรัชทายาทไม่

๑๒วินิจฉัยเรื่องกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ขุนวรวงศาธิราชได้ครองราชสมบัติอยู่เพียง ๔๒ วันก็ถูกกำจัด ความข้อนี้ประกอบกับเรื่องที่ปรากฎว่ากำจัดขุนวรวงศาธิราชได้โดยง่ายดาย ส่อให้เห็นว่า ความคิดที่จะกำจัดขุนวรวงศาธิราชนั้นเห็นจะเกิดขึ้นไม่ช้านัก บางทีสมเด็จพระแก้วฟ้าจะเปนผู้เริ่มดำริห์ แลขุนพิเรนทรเทพจะได้ร่วมคิดโดยเปนพระญาติข้างฝ่ายพระราชบิดา ถึงขุนอินทรเทพก็อาจจะอยู่ในผู้ที่ร่วมคิดด้วย ครั้นสมเด็จพระแก้วฟ้าถูกปลงพระชนม์ ขุนพิเรนทรเทพกับขุนอินทรเทพจึงคิดอ่านการนั้นต่อมา เลยคิดกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ด้วย แต่มาตอนนี้สิ้นสมเด็จพระแก้วฟ้าเสียแล้ว เห็นพระศรีศิลป์ยังทรงพระเยาว์นัก จึงคิดกันจะถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา การที่พระเทียรราชายอมเข้าด้วยนั้นก็มีข้อควรวินิจฉัยอยู่ ด้วยเวลานั้นพระเทียรราชาทรงผนวชเปนพระภิกษุ ถ้าขุนพิเรนทรเทพไปทูลว่า จะคิดฆ่าฟันคนร้าย เอาราชสมบัติถวาย พระเทียรราชารับรู้เห็นเปนใจ เปนการขัดพระวินัยบัญญัติข้อใหญ่ เข้าฉายามนุสสวิคคหะ ไหนจะกล้าเอออวยด้วย ทำนองจะทูลรับสัญญาว่าจะคิดจับกุมโดยละม่อมมิให้ต้องถึงฆ่าฟันกัน หรือมิฉนั้นก็ทูลความเปนอย่างอื่น เช่นว่า คิดจะชิงพระศรีศิลป์ให้พ้นจากอำนาจคนร้ายแล้วให้พระเทียรราชาว่าราชการแผ่นดินอย่างเดิม ดั่งนี้เปนต้น อนึ่ง การเสี่ยงเทียนนั้นเปนวิธีมีในกฎหมายลักษณพิศูจน์ ๗ อย่าง คือ ๑ ล้วงตะกั่ว ๒ ลุยเพลิง ๓ ดำน้ำ ๔ ว่ายน้ำแข่งกัน ๕ ข้ามฟากแข่งกัน ๖ เสี่ยงเทียน ๗ สาบาล ประหลาทที่กฎหมายลักษณพิศูจน์นั้นในบานพะแนกปรากฎว่าตั้งเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม จุลศักราช ๘๙๗ ตรงกับปีที่ ๒ ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) เห็นจะกำลังเลื่อมใสกันมากในสมัยนั้น การที่เสี่ยงเทียนกันที่วัดราชประดิษฐาน งามจะเปนความแนะนำของพระเทียรราชา

๑๓วินิจฉัยเรื่องขุนวรวงศาธิราชไปจับช้าง ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่า ขุนวรวงศาธิราชเปนคนโง่เขลา หลงเชื่อว่าที่ในกรุงฯ ไม่มีผู้ใดกล้าคิดร้าย จึงประมาท อนึ่ง ตำบลที่เรียกว่า พะเนียดวัดซอง นั้น ตัววัดซองยังปรากฎอยู่ที่ริมตลาดหัวรอจนทุกวันนี้ เพราะฉนั้น พะเนียดที่จับช้างในสมัยนั้นเห็นจะอยู่ตรงที่สร้างวังจันทรเกษมแลเรือนจำทุกวันนี้ คือ อยู่ใกล้กำแพงเมืองอย่างเช่นพะเนียดที่เมืองลพบุรี เพราะแนวกำแพงพระนครด้านตวันออกในสมัยนั้นยังอยู่ลึกเข้าไป พึ่งเลื่อนออกไปถึงริมน้ำเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

๑๔วินิจฉัยอุบายที่พวกขุนพิเรนทรเทพกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราชคงมีความคิดมาแต่แรกว่าจะกำจัดด้วยอุบายอย่างใด มีเค้าเงื่อนดูเหมือนในชั้นเดิมขุนพิเรนทรเทพจะคิดนัดแนะพวกหัวเมืองเหนือให้ยกกองทัพลงมา ส่วนขุนพิเรนทรเทพจะเปนไส้ศึกอยู่ภายใน ครั้นรู้ว่า ขุนวรวงศาธิราชจะไปดูจับช้าง เห็นได้ช่องจะทำให้สำเร็จความประสงค์ได้ง่ายขึ้น จึงเปลี่ยนความคิดเปนลอบทำร้ายในระหว่างทางที่ไปพะเนียด

ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เวลานั้นพระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยเข้ามาในกรุงฯ จึงมาร่วมคิดช่วยขุนพิเรนทรเทพกำจัดขุนวรวงศาธิราชด้วย ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนในหนังสือของปินโตโปจุเกตกับพงศาวดารเขมรเปนอย่างอื่น ปินโตโปจุเกตกล่าวว่า ในการกำจัดขุนวรวงศาธิราชครั้งนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาเปนผู้อุดหนุน ความในพงศาวดารเขมรว่า (เมื่อในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น) พระยาโองน้องของพระเจ้ากรุงกัมพูชาเกิดผิดใจกับพี่ จึงอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แลต่อมา (ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ไทยให้กำลังพระยาโองออกไปตีกรุงกัมพูชา แต่พระยาโองไปตายในกลางศึก เรื่องนี้ก็มีในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่กล่าวไปว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปตีกรุงกัมพูชา พระเจ้ากรุงกัมพูชายอมแพ้ ถวายนักพระสุโทกับนักพระสุธรรมโอรสมาเปนตัวจำนำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลี้ยงเปนราชบุตรบุญธรรม ให้นักพระสุธรรมครองเมืองสวรรคโลก อยู่มาแต่งกองทัพให้นักพระสุธรรม ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า “พระองค์สวรรค์โลก” ยกไปปราบศัตรูที่กรุงกัมพูชา แต่ไปตายในสงคราม ดังนี้ เห็นว่า ที่เรียกว่า พระองค์สวรรคโลก นั้น จะเปนคนเดียวกับพระยาโองนั้นเอง ปินโตโปจุเกตจึงว่า พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ช่วยกำจัดขุนวรวงศาธิราช แต่ลักษณที่ช่วยนั้น สันนิษฐานเห็นว่า จะเปนแต่ตั้งแขงเมืองด้วยกันกับพระยาพิชัย ไม่เข้ามาเฝ้าขุนวรวงศาธิราชตามท้องตราให้หา ข้อนี้บางทีจะเปนมูลเหตุที่กล่าวว่า “หัวเมืองข้างเหนือไม่ปรกติ” ครั้นพระเทียรราชาได้ครองราชสมบัติ ก็รีบลงมาสามิภักดิ์ จึงยกเปนความชอบ

