เรื่องพระเจ้าปทุมสุริวงศ สร้างพระนครวัด นครธม

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
เรื่องพระเจ้าปทุมสุริวงศ
สร้างพระนครวัด นครธม
หม่อมเจ้าหญิงพัฒนคณนา ไชยันต์
ทรงพิมพ์แจกในงานปลงศพ
หม่อมจอน กิติยากร ณอยุธยา
ผู้เปนมารดา
เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

คำนำ

หม่อมเจ้าหญิงพัฒนคณนา ไชยันต์ จะทรงพิมพ์หนังสือแจกในงานปลงศพหม่อมจอน กิติยากร ณอยุธยา ผู้เปนมารดา ทรงฃอหนังสือมายังราชบัณฑิตยสภา กรรมการเหนว่า หนังสือเรื่องพระเจ้าปทุมสุริวงศผู้สร้างพระนครวัด พระนครธม เปนหนังสือซึ่งไม่ควรปล่อยให้หมดไป จึงแนะให้หม่อมเจ้าพัฒนคณนาทรงพิมพ์ดังนี้

หนังสือเรื่องนี้ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวังเมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗) มาถึงเวลานี้นับได้ ๕๘ ปี ใครจะเปนผู้แต่งและแต่งแต่เมื่อใดหาบอกไว้ไม่ การพิมพ์ครั้งนี้ใช้อักขรวิธีตามต้นฉะบับเดิม เพื่อให้เหนวิธีเขียนหนังสือในสมัยตอนต้นรัชชกาลที่ ๕.

  • ราชบัณฑิตยสภา
  • วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔

เรื่องพระเจ้าประทุมสุริวงษ
สร้างพระนครวัด นครธม

แต่นี้จะกล่าวเรื่องพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ต่อไป

ในกาลปางก่อนนั้น อันพระนครวัด นครธม ทั้งสองนี้ มีอยู่ในแว่นแคว้นแดนเขมร สร้างเมื่อครั้งพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๔๐๐ พรรษา พระอินทราธิราชทรงพระสุบินว่า แก้วมณีโชติหลุดจากพระโอฐตกลงไปในเปือกตมในมนุษโลกย์ พระอินทร์มีความเสียดายนัก จะลงมาเกบเอาดวงแก้วกลับคืนขึ้นไปก็เกลียดนัก ครั้นตื่นจากพระบันทม จึ่งส่องทิพยจักษุพิจารณาดูรู้ว่า แต่บันดาเทวบุตรทั้ง ๗ องค์ซึ่งเปนบุตรของพระองค์ จะจุติลงไปในมนุษโลกย์แล้วจะได้บำรุงพระพุทธสาศนาสักองค์หนึ่ง จึ่งตรัสสั่งให้หาเทวบุตรทั้ง ๗ องค์มาเฝ้า ตรัสเล่าเรื่องความในพระสุบินให้ฟังทุกประการ แล้วจึ่งตรัสว่า เทวบุตรทั้ง ๗ นี้ ผู้ใดจะจุติลงไปเกิดในมนุษโลกย์บำรุงพระพุทธสาศนาได้บ้าง เทวบุตรทั้ง ๖ องค์ไม่ยอมจะจุติลงมา แต่เกตุเทวบุตรองค์หนึ่งนั้นรับว่า ถ้าเปนการบำรุงพระพุทธสาศนาแล้ว จะฃอรับอาษาจุติลงมาเกิดในมนุษโลกย์ พระอินทร์ก็มีความยินดีในพระหฤไทย จึ่งพระราชทานให้เกตุเทวบุตรลงมาเกิดในครรภ์นางเทพวดี ผู้เปนอรรคมเหษีท้าวโกเมราช อันเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครเขมราชธานี ด้วยอานุภาพบุญญาธิการของพระราชกุมารซึ่งอยู่ในพระครรภ์นั้น แต่บันดานกทั้งหลายบินข้ามมาบนปราสาทที่พระอรรคมเหษีอยู่ครั้งใดก็ตกลงมาตายเหนเปนมหัศจรรยนัก พวกอำมาตยราชมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยเหนดังนั้น จึ่งกราบทูลพระเจ้าโกเมราชว่า ราษฎรชาวพระนครนี้เปนคนอยู่ในศีลห้าศีลแปดประการ มีแต่ความเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง ถึงว่ามีโทษทัณฑ์กรรมกรณ์ก็ผันผ่อนหย่อนแก่กันเอาแต่ความศุข เหตุไฉนพระราชกุมารองค์นี้ตั้งแต่ปฏิสนธิในพระครรภ์จึ่งให้โทษแก่นกทั้งปวงฉนี้ พระเจ้าโกเมราชก็พลอยทรงเหนด้วยกับเสนามนตรีทั้งปวงว่า พระราชกุมารซึ่งอยู่ในพระครรภ์เปนกาลกินี จึ่งตรัสสั่งให้เอาพระอรรคมเหษีซึ่งทรงครรภ์นั้นไปใส่แพลอยเสีย เสนามาตยราชปโรหิตจึ่งทูลทัดทานไว้ว่า ซึ่งจะทำโทษแก่พระอรรคมเหษีซึ่งทรงพระครรภ์อยู่นั้นไม่ควร ต่อเมื่อใดประสูตพระราชบุตรแล้ว จึ่งขับเสียจากพระนคร ท้าวโกเมราชจึ่งให้งดไว้ ครั้นพระอรรคมเหษีประสูตพระราชบุตรแล้ว พระเจ้าโกเมราชก็ขับเสียจากพระนคร พระอรรคมเหษีก็ภาพระราชบุตรเดินไป ได้ความลำบากเวทนา ด้วยเปนนางกระษัตร มีแต่ความศุข ไม่เคยตกยาก ด้วยเดชบุญญานุภาพของพระราชกุมารซึ่งจะได้ครองราชสมบัติในแว่นแคว้นแดนเขมร จึ่งร้อนขึ้นไปถึงพระอินทร์ ๆ ส่องทิพจักษุดูรู้เหตุแล้ว ก็นฤมิตรเพศเปนมนุษนุ่งห่มผ้าขาวลงมาเดินตามทางพลางย่นมรรคภาพระราชเทวีกับพระราชกุมารไปได้เจตวัน ถึงดงพระยาไฟ จึ่งนฤมิตรปราสาทให้อยุดภักอาไศรยอยู่ แล้วให้เสวยอาหารทิพย ลำดับนั้น พระอินทร์จึ่งภาพระราชเทวีกับพระราชกุมารมาถึงแดนโคกทลอก ไปภักอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งข้างทิศใต้ จึ่งให้นางกับพระราชกุมารอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งใกล้เมืองพระบาทชันชุม ครั้นพระราชกุมารมีพระชนมายุได้สามปี มีรูปโฉมอันงามตามวงษเทวราช มนุษผู้ใดในมนุษโลกย์นี้จะมีรูปอันงามเปรียบเหมือนพระราชกุมารนั้นไม่มี พระอินทร์มีความรักใคร่ยิ่งนัก จึ่งนฤมิตรเพศเปนบุรุษแกล้งมาเยี่ยมเยือนพระราชเทวีกับพระราชกุมาร พระราชเทวีเหนก็พูดจาไต่ถามว่า ท่านไปข้างไหน หายไปไม่เหนมาช้านานแล้ว พระอินทร์จึ่งบอกว่า ข้ากลับไปบ้าน ๆ ข้าอยู่ไกลนัก ข้ารำฦกถึงจึ่งมาหา กุมารนี้ข้าจะขอไปเลี้ยงไว้ นางจึ่งว่า ท่านมาแล้วหายไปถึง ๒ ปี ๓ ปี ข้าไม่ยอมให้ลูกของข้าไป บุรุษแก่จึ่งว่า ครั้งนี้ ข้าจะฃอเอาไปชมเล่นสักวันเดียว นางขัดมิได้จึ่งยอมให้แก่บุรุษแก่ ๆ ก็อุ้มพระราชกุมารไป ภอลับพระเนตรนางน่อยหนึ่ง ก็กลับเปนพระอินทร์ ๆ ก็ภาราชกุมารเหาะขึ้นไปดาวดึงษ์สวรรค์ พระราชกุมารเหนเทวสถานพิมานสวรรค์ก็มีความยินดียิ่งนัก เมื่อพระราชกุมารขึ้นไปสู่เทวนครนั้น เทพยดามาเฝ้าพระอินทร์เหม็นกลิ่นมนุษ พระอินทร์ก็คิดขวยเขินสเทินพระหฤไทย จึ่งชวนพระราชกุมารลงมา พระราชกุมารไม่ปราถนาจะลงมา