ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 15

ข้าหลวงไทยรายงานข้อราชการเมืองอุดงมีไชย

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุชิตชาญไชย[1] จางวางกรมพระตำรวจขวา หลวงเสนีย์พิทักษ์ กรมมหาดไทย ข้าหลวง พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ปลัด พระสุเรนทร์ฦๅไชย มหาดไทย กรมการ บอกมายังออกพณณ นายเวร ขอได้นำขึ้นกราบเรียนพณหัวเจ้าท่านลูกขุน ณ ศาลาให้ทราบ ด้วยแต่ก่อน ข้าพระพุทธเจ้าบอกเข้ามาว่า ได้แต่งให้หลวงราชาธิบดี หลวงนครภิรมย์ กรมการเมืองพระตะบอง ออกไปสืบฟังราชการ ณ เมืองอุดงมีไชย ครั้น ณ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้นสิบค่ำ ปีวอก โท หลวงราชาธิบดี หลวงนครภิรมย์ กลับเข้ามาถึงเมืองพระตะบอง แจ้งความว่า ได้ออกไปถึงเมืองอุดงมีไชยแต่ ณ วันจันทร์ เดือนสิบสอง แรมเจ็ดค่ำ ปีวอก โท ได้ไปหาฟ้าทะละหะ ๆ แจ้งความว่า องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชได้จัดพระยาพระเขมรนายทัพนายกองที่ตั้งค่ายเขตรแดนกับญวนทุกทางให้ลาดตระเวนรักษาด่านทางคอยฟังเหตุการณ์อยู่มิได้ประมาท แต่กองทัพญวนที่ยกไปรบกับพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองเปียม พระยาพิษณุโลก เจ้าเมืองตรังไตรตราด และฝรั่งเศสกับญวนที่สู้รบกันนั้น ฟ้าทะละหะแจ้งความว่า องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชมีศุภอักษรแต่งให้พระยาศรีธรรมาธิราช พระยาธิราชมนตรี พระยาสุนทรอักขรา เข้ามาแจ้งความ ณ กรุงเทพพระมหานคร แต่จะมาทางทะเลสาบมาขึ้นเดินบกเมืองศรีโสภณ กำหนดจะเข้ามาแต่ ณ วันพฤหัส เดือนอ้าย ขึ้นเก้าค่ำ ปีวอก โท และที่เมืองอุดงมีไชยนั้น หลวงราชาธิบดี หลวงนครภิรมย์ แจ้งความว่า พระยาพระเขมรและราษฎรลือกันต่าง ๆ ตื่นตกใจเหมือนหนึ่งคำนักโถ นายกุย นายชอง ว่า อยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันแล้วก็สงบ เมื่อหลวงราชาธิบดี หลวงนครภิรมย์ มาจากเมืองอุดงมีไชย ณ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้นหกค่ำ ปีวอก โทศก ที่กะทงหลวงน้ำลดประมาณสองศอกคืบ ที่ทะเลสาบน้ำลดประมาณศอกคืบ ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดให้หลวงเทพมโน กรมการเมืองพระตะบอง ออกไปคอยสืบฟังราชการ ณ เมืองอุดงมีไชย ถ้าหลวงเทพมโนกลับเข้ามาแจ้งความประการใด ข้าพระพุทธเจ้าจะบอกเข้าไปให้ทราบต่อภายหลัง บอกมา ณ วันพฤหัส เดือนอ้าย แรมค่ำหนึ่ง ปีวอก โทศก

ใบบอกพระยาอนุชิตชาญไชยสืบราชการทางเมืองอุดงมีไชย ลงวัน ค่ำ[2] ค่ำ ปีวอก โทศก ๑๒๒๒

  • ตราพระยาอนุชิตชาญไชย
  • (มีรูปตราประทับ)
  • ตราพระมหาดไทย
  • (มีรูปตราประทับ)
  • ตราหลวงพระยาณรงค์ ปลัดฯ
  • (มีรูปตราประทับ)
  • ตราหลวงเสนีย์พิทักษ์
  • (มีรูปตราประทับ)
เลขที่ ๒๑
ใบบอก เมืองพระตะบอง ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒

  1. เป็นข้าหลวงของไทย ส่งไปคุมราชการอยู่ ณ เมืองพระตะบอง
  2. ตรงกับวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน, วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๓