๑๕วินิจฉัยลักษณที่กำจัดขุนวรวงศาธิราชเรื่องตอนกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ปรากฎว่า ขุนพิเรนทรเทพมีพรรคพวกไม่มากมายกี่คน กล้าเข้าทำร้ายขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ในเวลามีกระบวรราชบริพารแห่ห้อมล้อมวงเต็มที่ แลกล้าดักทำร้าย (ที่พ้นปากคลองสระบัว) ใกล้พระราชวังถึงปานนั้น เปนน่าพิศวงที่สามารถทำการได้สมปราถนา ทั้งในการกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ แลการที่ยกราชสมบัติถวายพระเทียรราชา ไม่มีใครได้ต่อสู้หรือขัดขืนอย่างหนึ่งอย่างใด ที่เปนดังกล่าวมานี้ส่อให้เห็นว่า เหตุเพราะไม่มีใครนิยมต่อขุนวรวงศาธิราช ที่เปนใหญ่ได้เพราะใช้กลอุบายอำพรางในเบื้องต้นแลใช้กำลังข่มขู่ในชั้นหลัง แต่อำนาจมีอยู่เพียงในบริเวณพระราชวัง พอออกพ้นพระราชวัง ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือผู้คิดกำจัด หามีผู้ใดที่จะช่วยเหลือป้องกันไม่ ขุนพิเรนทรเทพทราบความทั้งนี้อยู่แก่ใจ จึงกล้าทำโดยการองอาจถึงปานนั้น แต่ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ขุนวรวงศาธิราชพาธิดาอันเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ไปด้วยในเวลาที่ถูกกำจัดนั้น ข้อนี้สงสัยอยู่ ด้วยธิดานั้นเปนทารกอายุอย่างมากก็จะได้เพียง ๓ เดือน ๔ เดือน การที่จะไปดูจับช้างก็ไปชั่วเวลาเดียว ไม่ช้านานเท่าใด จะพาเอาไปด้วยทำไม ทารกธิดานั้นเห็นจะถูกกำจัดต่อภายหลัง

๑๖วินิจฉัยเรื่องถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา เรื่องตอนนี้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความแต่โดยย่อ แต่พอจะสันนิษฐานรายการได้ไม่ยาก คือ เมื่อกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ได้แล้ว ขุนพิเรนทรเทพคงเข้าไปยังพระราชวัง สั่งให้เรียกประชุมข้าราชการทั้งปวง ต่างก็มาด้วยความปีติยินดี ปรึกษาเห็นกันโดยมากว่า ควรจะเชิญพระเทียรราชาขึ้นครองราชสมบัติ (พวกที่เห็นควรถวายราชสมบัติแก่พระศรีศิลป์ก็มี ข้อนี้มาปรากฎเมื่อพระศรีศิลป์เปนขบถในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีข้าราชการไปเข้าเปนพรรคพวกหลายคน จนถึงสมเด็จพระวันรัตน์วัดป่าแก้วเปนที่สุด แต่ในเวลานั้นคงพากันเกรงขุนพิเรนทรเทพ ไม่มีผู้ใดกล้าขัดขวาง) เสนาบดีผู้ใหญ่จึงไปทูลพระเทียรราชาแล้วอัญเชิญให้ลาผนวช แลจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปรับเสด็จเข้ามาประทับในพระราชวัง จนถึงฤกษก็ราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร มีข้อควรวินิจฉัยในตอนนี้อยู่อย่างหนึ่ง ที่ไม่ปรากฎว่าลงโทษหรือชำระสะสางพรรคพวกขุนวรวงศาธิราช จะว่าเพราะไม่มีพรรคพวกเลยทีเดียวก็ใช่เหตุ เพราะท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชก็มีอำนาจจะตั้งแต่งข้าราชการอยู่นาน ถึงคนดีจะไม่เข้าด้วย ก็คงมีพวกทรชนคนพาลเข้าเปนสมัคพรรคพวกบ้างมิมากก็น้อย เหตุใดจึงไม่ถูกกำจัด ข้อนี้เห็นว่า ชรอยจะเปนเพราะพระเทียรราชาได้ร้องขออย่าให้ฆ่าฟันผู้คนดังกล่าวมาแล้ว ประกอบกับเหตุที่พวกนั้นไม่ได้ต่อสู้อย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำอันตราย

๑๗วินิจฉัยเรื่องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิปูนบำเหน็จผู้มีความชอบ ข้อวินิจฉัยในตอนนี้มีอยู่ ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ เหตุที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตั้งขุนพิเรนทรเทพเปนพระมหาธรรมราชา แลข้อ ๒ เหตุที่พระราชทานพระราชธิดา

การที่ตั้งขุนพิเรนทรเทพเปนพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกนั้น เห็นว่าอาศรัยเหตุ ๒ ประการ ประการที่ ๑ หัวเมืองเหนืออันเปนมณฑลราชธานีแต่ครั้งพระร่วง ได้เคยปกครองเปนอย่างมณฑลราชธานีฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยามาทุกรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) เปนต้นมา พึ่งมาแยกออกเปนหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงฯ ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็เกิดขบถแลระส่ำระสายไม่เรียบร้อย จึงคิดจะกลับใช้วิธีปกครองเปนอย่างมณฑลราชธานีฝ่ายเหนือดังแต่ก่อน ประการที่ ๒ ขุนพิเรนทรเทพมีความชอบยิ่งกว่าผู้อื่น แลเปนผู้มีชาติตระกูลเปนเชื้อราชวงศพระร่วง เหมาะแก่ที่จะเปนเจ้าขันธสิมาครองเมืองเหนือ อาศรัยเหตุ ๒ ประการนี้ จึงทรงสถาปนาขึ้นเปนพระมหาธรรมราชาตามเยี่ยงอย่างครั้งราชวงศพระร่วงครองเมืองพิษณุโลกมาแต่ก่อน

