แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543

แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎร และการกำหนดวันเลือกตั้ง

ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมทุกคนสิ้นสุดลง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน ๖๐ วัน ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้กำหนดให้จัดการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น รัฐบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และถือว่า การยุบสภาเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน เพราะจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ปัญหาทั้งปวงจะกลับไปยุติที่ประชาชนด้วยการเลือกตั้งบุคคลจากพรรคการเมืองที่มีนโยบาย วิธีปฏิบัติ และคุณธรรม ตรงตามที่ประชาชนพอใจมากที่สุด ให้มาเป็นฝ่ายข้างมากในการออกกฎหมายและควบคุมรัฐบาล และเป็นฝ่ายจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ

๒. การยุบสภาครั้งนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้เข้าบริหารราชการแผ่นดินในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ประเทศชาติกำลังประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างรุนแรง ประกอบกับมีภารกิจสำคัญยิ่ง คือ ต้องเร่งรัดจัดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันภายในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด บัดนี้ การดำเนินการเพื่อตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ดังกล่าว ประมาณ ๓๐ ฉบับ ได้สำเร็จลงแล้ว อีกทั้งการแก้ไขเยียวยาปัญหาภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ก็ได้ลุล่วงไปแล้วในระดับหนึ่ง จนเชื่อได้ว่า จะเป็นพื้นฐานรองรับการดำเนินการต่อไปในระยะยาวได้อย่างมั่นคง ทางด้านนิติบัญัติเอง ก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้น จนสามารถเรียกประชุมได้แล้ว รวมทั้งสามารถจัดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปีละสองสมัย ครบทั้งแปดสมัย ประชุมตลอดระยะเวลาสี่ปีของอายุสภาผู้แทนราษฎร ประการสำคัญ คือ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๔ แล้ว อันจะเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณใหม่และรัฐบาลใหม่ต่อไปได้โดยไม่สะดุดหยุยลง และได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จนสามารถตราขึ้นใช้บังคับ และศาลรัฐธรรมนุญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นเครื่องมือสำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย รวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม ดังนั้น จึงสมควรคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่

๓. รัฐบาลได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า โดยที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการใหม่หลายประการเป็นครั้งแรก ซึ่งประชาชนทั่วไปยังไม่คุ้นเคย เพราะไม่เคยมีการเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น จึงต้องมีระยะเวลาที่จะประชาสัมพันธ์และบริหารจัดการก่อนวันเลือกตั้งอย่างรอบคอบรัดกุม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งให้คำแนะนำว่า สมควรจัดเลือกตั้งในวันเสาร์ เพื่อจะได้ระดมบุคลากรจากภาครัฐและเอกชนมาช่วยงานที่ต้องทำเนื่องในวันถัดไปได้โดยสะดวก และวันเลือกตั้งควรมีระยะเวลาห่างจากวันยุบสภา ๕๐ วันเป็นอย่างน้อย เมื่อเป็นดังนี้ จุงเห็นควรจัดให้มีการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งมีเวลาห่างจากวันยุบสภา ๕๙ วัน

๔. รัฐบาลตระหนักดีว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบกำหนดอยู่แล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงความต้องการของประชาชนที่ประสงค์จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด การยุบสภาก่อนที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะครบกำหนดจึงเท่ากับเร่งให้สามารถจัดเลือกตั้งได้เร็วขึ้น

๕. เมื่อยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงด้วย แต่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๕ กำหนด เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแล้วให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และให้ระมัดระวังที่จะไม่กระทำการใดอันจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม หรือก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่า มีการฉวยโอกาสจากการที่ไม่มีองค์กรควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินไปกระทำการใดโดยมิชอบหรือไม่สุจริต

๖. ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้วยการเตรียมไปใช้สิทธิและทำหน้าที่ของตนด้วยความตื่นตัวและรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด และมีสถิติผู้มาออกเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย อันจะเป็นนิมิตหมายสำคัญแห่งความรุ่งเรืองของการปฏิรูปการเมืองและความรุ่งโรจน์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป

  • สำนักนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"