แม่ย่านาง วรรณคดี และราชาวดี/เรื่อง 1
ในเรื่องนารายณ์สิบปาง (ฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๖) ตอนหนึ่งมีเรื่องเล่าไว้ว่า
ครั้งหนึ่ง พระอิศวรกับพระอุมาภควดีเสด็จประพาสทะเล ทรงสัตว์เหราเป็นเทพพาหนะ พระนารายณ์ทรงนาคเป็นบัลลังก์นำเสด็จ ส่วนเทวดาและนางฟ้าอื่น ๆ ตามเสด็จเอาหมู่มัจฉาและสัตว์มีเท้าต่าง ๆ เป็นพาหนะ
กล่าวถึงกุ้ง ทราบว่า พระเป็นเจ้าเสด็จมา ก็ไปร้องทุกข์ต่อพระอุมาว่า ที่ทรงบันดาลให้เกิดมีสัตว์น้ำต่าง ๆ ขึ้น แต่ละตัวก็ล้วนมีฟันและเขี้ยวเงี่ยง ในตัวก็มีก้างมีกระดูก ร่างกายนั้นจึงแข็งแรง แต่ส่วนกุ้งนั้นมีแต่ก้าม ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกหุ้นนั้นก็บางนัก สัตว์ทั้งปวงพากันข่มเหงจับกินเสียทุกวัน จนกุ้งจะสูญพันธุ์อยู่แล้ว ที่ทรงสร้างกุ้งให้มีลักษณะอย่างนี้เป็นการน้อยหน้าสัตว์น้ำอื่น ๆ นัก ขอได้โปรดให้กุ้งมีความสุขบ้าง พระอุมาจึงประทานพรแก่กุ้งตามที่ต้องการ คือ บนศีร์ษะกุ้ง ให้เลื่อยเป็นสองคมปลายแหลม ต้นเป็นบ้อง ข้างหางเป็นหอกปลายแหลม เมื่อสัตว์ใดกินกุ้ง กุ้งจะได้เลื่อนท้องเจาะออกพ้นจากเป็นอาหาร สัตว์พวกนั้นจะได้เข็ดหลาบ แต่การที่ประทานพรนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า กุ้งจะต้องกินแต่ของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น
จำเดิมแต่กุ้งได้พรพระอุมา ก็มีความเจริญสืบพืชพันธุ์มีจำนวนมากขึ้น เพราะไม่มีสัตว์อื่นกล้ามารังแกจับกินด้วยกลัวอาวุธกุ้ง คราวนี้ก็เกิดความเดือดร้อนเรื่องอาหารไม่พอกัน เพราะกุ้งมีจำนวนเกิดมากกว่าตาย จึงต้องแย่งชิงกันกินไม่อิ่ม ครั้นจะทำอันตรายแก่สัตว์ที่มีชีวิต ก็กลัวจะเสียสัตย์ที่รับปฏิญารไว้ จึงไปปรับทุกข์กับกั้ง กั้งก็ว่า กุ้งมีอาวุธทั้งหัวและหาง ไม่ควรเลยที่จะอดอาหาร ถ้าเป็นกั้งได้มีอาวุธอย่างกุ้งแล้ว ก็จะคิดอุบายหากินให้ได้เกินอิ่มเสียอีก ทั้งจะไม่ให้เสียสัตย์ที่รับไว้แก่พระเป็นเจ้าด้วย กุ้งพอใจจึงผูกสมัครสังวาสถ่ายพืชพันธ์กันเพื่อจะคิดหากินด้วยกันสืบไป เพราะฉะนั้น กั้งจึงมีอาวุธที่หัวและหางอย่างกุ้ง แล้วกั้งจึงแนะอุบายให้กุ้งเอาอาวุธที่หัวและหางเจาะท้องเรือสำเภาให้ทลุรั่วจมน้ำ ครั้นสำเราร่มแล้ว เจ๊กที่ไม่รู้จักว่ายน้ำก็จมน้ำตายเป็นอันมาก กุ้งจึงเอาเลื่อยตัดศีร์ษะออกไว้เป็นส่วนแบ่งของกั้ง ส่วนกุ้งนั้นกินตัว ผีเจ๊กที่ตายในน้ำเป็นอาหารอุดมมัธยมยิ่งนัก จนเนื้อกุ้งเป็นรูปเจ๊กต่าง ๆ แต่หาโลหิตมิได้ รูปเจ๊กที่ไม่มีหัวจึงปรากฏอยู่ในเนื้อกุ้งจนตราบเท่าทุกวันนี้ ฝ่ายพวกเจ๊สั้วและนายสำเภาและเรือต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อนนัก ก็พากันออกไปปรับทุกข์กับเจ้าหมาจ่อขอบุญบารมีท่านช่วยคุ้มครอง เจ้าหมาจ่อว่า กุ้งเขาได้เทพอาวุธพระผู้เป็นเจ้า เราจะทำอย่างไรได้ เราก็กลัวพระผู้เป็นเจ้า ด้วยพระผู้เป็นเจ้าตั้ง เราเรียกว่า เจ้ายอดสวรรค์ ท่านก็เป็นที่พึ่งแห่งเรา พวกเจ๊สัวนายสำเภาก็ร้องไห้วิงวอนต่าง ๆ แล้วว่า จะบวงสรวงพลีกรรมเครื่องสังเวยต่าง ๆ กับเจ้าหมาจ่อทุกเที่ยวเรือไปเรือมา เจ้าหมาจ่อก็คิดสงสารกับพวกพาณิชทั้งปวงนัก เจ้าหมาจ่อว่า เราจะปรึกษาเจ้านายผู้ใหญ่ดูก่อน พวกเจ้าจงไปหาแพรสีแดงสีทับทิมสิ่งละสิบพับกับดอกไม้ธูปเทียนสำหรับเชิญเจ้าที่จะมาปรึกษา ฝ่ายเจ๊สัวและนายสำเภาทั้งปวงก็เรี่ยไรกันได้ครบ แล้วก็นำไปถวายเจ้าหมาจ่อ เจ้าหมาจ่อจึงมอบให้ทหารชื่อ เชยหลีหมัก ๑ ซุ้นฟุ้งงี ๑ เป็นสองนาย นำเอาของไปถวายเจ้าทั้ง ๘ ทิศ แล้วกำหนดวันเชิญเจ้าทั้ง ๘ ทิศมา ณ ศาลาเจ้าจับปวยเล่าหวนเป็นศาลใหญ่ ฝ่ายทหารทั้งสองรับคำสั่งเจ้าหมาจ่อคุมเอาแพรห้อยหน้าศาล และดอกไม้ธูปเทียนกิมฮวยอั้งติ๋วไปคำนับเจ้าทั้ง ๘ ทิศ แล้วกำหนดนัดวันพร้อมกันตามเจ้าหมาจ่อสั่ง แล้วเจ้าหมาจ่อสั่งให้พวกร้องทุกข์ทั้งปวงจัดเครื่องสังเวยคาวหวานดอกไม้ธูปเทียนทองเงิน เผาไม้หอม ตีม้าฬ่อ จุดประทัดสัญญา เจ้าก็มา⟨ตาม⟩นัดทั้ง ๘ ศาล พากันรับเครื่องสังเวย แล้วเจ้าหมาจ่อจึงปรึกษาในที่ชุมนุมพร้อมกันว่า พวกเจ๊สัวนายเรือสำเภาได้ความยากจนเดือดร้อนมาร้องทุกข์ว่า พวกกุ้งและกั้งเจาะเลื่อยท้องเรือสำเภาทลุล่มจมเสียทรัพย์สิ่งของเป็นอันมาก จีนนายเรือและลูกเรือจมน้ำตาย ศพผีที่ตายนั้นกุ้งก็เอามาเป็นอาหารเสียสิ้น พวกญาติผู้ตายไปเที่ยวหาศพจะเอามาฝังตามธรรมเนียมก็ไม่ได้พบเลยสักคนหนึ่ง เกิดเหตุใหญ่ดังนี้ เราจะนิ่งเสียหรือ ๆ จะทำประการใดดี ขอสติปัญญาท่านช่วยตรึกตรองระงับทุกข์ของผู้ได้ความเดือดร้อน เจ้าทั้ง ๙ องค์จึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า สำเภาและเรือต่าง ๆ เป็นเครื่องประดับที่ให้ครึกครื้นในท้องชลมารค ฝ่ายเจ๊สัวนายเรือคิดค้าขายเล่า ก็หมายจะให้บริบูรณ์ทรัพย์สมบัติมั่งคั่ง ทำโรงเรือนตึกและบ้านก็งามเมือง และเมืองใดไม่มีพวกพาณิช เป็นเมืองทุกขตะ ไม่อาจใหญ่โตจำเริญขึ้นได้ พวกผู้เป็นเจ้าสร้างโลกทั้งสามภพก็หมายจะให้ถาวรบริบูรณ์ทั่วไปทั้งเทพามนุษย์และสัตว์ ฝ่ายกุ้งเล่าเดิมก็เป็นสัตว์ทุพพลภาพสำหรับเป็นอาหารแห่งผู้มีอำนาจต่าง ๆ จนไปร้องทุกข์ว่า จะสูญพืชพันธ์เสียหมดแล้ว พระอุมาภควดีมีเสาวนีโปรดบันดาลให้มีอาวุธรักษาตัว กุ้งกั้งก็มีอำนาจเรี่ยวแรงขึ้น กลับคิดทำอุบายให้มนุษย์ฉิบหายถึงสิ้นชีวิต ก็พากันกินศพเป็นอาหาร ดั่งนี้ ซึ่งเราจะนิ่งเสียนั้นไม่ชอบ จำเราจะนำเอาความร้องทุกข์ของคนยากขึ้นกราบทูลพระอิศวรเป็นเจ้า พระอุมาภควดีผู้เจ้าของสร้างโลก จึงจะควร ปรึกษาเห็นชอบด้วยกันแล้ว สั่งให้เสมียนเขียนคำร้องทุกข์ดุจกล่าวมาแต่หนหลัง แล้วสลักหลังคำร้องลงชื่อเจ้าทั้ง ๑๐ ปิดตรายี่ห้อตามชื่อ ลงเนื้อเห็นเสร็จแล้ว ส่งให้เจ้าหมาจ่อ ๆ รับฎีกาคำร้องนำขึ้นไปยังพระนครเทพสถานทิพยพิมานเหนือเขาไกรลาศ ครั้นถึง พอพระเป็นเจ้าทั้งสองเสด็จออก เจ้าหมาจ่อก็กราบถวายบังคมแล้วอ่านฎีกาทูลถวายซึ่งพวกพาณิชร้องทุกข์กล่าวโทษกุ้งกั้งทั้งหลายซึ่งมิได้ตั้งอยู่ในสัตย์ เจ้าทั้ง ๑๐ ลงชื่อเห็นพร้อมกันว่า กุ้งกั้งกระทำจลาจลในทางพระคงคามหาสมุทร์ให้พวกพาณิชได้ความฉิบหายถึงสิ้นชีวิตมากมายฉนี้ ก็เป็นข้อผิดอุกฤษฐโทษยิ่งนัก แล้วแต่จะทรงวินิจฉัยโปรด พระอิศวรผู้เป็นเจ้าทรงทราบ ตรัสว่า สัตว์ในพระคงคา พระอุมาภควดีบันดาลสร้างมา มีพันธ์ต่าง ๆ เธอจงกำราบปราบปรามให้สิ้นพยศอันร้าย องค์พระอุมาภควดีรับเทวโองการแล้วมีพระเสาวณีตรัสว่า กุ้งกั้งนี้เดิมบันดาลให้เกิดมาพอเป็นเพื่อนน้ำเพื่อนสัตว์ทั้งปวงซึ่งเกิดในพระคงคา เผอิญพากันข่มเหงเอามันเป็นอาหาร ทั้งมนุษย์แลสัตว์ต่าง ๆ จนมันสิจวนสิ้นพืชพันธ์อยู่แล้ว เมื่อพระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงไปทอดพระเนตร์ทางชลมารค หมายจะใคร่ทราบความสุขและทุกข์ของสัตว์ในพระคงคา เกล้ากระหม่อมก็ตามเสด็จไปด้วย ฝ่ายกุ้งจึงร้องกล่าวถึงความทุกข์ซึ่งสัตว์และมนุษย์ทั้งปวงพากันข่มเหงเอาเป็นอาหาร จึงได้อนุญาตให้มีเทพอาวุธทั้งศีร์ษะและหางพอกันอันตรายรักษาชีวิตเพื่อจะมิให้สูญพืชพันธ์ แล้วให้ถือสัตย์บริโภคแต่ของหาชีวิตมิได้ ฝ่ายมนุษย์เล่าที่ดับสังขารบางคนก็ฝังบางคนก็เผา ที่ไม่มีญาติพวกพ้องจะเผาจะฝัง ศพนั้นก็เป็นเหยื่อแร้งกาสัตว์บกต่าง ๆ ไม่มีผู้ใดจะให้ทานอาหารแก่หมู่สัตว์ทั้งปวงบ้างเลย ตั้งแต่จะกินกันและกันร่ำไป ซึ่งกุ้งกระทำอุบายให้มนุษย์ฉิบหายตายในน้ำแล้วเอาเป็นอาหารของตน โทษก็มีเป็นข้อใหญ่ถึงสามประการ จึงมีพระเสาวนีประสาทให้พระอนันตนาคราชลงไปกระทำทรมานกุ้งกั้งให้เสื่อมพยศอันร้ายตามประพฤติเหตุที่ก่อเวรกรรมพอสมควรที่จะเข็ดหลาบ โลกเราจึงจะบริบูรร์ถาวรสืบไป พระอนันตนาคราชรับเทวโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสองลงไปพร้อมกับเจ้าหมาจ่อยังท้องพระมหาสมุทร ครั้นถึง พระอนันตนาคราชก็แผลงฤทธิ์ให้พระคงคาสะท้านสะเทือนกัปนาทหวาดหวั่นไหวเกิดลมและคลื่นกระฉอกช่อน สัตว์ในพระคงคาที่มิได้มีความผิดก็สะทกสะท้านหวาดหวั่นด้วยไม่รู้ตัว แต่กุ้งกั้งนั้นเป็นผู้กระทำความผิด ตกใตโลดเต้นพิลึกสะพึงกลัวเป็นอันมาก ในกะเพาะอาหารเก่าใหม่ขึ้นไปอยู่บนศีร์ษะ พระอนันตนาคราชก็แปลงกายให้ตัวยาว เอาหางกวาดท้องพระมหาสมุทรรวบรวมเอาเรือและเภตราที่ล่มจมกับกุ้งปลาใหญ่น้อยทั้งปวงเข้ามั่วสุมอยู่ในปริมณฑลระหว่างตัวพระยาอนันตนาคราช แล้วประกาศด้วยเสียงอันดังดุจดังเสียงอสุนีบาตว่า กุ้งเป็นสัตว์โลภอาหาร ทำอุบายเจาะท้องเรือสำเภาให้ล่มจม เจ๊กจีนตายเสียเป็นอันมาก ประสงค์จะกินศพเจ๊กเป็นอาหาร สำเภาและสินค้าในลำเล่าก็เป็นของมีเจ้าของหวงแหน กองเวรกรรมอันนี้จึงบันดาลให้เป็นสำเภาประดิษฐานติดอยู่ในแก้มขวาซ้ายแห่งกุ้งถ่วงให้หนักอย่าให้ผุดน้ำเงยหัวขึ้นเจาะท้องเรือสำเภาได้ อันหนึ่ง เทพอาวุธทั้งหัวและหางให้กลายเป็นอัฐิพอกันตัว จะไปในสถานที่ใดให้เดินถอยหลังไปกว่าจะสูญสิ้นพระคงคา จึงจะพ้นทุกข์ตามเทวโองการสาป ครั้นขาดคำพระอนันตนาคราชดำเนินข้อรับสั่งพระผู้เป็นเจ้า สำเภาก็อุบัติแล่นเข้าไปในปากกุ้งติดอยู่แก้มซ้ายขวาข้างละลำ แล้วก็สาปสั่งเจ๊สัวนายสำเภาซึ่งจะใช้เรือสำเภาค้าขายสืบไปให้นับถือเข้ายอดสวรรค์ขออำนาจเธอไปคุ้มครองรักษาเรือสำเภาจงทุกเที่ยวไปมาชั่วกัลปาเป็นนิสสัยจนทุกวันนี้ ครั้นเสร็จราชการทรมานกุ้งแล้ว พระอนันตนาคราชก็กลับไปยังสถานที่เคยอยู่.
นิยายที่เล่ามานี้มีเรื่องที่จะพูดต่อไป ก็คือ เจ้าหมาจ่อนั้นเป็นใคร ในเรื่องก็ว่า เจ้าหมาจ่อเป็นผู้ที่เจ๊สัวและนายสำเภาพากันไปร้องทุกข์ จึงน่าจะเข้าใจว่า คงเป็นเจ้าเจ๊ก ไม่ใช่เจ้าแขก แต่ในนั้นเองกล่าวว่า เจ้าหมาจ่อเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าของแขกตั้งให้เป็น "เจ้ายอดสวรรค์" ซึ่งน่าจะเป็นคำที่ถอดเอาความหมายไปจากคำในภาษาจีน อันที่จริง เจ้าหมาจ่อนี้ไม่ใช่มีอยู่ในหนังสือนารายณ์ ๑๐ ปางฉบับนี้เท่านั้น แม้ในหนังสือที่แต่งในสมัยกรุงธนบุรีก็กล่าวถึงอยู่แห่งหนึ่ง แต่เขียนว่า พระหมาจอ ซึ่งคงจะแปลงเสียง จ่อ ให้เป็น จอ เพื่อให้แปลเอาความในภาษาไทยได้ทั้งสองคำ เป็นชนิดคำซ้อนที่หมายความในคำหน้ากับคำหลัง แปลความเป็นอย่างเดียวกัน เป็น ใหญ่โต เล็กน้อย รูปร่าง ซากศพ เจ้าหมาจ่อที่เล่ามานี้มีกล่าวไว้ในนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีนครั้นกรุงธนบุรีแห่งหนึ่งว่า "เย็นเช้าไหว้เจ้าด้วยมาล่อ พระหมาจอฟังอึงคนึงเนือง ครั้นค่ำแขวนโคมเคียงเรืยงเรือง ตลอดเบื้องหน้าท้ายที่รายไป" ความตอนนี้แสดงว่า เจ้าหมาจ่อ หรือพระหมาจ่อ เป็นเจ้าของจีน และรู้จักกันมาแต่ก่อนโน้น คงจะมาลืมกันในสมัยที่เลิกใช้การเดินเรือสำเภาแล้ว ในหนังสือนารายณ์สิบปางยังกล่าวต่อไปว่า เจ้าหมาจ่อมอบให้ทหารสองคนชื่อ เชยหลีมัก กับซุ้นฟุ้งหงี นำเอาของไปถวายเจ้าทั้งแปดทิศ แล้วกำหนดวันเชิญเจ้าทั้งแปดทิศมาณศาลเจ้าจับกวยเล่าหวนเพื่อทำคำร้องทุกข์ไปยื่นต่อพระอิศวร ความตอนนี้ออกจะสนุกมาก เพราะทหารเทวดาสองตนของเจ้าหมาจ่อนั้น ถึงแม้ว่าเป็นทหารเทวดาจีนด้วยกัน แต่ก็คงเป็นคนละชาว เพราะตัวที่ชื่อว่า เชยหลีหมัก ในภาษาแต้จิ๋วว่า ตาเห็นได้ไกลตั้งพันลี้ เพราะฉนั้น เทวดาองค์นี้หน้าจะเป็นเทวดาชาวแต้จิ๋วหรือเทวดาชาวฮกเกี๋ยน ส่วน ซุ้นฟุ้งหงี เห็นจะเป็นเทวดาของชาวแครหรือกวางตุ้ง เพราะถ้าเป็นชื่อเทวดาชาวแต้จิ๋ว จะต้องเป็น ซุ้นฮวงยื้อ แปลว่า หูได้ยินตามลม หรือลมพัดไปถึงไหนก็ได้ยินไปถึงนั้น เทวดาทั้งสองนี้ เมื่อสมัยห้องสิน เคยเห็นผิดเป็นชอบไปเข้าข้างพระเจ้าติวอองทำการสู้รบกับเกียงจูแหยแม่ทัพฝ่ายพระเจ้าบูอ๋อง สงครามครั้งนั้น ฝ่ายเกียงจูแหยออกรบก็พ่ายแพ้แก่ปรปักษ์ทุกครั้ง คิดอุบายกลศึกอย่างไรไป ฝ่ายข้าศึกก็ทราบทุกที เพราะเมื่อปรึกษาหารือกัน เชยหลีหมักกับซุ่นฮวงยื้อก็เห็นและได้ยินหมด ภายหลังต้องคิดหนทางป้องกันโดยเอาธงมากคันด้วยกันมาโบกสบัดบังไว้ แล้วตีกลองให้สนั่นหวั่นไหว เชยหลีหมักกับซุ่นฮวงยื้อก็ไม่อาจเห็นหรือได้ยินได้ถนัด ศึกจึงเป็นต่อแก่ฝ่ายเกียงจูแหย ตามที่เล่ามานี้ เล่าตามภาพยนตร์จีนที่เคยดู จะตรงกับในเรื่องห้องสินฉบับแปลเป็นภาษาไทยเพียงใดยังไม่ได้สอบ
ในตอนที่ว่า เจ้าหมาจ่อกำหนดวันเชิญเจ้าแปดทิศมาณศาล จับปวยเล่าหวน นั้น เห็นจะเป็นเสียงชาวฮกเกี๋ยน ถ้าเป็นเสียงชาวแต้จิ๋ว คงเป็นคำเดียวกับคำว่า จับโป้ยล่อหั่น ซึ่งแปลว่า พระอรหันสิบแปดองค์ ซึ่งตามคติของมหายานย่อมทำเป็นรูปไว้ทั้งสิบแปดองค์เพื่อผู้ไปบูชาจะได้ไปเสี่ยงทายขอใบเซียมซี (ดังแจ้งอยู่ในหนังสือลัทธิของเพื่อน ภาค ๔ ตอน ๓ นั้นแล้ว)
ย้อนพูดถึงเจ้าหมาจ่อต่อไป ในเรื่องของจีนมีเทวดาผู้หญิงอยู่องค์หนึ่งเรียกชื่อกันว่า หมาโจ๊บ๊อ แปลว่า เจ้าแม่ย่าชวด หนังสือ Schlegel's Siamese Studies สันนิฐานคำว่า แม่ย่านาง ซึ่งเป็นเจ้าประจำเรือนั้นว่า มาจากคำในภาษาจีนว่า (เหย่เหนี่ยง) เหย่ เสียงแต้จิ๋วเป็น เอี๋ย เป็นคำให้เกียรติยศ ใช้นำน่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินและขุนนาง ฯลฯ ส่วน เหนี่ยง เสียงพูดในแต้จิ๋วเป็น เนี้ย แปลว่า หญิงในตระกูลเจ้า ตรงกับคำว่า นาง ของเรา เช่น นางพญา นางสุวรรณมาลี นางบุษบา นางเรวดี ⟨นาง⟩นพมาศ เป็นต้น ท่านที่เคยดูงิ้ว เวลาพระมเหษีเสด็จออก พวกข้าราชการจะก้มลงแสดงเคารพแล้วจะได้ยินคำว่า เหนี่ยง ๆ แปลว่า พระนางเจ้า ในหนังสือเรื่องจีนที่แปลออกเป็นภาษาไทยใช้คำ เหนี่ยง ๆ นี้ว่า เนี่ยเนี้ย ฉนั้น คำว่า เหนี่ยง ในภาษาจีน จะตรงกับคำว่า นาง ในภาษาไทย ไทยได้คำว่า นาง มาจากจีน หรือว่าจีนได้ไปจากไทย หรือว่านางมาจาก เนียง ในภาษาเขมร ซึ่งเขาเขียนเป็น นาง แต่อ่านว่า เนียง หรือว่า เนียง ในภาษาเขมรจะเอาไปจากนางในภาษาไทย ก็แล้วแต่ท่านจะคิดเห็น ส่วนที่ศาสตราจารย์ Schlegel ว่า ย่านาง มาจาก เหย่เหนี่ยง ฟังเสียงและความดูก็ได้กันดี แต่คำว่า เหย่ นี้เคยพบในภาษาจีนใช้แต่ท่านที่เป็นผู้ชาย เช่น เล่าเอี๋ย ไท้เอี๋ย ส่วนที่ใช้แก่ท่านหญิงยังไม่เคยพบ สอบถามจีนก็ว่า ใช้นำหน้าผู้หญิงไม่ค่อยพบ จึงยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่า เหย่เหนี่ยง กับ ย่านาง จะเป็นคำเดียวกันหรือไม่ บางที แม่ย่านาง จะแปลเป็นภาษาไทยมาจากคำว่า หมาโจ๊บ๋อ ก็รู้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี คำว่า หมาโจ๊ คงเป็นคำเดียวกับในหนังสือนี้เรียกว่า หมาจ่อ หรือที่ในนิราศพระยามหานุภาพว่า หมาจอ และโดยเหตุที่หมาโจ๊เป็นที่นับถือของชาวทะเล พวกเดินเรือจีนย่อมเคารพบูชาเจ้าแม่องค์นี้ทุกเวลาเย็น จึงควรเทียบเจ้าหมาโจ๊นี้ได้ด้วยแม่ย่านางของเรา เรือตะเภาของพวกจีนไหหลำในขณะที่จอดทอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ก่อนนี้ ถ้าท่านเคยผ่านไปในเวลาเย็นตรงกับเวลาที่เขาไหว้เจ้า ก็จะเห็นคนเรือจุดธูปเข้ากำหนึ่งไปยืนทำท่าไหว้เจ้า หันหน้าสู่ท้ายเรือตะเภา แล้วหันซ้ายและขวาข้างละที พร้อมทั้งมีการตีม้าล่อ นี่คือพิธีไหว้เจ้าแม่ย่านาง ตรงกันกับที่พระยามหานุภาพเล่าไว้ในนิราศ พิธีนี้ชาวไหหลำยังจะคงทำอยู่หรือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ผู้เขียนไปทราบ ด้วยไม่เคยเห็นมานานแล้ว ที่ท้ายเรือตะเภามักมีธงเขียนอักษรจีนว่า เทียนเฮา หรือ เทียนเฮาเซียป๊อ ปักไว้ เทียนเฮา แปลว่า พระนางเจ้าเสวยสวรรค์ เห็นจะตรงกับคำว่า เจ้ายอดสวรรค์ ที่พระอิศวรทรงตั้งให้ดั่งในหนังสือเรื่องนี้ บางทีก็เรียกว่า ม้าเท่าเหนี่ยง แปลว่า พระนางเจ้าย่า ผู้เป็นประธานหรือเป็นหัวหน้า คำว่า ประธาน หรือ หัวหน้า กับคำว่า ยอด ดูความก็ไปกันได้อีก โดยเหตุที่สถิตหรือศาลเจ้าของพระ (ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก) อยู่ที่ท้ายเรือ พระนางจึงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า จุ้นบ้วยเนี้ย แปลว่า พระนางท้ายเรือ ศาลเจ้าไหหลำที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาข้างถนนราชวิถีสามเสนก็เป็นศาลเจ้าแม่องค์นี้ เรียกตามเสียงไหหลำว่า ตุ้ยบ้วยเต้งเหนี่ย (แต้จิ๋ว จุ้ยบ้วยเซียเนี้ย) และถ้าท่านจะมองลงไปในแม่น้ำบริเวณศาลเจ้านั้น จะพบเรือข้าวชาวไหหลำเสมอ ฉนั้น จึงได้มีศาลเจ้าไว้สำหรับชาวเรือจะได้ขึ้นไปบูชาเพื่อขอโชคลาภและความคุ้มครองป้องกันภัยจากเจ้าแม่.
เจ้าหมาจ่อนี้มีเรื่องเล่าว่า ครั้งสมัยราชวงษ์ซ้อง นางเป็นธิดาชายคนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดเฮงฮั้ว มีอาชีพในการเดินทะเล วันหนึ่ง ธิดาชายคนนั้นทอผ้าอยู่ในบ้านเหนื่อยอ่อนม่อยหลับไปโดยเอาศีร์ษะพาดเครื่องทอนอนแล้วฝันเห็นพ่อและพี่ชายสองคนซึ่งต่างอยู่ในเรือคนละลำ เรือนั้นถูกพายุใหญ่จวนจะล่มลงแล้ว ในฝันว่า นางพยายามเข้าช่วยโดยอ้าปากคาบคว้าเรือลำที่บิดาอยู่ ส่วนมือคว้าเรือที่มีพี่ชายอยู่ข้างละลำ แล้วพยายามลากเข้าฝั่ง เผอิญได้ยินเสียงแม่เรียก ก็อ้าปากขานรับและตกใจตื่นและวิตกว่า ความฝันนั้นอาจเป็นจริง ต่อมาสองสามวัน ก็ได้ข่าวว่า เรือที่บิดาและพี่ชายไปด้วยถูกพายุใหญ่ ลำที่บิดาอยู่ล่มอับปางลง แต่พี่ชายมีคนช่วยไว้ได้ นางจึงรู้ได้ว่า ผู้ที่ช่วยพี่นั้น คือ นางเอง แต่เป็นเพราะไปอ้าปากขานตอบมารดา จึงช่วยบิดาไว้ไม่ได้ ต่อมาเมื่อนางตายไปแล้ว ก็ไปเกิดเป็นจ้าวทะเล มีทหารรับใช้ คือ เชยหลีหมัก ซุ้นฟุ้งหงี พวกเดินทะเลนับถือมากเวลาจะออกทะเล หรือผู้ที่ทำการในแม่น้ำและทะเลสาป มักเอาขี้เท่าธูปที่จุดบูชาเจ้าแม่นี้ห่อถุงผ้าแดงเล็ก ๆ ห้อยไว้ที่เรือในที่อันสมควร หรือห้อยไว้ตรงที่มีรูป หรือเป็นที่บูชาเจ้าแม่ ถ้าเกิดพายุบุแคม ก็ต้องเส้นไหว้กันใหญ่ ดั่งนี้แล.