การที่พระราชทานพระราชธิดา ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ได้พระราชทานทั้ง ๔ คน คือ พระมหาธรรมราชา เจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยามหาเสนา แลเจ้าพระยามหาเทพ เห็นจะเกินไป ที่จริงจะได้พระราชทานแต่พระมหาธรรมราชาพระองค์เดียว เพราะเหตุที่ยกย่องขึ้นเปนเจ้า การที่พระราชทานพระราชธิดาเปนมเหษีเปนเครื่องป้องกันมิให้เกิดมีเจ้าต่างวงศ์ขึ้นทางเมืองเหนือ เหตุนี้เปนข้อสำคัญ

วินิจฉัยเรื่องพระเทียรราชาหมดเนื้อความเพียงนี้

การกำหนดเหตุการณ์ เรื่องพระเทียรราชานับว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต (ตามศักราชในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) เมื่อเดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะแม จุลศักราช ๙๐๙ (พ.ศ. ๒๐๙๐ ค.ศ. ๑๕๔๗) จนกำจัดขุนวรวงศาธิราชเมื่อเดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๙๑๑ พ.ศ. ๒๐๙๒ เปนที่สุด รวมระยะเวลา ๒ ปีกับ ๔ เดือน หย่อน ๒ วัน

บุคคลปรากฎนามในเรื่องมี ๒๔ คน ที่หมาย ๑ ในบาญชีต่อไปนี้เปนตัวการในเรื่อง นอกนั้นเปนแต่ผู้ประกอบการ คือ

(๑)สมเด็จพระแก้วฟ้า ราชโอรสผู้รับรัชทายาทของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้เสวยราชย์เมื่อพระชันษา ๑๑ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปีกับ ๒ เดือนเศษ (พยายามจะกำจัดขุนวรวงศาธิราชไม่สำเร็จ) ถูกปลงพระชนม์

(๒)พระเทียรราชา พระเจ้าน้องยาเธอของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อแรกสมเด็จพระแก้วฟ้าเสวยราชย์) ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปองร้าย หนีภัยออกทรงผนวชเปนพระภิกษุ ต่อมาได้เสวยราชย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

(๓)พระศรีศิลป์ ราชอนุชาของสมเด็จพระแก้วฟ้า (ได้อยู่ในที่รัชทายาทคราวหนึ่ง) ต่อมาเปนขบถต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ถูกยิงสิ้นพระชนม์

(๔)เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก เปนผู้รับสั่งในการบำรูงาช้างแลในการจับช้าง

(๕)เจ้าพระยามหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม เปนผู้พูดปรารภเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้แลถูกคนร้ายลอบฆ่าตาย

(๖)ออกญาราชภักดี (เจ้ากรมของพระราชชนี) เปนผู้รับสั่งในการเลื่อนพันบุตรศรีเทพเปนขุนชินราชแลเปนขุนวรวงศาธิราช แลเปนผู้ซึ่งเจ้าพระยามหาเสนาบดีปรารภด้วย

(๗)นักพระยาโอง (น้องพระเจ้ากรุงกัมพูชา) เปนเจ้าเมืองสวรรคโลก ช่วยกำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้กำลังไปตีเมืองเขมร แต่ไปตายในสงคราม

(๘)ออกญาศรีสุริยราชาไชย ผู้ว่าราชการเมืองพิไชย เปนผู้ช่วยกำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาฯ

(๙) พระมหาราชครูปโรหิต ทั้ง ๔ นี้เปนพราหมณ์ตำแหน่งราชครู ผู้ปรึกษาบำเหน็จความชอบเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์
(๑๐) พระมหาราชครูมหิธร
(๑๑) พระราชครูพิเชต
(๑๒) พระราชครูพิราม
(๑๓) พระรักษมนเทียร กรมวัง ทั้ง ๒ นี้เปนผู้ไปรับเสด็จพระเทียรราชา
(๑๔) หลวงราชนิกูล ปลัดทูลฉลองมหาดไทย

(๑๕)หลวงศรียศ พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เปนเจ้าพระยามหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม

(๑๖)ขุนวรวงศาธิราช เปนญาติของท้าวศรีสุดาจันทร์ เดิมเปนพันบุตรศรีเทพ แล้วเลื่อนเปนขุนชินราชพนักงารเฝ้าหอพระ ครั้นเปนชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้เปนที่ขุนวรวงศาธิราช (ลอบวางยาพิษ) ปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้า แล้วขึ้นครองราชสมบัติอยู่ได้ ๔๒ วัน ถูกประหารชีวิต

(๑๗)ขุนพิเรนทรเทพ เปนเชื้อวงศ์พระร่วง แลเปนญาติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เปนหัวหน้าพวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช แล้วได้เปนพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก แลเปนราชบุตรสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาได้ครองราชสมบัติ

(๑๘)ขุนอินทรเทพ พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช

(๑๙)หมื่นราชเสนหา (ในราชการ) พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เปนเจ้าพระยามหาเทพ

(๒๐)หมื่นราชเสนหา (นอกราชการ) เปนผู้ลอบยิงอุปราชจัน น้องขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เปนออกญาภักดีนุชิต

(๒๑)นายจัน บ้านมหาโลก น้องขุนวรวงศาธิราช ที่ตั้งให้เปน (เจ้าพระยา) มหาอุปราช ถูกกำจัดในคราวเดียวกับพี่

(๒๒)ท้าวศรีสุดาจันทร์ เดิมเปนพระสนมเอก แล้วได้เลื่อนยศเปนแม่อยั่วเมือง เปนพระชนนีสมเด็จพระแก้วฟ้าแลพระศรีศิลป์ ได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (เมื่อพระเทียรราชาออกทรงผนวช) เปนชู้กับขุนวรวงศาธิราช ยกชู้ขึ้นครองแผ่นดิน แล้วถูกประหารชีวิตดวยกันกับชู้

(๒๓)พระวิสุทธิกษัตรีย์ เดิมเปนพระสวัสดิราช ธิดาพระเทียรราชา พระราชบิดาประทานเปนมเหษีพระมหาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ)

