เล่าเรื่องไปชวาครั้งที่ ๓
ครั้งที่ ๓
นับเป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๗
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
พระเจ้าบรมวงศเธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา
โปรดให้ตีพิมพ์
ในงานฉลองพระชัณษาครบ ๔ รอบปี
และ
ในงานฉลองอายุเจ้าจอมมารดาอ่อน รัชกาลที่ ๕ ครบ ๗๐ ปี
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐
คำนำ
แก้ไขพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา จะทรงบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายพระบุพพการี และบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๔ รอบปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือเป็นของชำร่วยเป็นมิตรพลีแด่ผู้แสดงไมตรีจิตต์เนื่องในงานนั้น ตรัสขอให้กรมศิลปากรช่วยเลือกหาหนังสือและจัดการตีพิมพ์ถวาย กรมศิลปากรมีความยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมในงานพระกุศลนี้ ได้พิจารณาเลือกหาหนังสือเพื่อให้เหมาะแก่งาน ระลึกได้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ "เล่าเรื่องไปชะวาครั้งที่ ๓" ถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า เป็นของเฉลิมพระขวัญ ในมงคลสมัยพระชนมายุครบ ๖ รอบ
หนังสือเรื่องนี้ ได้ทรงรวบรวมข้อความทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวด้วยประเทศชะวาไว้ชัดเจน ให้ความรู้กว้างขวางออกไปจากที่ปรากฎมาแล้วในภาษาไทยแห่งใดๆ ถ้ามีโอกาสจัดตีพิมพ์ขึ้นก็จะเป็นวิทยาทาน เป็นการเกื้อกูลความรู้แก่กุลบุตรและนักศึกษา แต่การพิมพ์หนังสือเรื่องนี้จะต้องกราบทูลสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า เพื่อขอพระราชทานอนุญาตก่อน กรมศิลปากรได้นำความปรารภข้างต้นนี้กราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และในที่สุดสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ก็โปรดพระราชทานอนุญาตให้ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นได้ พระกรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ
กรมศิลปากรถือโอกาสนี้ตั้งสัตยาธิษฐานขออำนาจพระรัตนตรัย และพระกุศลจริยาที่ได้ทรงบำเพ็ญในวารนี้ สำเร็จเป็นอิฐมนูญผลแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ขอให้ทรงเจริญพระชันษายิ่งร้อยปี มีพระอนามัยสมบูรณ์พูนสุขไม่เสื่อมทราม และขอผลแห่งพระกุศลทักษิณานุปทานอันงามจงเผล็ดผลแด่พระบุพการี มีอาทิสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า สมควรแก่คติอุปบัตินั้นๆ เทอญ.
กรมศิลปากร
๒๑ มกราคม ๒๔๘๐
จดหมายกราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
แก้ไข
Cinnamon Hall,
206 Kelawei Road, Penang.
กราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท
วันที่ ๑๐ กันยายน ปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้เป็นวันเฉลิมพระชันษาของใต้ฝ่าละอองพระบาท ชนมายุยั่งยืนมาครบ ๖ รอบปีบริบูรณ์ เป็นอภิลักขิตมงคลอันใครๆ จะพึงประสบได้ด้วยยากยิ่ง อาศัยพระราชกุศลสัมมาปฏิบัติและพระบารมีบุญญาภินิหาร จึงได้ทรงประสบศุภมงคลนั้น ข้าพระพุทธเจ้ามีความชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง
แต่ก่อนมาเมื่อถึงวันเฉลิมพระชันษาของใต้ฝ่าละอองพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยไปเฝ้าถวายพระพรเป็นนิจ เว้นแต่เมื่อไม่สามารถจะไปได้ และเมื่อเฉลิมพระชันษาครบ ๕ รอบกับเมื่อพระชันษาครบ ๗๐ ปี ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยให้ทำสิ่งของเฉลิมพระขวัญ ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระคุณมาทั้ง ๒ ครั้ง แต่ในครั้งนี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะไปเฝ้าได้ ด้วยประจวบเวลาออกมาอยู่บ้านอื่นเมืองไกล และไม่มีกำลังพาหนะที่จะสร้างสิ่งอันใดอื่นเป็นของเฉลิมพระขวัญ ทูลเกล้าฯ ถวายได้ตามประสงค์เหมือนเช่นเคย จึงอาศัยโอกาสที่ได้ไปเมืองชะวาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พยายามแต่งหนังสือ "เล่าเรื่องไปชะวาครั้งที่ ๓" ขึ้นด้วยน้ำภักดิ์น้ำแรง ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายฉะบับแรกแด่ใต้ฝ่าละอองพระบาท เป็นของเฉลิมพระขวัญในวันเฉลิมพระชันษาครบ ๖ รอบ และทูลถวายพระพรทางโทรเลขโดยความจำเป็น หวังด้วยเกล้าฯ ว่าหนังสือซึ่งข้าพระพุทธเจ้าแต่งถวาย จะพอเป็นเครื่องประดับพระปรีชาญาณและสำราญพระราชหฤทัย ในเวลาที่ทรงอ่านได้บ้าง
ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรต่อใต้ฝ่าละอองพระบาท ให้ทรงเจริญพระชนมายุยั่งยืนต่อไปให้ช้านาน ทั้งให้ทรงเป็นสุขสำราญปราศจากสรรพวิบัติอุปัทวันตราย ได้เสด็จสถิตย์เป็นประธานในราชสกุล และทรงเชิดชูพระเกียรติยศของพระบรมราชจักรีวงศ์สืบไปเป็นนิจ เทอญ.
(พระนาม)
ขอประทานทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
เนื้อหา
แก้ไขครั้งที่ ๓
แต่ก่อนมา ข้าพเจ้าได้เคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเมืองชะวา ๒ ครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ครั้งหนึ่ง และต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ อีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ไปตามเสด็จครั้งหลังเวลาล่วงมาถึง ๓๓ ปี จึงมีโอกาสได้ไปชะวาอีกครั้งหนึ่งโดยลำพังตนใน พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ เมื่อได้รับปลดชรา พ้นหน้าที่ทั้งปวงออกมาอยู่เมืองปีนังตามสบายได้ ๗ เดือน เหตุที่จะไปชะวาครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยเมื่อเดือนมกราคมปีกลาย ไปส่งเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยุโรป ณ เมืองเมดานที่เกาะสุมาตรา ไปพบเจ้านายที่ประทับอยู่เมืองชะวา มีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นต้น ซึ่งพร้อมกันมาส่งเสด็จฯ ทูลกระหม่อมตรัสชวนให้ไปเที่ยวชะวา และให้ไปพักที่ตำหนักของท่านซึ่งสร้างใหม่ ณ เมืองบันดุง ฝ่ายเจ้าหญิงลูกของข้าพเจ้าทั้ง ๓ คนก็อยากไปเห็นเมืองชะวา จึงทูลรับว่าพอถึงระดูแล้งในเกาะชะวา จะไปเฝ้าให้ทันช่วยงานเฉลิมพระชันษาของทูลกระหม่อม ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน สมเด็จหญิงน้อยตรัสว่าวันเกิดของข้าพเจ้าก็ก่อนนั้นเพียงสัปดาหะเดียว ให้ไปฉลองวันเกิดที่บันดุงในปีนี้เถิด จะโปรดมีการเลี้ยงประทาน ก็เป็นอันตกลงกำหนดว่าจะไปให้ถึงบันดุงก่อนวันที่ ๒๑ มิถุนายน และจะอยู่ที่บันดุงจนวันที่ ๒๙ มิถุนายน
ครั้นถึงเดือนพฤษภาคมเริ่มกะการที่จะไป ห้างอิสต์เอเซียติคเขารับให้เอเยนต์ของเขาซึ่งมีอยู่ตลอดทางที่จะไป ช่วยเป็นธุระในการเดินทาง กงสุลฮอลันดาที่ปีนังก็บอกไปยังรัฐบาลให้รู้และได้ขอให้กงสุลสยามที่เมืองบะเตเวียบอกเคาวเนอเยเนอราลให้ทราบด้วยอีกทางหนึ่ง แต่เรือที่จะไปนั้นไม่มีเรือที่เดินตรงจากปีนังไปเมืองบะเตเวีย จะต้องไปเรืออื่นจนถึงเมืองสิงคโปร์แล้วจึงลงเรือของบริษัทฮอลันดาจากที่นั่นไปยังเมืองบะเตเวีย ให้สืบดูวันเรือออก ได้ความว่า เรือเมล์ฮอลันดาออกจากสิงคโปร์ทุกวันศุกร์เวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกา หาเรือที่จะไปจากปีนังให้เหมาะเวลา อย่าต้องไปค้างคอยเรืออยู่ที่สิงคโปร์ ได้ความว่าเรือเมล์ของบริษัทปีแอนด์โอ ลำชื่อ ราชปุตนะ จะมาถึงปีนังวันพฤหัสบดีที่ ๗ มิถุนายน และจะออกในวันนั้น ไปถึงสิงคโปร์วันศุกร์ที่ ๘ กลางวัน ทันไปลงเรือฮอลันดาออกจากสิงคโปร์ในวันนั้นเอง จึงตกลงให้ว่ากล่าวซื้อตั๋วเรือ และบอกไปให้ทราบที่ชะวาว่าจะไปตามวันที่กะนั้น ผู้ที่จะไปกับข้าพเจ้ามีแต่ลูกหญิงพูนคน ๑ หญิงพิลัยคน ๑ หญิงเหลือคน ๑ กับนายชิตคนรับใช้คน ๑ รวม ๕ คนด้วยกัน อธิบายรายการที่ไปมีดังเล่าต่อไปนี้.
วันพฤหัสบดีที่ ๗ มิถุนายน
แก้ไขเวลาบ่าย ๑๔ น. ขึ้นรถออกจากซินนะมอนฮอล ไปลงเรือราชปุตนะ ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่หน้าเมืองปีนัง เพื่อนไทยที่มาอยู่ปีนังไปส่งกันแทบทั้งนั้น ร่ำลากันแล้วเรือออกเวลา ๑๕ น. แล่นไปทางใต้ตลอดคืน
ฤกษ์ยาตราครั้งนี้ไม่สู้ดี ด้วยเมื่อวันก่อนจะลงเรือ รู้สึกตัวตะครั่นตะครอเหมือนกับจะจับหวัด รุ่งขึ้นเช้าถึงวันจะลงเรือธาตุก็ไม่ปกติ กินยาแล้วไปลงเรือ พอเรือออกจากท่าไปหน่อยหนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นอินฟลวนซา (หวัดใหญ่) และได้รับความว่าหญิงพูนกับหญิงเหลือก็เป็นเช่นเดียวกันอีก ๒ คน ต่อมาเมื่อไปถึงชะวาแล้วได้ข่าวว่าพวกที่เหลืออยู่หลังยังซินนะมอนฮอล ก็เป็นอินฟลวนซาอีก ๒ คนถึงล้มหมอนนอนเสื่อ จึงเป็นอันได้ความว่าคงเป็นด้วยไอหวัดใหญ่เเข้บ้านเมื่อก่อนจะไป ถ้ากำหนดวันที่ไปช้าอีกสัก ๒ วัน ก็เห็นจะต้องเลื่อนกำหนด แต่พวกเราที่ไปอาการเป็นอย่างเบาเดินเหินได้ไม่เป็นไรนัก แต่ส่วนข้าพเจ้ากับหญิงเหลืออยู่ในเรือห้องเดียวกัน ถูกซ้ำร้ายด้วยไม่รู้จักใช้ท่อลมที่เขาสูบส่งมาให้ความเย็นที่ในห้องนอนกลางคืนรู้สึกร้อนปล่อยให้ลมเป่าถูกตัวตลอดคืน เช้าขึ้นเลยเป็นโรคปัตตะคาดยึดด้วยกันทั้ง ๒ คน ต้องไปให้หมอรักษาในชะวาหลายวัน จึงว่าฤกษ์ยาตราไม่สู้ดี
ไปในเรือเมล์ปีแอนด์โอครั้งนี้ชวนให้นึกถึงความหลัง ครั้งข้าพเจ้าไปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ก็ไปเรือเมล์บริษัทนี้เหมือนกัน เรือที่ไปจากสิงคโปร์ครั้งนั้น เป็นเรือดาดฟ้าชั้นเดียวขนาดเพียง ๔,๐๐๐ ตัน ยังไม่มีไฟฟ้าหรือห้องเย็น ต้องเลี้ยงสัตว์ที่จะกินเป็นอาหารกับทั้งวัวที่สำหรับรีดน้ำนมให้คนโดยสารกินไปในเรือ เรือเมล์สมัยปัจจุบันนี้ใหญ่โต ลำราชปุตนะนี้ถึง ๑๗,๐๐๐ ตัน กินอยู่ราวกับโฮเต็ล ได้ความรู้ปลาดอย่างหนึ่งว่าเรือเมล์ใหญ่ๆ ที่มีปล่องควัน ๒ ปล่องนั้น ที่จริงเป็นปล่องลวงเสียปล่องหนึ่ง ด้วยเครื่องจักรที่ใช้กันในปัจจุบันนี้มีปล่องควันแต่ปล่องเดียวก็พอ แต่เจ้าของเขาไม่กล้าลดปล่องลง เพราะคนโดยสารชอบไปเรือที่มีหลายปล่อง ด้วยเข้าใจว่ามั่นคงแข็งแรงกว่าเรือปล่องเดียว แม้เรือกำปั่นยนต์ที่ต่อเป็นเรือรับคนโดยสารในสมัยนี้ ก็ทำปล่องขึ้นให้เหมือนเรือไฟปล่องหนึ่งหรือสองปล่อง สำหรับเอาใจคนโดยสารมิให้รังเกียจ ยังดื้อแต่บริษัทอิสต์เอเซียติค ซึ่งริทำกำปั่นยนต์ขึ้นก่อนเพื่อไม่ยอมทำปล่องเช่นนั้น สังเกตดูขนบธรรมเนียมในเรือเมล์เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนแปลงมาก แต่ก่อนถือกันเป็นธรรมเนียมว่าผู้หญิงขวัญอ่อน เพราะฉะนั้น ผู้ชายจะอยู่บนดาดฟ้าในระหว่างเวลาแต่เช้า ๘ น. จนค่ำ ๒๑ น. ร่วมกับผู้หญิง จำต้องแต่งตัวใส่เสื้อทั้งชั้นนอกชั้นในให้สุภาพเรียบร้อย และห้ามมิให้สูบบุหรี่ที่ห้องผู้หญิง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีข้อบังคับเช่นนั้นแล้ว เพราะผู้หญิงก็ชอบสูบบุหรี่เหมือนผู้ชาย การแต่งตัวจะแต่งอย่างไรผู้หญิงก็ไม่ถือ แม้ผู้หญิงเองก็มักนุ่งกางเกงปะยามาขายาวหรือกางเกงช๊อตขาสั้นอย่างผู้ชาย จึงเป็นอันอนุญาตให้สูบบุหรี่และแต่งตัวไปตามชอบใจ แม้จะใส่เสื้อชั้นในอยู่บนดาดฟ้าก็ได้ทุกเมื่อ คงถือวินัยอย่างเดียวแต่เมื่อเวลากินอาหารเย็นต้องแต่งเครื่องสำหรับเวลาเย็น เพราะกินอาหารแล้วมักมีการเต้นรำบนดาดฟ้าต่อไปจนดึก แต่เวลาเรือทอดอยู่ในอ่าวจะแต่งเครื่องเดินทางก็ได้ เพราะจะไม่ให้ลำบากแก่การขึ้นบก มีประเพณีที่เปลี่ยนใหม่อีกอย่างหนึ่ง แต่ก่อนในเรือเมล์มีประกาศปิดไว้ ห้ามมิให้คนโดยสารให้สินจ้างแก่คนรับใช้ แต่ที่จริงก็ให้กันเป็นสินน้ำใจทุกคน เป็นแต่ต้องลอบให้ ฝ่ายนายเรือก็ทำไม่รู้ เดี๋ยวนี้เลิกประเพณีนั้นแล้วให้กันได้โดยเปิดเผย ว่าโดยทั่วไปเรือเมล์เดี๋ยวนี้ แม้เรียกค่าโดยสารแพงขึ้น ก็สบายกว่าแต่ก่อนมาก.
วันศุกร์ที่ ๘ มิถุนายน
แก้ไขเวลาบ่าย ๑๔ น. เรือราชปุตนะถึงเมืองสิงคโปร์ จอดเทียบท่าที่ตันหยองปากา เอเยนต์ของห้างอิสต์เอเซียติคมารับไปลงเรือแปลนเชียส ของบริษัทเกปีเอมฮอลันดา ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่อีกอ่าวหนึ่งในเวลาเดียวกัน ด้วยมีเวลาเพียง ๒ ชั่วโมง จะไปเที่ยวที่ไหนอีกไม่ได้
เวลาบ่าย ๑๖ น. เรือแปลนเชียสออกจากเมืองสิงคโปร์ไปทางช่องเกาะเรียวทางไปชะวา เรือลำนี้ขนาด ๔,๐๐๐ ตัน ต่อสำหรับรับคนโดยสารในระหว่างเมืองสิงคโปร์ เมืองมุนต๊อก เมืองบะเตเวีย เมืองสะมารัง และเมืองสุรไบยา ทำอย่างประณีตคล้ายกับเรือเมล์ใหม่ที่ไปมากับยุโรป เป็นแต่ขนาดย่อมกว่า และแก้ไขห้องหับให้เหมาะกับเมืองร้อน อยู่สบายดี คนโดยสารชั้นที่ ๑ อยู่กลางลำตอนข้างหน้า ชั้นที่ ๒ อยู่ค่อนข้างท้าย ตอนท้ายเรือทีเดียวสำหรับคนโดยสารชั้นที่ ๓ อยู่แต่กับดาดฟ้าและมีม่านกั้นไม่ให้ปะปนกับชั้นที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งไปมาถึงกันได้ เรือบริษัทเกปีเอมนี้เรียกค่าโดยสารอยู่ข้างแพง เพราะมีแต่บริษัทเดียวที่เดินเรือรับคนโดยสารในน่านน้ำตามหมู่เกาะชะวา.
วันเสาร์ที่ ๙ มิถุนายน
แก้ไขเรือแล่นถึงช่องเกาะบังกาแต่เช้า หยุดรับส่งคนโดยสารที่หน้าเมืองมุนต๊อกที่เกาะบังกาแล้วแล่นต่อไป ตอนค่ำเกิดเหตุร้ายขึ้นในเรือ ด้วยแขกบาตั๊กชาวเกาะสุมาตราคน ๑ ซึ่งไปในชั้นที่ ๓ เกิดเสียจริตถึงฆ่าคนโดยสารชั้นเดียวกันตายคน ๑ แต่นายเรือเขาจับตัวคนเสียจริตขังและทิ้งศพคนตายได้อย่างเงียบ คนโดยสารชั้นที่ ๑ และที่ ๒ เกือบจะไม่มีใครรู้ว่าเกิดเหตุนั้น ที่รู้ถึงหูพวกเราเพราะค่ำวันนั้นเผอิญหญิงพูนกับหญิงเหลือซึ่งอยู่ห้องเดียวกันสั่งให้เอาอาหารเย็นไปให้กินที่ในห้อง พอบ๋อยจีนยกอาหารเข้าไปขอให้ปิดประตูใส่กลอน เธอตกใจใต่ถาม จึงได้ความว่ามีคนบ้าฆ่าคนตายข้างท้ายเรือ กลัวมันจะวิ่งผลุนผลันเข้ามาในห้อง ค่ำวันนี้ตอนดึกแล่นเรือรอไปช้าๆ หลายชั่วโมงเพราะใกล้จะถึงเกาะชะวา กัปตันประสงค์จะเข้าทอดท่าต่อสว่าง.
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มิถุนายน
แก้ไขพอรุ่งสว่างถึงปากอ่าวตันหยองเปรียก เกาะชวา เรือเข้าเทียบท่าขึ้นเมืองบะเตเวียเวลา ๗ น. ทูลกระหม่อมชายกับมิสเตอร์ครูเดนกงสุลสยามและมิสเตอร์มะเครเกอผู้แทนบริษัทอิสต์เอเซียติคมารับถึงเรือ มิสเตอร์ไมเคลรีดกงสุลอังกฤษที่เคยคุ้นกันในกรุงเทพฯ ทราบว่าเราจะไป ก็มีแก่ใจมารับด้วย ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดกิตติศัพท์รู้ไปถึงพวกหนังสือพิมพ์ ให้ช่างมาคอยถ่ายรูปเป็นหลายคน กงสุลสยามบอกว่าเคาวเนอเยเนอราลขอเชิญให้ข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงทั้ง ๓ คน ไปกินกลางวันที่วังเมืองบุยเตนซ๊อกในวันอังคารที่ ๑๒ ให้บอกรับและขอบใจแล้วขึ้นจากเรือ ขึ้นรถยนต์ด้วยกันกับทูลกระหม่อมไปยังเมืองบะเตเวียไปพักอยู่โฮเต็ลเดสอินดีสด้วยกัน โฮเต็ลนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยประทับ แต่เขารื้อสร้างใหม่ใหญ่โตกว่าเก่ามาก ปลาดอยู่ที่เรือนหลังซึ่งเคยเสด็จประทับนั้น เขายังคงไว้อย่างเดิมไม่แก้ไข เมื่อไปเห็นก็จับใจเหมือนอย่างรำลึกชาติได้ ปรึกษากับทูลกระหม่อม เห็นว่าไม่มีเหตุที่จะพักอยู่เมืองบะเตเวียให้นานวัน จึงตกลงจะค้างแรมแต่คืนเดียว รุ่งขึ้นตอนเช้าจะไปดูพิพิธภัณฑสถานซึ่งอยากดูอยู่นานแล้ว ตอนบ่ายจะย้ายไปเมืองบุยเตนซ๊อกทางรถยนต์ ค้างแรมสำหรับไปดูสวนหลวงในตอนเช้า และไปกินเลี้ยงที่เคาวเนอเยเนอราลตอนกลางวันเวลาบ่าย ทูลกระหม่อมจะโปรดให้รถยนต์มารับไปยังเมืองบันดุง ระยะทาง ๓ ชั่วโมงถึงในเย็นวันนั้น ไม่ต้องค้างที่ไหนอีก เมื่อปรึกษากันแล้วในตอนเช้ามีเวลาว่าง ทูลกระหม่อมทรงพาขึ้นรถยนต์ไปเที่ยวดูบ้านเมือง ดูไม่สู้แปลกตากว่าที่ได้เห็นเมื่อ ๓๓ ปีมาแล้วเท่าใดนัก คลองลงเขื่อนอันเป็นต้นแบบคลองตลาดตอนสวนสราญรมย์ก็ยังอยู่ แต่สพานหกเปลี่ยนเป็นสพานเหล็กไปเสียแล้ว สโมสร “คองคอเดีย“ อันเป็นต้นแบบของศาลาสหไทยสมาคมก็ยังอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ขยายเมืองกว้างขวางออกไปกว่าแต่ก่อนมาก เย่าเรือนที่สร้างใหญ่โต เป็นอย่างใหม่ก็มีแต่โฮเต็ลกับอาคารต่างๆ เช่นธนาคารเป็นต้น เรือนคนอยู่ยังเป็นแบบเก่าอยู่นั่นเอง สิ่งซึ่งทอดทิ้งให้เลวลงกว่าแต่ก่อนก็มี ที่สำคัญคือท้องสนามหลวงที่เรียกว่า “กอนนิงสเปลน“ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรด ถึงทรงจำแบบมาทำท้องสนามหลวงในกรุงเทพฯ แต่ก่อนเป็นสิ่งที่สง่างามยิ่งนัก แต่เดี๋ยวนี้ทอดทิ้งปล่อยให้ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่รายรอบล้มตายหายสูญไปเสียมาก ที่ปลูกแซมก็ไม่บำรุง แม้ในตัวสนามเองก็ปล่อยให้ปลูกสร้างเรือนโรงอะไรลงหลายอย่าง ตรงที่ยังว่างก็ทิ้งราวกับที่ร้างน่าเสียดาย มีอะแควเรียมที่เลี้ยงปลาต่างๆ ตั้งขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง น่าดูแต่ก็ไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก
เวลาบ่าย มิสเตอร์ฟิตสมอริส กงสุลเยนอราลอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยกันมาแต่อยู่ในกรุงเทพฯ มาหา แล้วขึ้นรถยนต์ไปเที่ยวดูเมืองอีกครั้งหนึ่ง เลยไปเยี่ยมตอบขอบใจกงสุลไทยและกงสุลอังกฤษ กับผู้อื่นที่ไปรับด้วย
ทูลกระหม่อมชายจะเสด็จไปด้วยอากาศยานพรุ่งนี้เช้า กลับไปคอยอยู่ที่เมืองบันดุง
วันจันทร์ที่ ๑๑ มิถุนายน
แก้ไขเวลาเช้า ๑๐ น. ไปดูพิพิธภัณฑสถาน การที่จะไปนี้กงสุลได้ไปบอกไว้ พวกกรรมการสภาโบราณคดีมีศาสตราจารย์วันกันและดอกเตอร์บอตช์ นักปราชญ์คนสำคัญ กับพวกกรรมการพร้อมกันมาคอยรับ เพราะเขาเคยได้ยินชื่อข้าพเจ้าเมื่อเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา พาไปนั่งในห้องประชุมเชิญให้ลงนามไว้ในสมุดสำหรับลงนามคนสำคัญก่อน (และเมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงเมืองปีนังแล้ว มีจดหมายบกมาว่าในคราวประชุมสภาครั้งหลัง ได้เลือกข้าพเจ้าให้เป็นสมาชิกกิตติมาศักดิ์ของราชบัณฑิตยสภาเมืองบะเตเวียด้วย) แล้วจึงพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ข้าพเจ้าขอดูในวันนี้แต่ฉะเพาะห้องของมหัคฆภัณฑ์ ห้องของทองสัมฤทธิ์ กับห้องเครื่องศิลา เพราะมีเวลาน้อย ห้องของมหัคฆภัณฑ์มีเครื่องเพ็ชร พลอย เงิน ทอง ของโบราณต่างๆ ห้องนี้ทำทางเข้าออกและมีคนเฝ้ากวดขัน ของโบราณที่จัดไว้ในห้องเป็นของสมัยเมื่อพวกชะวาถือสาสนาอิสลามแล้วมากกว่าของสมัยเมื่อยังถือพระพุทธสาสนาและสาสนาพราหมณ์ มีพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ทำด้วยเงินและทองคำหลายองค์ แต่ฝีมือไม่ดีวิเศษสมกับที่ลงทุนทำด้วยเงินทอง ข้าพเจ้าปรารภขึ้นว่าผู้ที่ให้สร้างเห็นจะเป็นแต่เศรษฐีมิใช่ผู้รู้ศิลปศาสตร์ ท่านพวกนักปราชญ์เห็นชอบด้วย แล้วบอกว่าเมื่อมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เมืองฝรั่งเศสคราวหลัง ได้คัดเลือกของโบราณในพิพิธภัณฑ์ส่งไปตั้งแสดงหลายสิ่ง เผอิญเกิดไฟไหม้พิพิธภัณฑสถานของประเทศฮอแลนด์ ของโบราณสูญหายไปเสียหลายสิ่ง ทีหลังเห็นจะไม่ยอมส่งไปอีก ห้องของทองสัมฤทธิ์นั้นน่าดูมาก ด้วยมีของสมัยศรีวิชัยเมื่อพวกชะวาถือพระพุทธสาสนาและสาสนาพราหมณ์รวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานนี้แปลกๆ ไม่มีที่อื่นเหมือนของสมัยศรีวิชัยสิ่งใด มีที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ ชิ้นหนึ่ง เขามีตั้งสองและสามทั้งนั้น แต่ปลาดอยู่ที่บรรดารูปพระโพธิสัตว์ที่มีในพิพิธภัณฑสถานนี้นับองค์ไม่ถ้วน พิจารณาดูจะหาที่งามยิ่งกว่าหรือแม้แต่ทัดเทียมรูปพระโพธิสัตว์เมืองไชยา ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ ไม่มีเลยสักองค์เดียว ถึงกระนั้นถ้าว่าโดยปริมาณ ก็ควรยอมยกย่องพิพิธภัณฑสถานเมืองบะเตเวียนี้ว่า รวบรวมเครื่องทองสัมฤทธิ์สมัยศรีวิชัยไว้ได้มากกว่าที่อื่นหมด มีพระพุทธรูปอินเดียแบบอมรวดีที่ทำจีวรจีบอยู่ในพิพิธภัณฑสถานนี้องค์หนึ่ง ว่าขุดพบที่เกาะกาลีปเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว พระพุทธรูปอย่างนี้ปลาดที่ปรากฎว่ามีในประเทศต่างๆ แต่ ๔ องค์ คืออยู่ที่พิพิธภัณฑสถานเมืองโคลัมโบในลังกาทวีปองค์หนึ่ง อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานเมืองฮานอยองค์หนึ่ง อยู่ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ องค์หนึ่ง กับอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานเมืองบะเตเวียนี้องค์หนึ่ง นับถือว่าเป็นของวิเศษด้วยกันทั้ง ๔ แห่ง องค์ในกรุงเทพฯ นั้น ขุดพบที่เมืองนครราชสีมา ส่วนเครื่องศิลาของโบราณนั้นจัดตั้งรายไว้ตามระเบียง กระบวนทำรูปภาพต้องยอมว่าฝีมือชะวาทำงามกว่าที่ไหนๆ หมด และมีมากนับไม่ถ้วน ที่เอามาไว้ในพิพิธภัณฑสถานนี้เลือกมาแต่พอเป็นตัวอย่าง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปชะวาใน พ.ศ. ๒๔๔๔ รัฐบาลฮอลันดายังไม่ได้จัดรักษาโบราณวัตถุสถาน ถวายอนุญาตให้ทรงเลือกเครื่องศิลาของโบราณเอามากรุงเทพฯ ตามต้องพระราชประสงค์หลายสิ่ง แต่เดี๋ยวนี้เขาจัดการบำรุงรักษาโบราณวัตถุสถานห้ามปรามกวดขันมิให้เอาของโบราณออกจากชะวาแล้ว
เมื่อดูพิพิธภัณฑสถานแล้วกลับไปกินกลางวันที่โฮเต็ล ประเพณีเลี้ยงอาหารกลางวันตามโฮเต็ลในชะวาแปลกกว่าที่อื่นอย่างหนึ่งที่ให้กินเข้าอย่างชะวา (คล้ายๆ กับกินอย่างไทย) ก่อน แล้วจึงให้กินกับเข้าฝรั่งแถมเมื่อภายหลัง อธิบายว่า ชาวต่างประเทศที่ไปอยู่เมืองชะวาถ้ากินอาหารเหมือนกับชาวเมืองถูกกับอากาศธาตุไม่วิปริต ที่มีกับเข้าฝรั่งแถมท้ายไว้สิ่งหนึ่งนั้นสำหรับคนไปอยู่ใหม่ ยังไม่คุ้นกับอาหารชะวา เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปก็เช่นนั้น ไทยเรากินกันจนออกเบื่อเพราะทำกับเข้าซ้ำๆ กันทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้เห็นจะเป็นเพราะมีชาวต่างประเทศไปอยู่และไปเที่ยวมากขึ้น เขาจัดการแก้ไขถามคนกินก่อนทุกวันว่าจะพอใจกินเข้าหรือจะกินอาหารอย่างฝรั่ง ถ้าจะกินอาหารฝรั่งเขาก็เลี้ยงอย่างฝรั่งแต่ต้นจนปลาย ต่อบอกว่าจะกินเข้าจึงเลี้ยงตามกระบวนที่กล่าวมาก่อน แต่เพิ่มเติมกับเข้าขึ้นมากมายหลายอย่าง มีคนยกจานอาหารที่เลี้ยงเดินตามกันมาราวกับกระบวนแห่ แต่อาหารที่เลี้ยงเวลาอื่นเลี้ยงอย่างฝรั่งทั้งนั้น การเลี้ยงอาหารในโฮเต็ลนั้น ใครตื่นเช้าก่อน ๘ น. มีน้ำชากาแฟกับผลไม้มาให้กินรองท้องที่ห้องอยู่ ถึงเวลา ๘ น. ไปจน ๙.๓๐ น. ตั้งอาหารเช้าที่ห้องใหญ่สำหรับเลี้ยง ของเลี้ยงมีน้ำชา กาแฟ นม เนย ขนมปัง ไข่ไก่ กับเนื้อเย็นและผลไม้ ถึงเวลา ๑๒.๓๐ น. ไปจน ๑๔ น. เลี้ยงอาหารกลางวันดังกล่าวมาแล้ว (ตั้งแต่เวลา ๑๔ น. ไปจน ๑๖ น. นอนกลางวันกันหมด แม้จนคนรับใช้) เวลา ๑๖.๓๐ น. ไปจน ๑๗.๓๐ น. เลี้ยงน้ำชากับขนม ถึงเวลา ๑๙.๓๐ น. ไปจน ๒๑ น. เลี้ยงอาหารเย็น การเลี้ยงอาหารเวลาเย็นก็เปลี่ยนแปลกกับแต่ก่อนอย่างหนึ่ง เขาว่าพึ่งเกิดขึ้นในชะวาไม่ช้านัก แต่เดิมมาถ้าใครเชิญเพื่อนฝูงไปกินอาหารเย็นที่โฮเต็ล ย่อมแต่งตัวเครื่องเวลาเย็นไปพร้อมกันเมื่อใกล้กำหนดเวลากินอาหาร กินแล้วก็นั่งสนทนาหรือเล่นอะไรกันต่อไปจน ๒๒ หรือ ๒๓ น. แล้วกลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้เครื่องแต่งตัวเวลาเย็นเป็นอันเลิก จะแต่งตัวอย่างไรๆ ก็ได้ แต่เปลี่ยนเวลาไปพร้อมกันแต่หัวค่ำ นั่งสนทนาดื่มค๊อกเตลกันไปจนจวน ๒๑ น. จึงเข้านั่งกินอาหาร กินแล้วต่างก็กลับบ้าน เว้นแต่พวกรักสนุกจึงอยู่เล่นเต้นรำกันต่อไปจนดึกถึง ๒ หรือ ๓ น. ตามโฮเต็ลใหญ่ย่อมมีมโหรีเครื่องสายสำหรับบรรเลงทั้งเวลาเลี้ยงกลางวันและเลี้ยงค่ำ แล้วทำเพลงให้เต้นรำด้วยทุกแห่ง กินกลางวันแล้วมานอนพักจนบ่าย ๑๖ น. ขึ้นรถยนต์ออกจากเมืองบะเตเวียระยะทางรถยนต์แล่นชั่วโมงเศษถึงเมืองบุยเตนซ๊อก ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา สูงกว่าระดับทะเล ๙๐๐ ฟีต อากาศเย็นกว่าที่เมืองบะเตเวีย จึงเป็นที่ตั้งวังที่อยู่ของเคาวเนอเยเนอราลสืบมาช้านาน เดิมหมายจะไปพักโฮเต็ลเบลวูที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยประทับ แต่ได้ความว่าเวลานี้กำลังปิดเพื่อจัดการใหม่ จึงไปอยู่โฮเต็ลชื่อเบลวูดิบเบต เป็นโฮเต็ลใหม่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณวังเคาวเนอเยเนอราล.
วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน
แก้ไขเวลาเช้าไปดูสวนหลวง สวนหลวงที่เมืองบุยเตนซ๊อกนี้ขึ้นชื่อลือนามว่าจัดดี มีพรรค์ไม้ต่างๆ มากกว่าสวนหลวงของประเทศอื่นๆ ทางตะวันออกนี้ทั้งสิ้น เพราะได้ตั้งและรัฐบาลเอาใจใส่ทำนุบำรุงมากว่าร้อยปี ใครไปถึงเมืองบุยเตนซ๊อกก็ต้องไปดูทั้งนั้น แต่ไปดูคราวนี้เห็นอยู่ข้างจะร่วงโรยไปสักหน่อย ได้ยินว่าเพราะรัฐบาลต้องลดเงินค่ารักษาสวนลงในเวลาเศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง ถึงเวลาจวน ๑๓ น. ขึ้นรถไปที่วัง เคาวเนอเยเนอราลชื่อ ยองเกียเดอยอง คอยรับอย่างรับแขกเมืองมีบันดาศักดิ์ เลี้ยงที่ห้องท้องพระโรง จัดอย่างเลี้ยงในครัวเรือนนอกจากภรรยากับบุตรชายหญิงและนายทหารคนสนิท มีแต่เลขานุการของรัฐบาลกับภรรยาและเชิญบารอนเนสเซสิเลียวันตูล นางพระกำนัลของสมเด็จพระราชินีพันปีหลวงประเทศฮอแลนด์ ซึ่งได้เคยรู้จักกับข้าพเจ้าและเจ้าหญิงพูนหญิงพิลัยมาแต่ไปเฝ้า พ.ศ. ๒๔๗๓ อีกคนหนึ่ง กับพวกเราอีก ๔ คน นึกว่าตั้งแต่ข้าพเจ้าไปเฝ้าทรงรู้จักแล้ว สมเด็จพระราชินียังทรงแสดงพระเมตตาต่อมาเสมอ ข้าพเจ้าจึงเขียนโทรเลขขอให้เคาวเนอเยเนอราลส่งไปถวายว่า ข้าพเจ้าขอทูลให้ทรงทราบว่าได้มาชะวาอีกครั้ง ๑ กับลูกหญิง และเคาวเนอเยเนอราลได้ต้อนรับ ณ เมืองบุยเตนซ๊อกในวันนั้น ต่อมาอีก ๒ วัน สมเด็จพระราชินีพระราชโทรเลขตอบมาว่าทรงยินดีที่ทราบว่าไปชะวาและหวังพระราชหฤทัยว่าจะเป็นสุขสบายทั้งตัวข้าพเจ้าและเจ้าหญิงตลอดเวลาที่อยู่ในชะวา ส่วนเคาวเนอเยเนอราลนั้นรับจะสั่งเจ้าหน้าที่ตามหัวเมืองที่จะไปให้เอาเป็นธุระให้ความสดวกแก่ข้าพเจ้าทุกแห่ง เมื่อเลี้ยงแล้วเรียกช่างชักรูปมาถ่ายรูปหมู่ แล้วคุณหญิงของเคาวเนอเยเนอราลส่งมาแจกให้ไว้เป็นที่ระลึกด้วย เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้วกลับมาพักที่โฮเต็ลครู่หนึ่ง พอบ่าย ๑๕.๓๐ น. ก็ขึ้นรถยนต์ที่ทูลกระหม่อมให้มารับ กับจ้างรถยนต์บรรทุกหีบผ้าอีกรถหนึ่ง ออกจากเมืองบุยเตนซ๊อกไปเมืองบันดุงทางตำบลสินดันไลยะ ทางนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาส แต่ย้อนทางกับที่เราไปวันนี้ เวลานั้นยังไม่มีรถยนต์ เสด็จทรงรถไฟออกจากเมืองบุยเตนซ๊อกแต่เช้าไปลงที่เมืองตันยอ แต่นั้นทรงรถเทียมม้าคู่ต่อไป เมื่อถึงทางขึ้นภูเขาบางแห่ง ต้องเอาควายหลายตัวเข้าผูกล่ามลากทั้งม้าและรถขึ้นไปจนพ้นที่ชัน ไปถึงจวนที่พักของเคาวเนอเยเนอราลที่ตำบลจิปานะเอาจวนบ่าย ประพาสแล้วทรงรถข้ามเทือกเขากลับมาถึงเมืองบุยเตนซ๊อกจน ๒๒ น. อดเข้าเย็นกันทั้งกระบวน ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการประพาสในครั้งนั้น ถูกโทษว่าไม่คิดกะเวลาเสียให้ดี จึงจำเรื่องได้ไม่ลืม ไปคราวนี้มีรถยนต์ใช้ขึ้นเขาสูงถึง ๔,๘๐๐ ฟีตได้โดยสดวกไปสักชั่วโมงหนึ่งอย่างว่าไม่ทันรู้สึกตัวก็ถึงสินดันไลยะ คนขับรถชี้บอกให้ดูจวนเคาวเนอเยเอนราล จึงได้รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ไปได้รวดเร็วผิดกับแต่ก่อนมาก ทูลกระหม่อมพาพระองค์หญิง ๓ พระองค์ เสด็จทรงรถยนต์มาคอยรับที่เรสเตอรองข้างทาง ห่างเมืองบันดุงสักชั่วโมงหนึ่ง ประทานเลี้ยงน้ำชาเครื่องว่างแล้วพาไปเมืองบันดุง ถึงตำหนักที่เสด็จประทับ ๑๘ น. พอพลบค่ำทรงจัดให้อยู่ในตำหนักทั้งพวก ตัวข้าพเจ้าอยู่ห้องเคียงกับห้องที่ท่านบรรธม ลูกหญิง ๓ คนแยกกันอยู่ตามห้องของพระองค์หญิงพระธิดา ได้พบเจ้านายตลอดจนคนอื่นที่เป็นไทยไปอยู่เมืองบันดุงนั้น เกิดปีติยินดีกันทั่วหน้า
ตำหนักทูลกระหม่อมกับเจ้านายที่ประทับอยู่ณเมืองบันดุงนั้น ท่านซื้อที่ดินบนเนินริมถนนที่นคราทรตัดใหม่ นอกเมืองออกไปทางด้านเหนือ อยู่ห่างกลางเมืองบันดุงสัก ๘๐ เส้น สร้างตำหนัก ๔ หมู่ อยู่ในบริเวณเดียวกันหมด ตำหนักสมเด็จหญิงน้อยให้ชื่อว่า “ดาหาปาตี” (ตามชื่อวังในเรื่องอิเหนา) อยู่ทางข้างเหนือ ตำหนักทูลกระหม่อมเรียกว่า “ประเสบัน” อยู่ต่อไปข้างใต้ ตำหนักกรมหลวงิพยรัตนฯ เรียกว่า “ปันจะรากัน” อยู่ต่อตำหนักประเสบันไปทางตะวันออก แล้วถึงตำหนักหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม เรียกว่า “สตาหมัน” เป็นที่สุด มีครัวไฟ โรงรถ และเรือนมหาดเล็กข้าหลวงอยู่ข้างหลัง มีฉนวนทางเดินถึงกัน ตำหนักเป็นตึกชั้นเดียวตามแบบเรือนฮอลันดา เขตต์บริเวณทำกำแพงแต่ทางด้านข้างกับด้านหลัง แต่ทางด้านหน้าที่ออกถนนเปิดทำเป็นสวนดอกไม้ไปจนจรดถนน ไม่มีอะไรกีดกั้น แต่สร้างอย่างนั้นเหมือนกันทั้งเมือง เพราะไม่มีใครละลาบละล้วง และรัฐบาลระวังโจรผู้ร้ายดีด้วย.
วันพุธที่ ๑๓ มิถุนายน
แก้ไขเวลาเช้า ๑๐ น. ทูลกระหม่อมพาขึ้นรถยนต์ไปเที่ยวดูเมืองบันดุง เมืองนี้เมื่อตามเสด็จคราว พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้เคยอยู่ถึง ๒๐ วัน นานกว่าที่อื่นๆ เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธประชวร แต่เมื่อสมัยนั้นยังเป็นเมืองเล็ก ได้ยินแต่ว่ารัฐบาลฮอลันดาคิดจะมาตั้งเมืองบันดุงเป็นเมืองหลวงขึ้นอีกแห่ง เพราะเห็นว่าเมืองบะเตเวียตั้งอยู่ใกล้ทะเลนัก ถ้าชาติอื่นที่มีกำลังมากในท้องทะเลเช่นอังกฤษเกิดเป็นศัตรูจะต่อสู้รักษายาก เมืองบันดุงเป็นที่ชัยภูมิด้วยอยู่บนเขาห่างทะเล แต่อาจจะไปมากับเมืองอื่นๆ ในเกาะชะวาโดยทางบกได้สดวก ทั้งพื้นที่ก็กว้างขวางบริบูรณ์ด้วยการเพาะปลูก หากเสียเมืองบะเตเวียก็อาจจะเอาเมืองบันดุงเป็นที่มั่นได้ แต่ในสมัยนั้นได้เริ่มทำตามความคิดเพียงตั้งโรงงานสถานที่ของกรมรถไฟในชะวาอย่างเดียว ไปคราวนี้เห็นสร้างตึกใหญ่โตเป็นสถานสำหรับการต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง เช่นที่ว่าการทหารบกทั้งปวงและวิทยาลัยสำหรับสอนวิชาต่างๆ เป็นต้น สำนักกรมอากาศยานก็ตั้งอยู่ที่บันดุงนี้ จึงมีพวกพ่อค้าไปตั้งค้าขายมากขึ้นอีกมาก ใช่แต่เท่านั้น ยังถือกันว่าเมืองบันดุงเป็นที่อากาศดี (ได้สังเกตปรอทในห้องเรือนเมื่อไปพักอยู่คราวนี้ หนาวเพียง ๗๓ ดีกรี ร้อนเพียง ๘๐ ดีกรี แต่เขาว่าฤดูฝนๆ ตกในตอนเย็นทุกวัน) มีพวกที่ประสงค์จะอยู่ตามสบาย เช่นพวกที่รับเบี้ยบำนาญไปตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำ และมีพวกคนไข้เจ็บแปรสถานไปพักรักษาตัวที่เมืองบันดุงมากขึ้นทุกที เวลานี้ว่ามีหมออยู่ที่เมืองบันดุงถึง ๖๐ คน และมีสถานรับพยาบาลตั้งขึ้นหลายแห่ง ดูเมืองบันดุงเห็นจะใหญ่โตกว่าเมื่อมาคราวก่อนสัก ๑๐ เท่า บ้านเรือนก็สร้างใหม่โดยมาก สังเกตได้แต่ตอนเมืองเดิมถนนแคบ ตอนที่ขยายเมืองออกไปทำถนนกว้าง บ้านเมืองที่สร้างใหม่ แม้ยังชอบอยู่เรือนชั้นเดียวตามวิสัยชาวฮอแลนด์ ก็ทำยักเยื้องอย่างประณีตบรรจงงามกว่าแต่ก่อน ตอนที่ขยายใหม่ดูบ้านเรือนคล้ายกับเมืองฝรั่ง พวกฝรั่งที่อยู่ในเมืองบันดุงเดี๋ยวนี้ก็ประพฤติผิดกับแต่ก่อน แต่ก่อนนี้ผู้หญิงเวลาอยู่บ้านชอบแต่งตัวอย่างชะวา คือใส่เสื้อเอวทำด้วยผ้าขาวขลิบผ้าโปร่ง นุ่งโสร่ง ใส่รองเท้าแตะ ไม่ใช้ถุงเท้า เวลาบ่ายๆ เมื่อตื่นนอนกลางวันแล้วชอบออกมานั่งเก้าอี้โล้รับแขกที่สนามหน้าเรือน ที่นั่งเก้าอี้โล้นั้น บอกอธิบายว่า เวลาโล้เก้าอี้ตัวถูกลมเย็นสบาย ไม่ต้องใช้คนอื่นให้ชักพัด “ปังกา” เหมือนอย่างอังกฤษ ไปคราวนี้ที่เมืองบันดุงเห็นผู้หญิงแต่งแต่เป็น “แหม่ม” เก้าอี้โล้ก็ไม่มีในบ้านฝรั่ง ยังเห็นอยู่บ้างแต่ในบ้านพวกจีน เขาว่ายังคงใช้ธรรมเนียมเดิมอยู่แต่บ้านนอก.
เห็นของแปลกตาอยู่อย่างหนึ่งซึ่งทำให้คิดถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้ายังเสด็จอยู่ก็ต้องจะถึงถวายรายงาน ด้วยเมื่อเสด็จมาชะวาทอดพระเนตร์เห็นต้นปามอย่างหนึ่ง ซึ่งเขามักปลูกรายสองข้างถนน ปามอย่างนั้นลำต้นที่ตรงโคนป่องโต แล้วค่อยเรียวขึ้นไปจนถึงที่แตกใบคล้ายกับรูปขวดคอยาว ดำรัสเรียกว่า “ปามขวด” โปรดฯ ให้หาพรรค์เข้าไป ได้ปลูกรายไว้รอบกำแพงพระที่นั่งอนันตสมาคมและที่อื่นอีกในสวนดุสิต แต่เมื่อโตขึ้น รูปกลายไปป่องที่กลางลำต้นบ้างเล็กน้อย ไม่เป็นขวดเหมือนที่ในชะวา ทรงปรารภว่าเห็นจะเป็นเพราะดินและอากาศไม่เหมือนกัน ไปคราวนี้ไปเห็นต้นปามขวดที่ปลูกไว้ที่เมืองบันดุงกลายเป็นป่องกลางต้นเหมือนเช่นที่ปลูกในกรุงเทพฯ หมดทั้งนั้น ไม่พบปามขวดอย่างเช่นเคยเห็นเมื่อคราวตามเสด็จสักต้นเดียว ดูปลาดนักหนา จะเป็นด้วยต้นปามพวกนั้นมี ๒ ชนิด หรือเป็นด้วยดินฟ้าอากาศทำให้กลายไป น่าสืบเอาความจริง แต่เมื่อคิดว่าจะสืบเอาไปบอกใคร นึกไม่ออก ก็เลยเลิก
วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มิถุนายน
แก้ไขเวลาเช้า ๙ น. ทูลกระหม่อมพาขึ้นรถยนต์ไปดูภูเขาไฟ “ตันกูปันเปรา” ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือเมืองบันดุง ระยะทางรถยนต์แล่นเกือบ ๒ ชั่วโมงจึงถึง
เมืองบันดุงตั้งอยู่ในแอ่งกลางเหมือนอย่างก้นกะทะ มีเทือกภูเขาสูงถึงเมฆหมอกล้อมรอบ ถึงกระนั้นเพราะคนในเกาะชะวามีมากถึง ๔๐ ล้าน และรัฐบาลพยายามทำการทดน้ำดีไม่มีที่ไหนสู้ ตามภูเขาเหล่านั้นมีคนทำเรือกสวนไร่นาตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปจนเกือบถึงยอดเขาจึงเป็นป่าไม้ ถ้ามิใช่เขาสูงนักก็โก่นสร้างทำเป็นเรือกสวนหมดทั้งลูก มีบ้านเรือนราษฎรตั้งเรี่ยรายและมีถนนน้อยใหญ่ไปมาถึงกันได้ทุกแห่ง จะหาที่เปลี่ยวแทบไม่มี จนเป็นคำพูดกันว่า “ในเกาะชะวานี้ จะเดินไปทางไหนคงแลเห็นคนไม่ขาดสายตา” ไปเที่ยวเตร่ครั้งนี้ลองสังเกตดูก็เห็นสมดังว่า อีกประการหนึ่งตั้งแต่มีรถยนต์เกิดขึ้น รัฐบาลกับทั้งพวกเจ้าของที่ดินทำถนนเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก เดี๋ยวนี้มีถนนดาดอัสเฟลด์สำหรับรถยนต์ไปได้ทุกทาง แม้จะไปตลอดเกาะชะวาด้วยรถยนต์ก็ไปได้ ทูลกระหม่อมท่านเสด็จมาอยู่นานเคยเที่ยวเตร่ในแถวนี้จนคุ้นเคยกับชาวเมือง วันนี้ไปหยุดกลางทางที่บ้านฝรั่งปลูกไม้ดอกขายแห่งหนึ่ง ณ อำเภอเลมปัง เจ้าของบ้านไม่อยู่ พบฝรั่งรุ่นหนุ่ม ๒ คนเข้ามาเฝ้า เป็นพวกว่างงานซึ่งทั้งรัฐบาลและพวกพ่อค้าที่เคยจ้างคนทำงานพากันอัตคัดต้องลดจำนวนลูกจ้างลงเป็นอันมาก จึงเกิดมีพวกว่างงานขึ้นกันในเกาะชะวาทั้งที่เป็นฝรั่งและเป็นชะวา พวกฝรั่งที่ว่างงานนั้น ถ้ามีหลักแหล่งอยูในเมืองฮอแลนด์ รัฐบาลก็สงเคราะห์ส่งกลับไปเมืองเดิม เหลือแต่พวกที่ไม่มีหลักแหล่งจะไปอาศัย จึงจัดที่ให้อยู่รวมกันรับจ้างทำการงานตามแต่จะหาได้ และเรี่ยรายผู้มีทรัพย์ให้บริจาคเงินช่วยการเลี้ยงฝรั่งว่างงานนั้นให้พอได้เงินเลี้ยงชีพคนนึ่ง ราวเดือนละ ๕๐ บาท จนกว่าจะหางานทำได้ดังแต่ก่อน ส่วนพวกชะวาที่ว่างงานนั้น ก็กลับไปช่วยญาติพี่น้องทำสวนทำนาอาศัยเลี้ยงชีพ ถึงกระนั้น เมื่อจำนวนคนที่ต้องอาศัยกินมีมากขึ้น ก็เกิดปัญหาว่าเสบียงอาหารจะเกิดขาดแคลนถึงพากันอดอยากหรือไม่ ข้อนี้ที่สะเทือนไปถึงสินค้าเข้าสารของไทย เพราะพ่อค้าบางพวกในชะวาคิดจะช่วยคนว่างงาน ด้วยเอาเข้าสารต่างประเทศเข้าไปขายให้ราคาเข้าสารในชะวาถูกลง แต่รัฐบาลกลับห้ามมิให้เอาเข้าสารต่างประเทศเข้าไปขายทีเดียว เขาชี้แจงอธิบายว่าในเกาะชะวาราษฎรเป็นชาวไร่นามากกว่าพวกอื่น ทำนาได้เข้าปีละเท่าใดก็กินกันแต่ในพื้นเมืองมิได้ส่งไปขายต่างประเทศ รัฐบาลได้ให้สำรวจเข้าในพื้นเมืองยังพอมีที่จะเลี้ยงคนว่างงานได้ไม่อดอยาก ถ้าปล่อยให้เอาเข้าต่างประเทศเข้าไปขาย ราคาเข้าตกต่ำกว่าปกติ ราษฎรพวกทำนาก็จะได้ผลประโยชน์น้อยลง พากันขัดสนเกิดเดือดร้อนขึ้นอีกจำพวกหนึ่ง จนถึงไม่สามารถจะเลี้ยงพวกว่างงานที่ได้อาศัยพวกชาวนาอยู่ในบัดนี้ อธิบายการทำนาในเกาะชะวาถ้าว่าสำหรับไทยเรา ต้องได้ไปเห็นจึงจะเข้าใจได้ชัดเจนว่าผิดกับการทำนาในเมืองไทยเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง เป็นต้นแต่เขามีน้ำชลประทานพอใช้ตลอดปี จะทำนาเมื่อใดก็ทำได้และอาจทำนาได้แม้จนบนไหล่เขา ตัดอันนาเป็นคั่นบันไดลงไปจนในที่ต่ำ ไม่ต้องอาศัยแต่ในท้องที่ราบ หรือต้องทำแต่ตามฤดูฝนฟ้าเหมือนในเมืองไทย เมื่อนั่งรถผ่านไปสังเกตดูนาที่ทำสองข้างทางออกน่าพิศวง ด้วยนาตำบลเดียวกันบางแปลงกำลังไถ บางแปลงกำลังเกี่ยวเข้า และบางแปลงกำลังตกกล้าในที่ใกล้ๆ กัน เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปชะวา เขาทูลอธิบายว่า ตามที่นาเหล่านั้นทำปีละ ๓ ครั้ง ปลูกเข้าในระดูฝนปลูกไม้ไร่ในระดูแล้ง และขังน้ำเลี้ยงปลา (ให้เกิดปุ๋ย) เมื่อก่อนจะเข้าระดูฝน แต่สังเกตดูเดี๋ยวนี้เห็นแต่ปลูกเข้าอย่างเดียว เห็นจะเป็นเพราะพลเมืองมากขึ้น ต้องการเข้ามากกว่าแต่ก่อน ปลาดใจอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เห็นพวกชะวาใช้เครื่องจักร หรือแม้แต่เครื่องมืออย่างฝรั่งทำนาเลยสักแห่งเดียว เคยใช้โคกระบือและเครื่องมืออย่างไรเมื่อ ๓๐ ปีมาแล้ว ก็คงใช้อยู่อย่างนั้น จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าโง่ก็ต้องตัดสินว่าโง่ตลอดจนพวกฮอลันดา ซึ่งฉลาดอย่างยิ่งในการทำทดน้ำ มันจะเป็นเพราะการทำนาด้วยใช้เครื่องจักรและเครื่องมืออย่างฝรั่ง เหมาะแต่กับพื้นที่บางชะนิด และทุนรอนของคนบางจำพวกดอกกระมัง
ขับรถตามไหล่เขาต่อไป ข้ามแอ่งใหญ่แล้วขึ้นเขาอีกเทือกหนึ่ง จึงถึงปากปล่องภูเขาไฟตันกูปันเปรา สูงจากระดับทะเลราว ๖,๐๐๐ ฟีต มี ๒ ปล่องอยู่ไม่ห่างกันแลดูลึกเป็นเหว ในนั้นเป็นโคลนเดือดมีควันและกลิ่นกำมะถันขึ้นมา ต้องดูแต่ทางเหนือลม ดูภูเขาไฟแล้วกลับมาบันดุงตามทางเดิม.
วันศุกร์ที่ ๑๕ มิถุนายน
แก้ไขการเที่ยวเตร่ในเกาชะวาเดี๋ยวนี้ผิดกับเมื่อไปคราวก่อนมาก ด้วยมีรถยนต์ อาจจะไปเที่ยวถึงที่ไกลๆ ซึ่งแต่ก่อนต้องไปเต็มวันหรือต้องค้างแรม เดี๋ยวนี้ไปได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง กลับทันเวลากินกลางวันหรือในตอนเย็นวันนั้นเอง ตำบลที่คนชอบเที่ยวในเกาะชะวาภาคตะวันตกอยู่รายรอบเมืองบันดุงแทบทั้งนั้น แต่ทูลกระหม่อมท่านจะไม่ให้ข้าพเจ้าเหนื่อยเกินกำลังเมื่ออายุมาก จึงทรงกะให้ไปเที่ยวทางไกลสองสามวันครั้งหนึ่ง ให้พักหรือเที่ยวแต่ในเมืองบันดุงเองในวันว่าง เช้าวันนี้เสด็จกับกรมหลวงทิพยรัตนฯ พาไปดูร้านขายของในเมืองบันดุง ไปแวะดูแกรนด์โฮเต็ลโฮมันที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยประทับแต่ก่อน แต่เขารื้อของเดิมทำใหม่หมด เดี๋ยวนี้เป็นโฮเต็ลใหญ่โต และมีโฮเต็ลสร้างใหม่ใหญ่โตทำนองเดียวกันเรียกว่า โฮเต็ลเปรยงงา (ตามชื่อมณฑล) อยู่ใกล้ๆ กันอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีโฮเต็ลเล็กๆ อย่าง “เปนชัน” สำหรับรับคนอาศัยกินอยู่กับเจ้าของบ้าน เรียกราคาถูกๆ อีกนับไม่ถ้วน เพราะเมืองบันดุงเจริญมีผู้คนไปมามากขึ้น ส่วนการค้าขายก็มีห้างหอร้านรวงหนาแน่นหลายสายถนน สมกับที่เป็นเมืองใหญ่ จะปรารถนาสิ่งใดหาซื้อได้แทบทั้งนั้น ในกระบวรร้านขายของที่บันดุงเห็นแปลกตากว่าที่อื่นอยู่บางอย่างคืออย่างหนึ่ง มีร้านขายแต่ดอกไม้สดต่างๆ หลายร้าน เพราะเมืองบันดุงตั้งอยู่ที่สูงถึง ๒,๔๐๐ ฟีต อากาศชุ่มเย็นเลี้ยงดอกไม้ได้งามทำนองเดียวกับที่เขาดอยสุเทพเมืองเชียงใหม่ ร้านอย่างอื่นมีร้านหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตในทางการเมือง เป็นร้านใหญ่ของพวกยี่ปุ่นตั้งขายของต่างๆ สังเกตดูของที่ขายในร้านนั้นไม่มีของอย่างยี่ปุ่นสักสิ่งเดียว ล้วนเป็นของอย่างฝรั่งที่ยี่ปุ่นทำขายแข่งทั้งนั้น มีตั้งแต่รถจักรยาน เครื่องคราโมโฟน โคมและเครื่องไฟฟ้า เครื่องหนัง เครื่องแก้วและถ้วยชาม ตลอดจนเสื้อผ้า เครื่องใช้ในเย่าเรือน แม้จนตุ๊กตา ขายราคาถูกกว่าของฝรั่งทำตั้งครึ่งหนึ่งหรือกว่านั้นทุกสิ่งไป เมื่อเห็นห้างนี้ก็เข้าใจได้ว่าเหตุใดฝรั่งจึงพากันตกใจในเรื่องสินค้ายี่ปุ่นทั้งในยุโรปและอเมริกา เพราะถ้าเป็นไปเช่นนี้ ในไม่ช้านานเท่าใดของที่ฝรั่งทำก็จะขายไม่ได้ ฝรั่งจึงคิดเกียจกันสินค้ามิให้เข้าเมืองด้วยอุบายต่างๆ อาจจะเป็นเหตุให้เกิดวิวาทบาดหมางในระหว่างชาติต่อชาติได้ในภายหน้า ขุนนางฮอลันดาคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งในการปกครองเมืองชะวาเคยสนทนากับข้าพเจ้าในเรื่องนี้ เขาว่าที่จริงที่มีสินค้ายี่ปุ่นเข้าไปขายราคาถูกๆ ให้คนมีทุนน้อยซื้อหามาใช้ได้ก็เป็นคุณแก่ราษฎรชาวเมือง แต่ถ้าปล่อยไปจะเป็นความฉิบหายแก่ชาวฮอแลนด์ที่หาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยทำของอย่างเดียวกัน รัฐบาลฮอลันดาก็จำต้องช่วยคนชาติของตน ถึงชาติอื่นก็เหมือนกัน ยังกำลังหาทางที่จะให้ดีด้วยกันทั้งสองฝ่ายอยู่ในเวลานี้.
สังเกตตามร้านขายของในเมืองบันดุงเห็นปลาดอีกอย่างหนึ่งที่เจ้าของร้านดูเป็นคนชาติอื่นทั้งนั้น เห็นพวกชะวามีขายของแต่ในตลาดของสดเป็นพื้นคล้ายกับไทย กิริยามารยาทพวกชะวา (รวมทั้งพวกสุนดาที่เป็นชาวบันดุง) ก็ดูคล้ายกับไทยยิ่งกว่าพวกมลายู สังเกตดูคนขับรถและลูกจ้างที่ตำหนักทูลกระหม่อม เข้ากับไทยได้เรียบร้อยทีเดียว.
ค่ำวันนี้เขาเชิญผู้มีบันดาศักดิ์ในเมืองบันดุง รวมทั้งพวกไทยที่ไปอยู่นั่น ไปดูละคอนม้า “เซอคัส” ด้วยจะเล่นเป็นการกุศลแบ่งเงินครึ่งหนึ่งช่วยฝรั่งว่างงานที่ได้กล่าวมาแล้ว เจ้านายที่เสด็จอยู่บันดุงจึงชวนกันไปทั้งหมด ละคอนม้าโรงนี้เคยเข้าไปเล่นถึงกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เจ้าของเป็นนายทหารพวก “รุสเซียขาว” ที่หนีพวกบอลเซวิคมาอยู่ต่างประเทศ กระบวนเล่นไม่ต้องพรรณนาในที่นี้ ด้วยประเพณีของละคอนม้า จะเป็นเพราะเหตุใดไม่เคยได้ยินใครบอกอธิบาย เล่นเช่นเดียวกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ เปลี่ยนแต่การเล่นเบ็ดเตล็ดที่แซกแซง ถ้าใครไปอ่านรายงานของหม่อมราโชทัยพรรณนาถึงกระบวนเล่นละคอนม้าที่ได้ไปเห็นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ แล้วมาดูละคอนม้าเดี๋ยวนี้ก็จะเห็นว่าคงเล่นอยู่อย่างนั้น.
วันเสาร์ที่ ๑๖ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ตอนเช้าไม่ได้ไปไหน ตอนบ่ายกรมหลวงทิพยรัตนฯ เสด็จพาไปเลี้ยงเครื่องว่างที่ร้านขายขนมในเมืองบันดุง ซึ่งขึ้นชื่อลือนามว่าทำดีอย่างยิ่งในเกาะชะวา เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไป ร้านขายขนมเช่นว่านี้ก็มีแล้ว ข้าพเจ้าเคยพาสมเด็จหญิงน้อยกับพระเจ้าลูกเธอเมื่อยังทรงพระเยาว์ไปเสวยเนืองๆ แต่เมื่อกระนั้นยังเป็นแต่ร้านเล็กๆ ไม่ใหญ่โตโอ่โถงเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่เป็นร้านอย่างใหญ่มีสัก ๓ ร้านด้วยกัน ข้างหน้าร้านตั้งโต๊ะมีเก้าอี้ล้อม ๔ ตัวไว้เป็นหมู่ๆ สำหรับคนไปนั่งกินในร้าน มีขนมต่างๆ ที่เป็นขนมชะนิดค้างวันได้ใส่ขวดแก้วตั้งเรียงรายประดับไว้ตามชั้นข้างฝา ที่เป็นขนมสดใส่ถาดเป็นอย่างๆ วางเรียงกันไว้ในตู้ต่ำ แล้วแต่คนจะเลือกกินอย่างไหน นอกจากขนมหวานขนมปัง ยังมีไอสกรีมลูกไม้และนมเนย ไส้กรอก หมูแฮม กับของคาวอย่างอื่นๆ ตลอดจนสุราเมรัย และมีครัวไฟอยู่ข้างหลังร้าน เมื่อเราไปถึง พอนั่งเก้าอี้ เขาก็เอาบัญชีของกินมาให้เลือก เราเลือกจะกินสิ่งไรบอกเขาแล้ว ในเวลาที่เขาไปสั่งในครัวนั้นเราก็เที่ยวเดินเลือกขนม คนขายเป็นหญิงสาวทั้งนั้น เราเลือกขนมอย่างไหนเขาก็เอาใส่จานมาตั้งให้ที่โต๊ะ เครื่องดื่มก็เลือกสั่งได้โดยทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้าได้กินครั้งนี้แล้วก็เลยติดใจ ด้วยฝีมือเขาทำกินอร่อยดีมาก ร้านขายขนมอย่างนี้ในเมืองขึ้นของอังกฤษไม่มี เห็นจะเป็นเพราะวิสัยคนอังกฤษกับฮอลันดาผิดกัน คนอังกฤษพอตกเวลาบ่ายเย็นมักชอบไปเล่นกิฬาฝนสนาม แต่ฮอลันดาชอบสนทนากัน ในเวลาบ่ายจึงมักไปพบกันที่ร้านขายขนม มีคนไปมากๆ เสมอทุกวัน ขายของดี ร้านชะนิดนี้จึงตั้งอยู่ได้.
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ ทูลกระหม่อมเสด็จพาไปเที่ยวดูทางทิศใต้ของเมืองบันดุง ทางด้านนี้มีภูเขาสูงใหญ่เรียกว่า เขามะละบา แต่ถากถางทำไร่ใบชา และอื่นๆ ขึ้นไปจนเกือบถึงยอดเขา มีถนนและบ้านเรือนเรียงรายไปทุกแห่ง ทางขับรถถ้าจะไปรอบเขามะละบาถึง ๔ ชั่วโมง ทูลกระหม่อมท่านทรงกรงว่าข้าพเจ้าจะเหนื่อยนัก จึงพาไปเพียงที่ตำบลปะกะลงงัน ซึ่งมีโฮเต็ลสำหรับหาความสุขตั้งขึ้นใหม่ โฮเต็ลนั้นตั้งบนยอดเขาน้อยแห่งหนึ่ง สูงจากระดับทะเลราว ๔,๐๐๐ ฟีต อากาศเย็นยิ่งกว่าในเมือง ตัวโฮเต็ลปลูกเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว มีหลังใหญ่เป็นที่ประชุมและที่เลี้ยงอาหารรวมกันหลังหนึ่ง แต่เรือนที่คนไปอยู่นั้นทำเป็นหลังย่อมๆ คล้ายกับกุฏิพระ เรียงรายสลับไปกับสวนดอกไม้ โฮเต็ล “ซานิตอเรียม” เช่นนี้ เดี๋ยวนี้มีขึ้นในชะวาหลายแห่ง สำหรับพวกฝรั่งที่มาอยู่ในชะวาไปผ่อนพักรักษาตัวชั่วคราว เรียกค่าอยู่กินถูกกว่าโฮเต็ลใหญ่ โฮเต็ลที่ไปวันนี้เผอิญภรรยาเจ้าของโฮเต็ล เดิมอยู่เมืองบันดุง ได้เคยเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยแกเป็นลูกสาวของฝรั่งช่างทองชื่อ รอด ตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงหน้าโฮเต็ลโฮมันที่เสด็จประทับ แกเล่าว่าเวลานั้นแกยังเป็นเด็ก เคยเข้าไปเล่นกับพระเจ้าลูกเธอ มีสมเด็จหญิงน้อยเป็นต้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงพระราชทานเครื่องแต่งตัว วันนี้เผอิญแกเจ็บต้องนอนแซ่วอยู่ในห้อง ถึงกระนั้นเมื่อทราบว่าข้าพเจ้าเคยตามเสด็จในครั้งนั้นก็อยากพบ ให้ผัวมาพาเข้าไปหาถึงข้างเตียงนอนและหยิบเข็มกลัดที่ได้พระราชทานครั้งนั้นมาให้ดู พักกินอาหารเช้ากันที่โฮเต็ลแล้วกลับมาถึงบันดุงในเวลากลางวัน.
วันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้พัก เวลาบ่ายทูลเชิญเสด็จสมเด็จหญิงน้อยไปเสวยเครื่องว่างที่ร้านขายขนมในเมืองบันดุง ด้วยคิดถึงความหลังครั้งท่านตามเสด็จไปชะวาเมื่อยังทรงพระเยาว์ ข้าพเจ้าได้เคยพาไปเสวยขนมและไอสกรีมตามร้านขนมเนืองๆ ขอพาให้เหมือนหนหลังอีกสักครั้งหนึ่ง และเชิญเสด็จพระองค์หญิงเหมวดีไปด้วย เมื่อเสวยแล้วพากันเที่ยวเดินดูร้านขายขนมต่างๆ จนค่ำจึงกลับ.
ที่เมืองชะวาในเวลานี้ ยานพานะต่างๆ กำลังแข่งขันกันชอบกล ในสมัยเมื่อยังไม่มีรถยนต์ การไปมาในพื้นเมืองยังใช้รถเทียมม้า มีรถรับจ้าง ๒ อย่าง เป็นรถ ๒ ล้อเทียมม้าเดี่ยวนั่งได้ ๔ คนอย่างหนึ่ง รถ ๔ ล้อเทียมม้าคู่นั่งได้ ๖ คนอย่างหนึ่ง เมื่อมีรถยนต์มากขึ้น มีผู้คิดเอารถยนต์เที่ยวรับจ้างเป็นรถ “แต๊กซี่” แย่งเอาคนโดยสารรถม้าไปได้บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เพราะต้องเสียค่าที่นั่งแพงกว่ารถเทียมม้า ต่อมามีผู้คิดให้ทำรถยนต์หลังเล็กๆ เป็นรถเก๋ง ๓ ล้อ เอาเครื่องยนต์ไว้ที่ล้อหน้า ทำนองเดียวกับเรือติดเครื่องยนต์ข้างท้าย รถชะนิดนี้นั่งได้ ๖ คน เขาว่าอาจจะล้มได้ง่าย ต่อมาจึงมีผู้คิดรถยนต์ขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง เป็นรถเก๋ง ๔ ล้อเหมือนรถใหญ่ แต่ทำขนาดเล็กให้สิ้นเปลืองน้อยอาจเรียกค่าโดยสารลดลง จนรถจ้างอย่าง ๔ ล้อเทียมม้าคู่สู้ไม่ไหวแล้ว ในเมืองใหญ่เดี๋ยวนี้ยังเหลือแต่รถจ้างอย่าง ๒ ล้อ ด้วยในชะวามีม้ามาก เพราะราษฎรใช้ม้าเทียมเกวียนและบันทุกต่างอยู่แพร่หลาย แต่นานไปรถจ้างเทียมม้าก็น่าจะแพ้รถยนต์หมด.
วันอังคารที่ ๑๙ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ทูลกระหม่อมท่านพาไปเมืองคารุต ระยะทางไกลกว่าไปเที่ยววันก่อนๆ ต้องออกแต่เช้า ถึงกระนั้นก็น่าพิศวง ด้วยไปเมืองคารุตแต่ก่อนเคยไปรถไฟ ต้องไปค้างแรมทุกคราว เดี๋ยวนี้ใช้รถยนต์ อาจจะไปแล้วกลับมาเมืองบันดุงได้ในวันเดียวกัน ทางรถไฟในระหว่างเมืองบังดุงกับเมืองคารุต เป็นที่เลื่องลือว่าผ่านไปในที่งามน่าดูกว่าที่ไหนๆ ในเกาะชะวา เพราะเลียบไต่วกวนไปตามไหล่ภูเขาสูงแลเห็นภาพภูมิที่ได้ไกล ชมเล่นเพลิดเพลินทางรถยนต์ก็แซงกับทางรถไฟไม่สู้ห่างกันนัก แต่ไปรถยนต์ดูเหมือนจะเพลิดเพลินกว่า เพราะทางรถไฟมักทำไปตามที่สูง ไม่ได้เห็นบ้านช่องผู้คนมากเหมือนไปรถยนต์ แล่นไปได้สัก ๒ ชั่วโมงก็ถึงเมืองคารุต แต่เมื่อถึงเห็นเมืองคารุตแปลกตากว่าเมื่อไปคราวก่อน ออกเสียใจ ด้วยเมืองคารุตนี้คนทั้งหลายนับถือกันว่าเป็นที่สบายในเกาะชะวามาแต่ไรๆ เพราะอยู่สูงแต่ฝนไม่ตกมากเหมือนที่บันดุง อากาศแห้งและไม่หนาวจัดหรือร้อนจัดทั้งสองอย่าง ทั้งเป็นที่เงียบสงัดอย่างเมืองบ้านนอกผู้คนไม่พลุกพล่าน คนอยู่เมืองอื่นจึงชอบไปพักรักษาตัวที่เมืองคารุต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็โปรดเมืองคารุต เสด็จไปประทับอยู่หลายวัน แต่ถึงสมัยนี้มีพวกท่องเที่ยวไปเมืองคารุตมากขึ้น ก็มีเจ๊กจีนและชนชาติอื่นไปตั้งโรงร้านขายของมากขึ้น จนไม่เป็นที่วิเวกเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ไม่เจริญถึงเป็นเมืองใหญ่โตอย่างบันดุง ดูตรงหน้าโฮเต็ลที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประทับ เหมือนกับโฮเต็ลตั้งอยู่ริมถนนเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ พวกฝรั่งเขาก็คงรู้สึกว่าเมืองคารุตเสียโฉมไปอย่างว่า จึงมีผู้คิดไปตั้งโฮเต็ลรับพวกท่องเที่ยวตามยอดเขาเล็กๆ ข้างนอกเมือง ได้ไปแวะดูแห่งหนึ่งในวันนี้ชื่อว่าโฮเต็ล Guan plang เราเรียกกันว่า “งามปลั่ง” เป็นโฮเต็ลอย่างสมัยใหม่ แต่เขาเลือกที่ดี อยู่โฮเต็ลแลเห็นภูมิที่เมืองคารุตได้รอบตัว หยุดพักที่โฮเต็ลงามปลั่งสักครึ่งชั่วโมงอย่างว่าพอหายเหนื่อย แล้วก็ขึ้นรถขับย้อนทาง ผ่านเมืองคารุตกลับมาจนถึงทางแยก จึงเลี้ยวเลยไปดูภูเขาไฟ กะโมดชัน ไปแต่ปากทางแยกขับขึ้นเขาไปอีกสักชั่วโมงหนึ่ง ถึงโฮเต็ล “แรเดียม” รับตัวนายฮักเจ้าของโฮเต็ลซึ่งทูลกระหม่อมทรงคุ้นเคยให้แกนำไปดูภูเขาไฟ เพราะแกเป็นผู้จัดการบำรุงที่ตำบลนี้ทั้งสิ้น แต่เดิมภูเขาไฟแห่งนี้ยังไม่มีทางรถไปถึงได้ นายฮักไปพบแร่แรเดียมมีเจืออยู่กับโคลนในปล่องภูเขาไฟ เอาโคลนแร่นั้นมาพอกแต่ยังกำลังร้อนแก้เมื่อยขบได้ จึงเกิดความคิดที่จะบำรุงที่แห่งนี้ ลงทุนทำถนนรถ แยกจากถนนหลวงของรัฐบาลมาตั้งโฮเต็ลใน “ปาง” กลางดงริมห้วยแห่งหนึ่ง แล้วทำถนนแต่โฮเต็ลต่อไปจนถึงภูเขาไฟ ด้วยภูเขาไฟแห่งนี้อาจจะเข้าไปได้จนใน “เครเตอร์” คือ วงปล่องไฟ ไม่เพียงแต่ไปเยี่ยมดูปล่องเหมือนอย่างที่ภูเขาไฟ ตันกูปันเปรา ที่เราไปแล้ว และนายฮักยังคิดต่อไปจนถึงจะเอาแรงภูเขาไฟ ให้หมุนเครื่องจักรทำไฟฟ้า เดี๋ยวนี้สำเร็จเพียงเอาท่อเหล็กต่อที่ปากปล่องไฟ บังคับให้ไอเป่าขึ้นแต่ทางในท่อได้แห่งหนึ่ง ผิดกับภูเขาไฟแห่งอื่นๆ ที่ตำบลนี้จึงเป็นที่เที่ยวเกิดขึ้นใหม่ แม้เมื่อพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลปัจจุบันนี้เสด็จไปชะวา ก็ได้เสด็จไปประพาส เมื่อใกล้จะเข้าเครเตอร์ผ่านหนองน้ำร้อน มีควันขึ้นโขมง เหม็นกลิ่นกำมะถันแต่พอทนได้ ไปจอดรถที่โรงพักซึ่งนายฮักสร้างไว้รับแขก มีสวนดอกไม้และเรือนคนเฝ้าอยู่ในบริเวณนั้นด้วย แต่นั้นลงเดินไปดูปากปล่องไฟมีหลายแห่ง แต่ต้องมีผู้ชำนาญนำทางให้เดินตามไปฉะเพาะรอยเพราะมีที่เป็นพลุอยู่ข้างทางตลอดไป ถ้าใครไม่รู้ไปเหยียบพลุเท้าก็จมลงไปถูกไอไฟถึงไหม้พอง เขาชี้ให้ดูรอยเท้าผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไปเมื่อเร็วๆ นี้ไปเหยียบพลุเท้าพองอย่างว่า ต้องรักษากันอยู่หลายวันจึงหาย เครเตอร์ภูเขาไฟกะโมดชันอยู่ในเวิ้งเขา มีปากปล่องใหญ่บ้างเล็กบ้าง ควันขึ้นโขมงอยู่หลายแห่ง ที่ในปล่องบางแห่งเป็นพุน้ำร้อน บางแห่งเป็นโคลนเดือด นายฮักบอกว่าปล่องเหล่านั้นไม่คงที่อยู่เสมอไป เกิดขึ้นใหม่ๆ ก็มี ปล่องเก่าที่เหือดหายไปก็มี แต่รู้ได้ว่าในบริเวณนั้นมีไอไฟอยู่ใต้ดินทั่วไป มีวิธีทดลองด้วยจุดบุหรี่พอให้มีควันแล้ว เอาบุหรี่แกว่งใกล้ๆ พื้นดินตรงไหน ก็เกิดควันพลุ่งขึ้นมาจากแผ่นดินที่ตรงนั้น ดูปลาดนักหนา แต่ตรงท่อที่นายฮักดักไอไฟนั้นปลาดยิ่งกว่าที่ไหนหมด มีไอ “สตีม” พลุ่งขึ้นจากท่อเป็นลำขึ้นไปในอากาศสูงหลายวา เกิดเสียงดัง “โฟ้” ไม่รู้หยุด ได้ยินตลอดทั้งเวิ้งเขานั้น นัยว่าถึงคนที่นายฮักจ้างไปเฝ้าสถาน ทนเสียงอยู่ไม่ได้หลายวันต้องเปลี่ยนกันเสมอ ดูภูเขาไฟแล้วมาแวะกินกลางวันที่โฮเต็ลแรเดียมของนายฮักแล้วกลับตามทางเดิม มาถึงบันดุงเวลาพอจวนพลบค่ำ.
วันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ทูลกระหม่อมท่านกะให้พัก ด้วยเมื่อวานนี้เที่ยวตลอดวันออกฟกอยู่บ้าง เป็นแต่นัดฝรั่งพวกนักปราชญ์โบราณคดีและพวกหนังสือพิมพ์ ซึ่งอยากจะพบข้าพเจ้าให้มาหาในวันนี้ ตอนบ่ายหายเหนื่อยแล้ว นึกอยากกินขนม ด้วยยังติดใจ จึงทูลขอให้พระองค์หญิงเล็กๆ เธอพาไปกินเครื่องว่างที่ร้านขายขนมซึ่งพรรณนามาแล้วอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเธอตรัสได้ทั้งภาษาฮอลันดาและภาษามลายู พวกเรารู้แต่ภาษาอังกฤษซึ่งคนเข้าใจได้แต่ตามโฮเต็ลหรือห้างหอใหญ่ๆ จะไปเที่ยวเตร่ซื้อหาตามร้านรวงต่างๆ หรือแม้ที่สุดจะสั่งให้คนขับรถก็ลำบาก จึงต้องอาศัยพระองค์หญิงตลอดเวลาที่อยู่บันดุง.
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ตรงกับวันข้าพเจ้าเกิด อายุครบ ๖ รอบ เวลาเช้าทูลกระหม่อมท่านประทานอนุญาตให้เข้าไปบูชาพระรัตนตรัย และถวายบังคมพระบรมอัษฐิอธิฐานขอพรที่หน้าพระในห้องบรรธม แล้วเจ้านายทุกพระองค์กับผู้อื่นที่ชอบกันมาประทานของขวัญและอำนวยพร ทั้งได้รับโทรเลขอำนวยพระจากกรุงเทพฯ และที่อื่นก็หลายฉะบับ รู้สึกปีติยินดีไม่น้อย การทำบุญนั้น เมื่อก่อนจะไปชะวาได้สั่งให้ลูกที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทำจีวรผ้าเนื้อดี และได้มีจดหมายส่งรูปฉายาลักษณ์แทนตัวให้ไปถวายพระมหาเถระ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นต้น ตลอดจนชั้นธรรมรวม ๑๒ รูป กับได้สั่งพวกที่อยู่เฝ้าบ้านณเมืองปีนังให้ไปเลี้ยงพระวัดปูโลติกุส และนำหนังสือเทศนา ๕๒ กัณฑ์ ไปถวายไว้สำหรับวัดนั้น เป็นการทำบุญในวันที่ ๒๑ นี้ (เมื่อกลับมาถึงปีนัง ได้รับหนังสืออนุโมทนาแต่งดีๆ หลายฉะบับ) เวลากลางวันสมเด็จหญิงน้อยทรงจัดอาหารมาเลี้ยง ถึงเวลาเย็นโปรดให้มีการประชุมเลี้ยงเครื่องว่างประทานที่โฮเต็ลเปรียงงาในเมืองบันดุง เป็นการฉลองวันเกิดอีกครั้งหนึ่ง
วันนี้เมื่อตอนสาย ได้ไปหาเรสิเดนต์ (สมุหเทศาภิบาล) มณฑลเปรียงงา เพื่อขอบใจในการที่เขารับธุระสื่อสาส์นนัดหมายสำหรับเราจะไปเมืองยกยาและเมืองโสโล ซึ่งประสงค์จะไปในระหว่างวันที่ ๒๔ และกลับมาบันดุงในวันที่ ๒๗ ให้ทันวันเฉลิมพระชันษาของทูลกระหม่อม ได้ความว่าตั้งแต่วันที่ ๒๓ จนวันที่ ๒๕ เป็นเวลามีงานพระราชพิธีสำหรับเมือง ทั้งที่เมืองยกยาและเมืองโสโล เพราะฉะนั้นสุลต่านเมืองยกยาไม่มีโอกาสที่จะรับเราได้ในระหว่างนั้น อยากจะให้ไปต่อวันที่ ๔ กรกฎาคมพ้องกับงานเฉลิมพระชันษาของสุลต่าน ว่าจะมีมโหรศพเป็นงานใหญ่ที่น่าดู แต่ฝ่ายเราก็รออยู่ไม่ได้ ด้วยจะคลาดกำหนดเรือที่จะไปปีนัง จึงตกลงว่าที่เมืองยกยานั้นจะไปอย่างคนท่องเที่ยวสามัญ เขาไม่ต้องต้อนรับอย่างไร แต่ที่เมืองโสโลนั้น สุสุหุนัน เจ้านครสุรเขตต์ได้เคยคุ้นกับข้าพเจ้ามาแต่เมื่อตามเสด็จทั้ง ๒ ครั้ง ทราบว่าจะไปก็ยินดีบอกมาว่าจะรับในวันที่ ๒๖ ต่อกับวันงานพระราชพิธี ทูลกระหม่อมตรัสอธิบายว่า ประเพณีการสมาคมของฮอลันดาในชะวาผิดกับอังกฤษมีหลายอย่าง เป็นต้นว่าการที่ไปมาหากันเป็นพิธีไม่มี แม้ส่งการ์ดชื่อก็มีใคร่ใช้ ถ้าใครอยากจะพบใครใช้บอกโทรศัพท์นัดหมายเวลาแล้วก็ไปหา เวลาไปหากันนั้น ถึงจะไปเวลาใดเจ้าของบ้านก็เลี้ยงขนมและเครื่องดื่ม นั่งพูดกันอยู่ช้าหรือเร็วตามพอใจ และไม่จำเป็นต้องเยี่ยมตอบ แต่ในวันนี้เมื่อไปหาเรสิเดนต์แล้ว ข้าพเจ้าเลยไปเยี่ยมตอบผู้อื่นที่เขาเคยมาหาด้วย.
วันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายน
แก้ไขเวลาเช้า ไปถ่ายรูปฉายาลักษณ์ที่ร้านโบดมเหมือนอย่างเคยถ่ายเมื่ออายุครบ ๕ รอบ คราวนั้นถ่ายกับแม่ คราวนี้ถ่ายกับลูกหญิง ๓ คนรูป ๑ ถ่ายแต่ตัวรูป ๑ สั่งให้เขาพิมพ์พอแจกถวายสนองพระคุณเจ้านายและผู้ชอบพอกันที่บันดุง และสำหรับผู้อื่นในกรุงเทพฯ และเป็นของฝากสหชาตด้วย ทูลกระหม่อมท่านเสด็จไปด้วย เมื่อถ่ายรูปแล้วตรัสชวนไปดูสวนเลี้ยงสัตว์ต่างๆ และไปดูที่ (อาศัยสถาน) ของหมอซัวเบ๊ก ซึ่งเคยไปอยู่กรุงเทพฯ คราวหนึ่งได้คุ้นเคยกันแล้ว จัดตั้งขึ้นบนเนินเขาแห่ง ๑ สำหรับรับรักษาคนที่พึ่งคลายไข้ในเวลาจะบำรุงกำลัง หรือคนที่เริ่มจะมีอาการเกิดโรคภัย หมอว่าที่บันดุงอากาศดี เหมาะแก่การรักษาพยาบาลอย่างนั้น เชื่อว่าเมื่อตั้งขึ้นแล้วจะมีคนเมืองอื่นๆ มาอยู่รักษาตัว
ได้กล่าวมาแล้วในที่อื่นว่าเมืองบันดุงเดี๋ยวนี้เป็นที่คนชอบมารักษาตัว ถึงมีหมออยู่สัก ๖๐ คน ข้าพเจ้าได้ยินอยู่แต่ก่อนจะไปชะวา ว่าที่เมืองบันดุงมีหมอดี และมีหมอที่รับรักษาฉะเพาะโรคด้วย จึงตั้งใจว่าจะหาหมอตรวจดูหูของข้าพเจ้าสักที จะรักษาให้หายตึงได้หรือไม่ เมื่อไปถึงเมืองบะเตเวียลองสืบถามดู เขาบอกว่าที่เมืองบันดุงมีหมอชำนาญรักษาหูอยู่คน ๑ ชื่อหมอไฮด์ เมื่อไปถึงบันดุงทูลความประสงค์แด่ทูลกระหม่อม ท่านตรัสว่าหมอคนนั้นเป็นหมอประจำพระองค์เจ้านายที่บันดุงอยู่แล้ว เป็นหมอที่มีชื่อเสียง ถึงโรคอื่นๆ ก็รักษาดีมีคนนิยมมาก ตรงกับอย่างเราว่า “กำลังมือขึ้น” จะทรงจัดการให้ตรวจหูข้าพเจ้าได้โดยง่าย พอไปถึงได้ ๒ วันก็ตรัสเรียกหมอไฮด์ให้มาตรวจ และเลยให้รักษาปลายหวัดใหญ่กับปัตตะคาดให้ข้าพเจ้าด้วย หมอตั้งต้นด้วยตรวจข้าพเจ้าทั้งสารพางค์กาย แล้วบอกว่ากำลังร่างกายข้าพเจ้ายังแข็งแรงดีกว่าคนอายุเท่ากันโดยมาก ต่อนั้นให้ยาแก้หวัดและฉีดยาแก้ปัตตะคาดต่อมา จนใกล้จะหายแล้วจึงเริ่มตรวจหู ให้น้ำมันอย่างหนึ่งมาหยอดหูอยู่ ๒ วัน ถึงวันที่ ๓ เอาน้ำใส่กระบอกฉีดเข้าไปในหู ขี้หูและหยากเยื่ออันใดที่อยู่ในหูถูกน้ำมันชะไหลออกมากับน้ำหมด เมื่อหูสอาดแล้วเอาไฟฟ้าฉายตรวจดูแก้วหู แล้วเอาเหล็กรูปงอคล้ายกับแม่เหล็กแต่มีด้ามหมอเอานิ้วดีดที่ปลายเหล็กให้เกิดเสียง แล้วเอาด้ามเที่ยวจี้ที่บ้องหูและที่อื่นใกล้ๆ หู พิศูจน์ว่าได้ยินเสียงถึงแก้วหูหรือไม่ แล้วให้ปิดหูทีละข้างให้คนอื่นกระซิบ (อย่างไม่ออกเสียง) ตรงทางหูข้างที เปิดใกล้ๆ ก่อนแล้วค่อยถอยห่างออกไปทุกที พิศูจน์ว่าหูข้างไหนจะได้ยินไกลถึงแค่ไหน ปรากฏว่าหูของข้าพเจ้าข้างซ้ายได้ยินไกลกว่าข้างขวา เมื่อตรวจเสร็จแล้วหมอจึงชี้แจงว่าหูของข้าพเจ้าไม่ใช่หูหนวก เป็นแต่หูหนัก มูลเหตุที่เป็นเช่นนี้มี ๒ อย่าง คือเกิดด้วยโรคอย่างหนึ่ง หรือด้วยชราอย่างหนึ่ง หมอตรวจเห็นแก้วหูของข้าพเจ้ายังดีไม่มีโรคอย่างใด เห็นว่าที่หูหนักเป็นด้วยชราเท่านั้นเอง ทางที่จะแก้ไขด้วยอย่างอื่นไม่มี มีแต่ต้องใช้เครื่องโทรศัพท์สำหรับหู ซึ่งมีช่างทำให้ได้ในบันดุง เครื่องอย่างดีนั้นมีแบตรีไฟฟ้าใส่ไว้ในกระเป๋า ล่ามสายลวดไปถึงไมโครโฟนที่จุกไว้ในช่องหู คนหูหนวกถ้าใช้โทรศัพท์อย่างว่านั้นอาจได้ยินถนัด แต่หมอขอให้ข้าพเจ้าคิดชั่งใจดูเสียก่อน เพราะหูของข้าพเจ้าเป็นแต่หูหนักได้ยินมิใคร่ถนัด ไม่ถึงหนวก เปรียบเหมือนไนยสายตาสั้นมองอะไรไม่ใคร่เห็นถนัด ใช้โทรศัพท์หูก็เหมือนกับใส่แว่นตา คงจะได้ยินถนัดขึ้น แต่จะเลยติดโทรศัพท์เหมือนกับคนติดแว่นตา ถ้าเมื่อใดไม่ใช้โทรศัพท์ก็จะรู้สึกรำคาญยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ จึงขอให้คิดชั่งใจดูเสียก่อน เมื่อได้ฟังหมอชี้แจงข้าพเจ้าก็ตกลงใจทันทีว่าปล่อยไว้อย่างเดี๋ยวนี้ดีกว่า เพราะในเวลานี้กิจที่ข้าพเจ้าจะต้องฟังด้วยหูก็ไม่สู้มีอะไร ยอมปลงใจว่า “ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโต” อย่าใช้โทรศัพท์หูให้เกิดรำคาญเมื่อภายหลังจะดีกว่า หมอก็เห็นชอบด้วย
ตอนค่ำ เรสิเดนต์กับภรรยามาเยี่ยมตอบที่ตำหนักประเสบัน.
วันเสาร์ที่ ๒๓ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ต้องเตรียมของลงบรรจุหีบ สำหรับจะไปเมืองยกยา พรุ่งนี้ตอนเช้าเป็นแต่ไปเที่ยวเยี่ยมตอบผู้ที่ได้มาหา แล้วทูลกระหม่อมเสด็จพาไปที่โฮเต็ลเปรียงงา ด้วยเขารับจัดซื้อตั๋วรถไฟและนัดหมายกับโฮเต็ลที่เมืองยกยา ออกจากนั้นเลยไปดูสนามบิน ซึ่งตั้งอยู่ในท้องทุ่งอันเดียวกันทั้งกองบินฝ่ายทหารและกองบินของบริษัทฝ่ายพลเรือน เป็นแต่ที่ตั้งอยู่แยกกัน สนามกอล์ฟสำหรับเมืองบันดุงก็อาศัยตั้งอยู่ส่วนหนึ่งในท้องทุ่งนี้ใกล้กับกองบินฝ่ายพลเรือน อยู่ที่เมืองบันดุงได้ยินเสียงเครื่องบินและได้ดูเครื่องบินทุกวัน เพราะทางกองบินฝ่ายทหารก็บินฝึกซ้อมทั้งเช้าเย็น กองบินฝ่ายพลเรือนก็พาคนโดยสารบินไปมาหลายสายดูเสียเคยตัวจนสิ้นกลัวกลับอยากจะขึ้นด้วยซ้ำไป
อนึ่งตั้งแต่มาถึงบันดุง ได้พบจีนซึ่งเคยรับเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ๒ คน คนหนึ่งตั้งร้านขายของอยู่ในตลาด คนนี้ได้พบแต่หนเดียวเวลาเมื่อรับเสด็จเห็นจะยังเป็นเด็กดูไม่สู้รู้อะไรนัก แต่อีกคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่จำได้มาก พอเห็นข้าพเจ้าก็เรียกชื่อว่า “กรมหมื่นดำรง” บางทีก็เรียกว่า “กรมหลวงดำรง” แต่ก็ถูกของแกทั้งสองอย่าง เพราะเมื่อไปคราวแรกเป็นกรมหมื่น ไปคราวหลังเป็นกรมหลวง แต่น่าสงสารที่เดี๋ยวนี้แกยากจน จนออกจะกลายเป็นคนขอทาน กวนเอาเรารำคาญอยู่บ้าง.
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน
แก้ไขตื่นแต่ก่อนสว่าง พอ ๖ น. ขึ้นรถไปจากตำหนัก ทูลกระหม่อมก็อุตส่าห์เสด็จไปส่งถึงสถานี พอ ๖.๓๐ น. รถไฟออกจากเมืองบันดุงไปทางตะวันตก เป็นรถไฟด่วนหยุดตามสถานีน้อยแห่ง ทางที่ไปบนเขาอากาศหนาวเย็น ไปสัก ๓ ชั่วโมงจึงเริ่มลงที่ต่ำรู้สึกร้อนขึ้นเป็นอันดับ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปชะวา ทางรถไฟเพิ่งทำตลอดเกาะชะวายังไม่เรียบร้อย รถไฟออกจากเมืองบะเตเวียเวลาเช้า ต้องไปหยุดค้างแรมที่ตำบลเมาส์ รุ่งขึ้นจึงแล่นต่อไปยังเมืองยกยา เมืองโสโล และเมืองสุรไบยา เป็นที่สุดทาง แต่เดี๋ยวนี้รถไฟเดินตลอดเกาะได้ในวันเดียว ใช่แต่เท่านั้น ยังมีทางรถไฟทั้งทางตรงและทางแยกเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย รถไฟที่ออกจากเมืองบะเตเวียเดี๋ยวนี้เดินทางเมืองซาริบอนข้างเหนือ ไปสมทบกับรถไฟที่ออกจากเมืองบันดุงที่ตำบลโกรชา แต่นั้นตัดรถเหลือออกเสียบ้างแล้วรวมเป็นกระบวนเดียวกันต่อไป ข้อนี้แต่แรกพวกเราไม่รู้ พอเวลา ๑๑ น. บ๋อย (ในชะวาเรียกว่า ยุงุส) มาเรียกเร่งให้ไปกินกลางวัน ก็ไปกินเมื่อขากลับก็เช่นนั้นเหมือนกัน ได้เห็นรถเสบียงผิดกับที่เคยไปกินเมื่อขาไป จึงรู้ว่าเขาสับรถปลดรถเสบียงเดิมไว้เพียงตำบลโกรชา รู้เมื่อเอากลับมาต่ออีกก็พอดี ด้วยนายชิตคนรับใช้หลงไปซื้ออาหารกินอยู่ในรถสายโน้น เรียกเอาตัวกลับมาทัน หาไม่ก็คงหลงเลยไปเมืองบะเตเวีย เป็นอธิบายเหตุที่เขาเรียกให้รีบกินกลางวันเสียแต่ก่อนเที่ยง เพราะเกรงจะกระชันกับเวลาสับเปลี่ยนรถ เวลาบ่าย ๒๔ น. นั่งในรถไฟมา ๘ ชั่วโมงถึงเมืองยกยา (อโยธยา) นายโฮเต็ลมารับพาไปยังแกรนด์โฮเต็ล ซึ่งอยู่ไม่ห่างกับสถานีรถไฟนัก เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปก็ประทับโฮเต็ลนี้ แต่เดี๋ยวนี้เขารื้อทำใหม่หมด ใหญ่โตกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลปัจจุบันเสด็จไป ก็ประทับโฮเต็ลนี้เหมือนกัน นายโฮเต็ลเขารับจะจัดรถยนต์ของโฮเต็ลให้เราใช้ และจะหาคนนำทางที่พูดภาษาอังกฤษได้ให้เราด้วย เพราะพวกเรามีตัวข้าพเจ้ากับลูกหญิง ๓ คน พูดภาษาต่างประเทศได้แต่ภาษาอังกฤษ นายชิตคนรับใช้หัดพูดภาษามลายูไปแต่เมืองปีนังพอใช้ได้บ้าง เมื่อมาโดยลำพังเช่นนี้จึงจำต้องมีคนนำทางที่ชำนาญท้องที่และรู้ภาษาของชาวเมือง ทั้งรู้ภาษาที่จะพูดกับเราให้เข้าใจกันได้ พวกคนนำทางซึ่งในยุโรปเรียกกันว่า “คุเรีย” เพิ่งมีขึ้นในชะวาตั้งแต่มีชาวต่างประเทศไปเที่ยวปีละมากๆ ก็ชาวต่างประเทศที่ไปนั้น มักเป็นอเมริกัน หรือชาติอื่นที่พูดภาษาอังกฤษได้เป็นพื้น ต้องใช้คนรู้ภาษาอังกฤษเป็นคนนำทาง จึงเกิดเป็นช่องของพวกชาวลังกาพากันไปรับจ้างเป็นคนนำทาง จนเดี๋ยวนี้ตั้งเป็นสมาคมไม่มีคนชาติอื่นเข้าแซกแซง ไปถึงโฮเต็ลนอนพักพอหายเหนื่อยแล้ว เวลาบ่าย ๑๗ น. ขึ้นรถยนต์ไปเที่ยวดูบ้านเมือง เห็นเมืองยกยาเจริญแปลกตาตั้งแต่รถไฟเข้าเขตต์แดนมา ข้าพเจ้ายังจำได้เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไป พวกฮอลันดาเขาทูลว่ากำลังกะการทดน้ำอย่างใหญ่ในแขวงเมืองยกยา ในว่าจะปิดแม่น้ำใหญ่อันหนึ่งในที่สูงขุดทำลำแม่น้ำใหม่ บางแห่งจะต้องทำสพานให้ลำแม่น้ำใหม่ข้ามลำแม่น้ำเดิม เอาน้ำไปแจกจ่ายให้เป็นประโยชน์แก่กสิกรรม การที่ทำเห็นจะสำเร็จมาหลายปีแล้ว เดี๋ยวนี้พื้นที่ในแขวงเมืองยกยา กสิกรรมจึงเจริญแปลกตากว่าแต่ก่อนมาก ใช่แต่กสิกรรมเท่านั้น ถึงตัวเมืองยกยาเองก็ขยายใหญ่โตกว่าแต่ก่อน ทำตึกกว้านบ้านเรือน ถนนหนทางเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก เขาว่าเมืองยกยาเจริญด้วยเหตุ ๓ อย่าง คือด้วยการทดน้ำดังกล่าวมาแล้วอย่างหนึ่ง ด้วยโบราณสถานที่สำคัญของเกาะชะวาอยู่ในแขวงเมืองยกยาชวนให้มีคนต่างชาติต่างบ้านเมืองมาดู เอาเงินมาจ่ายไว้ในเมืองปีละมากๆ อย่างหนึ่ง เป็นแหล่งศิลปากรทำของชะวาต่างๆ ขายพวกท่องเที่ยว และส่งไปขายที่อื่นๆ อย่างหนึ่ง เที่ยวดูเมืองแล้วพอเวลาใกล้ค่ำ คนนำทางพาเดินปนพลเมืองเข้าไปดูงานที่ในวังสุลต่าน แต่วังดูทรุดโทรมไม่เป็นสง่างามเหมือนเห็นเมื่อครั้งตามเสด็จ เช่นต้นไทรซึ่งนับถือกันว่าเป็น “พญาไม้” ปลูกไว้แต่ก่อนเก่าที่กลางสนาม ๒ ต้นและมีรายรอบสนาม เคยตัดเรือนเรียบร้อยก็ทิ้งให้ร่องแร่งเสียแล้ว ตำหนักรักษาก็ไม่เห็นตกแต่งให้แปลกตาดีขึ้นอย่างไร งานปีที่มีนั้นเป็นงานใหญ่ ยอมให้คนเข้าไปปลูกร้านขายของต่างๆ เต็มสนามที่ในวัง ดูคล้ายกับงานระดูหนาวของเรา ในสนามตอนหนึ่งสร้างเป็นโรงแสดงหัตถกรรมกลางสนามมีพลับพลายกและปรำที่เจ้านายขุนนางนั่ง เขาว่าสุลต่านเสด็จออกจากพลับพลาทุกวัน พรุ่งนี้เช้าจะเสด็จออกเป็นวาระที่สุดในการพิธี คิดดูมันขัดข้องแก่การที่สุลต่านจะรับเราในเวลางานเช่นนี้อยู่จริงๆ จะรับอย่างไปรเวตไม่ให้ดูงานก็ไม่ได้ จะให้ไปดูงานก็ไม่รู้ว่าจะให้นั่งที่ไหนที่จะไม่เสียเกียรติยศของเรา คงเป็นด้วยเหตุนี้เองจึงขอให้ไปต่อเมื่อพ้นงาน ข้างเราก็เผอิญขัดข้องด้วยวันกลับมีวันจำกัด ก็เป็นอันไม่ได้พบสุลต่าน ถึงกระนั้นเมื่อเดินเข้าไปเที่ยวดูงานตามลำพังคงมีคนเห็นเป็นไทย ในไม่ช้าก็มีพวกนายตำรวจทั้งฝรั่งและชะวามาคอยกันคนให้ตลอดเวลาจนมาจากวัง ร้านขายของต่างๆ ที่ผ่านไปไม่เห็นน่าดู และผู้คนเกลื่อนกลุ้มคล้ายกับงานภูเขาทอง ไปมีที่สนุกน่าดูแต่ในโรงที่แสดงหัตถกรรม และไม่ต้องเบียดคน เพราะเขาเรียกค่าผ่านประตู คนชั้นเลวไม่ใคร่เข้า ในนั้นเขาจัดของต่างๆ ที่ทำในพื้นเมืองเป็นห้องๆ มีทั้งของที่ตั้งขาย และมีคนทำของเหล่านั้นให้เห็นวิธีทำด้วยทุกอย่าง ที่น่าชมโดยฉะเพาะนั้นคือการทำผ้าย้อมขี้ผึ้ง ซึ่งเรียกว่าผ้า “บาติ๊ก” เป็นลวดลายแลสีต่างๆ อย่าง ๑ ทำเครื่องเงินฝีมือดีมากอย่าง ๑ เครื่องกระและเครื่องหนังก็ทำดี แต่เครื่องทองเหลืองนั้นยังติได้ว่าหนาไป เที่ยวเดินดูเพลิดเพลินจน ๒๐ นาฬิกาจึงได้กลับมาโฮเต็ล
วันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน
แก้ไขเช้า ๘ น. เศษ ขึ้นรถยนต์ไปดู Boroboedo เรียกอย่างไทยน่าเรียกว่า “บวรพุทโธ” เป็นมหาเจดีย์ในพระพุทธสาสนาใหญ่ยิ่งกว่าโบราณเจดีย์บรรดามีในเกาะชะวา เปรียบเหมือนอย่างนครวัดในประเทศกัมพูชา หรือพระปฐมเจดีย์ในประเทศสยาม อยู่ห่างเมืองยกยาไปข้างทิศตะวันตก ระยะทางประมาณสัก ๓๐ กิโลเมตร์ เมื่อไปถึงกลางทางเห็นตลาดนัดแห่ง ๑ เป็นอย่างใหญ่โตกว่าที่ได้เคยเห็นมา กำลังคนประชุมซื้อขายจึงแวะดู ได้สังเกตมาทั้งในเกาะสุมาตราและเกาะชะวา ดูเหมือนมีตลาดนัดทุกอำเภอ ตลาดนัดกับตลาดประจำผิดกันโดยอธิบายดังต่อไปนี้ ตลาดประจำนั้น ขายสิ่งของที่คนต้องการใช้ทุกวัน คือเครื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น และขายตามเวลาที่ผู้ซื้อแสวงหา คือเช้าและเย็นทุกวัน ผู้ขายและผู้ซื้อล้วนเป็นผู้อยู่ไม่ห่างไกลจากตลาด ส่วนตลาดนัดนั้น มีการซื้อขายแต่ในวันกำหนดสัปดาหะละครั้ง ๑ หรือ ๒ ครั้ง ซื้อขายของทุกอย่างซึ่งอาจจะมีคนปรารถนาไม่เลือกว่าสิ่งอันใด หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ใครมีอะไรอยากจะเปลี่ยนเป็นเงินตรา ก็เอาไปขายที่ตลาดนัด ฝ่ายผู้ซื้ออยากจะได้สิ่งอันใดที่ไม่มีขายในตลาดประจำ เช่นปสุสัตว์และสินค้าป่าเป็นต้น ก็ไปหาซื้อที่ตลาดนัด ตลาดนัดเป็นที่ประชุมทั้งคนที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล และเมื่อถึงวันนัดพวกที่ขายของในตลาดประจำก็เอาของไปประสมขายในตลาดนัดด้วย ผู้คนจึงมากเหมือนกับมีงานใหญ่อะไรอย่างหนึ่ง ทางเมืองยกยานี้ใช้เกวียนขนาดใหญ่ใช้วัวพรรค์อินเดียเทียม ไม่ใช้เกวียนอย่างย่อมๆ เทียมม้าเหมือนทางเมืองบันดุง เห็นจะเป็นเพราะเป็นพื้นที่ราบโดยมาก ไม่ต้องขึ้นเขาลงเขาบ่อยๆ เหมือนทางนั้น แต่สังเกตดูเห็นเกวียนเมืองยกยามีไม้ขอนแขวนขวางไว้ข้างท้ายเกวียนทุกเล่ม แต่แรกยังไม่รู้ว่าแขวนไว้ทำไม จนเมื่อเข้าไปดูตลาดนัดพิจารณาดูเกวียนบรรทุกของที่จอดอยู่ในนั้น จึ่งเข้าใจได้ว่าไม้ขอนที่แขวนนั้นคือ “เบร๊ก” สำหรับห้ามล้อ เวลาเกวียนไปในที่เสมอหรือขึ้นเนินไม้ขอนก็แขวนอยู่เปล่าๆ แต่ถ้าเกวียนลงที่ต่ำเมื่อใดไม้ขอนนั้นก็ไกวเข้าไปเบียดลูกล้อทั้ง ๒ ข้างให้หมุนฝืด เป็นเครื่องห้ามล้อเองด้วยประการฉะนี้ ที่เกวียนบางเล่มมีรอยลูกล้อกัดขอนเข้าไปลึกๆ ด้วยใช้มานาน ดูเป็นความคิดดีเสียยิ่งกว่าเครื่องห้ามล้ออย่างฝรั่ง เพราะขอนไม้มันห้ามล้อได้เอง คนขับไม่ต้องใช้มือหรือเท้าบังคับ แต่ก็สำหรับใช้แต่กับเกวียนเทียมวัวอย่างนี้ จะเอาไปใช้กับอย่างอื่นเห็นจะไม่ได้ ทางที่ไปวันนี้มีรางเหล็กวางเคียงไปข้างถนนสำหรับให้ใช้รถไฟได้ถึงเมืองเมคะลัง ซึ่งเป็นสถานีที่ตั้งกองทหารประจำตอนกลางเกาะชะวา สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จไปถึง แต่ในเวลาปกติมิใคร่มีกิจต้องใช้รถไฟมากนัก จึงหาประโยชน์เดินเป็นรถรางรับส่งคนโดยสารตามระยะทาง
ตั้งแต่รถออกจากเมืองยกยาไปตามทางแลเห็นภูเขาไฟ “กุหนุงมะราปี” (ที่ว่าปะสันตาไปต่อนกในเรื่องอิเหนา) อยู่ใกล้ๆ เป็นภูเขาสูงใหญ่มีควันไฟพลุ่งออกจากปล่องที่บนยอดอยู่เสมอ เขาเล่าว่าเมื่อสองปีมาแล้วกุหนุงมะราปีกำเริบ พ่นน้ำทองแดงออกจากปล่องไหลลงมาเผาหมู่บ้านเรือนราษฎร ที่ไปตั้งทำไร่อยู่บนไหล่เขาคนตายมาก เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปชะวา ประทับอยู่ที่เมืองบันดุงก็ไปประสบเวลาภูเขาไฟกำเริบเผาผู้คนตายมากครั้งหนึ่ง แต่ภูเขาที่กำเริบในครั้งนั้นชื่อ “กลุ๊ต” (ไกรลาส) อยู่ห่างไกลไปทางตะวันออก ถึงกระนั้นที่เมืองบันดุงก็มัวมลไม่เห็นแสงตะวัน และมีละอองถ่านตกโปรยเป็นละอองลงมาจากอากาศอยู่ตลอดวัน ได้รับโทรเลขจากยุโรปและกรุงเทพฯ หลายฉะบับ ถามว่าเสด็จประทับปลอดภัยอยู่ดีหรืออย่างไร เวลานั้นพระยาปฏิพัทธภูบาล (คอยุเหล ณ ระนอง) ยังเป็นหลวงสุนทรโกษา ล่วงหน้าไปจัดเตรียมรับเสด็จอยู่ที่เมืองหนึ่ง (ดูเหมือนจะเป็นเมืองมาลัง) ไม่ห่างจากเขากลุ๊ตนัก กลับมาเล่าว่าไม่มีใครรู้ตัวว่าภูเขาไฟจะกำเริบ อยู่ดีๆ ที่เมืองนั้นก็มืดมลอนธการไปหมด เมื่อรู้ว่าภูเขาไฟกำเริบก็ยิ่งตกใจ ด้วยสำคัญว่าบ้านเรือนที่อยู่จะพังทับหรือน้ำทองแดงจะไหลมาท่วมถึง จะหนีไปไหนก็มืดไม่เห็นหนไปไม่ได้พากันสิ้นสติ บ้างก็รวมครอบครัวไว้ในห้องว่าถ้าตายก็ให้ตายด้วยกัน บ้างก็เอาเหล้าแชมเปนที่สงวนไว้สำหรับมีงานมาเปิดชวนกันกินว่าจะตายให้สนุก วุ่นกันอยู่ ๒ วันจนมีแสงสว่างขึ้นในท้องฟ้าจึงสงบ ที่ในชะวามีภูเขาไฟหลายแห่ง ดับอยู่บ้างยังติดอยู่บ้าง นานๆ ก็ระเบิดหรือบันดาลให้แผ่นดินไหว แต่ไม่มีใครรูว่าจะแผลงฤทธิ์เดชอย่างใดเมื่อใดก็อยู่ชินกันไปไม่กลัวภูเขาไฟ
ขับรถยนต์จากเมืองยกยาไปสักชั่วโมงหนึ่ง ถึงมหาเจดีย์บวรพุทโธ อยู่บนยอดเนินอันหนึ่ง เดี๋ยวนี้รัฐบาลจัดการบำรุงรักษาดีกว่าแต่ก่อนมาก ถึงมีโฮเต็ลสร้างไว้ในที่บริเวณ สำหรับให้คนดูไปพักร้อนหรือนอนค้างคืนก็ได้ แต่ใครจะขึ้นถึงชั้นทักษิณต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นการช่วยบำรุงคนละ ๕๐ เซ็นต์ มีคนไปดูอยู่เสมอทั้งชาวต่างประเทศและชาวเมือง
พระเจดีย์บวรพุทโธ ใหญ่โตกว่าโบราณเจดีย์แห่งอื่นๆ ในชะวาทั้งหมด และเป็นเจดีย์ที่สร้างเป็นพระสถูปแต่แห่งเดียวนอกจากนั้นสร้างเป็นมณฑป ทำพระสถูปแต่อย่างเล็กๆ เป็นเครื่องประดับยอดทั้งนั้น ถ้าว่าด้วยขนาดของพระเจดีย์บวรพุทโธเล็กกว่านครวัดที่เมืองเขมรมาก แต่กระบวนทำลายจำหลักงามประหลาดอยู่ ที่พิจารณาเห็นได้ชัดว่าพระเจดีย์บวรพุทโธนี้ สร้างตามความคิดเดิมไม่สำเร็จ ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดเมื่อภายหลัง ความคิดเดิมเห็นจะทำเป็นพระมหาสถูป มีชั้นทักษิณ ๕ ชั้น แต่ชะรอยจะเกิดทรุดเหมือนเช่นสร้างภูเขาทองวัดสระเกศ เมื่อรัชชกาลที่ ๓ ต้องหยุดการสร้างค้างอยู่เพียงฐานทักษิณ (เวลานี้ก็ยังแลเห็นฐานทรุดเอาออกมาข้างนอกที่บางแห่ง แต่รัฐบาลให้ตรวจชันสูตร์ปรากฏว่าอยู่ตัวแล้ว) บางทีก็ทิ้งค้างอยู่เพียงชั้นทักษิณตั้งหลายสิบปี จึงมีคนชั้นหลังคิดสร้างต่อให้สำเร็จ ให้ทำที่บนชั้นทักษิณซึ่งความคิดเดิมจะสร้างองค์พระสถูปนั้นเปลี่ยนเป็นลาน และในลานนั้นสร้างพระสถูปขนาดย่อมเป็นประธานอยู่กลางองค์หนึ่ง มีพระสถูปขนาดย่อมกว่านั้นลงมาเป็นบริวารรายรอบ ๓ แถว เป็นจำนวนพระสถูปถึง ๗๒ องค์พอเต็มลาน พระสถูปที่สร้างชั้นหลังนั้นทำทึบแต่องค์กลาง นอกจากนั้นทำองค์ระฆังโปร่งให้เบามีช่องฉลุให้แลเห็น ตั้งพระพุทธรูปไว้ในนั้นทุกองค์ สังเกตฝีมือตอนที่ทำอยู่ข้างหยาบ ไม่ประณีตเหมือนฐานทักษิณ จึงสันนิษฐานว่าทำต่างยุคกัน ข้าพเจ้าได้ถามพวกนักปราชญ์ฮอลันดาว่ามีใครได้เคยคิดวินิจฉัยบ้างหรือไม่ ว่าแบบเดิมเขาจะทำเป็นอย่างไร ตอบว่ามีผู้คิดวินิจฉัยนับตัวไม่ถ้วน เห็นต่างๆ กันยังไม่ตกลงจนเดี๋ยวนี้ แบบที่คิดเดิมจะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูทรวดทรงเห็นว่าไม่น่าชม เพราะเสียส่วนดูไม่เป็นสง่าเหมือนปราสาทหินตามแบบเขมร เป็นต้นว่าฐานทักษิณ ๕ ชั้นอันจำหลักลายเป็นรูปภาพเรื่องพุทธประวัติและชาดกทั้ง ๒ ข้างนั้นก็ทำกระชั้นกันนักจนทางเดินแคบดูรูปภาพไม่ได้ถนัด ชั้นทักษิณดูข้างนอก ส่วนสูงก็ไม่สมกับส่วนกว้าง แต่จะลงเนื้อเห็นว่าช่างผู้คิดแบบแต่แรกจะไม่รู้จักดีงามก็ไม่ควร เพราะกระบวนจำหลักและส่วนที่เป็นเครื่องประดับเขาทำงาม ชะรอยจะมีเหตุที่เรารู้ไม่ได้ในปัจจุบันนี้ บังคับให้เขาจำต้องทำทรวดทรงเป็นอย่างนั้น เที่ยวดูพระเจดีย์บวรพุทโธอยู่สักชั่วโมงหนึ่ง แล้วย้อนทางกลับมาแวะดูมณฑป “เมนดุ๊ต” เป็นมณฑปศิลาขนาดสักเท่าพระมณฑปในวัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ ในนั้นมีพระพุทธรูปศิลาทั้งแท่งองค์ ๑ ตั้งเป็นประธานอยู่ด้านในขนาดใหญ่เท่าๆ กับพระประธานในพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์ และนั่งห้อยพระบาทปางประทานปฐมเทศนาเช่นเดียวกัน (แต่พระประทานที่พระปฐมเจดีย์ ทำด้วยศิลาทั้งแท่งต่อกัน) มีรูปพระโพธิสัตว์มหายานอีก ๒ องค์ทำด้วยศิลาทั้งแท่งขนาดใหญ่อย่างเดียวกัน ตั้งริมผนังด้านข้างๆ ละองค์ ฝีมือทำพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ที่เมนดุ๊ตนี้ ใครเห็นก็ต้องยอมว่างามอย่างยอดเยี่ยม แทบจะหาเสมอเหมือนไม่ได้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปมณฑปเมนดุ๊ตหลังคายังพังโหว่ และพระพุทธรูปก็เอนเอียงเกือบจะพลัดตกจากฐาน เพราะถูกแผ่นดินไหวมาแต่ก่อน แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลเขาพยายามปฏิสังขรณ์ เก็บหินหลังคาที่พลัดลงมากระจายเอากลับขึ้นไปเรียบเรียงปิดพอกันฝนได้ พระพุทธรูปเขาก็ยกขึ้นตั้งให้ตรง และปฏิสังขรณ์ฐานรองกับทั้งเรือนแก้วให้เหมือนของเดิม ที่รูปพระโพธิสัตว์ก็ทำอย่างเดียวกัน ควรอนุโมทนาอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาถึงปีนัง ข้าพเจ้ามาพบศาสตราจารย์คัลเลนเฟล ผู้อำนวยการบำรุงรักษาโบราณสถานในชะวา ได้ปรารภกับเขาว่าพระพุทธรูปกับรูปพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ที่เมนดุ๊ตนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะสร้างก่อนช้านาน แล้วจึงสร้างมณฑปศิลาขึ้นเป็นที่ประดิษฐานต่อชั้นหลัง เขารับรองว่าพวกเขาก็คิดเห็นเช่นนั้น เพราะเมื่อปฏิสังขรณ์พบเค้าเงื่อนว่ามีมณฑปก่อด้วยอิฐอยู่ก่อน ทั้งลวดลายและแบบอย่างที่สร้างมณฑป ก็ส่อให้เห็นว่าเป็นของสมัยชั้นหลังมา เมื่อดูพระพุทธรูปที่เมนดุ๊ต คิดเห็นข้อสำคัญในเรื่องโบราณคดีขึ้นข้อหนึ่ง น่าจะจดลงไว้ตรงนี้ด้วย คือพระพุทธรูปห้อยพระบาททำด้วยศิลาขนาดนี้ไม่ปรากฏว่ามีในเมืองพะม่ามอญเขมรเลย ในชะวาก็มีแต่องค์เดียว แต่ไปมีในประเทศสยามถึง ๔ องค์ ตรวจได้หลักฐานว่าเดิมมีพระเจดีย์โบราณองค์หนึ่งในตำบลพระปฐมเจดีย์ (อยู่ในบริเวณสวนนันทอุทยาน ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ) ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ก่อนว่า “พระเมรุ” องค์พระเจดีย์เดิมรูปร่างจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ด้วยหักพังเสียหมดแล้ว รู้ได้แต่ว่ามีพระพุทธรูปศิลาเช่นว่า ตั้งไว้ที่มุขพระเจดีย์นั้นด้านละองค์ องค์ ๑ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาย้ายเอาไปไว้ที่วัดมหาธาตุในพระนคร ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชชกาลที่ ๓ พระยาวิชิต (เผือก) เชิญมาไว้ที่วัดหน้าพระเมรุจนบัดนี้ เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขุดพบศิลาทับหลังเรือนแก้วที่ “พระเมรุ” จึงรู้ว่าพระพุทธรูปองค์วัดหน้าพระเมรุนั้นเดิมอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ อีกองค์หนึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ขุดพบที่ “พระเมรุ” เหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งเป็นพระประทานอยู่ที่ในพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์จนบัดนี้ อีก ๒ องค์ก็ขุดพบที่ “พระเมรุ” ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานที่พระปฐมเจดีย์ แต่เหลืออยู่เป็นชิ้นๆ ไม่บริบูรณ์ ยังรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานพระปฐมเจดีย์จนบัดนี้ น่าสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์นั้นจะสร้างในสมัยเดียวกันเมื่อราว พ.ศ. ๑๔๐๐ ตามแบบครั้งราชวงศ์คุปตะครองมัชฌิมประเทศ และการถือพระพุทธสาสนาจะเป็นอย่างมหายานด้วยกัน ทั้งที่ในชะวาและประเทศสยามนี้ กลับจากเมนดุ๊ตมาถึงเมืองยกยาพอเวลากินกลางวันพอดี
เวลาเย็นขึ้นรถไปเที่ยวดูเมืองอีกครั้งหนึ่ง แล้วแวะดูร้านขายของชะวาร้านหนึ่ง ซึ่งฝรั่งแก่คนหนึ่งตั้งขายคนท่องเที่ยว มีทั้งของโบราณและของที่ทำใหม่ มีพระพุทธรูปและเทวรูปทองสัมฤทธิ์หล่อปลอมตั้งไว้ขายหลายองค์ ถามราคาดูองค์หนึ่งเจ้าของบอกว่า ๕๐ กิลเดอ (ราว ๕๐ บาท) บอกแกว่าเห็นเป็นของทำปลอม ดูออกจะฉุน ที่จริงฝีมือชะวาทำปลอมยังสู้พวกบ้านหล่อที่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ออกจากนั่นไปแวะร้านขายเครื่องดนตรีหาซื้อแผ่นคราโมโฟนเพลงพิณพาทย์ และขับร้องของพวกสุนดา พวกชะวา และพวกบาหลี ได้ตามประสงค์แล้วกลับโฮเต็ล
วันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน
แก้ไขเวลาเช้า ๙ น. ขึ้นรถยนต์ มีรถคนรับใช้กับคนนำทางคุมของตามอีกรถหนึ่ง ออกจากเมืองยกยาไปโสโล ที่จริงเมืองทั้งสองนั้นตั้งอยู่เมืองละด้านภูเขามะราปีไม่ไกลกันนัก ถ้ารถยนต์แล่นตรงไปชั่วโมงเดียวก็ถึง แต่เราประสงค์จะแวะดูปราสาทหินหมู่ “พรหมานันท์” ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างทาง จึงกะว่าจะไปถึงเมืองโสโลพอเวลากินกลางวัน ในท้องที่ราบตอนเมืองยกยากับเมืองโสโลนี้ ทำไร่ยาสูบและไร่อ้อยมาก มีโรงจากสำหรับผึ่งยาสูบและโรงจักรหีบน้ำอ้อยทำน้ำตาลทรายตั้งรายเป็นระยะไป เมื่อรถยนต์แล่นมาตามทางสังเกตเห็นอะไรอย่างหนึ่งซึ่งไม่เป็นของปลาด แต่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อ น คืออ้อยออกดอกเต็มไปตามไร่ดูราวกับป่าอ้อ ไร่อ้อยที่เคยเห็นมาแต่ก่อน พออ้อยขึ้นได้ขนาดแล้วเขาก็ตัดแต่ก่อนออกดอก เพิ่งเห็นปล่อยให้อ้อยออกดอกเมื่อไปชะวาคราวนี้ ได้ความว่าเป็นเพราะราคาน้ำตาลตกต่ำ และฮอลันดาใช้มาตราทองคำ ขายน้ำตาลราคาถูกเท่าประเทศที่ออกจากมาตราทองคำไม่ได้ ถึงต้องปิดโรงหีบอ้อยและปล่อยพวกกรรมกรออกจากงาน ไม่มีใครตัดอ้อยก็ทอดทิ้งออกดอกและเน่าอยู่คาไร่ ดูก็น่าทุเรศอยู่
ไปจากเมืองยกยาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงถึงปราสาทหินของโบราณแห่งหนึ่ง เรียกว่า จันดี (เจดีย์) กาละสัน ทำเป็นมณฑปในพระพุทธสาสนาขนาดเท่าๆ กันกับมณฑปเมนดุ๊ต ยอดพังและข้างในไม่มีอะไรเสียแล้ว แต่ข้างนอกจำหลักลายละเอียดงามแปลกกว่าที่อื่น ดูปราสาทกาละสันแล้วขึ้นรถต่อไปแวะดูปราสาทหินอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า จันดีเสวู ทำแปลกเป็นตึก ๓ ห้อง ๒ ชั้น เครื่องประดับเป็นทางพระพุทธสาสนา เหมือนกับเจดีย์กาละสัน แต่ลายจำหลักหยาบกว่า เมื่อขึ้นไปดูทั่วแล้ว เห็นว่าของเดิมเห็นจะสร้างเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก แต่พวกฮอลันดาเขาว่าเป็นกุฏิพระสงฆ์ เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ปรารภกับศาสตราจารย์คัลเลนเฟลว่าแต่โบราณคนชอบอยู่เรือนไม้ ราชมนเทียรของพระเจ้าแผ่นดินก็สร้างด้วยไม้ สถานที่ก่อด้วยศิลาและอิฐแต่โบราณทำแต่เป็นเจดียวัตถุ เช่นเดียวกันทั้งในเมืองพะม่า มอญ ไทย เขมร และเข้าใจว่าในชะวาก็เช่นนั้นเหมือนกัน ที่ปราสาทหินขนาดใหญ่ในเมืองเขมรมักมีหอธรรมทุกแห่ง จันดีเสวูนี้น่าจะสร้างเป็นหอธรรมจึงตกแต่งอย่างเจดียสถาน ผิดกับที่อื่นแต่ทำพื้นเป็น ๒ ชั้น และกั้นเป็นห้องๆ ในนั้น ดูก็สมจะเป็นหอธรรมยิ่งขึ้น ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลว่าตามวินิจฉัยของข้าพเจ้านั้นเห็นจะถูกต้อง วังโบราณที่ตรวจพบในชะวา ตรงราชมนเทียรสถานก็เป็นแต่พูนดินเป็นพื้นสูงขึ้น หาปรากฏเค้าเงื่อนว่ามีสถานสร้างด้วยศิลาหรือด้วยอิฐไม่ มีพวกฮอลันดาตัดสินว่าจันดีเสวูเป็นกุฏิสงฆ์นั้น เพราะพบศิลาจารึกที่จันดีกาละสันว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สร้างเจดีย์กาละสันได้ทรงสร้างกุฏิสงฆ์ ด้วยเห็นจันดีเสวูอยู่ใกล้ๆ กันและเป็นตึก ๒ ชั้น จึงลงเนื้อเห็นว่า คือกุฏิสงฆ์ที่กล่าวในศิลาจารึกนั้น ออกจากจันดีเสวูไประยะทางไม่ไกลนัก ถึงจันดีพรหมานันท์ อันเป็นเทวสถานในทางพราหมณ์ ใหญ่โตกว่าที่อื่นหมด เหมือนเช่นพระบวรพุทโธใหญ่โตกว่าที่อื่นในเจดีย์ทรงพระพุทธสาสนาฉะนั้น ปลาดที่เจดียสถานในแดนเมืองยกยา นอกจากพระบวรพุทโธแล้ว แบบการก่อสร้างทำเป็นมณฑปทั้งนั้น ปราสาทหินพรหมานันท์นี้ก็ทำเป็นมณฑปใหญ่บ้าง ย่อมบ้าง มีจำนวนมณฑปศิลาอยู่ในหมู่เดียวกันมากมาย มณฑปใหญ่ที่อยู่กลางเป็นสถานพระอิศวร ข้างในมีรูปพระอิศวรทำด้วยศิลายืนสูงสัก ๕ ศอก ตั้งเป็นประธานทำงามดี ข้างนอกมณฑปนี้ทำมุขมีคูหาทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้าเป็นประตู มุขด้านใต้ไว้รูปเทวคุรุ คือรูปพระอิศวรมีหนวดเครา (อย่างรูปพระอิศวรเมืองกำแพงเพ็ชร ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯ) มุขด้านตะวันตกไว้รูปพระคเณศ มุขด้านเหนือไว้รูปนางทุรคะ (แต่ทำอย่างสวยงาม ไม่ให้น่ากลัวเหมือนอย่างแบบฮินดู) มีมณฑปที่เป็นประธานอีก ๒ หลัง ขนาดย่อมกว่ามณฑปพระอิศวรหน่อยหนึ่งอยู่ ๒ ข้าง หลังข้างใต้ตั้งรูปพระพรหม หลังข้างเหนือตั้งรูปพระวิษณุ ทำงามดีฝีมือเดียวกันกับรูปพระอิศวร มณฑปทั้ง ๓ หลังที่ว่ามานี้ มีชั้นทักษิณ ๒ ชั้น พนักฐานทักษิณชั้นล่างของสถานพระอิศวรและสถานพระพรหมด้านใน จำหลักลายเป็นรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ สถานพระวิษณุเป็นเรื่องพระกฤษณ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าพวกชะวาในสมัยนั้น นับถือพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ด้วยกัน เหมือนอย่างไทยเรานับถือ มิได้นับถือแต่ฉะเพาะพระองค์เหมือนเช่นพวกเขมรที่สร้างปราสาทหินในเมืองเขมร ลายจำหลักเรื่องรามเกียรติ์นี้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปทอดพระเนตร์ เทวสถานพรหมานันท์ยังทอดทิ้งอยู่ ด้วยรัฐบาลยังมิได้เริ่มบำรุงรักษาโบราณสถาน จึงตรัสขอเอามากรุงเทพฯ ห้องหนึ่งตั้งไว้ในพิพิธภัณฑสถานฯ ครั้นเมื่อรัฐบาลจัดการปฏิสังขรณ์ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลผู้อำนวยการรักษาโบราณวัตถุสถานในเมืองชะวา เข้าไปกรุงเทพฯ ไปเห็นเข้า พูดกับข้าพเจ้าเมื่อยังเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ว่ารัฐบาลกำลังปฏิสังขรณ์มณฑปที่พรหมานันท์ ทำอย่างไรจึงจะได้พนักภาพรามเกียรติ์นั้นกลับไปตั้งยังที่เดิม ข้าพเจ้าเห็นว่าเขามีสิทธิในทางธรรมที่จะได้กลับไป จึงได้รับว่าถ้าเขาให้เครื่องศิลาโบราณอย่างอื่นสมัยเดียวกันเป็นของแลกเปลี่ยนอย่าให้ของในพิพิธภัณฑสถานฯ ขาดไป ข้าพเจ้าจะกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตคืนให้ เขาส่งเครื่องศิลาเป็นเทวรูปต่างๆ หลายรูปเข้าไปแลกจึงได้ภาพรามเกียรติ์คืนไป เผอิญเป็นตอนสำคัญ พอได้ไปตั้งที่สถานพระพรหม ก็ได้เรื่องติดต่อกับตอนอื่นที่เขายังสงสัยไม่รู้ว่าจะเรียงเข้าลำดับอย่างไร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปชะวา เขาได้เชิญเสด็จไปทอดพระเนตร์และกราบทูลดังกล่าวมา ข้างหน้ามณฑปพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ มีมณฑปขนาดย่อมลงมาเรียงกันอยู่ ๓ มณฑปอีกแถวหนึ่ง ตั้งรูปพาหนะของพระเป็นเจ้า คือโคนนทรี พระยาครุฑ และพระยาหงส์ไว้เป็นประธาน (สูญเสียแล้วบ้าง ยังเหลือแต่รูปโค) ปลายแถวมณฑปเทวพาหนะนี้มีมณฑปน้อยอีกข้างละหลัง ว่าเดิมตั้งรูปพระอาทิตย์หลังหนึ่ง พระจันทร์หลังหนึ่ง รัฐบาลพยายามปฏิสังขรณ์หลังข้างใต้ให้คืนดีอย่างเดิมได้หลังหนึ่งน่าชมมาก มณฑปที่พรรณามา ๘ หลังสร้างไว้ในลานชั้นบนมีกำแพงล้อมรอบ นอกกำแพงพื้นที่ลดต่ำลงมีมณฑปเล็กๆ เป็นบริวาร สร้างเรียงกันเป็น ๓ แถวรอบทั้ง ๔ ด้าน เป็นจำนวนมณฑปทั้งสิ้นเกือบ ๒๐๐ หลัง แต่ว่าถูกแผ่นดินไหวพังทะลายมากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น มณฑปสำคัญชั้นบนเป็นแต่หลังคาพัง ส่วนมณฑปบริวารรอบกำแพงนั้น เห็นจะถูกพวกชะวาเมื่อเข้ารีตเป็นอิสลามแล้ว รื้อเอาศิลาไปใช้เสียอีกซ้ำหนึ่งด้วย ยังเหลือแต่เพียงเชิงผนังเท่านั้น ข้าพเจ้าถามศาสตราจารย์คัลเลนเฟล ว่ามีใครได้เคยคิดวินิจฉัยบ้างหรือเปล่าว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงสร้างมณฑปบริวารไว้รอบกำแพงพรหมานันท์มากตั้งร้อย แกตอบว่าคิดเห็นกันเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่ามณฑปที่สำคัญเป็นของพระเจ้าแผ่นดินสร้าง ส่วนมณฑปบริวารพระญาติและราชบริพารสร้างโดยเสด็จ อีกอย่างหนึ่งว่าเทวสถานย่อมสร้างเป็นเทวพลี มณฑปใหญ่ๆ ข้างในเป็นพลีของมหานครราชธานี ส่วนมณฑปบริวารพวกเมืองขึ้นเข้ามาสร้าง เป็นเครื่องหมายพลีของเมืองนั้นๆ ประเพณีอย่างหลังในเกาะบาหลียังมีปรากฏอยู่ ข้าพเจ้าว่ามีประเพณีโบราณในประเทศสยามอีกอย่างหนึ่ง เมื่อสกุลใดตั้งมั่งคงแล้วย่อมสร้างวัดสำหรับสกุลไว้เป็นที่บรรจุอัฏฐิธาตุของสมาชิกในสกุล ที่บรรจุนั้นมักสร้างเป็นรูปสถูปที่เรียกกันว่า “พระเจดีย์” แกว่าในชะวาก็ได้พบที่บรรจุอัฎฐิธาตุของพระก็มี ของคฤหัสถ์ก็มี แต่ที่มณฑปบริวารณพรหมานันท์ยังหาได้ลองขุดชันสูตร์ไม่ การที่เข้าไปดูเทาสถานพรหมานันท์ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละ ๕๐ เซนต์ อย่างเดียวกับที่บวรพุทโธ แต่เห็นจะมีคนไปดูไม่มากหรืออยู่ดูไม่นานเหมือนที่บวรพุทโธ จึงไม่มีโฮเต็ล ถึงกระนั้นว่าสำหรับพวกเราก็สนุกเพลิดเพลินมาก เสียแต่แดดอยู่ข้างร้อนจัด
เที่ยวดูเทวสถานอยู่กว่าชั่วโมง แล้วจึงขึ้นรถต่อไปถึงเมืองโสโลเวลาเที่ยงวัน ไปพักที่โฮเต็ลสะเลีย ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประทับ มีขุนนางชะวาเป็นผู้ใหญ่แต่งตัวเต็มยศนั่งอยู่ที่เฉลียงหน้าโฮเต็ลคนหนึ่ง พอเราลงจากรถ พวกคนโฮเต็ลวิ่งมาถามว่าเป็นคนไทยหรือมิใช่ พอบอกว่าใช่ ก็วิ่งไปบอกขุนนางชะวาคนนั้น ลุกขึ้นตรงมาหาข้าพเจ้าด้วยกิริยายิ้มย่องจับมือแสดงความยินดี แต่พูดกันไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าต้องเรียกฝรั่งนายโฮเต็ลมาวานให้เป็นล่าม ได้ความว่าแกชื่อ ยะโสทีปุร เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ตำแหน่งอธิบดีกรมวัง สุสุหุนัน พระเจ้ากรุงสุรเขตต์ให้มาคอยรับ ด้วยทรงยินดีนักที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยือนถึงเมืองโสโลอีกครั้งหนึ่ง และแจ้งให้ทราบว่าสุสุหุนันได้ตรัสสั่งให้จัดรถยนต์หลวงมาให้ข้าพเจ้าใช้ตลอดเวลาที่อยู่ในนครโสโล และให้ขอเชิญข้าพเจ้ากับลูกหญิงทั้ง ๓ คน เข้าไปในราชวังในค่ำวันนั้น เวลา ๒๐.๓๐ น. จะมีการรับรองอย่างเต็มยศติดเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ แล้วบอกต่อไปว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ แกก็มีตำแหน่งอยู่ในราชสำนักอยู่แล้วยังจำข้าพเจ้าได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลปัจจุบันนี้เสด็จไปแกก็รับเสด็จ ได้พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ (เบญจมาภรณ์มงกุฎสยาม) ซึ่งติดมานั้น และต่อมาเมื่อทูลกระหม่อมชายเสด็จไป สุสุหุนันก็ให้แกเป็นผู้มาต้อนรับเหมือนกัน เพราะเห็นว่าแกคุ้นเคยกับเจ้านายไทยมาแต่ก่อน ข้าพเจ้าสั่งให้ไปทูลสุสุหุนันว่าข้าพเจ้าขอบพระคุณยิ่งนัก และจะเข้าไปเฝ้าตามเวลากำหนด ส่วนตัวแกข้าพเจ้าก็ยินดีที่ได้ไปพบอีก เพราะตั้งแต่พบกันครั้งก่อนเวลาล่วงมาถึง ๓๓ ปี คนที่เคยรู้จักน่าจะเหลือน้อยนักหนาแล้ว แกถามต่อไปว่าข้าพเจ้ามีประสงค์จะให้ (นายชิต) คนรับใช้ที่ไปด้วยดูระบำด้วยหรือไม่ ตอบว่าถ้าได้ประทานอนุญาตให้เข้าไปดูได้ ข้าพเจ้าก็จะยินดี แกก็รับจะให้มีคนมาพาไป แล้วถามถึงเวลาที่ข้าพเจ้าจะไปเที่ยวในตอนบ่าย นัดกันว่า ๑๗ น. แล้วแกก็กลับไป ข้างฝ่ายเรากินกลางวันแล้วก็นอนพักตามประเพณี โฮเต็ลสะเลียยังเก่าคร่ำคร่าอยู่เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไป เจ้าของโฮเต็ลบอกว่ากำลังจะปลูกสร้างแก้ไข ได้ทำโรงเลี้ยงอาหารขึ้นใหม่หลังหนึ่ง และกำลังรื้อเรือนคนอยู่จะทำใหม่หลังหนึ่ง แต่ในเมืองโสโลจะทำโฮเต็ลใหญ่เหมือนอย่างเมืองยกยาไม่ได้ ด้วยมีชาวต่างประเทศไปเที่ยวน้อย
เวลาบ่าย ๑๗ น. อธิบดีกรมวังเอารถยนต์หลวงมารับ เป็นรถเก๋งขนาดนั่งได้ ๗ คน มีลายอักษรพระนามสุสุหุนันกับรูปมงกุฎไว้ข้างเก๋ง ตัวแกขึ้นนั่งเป็นคนนำทางไปด้วย เสียดายนักที่พูดเข้าใจกันไม่ได้ มิฉะนั้นก็จะไต่ถามได้ความรู้ไม่น้อย แกพยายามที่จะบอกอธิบายในภาษามลายู พวกเราก็เข้าใจได้แต่เพียงคำสองคำ แต่ทางที่แกพาเที่ยวนั้นแปลกดีมาก คือพาเข้าไปดูในบริเวณวังของสุสุหุนันถึงชั้นใน ซึ่งไม่เคยเข้าไปดูเมื่อคราวก่อน เห็นจะเป็นเพราะสุสุหุนันได้ตกแต่งซ่อมแซมใหม่หมดทั้งวัง ถนนในวังซึ่งแต่ก่อนเป็นแต่หนทางเดิน เดี๋ยวนี้ทำเป็นถนนใช้รถได้ทั่วทั้งวัง จึงให้พาพวกเราเข้าไปดูให้เห็นความเจริญซึ่งมีขึ้นผิดกับแต่ก่อน ราชวังเรียกตามภาษาชาวเมืองว่า “กราตอน” ทั้งที่เมืองโสโลและเมืองยกยา แต่กราตอนเมืองโสโลใหญ่กว่าที่เมืองยกยา ตีกำแพงล้อมรอบและมีประตูเข้าออกได้หลายทาง เป็นทางรถบ้าง เป็นแต่ทางสำหรับคนเดินบ้าง ฝรั่งว่าจำนวนคนอยู่กราตอนตั้งหมื่น แต่เห็นจะประมาณมากเกินไป ตามหนังสือสัญญาที่ทำกับฮอลันดาๆ ยอมให้สุสุหุนันมีอาญาสิทธิ์ภายในกราตอน จะทำอย่างไรแม้จนถึงประหารชีวิตคน ฮอลันดาก็ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ที่เป็นจริงก็ต้องทำแต่ที่รู้ว่าฮอลันดาจะไม่ขัดขวาง แผนผังของกราตอนนั้น ว่าตามตาเห็นดูเหมือนจัดเป็น ๓ ชั้นๆ นอกด้านหน้าเป็นท้องสนามชัย มีพลับพลาสูงที่เสด็จออก ด้านข้างและด้านหลัง เป็นที่อยู่ของข้าราชการที่ประจำวัง บ้านอธิบดีกรมวังก็อยู่ในนั้นด้วย แกได้พาไปถึงหน้าบ้านเรียกลูกหลานให้ออกมาหา แต่พวกเราไม่ได้ลงจากรถเข้าไปในบ้าน เพราะไม่มีล่ามที่จะพูดกัน ได้แต่ยิ้มแย้มและจับมือแสดงไมตรีจิตต์ ชั้นกลางเป็นสถานที่สำหรับราชการต่างๆ และตำหนักเจ้านายที่ยังไม่ออกวัง ชั้นในข้างด้านหน้าเป็นราชมนเทียรสถาน ข้างหลังออกไปเห็นจะเป็นเรือนนักสนม แต่สังเกตไม่ได้ว่าจะมีเขตต์ซึ่งให้อยู่แต่ผู้หญิงล้วนหรือไม่ ภายนอกกำแพงกราตอนก็ยังเป็นที่ชานวังออกไปอีก เป็นที่คนมีสังกัดในราชสำนักตั้งบ้านเรือน ทำนองเดียวกับที่เราเรียกว่า “ท้ายสนม” มีสวนหลวงกับทั้งพิพิธภัณฑสถานอยู่ที่ชานวังด้วย เมื่อเที่ยวดูในวังแล้วแกพาไปดูสวนหลวงที่ว่า จอดรถที่หน้าตึกหลังหนึ่งซึ่งวาเป็นพิพิธภัณฑสถาน แต่เป็นเวลาเย็นเขาปิดเสียแล้ว เห็นแต่รูปศิลาโบราณที่เอามาจากปราสาทหินตั้งอยู่ข้างหน้าตึกสองสามองค์ ที่งามๆ ก็มี ต่อนั้นเดินเข้าไปในสวนหลวง พอถึงก็เห็นได้ว่าทำตามความคิดของพวกชะวาสมัยใหม่ บางแห่งปลูกต้นไม้ดอก บางแห่งทำเป็นสนามหญ้า มีสระน้ำ ภูเขาดิน โรงหนังฉาย โรงเต้นรำ สนามเล่นเตนนิสและที่สุดโรงขายเครื่องดื่ม ดูสวนหลวงแล้วก็เป็นอันเสร็จดูตอนกราตอน ให้ขับรถไปตามถนนเที่ยวดูเมืองต่อไป เมืองโสโลแม้ใหญ่โตกว่าเมืองยกยาก็จริง แต่ถนนหนทางและบ้านเรือนยังเป็นอย่างเก่าอยู่โดยมาก ไม่เจริญเหมือนอย่างเมืองยกยา เที่ยวแล้วกลับมาถึงโฮเต็ลเวลาราว ๑๙ น. มีเวลาพักพออาบน้ำและกินอาหารเย็นแล้วก็แต่งตัวเตรียมเข้าวัง แต่งเครื่องพลเรือนสำหรับเวลาค่ำ ติดดาราและสรวมสายสร้อยเครื่องราชอิสสริยาภรณ์มหาจักรี กับดาราและสายสะพายเครื่องราชอิสสริอาภรณ์ราชสีห์นิเทอแลนด์ ซึ่งสมเด็จพระราชินีกรุงฮอแลนด์พระราชทานข้าพเจ้าเมื่อไปยุโรป การที่แต่งเครื่องราชอิสสริยาภรณ์นี้มีเรื่องชอบกล สุสุหุนันตรัสสั่งให้อธิบดีกรมวังมาบอกข้าพเจ้าในตอนบ่าย ว่าขอให้สรวมสายสะพายราชสีห์นิเทอแลนด์ในค่ำวันนั้น ด้วยในชะวามีแต่ของสุสุหุนันกับของข้าพเจ้า ๒ สายเท่านั้น แต่ส่วนพระองค์เองจะทรงเครื่องราชอิสสริยาภรณ์สยาม ที่สุสุหุนันเอาพระทัยใส่มากในเรื่องเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ เป็นเรื่องที่รู้กันมาแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไป ดูเหมือนเครื่องราชอิสสริยาภรณ์มีกี่อย่างในโลก สุสุหุนันจะทราบหมด ชะรอยจะมีใครได้เห็นหนังสือพิมพ์ฮอแลนด์แล้วทูลให้ทราบ ว่าดูเหมือนข้าพเจ้าได้เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ราชสีห์นิเทอแลนด์ชั้นสูงสุด จึงสั่งมาให้แต่ง ทำนองพิศูจน์ว่าจะจริงดังว่าหรือไม่
ถึงเวลา ๒๐.๓๐ น. อธิบดีกรมวังพารถเทียมม้าเทศคู่มารับ ๒ หลัง เป็นรถเก๋งอย่างเต็มยศสมัยเก่า ดูเหมือนจะได้เคยรับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วยรถนี้ มีพนักงานคุมรถมารับนายชิตคนรับใช้ด้วยอีกหลังหนึ่ง ข้าพเจ้ากับหญิงพูนขึ้นรถหน้า หญิงพิลัยกับหญิงเหลือและอธิบดีกรมวังขึ้นรถหลังพากันเข้าไปในวัง ไปจอดรถที่หน้าโรงรับแขก มีลูกยาเธอองค์ใหญ่ของสุสุหุนันกับเจ้ามังกุนคโร (คล้ายอย่างเป็นกรมพระราชวังบวร) กับพวกขุนนางฮอลันดาซึ่งกำกับเมืองโสโล พร้อมด้วยภรรยาคอยรับอยู่ที่นั่น ลงจากรถแล้วต้องรออยู่ครู่หนึ่งจนเคาวเนอ (ผู้แทนรัฐบาลฮอลันดา) กับภรรยามาถึง จึงพร้อมกันเดินเป็นกระบวนเข้าไปข้างใน ประเพณีในราชสำนักเมืองโสโลและเมืองยกยา มีแปลกกับที่อื่นอย่างหนึ่ง ที่ถือว่าการจูงแขน (อย่างฝรั่งผู้ชายจูงผู้หญิง) เป็นการเคารพ แต่ผู้น้อยต้องให้แขนจูงผู้ใหญ่ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปถึงเมืองยกยาเป็นครั้งแรก ไม่มีใครกราบทูลให้ทรงทราบประเพณีนั้น เมื่อเสด็จเข้าไปถึงในวัง สุลต่านตรงเข้าถวายแขน ทรงฉงนอยู่ครู่หนึ่งตรัสเล่าทีหลังว่า “ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกณฑ์ให้เราเป็นผู้หญิง” แต่ทรงพระราชดำริว่าคงเป็นธรรมเนียมของเขา ก็ยื่นพระกรเข้าสอดยอมให้จูงขึ้นไปถึงที่ประทับ โดยปกติเวลาออกงานเคาวเนอผู้แทนรัฐบาลฮอลันดาจูงสุลต่าน เพราะสมมตศักดิ์ว่าเป็นน้องรองสุลต่าน คนอื่นแม้ที่สุดจนรัชทายาทต้องให้แขนจูงเคาวเนอ วันนี้ราชบุตร์ของสุสุหุนันให้แขนภรรยาของเคาวเนอ ตัวเคาวเนอเป็นแต่เดินเคียงภรรยาไป จะเป็นด้วยเปลี่ยนประเพณีเดิมหรืออย่างไรหาทราบไม่ ส่วนพวกข้าพเจ้าไม่มีศักดิ์ในทางการเมือง ต้องเดินรองลงมาและไม่มีใครจูง เข้าไปถึงท้องพระโรงซึ่งชะวาเรียกว่า ปันดะโป (มณฑป) สุสุหุนันลงมาคอยรับอยู่ที่ขั้นลด เมื่อเห็นข้าพเจ้า ดูทรงยินดีมาก จับมือแล้วลูบหลังราวกับจะกอด ตรัสปราศรัยหลายคำแต่ไม่เข้าใจกัน เมื่อพวกที่ได้รับเชิญเรียงตัวกันเข้าไปจับหัตถ์สุสุหุนันแล้ว เดินตามเรียงตัวกันไปที่ระตูอรรคชายาและเจ้านายผู้หญิง ซึ่งยืนรับอยู่เป็นแถวทางเบื้องซ้ายที่ประทับ จับหัตถ์เรียงองค์เรื่อยไปจนตลอดแถว (สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เคยตรัสเรียกว่าจับมืออย่างรับบาตร์) ส่วนระตูนั้นเคาวเนอรับเป็นล่าม ได้พูดจาปราศรัยกับข้าพเจ้าบ้าง แต่ส่วนเจ้านายผู้หญิงมีราชธิดาทีเกิดด้วยระตูองค์หนึ่ง นอกนั้นเป็นน้องนางเธอบ้าง ราชสุนิสาบ้าง ประมาณสัก ๑๐ องค์ ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ตรัสทักทาย (แต่ไม่เข้าใจ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร) ที่เป็นชั้นสาวก็เป็นแต่ยิ้มแย้มแสดงไมตรีจิตต์เฝ้าเจ้านายผู้หญิงแล้วเดินตามกันไปจับหัตถ์เจ้านายผู้ชายซึ่งตั้งแถวอยู่ข้างฝ่ายขวา เป็นน้องเธอสองสามองค์ มีลูกเธอชั้นหนุ่มเพิ่มขึ้นใหม่หลายองค์ รวมด้วยกันสัก ๑๕ องค์ เมื่อเสร็จพิธีจับหัตถ์แล้ว ไปนั่งเก้าอี้ตามที่มีการ์ดชื่อปิดบอกไว้แถวด้านใน เก้าอี้ที่ประทับของสุสุหุนันอยู่กลาง ข้าพเจ้านั่งข้างขวา เคาวเนอนั่งข้างซ้าย ต่อข้าพเจ้าไปท่านรัฐมนตรีที่มาจากเมืองบะเตเวีย แล้วถึงภรรยาเคาวเนอและเจ้าหญิงของเรา นั่งสลับกับเจ้านายผู้ชายและขุนนางฮอลันดาชั้นผู้ใหญ่ ข้างซ้ายสุสุหุนันต่อเคาวเนอไปถึงระตูอรรคชายากับเจ้าหญิงราชธิดาและเจ้าหญิงองค์อื่น นั่งเรียงกันไปตลอดแถว มีเก้าอี้ตั้งด้านข้างต่อออกไปข้างหน้าอีกด้านละ ๒ แถว สำหรับเจ้านายชั้นเล็กกับขุนนางฝรั่งชั้นรองลงมานั่งด้วยกันกับภรรยา ข้างหลังที่ประทับของสุสุหุนันมีนางพนักงานเชิญเครื่องและคอยรับใช้ แต่งตัวนุ่งจีบคาดผ้าห่มเพียงรักแร้ และมีแพรแถบสีเหลืองขลิบแถบทองคล้องคอเป็นเครื่องหมายว่าเป็นพนักงาน นั่งอยู่กับพื้นเป็นหมู่ ที่ชั้นลดข้างด้านหน้ามีขุนนางผู้ใหญ่แต่งเต็มยศนั่งเก้าอี้เฝ้าข้างละ ๒ แถว ที่ชาลาหน้าปันดะโปมีทหารรักษาองค์ กับแตรวงประจำกรมตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศ ใกล้เข้ามาพวกพิณพาทย์กับคนร้องอยู่ข้างหนึ่ง พวกเครื่องมโหรีอย่างฝรั่งอยู่ข้างหนึ่ง ในลานชาลายังมีพวกข้าราชการชั้นต่ำแต่งตัวใส่หมวกโกลุก นุ่งผ้าทูมทาม เหน็บกฤชทับกางเกงไม่ใส่เสื้อ เป็นแต่มีแพรแถบเครื่องหมายตำแหน่งคล้องคอนั่งรายกันไปทุกด้านอีกหลายสิบคน การรับแขกเมืองบันดาศักดิ์สูงเห็นจะจัดอย่างนี้เป็นประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อครั้งรับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็จัดอย่างนี้ทั้ง ๒ ครั้ง แต่ครั้งนี้สังเกตดูเห็นแปลกตากว่าแต่ก่อนบางอย่าง เป็นต้นว่าผู้คนที่เป็นข้าเฝ้าของสุสุหุนัน ทั้งนางพนักงานและพวกกรมวัง จำนวนน้อยลงกว่าที่เคยเห็นแต่ก่อน แม้นาง “กุจี” ค่อม ซึ่งเคยมีตั้ง ๔ และ ๕ คนก็เหลือแต่คนเดียว ขันทีที่แต่งเป็นผู้หญิงก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อน เห็นจะเป็นด้วยความฝืดเคืองที่เกิดขึ้นในโลก ได้ยินว่าสุสุหุนันถูกลดเงินประจำปีที่เคยได้ลงถึงครึ่งหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งประเพณีผู้ชายไว้ผมมวย คนชั้นหนุ่มก็เลิกหมดตั้งแต่เจ้าตลอดจนราษฎรพลเมือง ดูเหมือนจะยังไว้ผมมวยอยู่แต่คนอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป แต่คิดดูก็เห็นดีขึ้น ด้วยเจ้านายชะวามักได้รับยศเป็นนายทหารฮอลันดา เวลามีการงานบางคราวก็แต่งอย่างชะวา บางคราวก็แต่งอย่างฝรั่ง เคยเห็นแต่งอย่างฝรั่งเมื่อครั้งไปตามเสด็จ เห็นต้องเอาผ้าโพกผมเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงใส่หมวก ต้องใช้หมวกใหญ่เกินขนาดดูน่าเกลียด เลิกผมมวยเสียดีกว่า การแต่งองค์เจ้านาย แม้แต่งอย่างชะวาเดี๋ยวนี้ก็ผิดกับแต่ก่อน แต่ก่อนนั้นแต่ละองค์ผัดพักตร์เหมือนอย่างเจ้าโสกันต์ของเรา และกันคิ้วจับเขม่าทั้งคิ้วและหนวดดูน่าชัง เดี๋ยวนี้พักตร์ผัดแต่พอเป็นนวนและไม่จับเขม่าเหมือนแต่ก่อน ส่วนขุนนางนั้น แม้จนอรรคมหาเสนาบดี แต่ก่อนต้องคลานขึ้นบันไดท้องพระโรงไปนั่งเฝ้าอยู่กับพื้น ด้วยมีธรรมเนียมห้ามมิให้เอาเท้าเหยียบบนพื้นท้องพระโรง เดี๋ยวนี้ยอมให้ขุนนางนั่งเก้าอี้ที่พื้นลดชั้นล่างในท้องพระโรงฝ่ายละ ๒ แถว แต่ยังห้ามมิให้ใส่ถุงน่องรองเท้าบนท้องพระโรงทั้งเจ้านายและขุนนาง เว้นแต่สุสุหุนันกับระตูเท่านั้น ที่เห็นแปลกตาอีกอย่างหนึ่งนั้น แต่ก่อนเจ้านายและขุนนางชะวานอกจากสุสุหุนัน น้อยตัวทีเดียวที่จะมีเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ติด ไปคราวนี้เห็นไม่เลือกว่าใครต่อใครทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ในราชสำนักของสุสุหุนันติดเครื่องอิสสริยาภรณ์ทุกคน เห็นจะเป็นของสุสุหุนันคิดทำขึ้นใหม่
สุสุหุนันวันนี้ทรงภูษาจีบ ฉลององค์สีดำปักทอง โพกเศียร มีเข็มกลัดเพ็ชรติดข้างหน้าผ้าโพก ที่ฉลององค์ติดดาราเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ต่างๆ นับไม่ถ้วน ทรงเครื่องราชอิสสริยาภรณ์มงกุฎสยามอย่างมัณฑนาภรณ์ประดับเพ็ชรคล้องพระศอ สวมสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือก ระตูทรงสายสะพายประถมจุลจอมเกล้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลปัจจุบันพระราชทาน สุสุหุนันให้ราชบุตร์องค์หนึ่งซึ่งเป็นปะเงรัน (เหมือนอย่างต่างกรมของไทยเรา) ชื่อ บุรโพนคโรเป็นล่าม ด้วยได้เคยไปเรียนในยุโรป พูดภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งอื่นได้หลายภาษา เริ่มตรัสด้วยชี้ให้ข้าพเจ้าดูเครื่องราชอิสสริยาภรณ์มงกุฎสยามประดับเพ็ชรที่คล้องพระศอ ตรัสว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานสายสะพายมงกุฎสยามไว้ก่อน แล้วพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลปัจจุบันพระราชทานมหาประถมาภรณ์ช้างเผือกอันมีศักดิ์สูงขึ้น วันนี้จึงทรงสายสะพายช้างเผือก ถึงกระนั้นเพราะยังรักและคิดถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไม่หาย ไม่อยากจะทิ้งเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่พระราชทานไว้ จึงได้ให้ทำดวงมัณฑนาภรณ์ขึ้นสำหรับคล้องพระศอแทนสายสะพาย แล้วถามความข้ออื่นอันเนื่องด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงต่อไป เป็นต้นว่าเมื่อเสด็จสวรรคตนั้นพระชันษาได้เท่าใด ตลอดจนถึงพระราชวังบางปอินที่เคยตรัสเล่าให้ฟังว่ายังดีอยู่หรือ สังเกตดูยังรักใคร่นับถือจริงๆ ถึงสั่งให้นางพนักงานไปเชิญพระบรมรูปฉายาลักษณ์กับรูปสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานไว้มาอวดพวกขุนนางฮอลันดา คำที่ตรัสได้ยินแต่ว่า “ไบก์” ๆ แปลว่าดี แล้วถามถึงพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลปัจจุบันนี้ต่อไป ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นถามว่าเดี๋ยวนี้อายุได้เท่าใด และบอกว่าพระองค์เองชนมายุก็เข้า ๗๐ ปีแล้ว จำได้ว่าข้าพเจ้าเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ไปเอารูปของข้าพเจ้ามาให้พวกฝรั่งดู บอกว่าชอบกันมานานแล้ว แล้วถามต่อไปถึงเจ้านายไทยที่ได้เคยเสด็จไปถึงเมืองโสโล ยังจำพระนามได้ทุกพระองค์
กระบวนเลี้ยงแขกเมือง ยังเหมือนกับแต่ก่อนไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร แรกแขกเข้าไปถึง แตรวงบรรเลงเพลงหนึ่ง แล้วมโหรีเครื่องสายบรรเลงอีกเพลงหนึ่ง ขณะบรรเลงดนตรีนั้น พวกมหาดเล็กแต่งตัวอย่างฝรั่งเดินตามกันมาเป็นแถว เที่ยวแรกเอาโต๊ะกลมขนาดย่อมมาตั้งตรงหน้าแขกเมืองคนละตัว เที่ยวที่ ๒ เอาเครื่องสูบบุหรี่มาวางบนโต๊ะ เที่ยวที่ ๓ เอาถ้วยแก้วมาตั้งแล้วเอาเครื่องดื่มมารินให้ เที่ยวที่ ๔ เอาไอสกรีมกับขนมต่างๆ มาเลี้ยง พอมโหรีเครื่องสายจบเพลง พิณพาทย์ก็เริ่มทำประสานเสียงกับคนขับร้อง ไพเราะน่าฟัง ขณะนั้นนางระบำ “บะดูโย” ๑๐ คนก็เดินตามกันเป็นแถวออกมาจากข้างใน เดินนาดกรายออกมาช้าๆ ตามจังหวะพิณพาทย์ มีนางพนักงานที่เป็นครูผู้กำกับ ๔ คนคลานนำและตามมาด้วย เมื่อมาถึงตรงหน้าที่นั่ง นางระบำลงนั่งเรียงกันเป็น ๒ แถว ถวายบังคมแล้วลุกขึ้นรำตามกระบวนต่อไป ระบำชะวาที่เคยเห็นมาแต่ก่อนมี ๒ อย่าง เรียกว่า “สะเรมปี” รำ ๔ คนอย่างหนึ่ง “บะดูโย” รำ ๖ คนหรือ ๑๐ คนอย่างหนึ่ง เมื่อรับเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เมืองยกยามีระบำอย่างสะเรมปี ที่เมืองโสโลมีระบำอย่างบะดูโยเช่นเดียวกับครั้งนี้ หญิงเหลือชอบดูฟ้อนรำมาแต่ไรๆ เธอว่าชะวารำจังหวะช้ากว่าและรำหย่อนตัวกว่าไทย แต่ก็งามน่าดูไปอย่างหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าตำรารำของชะวากับของไทยได้มาแต่ครูเดิมอันเดียวกัน ถ้าว่าตามตาข้าพเจ้าสังเกตดู เห็นว่านางระบำวันนี้รำงามสู้เมื่อเห็นคราวก่อนไม่ได้ เห็นจะเป็นเพราะครูที่เป็นคนชั้นสมัยเก่าล้มตายหมดตัวไป พวกนางรำที่ได้เป็นครูขึ้นแทนคนสมัยใหม่ ได้เห็นกระบวนฟ้อนรำของต่างประเทศในหนังฉายเป็นต้น ความนิยมก็ผันแปรไป ไม่ขะมักเขม้นจะรักษาแบบโบราณเหมือนอย่างครูชั้นก่อน ถ้าว่าโดยย่อ มันก็เป็นทำนองเดียวกับในเมืองไทยนั้นเอง
ว่าถึงประเพณีที่มีนางรำบำเรอในเวลารับแขก ถ้าใครสังเกตในหนังสือรามเกียรติ์ จะเห็นได้ว่าเป็นประเพณีในอินเดียมาแต่ดึกดำบรรพ์ เช่นเวลาทศกัณฐ์รับพญายักษ์ที่ไปจากต่างเมือง เวลาเมื่อเสวยด้วยกันนั้นย่อมมีนางรำบำเรอด้วย ประเพณีนั้นยังมีสืบมาในอินเดีย จนข้าพเจ้าได้เคยเห็นเองครั้งกลับจากยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ผ่านมาในอินเดีย เมื่อถึงเมืองพาราณสีมหาราชเจ้าเมืองรับอย่างเต็มยศที่วังรามนคร ตั้งเก้าอี้ให้นั่งเรียงเป็นแถวในท้องพระโรงเหมือนอย่างที่เมืองโสโล (แต่การเลี้ยงอาหาร เขาหาส่งมาเลี้ยงที่เราอยู่ ไม่เลี้ยงที่ในวัง เพราะธรรมเนียมฮินดูห้ามมิให้กินร่วมกับคนชาติอื่น) เมื่อสนทนาปราศรัยกันอยู่นั้น มีนาง “นัจจะ” ออกมาฟ้อนรำเข้ากับเพลงพิณพาทย์ให้เราดูด้วย พวกชะวาคงได้ประเพณีนางรำมาจากอินเดียตั้งแต่ก่อนเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม แม้ตามคติอิสลามห้ามมิให้ผู้หญิงออกหน้า พวกชะวายังนิยมในการรับแขกตามแบบเดิม จึงยังรักษาประเพณีนางรำบำเรอไว้จนบัดนี้ เหมือนกับการอื่นยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งพวกชะวาไม่ทำตามคติสาสนาอิสลาม
ที่จริง พวกเราอยากจะดูกระบวนรำของชะวาแต่ต้นจนจบ แต่สุสุหุนันเกรงแขกจะเบื่อ เพราะเพลงรำของบะดูโยกินเวลาถึงเกือบชั่วโมงจึงหมด พอดูได้สักครู่หนึ่งก็ตรัสชวนให้ไปเที่ยวดูราชมนเทียร ให้ราชธิดากับพวกน้องๆ นำแขกผู้หญิง ให้พวกราชบุตร์นำแขกผู้ชาย แต่ก็เดินคละกันไป เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ก็ได้ทอดพระเนตร์ทั่วราชมนเทียร แต่ในเวลานั้นยังเป็นของเก่าซึ่งสร้างมาช้านาน เดี๋ยวนี้สุสุหุนันให้ซ่อมแปลงทั่วราชมนเทียร ดูเหมือนจะรื้อทำใหม่มาก แต่ทำตามแผนผังและเป็นชั้นเดียวอย่างเดิม ตกแต่งประดับประดาสอาดสอ้านงามกว่าราชมนเทียรเก่ามาก ปลาดอยู่ที่ไม่ปกปิดนักสนมกรมในที่พากันขึ้นไปดูแขกเมืองอยู่ในราชมนเทียรเป็นอันมาก นั่งกันอยู่เป็นหมู่ที่ตำหนักหลังต่อท้องพระโรง ที่ตั้งวงเล่นไพ่ (อย่างเดียวกับไพ่ที่ไทยเล่น) กันก็หลายวง เมื่อแขกเมืองเดินผ่านไปก็ไม่หลบเลี่ยง มีขุนนางฝรั่งบางคนรู้จักเข้าไปทักทายก็พูดด้วย เป็นอย่างนี้มาแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไป แต่ครั้งนั้นเป็นแต่นั่งดูกันอยู่เกลื่อนกลาด พึ่งเห็นเล่นไพ่กันในคราวนี้ เมื่อเที่ยวเดินชมตำหนักและสวนตลอดแล้ว ก็กลับมานั่งดูนางรำบะดูโยต่อไปจนจบเพลง ลงนั่งเรียงแถวถวายบังคมเหมือนอย่างเมื่อก่อนจะรำ นางครูผู้นำประนมมือทูลฉลอง (ว่ากระไรไม่เข้าใจ เห็นจะว่าได้รำถวายหมดกระบวนบะดูโย) แล้วพากันนาดกรายกลับเข้าข้างใน เป็นกระบวนตามจังหวะพิณพาทย์เหมือนเมื่อออกมาดูบะดูโย แล้วสุสุหุนันประทานพระรูปฉายาลักษณ์ถ่ายด้วยกันกับระตูและราชธิดารูปหนึ่ง ใส่กรอบเงินจำหลักลายลงยาและมีขาหยั่งเงินสำหรับตั้งแก่ข้าพเจ้าเป็นที่ระลึกแล้ว เป็นเสร็จการรับรอง แต่เมื่อก่อนกลับยังมีพิธีเลิกงานต่อไปอีกหน่อย คือพวกมหาดเล็กเดินแถวเข้ามาเก็บถ้วยเครื่องดื่มไปเที่ยวหนึ่ง แล้วมาเก็บที่ใส่บุหรี่กลับเที่ยวหนึ่ง และที่สุดกลับมายกโต๊ะตัวเล็กๆ กลับไปอีกเที่ยวหนึ่ง ต้องนั่งรอกันอยู่จนพื้นที่ว่างอย่างเดิมแล้วสุสุหุนันจึงลุกขึ้นดำเนินไปคอยส่งอยู่ตรงที่เคยรับ พวกแขกก็ไปจับหัตถ์ทูลลาระตูและเจ้านายผู้หญิงตลอดแถว แล้วจึงไปทูลลาสุสุหุนัน เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปทูลลาทรงแสดงพระอัธยาศัยไมตรีเป็นอย่างสนิทผิดกับผู้อื่น แต่ตรัสว่ากระไรไม่เข้าใจ แล้วไปจับหัตถ์ลาเจ้านายองค์ชายที่มาตั้งแถวคอยรับลาอยู่ที่ริมทางข้างปันตะโป ครั้นออกมาถึงศาลารับแขก ลาพวกฝรั่งอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงกลับมาถึงโฮเต็ลเวลา ๒๓.๐๐ น.
วันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้จะกลับไปเมืองบันดุง กำหนดรถไฟด่วนที่เดินในระหว่างเมืองสุรไบยากับเมืองบันดุง จะมาถึงเมืองโสโลเวลาเช้า ๙.๔๐ น. เมื่อใกล้จะถึง ๙ น. ปะเงรันปุรโพนคโร ราชบุตร์ของสุสุหุนันที่เคยเป็นล่ามนั้น แต่งตัวเป็นนายทหารม้าอย่างฝรั่งมาหาที่โฮเต็ล ว่าเชิญกระแสรับสั่งของสุสุหุนัน เขียนลงแผ่นกระดาษมาขออนุญาตอ่านให้ฟังว่าสุสุหุนันทรงรู้สึกขอบใจจริงๆ ที่ข้าพเจ้าอุตส่าห์มาเยี่ยม และทรงยินดีที่ได้พบกับข้าพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสุสุหุนันมีความรักใคร่นับถือพระราชวงศ์สยามมาก ขออำนวยพรถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินกับทั้งพระราชวงศ์สยามรวมทั้งตัวข้าพเจ้ากับลูกทุกคน ให้มีความเจริญสุขเป็นนิตย์เทอญ กับให้ปะเงรันนำเข็มกลัดกรอบทองจำหลักกลางลงยาเป็นรูปสุสุหุนันมาให้แก่ลูกหญิงทั้ง ๓ คน ขอให้รับไว้เป็นที่ระลึกด้วย เมื่อเจ้าหญิงรับเข็มกลัดของประทานและสั่งให้ทูลขอบพระคุณสุสุหุนันแล้ว ข้าพเจ้าจึงสั่งให้ปะเงรันนำความไปทูลว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีนักที่ได้มีโอกาสมาเฝ้าสุสุหุนันอีกครั้งหนึ่ง และเห็นว่าทรงรับรองด้วยทรงพระเมตตาข้าพเจ้าเป็นอย่างพิเศษพอใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ความยินดีของข้าพเจ้าในอย่างอื่น ไม่เท่ากับที่ได้เห็นสุสุหุนันทรงเป็นสุขสบาย และมีเจ้านายรุ่นใหม่ซึ่งได้เล่าเรียนตามสมัยเป็นกำลังให้ทรงใช้สอยมากขึ้น ข้าพเจ้าขอถวายพรทั้งสุสุหุนันและราชวงศ์กรุงสุรเขตต์ ให้ทรงเจริญเป็นนิจกาลเทอญ ปะเงรันบอกต่อไปว่าสุสุหุนันตรัสสั่งให้ทหารแตรวงไปคอยบรรเลงส่งข้าพเจ้าที่สถานีรถไฟด้วย พอ ๙ น. ท่านยะโสทีปุร อธิบดีกรมวังก็เอารถยนต์มารับ ยังมีเวลาสนทนากันได้อีกบ้าง แกเอารูปของแกมาให้ข้าพเจ้ารูปหนึ่ง ฝากถวายทูลกระหม่อมชายรูปหนึ่ง พอ ๙.๓๐ น. ก็ขึ้นรถไปยังสถานีปะเงรันก็ตามไปส่งต่างพระองค์ด้วย พอถึงแตรวงก็ทำเพลงสรรเสริญพระบารมี และบรรเลงเพลงอื่นๆ ต่อไป จนรถไฟมาถึงอำลากันแล้วขึ้นรถไฟออกจากเมืองโสโล ย้อนกลับมาตามทางเดิม
เรื่องพงศาวดารของเมืองโสโลและเมืองยกยาทั้ง ๒ นี้เกี่ยวข้องกันชอบกล เดิมพวกชาวอินเดียได้มามีอำนาจปกครองเกาะชะวาหลายร้อยปี ในสมัยเมื่อสร้างพระเจดีย์บวรพุทโธและเทวสถานต่างๆ นั้น ตอนหลังตั้งราชธานีอยู่ข้างตะวันออกเรียกนามอาณาเขตต์ว่า มัตชะปะหิต ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาเขตต์มัตชะปะหิตถือพระพุทธสาสนาและสาสนาพราหมณ์สืบกันมาจนราว พ.ศ. ๒๐๐๐ ถึงตอนนี้พวกชะวาพากันไปเข้ารีตถือสาสนาอิสลามเสียโดยมาก ไม่ช้าพวกถือสาสนาอิสลามก็เนรเทศราชวงศ์เดิม แล้วมาตั้งราชธานีใหม่ที่ตอนกลางเกาะชะวา เรียกนามอาณาเขตต์ว่า “มะตารัม” ถึงสมัยนี้ฝรั่งฮอลันดาเริ่มมามีอำนาจในเกาะชะวา ต่อมาถึงราว พ.ศ. ๒๒๘๐ ปี พวกราชวงศ์มะตารัมเกิดรบพุ่งกันเองจนบ้านเมืองเป็นจลาจล ฮอลันดาจึงบังคับให้แบ่งอาณาเขตต์มะตารัมเสียเป็นสองภาค ภาคหนึ่งเรียกว่าเมืองยกยาเขตต์ อีกภาคหนึ่งเรียกว่า สุรเขตต์ (คือเมืองโสโล) ให้เจ้าที่วิวาทกันแยกกันครององค์ละอาณาเขตต์ ให้ผู้ครองอาณาเขตต์ยกยาเป็นสุลต่าน (แปลว่า ราชาธิราช ตามคติอิสลาม) ให้ผู้ครองอาณาเขตต์สุระเป็นสุสุหุนัน (แปลว่า ราชาธิราช ตามคติชะวา) แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยกันได้ ด้วยมีเจ้าพวกข้างสุรเขตต์องค์หนึ่งอยากจะมีอาณาเขตต์บ้างตั้งเป็นอิสสระ สุสุหุนันปราบไม่ลงฮอลันดาจึงแนะนำให้ตั้งเป็นอย่างเจ้าประเทศราช เรียกว่ามังกุนคโร ได้ส่วยในอาณาเขตต์ส่วนหนึ่ง และให้เชื้อวงศ์ได้เป็นตำแหน่งนั้นสืบกันไป แต่ให้ตัวอยู่ในเมืองโสโล (คล้ายกับกรมพระราชวังบวรของไทยเรา เป็นแต่ไม่มีสิทธิที่จะได้รับราชสมบัติ) ต่อมาเมื่อเมืองชะวาตกอยู่ในอำนาจอังกฤษ คราวหนึ่งเกิดเหตุเจ้านายเป็นอริกันเช่นนั้นในอาณาเขตต์ยกยา อังกฤษก็เอาแบบเช่นที่เมืองโสโลไปจัดที่เมืองยกยา ตั้งเจ้าองค์หนึ่งเป็นปักกุอะลัมเหมือนกันกับมังกุนคโรที่เมืองโสโล เมืองโสโลกับเมืองยกยาจึงเหมือนมีเจ้าปกครองเมืองละ ๒ องค์มาจนทุกวันนี้ เป็นประโยชน์แก่ฝรั่งจึงไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปชะวา เจ้านายวงศ์เมืองยกยากับเมืองโสโลดูยังรังเกียจกัน จะเป็นด้วยเหตุใดหาทราบไม่ แต่เดี๋ยวนี้ชอบพอกันสนิทสนม เพราะสุสุหุนันขอราชธิดาของสุลต่านองค์ก่อนมาเป็นระตูอยู่เดี๋ยวนี้ แต่นั้นเจ้านายทั้ง ๒ เมืองก็ขอสู่แต่งงานเกี่ยวดองกันเรื่อยมาจึงกลายเป็นสนิทสนมกัน.
ขากลับจากเมืองโสโลมาเมืองบันดุง ซ้ำทางเดิมที่เล่าแล้ว มาถึงเมืองบันดุงเวลา ๑๘ น. ทูลกระหม่อมชายเสด็จไปรับถึงสถานี พากลับไปยังตำหนัก
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้เป็นวันจะพักให้หายเหนื่อย แต่มีกิจธุระต้องไปรับรูปฉายาลักษณ์ที่ได้ถ่ายณห้างโบดมเมื่อวันที่ ๒ ต่อวันเกิดอายุครบ ๖ รอบ เพื่อจะถวายเป็นของสนองพระคุณเจ้านายที่บันดุงกับทั้งสหชาต ตอนบ่ายนึกอยากจะไปร้านขายขนม ด้วยเหลืออยู่วันนี้ที่จะไปได้ จึงไปชวนพระองค์หญิงเล็กๆ เธอกำลังนั่งอยู่ด้วยกัน พอออกปากเธอก็ทรงพระสรวลกันเกรียว เพราะเธอปรารภกันอยู่แล้วว่า “วันนี้ทีเสด็จปู่จะอยากเสวยขนม” ก็เต็มพระทัยพาไปอีกเป็นครั้งสุดท้าย.
ที่ตำหนักทูลกระหม่อมถึงอยู่นอกเมืองก็ไม่เงียบเหงา ด้วยต่อบริเวณตำหนักไปข้างเหนือเป็นที่ว่าง พวกชาวเมืองมาเล่นว่าวกันทุกวัน ถึงเวลาบ่ายตั้งแต่ ๑๕ น. ไป มีทั้งเด็กผู้ใหญ่มาประชุมกันวันละมากๆ ดูชอบเล่นว่าวเหมือนกับไทยเรา แต่ว่าวที่เล่นนั้นต่างกันตามถิ่น ในมณฑลเปรียงงาเช่นที่เมืองบันดุงนี้ เล่นว่าวอีลุ้มมีหางเป็นภู่ติดอยู่ที่กลางหลัง ทางมณฑลเบนยมาศตลอดไปจนเมืองยกยา รูปว่าวที่คล้ายกับว่าวตุ๋ยตุ่ย แต่กระบวนที่เล่นไม่เห็นคว้าไขว่อะไรกันเหมือนอย่างว่าวไทย ดูเป็นแต่ชักลอยตัวอยู่พร้อมๆ กันหลายสาย ข้อแข่งขันบางทีจะอยู่ที่ว่าวของใครลอยอยู่ได้นานกว่าเพื่อนเป็นชนะดอกกระมัง ลองแนะพวกมหาดเล็กทูลกระหม่อมให้เขาหาว่าวกุลากับอีเป้าออกไปเล่นคว้ากันให้พวกชะวาดู แต่ก็เกรงจะไม่สำเร็จ ด้วยมหาดเล็กมีอยู่น้อยตัวนัก อาศัยเหตุที่มีคนไปเล่นว่าวดังกล่าวมา พวกคนขายของก็เอาของไปขาย มีของกินตั้งแต่ไอสกรีมจนหาบขนมต่างๆ ตั้งขายข้างหน้าตำหนักทุกวัน พวกเราก็เที่ยวเดินดูหรือซื้อกินได้ตามชอบใจ.
วันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายน
แก้ไขวันนี้ตรงกับวันประสูติของทูลกระหม่อม พระชันษาได้ ๕๓ ปี เวลาเช้าพระญาติวงศ์พร้อมกันไปแสดงความยินดี ถวายพรและถวายของต่างๆ เฉลิมพระขวัญ ส่วนพระองค์เองก็ประทานฉลากแจกบรรดาผู้ที่อยู่ในพระสำนักทั่วหน้าทุกชั้นบันดาศักดิ์ ทั้งที่เป็นไทยและเป็นชะวา ในใบฉลากที่ประทานนั้นเขียนบอกแต่จำนวนเลขไว้ ส่วนสิ่งของเอาห่อเที่ยวซุกซ่อนไว้ตามพุ่มไม้ที่ในสวน ต้องไปเที่ยวค้นหาห่อของเอาเองให้ตรงกับใบฉลากที่ได้ สนุกกันในเวลาที่เที่ยวค้นนี้ ถึงเวลาเย็นมีงานอีกตอนหนึ่ง ตรัสเชิญพระญาติและฝรั่งที่ทรงชอบชิดเป็นมิตรสหายมาเลี้ยงน้ำชาและเครื่องว่างที่สนามข้างหลังตำหนัก และโปรดให้หาละคอนชะวามาเล่นในเวลาที่มีการเลี้ยงนั้นด้วย เหตุที่จะมีละคอนชะวานั้น เป็นด้วยเมื่อก่อนข้าพเจ้าจะไปเมืองยกยาและโสโล ทรงได้ยินเจ้าหญิงลูกข้าพเจ้าทั้ง ๓ คนบ่นว่าเสียดายจะไม่มีโอกาสได้ดูละคอนชะวา เพราะข้าพเจ้าจะไปอยู่เมืองโสโลแต่วันเดียว จึงทรงดำริให้หาละคอนชะวามาเล่นในงานวันประสูติ เพื่อจะให้เจ้าหญิงได้เห็นสมประสงค์ ละคอนที่มาเล่นนั้นเป็นเช่นละคอนนอกของเรา มีตัวละคอนชาย ๔ หญิง ๒ รวม ๖ คน กับพิณพาทย์วงหนึ่ง แต่เขาจัดกระบวรเล่นดี เห็นจะเคยเล่นให้ชาวต่างประเทศที่ไม่รู้ภาษาชะวาดูเนืองๆ เล่นเป็น ๓ ชุด ชุดที่หนึ่งผู้ชายแต่งเป็นกษัตริย์มนุษย์ ๒ คน ออกมารำประลองยุทธกัน ชุดที่สองผู้ชายแต่งเป็นหณุมานรบกับยักษ์ ชุดที่สามผู้หญิงแต่งเป็นนางรำเรื่องชิงดวงแก้วกัน ในโปรแกรมว่าจะเล่น ๓ ชุดเท่านั้น แต่เมื่อเห็นพวกเราชอบดู เล่นแถมให้ดูอีกชุดหนึ่ง ตัวนายโรงเอกเล่นกับจำอวด เรื่องที่เล่นนั้นเป็นทีว่าจำอวด อวดดีว่าฟ้อนรำเป็น แต่เมื่อเข้ารำประชันต้องยอมแพ้นายโรงๆ จึงรำให้ดู (ถ้าว่าอย่างของเรา) ตั้งแต่ท่าเพลงช้าไปจนเพลงเร็ว ได้ดูกระบวนรำของชะวาดีอยู่ เล่นเอาเจ้าหญิงหายบ่น แต่พิณพาทย์ชะวาฟังไม่ไพเราะเหมือนพิณพาทย์ไทย เพราะใช้เครื่องโลหะเป็นพื้น เมื่อละคอนเลิกแล้วไม่มีอะไรต่อไป เพราะพวกเราจะต้องเดินทางกลับจากบันดุงแต่พอรุ่งสว่างในวันพรุ่งนี้ พอกินอาหารค่ำแล้ว เจ้านายที่จะไม่เสด็จไปส่งถึงสนามบินก็เสด็จมาส่ง ได้ขอบพระคุณทูลอำลาและถวายพรทุกองค์.
ในวันนี้พวกเราก็วุ่นอยู่บ้าง เพราะต้องจัดของลงหีบส่งไปบรรทุกรถไฟแต่เวลาเย็น ด้วยพวกเราตกลงกันจะขึ้นอากาศยาน บินจากบันดุงมาลงที่เมืองบะเตเวีย ด้วยมารถไฟหรือรถยนต์จะกินเวลาถึง ๕ ชั่วโมง เพราะรถต้องวกเวียนไต่ข้ามเทือกเขา อากาศยานบินข้ามภูเขาตรงไปเพียง ๔๕ นาทีก็ถึง จึงมีคนชอบไปมาด้วยอากาศยาน จนถึงมีบริษัทจัดเครื่องบินรับจ้างส่งคนโดยสารไปมาในระวางเมืองบะเตเวียกับเมืองบันดุง วันละ ๓ เที่ยวทุกวัน เขาว่าเวลาเช้าลมสงบเครื่องบินไม่ใคร่โคลงเหมือนไปเวลากลางวันหรือเวลาเย็น ก็เหมาะดีแก่พวกเรา ด้วยยังอยากจะเที่ยวที่เมืองบะเตเวียอีกสักเวลาหนึ่ง แต่การที่จะมาด้วยอากาศยานอยู่ข้างพิโยคพิเกนพอใช้ เริ่มต้นแต่ไปซื้อตั๋วก็ต้องบอกชื่อและรายการอย่างอื่นละเอียดลออราวกับบัญชีสัมโนครัว เห็นจะเป็นเพราะเขาจะทำไว้ให้เป็นหลักฐาน เผื่อเครื่องบินจะไปล่มถึงล้มตายหายสูญจะได้บอกญาติพี่น้องได้ง่าย นอกจากนั้นของที่จะเอาติดตัวไปด้วยก็จำกัดน้ำหนักและขนาดหีบห่อ ทั้งห้ามขาดมิให้สูบบุหรี่หรือมีเครื่องถ่ายรูปติดมือไป ข้อหลังเป็นของรัฐบาลบังคับ ด้วยเกรงพวกจารชนจะถ่ายรูปป้อมค่ายและเครื่องป้องกันบ้านเมืองเอาไปให้ศัตรู ใครจะโดยสารอากาศยานจึงต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าเสียก่อนวันหนึ่งหรือสองวัน สำหรับพวกเราทูลกระหม่อมท่านทรงช่วยจัดการประทานเสร็จ.
วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน
แก้ไขตื่นแต่ก่อนสว่างทั้งพวกเราและพวกที่อยู่ในบริเวณพระตำหนักตลอดจนมหาดเล็กข้าหลวงที่จะส่ง พวกเราตื่นแล้วจะแต่งตัวไม่ยากอันใด ด้วยมีเหลืออยู่แต่เครื่องแต่งนอนกับที่แต่งเมื่อเย็นวานนี้ นอกจากนั้นส่งไปขึ้นรถไฟเสียหมดแล้ว แต่งตัวและกินทั่วกันแล้ว พอ ๖ น. ก็ขึ้นรถกับทูลกระหม่อมและเจ้านายที่จะไปส่งถึงสนามบินอีกหลายพระองค์ ตรงไปยังสถานีการบินฝ่ายพลเรือน เขาตรวจตั๋วและชั่งหีบของที่ติดตัวมาแล้ว ก็ออกมาคอยอยู่ที่สนามบินมีเครื่องบินเตรียมอยู่เครื่องหนึ่ง เป็นเครื่องบินฮอลันดาอย่าง “ฟกเกอ” ปีกชั้นเดียว มีใบพัดกับมอเตอร์หมุน ๓ ใบ พอเวลา ๖.๓๐ น. นักบินที่เป็นสารถี ๒ คนมาขึ้นแล้วเขาบอกให้พวกคนโดยสารขึ้น จึงขอบพระคุณทูลลาทูลกระหม่อมกับเจ้านายและผู้อื่นที่อุตส่าห์มาส่ง มาขึ้นอากาศยานบินขึ้นจากสนามเมืองบันดุงตรงมาเมืองบะเตเวีย พวกเรานอกจากนายชิตคนรับใช้ เคยขึ้นเครื่องบินแต่ก่อนแล้วทุกคน ขึ้นครั้งนี้จึงไม่รู้สึกหวาดหวั่นครั่นคร้ามอย่างไร เครื่องบินในสมัยนี้ก็ทำดีกว่าแต่ก่อนมาก ตอนต่อเครื่องจักรกลข้างหน้ากั้นเป็นห้องหนึ่งต่างหาก สำหรับสารถีนั่งเคียงกัน ๒ คน ต่อห้องนั้นมาถึงห้องคนโดยสารตั้งเก้าอี้ ๒ ข้างเรียงกันข้างละ ๕ ตัว ต่อไปข้างท้ายมีห้องลับสำหรับคนโดยสาร แล้วถึงห้องไว้ของเป็นที่สุด ทำฝากระจกปิดรอบ มีประตูและบันไดพับสำหรับขึ้นลง นั่งอยู่ในนั้นอุ่นเหมือนอยู่ในเรือน แม้จนสารถีและคนโดยสารไม่ต้องแต่งตัวใส่เสื้อหมวกและแว่นตาสำหรับกันลมเหมือนเครื่องเปิดซึ่งเคยขึ้นมาแต่ก่อน คนมาในเครื่องบินด้วยกันวันนี้รวม ๘ คนทั้งสารถี เจ้าหญิงเคยแพ้คลื่นทะเลง่ายทั้ง ๓ คน แต่เมื่อขึ้นเครื่องบินกันครั้งแรกที่ดอนเมืองเห็นแน่วแน่ดี ก็เชื่อว่าจะไม่เมาคลื่นอากาศ ครั้นเมื่อวันไปกินเลี้ยงที่เคาวเนอเยเนอราล ไปได้ยินนางพระกำนัลของสมเด็จพระราชินีพันปีหลวงกรุงนิเทอแลนด์ ซึ่งเคยรู้จักกันมาแต่เมื่อไปยุโรปเขาเล่าให้ฟัง ว่าน้องสาวของเขาคนหนึ่ง มาเรือจากยุโรป อยากจะถึงชะวาให้เร็ว พอถึงเกาะสุมาตราก็ขึ้นอากาศยานบินไปแต่เมืองเมดาน พอบินไปได้หน่อยหนึ่งก็เกิดเมาคลื่นอากาศถึงนั่งไม่อยู่ ต้องลงนอนแซ่วอยู่กับพื้นจนถึงเมืองปะเลมบัง พอเครื่องบินลงรับน้ำมันก็เลยหนีเครื่องบินไปโดยสารเรือเลยไปถึงชะวาช้าไป ตั้งแต่เจ้าหญิงได้ฟังเล่าก็เริ่มครั่นคร้าม แต่ข้าพเจ้าบอกว่าบินเพียง ๔๕ นาทีจะเมาไปได้ถึงไหน ก็ไม่ได้แย้งต่อมา เมื่อบินมาวันนี้นานๆ เครื่องบินโคลงบ้างอย่างช้าๆ ก็จับไม่สะบาย แต่ยังเฉยอยู่ จนไปแลเห็นกะทงกระดาษ เขาทำพับเหน็บฝาไว้ข้างที่นั่งคนโดยสารสำหรับพวกเมาคลื่น ก็ใจเสีย แต่ก็พอถึงสถานีไม่เมารุนแรงเท่าใดนัก ทางที่บินมาในวันนี้ภูมิแผนที่น่าดูยิ่งนัก เมื่อขาไปๆ รถแลเห็นเทือกภูเขาสูงขวางหน้า รถต้องลดเลี้ยวไต่ตามไหล่เขาวกวนขึ้นไป เมื่อบินมาขากลับ เห็นยอดเทือกเขาเหล่านั้นอยู่ตรงใต้ที่นั่ง พื้นที่ต่ำหมอกลงเวลาเช้าดูเหมือนกับเป็นทะเลสาป ครั้นพ้นหมอกและเห็นทางรถไฟและถนน กับทั้งบ้านเรือนเรือกสวนตลอดทาง แต่เห็นคนไม่ได้ถนัดเพราะบินสูง สารถีก็ขับดีด้วยชำนิชำนาญ เรานั่งอยู่ห้องข้างหลัง แลดูทางฝากระจกเห็นเขายิ้มหัวกัน ๒ คนก็อุ่นใจด้วยรู้ว่าปลอดภัย แรกออกจากบันดุงเขาขับเร็ว แต่พอข้ามเทือกเขาแล้วแลเห็นเมืองบะเตเวียก็รอช้าลง ให้ถึงสถานีพอตรงเวลานาทีที่กำหนด เสียแต่สถานีการบินอยู่ห่างเมืองนัก ต้องมารถยนต์อีกสัก ๓๐ นาทีจึงถึงเมืองบะเตเวีย เมื่อพวกเรามาถึง ผู้จัดการห้างอิสตเอเซียติคพารถยนต์ไปคอยอยู่ที่สถานีรับไปพักที่โฮเต็ลเดสอินดีสที่เคยอยู่ พอรถไฟถึงก็ได้ของมาพรักพร้อมในตอนเช้านี้ให้ลูกหญิงไปเที่ยวตามชอบใจ ส่วนตัวข้าพเจ้าไปดูพิพิธภัณฑสถานอีกครั้งหนึ่ง แล้วไปร้านขายหนังสืออีกแห่งหนึ่งกลับไปกินกลางวันที่โฮเต็ล พอบ่าย ๑๕ น. ก็ขึ้นรถออกจากเมืองบะเตเวียมาลงเรือแปลนเชียส ณ ท่า ตันหยองเปรียก ที่เคยขึ้น กัปตันเขาจัดให้พวกเราอยู่ห้องเดิมเพราะสะบายกว่าที่อื่น เที่ยวนี้มีคนโดยสารมากกว่าเมื่อขาไป และประจวบกงสุลเยเนอราลอเมริกันซึ่งจะย้ายจากเมืองบะเตเวีย ไปอยู่เมืองอัมสเตอร์ดัมในประเทศฮอแลนด์ โดยสารไปในเรือนี้ด้วย มีคนมาส่งมาก ส่วนพวกเราผู้รู้จักก็พากันมาส่ง กงสุลเยเนอราลอเมริกันให้ผู้ช่วยคนหนึ่ง ซึ่งเคยอยู่ที่สถานทูตในกรุงเทพฯ มาบอกว่าแกก็อยากพบข้าพเจ้า แต่กำลังคนส่งมากนัก ขอรอต่อเรือออกแล้วจึงจะมาเฝ้า พอเวลาบ่าย ๑๗ น. เรือแปลนเชียสก็ออกจากท่า เวลานี้มีเรือรบอย่างครูเซอร์ของยี่ปุ่นที่ฝึกหัดนักเรียนนายเรือ ๒ ลำ กับเรือเมล์เมืองฮอแลนด์ลำหนึ่ง ทอดสมออยู่ในอ่าวตันหยองเปรียก เมื่อออกทะเลก็เรียบราบดีตลอดคืน.
วันอาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม
แก้ไขเรือแล่นพ้นทะเลชะวามาเข้าช่องเกาะบังกา กงสุลเยเนอราลอเมริกันชื่อ แปตตอน มาหา ได้สนทนากันสักชั่วโมงหนึ่ง ตอนบ่ายเรือหยุดรับส่งคนโดยสารที่เมืองมุนต๊อกตามเคย เวลาค่ำเข้าช่องเกาะเรียว ต้องแล่นรอมาตลอดคืน เพราะจะให้ถึงเมืองสิงคโปร์ต่อเวลาเช้า.
วันจันทร์ที่ ๒ กรกฎาคม
แก้ไขพอรุ่งสว่างเรือแปลนเชียสถึงเมืองสิงคโปร์ เข้าจอดเทียบท่าที่ตันหยองปากา ใกล้กับเรือกำปั่นยนต์ “บอริงเคีย” ของห้างอิสต์เอเซียติค ที่พวกเราจะโดยสารไปเมืองปีนัง ผู้จัดการของห้างลงมารับ บอกว่าเรือบอริงเคียจะออกต่อเวลารุ่งสว่างพรุ่งนี้ พวกเรามีเวลาที่เมืองสิงคโปร์ตลอดวัน จึงสั่งให้ขนของถ่ายลำไปไว้เรือบอริงเคีย แล้วพากันมาอาศัยพักที่โฮเต็ลแรฟเฟล เวลาค่ำจึงจะไปนอนในเรือบอริงเคีย กินอาหารเช้าที่โฮเต็ลแล้วขึ้นรถไปยังตำหนักกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ที่ถนนคิลสเตด หมายจะไปเฝ้าเยี่ยม แต่กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เสด็จเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อสักสองสามวันมาแล้ว ได้พบแต่พระองค์หญิงประภาวสิต ก็รื่นรมย์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะไม่ได้เห็นมากว่าปีแล้ว เมื่อกลับมาโฮเต็ลถึงเวลากินกลางวัน พระองค์หญิงเธอทำขนมจีนน้ำพริกมาเลี้ยงกันอร่อยพิลึก ตอนบ่ายว่างอยู่ เจ้าหญิง ๓ คนอยากเห็นเมืองยะโฮร์ด้วยยังไม่เคยเห็น จึงขึ้นรถออกจากโฮเต็ลเมื่อเวลา ๑๖ น. ไปเที่ยวดูเมืองยะโฮร์ แล้วกลับมาก็ตรงไปลงเรือบอริงเคีย ตอนค่ำพระองค์หญิงประภาวสิตกับพระธิดากรมพระกำแพงเพ็ชร ๓ องค์ ซึ่งคลาดกันเมื่อตอนเช้าเพราะเธอไปโรงเรียนตามมาส่ง พูดจาเล่นหัวกันอยู่จนถึงเวลาเขาตีฆ้องเรียกกินอาหารเย็น เธอจึงลากลับไป.
วันอังคารที่ ๓ กรกฎาคม
แก้ไขเวลาเช้า ๖ น. เรือบอริงเคียออกจากท่าเมืองสิงคโปร์ เมื่อข้าพเจ้าไปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ขากลับมาเรือลำนี้ คุ้นกับห้องที่อยู่ ทั้งคนที่เคยใช้ครั้งนั้นก็ยังอยู่หลายคน เที่ยวนี้มีคนโดยสารถึง ๔๓ คนครบห้องที่อยู่ แต่ส่วนพวกเราเจ้าของเรือเขามีแก่ใจสงวนห้องชั้นบนไว้ให้อยู่เหมือนเมื่อครั้งก่อน สบายดี เรือบอริงเคียแล่นเร็วนัยว่าครั้งหนึ่งเคยแข่งชนะเรือเมล์ปีแอนด์โอของบริษัทอังกฤษจนเลื่องลือ เมื่อเที่ยวข้าพเจ้ากลับจากยุโรปมาประสพกับเรือเมล์ใหญ่ของบริษัทปีแอนด์โอ ชื่อว่า “ไวสรอย ออฟ อินเดีย” ที่เมืองปอตเสดปากคลองสุเอส เรือบอริงเคียผ่านคลองมาก่อน พอออกจากปากคลองก็พยายามจะแล่นหนีมิให้เรือปีแอนด์โอตามทัน ฝ่ายเรือปีแอนด์โอก็เห็นจะกลัวเสียชื่อ พยายามแล่นไล่ เมื่อมาเห็นลำกันในทะเลแดงแล่นแข่งกันอยู่คืนหนึ่ง เรือปีแอนด์โอจึงเอาชัยชนะได้ มาเที่ยวนี้ พอเวลาบ่ายถึงเมืองมะละกา หยุดรับสินค้าอยู่จน ๑๘ น. จึงได้แล่นต่อมา แต่พวกเราไม่ได้ขึ้นบกเพราะเรือทอดสมออยู่ห่างฝั่งมาก อีกประการหนึ่งเมืองมะละกานี้ ข้าพเจ้าได้เคยไปแล้วถึง ๒ ครั้ง แม้เป็นเวลาช้านานมาแล้ว ส่องกล้องดูคราวนี้ ก็ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอย่างไร จึงไม่อยากขึ้นดูอีก เรือแล่นมาถึงปากน้ำกลังเมืองสลางอแต่ดึก ต้องทอดสมอรออยู่ที่ปากอ่าว.
วันพุธที่ ๔ กรกฎาคม
แก้ไขพอรุ่งสว่างเรือบอริงเคียแล่นเข้าปากน้ำกลัง น้ำลึกเรือกำปั่นขนาดใหญ่ขึ้นไปได้หลายเลี้ยวจนถึงตำบล “ปอตสเวตเตนแฮม” อันเป็นท่าของกรมรถไฟสหรัฐมลายู ตั้งขึ้นสำหรับรับส่งสินค้ากับสหรัฐ เขาว่าท่าปอตสเวตเตนแฮมเจริญเร็วมาก และนานไปอาจจะถึงเป็นท่าประชันกับเกาะปีนัง เพราะไม่ต้องลำเลียงสินค้าข้ามไปที่เกาะก่อน ทางฝ่ายปีนังก็ได้ยินว่ากำลังคิดจะทำท่าเทียบเรือกำปั่นทางข้างฝั่งแหลมมลายู ให้รับส่งสินค้าได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เวลาเมื่อเราไปถึงท่าปอตสเวตเตนแฮม เห็นเรือกำปั่นใหญ่ไปทอดอยู่ ๓ ลำ และมีเรือกำปั่นขนาดย่อมลงมาอีกหลายลำ ได้ทราบว่ามีถนนรถยนต์แต่ปอตสเวตแฮมไปถึงเมืองกวาลาลุมปูร์เมืองหลวงของสหรัฐ ระยะทางรถแล่นเพียงสักชั่วโมงหนึ่ง และเรือบอริงเคียก็จะออกต่อบ่าย ๑๔ น. มีเวลาเพียงพอ จึงขอให้เอเยนต์ของบริษัทช่วยว่าเช่ารถยนต์พากันไปดูเมืองกวาลาลุมปูร์ ทางที่ไปนั้นเป็นสวนยางแทบตลอดทาง ออกจากท่าไปหน่อยหนึ่งผ่านเมืองกลังอันเป็นเมืองหลวงของอาณาเขตต์สลางอ พ้นนั้นไปทางข้ามเทือกเขาเตี้ยๆ ไปหลายเทือกถึงเวิ้งที่ตั้งเมือง กวาลาลุมปูร์เป็นที่มีแร่ดีบุกมาก ทำเหมืองกันมาช้านาน เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสแหลมมลายู พ.ศ. ๒๔๓๔ ก็ได้เสด็จมาที่เมืองกลัง แล้วทรงรถไฟไปถึงเมืองกวาลาลุมปูร์ แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นเมืองใหญ่โตเหมือนเดี๋ยวนี้ เหตุที่จะสร้างเมืองกวาลาลุมปูร์เป็นเพราะอังกฤษคิดรวมเมืองประเทศราชมลายู ๔ เมือง คือเมืองแปะระ เมืองสลางอ เมืองเนครีเสมบิลัน และเมืองปะหัง เข้าเป็นสหรัฐ เพื่อให้เฉลี่ยทุนช่วยทำนุบำรุงกันและกัน คือเฉลี่ยทุนจากเมืองที่มีมากไปช่วยเมืองที่ขัดสน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ประสงค์จะรวมแผ่นดินมลายูเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอีกต่างหาก จึงสร้างเมืองกวาลาลุมปูร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงของสหรัฐนั้น ด้วยอยู่กลางและเป็นที่มีผลประโยชน์มาก เมื่อเวลาสร้าง รัฐบาลกำลังรวยด้วยรายได้จากรถไฟ ทำสถานต่างๆ ของกรมรถไฟใหญ่โต หรูหรายิ่งกว่าสถานการอื่นๆ ราวกับว่าเป็นเมืองของกรมรถไฟ แต่เวลานี้กำลังร่วงโรย ด้วยระเบียบการที่จะจัดสหรัฐนั้น นานมาพวกเมืองมลายูไม่พอใจ ร้องว่ารัฐบาลสหรัฐ (หมายความว่าอังกฤษ) เอาอำนาจการภายในเมืองไปไว้ในมือเสียมากนัก รัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนกำลังพิจารณาอยู่ ยังจะต้องแก้ไขต่อไป ส่วนความเสื่อมทรามของกรมรถไฟนั้น เป็นเหตุชอบกล ทางรถไฟของสหรัฐที่ทำตั้งแต่เมืองสิงคโปร์ขึ้นไปจนต่อแดนสยาม ทำแซงไปกับถนนเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วตลอดทาง เซอรแฟรงก์สเวตเตนฮัม เจ้าเมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้คิดตั้งสหรัฐและสร้างเมืองกวาลาลุมปูร์ เคยบอกอธิบายแก่ข้าพเจ้า เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกลับจากชะวาคราว พ.ศ. ๒๔๔๔ ว่ารถไฟกับถนนไม่เป็นของที่แย่งประโยชน์กัน เพราะความมุ่งหมายของการสร้างทางรถไฟประสงค์จะพาผู้คนหรือสิ่งของไปทางไกลให้ถึงได้รวดเร็ว ย่อมทำไปตามทางที่ตรงเป็นประมาณ ส่วนถนนนั้นเป็นประโยชน์อยู่ในการบำรุงพื้นที่เป็นสำคัญ ข้อนี้พึงเห็นได้ที่ทำรถไฟไปทางใดมิได้ทำที่ดินให้ราคาสูงขึ้น เว้นแต่ใกล้ที่ตั้งสถานี ส่วนถนนนั้นทำไปถึงไหนที่ดินก็ขึ้นราคา เพราะฉะนั้นถ้าจะทำถนนนอกเมือง ควรตรวจพื้นที่ทำผ่านไปแต่ในที่แผ่นดินดีสำหรับเกิดสินค้า ไม่ควรจะหมายให้ตรงหรือใกล้เป็นประมาณ ถ้าใกล้กับทางรถไฟก็เป็นแต่ตัดถนนให้วกเข้าไปตรงสถานีสำหรับรับส่งสินค้า แล้วจะออกห่างทางรถไฟอีกเท่าใดก็ได้ ตามที่เซอรแฟรงก์สเวตเตนฮัมว่าก็ถูกต้อง แต่ในเวลาที่ว่านั้นยังไม่มีรถยนต์ ครั้นมีรถยนต์เกิดขึ้น รถยนต์เข้าประชันได้เปรียบรถไฟหลายสถาน เป็นต้นแต่เที่ยวรับส่งคนและสินค้าถึงบ้านเรือน ไม่ให้ต้องไปสถานี และจะออกจะหยุดเมื่อใดก็ได้ไม่ต้องคอย แล้วเรียกค่าบรรทุกต่ำกว่ารถไฟด้วย คนก็หันไปใช้รถยนต์เสียมาก ทั้งมาประจวบเวลาเศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้ของกรมรถไฟสหรัฐตกต่ำ ขาดทุนตั้งล้านเหรียญมาหลายปี จำต้องตัดรายจ่ายลดลง จนต้องให้เจ๊กผูกขาดโฮเต็ลที่ก่อสร้างอย่างหรูหรา ดูน่าทุเรศ ขับรถเที่ยวดูเมืองกวาลาลุมปูร์แล้วก็กลับมา ขากลับคนขับรถพาแยกทางไปผ่านข้างวังสุลต่านเมืองสลางอ ซึ่งสร้างใหม่บนเนินเขา วังทำตามแบบอินเดียสมัยมะหง่น เช่นเดียวกับสถานีและที่ทำการกรมรถไฟที่เมืองกวาลาลุมปูร์ ดูแล้วรีบกลับมาลงเรือบอริงเคียพอเที่ยงวันทันเวลากินกลางวัน พอบ่าย ๑๔ น. เรือออกจากปอตสเวตเตนแฮมมาออกทะเล แล่นรอมาตลอดคืน.
วันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม
แก้ไขเวลาเช้า พอ ๗ น. ก็ถึงเมืองปีนัง รวมเวลาตั้งแต่ไปจนกลับ ๔ สัปดาหะพอดี สิ้นรายการไปเที่ยวชะวาครั้งที่ ๓ เพียงเท่านี้ แต่ยังมีเรื่องเมืองชะวาที่ได้ยินเมื่อภายหลัง เห็นว่าควรจะเล่าด้วย จึงแต่งเรื่องแถมท้ายต่อไปนี้.
เล่าพงศาวดารเมืองชะวาแถมท้าย
แก้ไขหลายปีมาแล้ว เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ศาสตราจารย์คัลเลนเฟล นักปราชญ์ฮอลันดาผู้ชำนาญโบราณคดีและเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ อันมีตำแหน่งเป็นผู้ตรวจรักษาโบราณวัตถุสถานในเมืองชะวา เข้าไปกรุงเทพฯ ได้วิสาสะกับข้าพเจ้าและสัญญาไว้ว่าถ้าข้าพเจ้าไปชะวาเมื่อใดจะรับพาเที่ยวดูของโบราณ แต่เมื่อข้าพเจ้าไปคราวนี้ เผอิญรัฐบาลอังกฤษเชิญให้ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลมาอำนวยการขุดขุมทรัพย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ณ ตำบลคัวปักกาที่แหลมมลายูในแขวงเมืองปีนัง แกไม่รู้ว่าข้าพเจ้าจะไปชะวา จึงออกมาเสียก่อน ก็เป็นอันคลาดกันไป ต่อเมือข้าพเจ้ากลับมาจึงได้มาพบศาสตราจารย์คัลเลนเฟลที่เมืองปีนัง แกเล่าว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลปัจจุบันเสด็จประพาสเกาะชะวา รัฐบาลเขาให้แกเป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตร์ของโบราณที่ต่างๆ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองดาหา (ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า เมืองกะดีรี) โปรดทรงซักไซ้ถึงเรื่องอิเหนา แกได้นำเสด็จไปทอดพระเนตร์จนถึงถ้ำที่ว่าอิเหนาพานางบุษบาไปซ่อนไว้ ข้าพเจ้าอยากฟังตามเสด็จบ้าง จึงซักแกถึงเรื่องอิเหนา แกบอกว่า เรื่องอิเหนานั้นมีเป็น ๒ ประเภท เป็นนิทานที่ชาวเมืองเล่าประเภทหนึ่ง เป็นพงศาวดารที่ค้นพบหลักฐานประเภทหนึ่ง นิทานเรื่องอิเหนาของชาวเมืองนั้นเล่ากันเป็นหลายอย่าง จะเล่าให้ฟังพอเป็นอุทาหรณ์อย่างหนึ่ง (ข้าพเจ้าจดตามที่จำได้) ว่าเจ้าแผ่นดินชะวาองค์หนึ่งมีแต่ราชธิดาองค์เดียวด้วยนางประไหมสุหรีอรรคมเหษี แต่มีราชบุตร์ด้วยนางมเหษีชั้นรองลงมา ๔ องค์ ราชธิดาอยู่ในที่จะเป็นรัชชทายาทตามประเพณีชะวาในสมัยนั้น แต่นางมีอุปนิสสัยมักน้อยไม่ปรารถนาจะครอบบ้านครองเมือง ทูลขออนุญาตบวชเป็นแอหนัง (รูปชี) ไปอยู่เสียยังที่สงัด เจ้าแผ่นดินปรารภถึงการปกครองบ้านเมืองในภายหน้า เห็นว่าถ้ามอบเวนราชสมบัติแก่ราชบุตร์องค์หนึ่งองค์ใด อีก ๓ องค์ก็คงเป็นศัตรูกัน จึงตรัสสั่งไว้ให้แบ่งราชอาณาเขตต์ออกเป็น ๔ เมือง คือเมืองกุเรปัน เมืองดาหา เมืองสิงหัดสาหรี และเมืองกาหลัง (แต่เมืองกาหลังนั้นเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น) ให้ราชบุตร์ครองเป็นอิสสระแก่กันองค์ละเมือง เมื่อเจ้าแผ่นดินราชบิดาล่วงไปแล้ว ท้าวกุเรปันมีราชบุตร์ด้วยนางประไหมสุหรีองค์หนึ่ง ชื่อว่า “ปันหยี อิเหนา กะรัตปาตี” พวกชะวาชอบเรียกกันแต่ว่า “ปันหยี” อธิบายศัพท์อิเหนาว่าเป็นชื่อเมืองในอาณาเขตต์กุเรปันเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองส่วยของรัชชทายาท เพราะฉะนั้นจึงเรียกรัชชทายาทว่าอิเหนา (เจ้าเมือง) เช่นเดียวกับอังกฤษเรียกเจ้ารัชชทายาทว่า ปรินซ์ ออฟ เวลส์ คำว่า ปันหยี นั้น ตามศัพท์แปลว่า ธง ความหมายว่ามียศเป็นนายพลชั้นสูง ซึ่งคุมกองทัพใหญ่อันมีธงนำทัพ คำว่า กะรัตปาตี เป็นชื่อตัว ฝ่ายท้าวดาหามีราชธิดาเกิดด้วยนางประไหมสุหรีองค์หนึ่ง ชื่อว่า “สกาตชี วัชชัย” เป็นชื่อดอกไม้ชะนิดหนึ่ง ไทยเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า บุษบา ก็ตรงกัน อิเหนากับนางบุษบามิได้ตุนาหงันกันมาแต่ก่อน เมื่ออิเหนาเป็นหนุ่มขึ้นไปผูกสมัครรักใคร่กับลูกสาวของอรรคมหาเสนาบดี ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงยอมให้อยู่กินด้วยกัน ครั้นต่อมาในกาลครั้งหนึ่งมีการประชุมราชวงศ์ นางแอหนังก็มาประชุมด้วย นางแอหนังปรารภถึงการที่พระราชบิดาแบ่งราชอาณาเขตต์ออกไปเป็นประเทศน้อยๆ หลายบ้านหลายเมือง เป็นเหตุให้หย่อนกำลังลง เห็นว่าท้าวกุเรปันมีราชบุตร์เป็นรัชชทายาท ท้าวดาหามีราชธิดาเป็นรัชชทายาท ควรจะให้อภิเศกเป็นคู่ครองกัน บ้านเมืองจะได้กลับรวมเป็นอาณาเขตต์ใหญ่โตตามเดิม พวกราชวงศ์ก็เห็นชอบด้วย แต่อิเหนากำลังหลงรักเมียเดิม (ซึ่งไทยเราเรียกตามเรื่องอิเหนาใหญ่ว่า นางบุษบาชาวไร่) ไม่ยอมอภิเศกกับนางบุษบาเมืองดาหา พวกราชวงศ์ในเมืองกุเรปันจึงคบคิดกันสั่งระเด่นคนหนึ่ง ให้ลอบไปฆ่านางบุษบาชาวไร่เสียให้สิ้นเหตุที่อิเหนาขัดขืน วันหนึ่งอิเหนาไม่อยู่ ระเด่นคนนั้นจะไปฆ่านาง แต่เมื่อไปถึงเกิดสงสาร จึงเล่าความตามเรื่องให้นางฟัง นางบอกว่ารักอิเหนายิ่งกว่าชีวิต ถ้าตัวเป็นคนกีดขวางบารมีของอิเหนาแล้วตายเสียดีกว่า แล้วขอเอากฤชไปแทงตัวตายเสียเอง อิเหนากลับมาได้ทราบเหตุที่เมียตายก็คลั่ง หนีออกจากเมืองกุเรปันปลอมตัวเที่ยว (มะงุมมะงาหรา) ไปตามประเทศต่างๆ ออกอุทานวาจาว่าต่อหาสตรีได้ดีถึงเมียที่ตายเมื่อใดจึงจะเลี้ยงดูเป็นคู่ครองกับนางนั้น ครั้นไปถึงเกาะบาหลีประจวบเวลากำลังมีการสยุมพรเลือกคู่ของราชธิดาเจ้าเมืองบาหลี พญาร้อยเอ็ดเจ็ดนครไปพร้อมกันอยู่แล้ว ยังแต่จะประลองฤทธิ์แข่งขันกัน อิเหนาได้เห็นนางราชธิดานั้นรูปโฉมน่ารัก จึงเข้าแข่งขันในการสยุมพรก็ชนะพญาร้อยเอ็ดทั้งหมด ได้อภิเศกกับราชธิดาเจ้าเมืองบาหลี แต่เมื่ออยู่ด้วยกันไปอิเหนารู้สึกว่าไม่ดีเหมือนเมียเดิมก็หาเหตุลาไปจากเมืองบาหลี เพื่อจะเที่ยวเสาะหาสตรีให้ดีถึงใจ ก็ในสมัยนั้นผู้หญิงมักชอบดูหนัง อิเหนาจึงแปลงตัวเป็นดาหลัง (คนพากย์หนัง) เที่ยวเล่นหนังให้คนดูตามเมืองที่ผ่านไป หวังจะดูตัวนางงามให้สะดวก.
ตรงนี้ข้าพเจ้าจะแทรกอธิบายกระบวนเล่นหนังชะวาลงสักหน่อย หนังชะวานั้นจอเล็ก (เขื่องกว่าจอหนังตลุงไม่มากนัก) และตั้งขอบจอจดกับพื้น ดาหลังคนพากย์ก็นั่งกับพื้นอยู่ข้างจอ จัดตัวหนังตามเรื่องที่จะเล่นปักเตรียมไว้ทั้ง ๒ ข้าง และมีพิณพาทย์อยู่ข้างหลังจอวง ๑ วิธีเล่นหนังชะวาคล้ายกับเสภายิ่งกว่าหนังอย่างที่ไทยเราเล่น คือเขาถือว่าฟังคำพากย์สำคัญกว่าดูตัวหนัง ดาหลังต้องแต่งคำพากย์เป็นกาพย์กลอน และพากย์ด้วยทำนองอย่างไพเราะให้จับใจคนดู ส่วนตัวหนังนั้นเมื่อพากย์เรื่องถึงตรงไหน ก็เป็นแต่เอาตัวหนังตรงนั้นปักที่หน้าจอ เหมือนอย่างให้ดูรูปภาพในสมุดหนังสืออ่าน พิณพาทย์ก็สำหรับแต่บันเลงพอให้คนพากย์มีเวลาได้หยุดพักบ้างอย่างเดียวกับเสภา เพราะฉะนั้นการเล่นหนังชะวาต้องเลือกหาคนพากย์เป็นสำคัญ ส่วนตัวหนังและพิณพาทย์เป็นแต่เครื่องประกอบ เดี๋ยวนี้หนังชะวาก็ยังเล่นอยู่อย่างนั้น ปลาดอยู่ที่หนังไทยแต่โบราณก็เล่นอย่างเดียวกันกับหนังชะวา ข้อนี้มีหลักฐานเห็นได้ในหนังสือสมุทโฆษคำฉันท์ ซึ่งพระ (โหรา) มหาราชครูแต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ข้างต้นหนังสือนั้นบอกไว้ชัดว่าแต่งสำหรับใช้เป็นคำพากย์เล่นหนัง ส่อให้เห็นต่อไปว่าคำฉันท์ที่แต่งแต่โบราณจะแต่งสำหรับเล่นหนังทั้งนั้น ที่หนังไทยมาเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์และมาเปลี่ยนเป็นจอใหญ่ ตัวหนังใหญ่เชิดอวดตัวหนังเป็นสำคัญ เห็นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนหนังตลุงนั้นมีบางคนเข้าใจกันว่ามีแต่โบราณ แต่ที่จริงเป็นของใหม่ พึ่งเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยพวกชาวบ้านควน (มะ) พร้าวแขวงจังหวัดพัทลุงเอาอย่างหนังแขก (ชะวา) มาริทำขึ้น เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม ออกไปเห็นเป็นของแปลกจึงพาเข้าไปกรุงเทพฯ ได้ไปเล่นถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเยตร์ที่พระราชวังบางปอิน ในงานฉลองพระที่นั่งวโรภาสพิมานเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าได้เคยเห็นยังจำได้
จะกล่าวถึงนิทานเรื่องอิเหนาต่อไป อิเหนาปลอมตัวเที่ยวเล่นหนังไปจนถึงเมืองดาหา ชาวเมืองเลื่องลือว่าดาหลังที่มาใหม่พากย์หนังดียิ่งนัก กิตติศัพท์ทราบถึงนางบุษบาก็ไปดู (แต่ในเรื่องอิเหนาใหญ่ว่าท้าวดาหาให้หาหนังเข้าไปเล่นที่ในวัง) เป็นเหตุให้อิเหนาได้เห็นตัวนางบุษบา ก็เกิดรักใคร่ แต่รู้ว่าขอสู่ก็คงไม่ได้ เพราะได้บอกปัดไม่ยอมอภิเศกกับนางบุษบามาแต่ก่อน ทำให้ท้าวดาหาขัดเคืองเสียแล้ว จึงพยายามสื่อสารถึงนางบุษบา ฝ่ายนางบุษบาได้เห็นตัวอิเหนาเมื่อพากย์หนังแล้ว ครั้นรู้ว่าเป็นอิเหนากุเรปันก็สมัครรักใคร่ จึงพากันหนีไป ในที่สุดเมื่อตามไปพบและรู้เรื่องที่เป็นมา ท้าวดาหาก็ยอมอภิเศกให้อยู่เป็นคู่กันและให้ครอบครองบ้านเมืองสืบราชวงศ์ต่อมา.
เดิมพวกนักปราชญ์ฮอลันดาเห็นว่าเรื่องอิเหนาเล่ากันหลายอย่างนัก ลงเนื้อเห็นว่าเป็นนิทานจะเชื่อฟังเป็นพงศาวดารชะวาไม่ได้ ครั้นเมื่อสัก ๒๐ ปีมาแล้ว รัฐบาลฮอลันดาตั้งสภาตรวจค้นโบราณคดีขึ้นในชะวา พวกนักปราชญ์พบศิลาจารึกโบราณ อ่านได้ความว่าเรื่องอิเหนามีเค้าเงื่อนเป็นพงศาวดารอยู่บ้าง จึงค้นหาหลักฐานอย่างอื่นทั้งในชะวาและประเทศอื่นประกอบกับพิจารณาโบราณวัตถุสถานที่ปรากฎอยู่ ได้เรื่องราวพงศาวดารชะวาเมื่อก่อนฮอลันดามาครอบครองมากขึ้นโดยลำดับ กำหนดเรื่องเป็น ๔ สมัย คือสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหนึ่ง สมัยชาวอินเดียมาครอบครองสมัยหนึ่ง สมัยอาณาเขตต์มัตชะปะหิตสมัยหนึ่ง สมัยอาณาเขตต์มะตารัมสมัยหนึ่ง
(๑) สมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น กำลังตรวจตราอยู่ยังไม่ลงเนื้อเห็นเป็นยุตติ ได้เค้าแต่ว่ามนุษย์พวกชะวาเดิมจะตั้งภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนอันเรียกว่าประเทศจีนฝ่ายใต้ในปัจจุบันนี้ (คืออยู่ในแดนดินทางข้างฝ่ายตะวันตกของพวกไทย) แล้วมีเหตุต้องทิ้งถิ่นเดิมมาก่อนพวกไทยช้านาน ค่อยย้ายถิ่นฐานเลื่อนมาข้างใต้โดยลำดับนับเวลาหลายพันปี จึงมีอยู่ในเกาะชะวามาตั้งแต่เมื่อไรยังไม่รู้
(๒) สมัยชาติอินเดียครอบครองนั้น มีโบราณวัตถุปรากฎอยู่เป็นหลักฐาน รู้ได้แน่ว่าชาวอินเดียได้ใช้เรือไปมาค้าขายถึงแดนชะวาตลอดไปจนเมืองจีนตั้งแต่ราว พ.ศ. ๕๐๐ หรือก่อนนั้นแล้ว และชาวอินเดียที่มานั้นเป็นชาวเมืองข้างฝ่ายใต้ (แถวมณฑลมัทธราฐบัดนี้) ข้อนี้รู้ได้ด้วยรูปตัวอักษรซึ่งใช้จารึกในชะวาแต่โบราณ (ตลอดจนตัวอักษรในประเทศสยามกัมพูชา) เอารูปตัวอักษรปาลวะ (ไทยเราเรียกว่าอักษรคฤนถ์) ของชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้เป็นต้นแบบ ชาวอินเดียที่มาค้าขายทางทะเลสมัยนั้นใช้เรือใบขนาดเล็ก (รูปเรือมีอยู่ในลายจำหลักพระเจดีย์ที่บวรพุทโธ) จะแล่นข้ามท้องทะเลใหญ่หรือจะเล่นอยู่ในทะเลหลายวันนักไม่ได้ จึงต้องแล่นเรือเลียบฝั่งทะเลและเกาะที่มีในระยะทาง ก็ทางแล่นเรือของชาวอินเดียมาข้างตะวันออกแต่โบราณนั้นเป็น ๒ สาย สายหนึ่งไปทางเมืองมอญก่อน แล้วจึงเลียบแหลมมลายูลงมาจนปลายแหลม เป็นที่แยกไปเมืองสยามหรือเมืองชะวา อีกทางหนึ่งนั้นถ้าได้ลมดีก็แล่นตัดตรงมาหาเกาะสุมาตรา แล้วเลียบลงไปทางเกาะชะวาเกาะบอเนียวเป็นที่แยกไปเมืองเขมร ถ้าจะไปเมืองจีนก็เลียบเกาะลูซ่ง (คือหมู่เกาะฟิลิปิน) ต่อไปจนถึงที่ข้ามไปเมืองจีน ในการที่ใช้เรือเที่ยวค้าขายถึงต่างประเทศเช่นว่ามา พวกชาวอินเดียจำต้องตั้งสถานีเป็นที่เรือพักเป็นระยะไปตลอดทาง จึงมีพวกชาวอินเดียเริ่มมาอยู่ตามสถานีณที่ต่างๆ ในประเทศเหล่านี้เป็นปฐม ครั้นนานมาพวกชาวอินเดียที่อยู่ตามสถานีก็เลยตั้งภูมิลำเนาอยู่ประจำทำมาหากินในท้องที่ และเที่ยวค้าขายตั้งภูมิลำเนาตามถิ่นที่ห่างไกลสถานีออกไปเป็นลำดับ ไปอยู่ที่ไหนก็สมพงศ์กับชาวเมือง เกิดเชื้อสายชาวอินเดียมากขึ้นเป็นอันดับมา ก็ชาวอินเดียมีความรู้อารยธรรมฉลาดกว่าชาวเมืองในท้องถิ่น ไปตั้งอยู่ที่ไหนก็นำสาสนากับทั้งวิชาความรู้ต่างๆ ตามอารยธรรมในอินเดียไปสั่งสอน จนพวกชาวเมืองพากันนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ นานเข้าเชื้อสายของชาวอินเดียก็ได้เป็นมูลนาย และที่สุดได้ครอบบ้านครองเมือง ตั้งขนบธรรมเนียมและสร้างเจดียสถานต่างๆ ดังปรากฎอยู่ในนานาประเทศแถบนี้
เรื่องพงศาวดารชะวาตอนชาวอินเดียปกครองนั้น ชั้นแรกปรากฎว่าเมื่อราว พ.ศ. ๙๐๐ มีเจ้าชาวอินเดียที่ถือสาสนาพราหมณ์ลัทธิสิเวศ ทรงนามว่า ปุรณวรรมัน มาตั้งราชอาณาเขตต์ขึ้นทางหัวเกาะชะวาฝ่ายตะวันตก (ในท้องที่มณฑลบะเตเวียเดี๋ยวนี้) เรียกชื่อประเทศว่า “ตะรุมะ” ต่อมาถึง พ.ศ. ราว ๑๓๐๐ พวกชาวอินเดียที่ไปตั้งภูมิลำเนาทางกลางเกาะชะวาข้างฝั่งเหนือ (ในมณฑลสมารังบัดนี้) ตั้งราชอาณาเขตต์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง มีเจ้าแผ่นดินทรงนามว่า สันนหะ อีกพวกหนึ่งตั้งราชอาณาเขตต์ขึ้นทางท้ายเกาะชะวาทางด้านตะวันออก (ในมณฑลสุรไบยาบัดนี้) มีเจ้าแผ่นดินทรงนามว่า เทวะสิงห ถือสาสนาพราหมณ์ลัทธิสิเวศเหมือนกันทั้ง ๓ ราชอาณาเขตต์ แต่พวกชาวอินเดียที่ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเกาะสุมาตรานั้น เป็นพวกถือพระพุทธสาสนา แต่ก็ตั้งเป็นหลายราชอาณาเขตต์เหมือนกัน ที่เป็นราชอาณาเขตต์สำคัญกว่าเพื่อนเรียกว่า ศรีวิชัย (ตั้งราชธานีอยู่ใกล้เมืองปาเลมบังบัดนี้) เจ้าแผ่นดินทรงนามว่า ชเลนทร พวกชาวศรีวิชัยสามารถขยายอาณาเขตต์ไปถึงแหลมมลายู ตั้งแต่เมืองปัตตานี เมืองนครศรีธรรมราช ตลอดไปจนเมืองไชยา (ยังมีโบราณวัตถุสถานปรากฎอยู่เป็นสำคัญ) ต่อมา (จะเป็นด้วยการรบพุ่งหรือจะด้วยได้สมพงศ์วงศ์วารไม่ทราบแน่) ปรากฎว่าพวกราชวงศ์ศรีวิชัยเข้าไปตั้งราชอาณาเขตต์ขึ้นในเกาะชะวาตอนกลางข้างทางฟากใต้ (ในท้องที่เมืองยกยาบัดนี้) อาจจะเป็นในตอนนี้เอง พวกที่ตั้งอาณาเขตต์อยู่ทางเมืองสมารังไม่ไว้ใจพวกเมืองศรีวิชัย เพราะเป็นชาวต่างเมืองและถือพระพุทธสาสนาผิดกับพวกของตน จึงย้ายราชธานีขึ้นไปตั้งบนภูเขาเดียง (ยังมีเทวสถานอยู่เป็นสำคัญ) ฝ่ายพวกศรีวิชัยที่ไปตั้งอาณาเขตต์อยู่ในเกาะชะวา ก็ไปทำนุบำรุงพระพุทธสาสนา สร้างเจดียสถานใหญ่โตขึ้นหลายแห่ง คือพระเจดีย์บวรพุทโธเป็นต้น ว่าสร้างเมื่อราว พ.ศ. ๑๔๐๐ แต่พวกศรีวิชัยไปมีอาณาเขตต์อยู่ในเกาะชะวาเพียงสัก ๑๐๐ ปี ก็เสียอาณาเขตต์นั้นแก่พวกชะวา ประเทศชะวากับประเทศศรีวิชัยก็เลยเป็นข้าศึกรบพุ่งกันต่อมา
พงศาวดารชะวาเริ่มเรื่องอิเหนาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๐ มีจดหมายเหตุในประเทศจีนปรากฎว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๕๓๓ เจ้าแผ่นดินศรีวิชัยแต่งให้ราชทูตไปเมืองจีน ราชทูตไม่อาจกลับเพราะพวกชะวากำลังไปตีบ้านเมือง ต้องรออยู่จน พ.ศ. ๑๕๓๕ จึงกลับไปได้ ความบ่งว่าถึงสมัยนี้พวกชะวามีกำลังมากขึ้น ถึงสามารถยกกองทัพไปตีราชธานีศรีวิชัย แต่ตีไม่ได้ดังประสงค์ต้องเลิกทัพกลับมา เรืองพงศาวดารต่อนั้นมา มีเค้าเงื่อนในศิลาจารึกซึ่งพบในชะวาแผ่น ๑ กล่าวว่าเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ มีข้าศึกต่างประเทศ (จะเป็นประเทศไหน ศิลาจารึกตรงบอกชื่อประเทศเผอิญกระเทาะเสีย จึงรู้ไม่ได้แน่ แต่เขาสันนิษฐานว่าคงเป็นประเทศศรีวิชัยนั้นเอง) ยกกองทัพใหญ่มาตีได้เมืองชะวา ให้ทำลายราชธานีและประหารราชวงศ์เสียหมด เหลือแต่นางราชธิดาของท้าวธรรมวงศ์เจ้าแผ่นดินชะวาองค์หลัง ซึ่งได้อภิเศกไปเป็นมเหษีของท้าวอุทยานเจ้าเมืองบาหลี เมื่อสิ้นราชวงศ์นางนั้นก็ได้สู่ฐานะรัชชทายาทเมืองชะวา เพระาเหตุนั้นท้าวอุทยานจึงพยายามรวบรวมกำลังรบพุ่งข้าศึกอยู่ถึง ๓๐ ปี จนได้เมืองชะวาคืน ท้าวอุทยานกับนางมเหษีจึงอภิเศกราชบุตร์ทรงนามว่า ระเด่นอลังการ ให้เสวยราชย์เป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองชะวาต่อมา มีศิลาจารึกพบที่เมืองดาหาอีกแผ่นหนึ่ง แต่งในชั้นหลังต่อมาอีกว่า ท้าวอลังการมีราชธิดากับนางประไหมสุหรีองค์หนึ่ง มีราชบุตรกับมเหษีรอง ๒ องค์ นางราชธิดาไม่ปรารถนาจะครอบบ้านครองเมือง ออกบวชเป็นรูปชีในพระพุทธสาสนา เมื่อท้าวอลังการชราลงจึงให้แบ่งอาณาเขตต์ออกเป็น ๒ ภาค เรียกว่าเมืองดาหาภาคหนึ่ง เมืองกุเรปันภาคหนึ่ง ให้ราชบุตร์ทั้ง ๒ ครององค์ละเมือง ส่วนท้างอลังการเองออกทรงผนวชเป็นฤษี คอยควบคุมสั่งสอนราชกุมารทั้ง ๒ มาจนตลอดชนมชีพ ท้าวดาหามีราชบุตร์องค์หนึ่ง (คืออิเหนา) เป็นรัชชทายาท ท้าวกุเรปันมีราชธิดาองค์หนึ่ง (คือนางบุษบา) เป็นรัชชทายาท (ชื่อเมืองกลับกันกับในเรื่องนิทาน และไม่พรรณนาถึงเรื่องอิเหนากับนางบุษบาตอนก่อนจะเป็นคู่กัน กล่าวแต่ว่า) อิเหนากับนางบุษบาได้อภิเศกเป็นคู่กัน ราชอาณาเขตต์จึงกลับรวมเป็นประเทศเดียวกันดังแต่ก่อน ความตรงนี้ส่อให้เห็นว่าเมืองสิงหัดสาหรีและเมืองกาหลังยังไม่มี หรือมิฉะนั้นก็ยังเป็นแต่หัวเมืองขึ้นเมื่อสมัยอิเหนา อิเหนาได้เสวยราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๖๕๐ เรียกนามในศิลาจารึกนั้นว่า “พระเจ้ากาเมศวร” ยกย่องว่ามีอานุภาพมาก ได้แดนชะวาและสุมาตราไว้ในอาณาเขตต์ทั้งสิ้น อิเหนาตั้งเมืองดาหาเป็นราชธานี ครองราชสมบัติอยู่ประมาณ ๒๐ ปีสิ้นชนมชีพ ราชบุตร์ที่รับราชสมบัติทรงนามว่า ชยาภัย ก็มีฤทธิเดชต่อมาอีกองค์ ๑ แต่ราชวงศ์ของอิเหนาชั้นต่อมา (เรียกในหนังสือพงศาวดารว่า “ราชวงศ์ดาหา”) หย่อนอานุภาพลงโดยลำดับ จนเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๖๕ เจ้าเมืองสิงหัดสาหรีชื่อว่า รังคราชสะ (จะเป็นเชื้อวงศ์ของอิเหนาหรือต่างวงศ์ ไม่ทราบแน่) ชิงอำนาจไปเป็นใหญ่ในแดนชะวา ตั้งเมืองสิงหัดสาหรีเป็นราชธานี ปกครองอาณาเขตต์สืบวงศ์มาจนถึงราว พ.ศ. ๑๘๓๕ เชื้อวงศ์ของอิเหนาองค์ ๑ ชื่อ ชัยขัติยวงศ์ จึงชิงอำนาจได้คืน แต่ต่อมาราชวงศ์ดาหาก็กลับเสื่อมอานุภาพลงโดยลำดับ
(๓) สมัยมัตชะปะหิตนั้น เริ่มเรื่องเนื่องจากเหตุที่พวกเมืองดาหากับเมืองสิงหัดสาหรีรบพุ่งชิงอำนาจกันดังกล่าวมาแล้ว มีกองทัพจีนยกไปตีแดนชะวาในเวลาบ้านเมืองระส่ำระสาย ครั้งนั้นมีระเด่นวิชัยคน ๑ ซึ่งเป็นเขยสู่ในราชวงศ์เมืองสิงหัดสาหรีอยู่ก่อน (จะไปอาศัยกำลังจีน หรือทำอย่างไรไม่ทราบแน่) สามารถเกลี้ยกล่อมผู้คนเป็นกำลัง แล้วรวบรวมบ้านเมืองทั้งในแดนดาหาและสิงหัดสาหรีตั้งราชอาณาเขตต์ชะวาเป็นอิสสระขึ้นได้อีก สร้างเมืองใหม่เรียกว่า “มัตชะปะหิต” เป็นราชธานี (อยู่ไม่ห่างเมืองดาหานัก) ตั้งราชวงศ์ปกครองแผ่นดินชะวาสืบกันมา บางองค์ก็มีอานุภาพปราบปรามแดนชะวาไว้ได้ในอำนาจทั้งหมด แต่นานมาอำนาจราชวงศ์มัตชะปะหิตก็เสื่อมลงโดยลำดับ จนถึงพวกเจ้าประเทศราชในแดนชะวาพากันตั้งตัวเป็นอิสสระโดยมาก ประเทศราชอันหนึ่งซึ่งอยู่ในท้องที่อาณาเขตต์ตะรุมะแต่โบราณตั้งเป็นอิสสระขึ้นทางหัวเกาะชะวาข้างตะวันตก สร้างเมืองหลวงที่ตำบลกะหลาป๋า (แปลว่า ป่ามะพร้าว อยู่ตรงที่ตั้งเมืองบะเตเวียบัดนี้) แล้วให้ชื่อเมืองตามภาษาสันสกฤตว่า “ชัยเขตต์” เรียกกันว่า เมืองยักกัดตรา (แต่ไทยเราเรียกตามชื่อเดิมว่าเมืองกะหลาป๋า) ถึงราว พ.ศ. ๒๐๐๐ มีเหตุสำคัญแต่ภายนอกมากระทบถึงเมืองชะวามลายู ด้วยชาวเปอร์เซียและอินเดียที่ไปมาค้าขายถึงสมัยนี้ พากันไปเข้ารีตถือสาสนาอิสลามโดยมาก ก็พาสาสนาอิสลามมาเที่ยวสั่งสอนพวกชะวามลายูให้ทิ้งพระพุทธสาสนาและสาสนาพราหมณ์ไปเข้ารีตถือสาสนาอิสลามขึ้นแพร่หลาย เหตุอีกอย่างหนึ่งนั้นเมื่อถึงสมัยนี้พวกฝรั่งโปรตุเกศสามารถแล่นเรือจากยุโรปมาถึงอินเดียได้แล้วเที่ยวหาทำเลค้าขายต่อมา มาถึงเกาะชะวาเมื่อราว พ.ศ. ๒๐๓๐ เช่าที่ตั้งสถานีขึ้นที่เมืองยักกัดตรา เป็นเริ่มแรกที่ฝรั่งจะมาอยู่ในเกาะชะวาแต่ครั้งนั้น
(๔) สมัยมะตารัมนั้น เนื่องกับเรื่องที่พวกชะวาพากันเข้ารีตถือสาสนาอิสลามแพร่หลายทั่วไปในเกาะชะวา แต่การที่พวกชะวาเข้ารีตนั้น เป็นด้วยชาวอินเดียเกลี้ยกล่อมให้เกิดเลื่อมใส มิได้เข้ารีตด้วยกลัวภัยหรือจำใจเหมือนอย่างพวกอาหรับและชาวอินเดีย จะประพฤติคติสาสนาอิสลามเพียงใดก็ได้ตามใจนิยม เพราะฉะนั้นพวกชะวาจึงรักษาขนบธรรมเนียมเดิมแต่ครั้งยังถือพระพุทธสาสนาและสาสนาพราหมณ์ไว้โดยมาก ถึงกระนั้นก็ไม่พ้นรังเกียจกันเอง เพราะเหตุที่เกิดสาสนาต่างกัน เมื่อพวกถือสาสนาอิสลามมีกำลังมากขึ้น ก็ชิงอำนาจจากราชวงศ์มัตชะปะหิต แต่ไม่สามารถจะปกครองราชธานีเดิมอยู่ได้ พวกชะวาที่ถือสาสนาอิสลามอีกพวกหนึ่งจึงมาตั้งหลักแหล่งอยู่ตอนกลางเกาะชะวา (ในเขตต์เมืองยกยาบัดนี้) อันเป็นที่ตั้งเมืองหลวงแต่โบราณ เรียกชื่อเมืองที่ตั้งใหม่ว่า “มะตารัม” แต่กว่าจะตั้งอาณาเขตต์ได้มั่นคง ต้องรบพุ่งกับพวกประเทศราชในเกาะชะวาอยู่ช้านาน จนถึงราว พ.ศ. ๒๑๗๐ เจ้าเมืองมะตารัมชื่อ ระเด่นมาสรังสัง จึงสามารถตั้งตัวเป็นสุลต่านทรงนามว่า “หะมังภูวโน” เป็นเจ้าแผ่นดินปกครองอาณาเขตต์มะตารัมต่อมา
เมื่อก่อนตั้งราชอาณาเขตต์มะตารัม ๘ ปี พวกฝรั่งฮอลันดาเริ่มมาค้าขายถึงเกาะชะวาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๘ มาเช่าที่ตั้งสถานีแรกที่เมืองยักกัดตรา ไม่ห่างจากสถานีของพวกโปรตุเกศนัก ต่อมาประเทศโปรตุเกศกับฮอลันดาเกิดรบกัน พวกฮอลันดาที่เมืองยักกัดตรามีกำลังมากกว่าก็ขับไล่พวกโปรตุเกศไปเสียจากเกาะชะวา เมื่อเหลืออยู่แต่ฮอลันดาพวกเดียว เห็นเป็นโอกาสที่จะเอาเมืองชะวาเป็นที่มั่น จึงสร้างป้อมขึ้นที่สถานีให้ชื่อว่า ป้อมบะเตเวีย ฝ่ายเจ้าเมืองยักกัดตราเห็นว่าพวกฮอลันดาคิดจะเอาบ้านเมือง ก็ชวนประเทศราชที่ใกช้เคียงยกกองทัพมารบพุ่งหมายจะขับไล่ แต่รบแพ้เสียเมืองยักกัดตราแก่พวกฮอลันดาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๒ พวกฮอลันดาจึงไปสร้างเมืองเป็นที่มั่นที่เมืองยักกัดตรา เรียกนามตามชื่อป้อมว่า เมืองบะเตเวีย ตั้งเป็นเมืองหลวงของฮอลันดาทางตะวันออก แล้วขยายอาณาเขตต์และแผ่อำนาจออกไปโดยลำดับ จนได้แดนชะวากับทั้งเกาะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงไว้ในอาณาเขตต์ของชาวฮอลันดาในบัดนี้.
เรื่องที่เล่ามาว่าตามที่ได้ฟัง และได้ตรวจหนังสือเพียงเท่าที่มีอยู่กับตัวในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้ อาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนบ้างมิมากก็น้อย.