เรื่องตำนานพระโกษฐ์แลหีบศพบันดาศักดิ์
พระโกษฐ์ที่ทรงพระบรมศพแลพระศพเจ้านาย กับโกษฐ์ที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบันดาศักดิ์สูง ซึ่งมีอยู่เวลานี้ ๑๔ อย่าง เรียงโดยลำดับยศเปนดังนี้
๑พระโกษฐ์ทองใหญ่
๒พระโกษฐ์ทองรองทรง นับเสมอพระโกษฐ์ทองใหญ่
๓พระโกษฐ์ทองเล็ก
๔พระโกษฐ์ทองน้อย
๕พระโกษฐ์กุดั่นใหญ่
๖พระโกษฐ์กุดั่นน้อย
๗พระโกษฐ์มณฑปใหญ่
๘พระโกษฐ์มณฑปน้อย
๙พระโกษฐ์ไม้สิบสอง
๑๐พระโกษฐ์พระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า โกษฐ์ลังกา
๑๑โกษฐ์ราชินิกูล
๑๒โกษฐ์เกราะ
๑๓โกษฐ์แปดเหลี่ยม
๑๔โกษฐ์โถ
เรื่องตำนานพระโกษฐ์ทั้งปวงนี้ มีปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารบ้าง ต้องสันนิษฐานเอาบ้าง มีเนื้อความดังแสดงต่อไปนี้ เรียงลำดับตามสมัยที่สร้าง
ที่๑โกษฐ์แปดเหลี่ยม มีอยู่ ๔ โกษฐ์ด้วยกัน แต่โกษฐ์ ๑ นั้นเก่ามาก ไม่ทราบตำนานว่า สร้างครั้งไร สังเกตทำนองลวดลาย เห็นเปนอย่างเดียวกับช่างครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่ฝีมือทำนั้นหยาบมาก ถ้าจะกะเอาว่า สร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรี ก็เห็นว่า จะเปนการสมควร ด้วยเหตุข้อ ๑ ยุคนั้น เวลาว่างการทัพศึกมีน้อย งารพระเมรุต้องรีบชิงทำในเวลาว่างอันเปนเวลาสั้น จึงต้องเร่งทำเอาแต่พอให้ใช้ได้ทันงาร จะให้งดงามถึงที่ไม่ได้ ข้อ ๒ โกษฐ์แปดเหลี่ยมนี้เปนอย่างเดียวกันกับพระโกษฐ์กุดั่นอันมีตำนานปรากฎว่า สร้างเปนครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ โกษฐ์แปดเหลี่ยมต้องมีอยู่ก่อนแล้ว พระโกษฐ์กุดั่นทำเอาอย่างโกษฐ์แปดเหลี่ยม จึงจะเปนได้ ซึ่งโกษฐ์แปดเหลี่ยมจะทำทีหลังเอาอย่างพระโกษฐ์กุดั่นนั้นเปนไปไม่ได้ ใช้ประกอบศพที่ต่ำศักดิ์เปนการเทียมสูง เข้าใจว่า โกษฐ์แปดเหลี่ยมนี้เก่าแก่กว่าโกษฐ์ชนิดอื่นหมด ด้วยยอดเปนหลังคา คงเปนแบบแรกที่แปลงมาจากเหมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ยังอีก ๓ โกษฐ์นั้น โกษฐ์ ๑ ก็ไม่ทราบแน่ว่า สร้างเมื่อไร แต่สังเกตฝีมือ เห็นว่า คงทำราวรัชกาลที่ ๓ หรือที่ ๔ เหตุที่ทำขึ้นอีก ก็คงเปนด้วยโกษฐ์เดียวไม่พอใช้ อีกโกษฐ์ ๑ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ใช้ประกอบศพหม่อมแม้นในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เปนคราวแรก ด้วยประสงค์ให้งามสอาด เพราะโกษฐ์เก่าใช้มานาน ยับเยินมาก อีกโกษฐ์ ๑ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจขอพระบรมราชานุญาตทำถวายในรัชกาลนี้ ใช้ประกอบศพเจ้าจอมมารดาสังวาลเปนเดิม ด้วยประสงค์ความงามเช่นเดียวกัน
ที่๒โกษฐ์โถ มีอยู่ ๒ โกษฐ์ โกษฐ์ ๑ นั้นเก่ามาก ลวดลายแลฝีมือเหมือนกับโกษฐ์แปดเหลี่ยมใบเก่า เห็นได้ว่า ทำรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่ปรากฎตำนานว่า สร้างเมื่อไร ได้ยินแต่กล่าวกันว่า เปนโกษฐ์เก่าแก่ ใช้มาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว คำกล่าวเช่นนี้ ประกอบกับฝีมือที่ทำรุ่นเดียวกับโกษฐ์แปดเหลี่ยม ชักให้น่าเชื่อขึ้นอีกว่า โกษฐ์แปดเหลี่ยมแลโกษฐ์โถทั้ง ๒ อย่างนี้สร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรี เหตุใดจึงเรียก โกษฐ์โถ ก็เข้าใจไม่ได้ รูปก็ไม่เห็นเหมือนโถ ทรงอย่างโกษฐ์แปดเหลี่ยมนั้นเอง แต่เหลากลม ยอดเปนทรงมงกุฎเหมือนชฎาละคอน คงจะทำทีหลังโกษฐ์แปดเหลี่ยม แลเห็นจะใช้เปนยศสูงกว่าโกษฐ์แปดเหลี่ยม ทุกวันนี้ ใช้สำหรับพระราชทานพระราชาคณะแลข้าราชการที่มีบันดาศักดิ์ได้รับพระราชทานโกษฐ์เปนชั้นต้น อีกโกษฐ์ ๑ เปนของทำเติมขึ้นใหม่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ เปนผู้ทำโดยรับสั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อในรัชกาลที่ ๕ เพราะโกษฐ์เดียวไม่พอใช้
ที่๓พระโกษฐ์กุดั่น ๒ พระโกษฐ์ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๖๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒) ทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี แลเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เมื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นาง หุ้มทองคำทั้งสองพระโกษฐ์ ตามคำที่ว่ากันว่า พระโกษฐ์กุดั่นนั้นชำรุดหายไปเสียองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงค้นหาได้มาแต่ตัวพระโกษฐ์ จึงทรงทำฝาแลฐานใหม่ประกอบเข้า พระโกษฐ์องค์นี้เรียกว่า "กุดั่นใหญ่" ฝีมือทำซึ่งปรากฎอยู่ที่กาบพระโกษฐ์นั้นงามอย่างยิ่ง สมกับที่มีตำนานว่า เปนของทำในรัชกาลที่ ๑ อีกองค์ ๑ เรียกว่า "กุดั่นน้อย" องค์นี้ที่ว่า ไม่ได้ชำรุดสูญหาย แต่ดูทำนองลายในกาบไม่ค่อยเทียมทันเสมอกันกับพระโกษฐ์กุดั่นใหญ่อันมีตำนานว่า ทำพร้อมกัน อาจจะเปนตัวแทนเสียแล้วก็ได้ พระโกษฐ์ทั้ง ๒ องค์นี้เกียรติยศใช้ต่างกัน ทุกวันนี้ ถือว่า พระโกษฐ์กุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกษฐ์กุดั่นน้อย แลพระโกษฐ์กุดั่นน้อยนี้กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้ทรงสร้างเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกองค์ ๑
ที่๔พระโกษฐ์ไม้สิบสอง มีตำนานว่า สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) ทรงพระศพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ครั้งนั้น หุ้มทองคำ ในบัดนี้ พระโกษฐ์ไม้สิบสองมี ๒ องค์ ว่า เปนของเก่าองค์หนึ่ง เปนของสร้างเติมขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง แต่ไม่ได้ความว่า แลทั้ง ๒ องค์นั้นรูปทรงก็ไม่เหมือนกัน องค์หนึ่ง ยอดเปนทรงมงกุฎ อีกองค์หนึ่ง ยอดเดิมเปนทรงปริก ต่อแก้เปนทรงมงกุฎ เห็นได้ว่า ทำใช้ต่างคราวต่างชั้น มิได้ถ่ายอย่างออกจากกัน แลมิได้มีประสงค์จะใช้แทนกันหรือตั้งคู่กัน แต่หากคราวใดคราวหนึ่งต้องการตั้งคู่ จึ่งต่อยอดขึ้นพอให้ดูเทียมทันกันไปได้ สังเกตดูรูปทรงลวดลายทั้ง ๒ องค์ ไม่เห็นสมเปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ สักองค์เดียว
ที่๕พระโกษฐ์ทองใหญ่ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ (พ.ศ. ๒๓๕๑) พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐ์กุดั่นมาทำพระโกษฐ์ทองใหญ่ขึ้นไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำพระโกษฐ์องค์นี้สำเร็จแล้ว โปรดให้เอาเข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระอาลัยมาก แลจะใคร่ทอดพระเนตรพระโกษฐ์ทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระเบญจา จึงโปรดให้เชิญพระโกษฐ์ทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ เปนครั้งแรก จึงเลยเปนประเพณีในรัชกาลต่อมาที่พระราชทานพระโกษฐ์ทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเปนพิเศษนอกจากพระบรมศพได้ มีบาญชีจดไว้ในห้องพระอาลักษณ์ลงมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ กรมพระสมมตอมรพันธุ์พบบาญชีนั้น ได้ทรงจดต่อมาอีกชั้นหนึ่ง แลได้จดต่อเมื่อจะพิมพ์อีกจนถึงปัจจุบัน มีอย่างนี้
๑สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ
๒พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
๓สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
๔สมเด็จพระสังฆราช (สุก เดิมเปนสมเด็จพระญาณสังวรอยู่วัดราชสิทธาราม) เปนพระอาจารย์พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๕เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี
๖เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
๗พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๘กรมหมื่นสุรินทรรักษ์
๙เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
๑๐สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์
๑๑พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
๑๒สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี
๑๓สมเด็จพระศรีสุลาไลย
๑๔กรมหลวงเทพพลภักดิ์
๑๕กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
๑๖กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ
๑๗พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๘สมเด็จพระนางโสมนัส
๑๙สมเด็จกรมพระปรมานุชิต
๒๐กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร เมื่อชักพระศพ[1]
๒๑สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร
๒๒กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ เมื่อชักพระศพ
๒๓สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี
๒๔กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ จะพระราชทานพระโกษฐ์ทองใหญ่ แต่ขัดข้องด้วยกรมพระพิทักษ์ฯ พระรูปใหญ่โต ต้องต่อลองสี่เหลี่ยมทรงพระศพและสร้างพระโกษฐ์มณฑปประกอบ จึงทรงพระโกษฐ์มณฑปตลอดงาร
๒๕พระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๖กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ
๒๗พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๘กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เมื่อชักพระศพ
๒๙กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ เมื่อชักพระศพ
๓๐สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
๓๑สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระเทพนารีรัตน์
๓๒พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
๓๓สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์
๓๔สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
๓๕สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
๓๖สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
๓๗สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์
๓๘สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
๓๙สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
๔๐พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๔๑กรมหลวงวรเสรฐสุดา
๔๒พระอรรคชายาเธอฯ กรมขุนอรรควรราชกัญญา
๔๓สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
๔๔สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
๔๕กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช เมื่อชักพระศพ
๔๖กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อชักพระศพ
๔๗สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
๔๘สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๔๙สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
๕๐สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
๕๑สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
๕๒สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ
๕๓สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา
๕๔สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
ที่๖พระโกษฐ์พระองค์เจ้า เรียกกันแต่แรกว่า โกษฐ์ลังกา พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์สร้างขึ้นทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์แต่ครั้งยังทรงผนวช เปนลองสี่เหลี่ยม หุ้มผ้าขาว ยอดเปนฉัตรระบายผ้าขาว เมื่อในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ใช้ทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ ครั้นมีพระโกษฐ์มณฑปน้อย พระโกษฐ์นี้ใช้สำหรับทรงพระศพพระองค์เจ้าวังหน้าแลพระองค์เจ้าตั้ง มาถึงในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงคิดทำประกอบนอกขึ้น มีรูปทรงคงเดิม แปลงแต่ยอดเปนทรงชฎาพอก ต่อมา กรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อีกพระโกษฐ์หนึ่ง จึงมีอยู่ในเวลานี้ ๒ พระโกษฐ์ด้วยกัน
ที่๗พระโกษฐ์ทองน้อย พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์สร้างขึ้นตามแบบอย่างพระโกษฐ์ทองใหญ่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ปีกุญ จุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผลัดพระโกษฐ์ทองใหญ่ไปแต่งก่อนออกงารพระเมรุเมื่อทรงพระบรมศพหรือตั้งงารพระศพคู่กับพระโกษฐ์ทองใหญ่แล้วหุ้มทองคำ ถ้าใช้งารอื่น ไม่หุ้ม กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจดคราวที่ได้หุ้มทองคำใช้ไว้ มีอยู่ในท้ายบาญชีพระโกษฐ์ทองใหญ่อย่างนี้
๑พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
พระโกษฐ์ทองน้อยนี้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ณอยุธยา) สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกองค์หนึ่ง
ที่๘พระโกษฐ์มณฑปน้อย พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ สำหรับทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์เมื่อครั้งพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ พระโกษฐ์นี้หุ้มทองคำฉเพาะงาร
ที่๙พระโกษฐ์มณฑปใหญ่ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมขุนราชสีหวิกรมคิดอย่างสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) เอาแบบมาแต่พระโกษฐ์มณฑปน้อย ทรงพระศพกรมพระพิทักษเทเวศร์ก่อน ด้วยกรมพระพิทักษเทเวศร์พระรูปใหญ่โต พระศพลงลองพระโกษฐ์สามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยฉเพาะ จึงโปรดให้สร้างพระโกษฐ์มณฑปนี้สำหรับประกอบลองสี่เหลี่ยม พระโกษฐ์มณฑปใหญ่นี้ ต่อมา สร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่
ที่๑๐โกษฐ์เกราะ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) สำหรับศพเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ด้วยท่านอ้วน ศพลงลองสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยม จึงโปรดให้ทำโกษฐ์เกราะขึ้นประกอบ ที่เรียกว่า "โกษฐ์เกราะ" เพราะลายสลักเปนเกราะรัด
ที่๑๑โกษฐ์ราชินิกูล พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๙) พระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ก่อนผู้อื่น
ที่๑๒พระโกษฐ์ทองเล็ก พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เปนทีแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา มีบาญชีกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจดไว้ในท้ายบาญชีพระโกษฐ์ทองใหญ่อย่างนี้
๑สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
๒สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง
๓เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี
๔กรมขุนสุพรรณภาควดี
๕พระองค์เจ้าอุรุพงศรัชสมโภช
ที่๑๓พระโกษฐ์ทองรองทรง พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีชวด รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) พระโกษฐ์องค์นี้นับเหมือนกับพระโกษฐ์ทองใหญ่ สำหรับใช้แทนที่พระโกษฐ์ทองน้อยเวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้าแลรื้อออกบ่อย ๆ นับศักดิ์เสมอพระโกษฐ์ทองใหญ่
ยังมีเครื่องประดับสำหรับพระโกษฐ์อีกหลายอย่าง เช่น พระโกษฐ์ทองใหญ่ มีดอกไม้เพ็ชรเปนพุ่มเข้าบิณฑ์ ดอกไม้ไหว เฟื่อง ดอกไม้เอว ของเหล่านี้ประดับครบทุกอย่างแต่พระบรมศพ ถ้าพระราชทานให้ทรงพระศพเจ้านาย โดยปรกติไม่มีเครื่องประดับ ถ้าพระราชเครื่องประดับด้วย มีเปนชั้น ๆ กัน ชั้นต้น ประดับพุ่มเข้าบิณฑ์กับเฟื่อง ชั้นสูง รองแต่พระบรมศพ ประดับดอกไม้เอวด้วยอีกอย่างหนึ่ง พระโกษฐ์เจ้านายก็มีเครื่องประดับยอดพุ่มเข้าบิณฑ์แลเฟื่อง ต่อที่ทรงบันดาศักดิ์สูงจึงใช้เครื่องประดับ ถ้าพระราชทานให้ทรงศพเจ้านายชั้นต่ำลงมาหรือขุนนาง ไม่ใช้เครื่องประดับ
นอกจากโกษฐ์ต่าง ๆ ยังมีหีบหลวงสำหรับพระราชทานรองศพข้าราชการโดยชั้นยศบันดาศักดิ์เปนอันดับกัน มีกำหนดศักดิ์เปน ๓ ชั้น คือ
ชั้นที่๑"หีบทอง" เดิมเปนหีบทองทึบอย่างเดียว แต่ภายหลัง ทำขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีก ๑ อย่าง เรียก หีบทองทราย อย่าง ๑ หับทองเครืออังหงุ่น อย่าง ๑ กับหีบทองลายก้านขด อีกอย่าง ๑ นับศักดิ์เสมอกันทั้ง ๔ อย่าง เปนหีบชั้นสูงสุดรองโกษฐ์ลงมา
ชั้นที่๒"หีบกุดั่น" ของเก่ามี ๒ อย่าง เรียกว่า หีบลายทรงเข้าบิณฑ์ อย่าง ๑ หีบลายมังกร อย่าง ๑ ทำเติมขึ้นใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เรียกว่า หีบกุดั่น ซึ่งควรจะมีคำต่อว่า ลายเทศ อีกอย่าง ๑
ชั้นที่๓"หีบเชิงชาย" มีอย่างเดียว
ตำนานหีบทั้งปวงนี้ไม่พบจดหมายเหตุมีแห่งใดเลย ทราบได้แต่ด้วยคำบอกเล่ากับสังเกตตัวหีบสันนิษฐานประกอบ คงได้ตำนานดังจะกล่าวต่อไปนี้ เรียงตามสมัยที่สร้าง
ที่๑หีบทองทึบ เข้าใจว่า หีบชนิดนี้มีมานานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แลทำใช้สืบประเพณีมาจนทุกวันนี้ แต่เดี๋ยวนี้ ค้นหาหีบเก่าจะดูสักใบหนึ่งก็ไม่มี มีแต่หีบทำใหม่ ๆ อยู่มากมาย เหตุด้วยหีบทองทึบเปนหีบชั้นสูง ผู้ที่ได้รับพระราชทานไปประดับเกียรติยศย่อมล้วนแต่เปนผู้ที่สูงศักดิ์ กอปด้วยกำลังแลทรัพย์ บุตรหลานเห็นหีบหลวงเก่าคร่ำคร่า ไม่พอแก่ใจ มีกำลังสามารถทำได้ ก็ทำขึ้นแทนใหม่ เมื่อเสร็จงานศพแล้ว ก็มอบให้แก่เจ้าพนักงารผู้รักษาหีบหลวงสำหรับไว้ใช้สำรองราชการต่อไป เพราะนอกจากได้พระราชทานแล้ว ใครจะใช้หีบอย่างนั้นไม่ได้ เจ้าพนักงารได้หีบใหม่แล้ว ก็ทิ้งหีบเก่า ไม่คิดที่จะซ่อมแซม เลยสูญหายไปหมด หีบเก่ารูปพรรณสัณฐานเปนอย่างไร ถามใครก็ไม่ได้ความแน่ กล่าวกันแต่ว่า "โต" นึกสงไสยว่า หีบเก่าจะเปนรูปอย่างก้นสอบ ปากผาย หีบเดี๋ยวนี้เปนรูปได้เหลี่ยม มีฝา เหลาเกลี้ยง ปิดทองทึบ มีฐานฉลัก ปิดทอง ประดับกระจก แต่ก่อนนี้ มาจนกระทั่งในรัชกาลที่ ๔ ตอนแรก พระศพพระองค์เจ้าวังหน้าก็ยังว่า ใช้หีบทองทึบ มาบัดนี้ ใช้สำหรับพระราชทานประดับเกียรติยศศพหม่อมเจ้า กับข้าราชการอันมีบันดาศักดิ์เปนพระยาสามัญ แลพระซึ่งเปนราชนิกูล หม่อมราชนิกูล กับทั้งข้าราชการอันมียศเปนนายพลทหารบก ทหารเรือ เจ้ากรมพระตำรวจ แลหัวหมื่นมหาดเล็ก
ที่๒หีบเชิงชาย เปนหีบรูปก้นสอบ ปากผาย พื้นทาแดง ขอบสลักเปนลายปิดทอง ประดับแววกระจก ไม่มีฝา ไม่มีฐาน ตามที่รู้กันมาว่า สร้างแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ สังเกตลวดลายประกอบทั้งรูป เห็นจริงไม่มีสงไสย ยังได้ยินเล่ากันต่อไปขึ้นไปอีกว่า หีบเชิงชาย หีบลายทรงเข้าบิณฑ์ เดิมทีเปนพนังแผงหุ้มสักหลาดสีตรึงลายทองแผ่นลวดฉลุเหมือนอย่างม่านเรือ ทำไว้เปนสี่กระแบะ เวลาจะประกอบศพ ผูกสี่มุมหุ้มนอกกลองใน แต่ความข้อนี้เท็จจริงประการใดอยู่แก่ผู้กล่าว ถ้าหากว่าเปนอย่างนั้น คงเปนมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี หรือเปนประเพณีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่อย่างไรก็ดี ข้อที่กล่าวเช่นนี้เปนความงามสมจริงยิ่งหนักสมัยนี้ ใช้หีบนี้สำหรับพระราชทานประดับศพข้าราชการอันมีบันดาศักดิ์เปนหลวงเปนขุน กับทั้งเถ้าแก่พนักงารฝ่ายใน หีบเชิงชายนี้ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ทำขึ้นใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกใบ ๑ แต่ผิดกันกับของเก่าที่รูปเปนหีบ ก้นปากเท่ากัน ไม่ผาย มีฝา ฝีฐาน กับมีลายดอกไม้ร่วงฉลุทองแถมลงในที่พื้นแดงด้วย สำหรับพระราชทานไปประดับบันดาศักดิ์ศพข้าราชการชั้นที่เปนหลวงเปนขุน กับข้าราชการอันมียศในกรมมหาดเล็กชั้นหุ้นแพร แลฝ่ายทหารชั้นนายน้อย กับทั้งเถ้าแก่พนักงารฝ่ายใน แลภรรยาข้าราชการซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นตติยจุลจอมเกล้าแลจตุตถจุลจอมเกล้า
ที่๓หีบลายทรงเข้าบิณฑ์ เปนรูปก้นสอบ ปากผาย สลักเปนลายทรงเข้าบิณฑ์ มีขอบอย่างม่าน ดอกปิดทอง ฝังแววกระจก พื้นล่องชาด ฝีมือทำรุ่นเดียวกับหีบเชิงชาย สร้างในรัชกาลที่ ๑ ด้วยกัน เข้าใจว่า ทำพร้อมกันเปนหีบคู่ สำหรับเกียรติยศชั้นกลางใบหนึ่ง ชั้นต่ำใบหนึ่ง แต่จะสูงต่ำเพียงไร ที่ได้พระราชทานอยู่แต่ก่อนนั้นหาทราบไม่ ในทุกวันนี้ ใช้พระราชทานประดับบันดาศักดิ์ศพข้าราชการชั้นพระ กับข้าราชการอันมียศเปนปลัดกรมพระตำรวจแลจ่ามหาดเล็ก
ที่๔หีบลายมังกร ทุกวันนี้ ใช้สำหรับพระราชทานประดับบันดาศักดิ์ศพข้าราชการชั้นพระชั้นหลวง แต่เจ้าพนักงารจำเพาะจะจัดให้แก่ศพพระหลวงที่เปนเชื้อจีน มีขุนนางเจ้าภาษีเปนต้น ได้ใช้ นอกไปจากที่เปนจีนบ้างก็เปนแต่บางคราวเมื่อมีงารศพพ้องกันมากจนหีบไม่พอจ่าย เปนความคิดของเจ้าพนักงารจะเล่นให้เปนกลเม็ดด้วยสำคัญใจว่า ลายมังกรเปนลายจีน เหมาะแก่ข้าราชการที่เปนจีน แต่ความสำคัญเช่นนั้นผิด เพราะมังกรในลายนั้นหาใช่มังกรจีนไม่ เปนมังกรไทยสองตัวหันหน้าเข้าหากันดั้นอยู่ในกนกเครือเหมือนลายพนักพระแกลที่พระวิมานในพระราชวังบวรหรือที่หอพระมนเทียรธรรม งามไม่มีที่เปรียบ หีบหลวงทั้งหมดใบไหนจะงามเสมอใบนี้ไม่มี ไม่มีที่สงไสยว่า จะสร้างรัชกาลไหนนอกไปจากรัชกาลที่ ๑ เพราะรูปหีบก็เปนรูปชนิดก้นสอบ ปากผาย ไม่มีฝา ไม่มีฐาน สมอย่างรัชกาลที่ ๑ ลายมังกร (ไทย) ก็เปนลายที่ถนัดทำอยู่ในรัชกาลที่ ๑ ยุคเดียว หีบใบนี้เดีมทีเห็นจะใช้เปนเกียรติยศสูงเหนือหีบลายทรงเข้าบิณฑ์ขึ้นไป เห็นได้ที่ฝีมือทำประณีตกว่า แลปิดทองทั้งตัว พื้นก็ประดับกระจก แววก็ฝังกระจก
ที่๕หีบกุดั่น พูดกันว่า กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นโดยพระบรมราชโองการเมื่อในรัชกาลที่ ๔ สำหรับพระราชทานประดับเกียรติยศศพเจ้าจอมผู้ซึ่งได้รับพระราชทานหีบหมากกาไหล่ทอง แล้วภายหลัง ใช้พระราชทานมหาดเล็กหุ้นแพรผู้ซึ่งเปนราชินิกูลด้วย เปนหีบชนิดมีฝา มีฐาน รูปไม่ผาย ตัวหีบสลักเปนลายเทศ ปิดทองทั้งพื้นทั้งลาย ฝังแววกระจก ดูฝีมือสมควรกันแล้วกับที่ว่า สร้างในรัชกาลที่ ๔
ที่๖หีบทองทราย คือ หีบทองทึบนั้นเอง แต่โรยทรายเม็ดหยาบเสียก่อนแล้วจึงปิดทองทับ กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ พระราชทานรองศพหม่อมทับในกรมหมื่นปราบฯ มารดาเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เปนทีแรก เมื่อเวลาสร้างขึ้นนั้น สำหรับพระราชทานประดับเกียรติยศรองจากโกษฐ์ นับว่า บันดาศักดิ์สูงกว่าหีบทองทึบ เดี๋ยวนี้ ใช้สำหรับหม่อมห้ามแลภรรยาข้าราชการชั้นได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน กับทั้งข้าราชการฝ่ายหน้าชั้นที่ได้รับพระราชทานโต๊ะทองกาทอง
ที่๗หีบทองลายเครืออังหงุ่น แบบหีบทองทึบนั้นเอง แต่ตัวหีบฉลักเปนลายเครืออังหงุ้น นับเปนหีบต่อโกษฐ์ เกียรติยศเสมอกันกับหีบลายก้านขด สำหรับใช้แทนกัน กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นเมื่อในรัชการที่ ๕ ทราบว่า พระราชทานรองศพพระยาอรรคราชนาถภักดี (หวาด บุนนาค) เปนทีแรก ศพนั้นไว้ที่เมืองจันทบุรีช้านานจึงได้ฝัง เพราะฉนั้น หีบใบนี้จึงได้เงียบหายไปเสียหลายปี
ที่๘หีบทองลายก้านขด แบบหีบทองทึบนั้นเอง แต่ตัวหีบสลักเปนลาย ตั้งใจจะให้เปนกนกก้านขด ปิดทองล้วน ทุกวันนี้ ใช้เปนหีบรองโกษฐ์ ถ้าผู้ใดที่มีเกียรติยศสูงไม่ได้พระราชทานโกษฐ์ ก็ได้รับพระราชทานหีบนี้ ตกอยู่ในข้าราชการชั้นที่ได้รับพระราชทานพานทองเปนพื้น
บรรดาหีบทุกอย่างตามที่กล่าวมานี้ ยังต้องมีเครื่องประกอบอีกสิ่งหนึ่ง คือ ผ้าเยี่ยรบับคลุมบนหลังหีบ หีบเชิงชาย หีบลายมังกร หีบลายทรงเข้าบิณฑ์ จำเปนอยู่ที่จะต้องมีผ้าคลุม เพราะไม่มีฝา หีบอื่นนอกนั้นไม่จำเปนเลยที่จะต้องคลุมผ้า เพราะมีฝาแล้ว ทำด้วยหลงกันเลย ๆ มา ศพราษฎรบางรายยังหลงกันสนุกยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ต้องมีไม้ไผ่จักผูกเปนคั่นเหมือนบันไดวางลงไว้บนหลังหีบก่อนแล้วจึงคลุมผ้าทับ เคยมีคนสงไสย คิดไม่เห็นประโยชน์ ถามกันว่า สำหรับอะไร เคยได้ยินมีคนแปลว่า สำหรับให้คนตายก้าวขึ้นสวรรค์ ที่แท้นั้น คือ เคยทำมาแต่ครั้งหีบยังไม่มีฝา ใช้ผ้าคลุมแทน ถ้าเปนผ้าชนิดที่หนาหนัก ก็ตกท้องช้าง เลยหลุดลงไปเสียในหีบ จึงต้องผูกไม้เปนคานพาดปากหีบรับผ้าไว้กันไม่ให้ตกลงไป ทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไป ศพที่เจ้าภาพมีกำลัง มักใช้ดอกไม้สดกรองปกแทนผ้าในเวลาออกงาร
- ↑ พระราชทานพระโกษฐ์ทองใหญ่เมื่อชักพระศพนั้น เพราะพระเมรุที่พระราชทานเพลิงพระศพสร้างที่วัด พระโกษฐ์ทองใหญ่ตั้งพระเมรุแต่เมรุกลางเมือง
บรรณานุกรม
แก้ไข- ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ; นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระ; และ สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2468). เรื่องตำนานพระโกษฐ์แลหีบศพบันดาศักดิ์. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงารพระศพพระเจ้าบรมวงศเธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา ครบปัญญาสมวาร ณวันที่ 3 สิงหาคม ปีฉลู พ.ศ. 2468).
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก