เรื่องไปลังกาทวีป
หนังสือเรื่องเที่ยวเมืองลังกานี้ ข้าพเจ้าแต่งส่งลงหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษของหอพระสมุดฯ ครั้งข้าพเจ้าไปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ นับเวลามาจนบัดนี้ได้ถึง ๓๕ ปี สถานที่กับทั้งลักษณการงาร แม้จนความรู้ที่ได้กล่าวในหนังสือเรื่องนี้ ย่อมเปลี่ยนแปลงมามีมาก แต่ถ้าว่าโดยรูป พอจะอ่านเปนจดหมายเหตุ เหมือนอย่างเช่น เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งนั้นเปนกระนั้น ๆ เข้าใจว่า ยังจะพอใจผู้อ่านได้บ้าง จึงได้คัดมาพิมพ์แจกญาติมิตรพอเปนที่ระลึกในงารปัญญาสมวารศพหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ลูกชายของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าโดยสานเรือเมล์ออกจากสิงคโปร์ แล่นไปได้ ๕ วัน ครั้นวันที่ ๔ เดือนสิงหาคม ร.ศ. ๑๑๐ เวลากลางวัน แลเห็นเกาะลังกาด้านตวันออกลิบ ๆ ยังจะต้องแล่นอ้อมไปอีกคืนหนึ่ง จึงจะถึงเมืองโกลัมโปซึ่งเปนท่าพักเรือเมล์ แต่ถึงกระนั้น พอได้เห็นตลิ่งก็พอชื่นบานใจ ด้วยแล่นในทะเลถูกคลื่นมรสุมมาหลายวันแล้ว
เกาะลังกานี้ ในหนังสือบอกว่า บัดนี้ มีจำนวนพลเมืองประมาณเกือบ ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน เปนชาติสิงหฬสัก ๑,๘๐๐,๐๐๐ คน เปนชาติทมิฬสัก ๖๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนั้น เปนฝรั่งแลแขกชาติอื่น ๆ คนในเกาะนี้ถือพระพุทธสาสนาประมาณว่า ราว ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ คน รองลงมา คนถือสาสนาพราหมณ์ราว ๔๙๐,๐๐๐ คน สาสนามะหะมัดสัก ๑๙๐,๐๐๐ คน สาสนาคฤศเตียนราว ๑๔๐,๐๐๐ คน การทำมาหากินเปนการเพาะปลูกเปนพื้น ที่ลุ่มราบริมทะเลทำไร่นาเรือกสวนทำนองเมืองเรา ที่ลึกเข้าไปเปนเขาสูง ตามไหล่เขามักทำไร่ใบชากาแฟต้นซิงโกนาซึ่งสำหรับทำยาควินินแลพรรณไม้อื่น ๆ ซึ่งชอบขึ้นในที่สูง เหล่านี้ก็เปนสินค้าใหญ่อยู่ในทุกวันนี้
เรื่องราวของเกาะลังกา การแต่ดึกดำบรรพ์ ครั้งพระรามข้ามมารบทศกรรฐ์จะอย่างไร แจ้งอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์นั้นแล้ว ต้องยกไว้ แต่เปนเมืองขึ้นชื่อลืมนามคุ้นเคยกับเราด้วยเรื่องพระพุทธสาสนามาแต่โบราณ นึกได้ในพงศาวดารดูเหมือนกล่าวปรากฎอยู่ ๒ แห่ง คือ เมื่อพบรอยพระพุทธบาทในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม กล่าวอ้างถึงคำซึ่งลังกาบอกเข้าไป แห่ง ๑ เมื่อแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โปรดให้พระอุบาฬีออกไปบวชชาวสิงหฬสืบสงฆณฑลในลังกาทวีป แห่ง ๑ การที่พระอุบาฬีออกไปนี้ยังมีประโยชน์แลพยานปรากฏอยู่เปนอันมาก ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ การไปสมาคมกับลังกาก็ยังมีมาเนือง ๆ ที่ข้าพเจ้าทราบเปนสำคัญ คือ พระอาจารย์ห้องไปเปนครั้งแรก ต่อมา พระสมุทมุนีสังข์ไปอีกครั้ง ๑ แล้วสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดประทุมคงคาไปอีกครั้ง ๑ ทุกวันนี้ ตั้งแต่มีเรือไฟเรือเมล์พาไปมาหากันง่ายเข้า การไปลังกาก็นับว่า เปนอันสิ้นรสหมดอัศจรรย์ทั้งปวงได้ เพราะไม่ต้องข้ามสดือทะเลแลดูไม่สุดหล้าฟ้าเขียวดังแต่ก่อน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังน่าแวะด้วยเหตุหลายอย่าง คือ จะได้นมัสการพระทาฒะธาตุ เปนต้น เพราะเหตุนี้ เมื่อจะมาจากสิงคโปร์ ข้าพเจ้าจึงขอให้เจ้าเมืองสิงคโปร์บอกโทรเลขล่วงหน้ามาให้เจ้าเมืองลังกาทราบความประสงค์
เมืองลังกานี้ แต่ก่อนมาจนเมื่อพระอุบาฬีออกไป ก็ยังเปนเมืองมีกษัตริย์เปนเอกราช รวมกันเปนอาณาเขตเดียวบ้าง แยกกันออกไปเปนหลายหมู่หลายเหล่าบ้าง เมื่อสักสามร้อยปีมาแล้ว โปรตุเกศมาเช่า หรือขอ หรือยึด อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ได้เมืองท่าไว้ทางด้านใต้แลด้านตวันตกแห่งเกาะหลายหัวเมือง โปรตุเกศอยู่ได้สักร้อยปีเศษ ฮอลันดามาตีเอาเมืองท่าเหล่านั้นถือเปนสิทธิ์ต่อมา จนเมื่อสักร้อยปีมานี้ อังกฤษมาได้จากฮอลันดาอีกชั้นหนึ่ง อยู่มาภายหลังสักสิบปีเศษ อังกฤษเกิดวิวาทกับพระเจ้ากรุงลังกา เลยริบเอาเสียทั้งเกาะ เมืองลังกาจึงตกเปนเมืองขึ้นของอังกฤษมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ อังกฤษถือว่า เปนเมืองสำคัญแห่ง ๑ เพราะเปนระยะพักของบันดาเรือที่จะไปมาในระหว่างยุโรปกับเมืองจีนแลออสเตรเลีย.
วันที่ ๕ เวลาเช้า เรือปะกิ่งถึงที่ทอดที่หน้าเมืองโกลัมโบ ที่ทอดเรือที่นี้เปนที่ประหลาทเลื่องลืออยู่แห่งหนึ่ง จึงควรจะพรรณนาไว้ตรงนี้สักหน่อย ท่าเมืองโกลัมโบนี้เปนแต่ชายตลิ่งตรง ๆ เปรียบทำนองอย่างบางพระตรงเกาะสีชังข้าม ระดูมรสุมคลื่นทะเลใหญ่ตีตรงเข้ามากระทบฝรั่งเปนระลอกลูกใหญ่โต เรือจะทอดแลจะถ่ายผู้คนสิ่งของขึ้นบกได้โดยยาก เขาจึงพากเพียรเอาหินก่อเปนเขื่อนใหญ่ยาวยื่นตรงออกไปในทะเลสัก ๒๐ เส้น มีกระโจมไฟไว้ข้างปลาย ฤดูนี้เรือแล่นถูกคลื่นลมมา พอเข้าบังเขื่อนหิน คลื่นก็ราบเหมือนในแม่น้ำ ดูเรือจอดบังอยู่หลังเขื่อนนี้เรียงกันเปนแถวราวกับแถวทหาร เรือลำเลียงเล็กน้อยปานใดจะออกไปรับช่วงถึงเรือใหญ่ก็ได้ เวลาเรือเข้าทอดแล้ว แลไปดูที่เขื่อนหิน ต้องยอมเห็นว่า เปนน่าพิศวง คลื่นตีมาข้างด้านนอกตะละลูกใหญ่โต พอกระทบเขื่อนก็แตกกระเด็นเปนฝอยขาวพลุ่งตรงขึ้นไปในอากาศสูงแทบเท่าเสากระโดงเรือ แล้วก็กลับตกลงมาเล่า เสียงตูม ๆ ติดกันไปดังนี้มิได้ขาด ขันแต่คลื่นก็เปนอย่างใหญ่โตนักหนา เจ้าพวกชาวลังกายังคิดทำเรือโอ่ออกไปจับปลาหากินในทะเลได้ รูปเรือลังกาที่ว่านี้ แคบเพรียวยาวอย่างเรือโอ่ แต่มันติดไม้ขวางออกไปข้างเรือทั้งหัวท้ายไปผูกพ่วงกับขอนลอยอีกอันหนึ่งสำหรับถ่วงไม่ได้เรือล่ม ใช้พายบ้าง ใช้ใบบ้าง แล่นไปด้วยกันทั้งเรือทั้งขอนดูแขงคลื่นยิ่งเสียกว่าเรืออย่างอื่นที่ใหญ่ ๆ กว่า.
พอเรือปะกิ่งเข้าทอดเรียบร้อยแล้ว กรมการเมิองโกลัมโบทั้งฝ่ายทหารพลเรือนลงมารับรอง ส่งจดหมายเซออาเทอแฮฟลอก เจ้าเมืองลังกา ซึ่งอยู่ณเมืองกันดี มีมาถึงข้าพเจ้าฉบับหนึ่ง มีใจความว่า ได้ทราบจากเจ้าเมืองสิงคโปร์ว่า ข้าพเจ้าจะแวะที่ลังกา แลจะใคร่ได้นมัสการพระเขี้ยวแก้ว จึงเปนความยินดีจะได้ต้อนรับข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองกันดี ได้สั่งเจ้าพนักงารให้จัดรถไฟพิเศษเตรียมไว้คอยรับ แลได้แจ้งต่อเจ้าอาวาสให้เปิดวิหารเชิญพระเขี้ยวแก้วออกมา ให้ข้าพเจ้านมัสการตามประสงค์ทุกประการ ข้าพเจ้าได้ทราบจดหมายดังนั้น จึงมีโทรเลขล่วงหน้าไปตอบขอบใจเจ้าเมืองลังกาตามสมควร เวลา ๓ โมงเช้า อำลาแลขอบใจกับตันเฮริส นายเรือปะกิ่ง แล้วเจ้าพนักงารพาลงเรือเจ้าเมืองมาขึ้นที่ท่าเมือง บนบกยิงปืนใหญ่สลุต ๒๑ นัด แลในเรือรบแอดมิราลอังกฤษยิงสลุตให้ด้วย ๒๑ นัด แต่เจ้าพนักงารฝ่ายทหารกับพลเรือนบัตรหมายเวลาเคลื่อนคลาศกันอย่างไรไม่ทราบ ทหารกาดออฟออเนอซึ่งสำหรับมายืนแถวคำนับรับมาหาทันไม่ ต่อข้าพเจ้าไปโฮเต็ลแกรนด์ออเรียลเต็ลซึ่งจัดเปนที่พักสักครู่ ๑ แถวทหารจึงมาถึง ต้องลงมารับคำนับที่หน้าโฮเต็ลไม่ให้เปนที่เสียใจเสียทีที่เขามา.
ระยะทางที่จะไปยุโรปจากลังกาจะต้องเปลี่ยนเรือใหม่ จึงตกลงจะขึ้นพักอยู่ที่โฮเต็ลให้เขาถ่ายหีบปัดไปลงเรือใหม่ แลใช้เวลาที่มีอยู่ ๒๔ ชั่วโมงนี้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วทั้งเที่ยวดูแลอะไร ๆ ในลังกา การที่เปลี่ยนเรือในระยะนี้ดูเปนความลำบากที่ต้องยักย้ายถ่ายเทก็จริงอยู่ แต่ดีกว่าไม่เปลี่ยน เพราะตอนที่จะไปต่อไปนี้ ทางก็ยังไกลกว่าที่มา คลื่นก็ใหญ่กว่า แต่เรือใหม่โตกว่า ดีกว่า แลเร็วกว่าที่มาจากสิงคโปร์ จึงจัดเอาเปนดีขึ้นได้.
เวลาที่มาพักอยู่โฮเต็ลตอนเช้านี้ มีผู้ไปมาหาสู่มาก คือ กรมการผู้ใหญ่ต่าง ๆ มีท่านแมร์ผู้เปนอธิบดีนคราภิบาลเมืองโกลัมโบเปนต้น ทั้งแอดมิราลแม่ทัพเรืออังกฤษแลกับตันเรืออาเคเดียที่จะไปต่อ ก็ได้มาหาให้เปนที่รู้จักไว้ ไม่มีเวลาที่จะเยี่ยมเยือนตอบ ต้องส่งแต่ก๊าศชื่อบ้าง ขอให้พระยาเทเวศรไปตอบแทนบ้าง เวลาจวน ๕ โมงเช้า กินเข้าแล้ว แมร์เมืองโกลัมโบพาขึ้นรถไปส่งที่สะเตชันรถไฟ เขาจัดรถที่สลูนสำหรับเจ้าเมืองใช้มาคอยรับ เวลา ๕ โมงเช้า ออกรถไฟไปเมือนกันดีซึ่งเปนเมืองหลวงเดิมอยู่แทบท่ามกลางเกาะลังกา
ทางรถไฟไปเมืองกันดีนี้ยาวเกือบ ๓๐๐๐ เส้น แต่เปนทางสายเดียว เวลารถไฟไปมาสวนกัน ต้องหลีกกันอย่างรถรางในกรุงเทพฯ นี้ ถึงเปนรถไฟพิเศษซึ่งแล่นหมายตรงไปไม่จำต้องแวะ ก็ต้องไปหยุดรอคอยหลีกรถอื่นตามระยะทาง ไม่เร็วกว่ารถปรกติกี่มากน้อยเกือบ ๔ ชั่วโมงจึงถึงเมือง แต่การตกแต่งรักษาสะเตชันตามทางรถไฟในลังกานี้น่าสรรเสริญ เขารักษาสอาดสอ้านหมดจด แลอุตสาหทำสวนดอกไม้ในบริเวณสะเตชันงดงามตามกำลังที่จะทำได้ทุกแห่ง ต่อออกปากชม จึงได้ความว่า เปนความคิดของพนักงารจัดการรถไฟเขาตั้งข้อบังคับไว้ว่า ถึงปีเขาจะตรวจตามสะเตชัน ๆ ใดตกแต่งแลรักษาหมดจดดี เขามีบำเหน็จให้แก่ผู้รักษาสะเตชันมากน้อยตามที่จะอุตสาหรักษาได้ดีเลวกว่ากัน เปนการให้จำเปนประกวดกันตกแต่งอยู่ในตัว การรักษาสะเตชันจึงดีนักหนา.
สังเกตดูพื้นที่ที่ผ่านไปตามทางรถไฟ ตอนแรกออกจากเมืองโกลัมโบ เปนที่ราบ ทุ่งนา กับป่าไม้เรือกสวนสลับกันเหมือนเมืองพัทลุงมากกว่าเมืองอื่น ไปไกลจึงถึงเชิงเขา ที่ตอนนี้ทำนา ต้องถากทำบนไหล่เขาเหมือนขั้นบันได อาศรัยน้ำเขาไขลงนา อันบนเหลือใช้แล้วก็ไขต่อ ๆ ลงมาเปนตอน ๆ ดูชอบกลพ้นวิสัยที่น้ำจะท่วมได้ แต่วัวควายที่ใช้ทำนาในเกาะลังกานี้ชั่งเล็กเสียจริง ๆ ดูสักครึ่งตัววัวควายบ้านเราเท่านั้น พ้นตอนเชิงเขาแล้ว ทางรถไฟต้องไต่เขาต่อขึ้นไป ทางตอนที่รถไฟไต่เขานี้ ดูภูมิแผนที่ดียิ่งนัก มักเลียบไปตามไหล่เขาข้างหนึ่งสูงลิ่ว แหงนแลดูคอตั้งบ่า ข้างหนึ่งแลดูลึกลงไปเปนเหว เห็นพื้นแผ่นดินเปนทุ่งนาป่าสวนบ้านเรือนเปนหย่อม ๆ แลดูลิบ ๆ รถไฟไต่เขาวกเวียนเลียบลูกโน้นเดี๋ยวมาลูกนี้แล้ววกไปทางโน้นเล่า โดยที่ต้องตัดทางมิให้ชันเกินกำลังรถไฟ บางแห่งต้องเจาะเขาทลุไปเปนอุโมงค์ บางแห่งต้องทำสพานข้ามลำธารแลน้ำพุแลดูน่าพิศวงมาก ตามไหล่เขาขึ้นมาชั้นสูง ๆ นี้มักเปนสวนใบชาแลกาแฟเปนพื้น เพราะต้นไม้ชนิดเหล่านี้ไม่ชอบขึ้นในที่ต่ำ
เวลาบ่าย ๓ โมง รถไฟถึงสะเตชันเมืองกันดี มีสลุต แลกรมการกับเลขานุการของเจ้าเมืองจัดรถกับทหารม้ามารับพาไปยังวัดพระทาฒะธาตุ
การที่จะเชิญพระเขี้ยวแก้วออกมาให้คนบูชานี้เปนการใหญ่ในเมืองลังกาอย่าง ๑ โดยปรกติดูเหมือนจะเชิญออกแห่แลให้คนเห็นแต่ปีละครั้งเดียว ใครไปไม่ถูกเวลานักษัตรฤกษ์นั้น ก็ได้แต่บูชานอกพระวิหาร หรือจะเข้าไปก็ได้เห็นแต่พระเจดีย์ชั้นที่ ๗ ซึ่งทรงพระเขี้่ยวแก้วไว้เท่านั้น ต่อแขกเมืองซึ่งมีบันดาศักดิ์มา เจ้าเมืองมีบัตรหมายสั่งโดยฉะเพาะ เจ้าพนักงารจึงจะเชิญออกมาให้นมัสการเปนการพิเศษได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีแขกเมืองเช่นนั้นมาคราวใด พวกพลเมืองลังกาตลอดจนฝรั่งก็มักอาศรัยในโอกาศไปบูชาทัศนาการด้วยโดยมาก ข้าพเจ้าขึ้นมาครั้งนี้ ก็มีฝรั่งโดยสานขึ้นมาดูด้วยหลายคน เว้นแต่ฝรั่งนายทหารคนหนึ่งซึ่งเปนเพื่อนโดยสานมาด้วยกันแต่สิงคโปร์ไม่ยอมขึ้นไปด้วยเหตุผลชอบกลควรจะกล่าวลงไว้ในที่นี้ด้วย เดิมเมื่อจะขึ้นบกมานมัสการพระเขี้ยวแก้ว ได้ชวนเขาโดยเห็นว่า เพื่อนโดยสานคนอื่นจะไปก็มี เขาตอบขอบใจ แต่ว่า เขาติดธุระ จะไปหาได้ไม่ ต่อภายหลังจึงได้ความจากฝรั่งคนอื่นว่า นายทหารคนนั้นเขาบอกว่า ครั้นเขาจะไป ตัวเขาเปนคนถือสาสนาคริสเตียน จะไปช่วยในการที่เปนเกียรติยศแก่พุทธสาสนา เกรงจะบาป ดังนี้ จึงเห็นว่า ชอบกล ควรจะนับว่า เขามีศรัทธาในสาสนาของเขายิ่งกว่าเปนอย่างอุกฤษฐ์ได้
วัดที่ไว้พระเขี้ยวแก้วอยู่ริมวังพระเจ้ากรุงลังกาแต่ก่อน ดูภายนอกไม่งดงามอันใด พอรถถึงประตูวัด มีกรมการผู้ใหญ่เมืองกันดีคน ๑ กับคฤหบดีชาวลังกาซึ่งเปนพนักงานปฏิบัติพระฑาฒะธาตุมาคอยรับหลายคน พวกคฤหบดีลังกาเหล่านี้แต่งตัวเต็มยศตามเพศลังกา น่าดูมาก คือ สวมตุ้มปี่ปักดิ้นใบโต เสื้อปักดิ้นชั้นนอก คาดปั้นเหน่ง เหน็บมีดฝักทอง นิ้วสอดแหวนประดับพลอยหัวโตเกือบเท่าหัวเข็มขัด นุ่งสนับเพลาชั้นในปลายจีบกรอมลงไปถึงข้อเท้า นุ่งผ้าขาวเกี้ยวเกไลทับชั้นนอก ดูอ้วนโตไปด้วยเครื่องแต่งตัว ท่านเหล่านี้จัดเครื่องกระบวรอย่างลังมาคอยแห่เข้าวัด กันฉิ่งเงินคู่ ๑ จามรเงินคู่ ๑ กับกลองเงินรูปร่างแลกระบวรที่ตีทำนองกลองมลายูคู่ ๑ แห่นำหน้าเข้าไปจนประตูพระวิหาร ในลานวัดมีสัปรุษชายหญิงถือเครื่องสักการมาคอยอาศรัยโอกาศบูชาพระเขี้ยวแก้วด้วยเปนอันมาก ได้พบยายแก่คนหนึ่งโกนหัวนุ่งขาวห่มขาวพูดภาษาไทยได้ ไล่เลียงได้ความว่า เปนเงี้ยวมาแต่เชียงตุง
พระวิหารที่ไว้พระเขี้ยวแก้วก่ออิฐถือปูน ทำเปน ๒ ชั้น ฝาผนังข้างนอกโบกปูนขาวเกลี้ยง ๆ แต่ตัวไม้สลักเสลางามพอใช้ได้ ขนาดวิหารนี้ประมาณตาว่า ย่อมกว่าพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ ขึ้นบันไดไปชั้นบน ข้างนอกเปนห้องเปล่า มีห้องเล็กข้างด้านสกัดสุดกู่เปนที่ไว้พระเขี้ยวแก้ว ห้องเล็กนี้ทางเข้าออกขับขัน มีลูกกรงเหล็ก และมืด แม้แต่ไปเวลากลางวัน ก็ต้องจุดเทียนไว้ในนั้น เห็นทีจะเกรงโจรผู้ร้าย เปนเหตุให้ระวังดังนี้ ในห้องเล็กนั้นทำฐานชุกชีไว้กลาง ตั้งพระเจดีย์ซึ่งทรงพระทาฒะธาตุ พระเจดีย์องค์นอกทำด้วยเงินกาไหล่ทองสูงสัก ๓ ศอก สวมพระเจดีย์เล็ก ๆ ซึ่งทำด้วยเงินบ้างทองบ้าง ต่อ ๆ กันลงไปถึงพระเจดีย์องค์เล็กนิดทำด้วยทองคำประดับพลอยเปนชั้นที่ ๗ จึงเปนองค์ซึ่งทรงพระเขี้ยวแก้วไว้ในนั้น เวลาแขกเมืองไปดูเช่นนี้ เขาเปิดเจดีย์ออกทุก ๆ ชั้น แล้วเชิญองค์พระเขี้ยวแก้วออกมาร้อยไว้ในห่วงทอง ซึ่งทำให้ลอยอยู่กลางดอกบัวทอง อย่างที่เขาจำลองเข้ามาในกรุงเทพฯ ออกมาตั้งไว้ข้างหน้า ดอกบัวทองนี้รองพระเขี้ยวแก้ว แต่เมื่อเชิญออกให้คนนมัสการอย่างพานทองของเรา ยังมีแก้วแหวนเงินทองของมีราคาต่าง ๆ ซึ่งกษัตริย์แต่ปางก่อนบ้าง คนมีศรัทธาภายหลังนี้บ้าง ได้กระทำบูชาถวายไว้หลายอย่าง เขาก็เอาออกมาเรียงรายไว้ให้ดูเหมือนกัน ในสิ่งของเหล่านี้มีสิ่งซึ่งควรพรรณนาได้อย่าง ๑ คือ พระคัมภีร์ใบทองคำหลังกุดั่นซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์พระราชทานออกไปพร้อมกับพระอุบาลี ในใบต้นมีจารึกอักษรขอมแปลร้อยเปนภาษาไทยแสดงพระราชอุุทิศไว้หน้าลานหนึ่ง จะลอกคัดเอามา เวลาไม่พอ ทั้งในห้องนั้นก็มืดแทบอ่านไม่เห็น
ในเวลาเปิดพระทาฒะธาตุให้นมัสการนี้ พระเถระผู้ใหญ่ในเมืองกันดีก็มารับรองอยู่ด้วยสัก ๒๐ รูป ข้าพเจ้ากระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยอันพระเขี้ยวแก้วเปนเจดียฐานอยู่ฉะเพาะหน้าในเวลานั้น แลกระทำปฏิสัณฐารพระเถรานุเถระตามสมควรแล้ว ก็นมัสการลามาดูหอไตรต่อไป หอไตรนี้อยู่ที่มุมวัเ ทำรูปเปนแปดเหลี่ยม มีเฉลียงรอบ หนังสือในนั้นก็มีคัมภีร์ลานบ้าง สมุดบ้าง อยู่ข้างมาก ด้วยอธิปตัยอยู่ข้างบำรุงอยู่ด้วย แต่สำคัญที่มีตู้เรี่ยรายตั้งไว้กลาง แล้วแต่ใครจะศรัทธาช่วยปฏิบัติรักษาพระเขี้ยวแก้วเท่าใด ก็ทิ้งลงในตู้นั้นตามศรัทธา ปีหนึ่ง ๆ ดูเหมือนจะได้เงินเรี่ยรายบำรุงนี้มาก ๆ อังกฤษตั้งให้มีฝรั่งแลพวกคฤหบดีชาวลังกาเปนกรรมการช่วยกันรักษาแลจ่ายใช้ผลประโยชน์เหล่านี้แต่ที่จะเปนคุณแก่วัด มิให้ผู้ใดฉ้อฉนไปเปนอาณาประโยชน์ได้ ในหอไตรที่ว่านี้มีรูปต่าง ๆ ติดไว้หลายรูป มีพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าติดไว้ด้วย เสียแต่พระรูปพิมพ์อย่างที่ขายในท้องตลาดดูไม่เหมือนแลไม่งามเลย
ที่ข้าพเจ้าได้ไปแลเห็นแลไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วฉนี้ ถ้าจะไม่พรรณาถึงพระเขี้ยวแก้วไว้สักหน่อย ก็จะขาดความไป พระทาฒะธาตุนี้ รูปสัณฐานแลขนาดก็คล้ายคลึงกับที่เขาจำลองเข้ามา ดูรูปจำลองจะเข้าใจได้ดีกว่าที่ข้าพเจ้าอธิบายเปนอันมาก สีสันนั้นสีเหลือง ๆ มีคราบจับเห็นได้ว่า เปนของโบราณแท้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูรูปสัณฐานเห็นว่า ถ้าพระทาฒะธาตุนี้เปนพระเขี้ยวในพระสรีรกายของพระพุทธองค์แล้ว พระพุทธเจ้าคงสูงใหญ่ราว ๔ ศอกของสามัญชนตรงตามที่ว่าไว้ในหนังสือบางเรื่อง โดยขนาดพระเขี้ยวที่ใหญ่นั้น ประการ ๑ อีกประการหนึ่ง พระเขี้ยวของพระพุทธองค์ผิดกับเขี้ยวของสามัญมนุษย์ เพราะรูปไม่เหมือนกับเขี้ยวคนตามธรรมดาเลย ความจริงจะเปนฉันใด ข้อความเหล่านี้ก็มีหนังสือแก้ไข แล้วแต่จะเลือกลงเนื้อเชื่อใจ เมื่อว่าที่แท้แล้ว พระพุทธสาสนามิได้อยู่ที่วัตถุแลเจดียฐานอันใด อาศรัยใจเปนใหญ่ ถ้าใจชั่วแล้ว พระเขี้ยวแก้วสักแปดหมื่นสี่พันก็ไม่เปนประโยชน์อันใดแก่ความเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา จะมามัวเถียงกันข้อแท้แลไม่แท้อยู่ด้วยเหตุอันใด
ออกจากวัดพระเขี้ยวแก้ว ขึ้นรถไปจวนเจ้าเมืองเพื่อจะไปแสดงความขอบใจที่เขาได้จัดการรับรองนั้น ได้พบเซอรอาเทอแฮฟลอก เจ้าเมือง กับภรรยา ต้อนรับเลี้ยงน้ำร้อนน้ำชาตามประเพณี เซอรอาเทอแฮฟลอกฝากรูปแลรายการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์โบราณองค์ ๑ ขอให้บอกเข้าไปกรุงเทพฯ เรื่องปฏังขรณ์พระเจดีย์องค์นี้ เดิมพระสงฆ์ในลังกาองค์ใดองค์ ๑ บอกเรี่ยรายเข้าไปกรุงเทพฯ จะทำการอันใดหาจำได้ไม่ เรี่ยรายได้เงินรวมไว้ที่กรมท่า การที่จะเงินไปให้พระเปนการขัดข้องแก่พระธรรมวินัย จึงโปรดให้มอบไปยังอธิปตัยที่ลังกาขอให้จัดการตามควรแก่เจตนา ดูเหมือนอธิปตัยเขาจะไม่เห็นด้วยในการที่เรี่ยรายเดิมหรืออย่างไร จึงจัดการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์นี้อันเปนพระเจดีย์ตำนานเปนหลักบ้านหลักเมืองมาแต่เดิมแทน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาดูรายการแลแบบแผนที่เขาปฏิสังขรณ์ ควรอนุโมทนาแลสรรเสริญได้ เพราะการนี้ก็ใช่สาสนาของเขา ยังสู้เปนธุระให้ ไม่เห็นเปนบาปกรรมเช่นนายทหารเพื่อนโดยสานที่ไม่ยอมไปดูพระเขี้ยวแก้วดังว่ามาแล้ว แลควรเชื่อเปนแน่ได้ว่า ดีกว่าส่งเงินนั้นไปถวายพระลังกาที่บอกบุญ มิใช่ท่านจะฉ้อฉนอันใด แต่หน้าที่ท่านจะทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ในวัดที่ท่านอยู่เองเสียมากกว่าจะเลือกปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่สำคัญในลังกาทวีปเท่านั้น
สนทนากับเจ้าเมืองพอควรแล้ว ก็ลาขึ้นรถไปดูวัดอีกแห่ง ๑ ชื่อ วัดบุบผาราม ว่า เปนวัดค่อนข้างเปนสำคัญในลังกา แต่กระนั้น ก็เล็กแลเลวกว่าวัดในกรุงเทพฯ มาก มีโบถส์อยู่กลางกุฎีเปนแถวล้อมรอบ ขนาดโตเล็กดีเลว วัดนี้ ถ้าจะเปรียบกับวัดในเมืองไทย คล้ายวัดสัตตนาถเมืองราชบุรีมากกว่าวัดอื่น ออกจากวัดบุบผาราม ขับรถเที่ยวดูตามถนนในเมืองต่อไป
เมืองกันดีนั้นตั้งอยู่ยอดเนินภายในเกาะเข้ามาลึกซึ้ง ไม่ใคร่มีที่ทางค้าขาย ดูบ้านช่องผู้คนเหี่ยวแห้งกว่าเมืองโกลัมโบมาก แต่หากเปนเมืองหลวงมาแต่โบราณ แลเปนที่สูงอากาศเย็นสบายกว่าที่ราบตอนริมทะเล เจ้าเมืองจึงตั้งจวนอยู่ที่นี้
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ขึ้นรถไฟกลับมาแวะดูที่ไร่แลโรงจักรทำใบชาแห่งหนึ่ง ต้นชาที่ปลูกคล้าย ๆ กับต้นพุด ดอกคล้ายดอกบุนนาก ปลูกห่างกันระยะประมาณศอก ๑ วิธีปลูก ปล่อยให้ต้นขึ้นสูงประมาณศอกเศษสองสอก พอแตกยอดแลใบอ่อนควระจเก็บ ก็เก็บเวียนกันไปไม่เปนฤดู ใบชาที่อยู่ยอดต้นเปนอย่างดี แล้วเลวลงมาเปนชั้น ๆ เมื่อเก็บแล้ว ตัดต้นลงมา เหลืออยู่แต่เพียงคืบ ๑ คืบเศษ ปล่อยให้แตกขึ้นไปใหม่ เวียนไปดังนี้
ใบชาที่เก็บแล้ว พาไปที่โรงจักร ทีแรก เกลี่ยบนลานผ้าใบเปนผืน ๆ ขึงไว้เปนชั้น ๆ ผึ่งอากาศไว้ ๒๔ ชั่วโมง แล้วเอาขึ้นในเครื่องร่อน คัดชาหยาบชาลเอียดออกเปนพวก ๆ แล้วจึงเอาลงในเครื่องคลึง ๆ นี้ทำเลียนให้เหมือนกับเอาใบชาวางในใจมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งคว่ำทับใบชาคลึงไปจนใบชากอดติดกัน แล้วจึงเอาเข้าเครื่องปิ้ง วางรายบนแผ่นลวดให้เดิรเข้าหาไอร้อนเปนชั้น ๆ จนกระทั่งสุกอยู่ในสิบมินิต แล้วจึงไปคัดจัดลงหีบส่งไปขาย โรงจักรนทำการทั้งกลางวันกลางคืน ด้วยชาที่ลังกาเวลานี้กำลังขายได้ราคาดี อนึ่ง ในการทจะทดลองให้รู้ว่า ชาดีหรือไม่ดีนั้น มีถ้วยแก้วตั้งเรียงกันหลายใบ ชาอย่างต่าง ๆ ต้มน้ำเท่ากัน ชงชาเท่ากัน รินไว้อย่างละถ้วย ๆ รู้ดีชั่วด้วยสีแปลกกันเท่านั้น เวลาที่ได้ไปดูแลไต่ถามเรื่องทำใบชาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ความที่เรียบเรียงนี้ ตามที่เข้าใจแลจำมาได้ น่าที่จะยังวิปลาศคลาศเคลื่อนอยูบ้าง
ขากลับจากเมืองกันดีวันนี้ มีการสนุกหน่อยหนึ่ง คือ เมื่อขึ้นไปกินเข้าเข้าไปแล้ว เขาคาดว่า จะกลับทันกินเข้าเย็นที่เมืองโกลัมโบ จึงไม่หาอไรไปให้กิน แต่การที่กลับนั้นค่ำไป จะเปนด้วยความผิดของเราหรือความผิดของใครไม่ทราบ จะถึงเมืองโกลัมโบไมไ่ด้ก่อนยาม ๑ เมื่อว่าโดยย่อก็คือ ไม่มีอไรจะกินในระหว่างนั้น ออกรถไฟแล่นมา ประเดี๋ยวคนนั้นก็บ่นว่าหิว คนนี้ก็บ่นว่าหิว ตกลงเปนพากันหิวหมด มาสักครู่หนึ่ง พอสวนกับรถไฟที่ขึ้นไปเวลาค่ำ ท่านเจ้าพนักงารรถไฟที่ขึ้นไปกับเรามีใจกรุณา ไปขวนขวายหากับเข้าของกินได้มาจากรถไฟโน้นหลายอย่าง ถ้วยชามรามไหมก็ไม่ใคร่มี ตกลงเปนกินกันอย่างไปเที่ยว เอาแต่อิ่มเปนประมาณ สนุกสนานกันไปทั้งพวก จนอิ่มแล้วจึงได้ความว่า เราเอาเสบียงอาหารของพวกที่จะโดยสานลงไปโกลัมโบเวลาเช้าพรุ่งนี้มากินเสียหมดแล้ว ถ้าเขาอดก็เพราะเรา แต่มันมารู้เมื่อกินเสียจนอิ่มแล้ว จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ขอบใจ เสียใจ แลเลยเฮฮากันไป จนเวลายามเศษ มาถึงเมืองโกลัมโบ ท่านแมร์ก็ไปคอยรับพาขึ้นรถม้ามาส่งโฮเต็ล พักนอนอย่คืนหนึ่ง
โฮเต็ลแกรนด์ออเรียลตัลที่โกลัมโบนี้ เขาว่ากันว่า เปนโฮเตลอย่างดีในตวันออกโฮเต็ล ๑ การกินอยู่แลรับแรงแขงขอบดูก็ดีจริง นึกน้อยใจแต่คิดเอาค่าอาบน้ำต่างหาก ถึงจะเอาเพียงครั้งละสี่ซ้าห้าอัฐก็ไม่ควร เพราะเมืองลังกาอยู่ในเขตแขวงเมืองร้อน ซึ่งการอาบน้ำมิได้เปนการใหญ่ยากเย็นอย่างเมืองยุโรป โฮเต็ลเมืองอื่น มีเมืองสิงคโปร์เปนต้น เขาก็ตั้งโอ่งน้ำไว้ให้อาบเล่นตามสบายใจ โฮเต็ลนี้ชั่งกระไร ไม่เอาอย่างเขาบ้างเลย
รุ่งขึ้น วันที่ ๕ เวลาเช้า ขึ้นรถไปดูมิวเซียมแห่ง ๑ มีของเก่าแก่หลายอย่าง แต่ไม่สู้ประหลาทนัก แล้วไปดูโรงเรียนสอนวิชาเพาะปลูกอีกแห่ง ๑
โรงเรียนวิชาการเพาะปลูกนี้เปนการอย่างหนึ่งซึ่งฝรังจัดยังไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ในเมืองข้างตวันออก เพราะเหตุผลชอบกล ในยุโรปแลอเมริกา การเพาะปลูกนี้ นักปราชญ์เขาคิดค้นไต่สวนตั้งตำหรับตำราเอาลงจนเปนวิชาอย่าง ๑ คือ เขาทดลองแยกธาตุจนรู้ได้ว่า ดินชนิดนั้นมีธาตุอย่างนั้นเท่านั้น ๆ พืชพรรณต้นไม้อย่างนั้นชอบธาตุอย่างนั้น ๆ แลธาตุอย่งนั้นมีในของสิ่งนั้น หรือเอาของสิ่งนั้นมาประสมกับสิ่งนั้นให้เปนธาตุอย่างนั้นได้ ที่ดินใดเพราะปลูกต้นไม้อย่างใดไม่งามเพราะธาตุอย่างใดในดินไม่พอ ก็พาธาตุอย่างนั้นมาเติมแต่ที่อื่นปรุงเอาดินให้ชอบแก่พืชพรรณไม้ได้ ดังนี้เปนเค้า ส่วนเครื่องมือถากไถ ก็คิดวิจิตรพิสดารด้วยจักรไกให้ทำได้ทีละมาก ๆ หรือใช้แรงน้อยลงกว่าอย่างอื่นเปนอเนกปริยาย ครั้นเอาวิชานี้มาตั้งโรงเรียนฝึกหัดขึ้นทางตวันออก เกิดขัดข้องข้อที่ ๑ คือ คนทำไร่ไถนาไม่รู้หนังสือพอจะเรียนวิชาได้ ข้อที่ ๒ คนทำไร่ไถนาทางข้างนี้ มันฝึกหัดการมาแต่เด็ก ๆ ถึงมันจะไม่รู้วิชาอย่างนักปราชญ์ฝึกสอน มันเคยทำสืบต่อกันมาหลายชั่วคนในท้องที่อันเดียวกัน มันก็รู้อยู่แล้วว่า ดินตรงนั้นจะปลูกได้แต่พรรณไม้อย่างนั้น แลเคยเพาะปลูกไม้อย่างนั้นมาแต่ชั่วปู่ย่าตายาย ถึงนักปราชญ์จะไปสอน ก็ต้องบอกว่า ปลูกพรรณไม้อย่างนั้นดีกว่าอย่างอื่นเหมือนกัน ส่วนปุ๋ยบำรุงดินนั้นเล่า ปู่ย่าตายายเคยใช้สิ่งใดเปนปุ๋ย มันก็เชื่อสิ่งนั้น ไม่ต้องการรู้ว่า ธาตุธรรมดามันเปนอย่างไร นักปราชญ์จะไปตรวจ ก็คงต้องลงความว่า อ้ายของอย่างนั้นเองมีธาตุเช่นนั้นมาก รวบรวมความก็แปลว่า มันทำการอยู่ตามวิชาทุกอย่าง ทั้งไม่รู้ ๆ เช่นนั้น ก็ตกลงเปนอันไม่มีอันใดมี่จะสอนให้ทันทำดียิ่งขึ้นไปได้ ส่วนเครื่องมือที่ฝรั่งคิด จะเอาออกมาใช้ทางนี้ ก็เปนอันขัดข้อง ด้วยพื้นที่ดินไม่เหมือนกัน สัตว์พาหนะไม่เหมือนกัน แลที่สุด ทุนชาวนามันไม่มี จะซื้อจะทำอย่างไร
เมื่อว่าโดยวิชาการเพาะปลูกที่ฝรั่งพาออกมาฝึกสอน ที่แลเห็นประโยชน์ได้แล้วแต่ ๒ อย่าง คือ วิชารักษาสัตว์ อย่าง ๑ แต่อย่างนี้ก็ยังมีขัดข้องอยู่บ้าง แผนฝรั่ง ถ้าสัตว์ทุพลภาพหรือร่างวิปริต เขาฆ่าเสียโดยจะป้องกันมิให้มีโทษในพืชพันธุ์ พวกข้างเราถือว่า บาป จะฆ่าไม่ได้ แต่กระนั้นก็เอาเปนดีด้วยการปฏิบัติรักษา อย่างอื่นยังไม่มี แต่การอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ที่ตั้งสวนลองเพาะไม้นั้นมีประโยชน์มาก คือ อธิปตัยมักจัดที่หลวงแห่ง ๑ ซึ่งเปนไหล่เขาซึ่งเปนที่ต่ำขึ้นไปจนสูงในบริเวณอันเดียวกัน หาพรรณไม้ต่าง ๆ ลองปลูกเพาะดูในที่อันนั้น ต้นไม้อย่างใดงดงามควรเปนพืชพรรณปลูกค้าขายในเมืองนั้นได้ เขาก็แจกพรรณไปแก่ราษฎรให้มาดูวิธีเพาะปลูกที่สวนหลวงจำไปทำในไร่ในสวนของตนให้เปนผลประโยชน์ อย่างนี้เปนคุณควรสรรเสริญมาก
เวลาสาย พระสุมังคละ สงฆนายกฝ่ายอุบาฬีวงศ์ แลพวกสัปรุษชาวลังกา มาหาหลายคน ท่านพวกสัปรุษพากันบ่นว่า ไม่บอกล่วงน่ามาให้ทราบ ด้วยเปนเจ้านายในพุทธสาสนิกมณฑล ควรที่เขาจะจัดการรับรองให้สมควรแก่เกียรติยศ ได้ตอบขอบใจแลเชื่อใจว่า ถ้าเขารู้คงจะได้จัดการรับรองจริง ด้วยได้ทราบว่า เคยรับรองแห่แหนเข้านายไทยซึ่งได้เสด็จมาแต่ก่อน แต่เห็นว่า จะพักอยู่แต่วันเดียว ไม่อยากจะให้เขาลำบาก จึงไม่ได้บอก ท่านพวกเหล่านี้จัดได้สิ่งของต่าง ๆ เปนสมุดบ้าง รูปบ้าง บันดาแสดงเรื่องในพระพุทธสาสนา มาให้หลายอย่าง เวลาบ่าย ๓ โมง กลับลงเรือเมล์อาเคเดีย มีกรมทหารแถวแลสลุตส่งเหมือนเมื่อขาขึ้น เวลาบ่าย ๔ โมง ออกเรือจากลังกา
จะต้องกล่าวความเพิ่มเติมถึงพระพุทธสาสนาในลังกาทวีปลงไว้ในที่นี้อีกสักหน่อย ตามเรื่องราวโบราณกล่าวว่า พระมหินทเถระ อันเปนพระโอรสของพระเจ้าอโศกราช เปนผู้เชิญพระสาสนามาประดิษฐานไว้ในลังกาเปนครั้งแรก ในว่า ยังมีต้นมหาโพธิที่พระมหินทเถรได้พามาปลูกไว้ที่เมืองอนุราธบุรีในเกาะลังกาปรากฎจนทุกวันนี้ ที่มีพืชพรรณเข้าไปเพาะปลูกในเมืองเรา เรียกกันว่า โพธิ์ลังกา ก็คือ มาแต่ต้นนี้ พระพุทธสาสนาแพร่หลายมาในลังกาช้านาน มาถึงคราวเสื่อมทรามลงครั้งหนึ่ง ด้วยมิจฉาทิษฐิได้มีอำนาจคิดทำลายล้างด้วยอุบายต่าง ๆ อย่างในมัชฌิมประเทศ ที่สุดถึงให้สึกหาฆ่าฟันพระภิกษุสามเณรในลังกาทวีปจนสูญสิ้นสงฆมณฑลไปคราวหนึ่ง แต่กระนั้น ความเลื่อมใสของพลเมืองก็ยังไม่สาบสูญ ต่อมา พวกถือพระพุทธสาสนากลับได้เปนใหญ่ กษัตริย์ในพวกนั้นอยากจะให้คืนมีพระสงฆมณฑลดังแต่ก่อน จึงมีพระราชสาสน์เข้าไปขอพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยา ได้คณะสงฆ์ มีพระอุบาฬีเปนประธาน ออกมาเปนพืชพันธุ์บวชพระภิกษุสามเณรขึ้นในลังกา ปรากฏนามนิกายเรียกว่า อุบาฬีวงศ์ สืบเนื่องกันลงมา ที่ต้องเรียกเปน นิกายอุบาฬีวงศ์ เพราะมีพระสงฆ์ออกไปจากเมืองพม่าภายหลังพระอุบาฬีอีกพวกหนึ่ง ไปบวชชาวสิงหฬตั้งเปนนิกายต่างออกไป เรียงว่า มรัมวงศ์ ถ้าจะว่าที่แท้ ก็คือ นิกายไทยพวกหนึ่ง นิกายพม่าพวกหนึ่ง ยังเปน ๒ นิกายสืบเนื่องกันมาจนทุกวันนี้ พระนิกายไทยมีมาก นิกายพม่ามีน้อย การปฏิบัติรักษาธรรมวินัย พระสงฆ์ ๒ นิกายนี้ ฟังดูก็ไม่ปรากฎว่า เคร่งครัดผิดกันเปนข้อสำคัญอย่างไร พระสงฆ์ฝ่ายอุบาฬีวงศ์ห่มดอง ยังคาดราตคดอกอย่างพระไทย แต่ห่มคลุมแหวกอย่างพระพม่าเหมือนกันทั้ง ๒ พวก ทั้งสำเนียงสวดมนต์แลพูดภาษาบาฬี เปนก็เปนอย่างมัชฌิมประเทศเหมือนกัน
ฟังดูตามเสียงฝรั่ง เขาว่า พระสงฆ์ซึ่งอยู่ลึก ๆ เข้าไปในกลางเกาะ มักจะโง่เขาเกียจคร้านกว่าพระสงฆ์ซึ่งอยู่ตามเมืองท่า เพราะที่ลึก ๆ เข้าไปนั้นใกล้เมืองหลวง กษัตริย์ลังกาแต่ก่อนถวายที่กัลปนาไว้มาก ถึงหมดกษัตริย์ไป ท่านพระพวกนั้นก็ยังได้ค่าเช่าที่กัลปนาใช้สอยเปนผาสุก ไม่ขวนขวายที่จะทำการอันใด ทุกวันนี้ ตั้งแต่มีรถไฟไปมาง่าย ที่ขึ้นราคาค่าเช่ามาก ท่านพระเหล่านี้ยิ่งรวยมากขึ้น จนอธิปตัยอังกฤษเห็นว่า เหลือเกิน จำจะต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ระวังมิให้ชาวลังกาเห็นว่า จะลบล้างทำลายพระพุทธสาสนา สู้แต่งให้กรรมการเข้าไปสืบสวนเรื่องที่กัลปนาถึงกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ได้ความตลอดแล้ว จึงคิดอ่านจัดการมอบอำนาจให้สัปรุษตามหมู่บ้านซึ่งอยู่ในแขวงวัดเหล่านั้นเปนกรรมการกับปิยการกวัดละมากคนน้อยคนตามควรเก็บผลประโยชน์ที่กัลปนามาเลี้ยงดูพระสงฆ์แต่พอสมควร นอกนั้นใช้ในการปฏิสังขรณ์แลการที่จะเปนประโยชน์อื่น ๆ มีการโรงเรียนเปนต้น อันเกี่ยวเนื่องอยู่ในตำบลบ้านแลวัดเหล่านั้น อธิปตัยคอยเปนธุระตรวจตราบาญชีอยู่เสมอ มิให้ฉ้อฉนกันได้
ส่วนพระสงฆ์ซึ่งอยู่ตามหัวเมืองท่านั้น แต่เดิมมา ขัดสนผลประโยชน์ เพราะอยู่บ้านนอกคอกนา ที่กัลปนามีน้อย ทั้งมาถูกโปรตุเกศริบไปเสียเมื่อได้เมืองท่า คงแต่ตัวต้องเปนธุระขวนขวายเลี้ยงชีพด้วยการเล่าเรียนแลสั่งสอนกุลบุตรเปนต้น อันเปนทางที่จะอาศรัยความบำรุงของทายกเปนอุปนิสสัยของท่านเหล่านั้นมีมาแล้ว ครั้นเมืองมาเปนของฝรั่ง การเหล่านั้นเข้ารอยกับทีเ่ขานับถือว่า เปนการดี ก็เลยเจริญรุ่งเรืองตามไปจนมีโรงเรียนใหญ่น้อย มีโรงเรียนที่เรียกว่า วิทโยทัย บริเวณที่พระสุมังละจัดตั้งขึ้นเปนต้น แลโรงเรียนอื่น ๆ ที่อาศรัยความพากเพียรของพระสงฆ์ตามหัวเมืองเหล่านี้เปนอันมาก
ตามข้อความที่ได้รู้เห็นเช่นนี้ ต้องยอมอนุโมทนาแลสรรเสริญอธิปตัยอังกฤษว่า ถึงเขาจะไม่นับถือพระพุทธสาสนา ก็มิได้กระทำย่ำยีอย่างพวกมิจฉาทิษฐิ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ว่าโดยตาไทย ๆ ที่ได้คุ้นเคยกับพระเจ้าพระสงฆ์ในกรุงสยามแล้ว ไปแลเห็นวัดวาอารามพระเณรในลังกา ความรู้สึกเปรียบเหมือนกับได้เห็นพี่ชายมีวาศนาบันดาศักดิ์แล้ว ไปเห็นน้องชายต้องตรากตรำทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีวิต คิดดูก็เปนน่าสลดใจ
เมื่อว่าถึงพระสงฆ์ว่า ที่แท้คนเราจะเกิดมาเปนแขกฝรั่งเจ๊กจีนชาติใด ๆ ถ้าอุปสมบทถือเพศเปนสมณะทรงธรรมวินัยอย่างเดียวกัน ก็ชื่อว่า เปนพระภิกษุสงฆ์ ควรฆราวาสในสาสนานั้นจะเคารพนบนอบอย่างเดียวกัน แม้ความจริงเปนเช่นนี้ แต่ความรู้สึกที่ว่า เปนคนต่างชาติต่างภาษากัน ไม่ใครจะขาดไปจากสันดานได้ ในความข้อนี้ ข้าพเจ้ายอมเอาตัวเองเข้ารับก่อนทีเดียว ไปเห็นพระในลังกา สังเกตใจรู้สึกความเลื่อมใสเสมอแขกบวชมากกว่าพระสงฆ์ เพราะกิริยาอาการของท่านก็เปนแขก อย่างกิริยาพระไทยเราเปนไทย อีกประการ ๑ การปลงผมแลหนวด พระในลังกาไม่มีกำหนดวันกันอย่างพระในเมืองเรา พบพระผมแลหนวดยาวบ้างสั้นบ้างปะปนกันไป จึงดูเปนแขกบวชด้วย ประการ ๑ แต่ความที่ว่ามานี้ ข้าพเจ้าต้องยกเว้นจากพระลังกาองค์หนึ่ง คือ พระมหาเถรสุมังคละซึ่งเปนสังฆนายกฝ่ายอุบาฬีวงศ์ ท่านองค์นี้ ถึงเปนลังกา รูปร่างกิริยาอัธยาศัยพูดจาเห็นเปนพระแท้ ๆ ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้พบพระลังกามา จะได้รู้สึกความนับถือองค์ใดยิ่งกว่าพระสุมังคละองค์นี้ไม่มีเลย ถึงชาวลังกาแลฝรั่งก็พากันยกย่องสรรเสริญท่านผู้นี้มาก ถ้าเปนไทยจะถือแฉกก็แทบได้
อันการเรื่องพระพุทธสาสนา จะเปนวัดก็ดี พระสงฆ์ก็ดี การเล่าเรียนพุทธวจนะ การปฏิบัติธรรมวินัยก็ดี ตลอดจนการอุปถัมภ์บำรุง บันดาการที่เนื่องด้วยพระพุทธสาสนาในปัจจุบันนี้ ท่านทั้งปวงอย่าได้หมายว่า จะไปแลเห็นในบ้านหนึ่งเมืองใดในโลกนี้ที่จะวิเศษยิ่งไปกว่ากรุงสยามนี้เลย
บรรณานุกรม
แก้ไข- ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2469). เรื่องไปลังกาทวีป. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงารศพหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ครบปัญญาสมวารเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2469).
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก