กล่าวนำ

ในกระแสคลื่นแห่งความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรมปัจจุบันนี้ สิ่งที่ประชาชนไทยได้ยินและกล่าวถึงจําเจเป็นปัญหาประจําวันก็คือ จักรวรรดินิยม (ซึ่งรวมทั้งนายทุนนายหน้าและนายทุนขุนนางผู้เป็นสมุนของมัน) และ ศักดินา สถาบันของประชาชนทั่วไป จะเป็นหนังสือพิมพ์ก็ดี, การอภิปรายในที่สาธารณะ เช่น ท้องสนามหลวงของจังหวัดพระนครและในบริเวณศาลากลางหรือตลาดต่างจังหวัดก็ดี, และแม้ในความเคลื่อนไหวอื่นๆ ของประชาชนเป็นต้นว่าการเดินขบวนก็ดี เสียงที่ดังที่สุดก็คือ เสียงคัดค้านและประณามจักรวรรดินิยมและศักดินา
แน่นอน ความเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของประชาชนไทยที่คัดค้านและประณามจักรวรรดินิยมและศักดินานี้ย่อมเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยในปัจจุบันนี้ได้ตื่นตัวขึ้นแล้วโดยสมบูรณ์ เขาได้สามารถมองเห็นแล้วอย่างชัดเจนว่า ใครคือศัตรูที่ปล้นสะดมแล่เนื้อเถือหนังพวกเขา และใครคือศัตรูที่สูบรีดซึมลึกเข้าไปจนถึงแกนกระดูกดําของเขาทั้งมวล ความจัดเจนในชีวิตของเขา เป็นต้นว่าความอดอยากยากแค้นและค่าครองชีพอันสูงลิบ, กรรมกรผู้เป็นเจ้าของแรงงานต้องถูกขูดรีดจนกระทั่งชีวิตของเขามีความหมายเพียง "ทํางานเพื่อให้ได้กิน กินเพื่อให้มีแรงทํางาน" อันเป็นวงวัฏไม่รู้จบ และซํ้ายังต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน, นายทุนแห่งชาติต้องล้มละลาย, เศรษฐกิจแห่งชาติอับเฉาร่วงโรยลงทุกขณะ, ชาวนาผู้ไถนาและปลูกข้าว...ผู้ได้รับสมญาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ กลับไม่มีข้าวกิน ค่าเช่าและดอกเบี้ยสูงลิ่ว หนี้สินท่วมท้นรุงรัง และกลายเป็นคนล้มละลายไร้ที่นา, กลายเป็นชาวนารับจ้าง, กลายเป็นคนขายแรงงานไปในที่สุด ซึ่งทั้งมวลนี้เป็นความจัดเจนในด้านเศรษฐกิจก็ดี, หรือความเหลวแหลกฉ้อโกงในวงการรัฐบาล, การใช้อํานาจเป็นธรรมของผู้ยิ่งใหญ่, การแย่งชิงอํานาจกันและกัน, การกดขี่ประชาชนด้วยกฏหมายอันไม่เป็นธรรม, การขูดรีดภาษีอากรอย่างหนักหน่วง ซึ่งทั้งมวลนี้เป็นความจัดเจนทางด้านการเมืองก็ดี, และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของชนชั้นในสังคม, ความเหลวแหลกของจริยธรรมที่กําลังระบาดเพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก, การผูกขาดศิลปะและวรรณคดีไว้ในมือชนกลุ่มน้อย ซึ่งทั้งมวลนี้เป็นความจัดเจนทางด้านวัฒนธรรมก็ดี ความจัดเจนเหล่านี้เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้ว มันได้สอนให้ประชาชนไทยมองเห็นได้ว่า ต้นตอที่มาใหญ่ของมันก็คือ จักรวรรดินิยม (รวมทั้งสมุน คือ นายทุนนายหน้าและนายทุนขุนนาง) และศักดินา

องค์พยานที่ยืนยันว่าประชาชนไทยได้มองเห็นภัยของจักรวรรดินิยมอันแท้จริงก็คือการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนตนออกจากสนธิสัญญาซีโต้อันเป็นสัญญาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการรุกรานและก่อสงคราม ซึ่งจักรวรรดินิยมใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของตน, และขณะเดียวกันนั้นก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินนโยบายอิสระและเป็นกลาง เปิดความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมกับทุกประเทศทุกค่าย โดยไม่เลือกลัทธิการเมือง ส่วนองค์พยานที่แสดงว่าประชาชนไทยได้มองเห็นภัยของศักดินาอย่างชัดเจนก็คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน, ควบคุมค่าเช่า, ดอกเบี้ยและพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม เพื่อจะได้หลุดพ้นจากระบบผลิตทางการเกษตรอันล้าหลังของศักดินา

ยิ่งกว่านั้น ประชาชนไทยยังมองเห็นอีกด้วยว่าการขูดรีดและการกดขี่ประชาชนของจักรวรรดินิยมและศักดินานั้น เป็นการขูดรีดร่วมกัน (Collective Exploitation) นั่นคือ ทั้งคู่ต่างมีผลประโยชน์ในการขูดรีดร่วมกัน จักรวรรดินิยมมีผลประโยชน์จากการขูดรีดทางด้านการธนาคาร อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ทั้งนี้ โดยการผูกขาด ฝ่ายศักดินามีผลประโยชน์จากการขูดรีดในด้านการเกษตร กล่าวคือที่ดิน, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย และปัจจุบันได้รวมเอาการเป็นนายหน้าของพวกนายทุนผูกขาดของจักรวรรดินิยมต่างประเทศเข้าไว้อีกด้วย โดยพื้นฐานความเป็นจริงดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจึงได้ร่วมมือกันปฏิบัติการเพื่อกดขี่ประชาชนลงไว้เป็นทาส เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะได้ร่วมมือกันขูดรีดต่อไปได้อย่างสะดวกดาย ตัวอย่างของการปฏิบัติงานร่วมเพื่อกดขี่ประชาชนไว้ขูดรีดดังกล่าวนี้ ได้ปรากฏแก่สายตาประชาชนมาแล้วในประเทศอียิปต์ยุคก่อนปฏิวัติ ๑๙๕๒ ของคณะทหารซึ่งในการณ์นั้นจักรวรรดินิยมต่างประเทศได้อุ้มชูศักดินาไว้เป็นเครื่องมือ และทัพหน้าในการกดขี่ประชาชนในเวียดนาม จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้พยายามหนุนศักดินาเบาได๋อย่างเต็มกําลัง แต่แล้วได้มาพ่ายแพ้แก่จักรวรรดินิยมอเมริกาที่หันมาหนุนหลังขุนศึกโงดินเดียมในที่สุด ตัวอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนเมษายน ๑๙๕๗ นี้ ก็คือ การปฏิบัติการร่วมระหว่างจักรวรรดินิยมอเมริกาและศักดินาในประเทศจอร์แดนเพื่อกวาดล้างกําลังฝ่ายประชาชนสังคมนิยมลงไป ตัวอย่างดังกล่าวนี้ ได้ทําให้ประชาชนไทยมองเห็นนโยบายการขูดรีดร่วม (Collective Exploitation) ระหว่างจักรวรรดินิยมและศักดินาเป็นอย่างดี ดังนั้นเอง เสียงสะท้อนจึงดังก้องมาจากประชาชนไทยเสมอว่า ศัตรูตัวสําคัญที่เขาจะต้องขจัดอย่างรีบด่วนที่สุดก็คือ จักรวรรดินิยมจากภายนอกและศักดินาจากภายใน

จักรวรรดินิยมคืออะไร? คําตอบโดยย่อก็คือจักรวรรดินิยม ได้แก่ ลัทธิทุนนิยมขั้นผูกขาด (Monopoly Capitalism) การผูกขาดกระทําขึ้นเพื่อให้นายทุนสามารถแสวงหา กำไรขั้นสูงสุด (Maximum Profit) ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้ เพราะ ลัทธิทุนนิยมธรรมดาที่ไม่ผูกขาด (Non-monopoly Capitalism) ไม่สามารถหากําไรขั้นสูงสุดได้ จะหาได้ก็เพียง กำไรเฉลี่ย (Average Profit) ทั้งนี้ เพราะมีการแข่งขันกันอย่างเสรี อนึ่งการผูกขาดขั้นจักรวรรดินิยมเป็นการผูกขาดร่วมระหว่างทุนธนาคารกับทุนอุตสาหกรรม, ซึ่งการผูกขาดนี้อยู่ในมือของกลุ่มนายทุนขุนคลังเพียงหยิบมือหนึ่ง (Financial Oligarchy) บทบาทสําคัญในการผูกขาดขั้นนี้ ก็คือการผูกขาดระหว่างประเทศ นั่นก็คือมิได้ผูกขาดแต่ภายในประเทศประการเดียว และยิ่งกว่านั้น การผูดขาดระหว่างประเทศจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อได้ส่งทุนออกไปลงในประเทศอื่นๆ อีกด้วย และแน่นอนวิธีการสุดท้ายที่พวกนี้ จักต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือสงครามเพื่อแย่งชิงแหล่งผูกขาดซึ่งกันและกัน

นั่นคือ "จักรวรรดินิยม"

คราวนี้ก็มาถึงศักดินา ศักดินาคืออะไร?

ศักดินาคือพวกที่นุ่งผ้าโจงกระเบน? ศักดินาคือคนกินหมาก? ศักดินาคือพวกตีนเล็ก? ศักดินาคือพวกที่มีบรรดาศักดิ์? ศักดินาคือพวกหัวเก่า? ศักดินาคือพวกที่ดูถูกเหยียดหยามประชาชน เด็กและสตรี? ศักดินาคือพวกเจ้า?

