เอกสารตรวจราชการเมืองนครไชยศรีฯ ร.ศ. 117/ผู้วายชนม์

  • หม่อมลำดวน ดิศกุล ณ อยุธยา
  • ชาตะ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๒๐
  • มรณะ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑

ประวัติ
หม่อมลำดวน ติศกุล ณ อยุธยา

หม่อมลำดวน เกิดในสกุล "วสันตสิงห์" เมื่อวันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๖ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๒๐ บิดาของท่านคือหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (สิงโต วสันตสิงห์) มารดาของท่านคือ ท่านท้วม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาสองคน คือ ท่านผู้หญิง เสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นพี่ พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์) เป็นน้อง ซึ่งท่านทั้งสองได้ถึงอนิจกรรมไปก่อนแล้วหลายปี

โดยที่ข้าพเจ้าเป็นหลานคนใหญ่ในขณะนี้ จึงถูกมอบให้เขียนประวัติของคุณน้า

ตามคำเล่าจากผู้ใหญ่ และจากคุณยายเอง พอจะรวมความได้ว่า คุณน้าถูกตามใจมากตั้งแต่เยาว์วัย เพราะเหตุที่ว่าเป็นกำพร้า คุณตาถึงแก่กรรมไปเมื่อคุณน้ายังเล็กมาก การเรียนหนังสือ ก็ไม่ยอมเรียน จนโตจึงเรียนเอง คุณยายได้ส่งเข้าไปอยู่กับคุณยายเปี่ยม ซึ่งเป็นข้าราชการในพระราชวังบวรฯ เพื่อฝึกหัดกิริยามารยาทตามอย่างคุณแม่ของข้าพเจ้า แต่คุณน้าก็ไม่ค่อยจะยอมอยู่ เข้าไปแล้วกลับออกมาบ้าน แต่โตขึ้นก็ฝึกหัดตัวเอาเอง ข้าพเจ้าเห็นท่านมีกิริยามารยาทเรียบร้อยงามทีเดียว

ต่อมา เมื่อคุณแม่ข้าพเจ้าแต่งงานและมีพี่สาวข้าพเจ้า คือ หม่อมหลวง ปก มาลากุล คุณแม่เล่าว่า คุณน้าเข้ามาช่วยเลี้ยงหลานเอง เลี้ยงจริง ๆ จัง ๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ ทำได้ดีเสียด้วย คุณน้ามีนิสัยเป็นช่างในตัว เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้าก็พยายามทำใช้ได้ การทำดอกไม้สด เบ็ดเตล็ดก็ทำได้ หรือปอกคว้านผลไม้ จัดน่ารับประทานดี ทำอะไรก็รวดเร็วฉับพลัน คุณน้าเป็นคนใจร้อนใจเร็ว

ราวปี พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสขอคุณน้าลำดวน ต่อเจ้าพระยาพระเสด็จ ฯ คุณพ่อของข้าพเจ้า เมื่อคุณยายได้ตกลงแล้ว คุณพ่อก็พาไปถวายที่วัง คุณน้าก็รับใช้และปฏิบัติงานการได้เรียบร้อยมาก เป็นต้นว่า จีบผ้าทรงอย่างคล่องแคล่ว ตัดเย็บฉลองพระองค์ก็ได้ ปักรองพระบาทให้ทรงอยู่กับวัง บางยุคก็ทำเครื่องเสวย คุณน้ามีความจงรักภักดีต่อสมเด็จ ฯ มาก ฉะนั้นนิสัยการช่างที่มีอยู่จึงมีโอกาสได้แสดงออกเสมอ โดยขยันขันแข็ง ไม่เหน็ดเหนื่อย ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ๆ ได้ไปเยี่ยมคุณน้าที่วังสมเด็จ ฯ คราวใดก็เห็นคุณน้าหม่อมทำอะไร ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าง

เป็นธรรมดา เมื่ออยู่ในที่หมู่มาก เช่นในวังใหญ่ ๆ เช่นนี้ ก็ย่อมจะต้องมีกระทบกระเทือนกันบ้างไม่มากก็น้อย คุณน้าโมโหง่าย ก็ย่อมจะรับเรื่องมากกว่าคนที่ยับยั้งใจได้ คุณน้ามีความเคารพรักต่อเจ้าพระยาพระเสด็จ ฯ ซึ่งเป็นพี่เขยอย่างผู้ปกครอง หรือพี่ชายแท้ ๆ ถ้ามีทุกข์ร้อนอันใดก็ต้องรายงานเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ แม้จะมีความผิดพลาตอนใดก็ไม่เคยปิดบัง คุณพ่อท่านก็รับฟังและโต้ตอบ ชี้แจง ตักเตือนทุกครั้งไป แม้แต่คุณพ่อไปรับราชการต่างประเทศ คุณน้าก็ต้องเล่าเรื่องราวข้ามทะเลไปให้ชี้แจงกลับมาเสมอ คุณพ่อท่านก็เอ็นดู ว่าเป็นคนซื่อ

สมเด็จ ฯ ท่านทรงย้ายวังมาประทับวังใหม่ที่ถนนหลานหลวง ด้านหลังคือถนนดำรงรักษ์ ท่านทรงแบ่งที่ดินเป็นที่ ๆ และปลูกเรือนประทานให้หม่อม ๆ อยู่เรียงบ้านกันไป ที่ของคุณน้าหม่อมให้อยู่ติดกับบ้านของคุณพ่อ ด้านถนนดำรงรักษ์ ฉะนั้นในชีวิตตอนกลางของคุณน้าหม่อมลำดวนจึงมีความสุขอย่างที่สุด ได้อยู่เรือนแบบสบาย ๆ มีที่ดินปลูกต้นไม้เล่น ข้อสำคัญ คือ อยู่เป็นส่วนโดยลำพังไม่ปะปนกับคนอื่น ข้าพเจ้าได้เห็นว่าคุณน้าชื่นบานสบายมาก เมื่อคุณน้าว่างก็ทำกับข้าวส่งมาให้พี่และน้องและหลาน ๆ ทำอร่อยมากหลายอย่าง เป็นที่ติดใจของผู้ที่ได้รับประทาน เมื่อชราแล้วยังทำบางอย่างได้ดี กับข้าวที่ท่านรับประทานทุกวัน ยังกะเอง ให้คนใช้ทำให้ เรื่องกับข้าวนี้ ท่านออกจะจู้จี้ ก็เป็นธรรมดา เพราะท่านทำดีทำเก่ง ก็ยากที่คนใช้จะทำได้รสเหมือนท่านทำเอง

คุณน้าหม่อม มีพระธิดา โอรส หลายองค์ดังนี้ (สิ้นชีพตักษัยแต่ยังเยาว์ ๒ องค์)

๑. ม.จ.หญิง พัฒนายุ ดิศกุล

๒. ม.จ.หญิง สิวลีวิลาศ ดิศกุล

๓. ม.จ.หญิง ทักษิณาธร ดิศกุล

๔. พลโท ม.จ.พิสิษฐ์ดิศพงษ์ ดิศกุล (สิ้นชีพตักษัยเมื่อ ๓ ปีมานี้)

๕. ท่านหญิง สุมณีนงเยาว์ วินิจฉัยกุล

โดยปรกติคุณน้าเลี้ยงดูธิดาและโอรสทะนุถนอมเป็นที่สุด เวลาประชวรก็ดูแลปรนนิบัติอย่างดีมาก ให้ความสุข และทำอาหารคนเจ็บได้ดีมาก และช่างเย็บเสื้อผ้าให้แต่งองค์อยู่เสมอ ข้าพเจ้าได้เห็นมาเอง ท่านยังเย็บเสื้อให้พี่ปกและข้าพเจ้าใส่บ่อย ๆ

คุณน้าหม่อม มีสิ่งควรยกย่อง ซึ่งเห็นประจักษ์อยู่ทั่วไป คือ มีทายาทดี สมควรจะยกขึ้นกล่าวได้ ดังนี้

๑. ม.จ. หญิง พัฒนายุ (ท่านหญิงเหลือ) ธิดาองค์ใหญ่ ท่านหญิงองค์นี้ท่านเป็นอุปัฏฐาก พระบิดามาจนตลอดพระชนมชีพของสมเด็จ ฯ

๒. พลโท ม.จ. พิสิษฐ์ดิศพงษ์ (ท่านชายแอ๊ว) โอรสองค์เดียวของคุณน้า ท่านชายองค์นี้เป็นทหาร ความสำคัญ คือ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มเกิดขึ้นทางภาคนี้ของโลก ท่านชายแอ๊วทรงเป็นห้วหน้ากองประสานงานกับทหารญี่ปุ่นต้องทรงใช้ความคิดและสติบัญญาอันสุขุมอย่างยิ่ง มีส่วนช่วยบ้านเมืองในยามคับขันให้ผ่านพ้นมาได้ ซึ่งต้องเสี่ยงชีวิตด้วยปลายกระบอกปืนซึ่งหันมาเรื่อย ท่านก็พ้นอันตรายมาได้ และต่อมาหลังมหาสงครามโลก ท่านก็เป็นแม่ทัพไปสงครามเกาหลีครั้งแรก ฉะนั้น ท่านชายโอรสองค์เดียวของหม่อมลำดวน ก็นับได้ว่าได้ช่วยชาติบ้านเมืองอย่างเต็มตัว อย่างน่าสรรเสริญ ซึ่งนำความชื่นชมมาให้หม่อมแม่เป็นอันมาก

คุณน้าได้มีน้ำใจกรุณา มาช่วยเลี้ยงดูหลานหญิง ม.ร.ว.หญิงกันยิกา เทวกุล ม.ร.ว. เอกสุรวุฒิ เทวกุล กับ ม.ร.ว. พุฒิเทพ เทวกุล ลูก ม.ล.ปอง ทั้งสามคนเมื่อแรกเกิด ช่วยอยู่หลายเดือนจนเด็กแข็งแรง ม.ร.ว.หญิง กันยิกา เมื่อเป็นแพทย์แล้ว ก็ดูแลรักษาคุณยายหม่อมเป็นคราว ๆ ตลอดมา ต่อมาได้เลี้ยง จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ลูกของคุณจรูญพรรณ-อรอวล) เด็กคนนี้เกิดมาตัวเล็กนิดเดียวและไม่แข็งแรง คุณน้าหม่อมรักและสงสารมาก สู้อุตส่าห์ตามไปเลี้ยงเขาที่จังหวัดประจวบ ฯ เป็นหลายเดือน ข้าพเจ้าคิดว่าจิรายุ รอดตายก็เพราะคุณยายหม่อม ฟูมฟักเลี้ยงดูมาจนแข็งแรง บัดนี้ก็ได้รับราชการแล้ว รูปร่างล่ำสันแข็งแรง

เมื่อปีเศษมานี้ ลูกหลานทุกคนได้จัดให้มีงานฉลองอายุครบ ๙๐ ปีให้ ได้ทำบุญ และได้เลี้ยงบรรดาญาติทุกสาขา คุณน้าหม่อมปลื้มใจมาก ต่อมายังได้พูดถึงวันนั้นอยู่บ่อย ๆ

ตั้งแต่ ม.จ.พิสิษฐ์สิ้นชีพตักษัยไปแล้ว คุณน้าหม่อมเศร้าโศกเหลือเกิน ร่างกายและจิตใจทรุดโทรมลงไปมากจนเห็นได้ บางครั้งก็นั่งนิ่ง ๆ และน้ำตาไหล เป็นที่น่าสงสาร แต่ในตอนหลัง ๆ นี้ อยู่ในมือนายแพทย์ สารรัตน์ ยงใจยุทธ  ซึ่งเป็นหลานชายคนหนึ่ง คุณน้าเป็นอะไร หมอก็รักษาหายทุกที ถูกยาค้วย รักเขาด้วย

ครั้นถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ คุณน้าไม่สบาย ตอน ๒.๐๐ น. กว่า ๆ ท่านเรียกปลุกท่านหญิงสิวลี ฯ ให้มานวดให้ แล้วก็สิ้นลมไปง่าย ๆ โดยความสงบ ไม่มีอาการอย่างไร แพทย์หญิง ม.ร.ว.กันยิกา เทวกุล ซึ่งอยู่ใกล้กันก็ไปไม่ทัน นับได้ว่าท่านไปอย่างสบายมาก ท่านคงจะไปสู่ทางสุขเป็นแน่นอน รวมอายุได้ ๙๑ ปีกับ ๒ เดือนเศษ

  • ม.ล. ป้อง มาลากุล
  • วันที่ ๑๑ ถรกฎาคม ๒๕๑๑