(๒๔)ธิดาท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีด้วยขุนวรวงศาธิราช ถูกกำจัดพร้อมกับบิดามารดา

เรื่องไพร่พลของขุนวรวงศาธิราช ความในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฝ่ายหนึ่งปรากฎว่า ไม่มีใครนิยมต่อขุนวรวงศาธิราช แต่อีกฝ่ายหนึ่งปรากฎว่า ขุนชินราชมีรี้พลพอที่จะข่มขู่ข้าราชการทั้งปวงเอาไว้ในอำนาจได้แม้เพียงชั่วคราวหนึ่ง ขุนวรวงศาธิราชจะได้คนพวกไหนเปนกำลัง ข้อนี้สันนิษฐานว่า คนที่เข้าไปรับเปนกำลังของขุนชินราชนั้น พวกหนึ่งคงเปนด้วยโลภเห็นแก่สินจ้าง ในพวกนี้อาจเปนคนต่างชาติต่างภาษา เช่น แขก จีน แลมอญ ลาว เปนพื้น ฝรั่งสมัยนั้นมีโปจุเกต แต่ไม่ปรากฎว่าโปจุเกตเข้าด้วย อีกพวกหนึ่งจำเข้าเปนพรรคพวกขุนวรวงศาธิราชด้วยกัลวอาญา ไทยคงอยู่ในพวกนี้เปนพื้น เห็นจะใช้อาญากดขี่อย่างรุนแรง พวกที่เปนนายก็จะเปนแต่เหล่าคนทรยศเสเพลที่เอามาชุบเลี้ยงตั้งแต่งขึ้นเปนพื้น

ภูมิสถานบ้านเรือนที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น มีเค้าเงื่อนว่า ก่ออิฐถือปูนแต่วัด ปราสาทราชมนเทียรทั้งปวงยังเปนเครื่องไม้ พระราชมนเทียรพึ่งก่ออิฐถือปูนต่อเมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททองเปนต้นมา กำแพงพระราชวังอาจเปนของก่ออิฐถือปูน ประตูซุ้มมณฑปเครื่องไม้ แต่กำแพงพระนครนั้นยังใช้ปักเสาระเนียดบนเนินดิน ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พึ่งก่ออิฐถือปูนกำแพงพระนครต่อในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อเสร็จศึกหงสาวดีคราวแรก

สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๘๙ เสร็จการสงครามแล้ว เสด็จยกกองทัพหลวงกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ มาเกิดประชวรกลางทาง ครั้นถึงกรุงฯ พระอาการหนักลง ทรงปรารภถึงเรื่องสืบสันตติวงศ แลเวลานั้นมีแต่พระราชบุตรที่เกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอก ๒ องค์ จึงทรงสถาปนาพระราชบุตรองค์ใหญ่อันพระชันสาได้ ๑๑ ปีให้เปนพระแก้วฟ้ามหาอุปราช ราชบุตรองค์น้อยพระชันสาได้ ๕ ปีเปนพระศรีศิลป์ แลเลื่อนยศท้าวศรีสุดาจันทร์อันเปนเจ้าจอมมารดาของราชกุมาร ๒ พระองค์นั้นขึ้นเปนแม่อยั่วเมือง แล้วตรัสสั่งไว้ว่า เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ให้พระแก้วฟ้ารับรัชทายาท แลให้พระเทียรราชาราชอนุชาเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปกว่าพระแก้วฟ้าจะเจริญพระชันสาว่าราชการได้เอง

ถึงเดือน ๖ ปีมะแม พ.ศ. ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระแก้วฟ้า ราชาภิเศกเปนพระมหากษัตริย์ ให้พระเทียรราชาแนผู้สำเร็จราชการฝ่ายหน้า ท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งได้เปนสมเด็จพระชนนีพันปีหลวงเปนผู้สำเร็จราชการฝ่ายใน แลเปนผู้ทนุบำรุงสมเด็จพระแก้วฟ้าโดยฉันเปนพระมารดา

๓ก.พระเทียรราชามีหน้าที่เข้าเฝ้าท้าวศรีสุดาจันทร์เนือง ๆ ด้วยต้องทูลหารือบันดากิจการซึ่งฝ่ายหน้าเกี่ยวข้องด้วยฝ่ายใน แลในการซึ่งเนื่องในส่วนพระองค์สมเด็จพระแก้วฟ้า เช่นการที่ทรงศึกษาเปนต้น เมื่อได้พบปะคุ้นเคยกันมากเข้า ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนผู้ลุอำนาจแก่ราคจริต ก็เกิดประดิพัทธต่อพระเทียรราชา แสดงเลศนัยให้รู้พระองค์ด้วยประการต่าง ๆ เนือง ๆ แต่ฝ่ายพระเทียรราชาไม่สมัคสมาน ด้วยซื่อตรงต่อพระอัครชายาซึ่งปรากฎพระนามต่อมาว่า พระสุริโยทัย นั้น ทั้งมีความภักดีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า ก็บิดเบือนไม่รับไมตรีของนาง ๆ โกรธแค้น สำคัญว่า พระสุริโยทัยคงหึงส์หวงเกียจกัน จึงทำเล่ห์อุบายบอกให้พระเทียรราชาเข้าพระราชหฤทัยว่า ถ้าไม่ทิ้งพระสุริโยทัยออกบวชเสีย จะเปนอันตรายทั้งพระองค์แลพระอัครชายา พระเทียรราชามิรู้ที่จะทำประการใด จะประกาศความชั่วของนางให้ปรากฎ ก็ไม่มีหลักฐานมั่นคง ทั้งเกรงจะเสียพระเกียรติยศสมเด็จพระแก้วฟ้า จะนิ่งอยู่ก็กลัวพระสุริโยทัยจะเปนอันตราย จึงตรัสบอกพระสุริโยทัยให้ทราบเหตุที่จำเปนจะต้องพรากกัน แล้วอุบายทูลลาว่าประชวรบลไว้ พระองค์ออกทรงผนวชอยู่ณวัดราชประดิษฐาน

(ความใน ๓ก. นี้เปนแต่ทางสันนิษฐานนัยหนึ่ง ซึ่งจะยกเสียแลเอาความข้อ ๓ ต่อกับข้อ ๒ ทีเดียวก็ได้)

อยู่มาวันหนึ่งท้าวศรีสุดาจันทร์ออกไปบำเพ็ญพระกุศลที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แวะบูชาพระณพระที่นั่งพิมานรัตยาซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระราชอุทิศถวายเปนหอพระ นางไปพบญาติคนหนึ่งชื่อ พันบุตรศรีเทพ เปนพนักงารเฝ้าหอพระนั้น นางเกิดสมัครักใคร่ จึงทักทายโดยฉันญาติที่ได้รู้จักกันมา ครั้นเมื่อกลับคืนเข้าข้างใน อ้างว่าปราณีญาติ ให้ข้าหลวงนำเมี่ยงหมากแลเครื่องอุปโภคบริโภคไปประทาน พันบุตรศรีเทพก็เก็บดอกจำปาจัดใส่กระทงส่งให้ข้าหลวงนำเข้าไปถวายสำหรับนางบูชาพระ ส่งเสียไปมาอย่างนี้หลายครั้ง นางเกิดรักใคร่พันบุตรศรีเทพมากขึ้น จึงมารยาปรารภกับออกญาราชภักดีผู้เปนเจ้ากรมว่า หลานของนางเปนพนักงารเฝ้าหอพระอยู่ทพระที่นั่งพิมานรัตยาคน ๑ ทราบว่าอด ๆ อยาก ๆ ขอให้ย้ายมาเปนพนักงารเฝ้าหอพระของนางอยู่ใกล้ ๆ จะได้ให้ทานกินให้อิ่มหนำ ออกญาราชภักดีพาซื่อ จึงย้ายพันบุตรศรีเทพเข้ามาเปนตำแหน่งขุนชินราชรักษาพนักงารเฝ้าหอพระของสมเด็จพระชนนี ย้ายขุนชินราชคนเก่าออกไปเปนพนักงารเฝ้าหอพระณพระที่นั่งพิมานรัตยา

ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนพระราชชนนี มีราชานุกิจที่ต้องประพฤติ เช่นไปนมัสการพระที่หอพระแลเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าเปนต้น เปนนิจ ไม่ต้องมีผู้ควบคุมเหมือนอย่างนักสนม เพราะฉนั้น จึงได้มีโอกาศพบปะกับขุนชินราชที่หอพระเนือง ๆ ต่อหน้าคนนางก็โอภาปราสัยอย่างเปนญาติชั้นลูกหลาน ครั้นลับตาคนก็แสดงเลศนัยให้ปรากฎแก่ขุนชินราชว่านางรักใคร่ ฝ่ายขุนชินราชเปนคนโง่เขลาปราศจากหิริโอตัปป เมื่อเห็นเช่นนั้นก็มีความยินดี จึงได้เปนชู้กับนาง แต่การที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบขุนชินราชเปนชู้นั้น ตัง้ใจปกปิดจะมิให้ผู้ใดล่วงรู้ เพราะฉนั้น จะไปมาหาสู่กันในที่ลับได้แต่ละครั้งเปนการลำบาก อีกประการ ๑ นางปรารภว่า ขุนชินราชเปนแต่พนักงารเฝ้าหอพระ จะให้ทรัพย์สินคนก็จะสงสัย ด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการนี้ นางจึงอ้างว่าขุนชินราชเปนราชินิกูล ควรจะให้มีโอกาศรับรั้วงารราชการบ้าง จะให้เปนแต่พนักงารเฝ้าหอพระอยู่เช่นนั้นหาสมควรไม่ จึงตั้งให้เปนที่ขุนวรวงศาธิราช มีตำแหน่งในกรมวังของพระชนนีสำหรับนางใช้สอย

การที่ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนชู้กับขุนวรวงศาธิราชนั้นปกปิดไว้ได้ไม่ช้า มีผู้รู้ความก็เกิดกิติศัพท์โจทย์สงสัยกันขึ้น กิติศัพท์นั้นทราบไปถึงเจ้าพระยามหาเสนา วันหนึ่งเจ้าพระยามหาเสนาจึงปรารภแก่ออกญาราชภักดีว่า เดี๋ยวนี้มีเสียงโจทย์กันอย่างนี้ ๆ ถ้าเปนความจริงจะทำอย่างไร ในเวลานั้นออกญาราชภักดีไม่เชื่อว่าเปนความจริง ถึงเจ้าพระยามหาเสนาก็เห็นจะยังไม่ลงเนื้อเชื่อใจว่าเปนความจริง ออกญาราชภักดีพาซื่อ ประสงค์จะระงับกิติศัพท์นั้น จึงทูลความปรารภของเจ้าพระยามหาเสนาแก่ท้าวศรีสุดาจันทร์ ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เหมือนหนึ่งวัวสันหลังขาด พอได้ยินว่ามีผู้รู้ความชั่ว ก็ตกใจ จึงปรึกษากับขุนวรวงศาธิราชว่า จะทำอย่างไรดี เจ้าพระยามหาเสนาเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ แลเปนหัวหน้าของพวกทหาร จะป้องกันฉันใดจึงจะพ้นภัย ขุนวรวงศาธิราชเปนคนพาลสันดานหยาบ ก็แนะนำว่า จำต้องฆ่าเจ้าพระยามหาเสนาเสีย เอาไว้ไม่ได้ แล้วไปคิดอ่านให้คนสนิธจ้างผู้ร้ายให้ลอบฆ่าเจ้าพระยามหาเสนา ครั้นเตรียมการพร้อมแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงมีรับสั่งให้หาเจ้าพระยามหาเสนาเข้าไปเฝ้าแล้วแกล้งอุบายหน่วงเหนี่ยวให้กลับออกไปจากในวังต่อเวลาค่ำ ครั้นไปพอพ้นพระราชวัง คนร้ายของขุนวรวงศาธิราชก็ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาตาย

เมื่อกำจัดเจ้าพระยามหาเสนาแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์ปรึกษากับขุนวรวงศาธิราชต่อไปถึงพระเทียรราชาว่า อาจจะเปนศัตรูได้อีกคน ๑ เพราะเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จำจะต้องเอาพระเทียรราชาออกเสียจากตำแหน่ง อำนาจจะได้ตกอยู่แก่ท้าวศรีสุดาจันทร์แต่ผู้เดียว เมื่อเห็นกันดังนี้แล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงทำกริ้วพระเทียรราชา หาเหตุว่า เพราะพระเทียรราชาว่าราชการอ่อนแอ คนร้ายจึงกำเริบถึงสามารถฆ่าเสนาบดีผู้ใหญ่ได้ใกล้รั้ววังถึงปานนั้น คนอย่างเช่นพระเทียรราชาบวชเสียดีกว่าว่าราชการแผ่นดิน ฝ่ายพระเทียรราชาก็รู้กิติศัพท์ความชั่วของท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่ไม่กล้าจะเปิดเผย ด้วยไม่มีหลักฐานมั่นคงแลเกรงสมเด็จพระแก้วฟ้า แต่จะเพิกเฉยเสียก็เกรงจะเปนอันตรายอย่างเจ้าพระยามหาเสนา จึงประสมยอมรับผิดทูลลาออกทรงผนวช (ความข้อ ๖ นี้ ถ้าใช้ ต้องเอาข้อ ๓ก, ออก)

เมื่อพระเทียรราชาออกทรงผนวชแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะตั้งผู้ใดแทน ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ได้สำเร็จราชการแผ่นดินทั้งฝ่ายหน้าแลฝ่ายใน นางยังเกรงอันตราย คิดจะหากำลังรักษา จึงอุบายให้ขุนวรวงศาธิราชจับคนร้ายที่ฆ่าเจ้าพระยามหาเสนาได้ ยกเปนความชอบ แลอ้างเหตุที่การรักษาพระราชวังหละหลวมมาแต่ก่อนนั้น ตั้งให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้บังคับกรมล้อมพระราชวัง ขุนวรวงศาธิราชก็จ้างวานหาพรรคพวกเข้ามาเปนกำลังอยู่ประจำซอง กำจัดผู้ซึ่งเห็นว่าจะเปนศัตรูออกไปเสียให้พ้นจากพระราชวัง แต่นั้นท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่ในพระราชวัง ไม่มีผู้ใดจะกล้าฝ่าฝืน

ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๐ ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้นกับขุนวรวงศาธิราช นางจะออกว่าราชการเปนนิจดังแต่ก่อน เกรงคนอื่นจะเห็น ก็และประเพณีที่ข้าราชการฝ่ายหน้าเข้าหาท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น พวกขุนนางย่อมเดิรเข้าทางประตูดินไปเฝ้าณท้องพระโรงที่นางเสด็จออก เปนประเพณีมาตั้งแต่นางเปนสมเด็จพระชนนีจนถึงเวลานางเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ชั้นเดิมวันใดมีแต่กิจการเล็กน้อยหรือนางจะไม่เสด็จออก ก็ให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้รับสั่งมาฟังแลมาสั่งราชการ ขุนวรวงศาธิราชก็มายังที่ข้าราชการประชุมกันอยู่ที่ริมประตูดิน ครั้นท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น นางจึงอุบายบอกเจ็บป่วยแลใช้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้รับสั่งในกิจราชการทั้งปวงถี่ขึ้น ขุนวรวงศาธิราชต้องคอยประจำอยู่ นางจึงให้สร้างศาลาขึ้นที่ริมประตูดินใกล้ต้นหมัน แต่นั้นข้าราชการที่ไปมาเฝ้าแหนก็ไปพักแลไปฟังราชการณที่พักของขุนวรวงศาธิราช ข้าราชการที่เปนชั้นผู้น้อยหรือที่เปนคนเสเพลก็สมัคฝักฝ่ายต่อขุนวรวงศาธิราชยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน มาถึงชั้นนี้ ขุนวรวงศาธิราชจึงมีอำนาจเช่นเปนผู้สำเร็จราชการทั่วทั้งพระราชวัง

ฝ่ายสมเด็จพระแก้วฟ้าเมื่อตอนแรกเสวยราชย์นั้น ทรงเคารพรักใคร่เชื่อฟังท้าวศรีสุดาจันทร์ด้วยนับถือว่าเปนพระมารดา เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์เอาพันบุตรศรีเทพเข้าไปชุบเลี้ยง แลตั้งแต่งเปนขุนชินราช แล้วเลื่อนขึ้นเปนขุนวรวงศาธิราช เห็นขุนวรวงศาธิราชกิริยาอาการเย่อหยิ่งขึ้นโดยลำดับไม่เคารพนบนอบเหมือนข้าราชการคนอื่น ๆ ก็เกลียดชังไม่ชอบพระหฤทัย แต่จะขับไล่เสียหรือทำโทษทัณฑ์อย่างใดก็เกรงพระชนนี ด้วยไม่คิดเห็นว่าจะเปนชู้กับพระชนนี ก็นิ่งมา ครั้นเห็นท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น ประจักษ์แก่พระหฤทัยว่าพระชนนีเปนชู้กับขุนวรวงศาธิราชเปนแน่ ก็ทรงโทมนัสขัดแค้นขุนวรวงศาธิราชเปนกำลัง คิดจะกำจัดขุนวรวงศาธิราช จึงลอบปรึกษาหารือกับขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเปนพระญาติฝ่ายพระราชบิดา แลขุนอินทรเทพ ขุนพิเรนทรแทพรับจะอุบายบอกขึ้นไปยังเจ้าเมืองฝ่ายเหนือให้รวบรวมกำลังยกลงมากำจัดขุนวรวงศาธิราช แต่สมเด็จพระแก้วฟ้าซ่อนพระราชประสงค์ไว้ไม่มิดชิดโดยยังทรงพระเยาว์ ไปตรัสแสดงความอาฆาตมาดร้ายขึ้นต่อหน้าพรรคพวกขุนวรวงศาธิราช พวกนั้นเก็บความไปบอกขุนวรวงศาธิราช จึงลอบประกอบยาพิษให้พรรคพวกไปวางในพระกระยาหาร สมเด็จพระแก้วฟ้าไม่ทันรู้พระองค์เสวยยาพิษก็สวรรคต ด้วยสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตเสียแล้ว จึงจำยอมให้ประกาศความว่า สมเด็จพระแก้วฟ้าประชวรเปนพระโรคปัจจุบันสวรรคต ฝ่ายข้าราชการโดยมากสงสัยว่า สมเด็จพระแก้วฟ้าจะถูกปลงพระชนม์ แต่ไม่มีหลักฐานที่จะพิศูจน์ให้เห็นจริงได้ ก็ต้องนิ่ง

๑๐เมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์ราชอนุชาอยู่ในที่เปนรัชทายาท แต่ขุนวรวงศาธิราชเคี่ยวเข็ญท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าต้องให้ตนว่าราชการแผ่นดิน จึงจะพ้นภัยอันตราย เพราะการที่เปนชู้กันคนก็รู้ทั่วแล้ว นางเปนสตรี จะเปนผู้ว่าราชการต่อไปอย่างแต่ก่อน เห็นจะป้องกันอันตรายไม่ได้ ท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นชอบด้วย จึงอุบายปรึกษาข้าราชการว่า พระศรีศิลป์พระชันสาได้เพียง ๗ ขวบ กำลังสาละวนแต่จะเล่น กว่าจะว่าราชการบ้านเมืองได้ยังหลายปีนัก หัวเมืองเหนือก็ไม่ปรกติ นางจะรับว่าราชการแผ่นดินอย่างแต่ก่อน เกรงจะไม่ไหว ขอให้ขุนวรวงศาธิราชเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ด้วยมีความสามารถ ทั้งเปนพระญาติวงศกับพระศรีศิป์ พลอจะไว้วางใจได้ ฝ่ายข้าราชการทั้งปวงมิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยอำนาจอยู่ในมือขุนวรวงศาธิราชหมดแล้ว ถ้าขัดขืนก็คงถึงต้องจับกุมฆ่าฟันกัน ไม่มีผู้ใดที่ได้ตระเตรียมจะต่อสู้ อีกประการ ๑ เห็นว่า เหตุทุรยศที่เกิดขึ้นครั้งนั้น จำต้องกำจัดทั้งท้าวศรีสุดาจันทร์แลขุนวรวงศาธิราชผู้เปนต้นเหตุ เมื่อยังไม่มีกำลังที่จะกำจัด ก็ควรจะรอถ่วงเวลาหากำลังต่อไป จึงพร้อมกันยอมตามคำปรึกษาของท้าวศรีสุดาจันทร์

๑๑ฝ่ายขุนวรวงศาธิราชเมื่อเห็นข้าราชการยินยอมพร้อมกันให้ตนสำเร็จราชการแผ่นดิน ก็กำเริบ คิดเห็นต่อไปว่าจะเปนแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อพระศรีศิลป์เติบใหญ่ขึ้นก็คงจะคิดทำร้ายเหมือนอย่างสมเด็จพระแก้วฟ้า จึงว่าแก่ท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าจะต้องเปนพระเจ้าแผ่นดินเองจึงจะได้ ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นว่า ถ้าไม่ยอม ขุนวรวงศาธิราชคงฆ่าพระศรีศิลป์อีกองค์ ๑ จึงว่ากล่าวผ่อนผันเปนการตกลงกันให้ขุนวรวงศาธิราชราชาภิเษก แต่ให้ประดิษฐานพระศรีศิลป์ไว้ในที่รัชทายาท เพราะลูกที่มีด้วยกันก็เปนลูกผู้หญิง จึงให้ตั้งพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชก็ตั้งนายจันบ้านมหาโลกผู้เปนน้องชายให้เปนเจ้าพระยามหาอุปราชหัวหน้าข้าราชการทั้งปวง สำหรับจะได้ตรวจตราระวังเหตุการณ์ต่างหูต่างตา

๑๒ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพกับขุนอินทรเทพที่คิดอ่านการกำจัดขุนวรวงศาธิราชนั้น ได้บอกขึ้นไปยังเจ้าเมืองฝ่ายเหนือที่ไว้วางใจได้ คือ เจ้าเมืองสวรรคโลก แลเจ้าเมืองพิชัย เปนต้น ตั้งแต่สมเด็จพระแก้วฟ้ายังมีพระชนม์อยู่ แต่การยังไม่ทันสำเร็จ สมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตเสียก่อน จึงปรึกษากันต่อมาเห็นว่า ถ้าถวายราชสมบัติแก่พระศรีศิลป์ ยังทรงพระเยาว์ จะต้องมีผู้ว่าราชการแทน เปนช่องทางที่จะเกิดลำบากเหมือนหนหลัง แลที่ไหนพระศรีศิลป์จะยอมให้กำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเปนพระชนนีด้วย จึงตกลงกันว่าจะถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา แลในชั้นนี้ได้ผู้เข้าร่วมคิดอีก ๒ คน คือ หลวงศรียศชาวบ้านลานตากฟ้า แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ในบัดนี้อยู่ในแขวงอำเภอปลา จังหวัดนครไชยศรี) คน ๑ หมื่นราชเสนหา คน ๑ จึงพร้อมกันไปเฝ้าพระเทียรราชาซึ่งทรงผนวชอยู่ณวัดราชประดิษฐาน ทูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดทุรยศ บ้านเมืองจะเปนจลาจล พวกตนคิดจะกำจัดเหล่าร้าย แล้วถวายราชสมบัติเชิญเสด็จเข้าครองแผ่นดินให้ร่มเย็นเปนสุขสืบไป พระเทียรราชาตรัสว่า ที่คิดจะปราบปรามทุรยศทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเปนสุขนั้น ก็เห็นชอบด้วยแล้ว แต่ถ้าถึงฆ่าฟันผู้คน เปนพระ พูดด้วยไม่ได้ พวกทั้ง ๔ คนทูลสัญญาว่าจะไม่ทำการให้มัวหมองแก่พระองค์ พระเทียรราชายังไม่ไว้พระทัย ตรัสว่า การที่คิดเปนการใหญ่โตอยู่ ถ้าไม่สำเร็จ ก็จะพากันล้มตายหมด ควรจะไปเสี่ยงเทียนพิศูจน์เสียก่อน ถ้าเห็นนิมิตต์จะทำการสำเร็จได้ จึงค่อยทำ ทั้ง ๓ คนเห็นชอบด้วย แต่ขุนพิเรนทรเทพคนเดียวไม่ยอมว่า การสำคัญถึงเพียงนั้น จะไปมัวเสี่ยงทาย ถ้าไม่ได้นิมิตต์ จะมิต้องเลิกเสียหรือ ในวันนั้นก็เปนอันไม่ได้เสี่ยงเทียน ครั้นต่อมาพระเทียรราชากับอีก ๓ คนพากันลอบไปเสี่ยงเทียนในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐานในเวลาค่ำวัน ๑ ขุนพิเรนทรเทพไปเห็นเข้าก็ขัดใจ คายชานหมากทิ้งไปโดยกำลังโกรธ มิได้ตั้งใจว่าจะให้ไปถูกสิ่งใด ผเอิญชานหมากปลิวไปถูกเปลวไฟที่เทียนเสี่ยงทายเล่มขุนวรวงศาธิราชดับไป แลในขณะนั้นมีพระสงฆ์องค์ ๑ เข้าไปในพระอุโบสถ เห็นเสี่ยงเทียนกัน อำนวยพรว่า ขอให้สำเร็จดังปราถนาเถิด แล้วออกจากพระอุโบสถหายไป คนทั้ง ๕ เห็นเปนศุภนิมิตต์ ก็มีความยินดี

๑๓เมื่อเสี่ยงเทียนแล้วได้ประมาณ ๑๕ วัน มีใบบอกมาจากเมืองลพบุรีว่า ช้างพลายตัวใหญ่รูปงามเข้ามาติดโขลงหลวง สมุหนายกนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขุนวรวงศาธิราชสั่งว่า ให้ปกโขลงเข้ามายังพะเนียดวัดซอง จะออกไปดูจับเอง ขุนพิเรนทรเทพได้ทราบความนั้น เห็นว่า ดักทำร้ายขุนวรวงศาธิราชในกลางทางเมื่อจะไปดูจับช้าง จะสดวกแลสำเร็จเร็วกว่ารอกองทัพหัวเมืองเหนือยกลงมา จึงคิดกันกับขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ หมื่นราชเสนหา เตรียมสมัคพรรคพวกพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธลงเรือคนละลำ ขุนพิเรนทรเทพ หลวงศรียศ หมื่นราชเสนหา ออกเรือแต่ดึก ไปซุ่มอยู่ในคลองบางปลาหมอ ขุนอินทรเทพวันนั้นเปนเวรตามเสด็จ ก็เอาเรือมาเข้ากระบวร แลให้หมื่นราชเสนานอกราชการ ซึ่งมาเปนสมัคพรรคพวกอีกคน ๑ ปลอมเปนทนายเลือกที่ตั้งจุกช่องในทางเสด็จไปคอยดักยิงนายจันอุปราชในเวลาที่จะคอยเฝ้าณพะเนียด

ครั้นถึงวันกำหนด พอเวลารุ่งเช้า ขุนวรวงศาธิราชพาท้าวศรีสุดาจันทร์กับพระศรีศิลป์ลงเรือพระที่นั่งจะไปยังพะเนียด พอกระบวรพ้นปากคลองสระบัวไปได้หน่อยหนึ่ง ขุนพิเรนทรเทพ กับหลวงศรียศ หมื่นราชเสนหา ก็ให้พายเรือฝ่ากระบวรเข้ามาสะกัดทางเข้าหน้าเรือที่นั่ง ส่วนขุนอินทรเทพก็แซงเรือขึ้นไปทางข้างหลัง ต่างขึ้นเรือที่นั่งช่วยกันกลุ้มรุมฆ่าขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ตายในที่นั้นทั้ง ๒ คน แล้วขุนพิเรนทรเทพจึงร้องประกาศว่า จะกำจัดแต่คนร้าย ใครเปนคนดีมีความซื่อตรงต่อพระราชวงศ จงสงบอยู่ หาประสงค์จะทำอันตรายไม่ พวกข้าราชการที่ไปในกระบวรเสด็จก็ไม่มีผู้ใดต่อสู้ ที่กลับยินดีด้วยก็มาก ขุนพิเรนทรเทพจึงสั่งให้เอาศพคนทั้ง ๒ ไปเสียบประจานไว้ณวัดแร้ง แล้วให้กลับกระบวรพาพระศรีศิลป์มายังพระราชวัง สั่งให้กำจัดธิดาขุนวรวงศาธิราชที่มีด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์เสียด้วยอีกคน ๑ แลขณะนั้นได้ความว่า หมื่นราชเสนหานอกราชการยิงอุปราชจันตายสมปราถนา ก็ให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้งด้วยกันทั้งหมด

๑๔เมื่อเสร็จกำจัดคนร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินแล้ว ขุนพิเรนทรเทพจึงสั่งให้เรียกข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาประชุมพร้อมกัน ต่างก็มาด้วยความยินดี ขุนพิเรนทรเทพจึงชักชวนให้พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา ข้าราชการก็เห็นชอบด้วยโดยมาก มิได้มีผู้ใดโต้แย้ง เสนาบดีผู้ใหญ่จึงไปทูลอัญเชิญพระเทียรราชาให้ลาผนวช แล้วจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปรับเสด็จเข้ามาประทับที่ในพระราชวัง แล้วตั้งพิธีราชาภิเษกถวายพระนามพระเทียรราชาว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเสวยราชย์นั้น พระชันสาราว ๔๐ ปี

๑๕ขณะนั้นพระยาโองเจ้าเมืองสวรรคโลกกับพระยาพิชัยคุมกำลังหัวเมืองเหนือลงมา หมายจะมากำจัดขุนวรวงศาธิราช มาถึงกลางทาง ได้ทราบว่า ขุนพิเรนเทรพกำจัดสำเร็จแล้ว แลถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา ต่างก็ยินดี พากันเข้ามาเฝ้า

๑๖สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดให้พระราชครูทั้ง ๔ ปรึกษาความชอบพวกที่ได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ แล้วพระราชทานบำเหน็จโดยอันดับกัน คือ

(๑)สถาปนาขุนพิเรนทรเทพให้เปนเจ้าขันธสิมาครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา ครองหัวเมืองเหนือ ๗ หัวเมืองซึ่งเคยเปนมณฑลราชธานีครั้งพระร่วงนั้น แลพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์ราชธิดาพระองค์ใหญ่ให้เปนมเหษี

(๒)ตั้งขุนอินทรเทพเปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช

(๓)ตั้งหลวงศรียศเปนเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม

(๔)ตั้งหมื่นราชเสนหาเปนเจ้าพระยามหาเทพ

(๕)ตั้งหมื่นราชเสนาหนอกราชการเปนพระยาภักดีนุชิต

(๖)เลื่อนพระยาพิชัยเปนเจ้าพระยา

(๗)พระยาโองเจ้าเมืองสวรรคโลกนั้นเปนเจ้าอยู่แล้ว (เห็นจะพระราชทานบำเหน็จอย่างอื่น) แล้วให้กำลังไปตีกรุงกัมพูชา

เรื่องพงศาวดารตอนพระเทียรราชาได้ราชสมบัติ ว่าตามทางวินิจฉัย เข้าใจว่าจะเปนดังกล่าวมาในตอนนี้