ลักษณะที่ยกมาตอบเชิงสงสัยเหล่านี้ อาจจะติดหูติดตากันอยู่บ้าง เพราะในปัจจุบันมักมีการประณามใครต่อใครว่าเป็นศักดินา โดยที่ดูเครื่องแต่งตัวและขนาดของตีนเป็นเกณฑ์อยู่บ่อยๆ ว่าที่จริงแล้ว ลักษณะเหล่านี้ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะพวกที่มีตีนขนาดเล็กขนาดจิ๋ว ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพวก "ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน" ซึ่งไม่เคยทํางาน ตีนไม่เคยเหยียบดินมาแต่สมัยก่อน อาจจะกลายเป็นนายทุน, เป็นสามัญชนเพราะการล้มละลายทางเศรษฐกิจหรือกลับกลายเป็นผู้ถูกขูดรีดอย่างแสนสาหัสไปแล้วก็ได้ ศักดินาหลายคนในปัจจุบันนี้ ไม่นุ่งผ้าโจงกระเบน พวกเจ้าแม้ที่เป็นเจ้าแผ่นดินด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้เป็นศักดินาก็มีถมไป เช่น พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปส์ (Louis-Philippe) ของฝรั่งเศสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ไพล่ไปเป็นตัวแทนของพวกกระฎุมพีและโดยเฉพาะนายทุนขุนคลัง! ดังนั้นการที่จะชี้ว่าใครเป็นศักดินาโดยดูที่ขนาดของตีนหรือชาติกําเนิดจึงไม่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง

ถ้าเช่นนั้นแล้ว การที่จะพิจารณาว่าใครเป็นศักดินาหรือไม่นั้น เราจะดูที่ไหน?

คําตอบก็คือเราต้องดูที่ "ความสัมพันธ์ในการผลิต" (Productive Relationship) กล่าวคือ ดูว่าในเวลาที่เขาทําการผลิตหรือเข้าร่วมในการผลิตนั้นเขามีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในข่ายการผลิตอย่างไร

สมมุติว่า ขุนบ้ารุงราชรีดประชา มีอาชีพทำนา อำแดงสี ก็ทํานา ขุนบํารุงราชรีดประชามีความสัมพันธ์กับอําแดงสีโดยเป็นผัวอําแดงสี เช่นนี้ ขุนบ้ารุงราชรีดประชา เป็นศักดินาหรือเปล่า? คําถามนี้ ตอบไม่ได้ ที่ตอบไม่ได้ก็เพราะพิจารณาความสัมพันธ์ไม่ถูกจุด การที่ขุนบํารุงราชรีดประชาเป็นผัวอําแดงสีนั้นเป็น ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเอกชนต่อเอกชน (Private Relationship between individuals) สิ่งที่เราต้องเจาะลงไปให้ถึงแก่นก็คือ ความสัมพันธ์ที่เขามีต่อกันในข่ายการผลิต นั่นคือเราต้องพิจารณาว่า เวลาผลิตหรือเวลาทํามาหากินนั้น ขุนบํารุงราชรีดประชาสัมพันกับอําแดงสีอย่างไร ใครเป็นนายจ้าง , ใครเป็นลูกจ้าง, ใครเป็นเจ้าของที่ดินและปัจจัยการผลิตอื่นๆ และใครเป็นผู้เช่าที่, เช่าปัจจัยการผลิตและลงแรงทํานา ถ้าในเวลาผลิตขุนบํารุงราชรีดประชาเป็นเจ้าของที่ดิน นอนกระดิกตีนจะเล็กหรือโตก็ตามอยู่บนเรือน ส่วนอําแดงสีเช่าที่ไปไถนาปลูกข้าว ได้ข้าวมาแล้วต้องแบ่งให้ขุนบํารุงราชรีดประชาครึ่งหนึ่งเป็นค่าเช่าที่ตามระบบการทํานาแบ่งครึ่ง เช่นนี้ เราจึงจะชี้ลงไปได้ว่าท่านขุนของเราเป็นศักดินาเจ้าของที่ดิน อําแดงสีเป็นชาวนาจน ความสัมพันธ์ระหว่างขุนบํารุงราชรีดประชากับอําแดงสี จึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดินกับชาวนาจน!

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่รัดกุมอะไรนัก แต่ถึงกระนั้นเราก็พอสรุปได้ว่า เราดูออกว่าใครเป็นชนชั้นใดก็โดยดูที่ความสัมพันธ์ในการผลิตของเขา และพอจะรู้ได้คร่าวๆ ว่า ถ้าใครเป็นเจ้าของที่ดินให้คนอื่นเช่าทํานา ผู้นั้นก็เป็นศักดินา ซึ่งก็ยังไม่หมดจดรัดกุมเพียงพอและแม้ที่สุดเราก็รู้จักแต่ศักดินาเป็นรายตัวบุคคลบางส่วนเท่านั้น หาได้รู้จักระบบผลิตศักดินาที่แท้จริงไม่, ระบบผลิตศักดินาเป็นระบบทางเศรษฐกิจของสังคม การที่เราจะรู้จักระบบนี้โดยสมบูรณ์ จึงต้องพิจารณาความสัมพันธ์ในการผลิตทั้งหมดของสังคม (Productive Relationship of society as a whole) แน่นอนเราจะต้องพิจารณาทั้งในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสามประการนี้ รวมกันเข้าเป็นรูปแบบของสังคม

ถ้าเช่นนั้นแล้วระบบผลิตศักดินาคืออะไร?