แบบหัดพูดภาษาเตี้ยจิว (แต้จิ๋ว)/คำอธิบาย

คำอธิบายวิธีอ่านสำเนียงจีน[1]

เมื่อจะอ่านคำที่เป็นภาษาจีนในหนังสือเล่มนี้ ผู้เรียนจะต้องกำหนดให้รู้ไว้ว่าบรรดาศัพท์ที่เขียนไว้เป็นคำ ๆ ยังไม่ได้ประสมเป็นประโยคหรือเป็นเนื้อความ ให้อ่านเป็นเสียงกลางดังที่เขียนไว้เป็นคำ ๆ นั้น แต่ถ้าเมื่อใดเอาคำเหล่านั้นมาประสมกันเข้าเป็นประโยคหรือเป็นเนื้อความแล้ว จะต้องอ่านแปรเสียงให้เพี้ยนไปหรีอให้สูงให้ต่ำตามวิธีของภาษาจีน เช่นคำว่า "เจี๊ยะ" (กิน) ถ้าอยู่แต่โดยลำพังก็ต้องอ่านหรือพูดออกเสียงเช่นนั้น แต่ถ้ารวมคำเข้าเป็นประโยคจะต้องแปรเสียงไปเป็น "เจี้ยะ" เช่น "เจี้ยะปึ้ง" (กินเข้า) เป็นต้น

อนึ่งสำเนียงในภาษาจีนที่เขียนเป็นภาษาไทยไม่ได้เพราะไม่มีวรรณยุตจะใช้ ก็ได้มีเครื่องหมายกำหนดให้อ่านแปรเสียงเป็นพิเศษดังต่อไปนี้

๑. ถ้าคำใดใช้ตัวพิมพ์เส้นหนา ให้อ่านออกเสียงทอดระยะให้ยาว เช่น ไล้ (มา), ก๊า (คาบ), ไช้เท้า หัวผักกาด, ฯลฯ

๒ คำตัว ค หรือตัว ข ที่มีดอกจันทน์กำกับอยู่ด้วย ให้อ่านออกเสียงมาแต่ลำฅอเหมือนอย่างอักษร ค. ในภาษามคธ หรืออักษร G ในภาษาอังกฤษ เช่นคำว่า คั่ว* (กว่า), ค่อ* (อด) คู้* (วัว), ขือ* ลูกกระเดือก, ฯลฯ

๓. คำใด ๆ ถ้ามีเครื่องหมายเช่นนี้ † กำกับอยู่ข้างหลัง ให้อ่านออกเสียงคำนั้น ๆ ขึ้นนาสิก เช่น อั๊ว† (ฉัน), สี่† (พัด), เซีย† (เสียง), ฯลฯ

๔. คำที่เป็นสองพยางค์ ถ้ามีเครื่องหมายเช่นนี้ ‿ โยงไว้ข้างใต้ ให้อ่านคำนั้นกล้ำกันไปในคราวเดียว อย่าออกเสียงเป็นคำ ๆ ให้เสียงแตกจากกันได้ เช่น อี͜ย้ง (เขาอ่อน), มั้ว͜ยะ (ทำ,) อี͜ย่กเกี๊ย (ฟูก), จุ๊ยฮี͜ย้ง (น้ำเชี่ยว) เป็นต้น



  1. เนื่องจากภาษาไทยและภาษาแต้จิ๋วในงานชิ้นนี้แตกต่างจากปัจจุบัน สามารถเทียบเสียงโดยประมาณได้ดังนี้
    • คำแต้จิ๋วที่สะกดด้วยเสียงวรรณยุกต์เสียงโทในงานชิ้นนี้ คือคำที่ออกเสียงด้วยวรรณยุกต์เสียง 4 และ 7 ในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งปัจจุบันมักเทียบเคียงเป็นเสียงเอกในภาษาไทย เช่น เจี้ยะปึ้ง ปัจจุบันออกเสียงเป็น เจียะปึ่ง
    • คำแต้จิ๋วที่สะกดด้วยเสียงตรีและมีการทำตัวหนาในงานชิ้นนี้ คือคำที่ออกเสียงด้วยวรรณยุกต์เสียง 5 ซึ่งปัจจุบันมักเทียบเคียงเป็นเสียงตรีในภาษาไทยเช่นเดิม เช่น ไล้ ปัจจุบันออกเสียงเป็น ไล้ (เหมือนเดิม)
    • คำแต้จิ๋วที่สะกดด้วยเสียงตรี และลงท้ายด้วยเสียงกัก (ไม่มีตัวสะกดแต่เป็นสระเสียงสั้น หรือมีตัวสะกดเสียง ก บ ด) ซึ่งจะไม่มีการทำตัวหนาในงานชิ้นนี้ คือคำที่ออกเสียงด้วยวรรณยุกต์เสียง 8 ซึ่งปัจจุบันมักเทียบเคียงเป็นเสียงตรีในภาษาไทยเช่นเดิม เช่น เจี๊ยะ ปัจจุบันออกเสียงเป็น เจี๊ยะ (เหมือนเดิม)
    • คำแต้จิ๋วที่สะกดด้วยเสียงตรี ไม่ได้ลงท้ายด้วยเสียงกัก และไม่มีการทำตัวหนาในงานชิ้นนี้ คือคำที่ออกเสียงด้วยวรรณยุกต์เสียง 2 ซึ่งปัจจุบันมักเทียบเคียงเป็นเสียงโทในภาษาไทย เช่น ลื้อ ปัจจุบันออกเสียงเป็น ลื่อ
    • คำแต้จิ๋วที่มีตัวสะกดเป็น น ปัจจุบันมักออกเสียงตัวสะกดนี้เป็น ง เช่น ซิน → ซิง
    • คำแต้จิ๋วที่มีตัวสะกดเป็น ด ปัจจุบันมักออกเสียงตัวสะกดนี้เป็น ก เช่น ยิด → ยิก
    • คำแต้จิ๋วที่สะกดเป็น เอย ปัจจุบันหลายสำเนียงมักออกเสียงเป็น โอย เช่น เส่ย → โส่ย
    (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)