แม่ย่านาง วรรณคดี และราชาวดี/เรื่อง 2
ท่านคงจะเคยพูดหรือได้ยินเขาพูดกันว่า ไปดูละเมงละคร ละครนั้นท่านเคยดู แต่ละเมงท่านคงไม่เคยดู และท่านก็คงนึกว่า ละเมง ก็คือ ละคร นั่นเอง แต่ในการเล่นของหลวง มีระเบงอยู่อย่างหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นการเล่นละเมงที่คู่กับละครนั่นเอง.
ระเบงที่เป็นการเล่นของหลวงนั้นเป็นการเล่นอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง คือ (๑) ระเบง (๒) โมงคลุ่ม (๓) กุลาตีไม้ (๔) แทงวิสัย และ (๕) กะอั้วแทงควาย ซึ่งเล่นในงานพระราชพิธีโสกันต์หรือในงานสมโภชช้างเผือกเป็นต้น การเล่นระเบงมีผู้เล่นหลายคนแต่งตัวนัยว่าเป็นกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครจะไปช่วยโสกันต์ใครก็ไม่ทราบที่เขาไกรลาศ กษัตริย์เหล่านี้มือหนึ่งถือคันศร อีกมือหนึ่งถือลูกศร ท่านจะดูเครื่องแต่งตัวพร้อมทั้งคันศรและลูกศรได้ที่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เวลาเดินไปเป็นพวก ๆ ก็ร้องกันไปพร้อม ๆ กันอย่างเอ็ดอึง เป็นบทร้องซึ่งขึ้นต้นแทบทุกบทไปว่า โอละพ่อ เพราะฉะนั้น การเล่นละเบ็งบางทีจึงเรียกว่า โอละพ่อ ด้วยอีกชื่อหนึ่ง ขณะร้องไปบทหนึ่ง ก็ยกขาข้างหนึ่งทำท่ารำ แล้วเอาลูกศรตีที่คันศร เห็นจะเป็นการให้จังหวะ แล้วก็จะมีการตีฆ้อง ๓ ใบเถา เรียกว่า ฆ้องระเบง เสียหนหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนขารำใหม่ในทำนองเดียวกันเรื่อย ๆ ไป ถ้าท่านฟังบทร้องแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่า ในข้อความที่ร้องนั้นเอง แสดงว่า กษัตริย์เหล่านั้นพากันออกจากเมืองไปไกรลาศ เพราะเทวดามาบอก และคงไปดูงานโสกันต์หรืออะไรอย่างนั้น เวลาไป ก็ร้องรำทำเพลง เปลี่ยนท่าเป็นซ้ายมาขวาและขวามาซ้ายออกยุ่ง แล้วก็ไปพบนัยว่า เป็นพระกาล แต่ว่า มีพาหนะเป็นนกยุง ซึ่งที่ถูกน่าจะเป็นพระขันทกุมาร เพราะพระกาลแกขี่นกแสก ไม่ใช่ขี่นกยุง แต่อย่างไรก็ตาม พระกาลขวางหน้าไว้ไม่ให้พวกกษัตริย์เดินต่อไป เมื่อห้ามไม่ฟังซ้ำจะยิงเอาพระกาล พระกาลจึงสาปให้สลบ เมื่อพอใจแล้วถอนสาปให้ฟื้น พวกกษัตริย์ก็กลับบ้านเมือง.
ก่อนที่จะได้อธิบายถึงการเล่นกุลาตีไม้ น่าจะทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า กุลาเป็นชาติอะไร คำว่า "ชาติกุลา" ตามที่เข้าใจกันเป็นสามัญ ก็ดูเหมือนจะหมายถึงพวกต้องสู้หรือพวกไทยใหญ่ที่เรียกกันว่า "เงี้ยว" แต่กุลาตีไม้ในที่นี้คงไม่ใช่ต้องสู้หรือไทยใหญ่ เพราะไม่ปรากฏว่า การเล่นชนิดนี้มีอยู่ในสองชาติที่กล่าวนี้ ถ้าจะพิจารณาเครื่องแต่งตัวของผู้เล่นซึ่งสวมเทริดเป็นชฎาและแต่งตัวคล้ายเทวดา ก็น่าจะเข้าใจว่า กุลานั้นคือแขก แขกที่มาจากประเทศอินเดียนั้นชาวพะม่าเรียกว่า "พวกกุหล่าดำ" และเรียกพวกฝรั่งและแขกทางตะวันตกของอินเดียว่า "กุหล่าขาว" และเขาว่า กุลา คำนี้มาจากคำว่า "กุล" ในภาษาบาลี แปลว่า "พวกฝั่งโน้น" แต่อย่างไรก็ดี ชาวไทยทางเหนือก็ยังใช้เรียกฝรั่งว่า "กุหล่าขาว" และเรียกแขกว่า "กุหล่าดำ" ส่วนในภาษาไทยเราแต่เดิมมาก็เรียกแขกที่มีผิวขาวว่า "แขกเทศ" เรียกแขกผิวดำ เช่น พวกทมิฬ ว่า "แขกกุหล่า" หมายความว่า ชาติทมิฬ การเล่นกุลาตีไม้จึงน่าจะสันนิษฐานว่า มาจากทมิฬ ถ้าว่าตามประวัติศาสตร์ ก็มีหลักฐานอยู่หลายประการที่แสดงให้เห็นว่า การพิธีและวิทยาการต่าง ๆ ครั้งโบราณที่มีอยู่ในประเทศอินโดจีน มีไทย พะม่า มอญ และเขมร เป็นต้น ที่ได้รับมาจากอินเดียเป็นอันมากนั้น ตามปกติก็ผ่านมาทางชาติทมิฬก่อน เพราะฉะนั้น จึงน่าเชื่อว่า การเล่นกุลาตีไม้เป็นของชาวทมิฬ หรือมิฉะนั้น ก็ชนชาวอินเดียทางภาคใต้.
ทมิฬเป็นชาติอะไร บางทีท่านจะนึกถึงคำว่า "ใจทมิฬหินชาติ" แล้วก็อาจนึกไปว่า ชาติทมิฬเป็นคนดุร้ายใจดำอำมหิต แท้ที่จริง ทมิฬเป็นชาติที่มีความเจริญมานานแล้ว มีดินแดนตรงข้ามกับเกาะลังกา มีเมืองใหญ่ คือ มัทราส เป็นต้น เพราะฉะนั้น ทมิฬกับลังกาจึงได้มีการรบราฆ่าฟันกันเสมอ บางที ทมิฬได้ชัยชะนะลังกาจนเป็นเหตุให้ชาวลังกาถือว่า ทมิฬเป็นชาติดุร้าย เพราะเป็นสัตรูกับตน คำว่า "ทมิฬ" จึงหมายว่า ดุร้าย สืบมา.
ครั้นเมื่อเราได้รับคติพุทธศาสนามาจากลังกา เราก็พาเอาคำว่า "ทมิฬ" ที่พวกลังกาถือว่าดุร้ายนั้นเข้ามาด้วย และเราก็พลอยเห็นว่าดุร้ายตามไปกับชาวลังกาด้วย แต่ว่าทุกวันนี้ เราเรียกแขกทมิฬกันว่า แขกลิง คือ พวกขายถั่วมัน ๆ อย่างเดียวกับในที่อื่นเขาก็เรียกกัน.
บัดนี้ จะได้พูดถึงการเล่นกุลาตีไม้ ๆ นั้นมีผู้แต่งตัวสรวมเทริดอย่างเทวดาร่ายรำลอยหน้าลอยตาออกท่าทางเป็นตลกชวนให้คนดูขบขันไปด้วยในตัว ในมือมีกรับหรือไม้สองมือเต้นแล้วเคาะเป็นจังหวะไปด้วย แบ่งกันเป็นพวก ๆ พวกละ ๔ คน ในเวลารำก็มีการร้องกุลาตีไม้ไปด้วย มีเนื้อร้องดังนี้.
ศักดานุภาพ | เลิกล้ำแดนไตร | |
สิทธิครูมอบให้ | จึ่งแจ้งฤทธา | |
เชี่ยวชาญไชย | เหตุใดนาพ่อ | |
เดชพระคุณปกเกล้า | ไพร่ฟ้าอยู่เย็น |
ร้องไปแต่ต้นจนจบแล้วกลับต้นใหม่ วนเวียนอยู่เท่านี้ การเล่นชนิดนี้มีแต่ในงานของหลวงที่เป็นงานชั้นสูง เช่น งานโสกันต์ ซึ่งมีการเล่นแยกออกได้เป็น ๕ อย่าง คือ
๑.ระเบง
๒.โมงคลุ่ม
๓.กุลาตีไม้
๔.แทงวิสัย และ
๕.กะอั้วแทงควาย
ผู้เล่นเหล่านี้มักใช้พวกโขนซึ่งเป็นผู้เคยเต้นรำเป็นอยู่แล้วเล่น.