โฉมหน้าศักดินาไทย/ลักษณะของระบบผลิตศักดินาโดยทั่วไป

ลักษณะของ
ระบบผลิตศักดินาโดยทั่วไป

ก. ความหมายของคำว่าศักดินา

"ศักดินา" โดยรูปคํา แปลว่า "อํานาจในการครอบครองที่นา" และถ้าจะแปลขยายความออกให้แจ่มแจ้งแล้ว ศักดินาก็หมายถึง "อํานาจในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำไร่และการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนในยุคนั้น" นั่นเอง จากการแปลความหมายของศัพท์เช่นนี้ เราก็พอจะมองเห็นได้คร่าวๆ แล้วว่าระบบผลิตศักดินาเป็นระบบผลิตที่พัวพันอยู่กับ "ที่ดิน"

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ "ที่ดิน" ถือว่าเป็นปัจจัยแห่งการผลิต (Means of Production) อย่างหนึ่ง พูดอย่างง่ายๆ ก็คือที่ดินเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการทำมาหากินของมนุษย์ ในสังคมของมนุษย์ก่อนสมัยทุนนิยมซึ่งเครื่องจักรกลถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินนั้น เครื่องมือสำคัญในการหากินของมนุษย์ก็คือที่ดิน ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ยังชีพด้วยการเพาะปลูกซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า กสิกรรม เป็นหลักความผาสุกของมนุษย์ แต่ละคนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่า เขามีที่ดินมากหนือน้อยหรือไม่มีเลย ผู้ที่มีที่ดินมากก็มีความผาสุกมาก ผู้ที่มีที่ดินน้อยก็มีความผาสุดน้อยลดหลั่นลงมา และผู้ที่ไม่มีที่ดินเลยก็ย่อมประสบกับความยากลำบากในการครองชีพ เพราะต้องเช่าที่ดินเขาทำมาหากิน เสียค่าเช่า เสียส่วนแบ่ง หรือไม่ก็ต้องเป็นคนงานในไร่นาของเจ้าของที่ดิน ซึ่งเรียกกันว่า "ทาสกสิกร" (Serf) ที่ไทยโบราณเรียกว่า "ไพร่" หรือ "เลก" ถ้าจะเทียบกับระบบผลิตทุนนิยม ผู้ที่มีที่ดินมากก็เทียบได้กับนายทุนใหญ่ที่มีโรงงานมีกิจการค้าในกำมือมากมาย พวกนี้ย่อมเสวยความผาสุกร่ำรวยเป็นพวก "มีบุญ" ผู้ที่มีที่ดินน้อยก็เทียบได้กับนายทุนขนาดย่อมหรือนายทุนน้อย ซึ่งมีความผาสุกลดหลั่นลงมา พวกที่ไม่มีที่ดินเลยก็เทียบได้กับพวกที่ไม่มีโรงงานไม่มีกิจการค้าใดๆ ต้องเป็นคนงานขายแรงได้รับค่าจ้างพอประทังชีวิตไปชั่ววันหนึ่งๆ ตาม "วาสนาและเวรกรรมของสัตว์"

นอกจากความผาสุกของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับเครื่องมือในการทำมาหากินหรือปัจจัยแห่งการผลิตแล้วอํานาจของมนุษย์ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของเครื่องมือในการทำมาหากินด้วยเช่นกัน เจ้าของที่ดินใหญ่มีไพร่มีเลก หรือนัยหนึ่งผู้คนที่ทำงานภายใต้บังคับบัญชาก็ย่อมมีอิทธพลและอํานาจมากเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ ก็เพราะเขากำเอาชะตาชีวิตของคนจำนวนมากไว้ในกำมือ คนที่ทำงานอยู่ภายใต้บารมีของเจ้าของที่ดินใหญ่ จะอด จะอิ่ม จะทุกข์ จะสุขขึ้นอยู่ที่ความพอใจของเจ้าของที่ดินเป็นเกณฑ์

ตามที่กล่าวมานี้ ศักดินาจึงมิได้มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า "อํานาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน" แต่อย่างเดียว หากโดยความเป็นจริงแล้วมันได้หมายรวมถึง "อํานาจและอิทธิพลของมนุษย์ที่มีมากหรือน้อยตามขนาดหรือปริมาณของที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน" อีกโสดหนึ่งด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของที่ดินทั้งปวงผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมยังได้พยายามสั่งสอนอบรมพวกไพร่พวกเลกให้มองเห็นว่า ตนเป็นผู้ประเสริฐ เป็นเจ้าของชีวิตตามประเพณีนิยมต่างๆ ของพวกตนก็ดี รูปแบบชีวิตของพวกตน เป็นต้นว่า กิริยามารยาท การพูดจา ฯลฯ ก็ดี การบันเทิงเริงใจของพวกตนไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง, บรรเลงดนตรี, ละคร, วรรณคดี ฯลฯ ก็ดี เป็นสิ่งที่ไพร่และเลกควรถือเป็นแบบฉบับ,ควรยกย่องและตามอย่าง ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้ชุบย้อมจิตใจของพวกไพร่พวกเลกให้นิยมชมชอบพวกตน และยอมรับในสถาบันของพวกตนตลอดไป โดยถือว่าเป็นของถูกต้องและเป็นธรรม นั่นก็หมายถึงว่าผู้ที่มีอำนาจในการครอบครองที่ดินย่อมมีอำนาจในการกำหนดรูปแบบชีวิต อันเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมด้วยอีกด้านหนึ่ง

ดังนั้น ศักดินา จึงนอกจากจะหมายถึง "อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน" ซึ่งเป็นความหมายทางด้านเศรษฐกิจ และนอกจากจะหมายถึง "อำนาจและอิทธิพลของมนุษย์ที่มีมากหรือน้อยตามขนาดหรือปริมาณของที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน" ซึ่งเป็นความหมายทางด้านการเมืองแล้ว, มันยังหมายคลุมไปถึง "อำนาจที่กำหนดรูปแบบของชีวิตซึ่งขั้นอยู่กับอำนาจในที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน" ซึ่งเป็นความหมายในด้านวัฒนธรรมอีกด้วย

อำนาจทางเศรษฐกิจ, อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางวัฒนธรรม ที่ขึ้นอยู่และพัวพันกับที่ดินดังกล่าวนี้ แหละคือความหมายอันสมบูรณ์แท้จริงของคําว่า "ศักดินา"

บางทีอาจจะทำให้กระจ่างแจ้งขึ้นอีกก็เป็นได้ ถ้าจะย้ำให้ละเอียดลงไปว่า "ศักดินา" เป็นระบบของสังคมและระบบของสังคมนั้นย่อมจักต้องประกอบด้วยด้านต่างๆ สามด้าน กล่าวคือ เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม อนึ่ง การที่จะพิจารณาถึงลักษณะแห่งระบบสังคมนั้นจําเป็นต้องพิจารณาเจาะลงไปให้ถึงเครื่องมือในการทำมาหากินที่สำคัญ หรือปัจจัยการผลิตหลักของสังคมนั้นๆ แล้วหลังจากนั้น จึงพิจารณาถึงผลสะท้อนของการถือกรรมสิทธิในปัจจัยแห่งการผลิตที่สะท้อนออกมาในทางเศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมอีกทอดหนึ่ง

ข. ลักษณะทางเศรษฐกิจของระบบศักดินา

ลักษณะทางเศรษฐกิจของระบบนี้ ก็คือ

๑) การถือกรรมสิทธิปัจจัยแห่งการผลิต และการแสวงหาประโยชน์จากปัจจัยแห่งการผลิตนั้น

ปัจจัยแห่งการผลิตที่สำคัญได้แก่ ที่ดินและเครื่องมือจําเป็นอื่นๆ เป็นต้นว่า วัวควาย พันธ์ุข้าว ฯลฯ ส่วนใหญ่ตกเป็นกรรมสิทธิของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าพวก "เจ้าขุนมูลนาย" (Feudal Lords) หรือ พวก "เจ้าที่ดิน" (Landlords) เมื่อที่ดินอันเป็นปัจจัยแห่งการผลิตสำคัญตกไปเป็นกรรมสิทธิของพวกชนกลุ่มน้อยเช่นนี้ ประชาชนส่วนข้างมากอันเป็นพลังผลิตสำคัญของสังคมจึงต้องตกเป็นคนงานที่ทําการเพาะปลูกในที่ดินของพวกเจ้าขุนมูลนาย พวกนี้ได้รับสิทธิให้มีทรัพย์สินส่วนตัวได้ แต่ก็มีหน้าที่ทํางานบนที่ดินผืนหนึ่งๆ โยกย้ายไปไหนไม่ได้ เพราะพวกเจ้าขุนมูลนายได้ตระเวนออกสำรวจลงทะเบียนไว้เป็นคนในสังกัด เมื่อที่ดินผืนนั้นโอนไปเป็นของเจ้าขุนมูลนายคนใหม่ พวกคนงานกสิกรรมที่เรียกว่า "ทาสกสิกร" (Serf) เหล่านี้ ก็ถูกโอนเป็นทาสติดที่ดินไปด้วย พวกทาสกสิกรเหล่านี้ ในเมืองไทยเรียกกันว่า "เลก" หรือ "ไพร่" ผลิตผลที่พวกเลกทําได้ต้องส่งเป็น "ส่วย" ให้แก่เจ้าขุนมูลนายเป็นประจำตามอัตราที่กำหนดขึ้นตามความพอใจของเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งอาจจะเป็น ๕๐ หรือ ๖๐ หรือ ๗๐ หรือแม้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลทั้งหมดก็ได้ สุดแท้แต่เงื่อนไขที่ตกลงกัน นี่เป็นพวกที่หนึ่ง พวกที่สองได้แก่พวกที่เป็นเสรีชนหรือเป็นไท ซึ่งต้องเช่าที่ทางของพวกเจ้าที่ดินทํามาหากิน พวกนี้ ต้องแบ่งผลิตผลส่งให้แก่เจ้าที่ดินเป็น "ค่าเช่าที่" ซึ่งค่าเช่านั้นอาจจะวางลงเป็นอัตราไร่ละ ๘ ถัง หรือ ๑๐ ถัง หรือจะวางเป็นอัตราว่าต้องเสียค่าเช่าที่เป็นจำนวน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลทั้งหมดที่ได้จากที่ดินนั้นๆ ก็ได้ อัตราค่าเช่าที่ใช้กันอยู่แพร่หลายก็คือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลที่ทําได้ ซึ่งระบบนี้ เรียกกันว่า "ทํานาแบ่งครึ่ง" สภาพของพวกนี้แทบจะไม่ผิดอะไรกับพวกเลกหรือไพร่เท่าใดนัก จะผิดกันก็ตรงที่พวกนี้อาจโยกย้ายที่อยู่ได้โดยอิสระเสรี ไม่มีข้อผูกมัดกับที่ดินเท่านั้น พวกที่สาม ได้แก่พวกที่มีที่ดินทํามาหากินเองเป็นรายย่อย (คือพวกชาวนาเอกระ) หน้าที่ของพวกนี้ ก็คือต้องแบ่งผลิตผลเสียแก่เจ้าขุนมูลนายเป็น "ภาษี" หรือ "อากรค่านา" อาจจะเป็นไร่ละ ๑ ถัง หรือถึง ๖ ถังก็ได้ แล้วแต่ชนชั้นปกครองอันเป็นพวกเจ้าที่ดินใหญ่จะกำหนด

๒) ระบบแรงงานเกณฑ์

นอกจากค่าเช่าที่ และภาษีที่พวกชาวนาจะต้องเสียแล้ว พวกชาวนาจักต้องช่วยไถนา ทํานา และทํางานอื่นๆ ให้แก่พวกเจ้าขุนมูลนายเป็นประจำทุกปีอีกด้วย อาจจะเป็นปีละสามเดือนจนถึงหกเดือนก็ได้ ในบางแห่งชาวนาจะต้องขนเอาวัวควายและเครื่องมือของตนเองไปช่วยทํานาให้แก่พวกเจ้าขุนมูลนายโดยที่พวกเจ้าขุนมูลนายลงทุนแต่ที่ดินและพันธ์ุข้าวเท่านั้นนอกจากการทํานาให้เจ้าขุนมูลนายแล้ว พวกชาวนายังต้องช่วยงานโยธาต่างๆ ทั้งของรัฐบาลศักดินาและทั้งของเจ้าขุนมูลนายของละแวกบ้านตน ระบบเช่นนี้เรียกกันว่าระบบ "แรงงานเกณฑ์" (Corvée) ซึ่งถ้าเป็นในประเทศรัสเซียสมัยซาร์ก็เรียกว่า Otrabotki หรือ Barshchina ระบบแรงงานเกณฑ์นี้ถือเป็นสิ่งชอบธรรมที่ทุกคนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นการทดแทนบุญคุณของพวกเจ้าขุนมูลนายที่อุตส่าห์สละเวลาอันมีค่ามาทําการปกครองพวกตน และที่กรุณา "ประทาน" ที่ดินให้ได้ทํากิน ประทานน้ำในคลองให้ดื่ม และประทานอากาศให้หายใจ

๓) เทคนิคและรูปแบบแห่งการผลิต

มนุษย์ในยุคศักดินามีเทคนิคในการกสิกรรมสูงขึ้นกว่าเดิม (คือยุคทาส) ทั้งนี้ เพราะรู้จักใช้เครื่องมือที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะเครื่องมือเหล็กของยุคนี้ก้าวหน้าไปไกล ทำให้การผลิตประณีตขึ้นและได้ผลมากขึ้น การใช้แรงงานสัตว์เข้าช่วยลากจูงในการทำงานซึ่งมนุษย์เริ่มรู้จักใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยสังคมทาสอันเป็นสังคมก่อนยุคศักดินา ก็ได้แพร่หลายขึ้นจนเป็นปัจจัยในการผลิตสำคัญของยุค การผลิตของยุคศักดินาโดยเฉพาะทางกสิกรรมจึงก้าวหน้าและมีผลมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ในด้านการหัตถกรรมมนุษย์รู้จักใช้ฝีมือทำการหัตถกรรม รู้จักการประดิษฐ์หูกทอผ้าที่ก้าวหน้ากว่าเดิม การตีเหล็ก, ทอผ้า, จักสาน, การประดิษฐ์เครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องอุปโภคอื่นๆ เจริญแพร่หลายขึ้น และมีเทคนิคประณีตขึ้น พวกชาวนาส่วนมากจึงมิได้ทำนาแต่อย่างเดียว หากได้ทำการหัตถกรรมควบคู่ไปด้วย ยุคศักดินาจึงเป็นยุคของการประสานงานระหว่างกสิกรรมและหัตถกรรมในครัวเรือนโดยทั่วไป ระบบผลิตเอกระของชาวนา กล่าวคือการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลขนาดย่อม และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ออกแรงทำงานด้วยโดยมิได้ขูดรีดแรงงานส่วนเกินของผู้อื่น ได้เริ่มมีบทบาทขึ้นในสังคมภายใต้ยุคศักดินานี้

๔) เจตนารมณ์ในการผลิต

การผลิตทั้งทางกสิกรรมและหัตถกรรมของชาวนาในยุคนี้ ส่วนมากเป็นการผลิตเพียงเพื่อให้พอกินพอใช้ตามความต้องการทางธรรมชาติ มิได้มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการค้า แม้พวกเจ้าขุนมูลนายและพวกเจ้าที่ดินที่แบ่งปันขูดรีดผลิตผลไปเป็นส่วย, เป็นค่าเช่า, เป็นภาษี ก็เป็นการแบ่งปันขูดรีดไปเพื่อบริโภคเป็นส่วนใหญ่ การแลกเปลี่ยนค้าขายผลิตผล แม้จะมีอยู่บ้างก็เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนค้าขายผลิตผลที่เหลือกินเหลือใช้ และเพื่อสนองความต้องการอันจําเป็นของกันและกันเป็นสำคัญ ระบบการค้ากําไรเป็นลํ่ำเป็นสันแม้จะเริ่มพัฒนาไปบ้าง แต่ก็ยังหาได้มีบทบาทสำคัญในสังคมโดยทั่วไปอย่างจริงจังไม่

๕) ระบบการค้าผูกขาดของพวกเจ้าขุนมูลนาย

ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าและการค้ากำไรอย่างเป็นลํา่าเป็นสันของยุคศักดินาได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจของศักดินาได้พัฒนาไปแล้วเป็นระยะยาวนานพอสมควร การแลกเปลี่ยนสินค้าขนาดใหญ่หรือการค้ากำไรอย่างเป็นลํา่าเป็นสันเกิดขึ้นได้โดยการริเริ่มของพวกเจ้าขุนมูลนายและพวกเจ้าที่ดินใหญ่ ลักษณะของการค้าในยุคนี้ เป็นการค้าผูกขาดของพวกเจ่าขุนมูลนาย พูดง่ายๆ ก็คือ พวกศักดินาชนชั้นปกครองผูกขาดการค้าไว้ในกำมือของตนแต่ฝ่ายเดียว ชาวนาและประชาชนผู้ถูกกดขี่ขูดรีดโดยทั่วไปมิได้มีบทบาทในการค้าอย่างอิสระเสรีแต่อย่างใดเลย

สาเหตุของระบบการค้าผูกขาดของพวกศักดินาก็เนื่องมาจากความเป็นจริงที่ว่า เดิมทีเดียวเมื่อพวกเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์หรือเจ้านายในราชตระกูลหรือพวกขุนนางราชบริพารได้ขูดรีดแบ่งปันเอา ผลิตผลส่วนเกิน (Surplus Products) ไปจากชาวนาเอกระ ไพร่และเลกนั้น หลังจากการใช้บริโภคและเลี้ยงดูทหารและบริวารของตนแล้ว ปรากฏว่ามีผลิตผลเหลืออยู่ ผลิตผลเหลือกินเหล่านี้ พวกเจ้าขุนมูลนายจะใช้ไปแลกเปลี่ยนกับอาวุธยุทธภัณฑ์ของเรือสินค้าจากต่างประเทศ หรือไม่ก็แลกเปลี่ยนกับสินค้าโพ้นทะเลที่ตนพอใจ เมื่อระบบการเดินเรือเสี่ยงโชคของพวกพ่อค้าเจริญขึ้น การแลกเปลี่ยนสินค้าและการซื้อขายก็ยิ่งเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นเงาตามตัว สินค้าประหลาดจากเมืองไกล เครื่องประดับแปลกๆ และมีค่าจําพวกเพชรนิลจินดายั่วยุให้พวกเจ้าขุนมูลนายขูดรีดผลิตผลทางการเกษตรและของป่าจากพวกชาวนาเอกระ ไพร่และเลกเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยน และในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าโพ้นทะเลเหล่านี้ พวกเจ้าขุนมูลนายจะสงวนอํานาจในการเลือกซี้อก่อนไว้เป็นของตน และเพื่อที่จะให้ตนเองมีบทบาทสําคัญในการแลกเปลี่ยน กล่าวคือเพื่อให้พ่อค้าเรือเดินทะเลต้องงอนง้อพึ่งพาบารมีตนประการหนึ่ง และเพื่อที่จะให้ตนได้ขูดรีดประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกประการหนึ่ง พวกเจ้าขุนมูลนายจึงประกาศห้ามมิให้ประชาชนทําการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยตรงกับพวกเรือสินค้าเหล่านั้น หากจะต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยผ่านตนซึ่งทําหน้าที่เป็นคนกลางเสมอไป ในที่สุดระบบการค้าผูกขาดของพวกศักดินาก็เกิดขึ้น พวกเจ้าขุนมูลนายใหญ่ๆ จะผูกขาดการแต่งเรือสินค้าออกไปทําการค้า ณ เมืองไกลแต่ผู้เดียว พวกไพร่, เลก, ชาวนาเช่าที่, ชาวนาเอกระ และประชาชนทั่วไปของยุคศักดินาจึงเพิ่มการถูกขูดรีดเป็นสามชั้น

ชั้นแรกก็คือการขูดรีดแรงงาน, แรงงานเกณฑ์, ส่วย, ภาษีและอากรต่างๆ ตามระบบของศักดินาแต่ดั้งเดิม ทั้งนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยอันเกิดขึ้นเพราะชาวนาถูกขูดรีดจนหาไม่พอกินจําต้องกู้ยืมด้วย

ชั้นที่สองก็คือการเพิ่มอัตราขูดรีดอย่างสาหัสอันได้แก่ การเกณฑ์ส่วย บรรณาการจากไพร่เอาดื้อๆ เพื่อที่เจ้าขุนมูลนายจะได้นําผลิตผลส่วนเกินไปแลกเปลี่ยนค้าขายต่างประเทศ

ชั้นที่สามก็คือการขูดรีดอันเกิดจากระบบการค้าผูกขาดของพวกศักดินาใหญ่ทั้งปวง

๖) การพังทลายของระบบผูกขาดศักดินา

เมื่อระบบการค้าผูกขาดของศักดินาพัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด กล่าวคือผูกขาดทั้งการค้าภายนอกและภายใน ความขัดแย้งใหม่ก็เกิดขึ้น นั่นคือพวกช่างฝี มือหรือหัตถกรเอกระและพวกค้าย่อยและขนาดค่อนข้างใหญ่ทั้งปวง เริ่มรู้สึกว่าระบบผูกขาดการค้าของศักดินาเป็นระบบที่กดขี่ ปิดทางทํามาหากินที่จะเจริญเติบโตของตน พวกนี้จึงจัดตั้งสมาคมอาชีพหรือสมาคมพ่อค้าขึ้น ที่เรียกกันว่า Guild ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นสถาบันปกป้องผลประโยชน์ของพวกตนและต่อสู้กับระบบผูกขาดของศักดินา พวกนี้คือพวกชนชั้นใหม่ของสังคมที่เรียกกันว่า ชนชั้นกลาง (Middle Class) หรือพวก กระฎุมพี (Bourgeoisie) กำลังของพวกนี้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทุกขณะ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางกับศักดินาดําเนินไปอย่างรุนแรงถึงขนาดเข้าขั้นแตกหัก (Antagonism) การปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบบศักดินาจึงเกิดขึ้นซึ่งครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. ๑๗๘๙

พวกหัตถกรเอกระในยุคปลายของศักดินานี้ ได้พยายามปรับปรุงเครื่องมือในการผลิตของตนให้ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง และเมื่อกำลังของพวกนี้ขยายกว้างขวางออกเป็นชนชั้นกลาง ปัญญาชนของชนชั้นนี้ก็ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรกลขึ้นสําเร็จ การผลิตทางหัตถกรรมจึงได้กลายเป็นการอุตสาหกรรม นั่นคือ การปฏิวัติใหญ่ทางอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในยุโรปอันเริ่มเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ต่อ ๑๙ เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบผูกขาดการค้าของศักดินา อันเป็นการผูกขาดทางเกษตร และหัตถกรรมซึ่งผลิตโดยเครื่องมืออันล้าหลังเก่าแก่จึงทลายครืนลง เปิดช่องทางให้ระบบ การค้าแบบเสรีนิยม (Liberalism) หรือ มือใครยาวสาวได้สาวเอา (Laissez Faire) ของพวกชนชั้นกลางซึ่งพวกนี้ได้กลายมาเป็น ชนชั้นนายทุน (Capitalist) และสถาปนาระบบผลิต ทุนนิยม (Capitalism) ขึ้นในที่สุด นี่คืออวสานของระบบศักดินาในด้านหัตถกรรมและการผูกขาดการค้าอันเป็นพัฒนาการขั้นสุดยอดของเศรษฐกิจศักดินา

๗) สภาพการผลิตขั้นสุดท้ายของระบบศักดินาทางเกษตร ก็คือ การเกษตรล้าหลัง และการล้มละลายของชาวนา

เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตของชาวนาในระบบศักดินาที่ได้พัฒนามาช่วงระยะหนึ่งนั้นได้พัฒนามาจนถึงขั้นสุดยอด และชะงักงันลงโดยเด็ดขาด การใช้หัวผาลไถที่ทำด้วยเหล็กเป็นพัฒนาการขั้นสุดยอดของไถ การพัฒนาขั้นต่อไปถ้าจะมีก็คือการไถด้วยเครื่องจักรกลเท่านั้น ซึ่งนั่นก็อยู่นอกเหนือไปจากความสามารถของระบบผลิตศักดินา, การใช้ปุ๋ยที่พวกชาวนารู้จักใช้ก็มาหยุดชะงักที่การใช้ปุ๋ยธรรมชาติ การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อันเป็นระบบการค้นคิดของปัญญาชนของพวกชนชั้นกลางอยู่นอกเหนือจากความสามารถของพวกเขา, การรู้จักใช้สัตว์ช่วยในการลากจูงไถคราด เป็นการพัฒนาชั้นสูงสุดของการใช้แรงงานช่วยของระบบผลิตศักดินา, การทำนาโดยพึ่งน้ำฝน หรือพึ่งการขุดคลองทดน้ำตามแบบธรรมชาติ เป็นการพัฒนาขั้นสูงสุดของงานด้านชลประทานของระบบศักดินา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ผลิตผลของระบบศักดินาจึงเพิ่มพูนและก้าวหน้ามาจนถึงขั้นสุดยอด เพียงการรู้จักใช้เครื่องมือเหล็ก, การใช้ปุ๋ยธรรมชาติ, การใช้แรงงานสัตว์, การทำนารอฝนหรืออาศัยการขุดคลองระบายน้ำ ฯลฯ นั่นก็คือการพัฒนาของระบบผลิตนี้ ได้สะดุดชะงักงันลงโดยสิ้นเชิง ไม่อาจจะพัฒนาต่อไปอีกได้ พูดง่ายๆ ก็คือระบบผลิตศักดินาได้กำหนดเส้นตายของมันเองไว้เช่นเดียวกับระบบผลิตอื่นๆ ดังนั้นเมื่อการอุตสาหกรรมและการใช้เครื่องจักรกลถือกำเนิดขึ้น การผลิตทางเกษตรของพวกชาวนาจึงถูกทอดทิ้งอยู่ในสภาพล้าหลัง

ในอีกด้านหนึ่ง การขูดรีดอย่างหนักหน่วงของพวกศักดินาเจ้าที่ดิน หรือเจ้าขุนมูลนายซึ่งขูดรีดถึงสามชั้น (ดังกล่าวแล้วในข้อ ๕) ทำให้ชาวนาผลิตได้ผลไม่เพียงพอบริโภค เพราะต้องถูกขูดรีดไปอย่างหนักหน่วง ครั้นจะเพิ่มผลิตผลหรือจะพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาของตน ก็ไม่สามารถจะทำหรือซื้อหาได้ เพราะปราศจากเงินก้อนจะลงทุน ด้วยเหตุนี้ สภาพชีวิตจึงแร้นแค้น การกู้ยืมอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้นําชาวนาไปสู่การเป็นลูกหนี้ และการขูดรีดอีกชั้นหนึ่ง เมื่อหนี้สินรุงรัง ดอกเบี้ยท่วมท้น ที่ดินก็ตกเป็นของเจ้าของเงินไป ชาวนาเอกระกลายสภาพเป็นชาวนาล้มละลาย พวกชาวนาเช่าที่ก็ต้องประสบกับปัญหาการเป็นทาสดอกเบี้ยเงินกู้ และความอดอยากยากแค้นเช่นเดียวกับพวกเลก พวกไพร่ และพวกทาส ซึ่งได้รับการปลดปล่อยในชั้นหลังๆ เมื่อเป็นไทแก่ตัวก็ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากและการล้มละลายเช่นเดียวกัน ในที่สุดพวกนี้ก็พากันละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและที่นาเข้ามาแสวงหาชีวิตในเมืองอุตสาหกรรมโดยการขายแรงงานให้แก่พวกนายทุนอุตสาหกรรม นั่นก็คือชาวนาได้ล้มละลายกลายสภาพไปเป็นชนชั้นกรรมาชีพของสังคมทุนนิยมไปในที่สุด นี่คือพัฒนาการขั้นท้ายสุดอันเป็นสภาพถอยหลัง และเป็นอวสานแห่งระบบผลิตทางเกษตรของเศรษฐกิจศักดินา

เศรษฐกิจของศักดินาได้พัฒนาผ่านระบบศักดินาในยุคต้นไปสู่ระบบศักดินาในยุคสุดยอด และไปสู่ระบบศักดินาในยุคขัดแย้งถอยหลัง และแล้วก็สลายตัวถูกโค่นล้มไปในที่สุด นั่นเป็นกฏทางภววิสัยอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขูดรีดระหว่างชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบใดทั้งสิ้น

ค. ลักษณะทางการเมืองของระบบศักดินา

ลักษณะทางการเมือง, หรืออีกนัยหนึ่งลักษณะของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เพื่อเข้าถือสิทธิในปัจจัยแห่งการผลิตและเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้จากปัจจัยแห่งการผลิตของยุคศักดินามีดังต่อไปนี้ คือ

๑) การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นศักดินา (เจ้าขุนมูลนายและเจ้าที่ดิน) กับชนชั้นชาวนา (ไพร่, เลก, ชาวนาเอกระ)

เนื่องด้วยปัจจัยแห่งการผลิตสําคัญๆ คือที่ดิน มิได้เป็นสมบัติของสาธารณชนร่วมกันในสังคม แต่หากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชนกลุ่มน้อยนิดกลุ่มหนึ่ง และชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ ได้อาศัยอํานาจในการครอบครองที่ดินเป็นเครื่องมือในการกดขี่ขูดรีดมหาชนส่วนข้างมาก สังคมของศักดินาจึงแบ่งชนออกได้เป็นสองพวกเช่นเดียวกับสังคมที่มีการขูดรีดอื่นๆ นั่นก็คือ ชนชั้นผู้ขูดรีด (Exploiting class) และ ชนชั้นผู้ถูกขูดรีด (Exploited class) ในสังคมศักดินาที่มีที่ดินเป็นปัจจัยแห่งการผลิตสําคัญ ชนชั้นผู้ขูดรีดจึงได้แก่ผู้ที่ถือกรรมสิทธิในที่ดินผืนมหาศาล อันได้แก่พวกเจ้าที่ดินและเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งเรียกว่า ชนชั้นเจ้าที่ดินหรือชนชั้นศักดินา ส่วนชนชั้นผู้ถูกขูดรีดจึงได้แก่ผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิในที่ดินทั้งมวล ซึ่งเรียกว่า ชนชั้นทาสกสิกร หรือชนชั้นไพร่ หรือชนชั้นชาวนาอันรวมเอาชาวนาเอกระที่ทํานาของตนเองเป็นรายปลีกย่อยเข้าไว้ด้วย

ผลของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นทั้งสองดังกล่าวนี้ ผู้ที่ได้รับชัยชนะและเสวยอํานาจทางการเมือง ก็คือชนชั้นเจ้าที่ดิน ทั้งนี้ ก็เพราะชนชั้นเจ้าที่ดินมีสิทธิอํานาจอย่างเด็ดขาดในที่ดิน อันเป็นสิทธิอํานาจในทางเศรษฐกิจ เมื่อชนชั้นนี้ กําเอาชีวิตทางเศรษฐกิจไว้ในกํามือเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าเขาได้กําเอาชะตาชีวิตของชนชั้นทาสกสิกรทั้งมวลไว้ในกํามือ และอาศัยการกําชะตาชีวิตของชนชั้นทาสกสิกรไว้ในกํามือเช่นนี้เอง พวกชนชั้นเจ้าที่ดินจึงมีสิทธิอํานาจอย่างเด็ดขาดในการกําหนดสิทธิและหน้าที่ของชนชั้นทาสกสิกรที่พึงมีในสังคม พูดง่ายๆ ก็คือชนชั้นเจ้าที่ดินได้เผด็จอํานาจขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นทาสกสิกรต้องตกเป็นผู้ถูกปกครอง หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือตกเป็นผู้ถูกกดขี่บงการ นี่ก็คือผลของการต่อสู้ทางชนชั้นอันเป็นรูปแบบทางการเมืองของสังคมศักดินา

ไม่ต้องสงสัย สถาบันทางการเมืองของศักดินาทั้งมวลย่อมมีสภาพเป็นสถาบันของพวกศักดินา, เป็นสถาบันที่พวกศักดินาจะใช้อํานาจของพวกตนผ่านลงมาเพื่อกําหนดสิทธิและหน้าที่ของชนชั้นทาสกสิกรที่พึงมีต่อตน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นสถาบันที่ดูแลผลประโยชน์ กล่าวคือแสวงหาผลประโยชน์ และรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าที่ดินแต่ฝ่ายเดียว รัฐบาลของศักดินาจึงเป็นคณะกรรมการรักษาผลประโยชน์ของพวกชนชั้นเจ้าที่ดินโดยตรง

ประธานของคณะกรรมการรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นเจ้าที่ดินย่อมตกอยู่แก่ผู้ที่มีอํานาจในที่ดินมากที่สุด หรือไม่ก็เป็นตัวแทนของผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดินเป็นปริมาณมหาศาลที่สุด ตําแหน่งประธานนี้ก็คือ ที่เราเรียกกันว่า "กษัตริย์" หรือ "พระเจ้าแผ่นดิน" ถ้าจะแปลโดยศัพท์แล้ว "กษัตริย์" ก็คือ "ผู้มีที่ดิน" หรือ "ผู้ครอบครองผืนดิน" ต้นรากของคํานี้ ก็คือคําว่า "เกษตร" อันหมายถึงที่ดินเพาะปลูก คําว่า "ขัตติยะ" ก็มีต้นรากมาจากคําว่า "เขตต์" ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แม้คําไทยๆ ที่ว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" ก็แปลได้ว่า "พระผู้เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินทั้งมวล" นั่นเอง และเนื่องด้วยกษัตริย์เป็นผู้กําเอาชะตาชีวิตของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรม กษัตริย์จึงได้รับการเรียกขานกันอีกอย่างหนึ่งคือ "เจ้าชีวิต" ซึ่งแปลว่าเจ้าของชีวิตของประชาชน นี่คือคําเรียกขานตําแหน่งประธานของคณะกรรมการรักษาผลประโยชน์ของพวกชนชั้นเจ้าที่ดิน!

การเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินของท่านประธานคณะกรรมการดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดมีการประกาศโอนที่ดินทั้งมวลเป็นของท่านประธานแต่ผู้เดียว กล่าวคือแผ่นดินทั้งมวล เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินประทานที่ให้คนอยู่อาศัย พระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิที่จะริบโอนเวนคืน (เวนคืน = เอาที่ดินกลับคืนไป) ที่ดินได้ทุกขณะ ดังนั้นรัฐของสังคมศักดินาจึงถูกเรียกขานกันว่า "พระราชอาณาเขต" ซึ่งแปลว่า ผืนที่ดินของพระราชา ในภาษาอังกฤษซึ่งเรียกพระราชาว่า King ก็เรียกประเทศว่า Kingdom ( = อาณาเขตของพระราชา) ภาษาฝรั่งเศสที่เรียกกษัตริย์ว่า Roi ก็กําหนดให้เรียกประเทศสมัยศักดินาว่า : Royaume อันมีความหมายว่าเขตแดนของพระราชาเช่นเดียวกัน

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อกษัตริย์มีอํานาจเหนือแผ่นดินและเหนือชีวิตของมวลชน กษัตริย์เป็นผู้ประทานชีวิตให้แก่มวลชน มวลชนจึงมีชีวิตอยู่ได้ กษัตริย์จะเวนคืนชีวิตนั้นเสีย (คือประหาร) เมื่อใดก็ได้ ดังนั้นรัฐของศักดินาจึงถูกกําหนดให้เรียกขานกันอีกอย่างหนึ่งว่า "พระราชอาณาจักร" อันแปลว่า "ผืนดินภายในเขตที่กงล้อแห่งอํานาจของพระราชาหมุนเวียนไปถึง" (อาณาเป็นภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่าอาชญาหรืออาญา) โดยลักษณะการรวบอํานาจดังกล่าวนี้ รูปแบบของการปกครองของสังคมศักดินาจึงเป็นการปกครองระบอบ "ราชาธิปไตย" (อํานาจเป็นของพระราชา) หรือ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" (อํานาจและสิทธิ์อันสมบูรณ์เป็นของพระราชา) ด้วยการปกครองแบบนี้เท่านั้น ชนชั้นเจ้าที่ดินจึงจะมีหลักประกันได้ว่า ตนมีความมั่นคงในการกดขี่และขูดรีดแรงงานตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ได้ตามใจชอบ

๒) ความขัดแย้งและการต่อสู้ภายในชนชั้นศักดินาเอง

ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) นี้ ชนชั้นปกครองประกอบขึ้นด้วยวงศ์วานว่านเครือของชนชั้นเจ้าที่ดินทั้งน้อยใหญ่และข้าราชบริพาร (สมุน) ที่สัตย์ซื่อทั้งมวลที่ถือคติ "อาสาเจ้าจนตัวตาย รับใช้นายจนพอแรง" บรรดากษัตริย์และเจ้าขุนมูลนายที่เป็นอภิชน ซึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนนั้นย่อมมีกมลสันดานอันไม่รู้จักอิ่มในสิทธิอํานาจและผลประโยชน์ เจ้าขุนมูลนายแต่ละคนต่างก็มีอํานาจเหนือที่ดินผืนโตๆ ด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะเข้าร่วมกันเป็นคณะกรรมการเพื่อรักษาผลประโยชน์และการปกครอง จึงจําเป็นต้องมีเงื่อนไขการแบ่งปันอํานาจให้พอเหมาะกับขนาดและปริมาณที่ดินของตน นี่เป็นเงื่อนไขอันเดียวที่พวกเจ้าขุนมูลนายจะตกลงกันได้ด้วยสันติวิธี ถ้าหากเงื่อนไขหรือการปฏิบัติอันไม่เสมอภาคเหมาะสมเกิดมีขึ้นเมื่อใด เจ้าขุนมูลนายที่สูญเสียผลประโยชน์ก็จะแข็งข้อขึ้นต่อสู้โค่นล้มคณะกรรมการชุดเดิมที่ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ตน หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือจะลุกขึ้นต่อสู้กับคณะกรรมการชุดเดิมที่ไม่ให้สิทธิในการขูดรีดประชาชนเท่าเทียมกับผู้อื่น

ความขัดแย้งและการต่อสู้ภายในชนชั้นศักดินาเช่นนี้ ทําให้ระบบการแบ่งปันอํานาจของพวกศักดินาต้องดําเนินไปโดยถือขนาดและปริมาณที่ดินเป็นบรรทัดฐาน อํานาจของพวกเจ้าขุนมูลนายจะน้อยหรือมากย่อมขึ้นอยู่กับผืนดินที่ตนครอบครอง ซึ่งเงื่อนไขที่กําหนดลงนี้ ได้เป็นเงื่อนไขมาตรฐานที่ใช้อยู่จนกระทั่งระบบศักดินาสลายไป

ในตอนต้นของยุคศักดินา ความขัดแย้งและการต่อสู้ในชนชั้นศักดินาเองยังอยู่ในขั้นรุนแรง กษัตริย์หรือประธานกรรมการยังไม่อาจรวบอํานาจไว้ในกํามือได้โดยเด็ดขาด กษัตริย์จึงต้องยินยอมให้เจ้าขุนมูลนายแต่ละคนมีสิทธิอํานาจเหนือที่ดินของตนได้เต็มที่ พวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ เป็นใหญ่รองลงมาจากกษัตริย์ เรียกกันว่า "สามนตราช" หรือ "พระยามหานคร" (Vassals) พวกนี้จะต้องอยู่ในบัญชาของกษัตริย์ ซึ่งกษัตริย์จะบัญชาอะไรได้ก็โดยได้ปรึกษาหารือร่วมกับพวกนี้เสียก่อน ถ้าพวกนี้ไม่ยินยอมเห็นดีด้วยในการนั้นๆ กษัตริย์ก็บัญชาอะไรได้ยาก พวกเจ้าขุนมูลนายใหญ่ๆ มักทําอะไรเป็นการท้าทายกษัตริย์เสมอ ลักษณะเช่นนี้ ปรากฏชัดในตอนต้นยุคศักดินาของอังกฤษสมัยพระเจ้าวิลเลียมแห่งนอมันดี พูดง่ายๆ ก็คือสิทธิอํานาจกษัตริย์สะดุดหยุดกึกลงเพียงพวกสามนตราชหรือพระยามหานครนี้ เท่านั้น พวกสามนตราชหรือพระยามหานครจะมีเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นเมืองขึ้นอีกเท่าใด จะกดขี่ขูดรีดประชาชนอย่างไร จะออกกฏหมาย ออกเงินตรา ฯลฯ อย่างไรเป็นเรื่องของตนเอง กษัตริย์ยุ่งด้วยไม่ได้ อํานาจที่แท้จริงของกษัตริย์จะมีอย่างทั่วถึงแท้จริงก็เพียงในหัวเมืองใหญ่น้อยที่ขึ้นตรงกับตนเท่านั้น ดังนั้นขั้นสุดท้ายของการต่อสู้ภายในชนชั้นก็คือ กษัตริย์พยายามล้มเลิกพระยามหานครหรือสามนตราชต่างๆ เสีย ตั้งคนของตนขึ้นแทนสําหรับดูแลเมืองเล็กเมืองน้อยในอํานาจของพวกสามนตราชและพระยามหานครเดิมมา วิธีนี้ทําให้มั่นใจได้ว่าพวกพระยามหานครหรือสามนตราชจะไม่ทรยศเหมือนพวกชุดเก่าที่เคยเป็นมา การล้มเลิกประเทศสุโขทัยต้นสมัยอยุธยา การล้มเลิกประเทศเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การล้มเลิกรัฐของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ฯลฯ เหล่านี้ ก็คือแผนการรวบอํานาจทั้งสิ้น

วิธีการอีกอย่างหนึ่งอันเป็นวิธีการขั้นสุดยอดของการรวบอํานาจก็คือริบโอนเอาที่ดินทั้งมวลมาเป็นของกษัตริย์ ยกเลิกพวกเจ้าขุนมูลนายชุดเก่า แล้วจัดตั้งพวกเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ขึ้น พวกที่ตั้งขึ้นชุดใหม่นี้ โดยมากก็เลือกจากวงศ์วานว่านเครือเนื้อหน่อพงศ์เผ่าเหล่ากอศักดินาของพวกตนเอง หรือไม่ก็เลือกขึ้นจากข้าราชบริพารที่ทํางานดีสัตย์ซื่อต่อราชวงศ์ของตนเองแล้วส่งออกไปเป็นข้าหลวงดูแลหัวเมืองเอกโทตรีจัตวาต่างพระเนตรพระกรรณ พวกขุนนางชุดใหม่เหล่านี้ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ทั้งสิ้น พวกนี้ ในเมืองไทยเรียกกันว่า "เจ้าเมือง" หรือ "ผู้ว่าราชการเมือง" เมื่อกษัตริย์โปรดปรานเพราะรับใช้ได้คล่องและซื่อสัตย์ กษัตริย์ก็จะมอบอํานาจให้เป็นบําเหน็จ อํานาจที่ได้รับก็คืออํานาจเหนือที่นา อาจจะให้เป็นจํานวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฏหมาย นั่นคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ศักดินา" โดยวิธีนี้ พวกเจ้าขุนมูลนายที่กินเมืองโดยการสืบสกุลจึงสลายตัวไป แต่ถึงอย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้กินเมืองโดยการแต่งตั้งของกษัตริย์ก็ยังคงเป็นพวกวงศ์วานของเจ้าขุนมูลนายอยู่ดี เพราะมีเพียงพวกนี้เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาอบรมและได้มีโอกาสได้เฝ้าแหนถวายตัว

รูปแบบทางการปกครองของศักดินาจึงเป็นรูปแบบการปกครองที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการกระจายอํานาจ (Decentralization) และมาลงเอยด้วยการรวบอํานาจ (Centralization) เป็นที่สุด

๓) การต่อสู้ของชนชั้นทาสกสิกร และชาวนาเอกระ

ความขัดแย้งหลักของสังคมศักดินา ก็คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นศักดินาและชนชั้นชาวนาทั้งมวล การต่อสู้ของชนชั้นทั้งสองแม้จะลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายศักดินาเจ้าที่ดิน แต่ชาวนาทั้งมวลผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะลุกขึ้นโค่นล้มอํานาจทางการเมืองของชนชั้นเจ้าที่ดิน จุดหมายขั้นพื้นฐานของการต่อสู้ของพวกชาวนาก็เพื่อช่วงชิงกรรมสิทธิในที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สําคัญคืนมาเป็นกรรมสิทธิของชาวนาเอง ด้วยจุดหมายขั้นพื้นฐานเช่นนี้ ความจริงข้อหนึ่งจึงปรากฏว่า การต่อสู้หรือปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบบผลิตศักดินาที่จะมีผลสมบูรณ์จะต้องเป็นการต่อสู้ของชาวนาที่มีการจัดตั้งเป็นระเบียบและมีกําลังอันไพศาลเท่านั้น การโค่นล้มระบบศักดินาของชนชั้นกลางอันเป็นการช่วงชิงอํานาจทางการค้าและการหัตถกรรมหาได้ทําลายล้างระบบศักดินา อันเป็นระบบการขูดรีดทางเกษตรลง อย่างแท้จริงไม่

ในยุคศักดินา การต่อสู้ของชนชั้นชาวนาจะปรากฏออกมาในรูปการกบฏ หรือการลุกฮือขึ้นก่อการจลาจลของพวกชาวนา การต่อสู้ของเขาต้องประสบความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งพ่ายแพ้ต่อกฏหมายอันเป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าที่ดิน และทั้งพ่ายแพ้ต่อกําลังปราบปรามของฝ่ายชนชั้นเจ้าที่ดินที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สาเหตุของการพ่ายแพ้ของชนชั้นชาวนา ก็เนื่องมาจากสภาพทางเศรษฐกิจ ระบบผลิตเอกระอันกระจัดกระจายแยกกันอยู่แยกกันกินคนละแหล่งคนละที่ ทําให้ชาวนาไม่อยู่ในวิสัยที่จะจัดตั้งรวมศูนย์ขึ้นอย่างมีระเบียบและมีพลังพร้อมเพรียงได้ นี่ประการหนึ่ง ปรัชญาชีวิตที่พวกชนชั้นศักดินามอมเมาชาวนาว่ามนุษย์ไม่อาจขัดขืนบุญวาสนาได้ ชีวิตขึ้นอยู่แก่บุญกรรมและพรหมลิขิตทําให้ชาวนาส่วนมากที่ไม่มีการจัดตั้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเกิดความท้อแท้ทอดอาลัยงอมืองอเท้า ดังนั้นการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของชาวนาจึงเป็นไปในรูปการ จลาจล (Mob) อันขาดพลังที่เหนียวแน่นพร้อมเพรียงและขาดการจัดตั้ง และแม้การนําอันถูกต้อง ซึ่งแน่นอนสภาพเช่นนี้ ก็ย่อมจะนําไปสู่การพ่ายแพ้ในที่สุด

โดยเหตุที่ไร้การจัดตั้งและการนํานี้เอง ทําให้การต่อสู้ของชาวนามีลักษณะใหม่ขึ้นอีกประการหนึ่งนั่นคือมักจะเดินตามการนําของชนชั้นอื่น ในยุคต้นๆ ของศักดินาขณะที่ชนชั้นกลางยังไม่มีบทบาท การจลาจลของชาวนาก็มักจะถูกพวกชนชั้นเจ้าที่ดินที่ขัดแย้งกับอํานาจการปกครองเดิม นําไปใช้ให้เป็นประโยชน์ พวกเจ้าที่ดินที่ขัดแย้งกันได้อาศัยความจัดเจนฉกฉวยเอากําลังของชาวนาไปเป็นของตน โดยการตั้งคําขวัญใหม่ที่เหมาะสมให้เป็นความหวังแก่ชาวนา เป็นต้นว่า "กษัตริย์องค์เดิมไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ขอให้พวกเราจงช่วยกันสนับสนุนผู้มีบุญและมีทศพิธราชธรรมคนใหม่" หรืออะไรทํานองนี้ ซึ่งก็ได้ผล เพราะทําให้ชาวนาหันมาเข้าด้วยโดยหวังในชีวิตใหม่ที่ดีกว่า นั่นก็คือชาวนายังยึดมั่นอยู่ในความสุขที่มาจากการประทานให้ของตัวบุคคล มิได้มองเห็นกําลังของชนชั้นตน วิธีการอีกอย่างหนึ่งของชนชั้นศักดินาที่จะใช้กําลังของพวกชาวนาให้เป็นประโยชน์ ก็คือเข้าแทรกซึมเข้าไปในขบวนการเคลื่อนไหวจลาจลของชาวนา แล้วก็ค่อยๆ ยึดอํานาจทางการเมืองกลับคืนเข้ามาไว้ในกํามือของพวกตน ตกลงผู้ที่ได้รับผลจากการจลาจลของชาวนาก็คือพวกชนชั้นศักดินานั่นเอง เคล็ดลับในการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินหรือราชวงศ์ใหม่ของสังคมศักดินาที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ ก็อยู่ที่ความจริงที่กล่าวนี้

ครั้นถึงสมัยที่สังคมศักดินาได้พัฒนามาจนถึงขั้นที่ได้มีรูปการผลิตแบบทุนนิยมเกิดขึ้น และชนชั้นกลางได้ลุกขึ้นต่อสู้กับชนชั้นศักดินา ชนชั้นชาวนาก็มักจะเดินตามการนําของชนชั้นกลาง การต่อสู้ของพวกชาวนาในระยะนี้ จะประสานกันกับการต่อสู้ของชนชั้นกลางในเมือง และพวกชนชั้นกลางก็จะฉกฉวยเอาการจลาจลของชาวนาไปเป็นประโยชน์แก่ตนเสมอ ท่าทีของพวกชนชั้นกลางนั้นมีอยู่เด่นชัดประการหนึ่ง กล่าวคือท่าทีประนีประนอม พวกชนชั้นกลางเมื่อได้รับชัยชนะในการต่อสู้แล้ว ก็มักจะประนีประนอมกับพวกเจ้าที่ดิน ทั้งนี้ ก็เพราะเมื่อชนชั้นกลางสถาปนาระบบการค้าและการอุตสาหกรรมเสรีนิยมของตนขึ้นได้แล้วความขัดแย้งขั้นพื้นฐานระหว่างตนกับศักดินาในทางการผลิตก็หมดไป การอยู่ร่วมกันระหว่างชนสองชั้นจึงเป็นไปได้ชั่วระดับหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ชนชั้นศักดินาก็ยังคงขูดรีดชาวนาอยู่ได้ต่อไปเช่นเดิม ผู้ที่ได้รับผลจากการจลาจลของชาวนาจึงมิใช่ชาวนาเอง หากเป็นชนชั้นกลางผู้กําลังสถาปนาระบบผลิตทุนนิยม

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า การจลาจลของชาวนาเป็นเพียงบันไดสําหรับชนชั้นอื่นที่จะใช้เหยียบขึ้นไปสู่อํานาจทางการเมืองเท่านั้น สิ่งที่ชาวนาได้รับจากการจลาจลนั้นอย่างมากก็เป็นเพียงการผ่อนคลายเกลียวอันแข็งเขม็งแห่งการขูดรีดในชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น หาใช่เป็นการปลดแอกศักดินาออกไปอย่างแท้จริงจนกระทั่งสามารถสถาปนารัฐของชาวนาขึ้นได้แต่อย่างใดไม่

แต่อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมามิได้หมายความว่าชาวนาจะไม่มีวันใช้การต่อสู้ของตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ จริงอยู่แม้สภาพการจลาจลของชนชั้นชาวนาจะต้องดําเนินไปภายใต้การนําของชนชั้นอื่นเป็นปกติ แต่ในสภาพของสังคมทุนนิยมที่กําลังของชนชั้นกรรมาชีพเติบโตและมีการจัดตั้งอย่างกว้างขวาง การต่อสู้ของชาวนาภายใต้การนําของชนกรรมาชีพย่อมจักเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นชาวนาด้วยอย่างแท้จริง ด้วยการนําของชนกรรมาชีพที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง มีสายตาอันยาวไกลและปราศจากท่าทีประนีประนอมเท่านั้น ชาวนาจึงจะสามารถทําลายซากเดนของศักดินาที่ยังคงขูดรีดตนลงได้สิ้นเชิง และได้รับผลจากการปฏิวัติต่อสู้ของตนเองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพราะรัฐของชนกรรมาชีพที่สถาปนาขึ้นใหม่มิใช่รัฐของชนชั้นผู้ขูดรีดที่ตั้งขึ้นเพื่อการขูดรีดชนชั้นอื่น หากเป็นรัฐของมวลชนผู้ถูกขูดรีดทุกคนที่ตั้งขึ้นเพื่อขจัดชนชั้นผู้ขูดรีดให้หมดไป และเข้าถือบังเหียนสถาบันทางการเมืองไว้เป็นเครื่องมือในการดูแลจัดสรรผลประโยชน์ของมวลชนผู้เป็นเจ้าของในปัจจัยแห่งการผลิตร่วมกัน ในสภาพเศรษฐกิจดังกล่าวของรัฐแห่งชนชั้นกรรมาชีพนี้ เท่านั้น ชาวนาจึงสามารถปรับปรุงเศรษฐกิจเอกระแบบต่างคนต่างทํามาเป็นเศรษฐกิจแบบการผลิตรวมหมู่ทางเกษตร ซึ่งโดยการนี้ ชาวนาก็จะสามารถรวมกันเข้าได้เป็นกลุ่มก้อนและมีการจัดตั้งอย่างเป็นระเบียบและทําลายซากเดนของศักดินาลงได้อย่างแท้จริง!

๔) การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นศักดินากับชนชั้นกลาง

ได้กล่าวมาแล้วในลักษณะทางเศรษฐกิจว่า ในตอนปลายของยุคศักดินา ความขัดแย้งใหม่ได้เกิดขึ้นนั่นคือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างระบบการค้าผูกขาดของศักดินาและระบบการค้าเสรีของชนชั้นกลาง ความจัดเจนในการต่อสู้ทําให้ฝ่ายศักดินากดขี่พวกชนชั้นกลางมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ทําให้ชนชั้นกลางตระหนักมากขึ้นว่า การที่จะทําลายระบบผูกขาดการค้าของศักดินาลงได้ ก็มีแต่การโค่นล้มอํานาจทางการเมืองของศักดินาลง แล้วสถาปนาอํานาจทางการเมืองของชนชั้นตนขึ้น การจัดตั้งของพวกชนชั้นกลางซึ่งถึงแม้จะหละหลวม แต่ก็ได้เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับอํานาจทางการเมืองของศักดินาอย่างหนักหน่วง พวกชนชั้นกลางที่ทําการต่อสู้กับศักดินานี้ มิได้ต่อสู้โดยโดดเดี่ยว หากได้มีชนชั้นทาสกสิกรผู้ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างแสนสาหัสเข้าร่วมในขบวนการด้วย กําลังของฝ่ายชนชั้นกลางจึงเป็นกําลังอันมหาศาล ในที่สุดชนชั้นกลางโดยการสนับสนุนของประชาชนทั่วไปก็ทําลายอํานาจทางการเมืองของศักดินาลงได้ และสถาปนารัฐของชนชั้นกลางขึ้นแทนที่ในที่สุด นั่นคือวาระสุดท้ายของอํานาจทางการเมืองของศักดินา ตัวอย่างแห่งการต่อสู้และโค่นล้มระบบศักดินาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการปฏิวัติของชนชั้นกลางในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙

แต่อย่างไรก็ดีขอให้สังเกตว่า อวสานของระบบศักดินาที่ถูกจัดการโดยชนชั้นกลางนี้ เป็นเพียงอวสานแห่งอํานาจทางการเมืองเท่านั้น แต่ในทางการผลิตในด้านเกษตรแล้วศักดินายังคงมีซากเดนแห่งการขูดรีดและกดขี่เหลืออยู่โดยสมบูรณ์ ที่ดินอันเป็นปัจจัยสําคัญในการผลิตยังตกอยู่ในมือของชนชั้นศักดินาอย่างบริบูรณ์เช่นเดิม ทั้งนี้ เพราะไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ดังนั้นสิ่งที่พวกชนชั้นศักดินาสูญเสียไป จึงเป็นสถาบันแห่งคณะกรรมการจัดสรรดูแลผลประโยชน์ของตนเท่านั้นเอง ศักดินาซากเดนที่ยังตกค้างอยู่เหล่านี้ ยังคงต่อสู้ช่วงชิงอํานาจในสถาบันการเมืองต่อไปอย่างยืดเยื้อทรหด การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างศักดินากับกระฎุมพีหรือชนชั้นกลางจึงยังมิได้สิ้นสุดลงตรงการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี (Bourgeois-democratic Revolution) และแน่นอนในระยะนี้ ชาวนาทั้งมวลก็ยังคงถูกขูดรีดโดยชนชั้นเจ้าที่ดินอยู่ต่อไป แม้รูปแบบของการขูดรีดจะเปลี่ยนไปไม่หนักหน่วงเท่าเดิม แต่ถึงกระนั้นชาวนาก็ยังคงอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลาน และล้มละลายเช่นที่เคยเป็นมา

ทางเดียวที่ชนชั้นชาวนาจะต่อสู้จนได้ชัยชนะ และสามารถปลดแอกศักดินาออกจากบ่าตนได้ ก็คือเข้าร่วมการต่อสู้ของชนกรรมาชีพ และยอมรับการนําอันมีการจัดตั้งอย่างมีระเบียบของชนกรรมาชีพเท่านั้น หาใช่การเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้ของชนชั้นกลางผู้ทรยศหักหลังหันไปประนีประนอมกับชนชั้นศักดินาในภายหลังไม่!

ง. ลักษณะทางวัฒนธรรมของระบบศักดินา

ลักษณะทางวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง ลักษณะทางรูปแบบแห่งชีวิตของประชาชนในสังคมศักดินามีดังต่อไปนี้ คือ

๑) ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเป็นความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงตามชนชั้นโดยกําเนิด และตามอํานาจที่มีเหนือที่ดิน

ระบบศักดินาเป็นระบบที่พัฒนาการสืบสันตติวงศ์ของระบบทาสให้ก้าวขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง การสืบสันตติวงศ์หรือสืบสกุลของพวกนายทาสได้กลายมาเป็นการสืบสันตติวงศ์และสืบสกุลของพวกชนชั้นเจ้าที่ดิน การนับถือยกย่องมนุษย์โดยชาติกําเนิดได้พัฒนาขึ้นจนสูงสุดยอดในยุคนี้ พวกชนชั้นเจ้าที่ดินถูกยกย่อง หรือบังคับให้ประชาชนยกย่องขึ้นเป็น "เทวดา" เป็น "เจ้าฟ้า" เป็น "พระเจ้า" เป็น "พระพุทธเจ้า" เป็น "โอรสสวรรค์" ฯลฯ สรุปว่าเป็นเทวดาลงมาเกิดหรือเป็นพระพุทธเจ้ากลับชาติ วงศ์วานว่านเครือของชนชั้นนี้ จึงได้รับความนับถือ และมีอํานาจกดขี่พวกไพร่ได้ตามความสูงส่งของโคตรตระกูล ความนับถือยกย่องที่พวกชนชั้นศักดินาได้รับย่อมผูกพันอยู่กับที่ดินเสมอไป ศักดินาที่ล้มละลายจะกลายเป็น "ผู้ดีตกยาก" และแล้วก็จะกลายเป็น "ผู้ดีแปดสาแหรก" ต่อจากนั้นก็เป็น "ผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนเดิน" เป็นพวก "เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ" และกลายเป็นชนสามัญไปในที่สุด สถาบันของพวกนี้ จะคงอยู่ได้ก็โดยอํานาจในที่ดินที่ตนยังคงมีอยู่เท่านั้น พวกเจ้าที่ดินใหม่ที่เพิ่งมีที่ดิน ก็จะเริ่มมีอํานาจ เป็น "ผู้มีบุญวาสนา" เป็น "ผู้มีข้าทาสบริวาร" และการเป็นผู้ดีขึ้นในที่สุด

สําหรับพวกสามัญชนที่ไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยพอทํามาหากินลุ่มๆ ดอนๆ ไปได้ จะถูกเหยียดหยามลงเป็นพวก "ไพร่ราบ" เป็นพวก "มิจฉาทิฐิ" ต้องทน "รับใช้เวรกรรม" เป็น "คนชั้นตํ่า" ที่พระผู้เป็นเจ้าและเทวดาไม่โปรด การคบหาสมาคมระหว่างชนชั้นทั้งสองเป็นไปได้โดยยาก หรือถ้าเป็นไปได้ ชนชั้นไพร่ก็ต้องเป็นผู้เสียเปรียบ เป็นลูกจ๊อก การแต่งงานระหว่างชนสองชั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ถ้าผัวเป็นผู้ดี ได้เมียเป็นไพร่ทาส เมียก็จะถูกเหยียดหยามว่าเป็นเมียไพร่ ในเมืองไทยเรียกว่า เมียกลางทาสี แต่ถ้าผู้หญิงเป็นผู้ดี ผู้ชายเป็นไพร่ การแต่งงานจะเป็นไปได้ยากเย็นเต็มประดา ถ้าแต่งงานกันแล้วมีลูก ลูกจะต้องรับกรรมเป็นคนชั่วช้า ต้องทํางานบ่าวงานไพร่ชั้นต่ำเพราะมันเป็นลูกของแม่ที่แหกชนชั้น!

๒) ระบบทาสยังคงอยู่ นอกจากพวกไพร่ พวกเลกและสามัญชนอันเป็นชนชั้นต่ำแล้ว ในสังคมศักดินายังคงมี "ระบบทาส" เหลือเป็นซากเดนอยู่ พวกทาสเหล่านี้ ก็คือ "ทาสน้ำเงิน" เป็น "ทาสเรือนเบี้ย" เป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้ มนุษย์ยังมีสภาพเหมือนสัตว์ที่อาจซื้อขายกันได้เหมือนผักปลา สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในฐานะที่มนุษย์เป็น "คน" หามีในสังคมศักดินาไม่ ชนชั้นเจ้าที่ดินยังคงทารุณโหดร้ายต่อทาสในเรือนเบี้ยของตนได้ตามความพอใจ แม้ในตอนปลายสมัยศักดินาจะได้มีการปลดปล่อยทาสกันขึ้นก็จริง แต่ทาสก็ยังคงต้องถูกกดขี่ต่อไป ทั้งนี้ เพราะตนไร้ที่ดิน ทาสที่ถูกปลดปล่อยในสมัยศักดินา จะเป็นในเมืองไทยก็ดี ในรัสเซียก็ดี ล้วนมีสภาพเช่นเดียวกัน คือไร้ที่ดิน ซึ่งในที่สุดพวกนี้ ก็จะกลายมาเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาระบบทุนนิยม กล่าวคือกลายมาเป็นกรรมกรผู้ขายแรงงาน

๓) การเหยียดหยามเชื้อชาติ ชนชาติต่างๆ ที่ด้อยกว่าชนชาติตนก็ดี หรือชนชาติส่วนน้อยใน "พระราชอาณาจักร" ก็ดี จะถูกเหยียบย่ำลงเป็นเดนมนุษย์ เป็นชนชั้นต่ำ เป็นศัตรู ความรู้สึกเท่าเทียมเสมอภาคระหว่างชนชาติ ความรู้สึกเป็นมิตรระหว่างประชาชนต่างเชื้อชาติไม่ปรากฏมีในสังคมศักดินา ทั้งนี้ก็เพราะที่ดินทั้งหมดของชาติเหล่านั้นต้องตกเป็นของกษัตริย์องค์ใหญ่แล้วแต่โดยสิ้นเชิง ผู้อาศัยแผ่นดินท่านจึงเสมือนพวกข้าทาส เป็นพวกขี้ข้าในหัวเมืองประเทศราชไม่มีคุณงามความดีแต่อย่างใด

๔) สตรีและเด็กถูกเหยียดหยาม สตรีในสังคมศักดินาถูกกดขี่เหยียดหยามลงเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่าเพศชาย ผ้านุ่งผ้าถุงของสตรีก็เป็นของสกปรกต่ำช้าผู้ชายแตะต้องไม่ได้ นอกจากนั้นพวกเจ้าที่ดินทั้งปวงยังบำเรอความสุขของตน โดยการใช้สตรีเป็นเสมือนวัตถุระบายความใคร่ สภาพของสตรีจึงเป็นเหมือนสัตว์ตัวเมียที่คอยรองรับความหื่นกระหายของเจ้าที่ดิน ระบบฮาเร็มหรือสาวสวรรค์กํานัลในในราชสํานักและในบ้านผู้ดีเป็นระบบที่แพร่หลายทั่วไป การที่ต้องถูกกักขังจนผิดธรรมชาติทําให้การ เล่นเพื่อน (Homosexual) ในหมู่สตรีราชสํานัก และฮาเร็มของสํานักขุนนางระบาดทั่วไป ชีวิตทางกามารมณ์ของเจ้าขุนมูลนายเพิ่มความวิตถารขึ้นโดยลําดับเป็นต้นว่าการสําเร็จความใคร่ทาง "เว็จมรรค"

ฐานะของเด็กในสังคมศักดินาเป็นฐานะที่ตํา่าต้อย ทั้งนี้ เพราะเด็กมิได้เกิดมาโดยที่เจ้าขุนมูลนายอยากให้เกิด หากเกิดมาในฐานะเป็นผลพลอยได้จากความสนุกสนานทางกามารมณ์ คุณค่าของเด็กจึงไม่มีอีกประการหนึ่งพวกเจ้าขุนมูลนายปราถนาจะปราบเด็กลงไว้ให้อยู่มือแต่ยังเล็กเพื่อความมั่นคงของสถาบันของตน เด็กจึงถูกกดขี่อย่างหนัก

๕) ขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ เป็นขนบธรรมเนียมที่พัวพันอยู่กับที่ดิน ทั้งนี้ เพราะชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องอยู่กับการทํางานบนผืนดิน แต่อย่างไรก็ดี ขนบธรรมเนียมและประเพณีเหล่านั้นก็ต้องถูกเหยียดเป็นของต่ำทราม เพราะเกิดขึ้นในหมู่ไพร่ราบ ขนบธรรมเนียมและประเพณีอันเกิดจากที่ดินนั้นถ้าจะได้รับการยกย่องเน้นให้เห็นเด่นชัดก็จะต้องเป็นขนบประเพณีที่เป็นประโยชน์ต่อศักดินาเท่านั้น เช่น เอ็งอาศัยแผ่นดินของข้าทํามาหากิน เอ็งต้องเป็นหนี้บุญคุณข้า ยิ่งพวกที่เป็นทาสทํางานให้นายและกินข้าวของนายด้วยแล้ว พวกนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ บุญคุณของข้าวแดงแกงร้อน ส่วนงานที่ทาสทําให้นั้นไม่ต้องพูดถึง ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ดี ขนบประเพณีต่างๆ ที่นับถือว่าสูงส่งและถูกต้องจักต้องเป็นขนบประเพณีในราชสํานักและสํานักผู้ดี ราชสํานักจะเป็นศูนย์กลางแห่งขนบประเพณีทั้งปวง แล้วถ่ายทอดลงมายังสํานักผู้ดี สํานักผู้ดีจึงถ่ายทอดลงมาสู่พวกลิ่วล้อแล้วพวกลิ่วล้อถ่ายทอดลงมายังไพร่ราบอีกทอดหนึ่ง พวกไพร่ที่ปราศจากความสํานึกในชนชั้น เมื่อปรารถนาจะได้เข้าสู่วงสังคมไม่เคอะเขินก็ต้องปฏิบัติตามขนบประเพณีของผู้ดี ที่ใครมีตีนขนาดโตเพราะเหยียบดินทํางาน ก็ต้องหมั่นชะล้างผูกรัดให้ตีนเล็กลงมีสีแดงอมเลือดอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ดีที่ไม่ทํางาน! ในตอนปลายของยุคศักดินาเมื่อระบบผลิตแบบทุนนิยมหรืออีกนัยหนึ่ง ระบบพาณิชย์นิยม (Mercantilism) พัฒนามาจนชนชั้นกลางเริ่มมีบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของตนแล้ว ขนบประเพณีต่างๆ ของพวกศักดินากลายเป็นโซ่ที่รัดร้อยชีวิตของพวกชนชั้นกลางอย่างยิ่ง ชนชั้นกลางมักจะถูกเยาะเย้ยถากถางโดยผู้ดีอยู่เสมอว่าเป็น "คางคกขึ้นวอ" "กิ้งก่าได้ทอง" เป็นพวก "ไม่เคยพบเคยเห็น" ซึ่งถ้าเป็นในฝรั่งเศสก็เรียกว่าพวก "Nouveauriche" พวกชนชั้นกลางในระยะนี้ จึงพยายามอย่างสุดกําลังที่จะล้มล้างขนบประเพณีของชนชั้นศักดินาลง อาศัยอํานาจเงินอันเป็นอํานาจใหม่ทางเศรษฐกิจ ทําให้พวกชนชั้นกลางเด่นขึ้นในวงสังคม ความล้มละลายของชนชั้นศักดินาหนุนให้พวกชนชั้นกลางสถาปนาขนบประเพณีแบบเสรีนิยมของตนขึ้นใหม่ได้แต่อย่างไรก็ดี ท่าทีอันประนีประนอมของพวกชนชั้นกลาง ทําให้พวกเขายอมรับเอาขนบประเพณีส่วนหนึ่งของพวกศักดินาไว้ ยิ่งพวกชนชั้นกลางที่ซื้อตําแหน่งทางการเมืองด้วยเงินตราด้วยแล้วยิ่งพยายามรับทอดขนบประเพณีของพวกศักดินาไว้เต็มคราบ อิทธิพลของขนบประเพณีศักดินาจึงยังคงอยู่ต่อไปในสังคมทุนนิยม หาได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิงไม่

๖) ศิลปะและวรรณคดี ศิลปะของสังคมศักดินาทั้งมวลมีทั้งศิลปะของประชาชนและศิลปะในราชสํานักและสํานักผู้ดี ศิลปะของประชาชนถูกเหยียบย่ำเป็นของต่ำ ศิลปะในราชสํานักที่รับใช้ชนชั้นศักดินาเท่านั้นที่ได้รับการส่งเสริมยกย่องเป็นแบบฉบับ วรรณคดีของสังคมศักดินาก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือเป็นวรรณคดีรับใช้ชนชั้นศักดินา สรุปว่าทั้งศิลปะและวรรณคดีถูกผูกขาดโดยชนชั้นศักดินาแต่ฝ่ายเดียว

ศิลปะและวรรณคดีของสังคมศักดินาในยุคต้นๆ เป็นศิลปะและวรรณคดีที่ดําเนินไปในคติ "ศิลปะเพื่อชีวิต" ซึ่งหมายถึงเพื่อชีวิตของชนชั้นศักดินาเท่านั้น! ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการผลิตศิลปะเพื่อรับใช้ชีวิตของพวกเขาเองได้ กรอบของขนบประเพณีและชีวิตทางเศรษฐกิจการเมือง จะบีบศิลปินไว้ในวงล้อมแห่งศิลปะเพื่อชีวิตของชนชั้นศักดินาทั้งสิ้น สภาพเช่นนี้ ทําให้ศิลปินรุ่นใหม่ของชนชั้นกลางในปลายยุคศักดินารู้สึกอึดอัด เขากําลังต่อสู้เพื่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ศิลปะและวรรณคดีของพวกเขาจะเป็นเครื่องมือที่รับใช้พวกเขาในการต่อสู้อยู่ชั่วระยะหนึ่ง ครั้นเมื่ อเขาประสบชัยชนะแล้ว ศิลปะและวรรณคดีของพวกชนชั้นกลางก็จะเตลิดเข้ารกเข้าพงไปสู่คติ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" อันเป็นแนวคิดทางศิลปะของระบบเสรีนิยมที่ต้องการความอิสระทางความเพ้อฝัน ไม่ผูกพันกับชีวิตใดๆ ในสังคม อวสานของคติศิลปะเพื่อชีวิตของชนชั้นศักดินาได้มาถึง เมื่อคติศิลปะเพื่อศิลปะของชนชั้นกลางถือกําเนิดขึ้นมานี้เอง

๗) การศึกษา ในเมื่ออํานาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ตอลดจนอํานาจในการกําหนดรูปแบบแห่งชีวิตในด้านอื่นๆ ตกอยู่ในมือของชนชั้นศักดินาเช่นนี้ จึงไม่มีปัญหาว่าการศึกษาจะไม่ตกอยู่ในมือของศักดินาและดําเนินไปเพื่อรับใช้ชนชั้นศักดินา

เพื่อที่จะเสริมสร้างบุญญาบารมีของชนชั้นตนศักดินาจะกําเอาสิทธิในการแต่งและการตีความประวัติศาสตร์ไว้ในมือของตน ปราชญ์ของพวกศักดินาจะตั้งตนขึ้นเป็นบิดรแห่งประวัติศาสตร์ ถือตัวเป็นศาลสุงวินิจฉัยประวัติศาสตร์ของชาติ ประวัติศาสตร์ของชาติจึงแทนที่จะเป็นประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวก้าวหน้าของประชาชน ตรงข้ามกลับเป็นประวัติการสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์และการกระทำต่างๆ ของกษัตริย์กลับเป็นเป็นหนังสือที่พรรณนาถึงบุญญาบารมีและพระเดชพระคุณของกษัตริย์ที่มีต่อทวยราษฎร์ นั่นก็คือประวัติศาสตร์ของพวกศักดินา มิใช่ประวัติศาสตร์ หากเป็นพงศาวดาร อันว่าดูวยวงศ์วานว่านเครือของเทวดาที่อวตารลงมาดับยุคเข็ญบนมนุษย์โลก วิชาประวัติศาสตร์ของศักดินาจึงเป็นวิชาที่อบรมสั่งสอนเยาวชน ให้ซาบซึ้งดื่มด้่าในพระมหากรุณาธิคุณและจงรักภักดีต่อชนชั้นศักดินาโดยตรงนั่นเอง โดยที่แท้แล้ว วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความจัดเจนในการต่อสู้ทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งวิชานี้เป็นเสมือนตัวอย่างการต่อสู้ทางสังคมแห่งชีวิตของชนรุ่นหลัง การศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นหัวใจแห่งการศึกษาความเป็นมาของสังคม เป็นกุญแจดอกสําคัญที่จะไขไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ศักดินาตระหนักในความจริงข้อนี้ดี จึงได้เข้าถือบังเหียนการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไว้ในกํามือเพื่อใช้วิชานี้ให้เป็นประโยชน์แก่ชนชั้นตน

นอกจากวิชาประวัติศาสตร์อันเป็นหัวใจของการแสดงตัวอย่างและการตีความจัดเจนของชีวิตของชนชั้นศักดินาแล้ว วิชาอื่นๆ ศักดินาก็จะสอดแทรกลงไปในคําสอนให้มีจุดประสงค์เพื่อรับใช้และเสริมสร้างสถาบันของศักดินาทั้งสิ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาว่าด้วยศีลธรรม กฏหมาย การปกครอง ฯลฯ ในยุคต้นๆ นั้นศักดินาถึงกับหวงห้ามมิให้ประชาชนได้ศึกษากฏหมายเลยทีเดียว สิ่งที่พอนับได้ว่าเป็นกฏหมายที่ศักดินาอนุญาตให้เรียนรู้ได้และจําเป็นต้องเรียนก็คือตําราว่าด้วยกฏเกณฑ์การเป็นมหาดเล็ก ข้อบังคับในพระราชฐานที่พวกข้าราชบริพารและประชาชนจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง

สรุปว่าลักษณะทางการศึกษาของศักดินาก็คือการผูกขาดการศึกษา อนุญาตให้เล่าเรียนได้แต่วิชาที่เป็นประโยชน์ต่อศักดินา

จุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งในด้านการศึกษาของศักดินาก็คือกดคนลงไว้ให้โง่ ไม่ส่งเสริมให้ฉลาด ทั้งนี้เพราะการกดขี่ขูดรีดคนฉลาดเป็นสิ่งที่กระทําได้ยาก การศึกษาในสมัยศักดินาจึงล้าหลัง แต่ในขณะเดียวกันศักดินาก็ต้องการคนฉลาดใช้คล่องไว้ปฏิบัติ "ราชการ" (คือธุรกิจของพระเจ้าแผ่นดิน) ศักดินาจะสร้างคนของเขาขึ้นมาไว้ใช้ โดยให้เข้ามาศึกษาในสํานักของผู้ดี สํานักของเจ้าขุนมูลนายและในราชสํานัก เด็กหญิงก็จะต้องร่ำเรียนเพื่อเป็น "ผ้าพับไว้" ไว้รอรับความหื่นกระหายของผัว พูดง่ายๆ ก็คือเรียนวิชาปรนนิบัติผัว เด็กชายก็ร่ำเรียนเพื่อให้เป็น "ขุนศึก" เป็น "อัศวิน" เป็น "ทหารเสือ"

ลักษณะนี้ก่อให้เกิดประเพณีหวงวิชากันขึ้นอย่างแพร่หลาย อาจารย์เจ้าสํานักจะหวงแหนวิชา เลือกถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ก้นกุฏิที่รักใคร่และเห็นว่าสัตย์ซื่อ สามัญชนทั่วไปจึงไม่มีโอกาสร่ำเรียน เฉลียวฉลาดอย่างดีก็เพียงอ่านออกเขียนได้ กวีศิลปิ นและผู้มีความรู้ต่างๆ ส่วนมากจึงมักอยู่ในราชสํานักและวังของเจ้าขุนมูลนายทั้งสิ้น

อีกประการหนึ่ง การศึกษาของศักดินาเป็นการศึกษาที่สอนให้คน "ยอมรับ" (accept) กล่าวคือมิได้เปิดโอกาสให้ศิษย์คิดเสียก่อน เมื่อเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ หากสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้ เพื่อปิดทางความคิดริเริ่มทั้งปวงอันจะนําไปสู่หายนะแห่งชนชั้นศักดินา

การผูกขาดการศึกษา และวิธีสอนให้คนยอมรับ (accept) แบบนี้ เมื่อพัฒนามาจนถึงขั้นสุดยอด ก็ต้องปะทะเข้ากับพลังแห่งความคิดแบบ "เสรีนิยม" ของชนชั้นกลาง การค้าขาย การอุตสาหกรรม การติดต่อธุรกิจ ฯลฯ ของพวกชนชั้นกลางบังคับให้ชนชั้นกลางต้องสร้างคนที่เฉลียวฉลาดว่องไว มีความคิดริเริ่ม และมีความรู้รอบด้านชึ้น พลังของการผูกขาดวิชากับพลังของการเปิดตลาดวิชาอย่างเสรีจึงปะทะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายศักดินาได้พยายามกีดกันการก่อตั้งสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางอย่างเต็มความสามารถ แต่ผลที่สุดก็ไม่สามารถขวางกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ได้ สถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางจึงถือกําเนิดขึ้น

แต่! เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง และประกอบกับชนชั้นกลางที่มีท่าทีประนีประนอม ศักดินาจึงสามารถแทรกแซงเข้าไปในสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางได้อย่างลอยชาย ศักดินาซากเดนยังคงกําเอาหลักสูตรและการหันเหจุดหมายปลายทางแห่งการศึกษาไว้ใต้กํามือ วิชาประวัติศาสตร์ก็ยังคงตกอยู่ในกํามือและในอิทธิพลการตีความของชนชั้นศักดินาต่อไป

๘) ศาสนา ในต้นยุคศักดินา ศาสนากับศักดินามีความขัดแย้งกันอย่างหนักหน่วง ศาสนาซึ่งเคยเป็นใหญ่เหนือชะตาชีวิตของมวลชนได้ดิ้นรนเต็มที่ที่จะรักษาความสําคัญของตนไว้ การต่อสู้ระหว่างศาสนากับศักดินาปรากฏอย่างเด่นชัดในยุโรปและอินเดีย และแม้ที่สุดในประเทศไทย ในยุโรปจะปรากฏบ่อยๆ ว่าสังฆราชประกาศ คว่ำบาตร (Excommunicate) กษัตริย์และกษัตริย์ประกาศยุบสังฆราช แต่ตามความเป็นจริงขั้นพื้นฐานที่ว่าชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับอำนาจทางเศรษฐกิจทำให้ศักดินาได้รับชัยชนะในที่สุด ทั้งนี้เพราะศักดินาได้รวบเอาปัจจัยแห่งการผลิตเข้าไว้ในกํามือได้เด็ดขาดความพ่ายแพ้ของศาสนาทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างบารมีของกษัตริย์ ในที่สุดทางศาสนาก็ต้องยอมรับว่ากษัตริย์คือ "สมมติเทพ" คือ "เทวดาบนพื้นดิน" คือ "พระผู้เป็นเจ้าอวตารลงมา" คือ "พระพุทธเจ้ากลับชาติ" และท้ายที่สุดก็คือ "ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา" โดยทางกลับศักดินาก็แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชขึ้นเป็นขุนนางมีลําดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปี และแม้เงินเดือน ปรากฏการณ์อันนี้ เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย

เมื่อถึงขั้นนี้ แล้วศาสนาก็มีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้ผู้คนเคารพยําเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครู อาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอน ย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา

ยิ่งกว่านั้น ศาสนาได้กลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างเจ้าขุนมูลนายด้วยกันเอง พวกนักบวชที่ตั้งตนเป็นอาจารย์จะซ่องสุมผู้คนเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง หรือไม่ก็เพื่อสนับสนุนเจ้าขุนมูลนายที่อุปการะตน ทั้งนี้ กระทำได้โดยการเผยแพร่กฤตวิทยาคมไสยศาสตร์ บางครั้งเจ้าขุนมูลนายที่กําลังช่วงชิงอำนาจก็ใช้ศาสนาเป็นสะพานให้ประชาชนด่าทอสาปแช่งรัฐบาลเก่า และหันมาสนับสนุนพึ่งพาบารมีตนผู้กําลังจะเป็นเจ้าคนใหม่

ในสมัยที่รูปแบบการผลิตทุนนิยมพัฒนามาถึงขั้นที่ชนชั้นกลางลุกขึ้นมาต่อสู้กับศักดินา ศักดินาจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือที่มีสัมฤทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นในฝรั่งเศสสมัยนโปเลียนที่ ๓ พวกศักดินาซากเดนได้พยายามแปลงร่างเป็นฝ่ายมหาชนรัฐ เรียกร้องให้นโปเลียนเปิดการศึกษาอย่างเสรี ทั้งนี้ก็เพราะขณะนั้นรัฐเป็นผู้ผูกขาดการศึกษา ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะถ้ารัฐไม่ผูกขาดพวกศักดินาก็จะมอมเมาประชาชนด้วยการศึกษาอย่างสบายอารมณ์ โดยเฉพาะวิทยาลัยต่างๆ เป็นวิทยาลัยที่พระดําเนินการทั้งสิ้น นโปเลียนที่ ๑ ยอดขุนศึกผู้ทารุณจึงแยกการศึกษาออกมาจากวัด แล้วผูกขาดดําเนินการโดยรัฐ ครั้นพอถึงสมัยนโปเลียนที่ ๓ เมื่อพวกศักดินาปลอมตัวเป็นฝ่ายมหาชนรัฐเรียกร้องให้เปิดการศึกษาเสรีโดยอนุญาตให้เอกชนดําเนินการได้ นโปเลียนที่ ๓ ก็ตกหลุม พอประกาศให้เอกชนดําเนินการศึกษาได้ พวกพระก็เปิดโรงเรียนเปิดวิทยาลัยสอนหนังสือเพื่อเสริมสร้างกําลังให้แก่พวกศักดินาซากเดนทันที ที่พวกพระช่วยศักดินาก็เพราะศักดินาเลี้ยงดูพระมีเงินเดือนเงินปี ให้และพระมีโอกาสยุ่งในการเมืองด้วย แต่ระบบใหม่ของนโปเลียนที่ ๓ และระบบมหาชนเป็นระบบที่ตัดศาสนาออกไปจากการเมืองโดยเด็ดขาด ใครจะบวชใครจะสึกไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล หากเป็นเรื่องของเอกชน รัฐไม่สนับสนุนและก็ไม่ทําลาย พวกพระจึงไม่ชอบเป็นธรรมดา ในยุคหลังจากนั้น พวกพระยังสมคบเป็นกําลังให้พวกศักดินาฝรั่งเศสทําการต่อสู้อย่างยืดเยื้อทรหดมาเป็นเวลาอีกหลายปี

ในบางประเทศที่ชนชั้นกลางได้รับบทเรียนอันนี้ ท่าทีของศาสนาจะเปลี่ยนไป ทั้งนี้ เพราะชนชั้นกลางทุ่มเทเงินให้แก่การศาสนาเพื่อซื้อศาสนาไว้ จึงมีส่วนหนึ่งของพวกนักบวชที่เห็นดีเห็นงามกับชนชั้นกลาง แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่ยังคงยึดมั่นในจริยธรรมเก่า, ยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อศักดินา ก็ยังคงสนับสนุนศักดินาต่อไป ความขัดแย้งภายในวงการศาสนาเองจึงเกิดขึ้นในตอนปลายยุคศักดินาต่อกับทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี โดยทั่วไปแล้วศาสนาก็ยังคงเป็นแหล่งที่รักษาซากเดนความคิดศักดินาไว้ได้นานที่สุด เพราะจริยธรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในศาสนาส่วนมากได้ถูกดัดแปลงจนเหมาะสมที่จะรับใช้ชนชั้นศักดินาแล้วทั้งสิ้น

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น คือลักษณะโดยทั่วไปของระบบศักดินา ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเพียงบทสรุปอย่างคร่าวๆ สําหรับใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาสังคมศักดินาของไทยในอันดับต่อไป

อนึ่ง การที่จะเข้าใจระบบศักดินา และบทบาทของระบบศักดินาในประวัติศาสตร์ได้แจ่มแจ้ง โดยมิได้เข้าใจถึงกําเนิดของมันอันต่อเนื่องมาจากระบบทาสนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทําความเข้าใจอย่างคร่าวๆ ในอันดับต่อไปนี้ ก็คือ กําเนิดของระบบศักดินาโดยทั่วไป