ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- นายกรัฐมนตรี
หนังสือเรื่อง ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ที่สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในการทอดกฐินพระราชทานสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัดพนัญเชิง[1] ครั้งนี้ เป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยก่อนนั้นได้รับมอบงานทั้งมวลมาจากกรมราชเลขาธิการในพระองค์สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ และกรมราชเลขาธิการในพระองค์นั้นเล่าก็มีส่วนราชการขึ้นอยู่ในสังกัด ๓ กรม คือ (๑) กรมบัญชาการ (๒) กรมราชเลขานุการในพระองค์ และ (๓) กรมพระอาลักษณ์
กรมราชเลขาธิการในพระองค์มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงภายหลังที่กระทรวงมุรธาธรได้ยุบไปตามพระบรมราชโองการ และเป็นที่รวมของราชการแผ่นดิน เพราะสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ราชการของกระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติหรือถวายรายงานเพื่อทรงทราบจึงต้องผ่านกรมราชเลขาธิการในพระองค์ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงมีเอกสารหลายหลากชนิดเก็บรักษาไว้เป็นอันมาก และบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เก็บรักษาไว้ ณ กรมราชเลขาธิการในพระองค์นั้นก็ได้เก็บรักษามาตั้งแต่ต้นทุกรัชกาล ลางเรื่องเป็นเอกสารสมัยอยุธยา ลางเรื่องเป็นเอกสารสมัยกรุงธนบุรี และลางเรื่องเป็นเอกสารตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ แต่ละเรื่องล้วนมีค่าทางประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดาร วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติไทย นับจำนวนหลายพันเล่ม (สมุดไทย) ต่อมาเมื่อได้มีประกาศพระบรมราชโองการยุบกรมราชเลขาธิการในพระองค์เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ งานในหน้าที่ของกรมราชเลขาธิการในพระองค์จึงมาเป็นของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบเอกสารต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้ตามหน้าที่ และเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๒ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ที่กรมศิลปากร และเนื่องจากต้นฉบับเดิมเป็นสมุดไทยดำ เป็นกระดาษเพลา กระดาษสา นับวันจะผุเปื่อยย่อยยับไปตามกาลเวลา จึงเห็นสมควรจัดพิมพ์เอกสารเหล่านี้ขึ้นไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดาร และหลักฐานทางวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทยสืบไป
ในชั้นต้น สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้จัดพิมพ์เอกสารเรื่อง ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ขึ้นก่อน เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ไทยเราทรงสถาปนากษัตริย์เขมรให้ครอบครองบ้านเมืองที่เป็นดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เรื่องนี้พิมพ์จากเอกสารที่เก็บรักษาไว้ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายประวัติที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนานักพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร แล้วต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๐๖–๒๔๑๐ ชนชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งมารบได้ประเทศญวนแล้วเลยมาบีบบังคับเอาประเทศเขมรเป็นเมืองขึ้นโดยอ้างว่า ประเทศเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นประเทศญวนมาก่อน บังคับกษัตริย์เขมร คือ องค์สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษมหาอุปราช ทำสัญญากับแม่ทัพใหญ่ของประเทศนั้นผู้ซึ่งมาปกครองประเทศญวน องค์สมเด็จพระนโรดมฯ ได้กราบบังคมทูลชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างละเอียด (ตามเรื่องที่พิมพ์) และว่า ที่จำต้องลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๐๖ ก็เพราะถูกบีบบังคับ จะทัดทานให้รอฟังคำสั่งจากกรุงเทพ⟨ฯ⟩ (ประเทศไทย) ก่อนก็ไม่ยอม จำใจจำลงนามให้ แต่ความจงรักภักดียังคงมีอยู่เช่นเดิม และสุดท้ายไทยก็ได้เสียเขมรทั้งประเทศเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐
อนึ่ง เอกสารต่าง ๆ ที่พิมพ์ในคราวนี้ด้วยแสดงให้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ครอบครองดินแดนเขมรมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๑๙๗๕ สืบมาจนกึงกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ประเทศไทยมีอาณาเขตกว้างขวางมากที่สุด (ตามแผนที่ที่พิมพ์[2]) พระองค์ก็ได้สถาปนานักพระองค์เอง ราชบุตรบุญธรรม ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองดินแดนเขมรเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ จากเอกสารแต่ละเรื่องที่พิมพ์ไว้ตามลำดับนั้น ล้วนแต่แสดงหลักฐานให้เห็นว่า ประเทศไทยได้ดูแลและให้ความคุ้มครองแก่กษัตริย์เขมร ชนชาวเขมร มาตั้งแต่แรกจนถึงองค์สมเด็จพระนโรดมฯ กษัตริย์เขมรผู้ยินยอมทำสัญญาอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศสโดยถูกบีบบังคับ
องค์สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษมหาอุปราช มีนามเดิมว่า นักองค์ราชาวดี เป็นโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีศรีสุริโยประพันธ์ธรรมิกวโรดม มีน้องชาย ๒ คน ชื่อ นักองค์ศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งองค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า และนักองค์วัตถา เมื่อองค์สมเด็จพระนโรดมฯ สิ้นพระชนม์ ได้เวนราชสมบัติให้นักองค์ศรีสวัสดิ์ ที่พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า เป็นสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ ครอบครองแผ่นดินเขมรสืบสันตติวงศ์ โดยไม่ยอมมอบราชสมบัติให้แก่ราชโอรสผู้มีนามว่า พระองค์เจ้าสุทธารสนโรดม
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติได้แก่พระเจ้าศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ ผู้เป็นโอรส พระเจ้าศรีสวัสดิ์มณีวงศ์มีโอรส คือ เจ้าฟ้ามณีเรศ เป็นมกุฏราชกุมารและทรงเป็นกรมพระ แต่พอพระเจ้าศรีสวัสดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อพทุธศักราช ๒๔๘๓ แทนที่ฝรั่งเศสจะสถาปนาเจ้าฟ้ามณีเรศ ผู้เป็นรัชทายาท เป็นกษัตริย์ต่อไป กลายเป็นยกเอาหม่อมราชวงศ์นโรดมสีหนุ ผู้เป็นลูกหม่อมเจ้านโรดมสุรามฤตขึ้นเป็นกษัตริย์แทน (หม่อมเจ้านโรดมสุรามฤตเป็นลูกพระองค์เจ้าสุทธรารสนโรดม) ขณะนั้น หม่อมราชวงศ์นโรดมสีหนุยังเป็นเด็ก และเรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยลีเซ่ซักเซอร์โลบา ไซ่ง่อน
เรื่องราวของกษัตริย์เขมรยุ่งยากมาก สมดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชทรงพระราชข้อวินิจฉัยไว้ว่า เกิดแตกแยกขึ้นเป็นสามก๊กในราชวงศ์เขมร คือ พระนโรดมก๊กหนึ่ง พระศรีสวัสดิ์ก๊กหนึ่ง นักองค์วัตถาก๊กหนึ่ง ผลของการแตกแยก คือ ต้องเสียเมืองให้แก่ฝรั่งเศสในที่สุด
ผู้ได้อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเราดำเนินกุศโลบายในการปกครองเขมรด้วยดีมาตั้งแต่แรก และได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้เขมรอยู่ร่มเย็นเเป็นสุขฉันลูกหลาน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ แต่น่าเสียดายที่เขมรต้องไปขึ้นแก่ฝรั่งเศสสิ้นเชิงเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๐ เป็นอันว่า ไทยได้เสียดินแดนเขมรและเขมรกลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปตั้งแต่คราวนั้น
สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีหวังว่า บรรดาผู้ที่ได้อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้คงจะพอใจโดยทั่วกัน
- สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
- ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๕
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ว่า "จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าเจ้าพะแนงเชิง"
- ↑ ดูแผนที่ท้ายเล่ม
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก