ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 13
หนังสือสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ[1] สมเด็จเจ้าพระยาวราอุดมกรมพาหุ ถึงพระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง ด้วย ณ วันแรม ๙ ค่ำ เดือนสิบสอง เห็นหลวงราชาธิบดี ขุนนครภิรมย์ ถือหนังสือพระคทาธรธรณินทร์สองฉบับไปถึง เนื้อความว่า พระยารัตนวิเศษประเทศธานี เจ้าเมืองสวายจิก เข้ามา ณ เมืองพระตะบอง พูดบอกพระคทาธรธรณินทร์ว่า พระโรคสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงกัมพูชากลับหนักลง ครั้นถึง ณ วันศุกร ขึ้นห้าค่ำ เดือน ๑๒[2] เสด็จสู่สวรรคต ณ เพลาบ่าย ๔ โมง ๕ นาที นั้น ว่า พระยาอนุชิตชาญไชย ผู้เป็นข้าหลวงซึ่งโปรดพระราชทานให้ออกมาประจำ ณ เมืองพระตะบองคอยฟังราชการเมืองเขมรนั้น มีความวิตกไปถึงสมเด็จพระมหาอุปราชบรมบพิตรเป็นเจ้านัก[3] ด้วยราชการเมืองเขมรกับเมืองญวนก็กำลังทำศึกสงครามแก่กัน ส่วนชวาและแขกจามซึ่งหนีไปพึ่งญวนเล่าก็เป็นเสี้ยนหนามแก่เมืองเขมรอยู่ กับข้อราชการในเมืองเขมรมันก็ย่อมรู้สิ้น อาศัยเหตุนี้ พระยาอนุชิตชาญไชยจึงคิดเกณฑ์เลขฉกรรจ์ในเมืองพระตะบองสักพันหนึ่ง แล้วจะยกไปช่วยรักษาสมเด็จพระมหาอุปราชบรมบพิตรเป็นเจ้า จึงได้ใช้หลวงราชาธิบดี ขุนนครภิรมย์ มาฟังราชการ ถ้ามีเหตุการณ์ประการใด ให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะมีใบบอกไปแจ้งความแก่ข้าหลวงโดยเร็วพลัน จะได้ยกกองทัพไปช่วยให้ทันราชการ ถ้าราชการในกรุงกัมพูชาเรียบร้อยอยู่ ข้าหลวงก็จะยั้ง ณ เมืองพระตะบองดังเก่าคอยฟังราชการต่อไปนั้น ได้นำต้นหนังสือกับผู้ถือหนังสือขึ้นเฝ้าแต่สมเด็จพระมหาอุปราช ได้ทรงทราบตามเนื้อความหนังสือทุกประการแล้ว
จึงมีพระบัณฑูรว่า ส่วนราชการเขมรรบกับญวนชวาและแขกจามนั้น หาไม่จากสมเด็จพระราชบิดาไปแล้ว สมเด็จพระมหาอุปราชเป็นเจ้าได้จัดนายกองทัพทุก ๆ ทางซึ่งต่อแดนกับญวนให้ระมัดระวังด่านแลกองสอดแนมโดยแข็งแรง
ส่วนกองทัพญวนยกกองทัพไปทำค่าย ณ เมืองตรังไตรตราดนั้น ได้รบกันกับกองทัพพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพาม พระยาพิศณุโลก เจ้าเมืองตรัง และบรรดานายกองนายทัพตั้งฝ่ายเหนือซึ่งให้ไปช่วยนายกองนายทัพเมืองตรังไตรตราดได้ต่อสู้รบกับญวนตั้งแต่เดือน ๑๑ เรื่อยมา กองทัพอ้ายญวนก็ยังตีเอาเมืองไปไม่ได้ และจะให้กองทัพบกไปช่วยก็ไปไม่ได้ โดยน้ำลึกมาก เดินทัพข้ามไปไม่ได้
ส่วนราชการฝรั่งรบกับญวนนั้น ได้ความจากคนใช้ว่า ญวนพูดบอกว่า ทุกวัน หาได้รบกันไม่ดอก ต่างก็ตั้งรักษาแต่ค่ายอยู่ เนื้อความเหล่านี้ สมเด็จพระมหาอุปราช สมเด็จพระแก้วฟ้าเป็นเจ้า ได้ทำศุภอักษรใช้ให้พระยาศรีธรรมาธิราช[4] พระยาธิราชมนตรี พระยาสุนทรอักขรา พระรัตนสุริวงศ์ ปลัดกรม พระยาคเชนทศการ พระยาคเชนธารา เชิญเข้าไปกรุงเทพฯ ณ วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก โทศกแล้ว ต่อไป ถ้ามีราชการผันแปรประการใด จะมีใบบอกแจ้งมาให้ทราบ ส่วนพระยาอนุชิตชาญไชย ผู้เป็นข้าหลวงนั้น สมเด็จพระมหาอุปราชเป็นเจ้าโปรดให้ทำใบบอกเป็นหนังสือไทยแจ้งมาฉบับหนึ่งแล้ว กับได้จัดให้คนใช้ถือใบบอกกลับมาแล้ว
แจ้งความมา ณ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก โทศก[5]
หมายเหตุ | ต้นสำเนานี้เป็นภาษาเขมร. | |
นายนุช | ||
ผู้แปล | ||
เลขที่ | ๒๖ | |
ร. ๔ | จ.ศ. ๑๒๒๒ |