อธิบายเรื่องธงไทย (2476)/เรื่อง
๑.ตามที่สืบสวนได้ความว่า แต่โบราณมา เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ใช้ธงสีต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายสำหรับกองทัพกองละสี ใช้ในเวลาเมื่อจัดกองทัพไปทำสงคราม ส่วนเรือกำปั่นเดินทะเล ใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องหมาย ยังหามีธงชาติอย่างเช่นเข้าใจกันทุกวันนี้ไม่
๒.ถึงรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร ระวาง พ.ศ. ๒๓๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๖ เมื่ออังกฤษตั้งสถานีการค้าที่เมืองสิงคโปร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯ ให้สร้างเรือกำปั่นหลวงขึ้น ๒ ลำสำหรับการค้าของรัฐบาล คือหาเครื่องสัตราวุธเป็นต้น ไปมาในระวางกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์และเมืองมาเก๊า เรือทั้ง ๒ ลำนั้นก็ชักธงแดง อังกฤษเจ้าเมืองสิงคโปร์บอกให้นายเรือเข้ามากราบทูลว่า เรือทะเลของพวกชะวามะลายูที่ไปค้าขายณเมืองสิงคโปร์ก็ชอบชักธงแดงเหมือนกัน ขอให้พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามใช้ธงอย่างอื่นเสีย จะได้จัดการรับรองเรือหลวงได้สะดวก ในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ช้างเผือกไว้ ๓ ตัว ซึ่งนับถือในประเพณีไทยว่าเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง จึงโปรดฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดง หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก (รูปช้างอยู่ในวงจักรได้เอามาใช้เป็นตราด้านหลังเงินเหรียญครั้งรัชชกาลที่ ๔) แต่ธงตราช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวง เรือพ่อค้าไทยยังใช้ธงแดงอยู่อย่างเดิม
๓.ถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตก มีเรือกำปั่นชาวยุโรปและอะเมริกาเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ กงสุลต่างประเทศก็เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เขาชักธงชาติของเขา ความจำเป็นที่จะต้องมีธงชาติของสยามเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ใช้ธงช้างที่ประดิษฐขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๒ เป็นธงชาติ แต่ให้เอารูปจักรออกเสีย ด้วยจักรเป็นเครื่องหมายฉะเพาะสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ให้คงแต่มีรูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แล้วทรงประดิษฐธงขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า ธงมหามงกุฎ สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นธงสีแดงเหมือนธงชาติ แต่มีพื้นสีขาบอยู่กลาง ในพื้นสีขาบนั้นมีรูปพระมหามงกุฎอยู่กลาง กับฉัตร ๒ ข้าง เป็นสีเหลือง อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ธงไอยราพต" พื้นแดงเหมืองธงชาติ มีรูปช้าง ๓ เศียรสีขาวผูกเครื่องยืนแท่น มีบุษบกตั้งบนหลังช้าง และมีรูปฉัตรตั้งข้างหน้าและข้างหลังข้างละ ๔ คันอยู่กลางธง สำหรับรัฐบาลสยาม
๔.ถึงรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ตั้งพระราชบัญญัติแบบอย่างธงขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในราชการ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมต่อมาจนถึงรัชชกาลที่ ๖ ดังจะกล่าวต่อไปตามลำดับหมวดของธง คือ
ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีโล่ห์ตราแผ่นดินภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ และมีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง (อย่างธงพระมหามงกุฎประจำพระองค์รัชชกาลที่ ๔) ในโล่ห์ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตสามเศียรพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวานั้นเป็นรูปช้างเผือกพื้นชมภู เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้นเป็นรูปกฤชคดและตรง ๒ อันไขว้กันพื้นแดง บอกสัญญานามมะลายูประเทศ และมีแท่นรองโล่ห์และเครื่องสูง ๗ ชั้นพื้นเหลือง รวมสัญญานามที่หมายเหล่านี้ทั้งสิ้นจึงเป็นบรมราชธวัชมหาสยามินทรสำหรับใช้ในเรือพระที่นั่งและชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯ ให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "ธงมหาราช" ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้าง
ธงมหาราชใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับใช้ประจำพระองค์ เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนนั้น หรือชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ณที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ให้ชักธงมหาราชใหญ่ขึ้นไว้ที่ยอดเสาใหญ่เป็นเครื่องหมาย
ในคราวเดียวกันนี้ ได้ทรงสร้างธงประจำพระองค์ขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่าง ๑ เรียกว่า
ธงมหาราชน้อย เป็นคู่กับธงมหาราชใหญ่ ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร และมีชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างกลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดเช่นธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ
อีกอย่าง ๑ เรียกว่า "ธงพระกระบี่ธุชและธงพระครุฑพาหะน้อย"
ธงกระบี่ธุชนั้นมีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าแดง และธงพระครุฑพาหะมีรูปครุฑสีแดงพื้นผ้าเหลือง โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ คราวเสด็จไปสมโภชพระปฐมเจดีย์และพระราชมณเฑียรณพระที่นั่งสยามจันทร จังหวัดนครปฐม ราษฎรขุดได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ ๑ รูปครุฑ ๑ คู่กัน เป็นของประจำธงชัยสำหรับกษัตริย์แต่โบราณ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร (ชม สุนทราชุน) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดฯ ให้ประกอบเป็นธงพระกระบี่ธุชและธงพระครุฑพาหะน้อย สำหรับนายทหารเชิญนำเสด็จพระราชดำเนิรโดยกระบวนราบ ธงกระบี่ธุชไปข้างขวา ธงพระครุฑพาหะไปข้างซ้าย หรือเสด็จพระราชดำเนิรโดยกระบวนรถพระที่นั่ง มีนายทหารเชิญขึ้นม้านำหน้าข้างขวาและข้างซ้ายอย่างกระบวนราบ
ธงราชินี พื้นนอกสีแดง กว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งสีขาบ กว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายที่ในพื้นสีขาบเหมือนกับธงมหาราช (รัชชกาลที่ ๕) เป็นเครื่องหมายในพระองค์พระอัครมเหษี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระอัครมเหษีได้เสด็จโดยพระราชอิสสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้สร้าง
ธงราชินีใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ เป็นเครื่องหมาย⟨ป⟩ระจำพระองค์สมเด็จพระราชินี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่เรือพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระราชินีได้เสด็จโดยพระราชอิสสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จในเรือลำนั้น และทรงสร้าง
ธงราชินีน้อย ขนาดและส่วนเหมือนกับธงมหาราชน้อย ต่างกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงราชินีใหญ่ สำหรับประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่โปรดฯ ให้ใช้ธงราชินีน้อยนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ
ธงเยาวราชธวัชสำหรับราชตระกูลนั้น เหมือนอย่างธงบรมราชธวัช พื้นสีแดง กลางมีโล่ห์ตราแผ่นดินและจักรี ยกแต่มหาพิชัยมงกุฎ เครื่องสูง แท่น และพื้นน้ำเงินเท่านั้น สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบและเรือพระที่นั่งซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นได้เสด็จไปโดยราชอิสสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายว่า ราชตระกูลนั้นอยู่บ⟨น⟩เรือพระที่นั่งลำนั้น ธงเยาวราชนี้ ฉะเพาะใช้ได้แต่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศกรมสมเด็จ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีราชอิสสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเพลาและยิงสลุต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธิปตัย ธงชัยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายคำนับ เป็นเกียรติยศ ราชตระกูลนอกนั้น ถ้ามีราชการ ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อน จึงจะใช้ได้
ธงนี้ได้ใช้ต่อมถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯ ให้เลิก และทรงสถาปนาธงเยาวราชขึ้นใหม่ พื้นสีขา⟨บ⟩ กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน เครื่องหมายกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช เว้นแต่เครื่องสูง ๒ ข้าง โล่ห์เป็น ๕ ชั้น ใช้เป็นธงเครื่องหมายฉะเพาะพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบลำใดลำหนึ่งซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร เสด็จโดยพระราชอิสสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฎว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้เปลี่ยนธงเยาวราชเป็นธงเยาวราชใหญ่ สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช พื้นนอกสีขาบ กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน พื้นในสีเหลือง กว้างยาวกึ่งส่วนของพื้นนอก ที่ศูนย์กลางพื้นในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดซึ่งสมเด็จพระเยาวราชเสด็จโดยอิสสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฎว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น และทรงสร้าง
ธงเยาวราชน้อยเพิ่มขึ้นสำหรับใช้เป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช คือ ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนธงเยาวราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซ็นติเมตร มีชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว สำหรับใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ
ธงพระวรราชชายาแห่งพระเยาวราช พื้นสีขาบ มีรูปเครื่องหมายเหมือนกับธงเยาวราช แต่ตัดชายเป็นแฉก รูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับพระองค์พระวรชายาแห่งมกุฎราชกุมาร
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ทรงสร้าง
ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ เหมือนกับธงเยาวราชใหญ่ แต่ตัดชายเป็นแฉก รูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับประจำพระองค์พระวรชายาแห่งพระเยาวราช และได้ทรงสร้าง
ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย เหมือนกับธงเยาวราชน้อย ผิดกันแต่ชายเป็นสีแด⟨ง⟩ สำหรับใช้แทนธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวาย
ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กลางมีโล่ห์ตราแผ่นดิน เบื้องบนแห่งโล่ห์มีรูปจักรไขว้กัน และมีมหามงกุฎสวมบนจักรี กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน สำหรับชักบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดซึ่งพระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งเสด็จโดยอิสสริยยศทางราชการ พระราชวงศ์ผู้ซึ่งจะใช้ธงนี้ ได้ฉะเพาะแต่พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีอิสสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนบนเพลาใบ และทหารบกยืนแถวคลี่ธงชัย แตรทำเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายคำนับเป็นเกียรติยศ พระราชวงศ์อันมีอิสสริยยศต่ำกว่านั้น นับว่าเป็นพระราชวงศ์ผู้น้อย ถ้ามีราชการไป ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อน จึงจะใช้ธงนี้ได้
ถึงรัชชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้สร้าง
ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีวงกลมสีเหลือง เส้นตัดศูนย์กลางวงกลม มีขนาดเท่ากึ่งส่วนกว้างของธง ภายในวงกลมมีรูปครุธพ่าห์สีแดง ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชชกาลใด ๆ เสด็จในเรือนั้นโดยพระอิสสริยยศ และทรงสร้าง
ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซ็นติเมตร มีชายธงสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงมีขนาดกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ในขณะใช้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวาย
ธงราชวงศ์ฝ่ายใน พื้นสีขาบ รูปเครื่องหมายภายในธงเหมือนกับธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ สำหรับพระราชวงศ์ฝ่ายใน
ถึงรัชชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้เปลี่ยนเครื่องหมายภายในธงราชวงศ์ฝ่ายในเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชชกาลใด ๆ เสด็จในเรือนั้นโดยพระอิสสริยยศ และทรงสร้าง
ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน เหมือนกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน ในเวลาที่ใช้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงจุฑาธุชธิปตัย คือ ราชธวัชสำหรับรัฐบาลสยาม พื้นที่แดง มีรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น มีบุษบกและเครื่องสูง ๗ ชั้น ๔ องค์ ในกลางบุษบกมีอักษร จ ป ร (จุฬาลงกรณบรมราชาธิราช) ไขว้กัน เป็นพระนามาภิธัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีจุลมงกุฎ นัยหนึ่งว่าพระเกี้ยวยอด อยู่บนอักษรพระนาม (ที่หมายพระนามาภิธัยในบุษบกนั้นเปลี่ยนตามรัชชกาล) สำหรับใช้ชักขึ้นในพระนครเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และใช้เป็นราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่า ทหารกรมต่าง ๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนิรในกองนั้น ต้องใช้ธงนี้เป็นเครื่องหมายสำคัญแทนพระองค์ หรือเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จหรือเจ้านายต่างประเทศให้เป็นเกียรติยศ ธงนี้ใช้ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงโปรดฯ ให้กลับใช้ธงสำหรับรัฐบาลสยามอย่างรัชชกาลที่ ๔ และให้เรียกนามว่า “ธงไอยราพต”
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงสถาปนาธงแผ่นดินเพิ่มขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า
ธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางมีพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธ มีฉัตร ๕ ชั้นสองข้าง เหตุที่สร้างธงนี้ ทรงพระราชปรารภว่า รูปครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองของโบราณที่ขุดได้ณตำบลโคกพระในดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจิณบุรี ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมุรพงศศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจิณ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อเสด็จถึงเมืองปราจิณในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น เป็นโบราณวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่า จะเป็นยอดธงสำหรับนำทัพของพระราชาธิบดีในสมัยโบราณ การที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ก็นับว่าเป็นสิ่งประกอบด้วยสวัสดิมงคล และธงจุฑาธุชธิปตัยอันเป็นธงสำคัญสำหรับประจำกองทัพบกนั้น ในรัชชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนากได้โปรดฯ ให้สร้างขึ้นและบรรจุเส้นพระเจ้าแล้วพระราชทานไว้เพื่อประจำกองทัพบกสืบมาเป็นประเพณีอันดีงาม สมควรที่จะทรงปฏิบัติตามเยี่ยงสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดฯ ให้ซ่อมแซมครุฑโบราณนั้นให้งดงามเพื่อติดบนยอดคันธง และโปรดฯ ให้ปักธงเป็นลายอย่างพระราชลัญจกรประจำพระองค์บนพื้นดำทับบนพื้นแดงอีกชั้นหนึ่ง พระราชทานนามว่า “ธงมหาไพชยนต์ธวัช” ตามนามแห่งธงท้าวอมรินทราธิราช ซึ่งได้ใช้นามเทพเสนาไปปราบอสูรเหล่าร้ายพ่ายแพ้แต่พระบารมี ใช้เป็นธงสำคัญประจำกองทัพบกเพิ่มเข้าอีกธงหนึ่งอย่างธงจุฑาธุชธิปตัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ธงประจำกองทัพบก พื้นแดง ขอบมีจักรสีขาวสามด้าน กลางเป็นรูปตราแผ่นดิน โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้พระราชทานแก่กองทหารซึ่งจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็นนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งแม่ทัพ ได้ใช้ธงนี้นำทัพไปปราบฮ่อซึ่งเข้ามาก่อการจลาจลในเขตต์หัวพันห้าทั้งหกและสิบสองปันนาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ภายหลังพระราชทานนามธงนี้ว่า “จุฑาธุชธิปตัย” ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดฯ ให้สร้างธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธ มีเครื่องสูง ๕ ชั้น ข้างละ ๑ องค์ ดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน ก็ไม่ได้เลิกถอนธงจุฑาธุชธิปไตย ยังคงใช้ต่อมา
ธงประจำกองทหารบก โปรดให้สร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๔ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้างดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์ ใช้เป็นธงประจำกองทหารพระองค์ปืนทองปราย ซึ่งได้มีอยู่แล้วแต่ในรัชชกาลที่ ๓ กอง ๑ กองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม ซึ่งได้ตั้งขึ้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ กอง ๑ กองทหารหน้าซึ่งได้ตั้งขึ้นในคราวเดียวกันนี้ กอง ๑ กองทหารปืนใหญ่ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ กอง ๑ กองทหารล้อมวังซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ กอง ๑ และกองทหารอย่างยุโรปซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ กอง ๑ รวม ๖ กอง ใช้ในเวลาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระนคร แต่ถ้ามิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครแล้ว ถ้ากองทหารมีการจำเป็นที่จะต้องใช้ธงประจำกอง โปรดฯ ให้ใช้ธงสำหรับแผ่นดินรูปช้างไอราพตสามเศียรทรงเครื่องยื⟨น⟩แท่นหันหน้าไปข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมภายในตั้งอยู่บนหลัง มีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่หน้าหลังข้างละ ๒ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน เป็นธงประจำกองแทนธงสำหรับพระองค์
ถึงรัชชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้เปลี่ยนธงสำหรับประจำพระองค์ใหม่ ใช้ธงพื้นนอกแดง พื้นในสีขาบ กลางเป็นรูปโล่ห์ตราแผ่นดิน มีจักรไขว้กันอยู่บนโล่ห์ มหาพิชัยมงกุฎสวมอยู่บนจักรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์แทน ส่วนธงสำหรับแผ่นดินคงใช้ธงไอราพตอย่างรัชชกาลที่ ๔ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดฯ ให้เปลี่ยนตราธงประจำกองทหารบกต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเวลานั้น เป็นธงตราแผ่นดินบนพื้นผ้าแดง แทนธงประจำพระองค์และธงสำหรับแผ่นดิน ได้พระราชทานแก่กองทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ คือ กองทหารม้าใน (ม้าหลวง) ๑ กองทหารปืนใหญ่นอก (ปืนใหญ่หลวง) ๑ กองทหารราบในมหาดเล็ก ๑ กองทหารราบนอกรักษาพระองค์ ๑ กองทหารราบนอกล้อมวัง ๑ กองทหารราบนอกฝีพาย ๑ รวม ๖ กอง
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อทำการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก โปรดฯ ให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีอักษรพระบรมนามาภิธัยย่อ จ. สีเหลืองแก่ ป. สีน้ำเงิน ร. สีแดง และมีรัศมีและจุลมงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบน เป็นธงประจำกองทหารบกกรมต่าง ๆ รวม ๑๒ กอง
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีอักษรพระบรมนามาภิธัยย่อ ว.ป.ร. สีน้ำเงิน มีรัศมีและมหาพิชัยมงกุฎเบื้องบนสีเหลือง ได้พระราชทานแก่ทหารบกกองต่าง ๆ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ธงจอมทัพบก มีรูปคทาและพระแสงกระบี่ไขว้กัน มีจักรและมหาพิชัยมงกุฎสีขาวบนพื้นแดง สร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ สำหรับตำแหน่งจอมทัพบก
ธงราชทูต ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีโล่ห์ตราแผ่นดิน และมีจักรมงกุฎ สำหรับราชทูตประจำต่างประเทศและข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่ได้รับราชการนั้นอยู่ในสถานตำแหน่งผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนรัฐบาลจึงจะใช้ได้ เป็นที่หมายยศของผู้ที่รับราชการนั้น ชักขึ้นเสาหน้า
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้เปลี่ยนรูปโล่ห์ตราแผ่นดินและจักรีมงกุฎในธงราชทูตเป็นรูปครุฑกางกรมีมหามงกุฎในวงกลม
ธงกงสุลสยาม ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีโล่ห์ตราแผ่นดิน สำหรับตำแหน่งกงสุลสยามประจำต่างประเทศ ในคราวเดียวกับที่โปรดฯ ให้เปลี่ยนเครื่องหมายในธงราชทูตนั้น ก็ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนเครื่องหมายในธงกงสุลเป็นรูปครุฑกางกรในวงกลมด้วย
ธงผู้ว่าราชการเมือง ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าแดง ที่มุมธงข้างบนมีวงกลมขาวโต ๑ ใน ๔ ส่วนของด้านกว้างแห่งธงนั้น ในกลางวงกลมมีตราตำแหน่งของผู้ที่ไปราชการนั้น
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ โปรดฯ ให้ใช้ธงนี้สำหรับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มีเครื่องหมายในวงกลมเป็น ๕ ช่อง ช่องบนรูปปราสาท ภายในมีพานแว่นฟ้ารองสังข์ทักษิณาวัฏ หลังปราสาทมีรูปต้นหมัน ช่องกลางข้างขวารูปอ่างทอง ข้างซ้ายรูปเขาแก้ว ช่องล่างข้างขวารูปสิงห์หมอบบนแท่น ข้างซ้ายรูปศร ๓ เล่ม ถ้าเป็นผู้ว่าราชการเมือง ก็ให้ใช้ตรานามเมืองนั้น ๆ ในวงกลมด้วย
ธงเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ พื้นสีขาบ กลางมีรูปสมอไขว้กับจักรสีเหลือง ข้างบนมีมหามงกุฎ โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับตัวเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อชักขึ้นบนเสาในเรือลำใด ให้พึงเข้าใจว่าเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น ถ้าและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระอัครมเหสีก็ดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมงกุฎราชกุมารก็ดี ได้ประทับอยู่ในเรือหลวงลำหนึ่งลำใดอันได้ชักธงมหาราช ธงราชินี หรือธงเยาวราชขึ้นไว้บนเสาใหญ่ และได้ชักธงเสนาบดีไว้บนเสาหน้าด้วยแล้ว ก็ให้เจ้าหน้าที่ในเรือรบและป้อมทั้งปวงยิงสลุตตามประเพณี ถ้ามีแต่ธงมหาราช หรือธงราชินี หรือธงเยาวราช ชักขึ้นบนเสาใหญ่ ไม่มีธงเสนาบดีบนเสาหน้า ห้ามการยิงสลุตทุกหน้าที่
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นเครื่องหมายสำหรับตัวเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ชักขึ้นไว้ณที่ทำการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และใช้ชักขึ้นที่ยอดเสาใหญ่ในเรือ เป็นเครื่องหมายว่าเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น และในเวลาที่ชักธงมหาราชใหญ่หรือธงราชินีใหญ่ขึ้นที่เสาใหญ่เรือลำใด ให้ชักธงเสนาบดีนี้ขึ้นที่เสาหน้าเรือลำนั้นด้วยเสมอไป
ธงจอมพลเรือ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนผ้าสีขาบ ข้างหน้าช้างมีรูปสมอไขว้ ๒ ตัว กับมหามงกุฎสีเหลือง ทรงสร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดฯ ให้ใช้สำหรับหมายตำแหน่งยศจอมพลเรือ ถ้าใช้ในเรือใหญ่ ให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่
ธงเกตุ เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าสีขาบ สำหรับหมายยศแม่ทัพเรือ ตำแหน่งนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่ ตำแหน่งนายพลเรือโท ชักขึ้นที่เสาหน้า ตำแหน่งนายพลเรือตรี ชักขึ้นที่เสาท้าย ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯ ให้เรียกว่า “ธงฉาน” สำหรับนายพลเรือเอก ชักขึ้นบนเสาใหญ่ สำหรับนายพลเรือโท เพิ่มรูปจักรสีขาวที่มุมธงข้างหน้าช้างจักร ๑ ชักขึ้นบนเสาหน้า สำหรับนายพลเรือตรี เพิ่มจักรสีขาวข้างมุมบนมุมล่างหน้าช้าง ๒ จักร ชักขึ้นบนเสาหลัง หรือถ้าเป็นเรือ ๒ เสา ชักขึ้นบนเสาหน้า
ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้ใช้ธงพื้นสีขาบ กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหน้าเข้าข้างเสาไม่มีจักร เรียกว่า “ธงฉาน” สำหรับชักหน้าเรือหลวงทั้งปวง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบในขณะที่อยู่ในราชการ ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว และใช้เป็นธงประจำกองสำหรับกองทหารเรือเวลาขึ้นบกด้วย
ส่วนธงฉานที่มีจักร เรียกว่า “ธงนายพลเรือ” ไม่มีจักรสำหรับยศนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่ มีจักรดวง ๑ ข้างมุมบนสำหรับยศนายพลเรือโท ชักขึ้นเสาหน้า มีจักร ๒ จักรข้างมุมบนและมุมล่างสำหรับยศนายพลเรือตรี ถ้าเรือ ๓ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้า ๒ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดฯ ให้แก้ธงชาติเป็นพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา สำหรับใช้เป็นธงราชการ ส่วนธงค้าขายใช้สำหรับสาธารณะชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาวส่วนครึ่ง มีแถบขาว ๒ แถบ กว้าง ๑ ใน ๖ ส่วนของธง ทาบภายในติดตามยาว ห่างจากขอบล่างและบน ๑ ใน ๖ ส่วนของส่วนกว้างแห่งธง ได้ใช้อยู่หนึ่งปี ถึงพ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระราชดำริว่า ธงชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่งให้เป็น ๓ สี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้อยู่โดยมากนั้น และสีน้ำเงินก็เป็นสีประจำพระชนมวารฉะเพาะพระองค์ด้วย จึงโปรดฯ ให้แก้ธงชาติสยามเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธง ข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ให้เรียกนามว่า “ธงไตรรงค์” สำหรับใช้ชักขึ้นในเรือพ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณะชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้ยกเลิก
ในคราวเดียวกันนี้ ได้โปรดฯ ให้แก้ธงฉานเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีรูปสมอไขว้กับจักร และมีรูปพระมหามงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบนตรงกลางพื้นธงด้วย
ธงหางแซงแซว ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายหางแซงแซวนั้นมีสีขาบ สำหรับหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ตำแหน่งยศนายพลเรือโทมีจักร ๓ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือตรีมีจักร ๒ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือจัตวามีจักรดวง ๑ ชักขึ้นที่เสาใหญ่
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯ ให้ใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวแทน เรียกว่า ธงหางแซงแซว สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่านายพลเรือจัตวาอยู่ในเรือนั้น ใช้ต่อมาจนถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯ ให้สร้างธงนายพลเรือเหมือนกับธงฉาน เป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่ ถ้าและธงนี้มีรูปจักรสีขาวจักร ๑ อยู่ที่มุมบนข้างหน้าช้าง เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือโท ถ้ามี ๒ จักร เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือตรี ธงนายพลเรือโทถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ส่วนนายพลเรือตรีนั้น ถ้าเป็นเรือ ๓ เสา ให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้าเป็นเรือ ๒ เสา ให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ถ้านายพลเรือจัตวา ให้คงใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวเป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศ ถ้าใช้ในเรือ ให้ชักขึ้นบนเสาหลัง
ธงหางจรเข้ ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายสีขาบ ยาว ๓๐ ฟิต กว้าง ๖ นิ้ว สำหรับใช้ในเรือรบ เป็นที่หมายตำแหน่งผู้บังคับการ มีจักร ๔ ดวงสำหรับนายเรือเอก ๓ ดวงสำหรับนายเรือโท ๒ ดวงสำหรับนายเรือตรี ดวง ๑ สำหรับนายเรือจัตวา
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯ ให้ใช้ธงหางจรเข้ไม่มีรูปจักรสำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายฉะเพาะนายเรือ ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เรียกว่า “ธงนายเรือ” สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายฉะเพาะนายเรือ
ธงผู้ใหญ่ ข้างต้นกว้าง ๑๔ นิ้ว ยาวศอกคืบ เรียวปลายแหลม ส่วนหนึ่งข้างต้นพื้นสีขาบ สองส่วนข้างปลายพื้นสีขาว มีจักรสีขาวอยู่กลางพื้นสีขาบ ทรงสร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับใช้กับธงหางจรเข้เมื่อเรือหลวงทอดอยู่นอกพระมหานครตั้งแต่ ๒ ลำขึ้นไป อันได้ชักธงหางจรเข้ขึ้นไว้บนเสาใหญ่ทุกลำ ถ้าลำใดชักธงนี้ขึ้นบนเสา เป็นที่หมายว่านายเรือผู้ใหญ่อยู่ในเรือลำนั้น
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับนายทหารผู้ใหญ่ในกระบวนเรือซึ่งอยู่ในลำนั้น เว้นไว้แต่ถ้านายทหารผู้ใหญ่เป็นนายพล จึงให้ใช้ธงนายพลตามตำแหน่งยศ
ธงนำร่องของกรุงสยาม เป็นรูปช้างเผือกเปล่า พื้นแดง ขอบนอกขาวทั้ง ๔ ด้าน สำหรับชักบอกเป็นที่หมาย ชักขึ้นในที่ใด นำร่องอยู่ที่นั้น ถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โปรดฯ ให้แก้ไขธงนำร่องเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีขอบขาวโดยรอบ เป็นเครื่องหมายตำแหน่งพนักงานนำร่อง ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาหน้าเป็นสัญญา และโปรดฯ ให้ทรงสร้าง
ธงราชนาวีขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนี้ มีลักษณะเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีวงกลมสีแดงอยู่กลาง ขอบจดแถบสีแดงของพื้นธง ภายในดวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักขึ้นที่ท้ายเรือและสถานที่ราชการต่าง ๆ ของราชนาวีด้วย
ส่วนธงตำแหน่งราชการสำหรับหน้าที่กระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้น ก็โปรดฯ ให้เปลี่ยนพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ แต่ต้องเติมเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดลงที่กลางธงเป็นสำคัญ เจ้าพนักงานกรมใดจะใช้เครื่องหมายธงนั้นเป็นอย่างไร ต้องแจ้งความให้กระทรวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพระราชบัญญัติธงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน จึงจะใช้ได้