ร้องไห้รักทิพยพิมานในสวรรค์ พระอินทร์จึ่งว่า ดูกร กุมาร เจ้าจงกลับลงไปเมืองมนุษเถิด เราจะสร้างเมืองให้อยู่ให้งามดุจเมืองสวรรค์นี้ พระอินทร์ก็ภาพระราชกุมารมายังสำนักนิ์พระนางซึ่งเปนพระมารดาในวันนั้น แล้วพระอินทร์จึ่งเหยียบสิลาแห่งหนึ่งเปนรอยพระบาทไว้บนยอดเขา เหนเปนรอยปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ เมืองซึ่งอยู่ริมเขานั้นจึ่งได้ปรากฎนามชื่อว่า เมืองพระบาทชันชุม แล้วพระอินทร์จึ่งส่องทิพยจักษุพิจารณาดูรู้ว่า ในแว่นแคว้นแดนโคกทลอกนี้เปนที่ไชยภูมสมควรจะสร้างพระนครให้พระราชกุมารอยู่ได้ จึ่งตรัสใช้ให้พระพิศณุกรรมลงมาสร้างพระนครโคกทลอก เมื่อพระพิศณุกรรมลงมาสร้างพระนครถวายให้พระราชกุมารกับพระมารดาอยู่ ฝ่ายราษฎรที่อยู่ในป่าก็มาอยู่ด้วยพระราชกุมารบ้าง แต่ยังน้อยนัก พระอินทร์เหนว่า ราษฎรยังน้อยนัก จะให้ชนชาวเมืองเขมราชธานีมาอยู่อีกให้มาก จึ่งเหาะลงมานฤมิตรกายเปนช้างเผือกใหญ่อยู่ณป่าแดนเมืองเขมราชให้พรานป่าเหน แล้วช้างนั้นก็เดินลัดมาถึงที่ใกล้พระนครโคกทลอก พรานป่าตามมาถึงที่ใกล้พระนครนั้น ช้างเผือกก็หายไป เหนแต่รอยเท้าปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ พรานป่าได้เหนพระนครงามนัก จึ่งเข้าไปพิจารณาดู รู้ว่า พระราชกุมารกับพระอรรคมเหษีพระเจ้าโกเมราชผู้เปนเจ้าของตนมาครองสมบัติอยู่ในเมืองนั้น ก็มีความยินดียิ่งนัก พรานป่าก็เร่งรีบกลับมากราบทูลพระเจ้าโกเมราชตามที่ตนได้เหนทุกประการ พระเจ้าโกเมราชจึ่งใช้ให้เสนามนตรีคุมไพร่พล ๕๐๐๐ มาเชิญพระราชกุมารกับพระอรรคมเหษีจะให้กลับไปเมืองเขมราษ พระราชกุมารกับพระมารดาไม่กลับไป เสนามนตรีกับไพร่พล ๕๐๐๐ ก็อยู่ด้วยพระราชกุมารทั้งสิ้น พระเจ้าโกเมราชเหนหายไปไม่กลับมา จึ่งใช้ให้เสนามนตรีคุมไพร่พลไปอีกหมื่นหนึ่ง เสนามนตรีกับไพร่พลหมื่นหนึ่งนั้นก็ชวนกันอยู่กับพระราชกุมารไม่กลับไป แต่พระเจ้าโกเมราชใช้เสนามนตรีมาจะรับพระราชกุมารไปถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระราชกุมารก็ไม่กลับไป ว่า ไพร่พลทั้งปวงก็ยอมอยู่ด้วยพระราชกุมารสิ้น พระเจ้าโกเมราชจึ่งยกพวกพลโยธามาตามเสดจมาถึงพระนครโคกทลอก ได้เหนพระราชกุมารกับพระอรรคมเหษี ก็มีพระหฤไทยยินดีนัก จะชักชวนพระราชกุมารสักเท่าใด ๆ พระราชกุมารก็ไม่กลับไป พระเจ้าโกเมราชจึ่งราชาภิเศกพระราชกุมารให้เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครโคกทลอก ตั้งพระนามชื่อว่า พระเจ้าเกตุมาลามหากระษัตร พระอินทร์ได้ทรงทราบเหตุนั้น จึ่งบันดานพระขรรค์ทิพยสำรับกระษัตร ให้ตกลงมากลางที่ประชุมเสนามาตย์ราชบรรพสัศยทั้งปวงในวันราชาภิเศกพระเจ้าเกตุมาลา เหนเปนมหัศจรรนัก พระขรรค์นั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ แว่นแคว้นแดนเมืองโคกทลอกนั้นจึ่งได้นามปรากฎชื่อว่า เมืองอินทปัถมหานคร ฝ่ายพระเจ้าโกเมราชผู้เปนพระราชบิดาก็ภาพระอรรคมเหษีผู้เปนมารดาพระเจ้าเกตุมาลาเสดจกลับไปเมืองเขมราช พระเจ้าเกตุมาลาเสวยราชสมบัติสืบมา บันดาอาณาประชาราษฎรก็อยู่เยนเปนศุข กิติสับท์นั้นก็เลื่องฦๅไปทุกประเทษ กระษัตรทุกพระนครนำเอาดอกไม้ทองเงินมาถวาย พระเจ้าเกตุมาลาเสวยราชสมบัติมาช้านานได้หลายปี แต่ไม่มีพระราชบุตรพระราชธิดาที่จะสืบวงษกระษัตรต่อไป จึ่งทรงพระอุสาห์รักษาศิลจำเริญภาวนาปราถนาพระราชโอรสได้เจดวัน จึ่งร้อนขึ้นไปถึงทิพย์อาศน์แห่งพระอินทร์ ๆ ส่องทิพจักษุลงมา เหนว่า พระเจ้าเกตุมาลาทรงพระอุสาห์รักษาศิลตั้งพระหฤไทยปราถนาพระราชบุตรที่จะสืบตระกูลวงษกระษัตรต่อไป พระอินทร์จึ่งเชิญเทวบุตรองค์หนึ่งให้จุตลงมาเกิดในดอกประทุมชาติในสระแห่งหนึ่ง แล้วบันดานให้พระเจ้าเกตุมาลาภาบริวารเสดจไปประพาศป่า ภบพระกุมารอยู่ในดอกประทุมชาติ เอามาเลี้ยงไว้เปนพระราชบุตรบุญธรรม ครั้นพระราชกุมารเจริญขึ้น พระเจ้าเกตุมาลาทรงตั้งพระนามว่า พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ เวลาวันหนึ่ง พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์เสดจไปเที่ยวประพาศป่า จึ่งไปถึงโคกทลอก เหตุมีไม้ทลอกต้นหนึ่งใหญ่นัก ลำต้นเอนไปค่างทิศอาคเน นอนราบถึงพื้นปัถพี ๆ ฦกลงไปเปนรอยปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ แผ่นดินงอกขึ้นสูงประมาณสองวาถึงค่าคบ แตกกิ่งใบตั้งขึ้นเปนที่ร่มเยน แลไม้ทลอกต้นนี้ คำบุราณเล่าสืบกันว่า เมื่อครั้งประฐมกัป ประเทศที่นี้ยังเปนมหาสมุทอยู่ พระยานาคชื่อว่า ท้าวชมภูปาปะกาศ ไปรับอาษาพระอิศวรเอาขนตตัวพันเข้ากับเขาพระเมรุมิให้เอนเอียงได้ ฝ่ายพระพายขัดใจ จึ่งพัดให้เขาพระเมรุเอนเอียงไปได้ พระพายเอาพระขรรค์ตัดศีศะพระยานาคขว้างมาตกลงที่นั้น พระอิศวรทรงพระเมตตานัก จึ่งเอายาทิ้งลงมาสาปสรรคว่า ถ้าศีศะท้าวชมภูปาปะกาศตกลงในที่ใด ก็ให้เกิดเปนโคกแลต้นไม้อยู่ในที่นั้น จึ่งเกิดเปนโคกมีต้นทลอกใหญ่ต้นหนึ่ง จึ่งได้เรียกว่า โคกทลอก ฝ่ายพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์เหนต้นทลอกเอนอยู่ดังนั้น ก็ให้มหาดเล็กเอาพระยี่ภู่ไปลาดบนต้นทลอกนั้น แล้วเสดจขึ้นไปบันทม ภอเวลาเยน ต้นทลอกนั้นก็ค่อยตรงขึ้นทีละน้อย ๆ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์บันทมหลับ ต้นทลอกก็ตั้งตรงขึ้นดุจมีผู้ยกขึ้น พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์จึ่งตื่นจากพระบันทม ให้หวาดหวั่นพระหฤไทย จึ่งเหนี่ยวกิ่งทลอกไว้ จะเลื่อนพระองค์ลงมาก็ไม่ได้ เสดจนั่งอยู่บนค่าคบจนต้นทลอกตรงขึ้นสูงสุด เปนอัศจรรย์ในพระหฤไทยนัก จะเรียกมหาดเล็กข้าเฝ้าทั้งปวงก็ไม่ได้ยิน ฝ่ายบันดาไพร่พลเสนาข้าเฝ้าทั้งปวงก็ตกใจ คอยอยู่ใต้ต้นทลอกสิ้น ภอเพลาพระอาทิตย์อุไทย ต้นทลอกนั้นจึ่งเอนลงราบถึงพระธรณีดังเก่า พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์จึ่งลงจากต้นทลอกมายังบันดาข้าเฝ้า ๆ ก็มีความยินดีนัก ครั้นรุ่งขึ้น เพลาเช้า นางนาคผู้เปนธิดาพระยานาคชวนบริวารขึ้นมาเล่นน้ำในทะเลสาบ แล้วว่ายเข้ามาตามลำคลองจนถึงที่ใกล้ต้นทลอก พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์เหนนางนาค ก็ภาพวกอำมาตย์ราชเสนาทั้งปวงเข้าล้อมจับ ๆ นางนาคได้ แล้วภามาไว้ที่ต้นทลอก ได้สมัคสังวาศ แล้วตั้งเปนพระอรรคมเหษี ขณะมื่อพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์จับนางนาคได้นั้น ฝ่ายบริวารนางนาคก็ภากันหนีกลับไปแจ้งความแก่พระยานาคผู้บิดา ๆ จึ่งให้หาพระราชบุตรซึ่งเปนน้องนางนาคให้เกณฑ์พวกพลนาคขึ้นมาตาม ภบกับพระเจ้าประทุมสุริยวงษ์ ได้รบกัน แพ้พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ ๆ จับได้ จะฆ่าเสีย นางนาคผู้เปนพระอรรคมเหษีจึ่งทูลฃอชีวิตรไว้ แล้วพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ก็ปล่อยให้กลับคืนไปเมืองนาค นาคกุมารจึ่งแจ้งความแก่พระยานาคผู้เปนพระบิดาทุกประการ พระยานาคก็คิดว่า บุตรหญิงเราเขาก็จับได้ไปเลี้ยงเปนภรรยา ครั้นให้บุตรชายไปติดตาม ได้รบกันก็แพ้เขา ๆ จับได้ก็ไม่ฆ่าแล้วปล่อยมา คุณของเขามีแก่เราเปนอันมาก จึ่งจัดเครื่องราชบรรณาการให้บริวารนำขึ้นมาถวายพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ ให้เชิญพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์กับพระราชธิดาลงไปเมืองนาค พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์กับนางนาคผู้เปนพระอรรคมเหษีก็ลงไปอยู่เมืองนาคประมาณกึ่งเดือน พระยานาคจึ่งตรัสแก่พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ว่า ท่านเปนมนุษ จะมาอยู่ในเมืองนาคไม่สมควร จงกลับขึ้นไปเมืองมนุษ เหนภูมถานที่ใดควรจะสร้างพระนครได้ก็ให้ลงมาบอก ข้าพเจ้าจะขึ้นไปช่วยสร้างให้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ก็ลาพระยานาคภานางนาคขึ้นมาอยู่ที่ต้นทลอก แล้วภานางนาคไปเฝ้าพระเจ้าเกตุมาลาผู้เปนพระบิดาเลี้ยง ทูลเล่าเรื่องความถวายทุกประการ พระเจ้าเกตุมาลามีพระไทยยินดีนัก จึ่งให้พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์กับอำมาตยราชเสนาไปเที่ยวดูที่ภูมถานสมควรจะสร้างพระนครได้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ก็เหนว่า โคกที่ต้นทลอกตั้งอยู่นั้นควรจะสร้างพระนครอันใหญ่ได้ แล้วภากันไปกราบทูลพระเจ้าเกตุมาลา ๆ จึ่งให้พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์กับนางนาคลงไปทูลแก่พระยานาค ๆ ก็ภาพวกพลนาคขึ้นมาสร้างพระนครอันใหญ่ถวายพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์อยู่ ให้ชื่อว่า พระนครธม พระเจ้าเกตุมาลาก็ราชาภิเศกพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ขึ้นทรงราชอยู่ในพระนครธมอันใหญ่ ครั้นนานมา พระเจ้าเกตุมาลาก็ถึงแก่พิราไลย พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ก็ถวายพระนครที่พระเจ้าเกตุมาลาผู้เปนพระบิดาเลี้ยงเสดจอยู่นั้นเปนพระอาราม นิมนต์ให้พระพุทธโฆษาจาริย์อยู่เมื่อพระพุทธโฆษาจาริย์กลับเข้ามาแต่ลังกาทวีป เพราะเหตุที่พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ทรงพระราชอุทิศถวายเมืองโคกทลอกเปนวัด จึ่งได้นามชื่อว่า พระนครวัด ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ก็ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่พระยานาคผู้เปนพระเจ้าพ่อตาทุกปี ครั้งนั้น แต่บันดากระษัตรทุกพระนครต้องไปขึ้นแก่พระนครธมอันใหญ่ด้วยบารมีของพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ เมืองสุโขไทยไปส่งส่วยน้ำ เมืองตลุงส่งส่วยไหม เมืองละโว้ส่งส่วยปลาแห้ง ส่วนพระยานาคผู้เปนพระเจ้าพ่อตาถึงแก่พิราไลยแล้ว พระราชบุตรพระยานาคซึ่งเปนน้องนางนาคนั้นก็ได้ผ่านพิภพนาคแทนพระบิดา พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ได้ทรงราชมาช้านานแล้ว พุทธศักราชล่วงได้ ๑๕๐๑ ปี จึ่งพระร่วงบังเกิดขึ้นในเมืองสุโขไทย ได้เปนนายกองส่วยน้ำ จึ่งให้สานชลอมใส่น้ำไปส่งพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ ๆ ได้เหนชลอมใส่น้ำมาได้ไม่รั่ว จึ่งตรัสถามว่า ผู้ใดเปนผู้จัดให้เอาชลอมใส่น้ำมาส่งไม่รั่วได้ดั่งนี้ พวกไทยซึ่งคุมชลอมน้ำไปนั้นจึ่งกราบทูลว่า นายร่วงผู้เปนนายกองว่ากล่าวสิ่งใดสักสิทธิ์ทุกประการ ให้สารชลอมใส่น้ำมาถวาย พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์จึ่งตรัสว่า เมืองไทยเกิดผู้มีบุญขึ้นแล้ว ตั้งแต่นี้ไป เมืองไทยจะไม่ได้ขึ้นแก่เมืองเขมรแล้ว พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์จึ่งว่าแก่ไทยซึ่งเปนนายคุมน้ำไปถวายว่า อย่ามาส่งน้ำอีกเลย พวกไทยก็ภากันกลับมาบอกแก่นายร่วง ขณะนั้น พระยาเดโชดำดิน เจ้าเมืองขอม เข้ามาเฝ้า จึ่งตรัสบอกว่า เดี๋ยวนี้ มีผู้มีบุญเกิดขึ้นในเมืองไทย ให้เอาชลอมใส่น้ำมาส่งแก่เมืองเรา เหนเขาจะไม่ขึ้นแก่เมืองเราแล้ว พระยาเดโชดำดินจึ่งกราบทูลว่า