ผนวก ค.
บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร
และระบอบประชาธิปไตย
โดย
นายปรีดี พนมยงค์
24 มิถุนายน 2515

“1.การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ “Rue du Sommerard” ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน คือ

(1)ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6

(2)ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส

(3)ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส

(4)นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1

(5)หลวงสิริราชไมตรี นามเดิม จรูญ นามสกุล สิงหเสนี ผู้ช่วยสถานฑูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และเป็นนายสิบตรีในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1

(6)นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ

(7)ข้าพเจ้า

ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธาน และเป็นหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป

การประชุมดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 5 วัน ซึ่งได้ตกลงสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ก.วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายถอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ revolution ดังนั้น เราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

(1)รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2)รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก

(3)บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4)ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

(5)ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวแล้ว

(6)ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ข.โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้น เราจึงเห็นว่า วิธีเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี coup d’état ซึ่งเราเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า “รัฐประหาร” เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า fait accompli คือ พฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว

ค.ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบ พิจารณาตัวบุคคลแล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น

ในชั้นแรก ให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ 2 คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป

ง.การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้นต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้น จึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบปกครองดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ

ดี 1.ได้แก่ บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่า ผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้แต่เนิ่น ๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจ มิให้ถือเพียงแต่ว่า บุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็จะชวนเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่ให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลก และอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่าง แต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้ว กุมสติไว้ไม่อยู่ แล้วพูดเลอะเทอะ ก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนเข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ แต่เมื่อยึดอำนาจได้ในวันที่ 24 มิถุนายนแล้ว ไม่มีความลับที่จะปิดบัง จึงชวนให้ร่วมมือได้

ดี 2.ได้แก่ บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้

ดี 3.ได้แก่ บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ

จ.นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก 6 ประการซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอ รวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงการเศรษฐกิจ และได้มอบให้ข้าพเจ้าเตรียมร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป

ฉ.ที่ประชุมได้พิจารณาเผื่อไว้ว่า ถ้าการกระทำของคณะราษฎรต้องถูกปราบหรือพ่ายแพ้ ก็ขอให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่เรากันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมคณะรรมการหัวหน้าสายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฝรั่งเศสหรือเมื่อกลับสยามแล้ว โดยบำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้นต่อไปให้สำเร็จ พร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา

เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้นแล้ว เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไป อีกประมาณ 2–3 เดือน เพื่อนที่ยังอยู่ปารีสได้ชวนนายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาเกษตร และนายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีส ซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลสามในไทย ที่รู้จักกันในนามว่า “ครูฟา” ต่อมานายแช่มเปลี่ยนนามสกุลว่า “พรหมยงค์” คล้าย ๆ นามสกุลข้าพเจ้า) ต่อมาได้ชวน ร.ต. สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์กที่มาเยือนปารีส ต่อมาพระยาทรงสุรเดชได้มาดูงานทหารในฝรั่งเศส เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสจึงลองทาบทามว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อระบบสมบูรณาฯ ก็ได้ความว่า ไม่พอใจระบบนั้น แต่ยังมิได้ถูกชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร ต่อจากนั้นเพื่อนที่ก่อตั้งในคณะราษฎรที่ปารีสก็ทยอยกันกลับสยาม ค่อย ๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนากันเพียงเคร่า ๆ มิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น ฉะนั้น ต่อมาในสยาม จึงได้ชวน ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอน์แลนด์, ม.ล. กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ และเพื่อนทหารบก ทหารเรือ พลเรือน คนอื่น ๆ ในสยามในปลาย พ.ศ. 2474 จึงได้ชวนพระพยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเณย์ และมอบให้พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร”. . . . . . . . . .