เรื่องผีสางเทวดา/คำนำ

คำนำ

คนเกิดมามีมรดกตกทอดติดตามตนมาอยู่ ๒ ประการ คือ มรดกจากธรรมชาติ และมรดกจากสังคม มรดกจากธรรมชาติ คือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม มีภูมิประเทศที่อยู่เป็นต้น มรดกจากสังคม คือ สิ่งซึ่งคนในส่วนสังคมได้สร้างและส่ำสมสืบต่อเอาไว้ให้ มีภาษา ศาสนา ศิลปวิทยา ขนบประเพณี เป็นต้น มรดกจากธรรมชาติไม่ใช่มีแต่ของคน สัตว์อื่น ๆ ก็มีเหมือนกัน แต่มรดกจากสังคมมีเฉพาะของคน สัตว์อื่นซึ่งไม่ใช่คนไม่มี เหตุนี้ คนจึงผิดกับสัตว์อื่นก็ตรงที่ได้รับมรดกตกทอดจากสังคม คนเกิดมาในสังคมใด ก็อยู่ในกองมรดกแห่งสังคมนั้น มรดกจากสังคมมี ๒ อย่าง คือ มรดกทางวัตถุ ได้แก่ พัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องมือ เครื่องนุ่มห่ม เป็นต้น และมรดกทางความคิดและจิตใจ ได้แก่ ศิลปวิทยา ศาสนา ประเพณี เป็นต้น มรดกทั้ง ๒ อย่างนี้ย่อมมีแตกต่างกันระหว่างชาติและระหว่างยุคสมัย แม้ในชาติเดียวกันก็ยังแตกต่างระหว่างท้องถิ่นกับท้องถิ่น มรดกทางสังคมมีเปลี่ยนแปลงเป็นความเจริญหรือเป็นความเสื่อมได้ ถ้าจะให้เจริญ ๑. ต้องมีทุนเดิมซึ่งส่ำสมและสืบต่อจากของเก่า ๒. ต้องมีต่อทุนให้มีแปลกมีใหม่มาเพิ่พมูน ๓. ต้องทำให้แพร่หลายงอกงาม และ ๔. ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะกับเหตุการณ์และสถานที่ มรดกจากสังคมที่กล่าวนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า culture เราใช้ว่า วัฒนธรรม คือ ธรรมซึ่งทำให้เจริญวัฒนา ชาติใดไม่มีกองมรดกตกทอดจากสังคมของตนซึ่งส่ำสมและสืบต่อเป็นทุนเดิมมานาน ชาตินั้นก็เป็นเด็กอยู่เสมอ ไม่มีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ได้ ชาติใดมีความพยายามกระทำสิ่งใดทางวัตถุและทางความคิดและจิตใจจนเป็นผลสำเร็จประณีตดีงาม ผิดกันตรงข้ามกับชาติที่เราเห็นว่า เสื่อมโทรมหรือยังเป็นป่าเถื่อนอยู่นี้ก็ดี มีระเบียบแบบแผนการปกครองเป็นบ้านเป็นเมือง ผิดกันตรงข้ามกับชนชาวป่าชาวเขาเป็นต้นนี้ก็ดี หรือมีความเจริญเป็นวัฒนธรรมอย่างสมัยปัจจุบัน ผิดกับวัฒนธรรมในสมัยก่อนซึ่งเห็นว่า ต่ำกว่านี้ก็ดี ชาตินั้นลางทีก็ได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า มี civilization เราใช้ว่า อารยธรรม คือ ธรรมอันเลิศ เพราะฉะนั้น คนไม่ว่าเป็นชาติมีอารยธรรมหรือไม่มีอารยธรรม ก็ล้วนมีวัฒนธรรมทั้งนั้น ต่างกันเพียงประณีตหรือหยาบ ดีหรือเลว เท่านั้น ถ้าไม่มีวัฒนธรรมเสียเลย ก็ไม่ใช่คนในส่วนรวม เท่าที่กล่าวมานี้กล่าวย่อพอให้เหมาะกับความประสงค์เป็นคำนำเรื่องผีสางเทวดาในหนังสือนี้

ผีสางเทวดา คือ สิ่งซึ่งตามปรกติมองไม่เห็นตัว และมีอำนาจอยู่เหนือคน ดั่งได้อธิบายไว้ในเนื้อหาของเรื่องนั้นแล้ว ความเชื่อผีสางเทวดามีมาตั้งแต่ระยะยุคแรกของมนุษย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เชื่อว่า สิ่งทั้งหลายล้วนมีขวัญมีวิญญาณทั้งนั้น ภาษาอังกฤษเรียกคติความเชื่อเช่นนี้เป็นศัพท์เฉพาะว่า animism อันเป็นความเชื่อที่มีอยู่กับมนุษย์ไม่ว่าชาติไร ทั้งที่เป็นอารยชนและอนารยชน นี่ก็อีก จะมีต่างกันก็ที่หยาบหรือที่ประณีตในความเชื่อเท่านั้น คติความเชื่อผีสางเทวดาเกิดจากความกลัวอำนาจลึกลับมองไม่เห็นตัว ซึ่งอาจให้ดีให้ร้ายแก่เราได้ พิธีรีตองที่มีกำหนดไว้ในขนบประเพณีว่า ถ้าได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้จะเกิดความสำเร็จผลเป็นสวัสดิมงคล ก็มีมูลฐานจากคติความเชื่อผีสางเทวดาอันเกี่ยวโยงไปถึงวัฒนธรรม เราซึ่งเป็นปุถุชนจะพ้นจากคติความเชื่อนี้ไปทีเดียวไม่ได้ แต่เราอาจแก้ไขและปรับปรุงความเชื่อนี้ให้ประณีตขึ้นได้ด้วยการศึกษาขนบประเพณีของส่วนรวม เพราะขนบประเพณีเป็นอาการภายนอกของความเชื่อซึ่งสำแดงออกมาให้ปรากฏเห็น เราจะเข้าใจความเชื่อซึ่งเป็นอาการภายในของชาติใดสังคมใดไม่ได้ นอกจากจะดูจากอาการภายนอก คือ ที่ขนบประเพณีของชาตินั้นสังคมนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องความเชื่อของเขาได้ถูกแล้ว ความเข้าใจดีมีไมตรีต่อกันก็เกิดมีขึ้นได้

เรื่องผีสางเทวดาซึ่งมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ กล่าวเฉพาะของไทย ส่วนของชาติอื่นซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง แม้กระนั้น ว่าเฉพาะของไทยเอง ก็กล่าวเป็นส่วนใหญ่ได้แต่ของภาคกลาง ส่วนของภาคอื่น ถ้าจะกล่าวถึง ก็แต่ลางประการที่เห็นควรจะกล่าวเท่านั้น

ข้าพเจ้าขอขอบคุณมิตรสหายมีหลายท่านด้วยกัน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ตายจากไปแล้ว ที่มีเมตตาให้ความรู้ลางประการซึ่งมีอยู่ในหนังสือเรื่องนี้แก่ข้าพเจ้า ลำพังความรู้ของคน ๆ เดียว ถ้าไม่เป็นสัพพัญญู หรือไม่มีแนะจากคนอื่นมาก่อน ก็รู้อะไรไม่ได้เท่าไรนัก.

เสฐียรโกเศศ