กระหม่อมฉันจะรับอาสาไปจับนายร่วงให้จงได้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ห้ามว่า อย่าไปจับเขาเลย พระยาเดโชดำดินไม่ฟัง แล้วก็กราบถวายบังคมลามาจัดกองทัพเร่งรีบยกมา ตัวพระยาเดโชดำดินนั้นดำมาในแผ่นดิน นายร่วงรู้ข่าวว่า เมืองเขมรยกทัพมาจะจับตัว ก็หนไปถึงแดนเมืองพิจิตร ไปอาไศวยอยู่ริมวัด จึ่งฃอเข้าปลาอาหารชาวบ้านนั้นกิน ชาวบ้านก็ให้อาหารกับปลาหมอกิน ครั้นนายร่วงกินเนื้อเสียแล้ว ยังแต่ก้าง จึ่งทิ้งลงในน้ำ ก้างปลานั้นก็กลับเปนขึ้นว่ายน้ำอยู่ พระยาเดโชดำดิน ครั้นดำดินไปถึงบ้านที่นายร่วงอยู่ ก็ผุดขึ้นถามชาวบ้าน ๆ บอกว่า นายร่วงหนีไปอยู่บ้านอื่นแล้ว พระยาเดโชดำดินก็ดำดินติดตามไป ครั้นนายร่วงรู้ ก็หนีไปอาไศรยอยู่วัดณเมืองสุโขไทย ให้เจ้าอะธิการบวชให้เปนภิกษุ ครั้นเพลาวันหนึ่ง พระร่วงลงมากวาดลานวัด พระยาเดโชดำดินก็ผุดขึ้นที่ใกล้พระร่วงยืนอยู่ที่นั้น แต่ไม่รู้จักตัวพระร่วง จึ่งถามว่า พระร่วงอยู่ที่ไหน พระร่วงจึ่งว่า อยู่ที่นี่ก่อนเทิญ เราจะไปบอกพระร่วงให้ พระยาเดโชดำดินก็ผุดขึ้นมาได้ครึ่งกายติดอยู่ไปไม่ได้ ครั้นนานมา รูปกายพระยาเดโชดำดินก็กลับกลายเปนสิลาไป จึ่งเรียกว่า ขอมดำดิน แต่ครั้งนั้นมา พระพุทธศักราชได้ ๑๕๐๒ พระเจ้าสุโขไทยถึงแก่พิราไลย ไม่มีพระราชวงษานุวงษ์ที่จะครองราชสมบัติสืบไป เสนาบดีจึ่งไปอังเชิญพระร่วงมาครองเมืองสุโขไทย พระเจ้าร่วงจึ่งทรงพระดำริหว่า พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ตรัสว่า ไม่ให้เอาน้ำไปส่ง แล้วเหตุใดจึ่งให้พระยาเดโชดำดินมาจับเราเล่า เราจะยกกองทัพไปจับพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์บ้าง จึ่งตรัสสั่งให้เกณฑ์พวกพลโยธาเปนอันมากยกจากเมืองสุโขไทยไปถึงเมืองเสียมราบจนถึงพระนครธม พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ทรงทราบจึ่งตรัสสั่งว่า ให้พระร่วงมาเปิดประตูพระนครเทิญ พระเจ้าร่วงจึ่งยกพลไปเปิดประตูเมืองไม่ได้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์เหนว่า พระเจ้าร่วงเปิดประตูเมืองไม่ได้แล้ว จึ่งตรัสว่า เราจะให้ประตูเปิดเองให้พระเจ้าร่วงเข้ามาเฝ้าเราให้จงได้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ตรัสดังนั้นแล้วจึ่งตรัสว่า ประตูเปิดเสียให้พระยาร่วงเข้ามาเฝ้าเรา ประตูก็เปิดออกในทันใดนั้น พระเจ้าร่วงกับพวกพลไทยทั้งปวงกลัวพระเดชานุภาพกราบถวายบังคมชมพระบารมีพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ตั้งแต่พระนครธม นครวัด จนถึงเมืองเสียมราบ จึ่งได้ชื่อว่า เสียมราบ แต่นั้นมา เมื่อพระเจ้าร่วงได้เฝ้าแล้วทรงนับถือเปนอันมาก พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ก็พระราชทานทรัพย์สิ่งของทองเงินโภชนาหารให้พระเจ้าร่วงแลขุนนางไพร่พลทั้งปวงกินอยู่ผาศุกยิ่งนัก เมื่อพระยาร่วงทูลลากลับมา พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ให้เอาทรัพย์สิ่งของทองเงินในท้องพระคลังออกมาพระราชทานให้พระเจ้าร่วงแลขุนนางกับไพร่ทั้งปวงเอามาตามปราถนาทุกคน ทรัพย์ในท้องพระคลังก็ไม่พร่อง พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์มีบุญญาธิการยิ่งนัก พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์มีพระราชบุตรด้วยพระสนมองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อ พระเจ้ากรุงพาล พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ทรงราชมาช้านาน ท้าวพระยาย่อมถวายดอกไม้ทองเงินอยู่เนืองนิจ พระชนมายุได้ร้อยปีเสศ ทรงพระชรา ถึงแก่พิราไลย กรุงไทยก็มิได้ส่วยน้ำส่วยปลาแต่นั้นมา พระเจ้ากรุงพาลผู้เปนพระราชบุตรก็ได้ทรงราชสืบกระษัตรสุริยวงษ์ต่อลงมา แต่พระเจ้ากรุงพาลองค์นี้ไม่ได้เอาส่วยไปส่งแก่พระยานาค ๆ ไม่เหนชาวเมืองเขมรเอาส่วยมาส่งช้านานแล้ว จึ่งให้นาคที่เปนเสนามนตรีมาตักเตือนให้เอาส่วยไปส่ง พระเจ้ากรุงพาลก็มิยอมเอาส่วยไปส่ง ว่า แต่ก่อนนั้น บิดาของพระยานาคองค์นี้เปนพระเจ้าพ่อตาของพระราชบิดาเรา ได้มีคุณแก่กันเปนอันมาก กรุงเขมรจึ่งได้เอาส่วยไปส่งแก่เมืองนาค เดี๋ยวนี้ เรากับพระยานาคก็ไม่ได้มีคุณสิ่งใดแก่กัน เราจะให้เอาส่วยไปส่งต้องการอะไร นาคซึ่งเปนเสนามนตรีก็กลับลงไปทูลความแก่พระยานาค ๆ ได้ฟังก็โกรธ จึงยกพวกพลโยธาขึ้นมาถึงอินทปัถมหานคร จึงให้นาคกุมารเข้าไปต่อว่า ๆ เหตุใดไม่เอาส่วยไปส่ง พระเจ้ากรุงพาลจึ่งว่าแก่นาคกุมารเหมือนอย่างว่าแก่นาคเสนาเมื่อพระยานาคให้มาต่อว่าครั้งก่อนนั้น นาคกุมารจึ่งกลับไปทูลความแก่พระยานาค ๆ โกรธ จึงยกพลเข้ารบเอาพระนคร พระเจ้ากรุงพาลจึงออกต่อรบด้วยพระยานาค ๆ ปราไชย พระเจ้ากรุงพาลจับได้ ตัดศีศะพระยานาค โลหิตพระยานาคก็กะเดนไปต้องพระองค์พระเจ้ากรุงพาล ฝ่ายบริวารพระยานาคก็ภากันกลับไปเมืองนาค ครั้นอยู่มา พระเจ้ากรุงพาลบังเกิดโรคเรื้อนทั่วทั้งพระกาย เพราะโลหิตของพระยานาคต้องพระองค์ พระเจ้ากรุงพาลให้แพทย์รักษาก็ไม่หาย ยังมีพระฤๅษีองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ บอกฤๅษีผู้บริวารของตนว่า ข้าจะไปเที่ยวเล่นที่เมืองอินทปัถสักสามเดือนจะกลับมา พระฤๅษีองค์นั้นก็เหาะมา บัดเดี๋ยวหนึ่งก็ถึงเมืองอินทปัถมหานคร เหนบุรุษชรานุ่งผ้าขาว จึงถามว่า เมืองนี้เรียกว่าเมืองอะไร บุรุษนุ่งผ้าขาวจึงบอกว่า เมืองอินทปัถมหานคร พระฤๅษีจึงว่า เมืองนี้สนุกนักหนา แต่กระษัตรซึ่งครองราชสมบัตินั้นเปนโรคเรื้อน พระชนมายุนั้นน้อย ไม่สมควรที่จะครองพระนครอยู่ได้ เราจะชุบให้กระษัตรองค์นี้มีชนมายุยืนยาวไปนานให้ได้เสวยราชสมบัติควรแก่พระนคร บุรุษชรานุ่งผ้าขาวไปกราบทูลแก่พระเจ้ากรุงพาลว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งนั้นมาว่า จะชุบพระองค์ให้หายโรคมีพระชนมายุยืน พระเจ้ากรุงพาลจึงตรัสสั่งให้นิมนต์พระฤๅษีเข้าไปในพระราชวัง ตรังสั่งให้ไปเอากระทะเหลกใหญ่มาตั้งขึ้นบนเตาติดไฟใส่น้ำเคี่ยวให้เดือด แล้วพระฤๅษีจึงว่า เชิญมหาบพิตรพระราชสมภารลงไปอยู่ในกระทะเทิญ พระเจ้ากรุงพาลจึ่งตรัสสั่งว่า จะทำประการใดจึงจะให้เหนปรากฎแก่จักษุคนทั้งปวง อำมาตย์ผู้หนึ่งจึ่งจับสุนักข์ใส่ลงในกระทะ สุนักข์นั้นก็ตาย พระฤๅษีจึงเอายาโรยลงไปในกระทะ สุนักข์ก็เปนขึ้น มีรูปกายงามกว่าแต่ก่อน พระเจ้ากรุงพาลก็ยังไม่เชื่อลงเปนแท้ จึงตรัสสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งลงไปในกระทะนั้น พระฤๅษีจึงเอายาโรยลง อำมาตย์นั้นก็เปนขึ้น รูปงามดุจเทวดา พระเจ้ากรุงพาลก็ยังไม่เชื่อ พระเจ้ากรุงพาลจึงตรัสว่า นิมนต์พระมหาฤๅษีลงไปในกระทะก่อนเทิญ ข้าพเจ้าจึงจะเชื่อ พระมหาฤๅษีก็เปลื้องเครื่องบริกขารออกจากกาย จึงสั่งไว้ว่า ถ้าอาตมภาพลงไปในกระทะแล้ว จงเอายานี้โรยลงไปในกระทะ พระมหาฤๅษีสั่งเสร็จแล้วก็ส่งห่อยาให้แก่พระเจ้ากรุงพาลแล้วก็ลงไปในกระทะ กายพระฤๅษีนั้นก็ละลายเปนน้ำ พระเจ้ากรุงพาลก็เอายาโรยลงในกระทะครึ่งหนึ่ง จึ่งบังเกิดเปนมือเปนท้าวขึ้น พระเจ้ากรุงพาลก็ไม่เอายาโรยลงไปอีกให้สิ้น พระเจ้ากรุงพาลจึงสั่งให้อำมาตย์หามเอากระทะไปเทเสียที่ริมเชิงเขาอยู่ทิศใต้พระนคร ช้านานได้สามเดือน พระมหาฤๅษีผู้เปนอาจาริย์ใหญ่ไม่เหนพระฤๅษีที่มาชุบพระเจ้ากรุงพาลนั้น จึงถามฤๅษีที่เปนบริวารทั้ง ๕๐๐ ว่า พระผู้เปนเจ้าของท่านทั้งปวงนี้ไปข้างไหน พระฤๅษีที่เปนบริวารจึงแจ้งความว่า พระผู้เปนเจ้าของข้าพเจ้าไปเมืองอินทปัถมหานคร จึ่งพระมหาฤๅษีเปนครูผู้ใหญ่เหาะมาถึงเมืองอินทปัถมหานคร จึ่งถามชาวเมืองทั้งหลายว่า ท่านได้เหนฤๅษีองค์หนึ่งมาเมืองนี้บ้างฤๅไม่ ชาวเมืองจึงบอกว่า ได้เหนอยู่ แต่ฤๅษีองค์นั้นมาว่า จะชุบพระมหากระษัตรขึ้นให้หายโรค ให้รูปงาม ให้พระชนมายุยืนยาวไปนาน พระมหากระษัตรไม่เชื่อ จึงให้พระฤๅษีนั้นลงไปในกระทะก่อน ฤๅษีนั้นจึงสั่งว่า เมื่ออาตมาภาพลงไปในกระทะแล้ว จงเอายาโรยลงไปในกระทะ พระมหากระษัตรเอายาโรยลงไปก็ไม่เหนเปนขึ้น พระมหากระษัตรจึงให้อำมาตย์เอากระทะนั้นไปเทเสียที่ภูเขาข้างทิศใต้พระนคร พระฤๅษีผู้เปนอาจาริย์รู้ดังนั้นแล้ว จึ่งไปตามที่ภูเขานั้น ได้เหนศพฤๅษีผู้ตายนั้น พระฤๅษีผู้เปนอาจาริย์จึ่งชุบขึ้นแล้วถามว่า เหตุใดท่านจึงมาตายอยู่ที่นี้ พระฤๅษีนั้นจึงบอกว่า ข้าพเจ้ามาหวังจะชุบให้กระษัตรนั้นมีรูปงามและอายุยืน กระษัตรนั้นก็ไม่เชื่อ จึงให้จับเอาสุนักข์มาใส่ลงในกระทะแล้วข้าพะเจ้าก็เอายาโรยลงไปก็เปนขึ้น แล้วกระษัตรนั้นก็ยังไม่เชื่อ แล้วตรัสบังคับให้อำมาตย์คนหนึ่งลงไปในกระทะอีก ข้าพเจ้าก็เอายาโรยลงไป ก็เปนขึ้น รูปก็งามยิ่งกว่าแต่ก่อน แต่กระษัตรนั้นยังไม่เชื่อ จึงให้ข้าพเจ้าลงไปในกระทะ เมื่อข้าพเจ้าจะลงไปในกระทะ จึงสั่งไว้ว่า ให้เอายาโรยลงไป กระษัตรนั้นก็ไม่ได้โรยยาตามข้าพเจ้าสั่งไว้ ข้าพเจ้าจึงได้ถึงความตายฉนี้ ฤๅษีทั้งสองมีความโกรธนัก จึงภากันมาในเมืองอินทปัถมหานครที่พระเจ้ากรุงพาลอยู่นั้น ฤๅษีทั้งสองจึงแช่งว่า เรามีจิตรเมตตาจะชุบท่านขึ้นให้รูปงาม ให้อายุยืน ให้หายโรค ท่านกลับมาประทุศฐร้ายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป อย่าให้ท่านหายโรค อย่าให้ท่านครองสมบัติอยู่ช้านานได้ แลเมืองอินทปัถนี้ กระษัตรองค์ใดได้ครองราชสมบัติแล้ว อย่าให้อยู่นานได้ ให้เสื่อมสูญเปนป่าไป แล้วพระฤๅษีทั้งสองก็พากันไปป่าหิมพานต์ พระเจ้ากรุงพาลก็เปนโรคเรื้อนไม่หาย จึ่งภานักสนมบริวารไปรักษาพระองค์อยู่ที่เขาแปดเหลี่ยม แต่ทุกวันนี้เรียกว่า เขากุเลน คำไทยว่า เฃาลิ้นจี่ พระเจ้ากรุงพาลรักษาโรคเรื้อนไม่หาย ก็ถึงแก่พิราไลย รูปกายพระเจ้ากรุงพาลแลนางนักสนมก็กลายเปนสิลาไป ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมา กระษัตรในแว่นแคว้นแดนเขมรที่เสวยราชสมบัติในพระนครธมนั้นไม่อยู่นานได้โดยลำดับมาหลายพระองค์ จนถึงกระษัตรองค์หนึ่ง เดิมชื่อ นายพรม เปนพ่อค้าโค ได้เสวยราชสมบัติ ตั้งพระนครอยู่ข้างฟากแม่น้ำในทิศตวันออกแห่งพระนครธม ก่อกำแพงด้วยสิลาแลง ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ นายพรหมได้เสวยราชสมบัติได้ ๒๐ ปีก็ถึงแก่พิราไลย มีพระราชบุตรองค์หนึ่งได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมา พระมหากระษัตรนั้นไม่มีพระราชบุตร ครั้นนานมา ก็ทรงพระชรา ทรงพระประชวร จึ่งให้โหรทำนาย ๆ ว่า ผู้มีบุญมาบังเกิดในครรภ์หญิงเขนใจในพระนครนี้ พระมหากระษัตรจึ่งสั่งให้อำมาตย์ไปจับหญิงเขนใจที่มีครรภ์นั้นมาฆ่าเสีย โหรจึ่งทูลห้ามว่า ที่จะจับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสียให้สิ้นนั้นก็จะเปนกรรมเวรไป แต่อาการที่ผู้มีบุญมาบังเกิดในครรภ์หญิงนั้นเปนคนเขนใจเที่ยวเกบฟืน ถ้าเกบฟืนได้ เอามัดฟืนขึ้นทูลบนศีศะเดินมา เมื่อจะอยุดภักนั้น ก็เอามัดฟืนวางไว้แล้วเอาผ้าที่รองบนศีศะนั้นวางบนมัดฟืนรองนั่ง เหตุว่าบุตรที่ในครรภ์นั้นแลเปนผู้มีบุญ ถ้าเหนดังนั้นแล้ว จึ่งฆ่าหญิงเขนใจที่มีครรภ์คนนั้นเสียเทิญ พระมหากระษัตรได้ทรงฟังโหรกราบทูลดังนั้น จึ่งให้อำมาตย์ไปเที่ยวสอดแนมดู ครั้งนั้น หญิงเขนใจพวกหนึ่งทูลมัดฟืนมา แต่หญิงหกคนนั้นปลงมัดฟืนลงจากศีศะแล้วก็ภากันไปเที่ยวนั่งตามร่มไม้ แต่หญิงเขนใจมีครรภ์คนหนึ่งนั้นปลงมัดฟืนแล้วเอาผ้าลาศบนมัดฟืนรองนั่ง พวกอำมาตย์เหนดังนั้นแล้วจึ่งจับหญิงนั้นไปถวายพระมหากระษัตร ๆ จึ่งตรัสสั่งให้เพชรฆาฏเอาไปฆ่าเสียที่ดอนแห่งหนึ่งใกล้วัดพระมหาสังฆราช บัดนี้เรียกว่า ดอนพระศรี ส่วนกุมารอยู่ในครรภ์นั้นก็ประสูตรออกมา มีแร้งมากางปีกปิดป้องรักษากุมารนั้นไว้จะไม่ให้ถูกแดดแลลม ส่วนตาเคเห ซึ่งเปนผู้เลี้ยงโคของพระมหาสังฆราชนั้น ไล่ฝูงโคไปเลี้ยงที่ใกล้ศพมารดากุมารนั้น เหนฝูงแร้งภากันกางปีกป้องปิดอยู่ ก็มีความสงไสย จึ่งเข้าไปดู เหนกุมารมีรูปอันงาม ก็อุ้มเอามาถวายแก่พระสังฆราช ๆ ก็รู้ว่า กุมารคนนี้จะมีบุญมาก แต่พระมหากระษัตรให้เอามาฆ่าแล้วยังไม่ตาย จึ่งมอบให้ตาเคเหเอาไปเลี้ยงไว้จนอายุกุมารนั้นได้หกขวบเจ็ดขวบ ครั้นอยู่มา พระมหากระษัตรก็ทรงพระประชวรอีก จึ่งให้โหรทำนาย ๆ ว่า ผู้มีบุญนั้นยังไม่ตาย มีผู้เอาไปเลี้ยงไว้ อยู่ข้างทิศตวันออกแห่งเมืองพนมเพ็ญ พระมหากระษัตรจึงให้อำมาตย์ไปจับตัว ส่วนพระมหาสังฆราชกับตาเคเหรู้ความนั้นแล้ว พระมหาสังฆราชจึ่งให้ตาเคเหภากุมารนั้นหนีไป ฝ่ายอำมาตย์ก็ติดตามไป ตาเคเหเหนจวนตัว จึ่งภาพระกุมารเข้าซ่อนอยู่ในบึงแห่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรียกว่า โคกบันชัน เมื่อจะเข้าไปนั้น ตาเคเหทำเปนทีเดินถอยหลังเข้าไป หวังจะให้คนทั้งปวงเหนว่า หนีออกจากโคกนั้นแล้ว ฝ่ายอำมาตย์ซึ่งติดตามไปถึงโคกนั้นแล้วก็ไม่เหนจึ่งขับช้างเข้าบุกตามหญ้ารกนั้น แต่ที่กุมารอยู่นั้นมีช้างพังช้างหนึ่งไปยืนคร่อมพระกุมารอยู่ทำอาการเหมือนเหยียบย่ำดุจช้างทั้งปวงไม่ให้คนทั้งปวงสงไสย อำมาตย์ราชเสนาเที่ยวหาไม่เหนแล้วก็ภาไพร่พลกลับมาทูลพระมหากระษัตร ฝ่ายตาเคเห ครั้นเหนคนทั้งปวงกลับไปแล้ว จึ่งภาพระกุมารออกจากบึงไปภักอยู่ในป่าแห่งหนึ่งชื่อ ไพรทับ ฝ่ายพระมหากระษัตรให้โหรทำนาย ๆ ว่า บัดนี้ ผู้มีบุญหนีไปอยู่ในป่าแห่งหนึ่งข้างทิศใต้ พระมหากระษัตรสั่งให้เสนาอำมาตย์ยกทับไปติดตาม ตาเคเหเหนจึ่งภากุมารหนีไปภักอยู่ที่ป่าไพรปวน ออกจากป่าไพรปวนไปภักอยู่ที่เขาประสิทธิ์ข้างทิศหรดี เมื่อจะเข้าไปในถ้ำนั้น ตาเคเหอุ้มพระกุมารเดินถอยหลังเข้าไปในถ้ำนั้น แล้วแมลงมุมก็ชักใยปิดปากถ้ำเสีย หวังจะไม่ให้คนสงไสยว่า ตาเคเหภากุมารเข้าไปในถ้ำนั้น ฝ่ายอำมาตย์ก็ภาไพร่พลกลับมาทูลพระมหากระษัตร ๆ ก็นิ่งอยู่ ฝ่ายตาเคเหก็พระกุมารข้ามแม่น้ำพนมเพ็ญ ไปที่ดอนหนึ่งข้างทิศตวันออก กุมารจึ่งหักเอากิ่งไทรปักไว้ จึ่งอธิฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะมีบุญต่อไปในภายน่า ก็ฃอให้กิ่งไทรนี้เปนขึ้นจำเริญโตใหญ่ไปในเบื้องน่า ต้นไทรนั้นยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ครั้นอธิฐานแล้ว กุมารก็บันทมหลับอยู่บนตักตาเคเหน่อยหนึ่ง ตาเคเหเหนนกกระทุงกินปลาอยู่ในหนองเปนอันมาก ตาเคเหสำคัญว่า กองทัพยกมาตามจับ ตาเคเหจึ่งปลุกกุมารขึ้นบอกว่า กองทัพยกตามมา ก็ภากันหนีไปถึงต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ตาเคเหจึ่งขึ้นไปบนต้นมะม่วงสวายสอ แลดูไม่เหนกองทัพ เหนแต่ฝูงนกกระทุงลงกินปลาอยู่ในหนองก็ดีใจ จึ่งเกบผลมะม่วงมาให้แก่กุมาร จึ่งบอกพระกุมารว่า ไม่ใช่กองทัพ กุมารก็คิดแต่ในใจว่า ตาเคเหลวงเราให้ตกใจ ถ้าเรามีบุญได้เปนกระษัตร จะต้องว่ากล่าวสั่งสอนเสียบ้าง แล้วกุมารกินผลมะม่วง ตาเคเหได้รับพระราชทาน มีโอชารศยิ่งนัก ตาเคเหก็เกบเลดมะม่วงสวายสอนั้นมาด้วย ก็ภากันมาถึงที่บ้านตำบลหนึ่ง กุมารอดอาหารหิวโหยนัก ได้เหนหญิงขาวผู้หนึ่งไปยืนอยู่ที่น่าบ้าน กุมารจึ่งว่า ตาไปฃอเข้าหญิงขาวที่ยืนอยู่นั้นมากินสักหน่อยเทิญ ตาเคเหก็ไปฃอเข้าแก่หญิงที่ยืนอยู่นั้น ๆ จึ่งถามว่า ตามาแต่ข้างไหน ตาเคเหจึ่งบอกตามเหตุที่ตนมากับกุมาร หญิงขาวก็ให้ไปรับกุมารเข้ามา แต่งโภชนาการให้กิน แล้วให้กุมารกับตาเคเหอยู่ในบ้านได้ประมาณเจดวัน ฝ่ายพระมหากระษัตรทรงพระประชวรหนักถึงแก่พิราไลย เสนาพฤฒามาตย์ราชประโรหิตก็ประชุมพร้อมกันให้หาโหรทำนายดู ก็รู้ว่า ผู้มีบุญนั้นยังอยู่ จึ่งปฤกษากันเสี่ยงราชรถไป ราชรถก็ตรงไปถึงฝั่งแม่น้ำก็อยุดอยู่ ฝ่ายอำมาตย์ราชประโรหิตซึ่งตามราชรถไปนั้นก็ชวนกันเอาราชรถนั้นข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งฟากข้างโน้น ราชรถตรงไปถึงที่ใกล้กุมาร เสนาอำมาตย์ราชปะโรหิตเหนพระราชกุมารต้องด้วยลักษณควรจะเปนพระมหากระษัตรครอบครองราชสมบัติบำรุงอาณาประชาราษฎรให้อยู่เยนเปนศุขได้ ก็ให้ประโคมดุริยางคดนตรีย์ขึ้นพร้อมกัน เชิญเสดจกุมารขึ้นทรงราชรถแห่แหนไปสู่ยังพระนครจัตุรมุกข์พนมเพ็ญเปนสมมติกระษัตรทรงพระนาม พระเจ้าปักษีจำกรง เพราะเหตุเมื่อนายเพชรฆาฏฆ่าพระมารดา มีนกแร้งมากางปีกปกปิดเฝ้ารักษาพระองค์ไว้นั้น พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งทรงตั้งตาเคเหนั้นเปนที่เจ้าฟ้าทฬหะ เอกอุมนตรี และบ้านที่พระองค์ไปอาไสยหญิงขาวยืนอยู่นั้น ให้ตั้งขึ้นเปนเมืองเรียกว่า เมืองสีสอฌอ แล้วพระราชทานส่วยสาอากรในเมืองสีสอฌอให้ขึ้นแก่หญิงขาวที่ให้เข้าแก่พระองค์เสวยนั้น ที่นายเพชรฆาฏฆ่าพระมารดานั้น ให้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดดอนพระศรี ที่พระองค์ปักต้นไทรไว้นั้น ให้สร้างพระวิหารไว้ ให้ชื่อว่า วัดวิหารสวรรค์ เมื่อตาเคเหได้เปนเจ้าฟ้าทฬะหะนั้น ได้เล็ดผลมะม่วงมาแต่ครั้งภาพระกุมารหนีมานั้น เอามาปลูกไว้ในบ้านจนโตใหญ่ได้เจดปีจนมีผล จึ่งเกบมาถวายพระเจ้าปักษีจำกรง ๆ เสวยมีโอชารศ จึ่งตรัสถามเจ้าฟ้าทฬหะว่า ได้ผลมะม่วงมาแต่ไหน เจ้าฟ้าทฬหะจึ่งทูลว่า ได้มาแต่ครั้งหนีนกกระทุงนั้น พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งตรัสว่า เมื่อขณะนั้น ข้ามีความโกรธนัก ด้วยตาลวงข้าให้ตกใจ โทษตาก็มีอยู่ ให้ตาพิเคราะดู โทษจะมีประการใด เจ้าฟ้าทฬหะจึ่งทูลว่า โทษข้าพเจ้าก็ถึงที่ตาย ฃอพระองค์จงฆ่าข้าพเจ้าเสีย อย่าเอาไว้ จะเปนเยี่ยงอย่างต่อไป พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งตรัสว่า โทษผิดแต่เพียงนี้ ถึงจะผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย เราก็ไม่ฆ่าท่านได้ เจ้าฟ้าทฬหะก็ทูลวิงวอนไปจะให้ฆ่าตนเสียให้ได้หลายครั้งว่า กระหม่อมฉันมีความชอบ พระองค์ก็ได้ทรงชุบเลี้ยงยกย่องตั้งแต่งขึ้นให้เปนขุนนางผู้ใหญ่แล้ว โทษถึงตาย ก็ให้ฆ่าเสียเทิญ พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งตรัสว่า ถ้าดังนั้น เราจะทำตามถ้อยคำท่าน แล้วก็ตรัสสั่งเจ้าพนักงานจัดเอาเสื่อไปปูลาดลง แล้วให้เจ้าฟ้าทฬหะนอนลง แล้วเอาผ้าคลุมไว้หลายชั้น หวังพระหฤไทยจะให้เปนเคล็ดไม่ให้ถึงคอเจ้าฟ้าทฬหะ ครั้นให้เอาผ้าคลุมแล้ว ก็ทรงเงื้อพระขรรค์ขึ้น แล้วก็ค่อยวางลงตรงคอเจ้าฟ้าทฬหะแต่เบา ๆ ขณะเมื่อวางพระขรรค์ลงไปนั้น ผ้าก็มิได้ขาด ครั้นเลิกผ้าขึ้นแล้ว คอเจ้าฟ้าทฬหะนั้นก็ขาดไปถึงแก่ความตาย ควรจะเปนอัศจรรหนักหนา พระเจ้าปักษีจำกรงมีความอาไลยนัก จึ่งสั่งให้แต่งการศพเจ้าฟ้าทฬหะตามตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ ปลงศพเสรจแล้วจึ่งตรัสสั่งให้เอาอัฐิไปฝังไว้ที่บ้านมุบกำพูล พระมหากระษัตรทรงพระอาไลยในเจ้าฟ้าทฬหะนัก จึ่งทรงเลี้ยงบุตรภรรยาเจ้าฟ้าทฬหะนั้นเปนขุนนางสืบไป พระเจ้าปักษีจำกรงเสวยราชสมบัตินานมาจนถึงพิราไลย พระราชบุตรทรงราชย์สืบวงษต่อมาหลายพระองค์ จนถึงกระษัตรองค์หนึ่ง เปนเชื้อวงษของพระเจ้าปักษีจำกุรง ได้เสวยราชสมบัติ พระนามนั้นไม่ปรากฎ แต่กระษัตรองค์นั้นประพฤติการทุจริตไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม ภาอำมาตย์ไปเที่ยวลักทรัพย์ของราษฎรอยู่เปนนิจ ยังมีพระฤๅษีองค์หนึ่งรักษาศิลอยู่ในป่าใกล้พระนครธม แต่ฤๅษีองค์นั้นถ่ายปะสาวะลงในกะพังสิลาอยู่เนืองนิจ บุรุษชาวป่าคนหนึ่งเปนชาติกวยพรรณ เวลาวันหนึ่ง ภาภรรยากับบุตรหญิงไปเที่ยวขุดเผือกมันในป่า หลงหนทางไป จะกลับมาบ้านมิได้ บิดามารดาจึ่งเที่ยวหาน้ำจะให้บุตรหญิงนั้นกิน จึ่งไปภบน้ำในกระพังสิลาเปนปะสาวะของพระฤๅษีถ่ายลงไว้ แล้วก็กลับไปภาบุตรหญิงมาให้กินน้ำในกระพังสิลา แล้วภบหนทาง ก็ภากันกลับไปบ้าน บุตรหญิงนั้นก็มีครรภ์ขึ้น บิดามารดามีความสงไสย จึ่งถามบุตรหญิงว่า รักใคร่กับผู้ใดจึ่งมีครรภ์ บุตรหญิงนั้นก็บติเสธว่า ไม่ได้รักใคร่กับผู้ใด ด้วยมิได้เที่ยวไปจากเรือนเลย แต่เมื่อไปเที่ยวป่านั้น ได้กินน้ำในกระพังสิลา แต่กลิ่นนั้นเหมือนกลิ่นปะสาวะ บิดามารดาจึ่งมีความสงไสยว่า เกลือกจะเปนน้ำปะสาวะของบุรุษผู้ใดมาถ่ายไว้ บุตรของเราได้กินจึ่งมีครรภ์ บิดามารดาก็มีความสงสารแก่บุตรหญิง จึ่งประฏิบัติรักษาครรภ์ไว้จนถ้วนทศมาศ ก็คลอดบุตรเปนชายประกอบด้วยลักษณอันงาม บิดามารดาก็ช่วยกันเลี้ยงรักษาจนเจริญไหญ่ขึ้นได้เจ็ดปี ก็ไปเที่ยวเล่นกับทารกเพื่อนบ้าน ทารกชาวบ้านจึ่งว่าแก่กุมารนั้นว่า ลูกไม่มีบิดา กุมารนั้นมีความน้อยใจนัก จึ่งมาถามมารดาว่า เขาภากันติเตียนว่า ข้านี้ไม่มีบิดา ๆ ข้าอยู่ที่ไหน มารดาจงบอกให้ข้าแจ้งบ้าง มารดาได้ฟังบุตรว่าดังนั้นจึ่งเล่าความให้บุตรนั้นฟังแต่ครั้งไปเที่ยวป่าไปกินน้ำในกระพังสิลาจนมีครรภ์ขึ้นมานั้นทุกประการ กุมารได้ฟังดังนั้นจึ่งว่า ถ้าจะอยู่ไปก็จะมีความอายแก่คนทั้งปวง ข้าจะลามารดาไปเที่ยวหาบิดาให้ภบแล้วจึ่งจะกลับมา มารดากับตายายห้ามสักเท่าใด กุมารนั้นก็ไม่ฟัง จึ่งลามารดากับตายายเที่ยวไปในป่า ภบพระฤๅษี ๆ จึ่งถามว่า กุมารนี้จะไปข้างไหน กุมารจึ่งบอกว่า ข้าพเจ้าเที่ยวมาตามหาบิดาของข้าพเจ้า ฤๅษีจึ่งถามว่า บิดาของท่านนั้นชื่อไร รูปพรรณสัณฐานเปนประการใด เจ้าจึ่งมาตามหาในป่าดั่งนี้ กุมารจึ่งบอกว่า มารดาข้าพเจ้าบอกว่า ออกมาเที่ยวป่า ได้กินน้ำในกระพังสิลา จึ่งมีครรภ์ ข้าพเจ้าไม่รู้จักรูปพรรณแลนามบิดาข้าพเจ้าจึ่งมาตามหา ฤๅษีจึ่งว่าแก่กุมารว่า เจ้าจงอยู่ที่นี่เทิญ เจ้านี้คือบุตรของเราแล้ว เราจะได้สั่งสอนให้เรียนศิลปสาตรสำหรับรักษากายไปภายน่า กุมารนั้นได้ทราบความว่า พระฤๅษีองค์นั้นเปนบิดาของตนดังนั้น ก็มีความยินดีนัก กุมารนั้นจึ่งอยู่กับพระฤๅษีผู้เปนบิดา ๆ ก็สั่งสอนให้กุมารเรียนศิลปสาตร กุมารก็อุสาหเรียนศิลปสาตรอยู่ในสำนักนิ์พระฤๅษีได้เจดปี พระฤๅษีจึ่งเอาเหล็กดีก้อนหนึ่งมาประสิทธิ์เปนเหล็กกายสิทธิ์ให้แก่กุมารผู้บุตรรักษาไว้สำหรับป้องกันตัวมิให้มีไพรีทั้งปวงมากระทำร้ายได้ แลเหล็กกายสิทธิ์ก้อนนั้นอาจแก้ซึ่งพิศยาเบื่อเมาให้กลายเปนดีมีโอชารศหวานดีบริโภคได้ แล้วพระฤๅษีจึ่งให้กุมารเอาเหล็กกายสิทธิ์นั้นกลับมายังสำนักนิ์มารดาตายาย ๆ จึ่งให้กุมารนั้นกลับไปหาฤๅษี ๆ ว่า เราจะไปอยู่ในป่าหิมพานต์แล้ว กุมารก็กราบนมัสการลาพระฤๅษีกลับมายังสำนักนิ์มารดาตายายแห่งตน เล่าความให้มารดาตายายฟังทุกประการ มารดาตายายก็มีความยินดีเปนอันมาก ครั้นอยู่นานมา มารดาตายายถึงแก่กรรมแล้ว กุมารก็เที่ยวไปอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งใกล้พระนครธม บุรุษผู้นั้นทำไร่เข้าโภชเข้าฟ่างเลี้ยงชีวิตร์ เวลาวันหนึ่ง บุรุษนั้นเอาเหล็กกายสิทธิ์หนุนศีศะนอนอยู่ แล้วบุรุษนั้นลุกจากที่นอนบอกไปดูแลผลไม้ในไร่ของตนซึ่งปลูกไว้ ภายหลัง มีกาตัวหนึ่งไปกินแตงที่อื่น แล้วบินเข้าไปในที่นอน ขึ้นจับอยู่บนก้อนเหล็กกายสิทธิ์ แล้วถ่ายอุจาระเปนเมดแตงติดอยู่กับก้อนเหล็กกายสิทธิ์นั้น แล้วบินไป ฝ่ายบุรุษนั้นกลับมาเหนเมดแตงติดอยู่กับก้อนเหล็ก ก็เอาไปปลูกไว้ แตงนั้นก็งอกขึ้นจนมีผล บุรุษนั้นก็เกบเอามากิน มีโอชารศยิ่งนัก เพราะเหตุดังนั้น จึ่งได้นามชื่อว่า บุรุษแตงหวาน ฝ่ายพระมหากระษัตรภาบริวารไปเที่ยวประพาศเล่นในป่า ไปภบไร่บุรุษแตงหวาน ก็ภาบริวารเข้าไปเกบผลแตงของบุรุษนั้นเสวย มีโอชารศหวานนัก จึ่งตรัสสั่งไว้ว่า บุรุษแตงหวานนี้จงอุสาหรักษาผลแตงหวานนี้ไว้ให้เรา อย่าได้ซื้อขายให้ผู้ใด ถ้าแลซื้อขายให้ผู้ใดแล้ว เราจะให้ลงโทษท่านถึงสาหัศ แล้วพระมหากระษัตรองค์นั้นภาบริวารกลับไปพระนคร ภายหลัง มีบุรุษเลี้ยงโคคนหนึ่งไปเลี้ยงโคอยู่ริมไร่บุรุษแตงหวาน โคนั้นเข้าไปในไร่บุรุษแตงหวาน ๆ ก็ขับไล่โค ๆ ไม่หนีไป บุรุษแตงหวานมีความโกรธ จึ่งเอาก้อนเหล็กขว้างไปถูกท้องโค ก็ทะลุ โคนั้นก็ตาย บุรุษเลี้ยงโคจึ่งต่อว่าแก่บุรุษแตงหวานว่า เหตุใดท่านจึ่งฆ่าโคของข้าพเจ้าเสีย บุรุษเลี้ยงโคก็เอาความนั้นมาร้องแก่ตระลาการ ๆ จึ่งให้นายนักการมาจะเอาบุรุษแตงหวานนั้นไป บุรุษแตงหวานก็ว่า ไร่แตงนี้พระมหากระษัตรสั่งไว้ให้ข้าพเจ้าเฝ้าอยู่มิให้เปนอันตรายได้ เมื่อจะมาเอาตัวข้าพเจ้าไปแล้ว ก็ให้กราบทูลเสียก่อน ข้าพเจ้าจึ่งจะไป เสนามนตรีจึ่งกลับไปกราบทูลแก่พระมหากระษัตร ๆ จึ่งตรัสสั่งขุนนางออกไปเอาตัวบุรุษแตงหวาน ๆ เมื่อมานั้น ก็เอาเหล็กก้อนนั้นไปด้วย ครั้นเข้าเฝ้าพระมหากระษัตร ๆ จึ่งตรัสถามว่า เหตุไรจึ่งฆ่าโคของเขาเสีย บุรุษแตงหวานกราบทูลว่า บุรุษผู้เปนเจ้าของโคปล่อยโคให้เข้าไปในไร่ทั้งฝูง ไปเหยียบแตงซึ่งโปรดให้พิทักษรักษาไว้ถวาย กระหม่อมฉันกลัวความผิดเหลือสติกำลัง ไล่ไม่ฟัง จึ่งเอาก้อนเหล็กทิ้งไปถูกโคตัวหนึ่งตาย แล้วแต่จะโปรด พระมหากระษัตรจึ่งเรียกเอาก้อนเหล็กของบุรุษแตงหวานนั้นไปสั่งให้ช่างเหล็กตีเปนหอกมอบให้แก่บุรุษแตงหวานเอากลับคืนไปยังไร่สำหรับจะได้เปนเครื่องสาตราวุธ ป้องกันโจรผู้ร้ายลักแตง แล้วบุรุษแตงหวานก็กราบถวายบังคมลากลับมาพิทักษรักษาแตงอยู่ที่ไร่ ในเพลาวันหนึ่ง พระมหากระษัตรนึกคะนองพระหฤไทย จะใคร่ไปลักแตงของบุรุษนั้นลองดู จึ่งภาอำมาตย์ผู้ร่วมพระหฤไทยไปในเพลาราตรีไปถึงไร่แตงบุรุษแตงหวานเข้า พระมหากระษัตรลอดรั้วไร่ของบุรุษแตงหวานเข้าไปลักแตงของบุรุษแตงหวาน ๆ ตื่นขึ้น สำคัญว่า โจรลอดรั้วเข้าไปลักของ จึ่งจับได้หอกนั้นพุ่งเข้าไปถูกพระมหากระษัตรถึงแก่พิราไลย แล้วชักเอาหอกมาเกบไว้ ไม่ทราบว่า พระมหากระษัตร ฝ่ายอำมาตย์คนสนิทซึ่งติดตามเสดจมา รู้ว่า พระมหากระษัตรถึงแก่พิราไลยแล้ว ก็หนีกลับไปถึงพระนคร ไม่เล่าบอกแก่ผู้ใด ครั้นรุ่งขึ้น เพลาเช้า เสนาบดีมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยภากันขึ้นเฝ้าก็ไม่เหนพระมหากระษัตรเสดจออก ขุนนางทั้งปวงจึ่งให้ไต่ถามนักสนมชาวใน ๆ ต่างคนต่างว่า ไม่รู้ไม่เหนทั้งสิ้น เสนามนตรีทั้งปวงจึ่งภกันไปเที่ยวหาพระมหากระษัตรถึงไร่บุรุษแตงหวาน จึ่งเหนพระมหากระษัตรสิ้นพระชนม์อยู่ในรั้วไร่บุรุษแตงหวานนั้น เสนามนตรีทั้งปวงจึ่งไปซักถามบุรุษแตงหวาน ๆ ว่า ไม่รู้ว่า พระมหากระษัตร สำคัญว่า โจร จึ่งแทง เสนามนตรีทั้งปวงจึ่งปฤกษากันว่า บุรุษแตงหวานไม่มีโทษ จึ่งอังเชิญพระศพพระมหากระษัตรไปสู่พระนคร ครั้นปลงพระศพเสรจแล้ว จึ่งประชุมเสนามาตย์ราชปะโรหิตโหราพฤฒาจารย์ว่า พระมหากระษัตรพระองค์นี้ไม่มีพระราชวงษานุวงษที่จะครองราชสมบัติสืบกระษัตรต่อไปแล้ว พวกเราจงจัดแจงเสี่ยงราชรถไป ถ้าผู้ใดมีบุญญาธิการควรจะครองราชสมบัติเปนสมมุติกระษัตรปกป้องให้อาณาประชาราษฎรอยู่เยนเปนศุขได้ ให้ราชรถตรงไปเกยอยู่ที่ใกล้ผู้นั้นเทิญ ครั้นปฤกษาพร้อมกันแล้ว ก็ให้ปล่อยราชรถไป ราชรถก็ตรงไปที่บุรุษแตงหวานอยู่นั้น ฝ่ายเสนาพฤฒามาตย์ราชปะโรหิตเหนบุรุษแตงหวานต้องด้วยลักษณควรที่จะครองราชสมบัติเปนสมมุติกระษัตรบำรุงราษฎรให้อยู่เยนเปนศุขได้ จึ่งให้ประโคมดุริยางค์ดนตรีขึ้นพร้อมกัน อังเชิญบุรุษแตงหวานขึ้นทรงราชรถกลับเข้าสู่พระนคร ราชาภิเศกเปนเอกอัคมหากระษัตร ทรงพระนาม พระเจ้าสุริโยพันธ์ ครอบครองอินทปัถมหานคร แลหอกกายสิทธิ์ ซึ่งเปนของพระเจ้าแตงหวานมาแต่เดิมนั้นก็ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ กระษัตรซึ่งครองราชสมบัติสืบวงษ์พระเจ้าแตงหวานมาหลายพระองค์จนถึงพระเจ้าบรมนิพันธบด สิ้นเรื่องราวที่เล่ามาแต่เท่านี้ ๚

จบพงษาวดารเขมร สร้างพระนครวัด พระนครธม

บรรณานุกรม

แก้ไข
  • เรื่องพระเจ้าปทุมสุริวงศ สร้างพระนครวัด นครธม. (2474). (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (หม่อมเจ้าหญิงพัฒนคณนา ไชยันต์ ทรงพิมพ์แจกในงานปลงศพหม่อมจอน กิติยากร ณอยุธยา ผู้เปนมารดา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2474).
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก