แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี เรื่องภาวะเศรษฐกิจ สถานะการเงิน-การคลังของประเทศไทย

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้าย เมื่อกลางวันนี้ได้ชำระคืนให้กับธนาคารของประเทศญี่ปุ่น และเย็นนี้ซึ่งเป็นเวลากลางวันของซีกประเทศตะวันตกก็ได้ชำระเงินก้อนสุดท้ายคืนให้กับไอเอ็มเอฟ ทั้งหมดที่ชำระคืนในวันนี้ก็ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท เป็นก้อนสุดท้ายแล้ว หลังจากที่ได้เจอวิกฤติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้เราต้องลดค่าเงินบาท ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหลออก เราต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ซึ่งขณะนั้นทางไอเอ็มเอฟร่วมกับธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติวงเงินให้เรากู้เป็นเงินถึง 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราได้มีการเบิกใช้จริง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ใช้หนี้ส่วน 510,000 ล้านบาทนี้ไป 10,000 ล้านบาท เหลือหนี้ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท รัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงาน 2 ปีครึ่ง ได้ชำระหนี้ทั้ง 500,000 ล้านบาทหมดในวันนี้ ทำให้เราถือว่าหมดพันธะต่อการที่ต้องพึงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีไว้ต่อไอเอ็มเอฟ

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ประเทศไทยเคยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงปี 2524, 2525 และ 2528 ทั้ง 3 สัญญาในช่วงนั้น เรากู้เงินมา 982 ล้านเหรียญสหรัฐ และเราใช้คืนหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เรากู้ตั้งแต่ปี 2524, 2525 และ 2528 เพียงแค่ไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ครั้งนี้เรากู้ถึง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ และเราใช้คืนในวันนี้ ครั้งที่แล้วใช้คืนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 แต่หลังจากนั้นเพียง 7 ปีกับ 4 เดือนครับ เราเกิดวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ทำไมถึงมีวิกฤติห่างกันกันเพียงแค่ 7 ปี และวิกฤติเมื่อกรกฎาคม 2540 เป็นวิกฤติที่รุนแรง เป็นวิกฤติที่เราต้องกู้เงินถึง 510,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ถ้าเราวิเคราะห์กันแล้ว คงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสะสมของการที่เราไม่ได้ติดตามสถานการณ์ เราไม่ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก เราไม่ได้มีข้อมูลแล้วก็ใช้ข้อมูลนั้นอย่างใกล้ชิดและชาญฉลาด จึงทำให้เราถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่ได้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า

เหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดอีก ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ถึงแม้ว่าครั้งแรกกับครั้งนี้ห่างกันเพียง 7 ปี แต่ครั้งนี้รัฐบาลได้เข้ามา ได้พยายามแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างเพื่อให้เกิดความมั่นคง โดยดูตัวเลขทุกตัว ดูทิศทางทุกทิศทางเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก เพราะว่าเมื่อปี 2540 ผมเชื่อว่าวันนี้หลายคนยังไม่หายเจ็บปวด ความเจ็บปวดครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนที่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ

เราจะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหา และที่สำคัญประเทศไทยจะต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้เราไม่ต้องเป็นเหยื่อของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เราไม่รู้เท่าทันเหมือนในอดีต เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้จะทำงานอย่างเต็มที่ร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อที่จะวางหลักเกณฑ์ วางกติกา วางระบบ วางฐานข้อมูล วางระบบการเรียนรู้และพัฒนาการทุก ๆ อย่าง เพื่อให้เรามีความรู้เท่าทัน และติดตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

แต่ทั้งนี้ ทำไมเราถึงกล้าใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ ทำไมเราถึงใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนเวลาถึง 2 ปี เรามั่นใจว่าเราได้ปรับนโยบายและพลิกสถานการณ์ได้แล้ว และเรามั่นใจว่า เราได้มีเงินทุนเพียงพอ เราไม่จำเป็นจะต้องเก็บหนี้ไว้ การใช้หนี้นอกจากประหยัดดอกเบี้ยถึง 5,000 ล้านบาทแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ โดยทุกประเทศจะมองว่า ประเทศไทยเรามีความพร้อม มีความแข็งแรงพอ พร้อมที่จะใช้หนี้ก่อนเวลา เพื่อให้ความมั่นใจ ผมขออนุญาตอธิบายตัวเลขบางตัวเลขที่เป็นประโยชน์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า ทำไมเราถึงมีความมั่นใจว่าเราเข้มแข็งพอ

ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลายสาขา ผมขอยกตัวอย่างภาคเกษตร

รายได้เกษตรกรจากอดีตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลายรัฐบาลที่แล้ว รายได้ภาคเกษตรกรติดลบ 30-40 % ปี 2544 เพิ่มขึ้น 8.1% ปี 2545 เพิ่มขึ้น 11.7% แต่ปีนี้เพิ่มขึ้น 25% ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น กำลังการผลิตเมื่อปี 2544 อยู่ที่ 53.5% ปี 2545 ขึ้นมาเป็น 59.9% ปีนี้ ครึ่งปีแรกมาอยู่ที่ 66.6% ตัวเลขเหล่านี้มันมีความชัดเจนเป็นความต่อเนื่องของการเติบโต อัตราการว่างงานครับ เมื่อปี 2543 ก่อน รัฐบาลนี้ อยู่ที่ 3.6% ปี 2544 ลดลงไปอยู่ 3.2% ปี 2545 อยู่ที่ 2.2% และปี 2546 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการส่งออกนั้นดีขึ้นมาก ในปี 2544 ติดลบ 1.7% เพราะว่าเหตุการณ์ 11 กันยายนที่สหรัฐอเมริกา ทำให้การส่งออกเราหดตัวไป 1.7% แต่พอปี 2545 เราสามารถเติบโตได้ถึง 5.7% แต่ปีนี้ครับ ครึ่งปีแรกเท่านั้นเอง เราโตถึง 19% ฉะนั้นการเติบโตอย่างต่อเนื่องยังคงมีต่อไปในด้านส่งออก เพราะเราหาตลาดมากขึ้น ถ้าดูกำไรสุทธิของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ปี 2543 มีกำไรสุทธิ 41,500 ล้านบาท ปี 2544 ขึ้นมากว่า 2 เท่า เป็น 111,200 ล้านบาท ปี 2545 ขึ้นมาเป็น 170,000 ล้านบาท ส่วนปี 2546 ประมาณการว่าน่าจะไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท นี่คือสิ่งที่พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้ของภาครัฐบาลครับ รายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีนี้รายได้รวมขึ้นมาเป็น 900,000 กว่าล้านบาท เฉพาะแค่ 9 เดือนแรกนั้นพอ ๆ กับปี 2543 ทั้งปี ส่วนดุลงบประมาณที่เรากลัวกันว่าเราจะต้องขาดดุลกันนาน ปรากฏว่าการขาดดุลกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว เราขาดดุลงบประมาณเมื่อปี 2543 จำนวน 120,000 ล้านบาท เราขาดดุลปี 2544 110,000 ล้านบาท แต่พอมาปี 2545 เราตั้งไว้ว่าจะขาดดุล 200,000 ล้านบาท แต่ขาดดุลเพียง 126,000 ล้านบาท ปี 2546 เราตั้งขาดดุลไว้ 174,000 ล้านบาทครับ แต่ว่ามาถึง 9 เดือนนี้ วันนี้เกินดุลอยู่ 14,600 ล้านครับ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ด้านงบประมาณนั้นดีขึ้นมาก และก็มีแนวโน้มจะดีขึ้นต่อไป

หนี้สาธารณะ เมื่อปี 2543 อยู่ที่ 57.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือว่าจีดีพี แต่ปีนี้ 2546 ขณะนี้อยู่ที่ 49.7% ต่ำกว่า 50% ของจีดีพี เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นสถานะที่ดีมาก ส่วนด้านเงินสำรองระหว่างประเทศครับ น่าสนใจ รวมทั้งเรื่องหนี้สินด้วย หนี้ต่างประเทศ ปี 2543 เรามีหนี้อยู่ 79 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีเงินสำรองอยู่ 32 ปี 2544 เงินสำรองขึ้นเป็น 33 หนี้ลดลงเหลือ 67 ปี 2545 เงินสำรองขึ้นไปเป็น 38.9 หนี้ลดลงเหลือ 59.4 ขณะนี้ วันนี้ชำระหนี้ไอเอ็มเอฟเรียบร้อย เรามีหนี้ต่างประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมกันเพียง 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่เรามีเงินทุนสำรอง ทั้ง ๆ ที่ใช้หนี้หมดแล้ว ที่คนวิตกกันว่ามันจะไม่พอ เหลือถึง 38 พันล้าน วันที่เรามีเงินทุนสำรองสูงสุดอยู่ที่ 39.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่วันนั้นเรามีหนี้ถึง 112 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่วันนี้เรามีเงินทุนสำรอง 38 พันล้าน แต่มีหนี้เหลือเพียง 53 พันล้าน เมื่อบวกกับเงินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ในต่างประเทศอีก 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าขณะนี้หนี้สินและเงินฝากของประเทศไทย ภาครัฐ ภาคเอกชนรวมกันแล้ว แสดงให้เห็นกันว่าวันนี้สถานะด้านการเงินของประเทศเข้มแข็งมาก

ต้องเรียนพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลนี้ขอยืนยันอีกครั้งว่า ประเทศไทยวันนี้ ผมอยากจะบอกว่าให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจและภูมิใจในความเป็นคนไทยว่า วันนี้เราไม่มีพันธะใด ๆ สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปก็คือว่า เราจะต้องทำประเทศของเราให้เข้มแข็ง ท่านจำได้ไหมครับว่า เมื่อปี 2545 ต้นปี ทุกคนทำนายว่าประเทศไทยจะเติบโตเพียง 2% ซึ่งวันนั้นผมฟังคำทำนายแล้ว ผมก็รู้สึกกังวล เพราะผมห่วงพี่น้องคนไทยที่ตกงานมาช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และนอกจากนั้นลูกหลานของเราที่จบการศึกษาไม่มีงานทำในช่วงนั้น บางคนไปเรียนต่อ บางคนไม่มีงานทำ ลูกหลานเราจบการศึกษาทุกปี ผมทำอย่างเดียวครับ ต้องผลักดันให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงแต่มั่นคง ถ้าผมไม่ทำเช่นนี้ก็จะไม่ทำให้การจ้างงานของลูกหลานที่เรียนจบไปแล้วและที่จบใหม่จะได้รับการจ้างงาน เพราะฉะนั้นผมเลยตั้งเป้าเมื่อปี 2545 ว่า รัฐบาลนี้จะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ซึ่งไม่มีใครเชื่อ เพราะ 2% กับ 5% นั้นต่างกัน 3% เท่ากับต่างกัน 150% ถ้าเราคิดถึงการทำนายต่อเป้าหมายนั้น เขาทำนายไว้ที่ 2 ทำ 5 แสดงว่าผิดกัน 150% และในที่สุดรัฐบาลก็ทำได้ที่โตถึง 5.3% ในปี 2546 อีกครั้งหนึ่ง มีคนทำนายว่าเราจะโตประมาณ 3.5-4% เมื่อมีโรคซาร์สเกิดขึ้น ลดการเติบโตลงเหลือ 3.3% แต่ผมไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลง ผมยืนยันว่าผมตั้งเป้าว่าจะโตให้ได้ 6% มาถึงเวลานี้ผมยังมั่นใจว่า เราน่าจะใกล้เคียง อาจจะ 6% หรือไม่ 6 ก็ต้องเกิน 5.5% แน่ เพราะเป็นความตั้งใจและทุ่มเทของรัฐบาล

ข้าราชการที่ทำงานกันหนัก และภาคเอกชนมีกำลังใจ ภาคประชาชนมีกำลังใจ ถ้าคนไทยไม่มีกำลังใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับ ถ้าเราเคยคิดกันว่า เศรษฐกิจของต่างประเทศมีปัญหา เศรษฐกิจโลกมีปัญหา เพราะฉะนั้นเราก็น่าจะมีปัญหาด้วย ไม่ใช่วิสัยที่รัฐบาลนี้จะนั่งงอมืองอเท้าและให้เหตุการณ์ปัจจัยล้อมรอบเป็นตัวกำหนดเรา เราต้องกำหนดชีวิตเราเอง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลนี้พยายามและเน้นตลอดเวลาว่า เราต้องตั้งเป้าและทำให้ได้ ในวันนี้เราเติบโต 6% ปีหน้าผมจะต้องทำให้ดีกว่านี้อีก เพราะว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นลงถึงระดับรากหญ้า เพราะพี่น้องคนไทยจะต้องมีงานทำ เราจะต้องสร้างคนให้มีงานทำมากขึ้น และก็สร้างผู้ประกอบการอิสระมาก ๆ แน่นอนครับ ทุนเป็นของจำเป็น ทุนเป็นสิ่งจำเป็น ในอดีตเราก็เอาทุนจากชนบทมาใช้ในเมือง มาใช้ในกรุงเทพฯ มาก วันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องเอาทุน กระจายทุนออกไปอย่างทั่วถึง ขั้นที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือกระจายทุนไปสู่พี่น้องอย่างทั่วถึงในทุก ๆ อาชีพ ทุก ๆ จังหวัด

ความสำเร็จของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้อยู่ที่การปรับนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนตั้งแต่เป็นประเทศไทยในการที่ใช้นโยบายแบบนี้ นโยบายที่เราเรียกว่า Dual Track Policy คือ นโยบายที่เป็น 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 ก็คือ แนวทางของการอาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเมื่อก่อนนี้เราอาศัยเศรษฐกิจที่เกิดจากการส่งออก และการลงทุนต่างประเทศ และการท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่พอครับ เศรษฐกิจในประเทศจำเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลนี้จึงไปจัดการเรื่องเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและกำลังทำอย่างต่อเนื่องต่อไป ความสำเร็จครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าพี่น้องคนไทยและพี่น้องที่เป็นนักธุรกิจทั้งหลายไม่มีกำลังใจและไม่สู้ แต่วันนี้รัฐบาลสามารถที่จะชี้ทิศทางให้ท่านเห็นแล้วท่านสู้ จึงทำให้เรามีวันนี้

และก็เป็นไปไม่ได้ถ้าข้าราชการ รัฐวิสาหกิจทุก ๆ ท่านไม่ร่วมมือและทำงานกันอย่างทุ่มเท 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ผมกล้ายืนยันว่า ข้าราชการเหนื่อยกว่าในอดีตมาก เพราะรัฐบาลนี้ทำงานโดยมุ่งประสงค์ผลลัพธ์ จึงได้มีการติดตามและจี้งานตลอดเวลา ทุกคนทุ่มเท จึงทำให้การฟื้นตัวของประเทศทำได้รวดเร็วและเข้มแข็ง

การใช้หนี้ไอเอ็มเอฟตอนนี้ รัฐบาลจะสามารถทำให้ประเทศหมดพันธกรณีหลาย ๆ อย่าง

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องไปขอกู้เพิ่ม ต้องเขียนจดหมายแสดงเจตจำนง แต่ว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้ต้องปฏิบัติตาม และเมื่อวันนี้เราชำระหนี้หมด สิ่งเหล่านั้นเราไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม และเราเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด โดยยืนบนลำแข้งของเรามากที่สุด ที่เราไปตกลงกันไว้ว่า เราจะขึ้น vat จาก 7% เป็น 10% เรายกเลิกครับ รัฐบาลนี้จะดำรง vat ไว้ที่ 7% จะไม่ขึ้นไป 10% เด็ดขาด เพราะฉะนั้นตรงนี้เราสามารถยกเลิกได้โดยไม่มีพันธกรณีใด ๆ ที่ต้องวิตก ถ้าไม่เช่นนั้นเราต้องขอผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ เพราะเรายังมีภาระหนี้อยู่ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องแล้ว


เรื่องต่อไป คือเรื่องกฎหมาย 11 ฉบับที่เราห่วงใยกัน รัฐบาลได้เชิญผู้ที่ห่วงใยในเรื่องนี้มาพูดคุยกัน ปรึกษากัน และในที่สุดเราสรุปว่า จะมีการแก้ไขในบางฉบับ ดังต่อไปนี้ 1. กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ก่อนนี้ในกติกาเราต้องขายรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่วันนี้ไม่ใช่ครับ เราจะกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายการลงทุน เพื่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ทุกระบบ ซึ่งตรวจสอบจากระบบของตลาดทุนและตรวจสอบด้วยระบบของราชการ ตรวจสอบด้วยระบบของผู้ถือหุ้นเอง

เพราะฉะนั้นรัฐวิสาหกิจไทยของเราจะเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ใช้มาตรการนี้บางส่วนแล้ว และใช้เรื่องของการรายงานระบบการตรวจสอบมากขึ้นแล้ว ทำให้รายได้ของรัฐวิสาหกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล หากรัฐวิสาหกิจทั้งหมดต้องไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะบริหารงานอย่างมืออาชีพ จะเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น ไม่ได้เป็นการนำไปขายเพื่อนำมาใช้หนี้ เพราะไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะต้องขายเพื่อใช้หนี้ เพราะวันนี้เราหมดพันธกรณีทางนี้ เราจึงจะมีการแก้กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ โดยยกเลิกและจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ คือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อการปรับปรุงโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารจัดการและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการของรัฐ

เรื่องที่สอง คือเรื่องกฎหมายล้มละลาย เราจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย ให้มีมาตรการและกลไกที่เกิดความเป็นธรรม คุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่สุจริต โดยสร้างความสมดุลที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ

ฉบับที่สาม จะมีการปรับปรุงกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเราจะปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้บนพื้นฐานความเป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเป็นสำคัญ และจะยึดถือพันธกรณีตามหลักการต่างตอบแทนกับนานาประเทศ

ฉบับที่สี่ เป็นกลุ่มกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายที่ดิน กฎหมายอาคารชุด กฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์ และกฎหมายประกันสังคม รัฐบาลจะปรับปรุงให้กระบวนการพิจารณาคดีแพ่งเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคดีมโนสาเร่ การขาดนัดพิจารณาเพิ่มมาตรการควบคุมและดูแลการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารชุดของคนต่างชาติ และปรับระยะเวลาการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และการพาณิชยกรรมให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของการเช่า

ต่อไปนี้รัฐบาลคงจะมีภารกิจที่จะต้องทำต่อไป เพื่อรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ตัวเลขที่เป็นปัจจุบันให้อยู่อย่างนี้ได้ตลอดไป เพราะโดยปกติแล้วในอดีต การเติบโตทางเศรษฐกิจ มักจะเติบโตโดยขาดดุลการค้า และมีหนี้เพิ่ม แต่ครั้งนี้จะเป็นการเติบโตโดยมีหนี้ลด และดุลการค้าเป็นบวก เพราะนโยบายสองแนวทางที่เน้นเรื่องของเศรษฐกิจรากหญ้า เน้นเรื่องของการใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการนำเข้าอย่างมากมาย ทำให้ระบบการนำเข้านั้นไม่เติบโต ทำให้เรามีดุลการค้าเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนี้จะต้องท่องคาถาต่อไป ซึ่งเป็นคาถาที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐบาล นั่นคือ ลดรายจ่ายให้ประชาชน เพิ่มรายได้ให้ประชาชน ขยายโอกาสให้ประชาชน นี่คือสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทุกนโยบายจะต้องอยู่ใน 3 เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เราจะเดินหน้าในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เราจะเดินหน้าปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ที่ดินในประเทศไทยนั้นเกิดการผลิต ไม่ให้มีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าและไม่ได้รับการผลิต เราจะต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน โดยปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินต่อไป หลังจากที่มีการปรับปรุงและปฏิรูปไปแล้ว จะใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาสู่ระบบการบริหารการจัดการ ส่วนเรื่องของผู้ว่า CEO จะดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป การศึกษาจะมีการปรับปรุงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุก ๆ มิติ ทุก ๆ ภาคส่วนของประเทศ

แน่นอนครับ การปราบปรามยาเสพติดจะต้องมุ่งมั่น และดำเนินต่อไปโดยใช้ความเด็ดขาดอย่างต่อเนื่อง และการปราบปรามผู้มีอิทธิพลจะต้องดำเนินการ

ผมขอร้องผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย วันนี้ควรหยุดได้แล้ว หากท่านหยุดจะไม่มีการรื้อฟื้น ยกเว้นท่านมีคดีติดตัว แต่หากท่านไม่หยุดแสดงว่าท่านเป็นอันตรายต่อสังคม ท่านเป็นตัวเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับสังคม เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องเดินหน้าเรื่องนี้ และที่สำคัญคือ ธุรกิจใต้ดินทั้งหลายจะต้องถูกจัดการ และนำมาเป็นธุรกิจที่ตรงไปตรงมา เพื่อเพิ่มการเสียภาษีให้ถูกต้อง เป็นการขยายฐานภาษีให้กับประเทศ และจะต้องไม่มีระบบมาเฟีย ไม่มีระบบผู้มีอิทธิพล ระบบส่วยทั้งหลายจะต้องหมดไป

วันนี้มีอีกหนึ่งวาระ ที่จะต้องเรียนให้พี่น้องประชาชนคนไทยทราบ ซึ่งบังเอิญเป็นเหตุการณ์ที่ตรงกันพอดี คือเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและคนไทย สามารถที่จะชูธงได้อย่างสะดวกขึ้น ไม่มีข้อกฎหมายห้ามมากมายเหมือนเมื่อก่อน ผมได้เห็นนานาประเทศ เขาใช้ธงชาติของเขาอย่างชัดเจน ผมไปประเทศฝรั่งเศสเห็นธงชาติเต็มไปหมด ผมไปประเทศอเมริกาก็เห็นธงชาติเต็มไปหมด แต่อยู่ในประเทศไทยจะไม่ค่อยเห็นธงชาติ

เพราะฉะนั้น เรามาพร้อมใจกันในวันที่เราประกาศว่า เราหมดพันธกรณีกับไอเอ็มเอฟแล้ว เราควรอย่างยิ่งที่จะแสดงความเป็นหนึ่ง เรามีวินัยซึ่งผมเคยพูดหลายครั้งว่า ภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งมาควบคู่กับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประเทศที่ประสบผลสำเร็จในเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น จะมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ การยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ซึ่งต่างกับการสร้างชาติ การยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการสร้างชาติ การยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักนั้น เกิดจากการที่เราต้องคบค้าสมาคมกับนานาชาติ แต่เรายังคงยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ในหลายประเทศเขาใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจึงอยากบอกกับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศว่า ในส่วนราชการนั้นได้สั่งการไปแล้วว่า ควรจะชูธงในทุก ๆ ส่วนราชการ ส่วนพี่น้องประชาชนท่านภูมิใจในชาติ ท่านสามารถชูธงได้ทุก ๆ บ้าน ถือว่าถูกกฎหมาย แม้กระทั่งสินค้าเราจะอนุญาตให้สินค้าที่ส่งออกและเป็นสินค้าที่เหมาะสม สามารถขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์เพื่อใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ได้ ซึ่งก่อนนี้ไม่สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว

ฉะนั้นวันนี้ พี่น้องคนไทยที่เคารพครับ ผมต้องใช้เวลาของท่านเพื่อจะบอกกับท่านว่า รัฐบาลของท่านได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ประเทศไทยเราเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และเป็นประเทศที่ทำทุกอย่างโดยมีประชาชนเป็น ศูนย์กลาง เพื่อยึดไปสู่ความผาสุกของประชาชน ความก้าวหน้าของประเทศ รัฐบาลจะเพิ่มบทบาทในเวทีโลกต่อไป เพื่อขยายตลาดให้กับประเทศไทย เพื่อให้คนไทยนั้นได้มีงานทำ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยนั้นได้รับการขยายอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ที่รับนโยบายของผมไปในการที่จะชำระหนี้ไอเอ็มเอฟให้เสร็จเร็วกว่ากำหนด 2 ปี ซึ่งผมเองหลังจากที่ได้ดูตัวเลขและแนวโน้มทางเศรษฐกิจ มีความมั่นใจว่า เราชำระหนี้ได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งผมขอทำนายว่า เมื่อเราชำระหนี้แล้ว ในสิ้นปีนี้ เราจะมีเงินทุนสำรองที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่หนี้ลดและไม่มีหนี้ไอเอ็มเอฟอีกแล้ว

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณมิตรประเทศ ซึ่งต้องขอเอ่ยถึงในวันนี้ที่ได้กรุณาให้กู้เงินในยามวิกฤติ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนยามยาก ได้แก่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้เงินกู้เราเท่า ๆ กับไอเอ็มเอฟ นอกจากนั้นยังมีธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของประเทศจีน ประเทศฮ่องกง ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบรูไน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศแคนาดา ถึงแม้ว่าประเทศอินโดนีเซีย เราจะไม่ได้กู้เงินจากเขา เพราะเขาเกิดวิกฤติพร้อม ๆ กับเรา แต่เขาได้ตกลงใจให้เรากู้ยืมเงินจำนวน 500 เหรียญสหรัฐ ก่อนที่เขาจะเกิดวิกฤติ ซึ่งต้องขอขอบคุณในน้ำใจของประเทศอินโดนีเซียไว้ ณ ที่นี้ด้วย เราได้กู้ยืมเงินมาจากทั้ง 9 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนยามยากของเรา

วันนี้ไอเอ็มเอฟไม่ได้ให้ยาผิดกับเรา การที่ไอเอ็มเอฟได้ให้ยารักษาโรคหรือยาทางเศรษฐกิจกับเราในช่วงปี 2520 , 2525 , 2528 เป็นยาที่ถูกต้องและถูกกับยุคสมัยในช่วงนั้น เพราะช่วงนั้นเรามีคนไทยที่ร่วมทำงานกับเขาถึงมาตรการต่าง ๆ และเขายินดีรับฟังคนไทย และผลก็ออกมาด้วยความเรียบร้อย แต่มาคราวนี้ต้องยอมรับว่ายาของไอเอ็มเอฟผิด ทำให้เราต้องเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่ขณะนี้ความเสียหายที่เกิดจากการแก้ปัญหาสถาบันการเงินจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กองทุนฟื้นฟู คือธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังได้ตกลงกันนั้น ได้จัดการกับหนี้เหล่านั้นได้เรียบร้อยแล้ว และจะไม่มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศในหนี้ส่วนนั้น เดิมที่เดียวนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดว่าจะชำระหนี้โดยผ่อนเป็นงวด โดยการใช้รายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่แนวโน้มอย่างนี้เราเชื่อว่าหนี้ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ผิดพลาดมากกว่าที่ควรจะเป็นนั้น จะสามารถแก้ไขให้ชำระคืนได้เร็วกว่ากำหนด แต่หนี้ส่วนที่เป็นเงินบาทนั้นจะไม่มีปัญหา หนี้ส่วนที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นปัญหา วันนี้สามารถจัดการได้เรียบร้อยแล้ว

วันนี้เราต้องมีกำลังใจ เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทำหน้าที่ในเรื่องของครอบครัว ธุรกิจ และกิจวัตรที่ท่านจะต้องทำอย่างดีที่สุดด้วยความทุ่มเท แล้วประเทศไทยเราจะเข้มแข็ง เราจะไม่มีวันที่จะกลับไปสู่ไอเอ็มเอฟอีกครั้งหนึ่ง ตราบใดที่ผมยังอยู่ ผมจะแสดงความเข้มแข็งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามารับช่วงต่อจากผมและรัฐบาลของผมนั้น สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ ไม่ต้องพาคนไทยเข้าไอเอ็มเอฟอีกครั้ง ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนคนไทย อีกครั้ง สำหรับชัยชนะที่เราได้ร่วมกันพิชิตในวันนี้ ขอขอบคุณครับ สวัสดีครับ

อ้างอิง

แก้ไข
  • หน้า 2 หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546


ขึ้น
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"