ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 17
พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช[1] พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า[2] ขอบอกปรนิบัติมายัง ฯพณฯ ลูกขุน ณ ศาลาได้ทราบ ด้วยเจ้าหมื่นทิพย์เสนา หลวงจินดารักษ์ กรมมหาดไทย นายไตรภักดี นายเวรพระตำรวจ กับหมื่นวิเศษแพทยา หมื่นพิไชยแพทยา ทั้งสองนี้เป็นหมอยา หมื่นวาตาพินาศ หมอนวด หมื่นไชโยโลกนารถ หมอรักษาแผล ขุนหมื่นใหญ่ ๓๓ รวม ๔๐ คน เชิญศุภอักษร ๒ ฉบับขึ้นบกเมืองกำปอดไปถึงเมืองอุดงมีไชย ณ วัน ๒ ๑๒ฯ ๑ ค่ำ ปีวอก โทศก พระศุภอักษรฉบับหนึ่ง ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ปีวอก โทศก ไปถึงบิดาข้าพระพุทธเจ้ากับข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ และขุนนางมุขมนตรีเขมร ใจความว่า บิดาข้าพระพุทธเจ้าเกิดความไข้ โรคมาก การศึกสงครามกับญวนก็ดี จะรบก็น้อย ถ้ามีการมาเวลาสบาย ก็ได้บังคับบัญชาการ เวลาไม่สบาย ก็ไม่ได้บังคับการ ๆ ก็ช้าเนิ่นไป และการทัพศึกเป็นใหญ่สำคัญ จะคอยสบายไม่สบายค่อยคิดปรึกษาหารือไม่ทันการ ทรงพระราชดำริว่า ที่บิดาข้าพระพุทธเจ้ามีเคราะห์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ ฤๅขุนนางมุขมนตรีใดสมควรจะว่าราชการแทนได้ ก็มอบให้ผู้นั้นว่าราชการบังคับบัญชาการทัพศึกรักษาบ้านเมืองให้เด็ดขาด อย่าให้เกิดแก่งแย่งกันได้ ถ้าโรคบิดาข้าพระพุทธเจ้ามากขึ้นประการใด ๆ ให้ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีเขมรรีบบอกเข้าไปจงเร็ว ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยจะช่วยทนุบำรุงเมืองเขมรเป็นนิจการ แล้วทรงพระมหากรุณาเมตตาโปรดพระราชทานหมอออกไปพร้อมด้วยข้าหลวง ศุภอักษรฉบับหนึ่งอีก ลงวัน ๖ ๓ฯ ๑ ค่ำ ปีวอก โทศก ไปถึงข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองกับขุนนางมุขมนตรีเขมร ใจความว่า ข้าหลวงทั้งสองนายกับหมอ ๔ คนได้ราบถวายบังคมลาออกมาได้ ๕ วัน มีหนังสือบอกข้าหลวงซึ่งโปรดให้ออกไปรักษาเมืองพระตะบองเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า บิดาข้าพระพุทธเจ้าถึงแก่อนิจกรรมแต่ ณ วัน ๖ ๕ฯ ๑๒ ค่ำ ปีวอก โทศก มีพระราชหฤทัยอาลัยเสียดายมาก แต่ยังไม่ทันทรงเชื่อ จึงโปรดให้นายไตรภักดีเชิญศุภอักษรกับไตร ๑๐ สำรับออกมาภายหลังอีก ให้ทันเจ้าหมื่นทิพย์เสนา หลวงจินดารักษ์ ดูโรคบิดาข้าพระพุทธเจ้า แล้วโปรดให้เตือนสติข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ กับขุนนางมุขมนตรีเขมรให้พร้อมพรักกันช่วยรักษาค่ายดูแลตั้งด่านลาดตระเวนค่ายระไวระวังศัตรูให้ครบทางครบตำบล เกรงญวนมันรู้ว่า บิดาข้าพระพุทธเจ้าถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ญวนได้ท่วงที ก็จะยกกองทัพทุ่มเทขึ้นมาในเขตรแดนเมืองเขมร ถ้าการเกิดเป็นประการใด ให้บอกเข้าไป ณ กรุงเทพฯ โดยเร็ว ถึงการรบพุ่งกับญวน ก็จะได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานกองทัพบกกองทัพเรือออกมาช่วยให้ทันการ ถ้าบิดาข้าพระพุทธเจ้าถึงอนิจกรรมจริง โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีเขมรจัดแจงเครื่องศพไว้ให้สมควรตามอย่างธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินเขมรแต่โบราณมา จะโปรดพระราชทานโกศลองในลองนอกกับเครื่องสำหรับประดับศพออกไปตามเคยโปรดพระราชทานเจ้าต่างประเทศราชผู้ใหญ่ ๆ นั้น เห็นว่า จะไม่ทันแล้ว ยังไม่ทรงทราบว่า จะจัดแจงให้สมควรสักเพียงใด จึงโปรดเกล้าให้ข้าหลวงออกไปคิดปรึกษาการ ข้าหลวงกลับเข้าไปเฝ้า ทรงทราบแล้ว จะโปรดพระราชทานโกศกับเครื่องสำหรับประดับศพออกไปให้ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีเขมรทำทิวคอยรับให้สมควร กับและเครื่องอภิเศษซึ่งพระราชทานออกไปแต่ควรก็มี ให้เอามาจัดแจงปักให้รอบศพ และผ้าไตร ๑๐ สำรับซึ่งโปรดพระราชทานออกไปนั้น ถ้าบิดาข้าพระพุทธเจ้าถึงอนิจกรรมจริง ให้ทำบุญบังสุกุลเมื่อเวลาไข้หนัก ถ้ายังไม่ถึงอนิจกรรม ผ้าไตรนั้นก็ให้ทำบุญสะเดาะเคราะห์นาม แล้วทรงพระเมตตามีพระราชหฤทัยอาลัยพระชนนีเป็นอัยกีข้าพระพุทธเจ้าด้วยชราแล้ว บิดาข้าพระพุทธเจ้าถึงแก่อนิจกรรมก็จะทุกข์โศกอาลัยบุตร โรคชราก็จะกำเริบหนักขึ้น โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าปรนิบัติเล้าโลมให้ดี แล้วให้ข้าหลวงกับข้าพระพุทธเจ้าคิดปรึกษาหารือให้เห็นพร้อมกันจัดแจงการศพมากน้อยเพียงใด จะไว้ศพช้านาน ให้ปรนิบัติบอกเข้ามาโดยเร็ว จะได้ทรงพระราชดำริให้สมควรตามการ ทีหลังนั้นมา พระยาภักดีนายก พระยานรินธิฤทธิ์ ซึ่งคุมเครื่องบรรณาการเข้ามานั้น เชิญศุภอักษร ๒ ฉบับ สารตราพระราชสีหะ ๒ ฉบับ เป็น ๔ ฉบับ ลงวัน ๕ ๓ฯ ๑๒ ค่ำ ปีวอก โทศก กระแสทรงพระราชดำริด้วยความขอเปิดหนังสือฝรั่งฉบับหนึ่ง สำเนาหนังสือพิมพ์ฝรั่งตีเมืองจีนสมุดดำ ๒ เล่ม ไปถึงบิดาข้าพระพุทธเจ้า พระยาภักดีนายก พระยารินธิฤทธิ์ เชิญออกไปถึงเมืองอุดงมีไชย ณ วัน ๕ ๑ฯ ๒ ค่ำ ปีวอก โทศก ความในศุภอักษรนั้นโปรดว่า ได้ทรงทราบความในศุภอักษรที่หลวงศรีเสนานำเข้ามา ได้ทรงทราบการทุกข้อแล้ว ได้โปรดให้ข้าหลวงคุมไพร่ออกไปทำยุ้งฉางใส่ข้าวเปลือกตั้งแต่เมืองปราจีนบุรีเรียงไปถึงเมืองพระตะบอง ในกรุงเทพฯ ก็ได้จัดกองทัพกำปั่นไฟ กำปั่นใบ ปืน กระสุน ดินดำ ไว้พร้อมสรรพ ถ้าญวนยกกองทัพล่วงเข้ามาในเขตเขมร ก็จะได้ให้ยกกองทัพออกไปช่วยให้ทันการ ถ้ารบพุ่งกันแต่ในเขตแดนญวน จะไม่ให้ยกออกไป ด้วยเมืองญวนกับกรุงเทพพระมหานครขาดรบพุ่งกันก็นานมาแล้ว เรือลูกค้าไปมาค้าขายก็ไม่ได้เบียดเบียนกัน จะหาเหตุที่จะทำศึกสงครามต่อไปอีกก็ไม่มี แลฝรั่งเศสตีเมืองญวนได้บ้านเมืองแล้วนิ่งนอนใจหาได้ทำต่อไปอีกนั้น ญวนจะติดใจว่า ฝรั่งเศสไม่มีกำลัง จะทำต่อไปอีกไม่ได้ ทุกวันนี้ ฝรั่งยกไปตีเมืองจีน เล่าลือว่า ตีได้บ้านเมืองบ้า แล้วเจ้าปักกิ่งคิดจะทำไมตรี ฝรั่งก็หยุดรบพุ่งกับเมืองจีน แล้วก็คงแต่จะทำกับเมืองญวนอีก และการศึกเมืองจีนซึ่งฝรั่งยกไปรบนั้น มีหนังสือพิมพ์ได้แปลเป็นคำไทย ได้ข้อความหลายข้อ ได้โปรดให้จำลองพระราชทานออกไปด้วยศุภอักษรฉบับหนึ่งอีก ลงวัน ๕ ๓ฯ ๑๒ ค่ำ ปีวอก โทศก ใจความว่าด้วยเปิดหนังสือฝรั่งซึ่งบาทหลวงเหศเกรษฟองนัน ทรงพระราชดำริโดยข้อละเอียดไม่ให้คนนอกประเทศติเตียนเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ โปรดให้จดหมายกระแสพระราชดำริตามสมควร ให้นำไปให้กงศุลทั้ง ๔ ประเทศว่ากล่าวไกล่เกลี่ยความข้อนี้ให้เลิกแล้วแก่กัน แล้วไม่ให้มีเกี่ยวข้องเป็นที่เสียพระเกียรติยศบิดาข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ให้รักษาอย่างธรรมเนียมไปให้ราบคาบเรียบร้อย อย่าให้คนนอกประเทศติเตียนได้ โปรดให้จำลองกระแสพระราชดำริเป็นอักษรไทยฉบับหนึ่ง เขมรฉบับหนึ่ง พระราชทานออกไปให้บิดาข้าพระพุทธเจ้า ความในสารตราพระราชสีหะฉบับหนึ่งโปรดว่า กรุงเทพฯ แต่งทำนุบำรุงเมืองเขมรตั้งแต่ไอยุโกข้าพระพุทธเจ้าเนื่องมา อย่าให้บิดาข้าพระพุทธเจ้าคิดล่วงเกรงผิดแลชอบเหลือเกินเหมือนแต่ก่อน การควรบอก ก็ให้บอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาอ่านสิ้นข้อความจงเนือง ๆ ในเวลาเหตุการณ์บังเกิดมี ถ้าคอยให้ช้าไป ผู้คนไปพูดอื้ออึงไปก่อน ได้ยินต่าง ๆ ก็ทรงพระวิตกมาก ถ้าการผันแปรประการใด ก็ไม่ทรงถือโทษด้วยไว้วาพระราชหฤทัยสนิทกับบิดาข้าพระพุทเจ้ายิ่กว่าเจ้าเมืองเขมรแต่ก่อน ๆ มา สารตราพระราชสีหะฉบับหนึ่งอีก โปรดเกล้าให้บิดาข้าพระพุทธเจ้าบังคับบัญชาพระยาพระเขมรคุมไพร่ไปตัดฟันไม้โกงกาง ไม้แก่น ให้ได้รอบกำหนึ่ง กำกึ่ง ยาวท่อนศอก ให้ได้หกหมื่น ไว้ที่เกาะรง ๒ หมื่น ที่ด่านหน้าเมืองกะพงโสม ๒ หมื่น ที่เมืองกำปอด ๒ หมื่น ถึงเดือน ๓๔ ปีวอก โทศก จะโปรดให้กำปั่นไฟออกไปถึงเมืองกำปอดคอยฟังข้อราชการเมืองเขมรกับเมืองญวน กำปั่นไฟออกไปถึง จะได้รับเอาฟืนใช้การ ข้าหลวง กับพระยาภักดีนายก พระยานรินธิฤทธิ์ เชิญอักขระไปทั้งสิ้นศุภอักษร ๔ ฉบับ สารตราพระราชสีหะ ๒ ฉบับ กระแสพระราชดำริไทยหนึ่ง เขมรหนึ่ง สำเนาแปลหนังสือพิมพ์ฝรั่งสมุดดำ ๒ เล่ม มีข้อความโปรดบังคับออกไปหลายข้อนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีเขมรได้กราบถวายบังคมใส่เกล้าฯ ทราบข้อความตามศุภอักษร และสารตราพระราชสีหะ กับกระแสพระราชดำริตรัสบังคับไปทุกประการ พระเดชพระคุณเป็นที่ยิ่งหาที่สุดมิได้ สิ้นบุญบิดาข้าพระพุทธเจ้า ขอพระเดชพระคุณเป็นที่พึ่งตามแต่ทรงพระเมตตาโปรดสารพัดการทั้งปวงเหลือเกิน ผิดชอบขอทรงพระเมตตาโปรดเตือนสติสั่งสอนบังคับบัญชาทนุบำรุงให้ได้คงเป็นข้ารักษาญาติวงษ์ ขุนนางมุขมนตรี อาณาประชาราษฎร ให้ได้สุข คงเป็นค่าสำหรับพระบารมีโพธิสมภาร ทำราชการถวายสนองพระเดชพระคุณเป็นพระเกียรติยศต่อไป แต่ไตร ๑๐ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับต่อข้าหลวงทำบุญบิดา ข้าพระพุทธเจ้าประเคนพระภิกษุสงฆ์เทศนาบังสุกุล ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลและการศพบิดาข้าพระพุทธเจ้านั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีปรึกษาเห็นว่า บ้านเมืองก็มีทัพศึกกับญวน ขุนนางมุขมนตรีก็ใช้ให้ไปเป็นนายทัพนายกอง ราษฎรก็เกณฑ์ผลัดเปลี่ยนกันเข้ากองทัพรักษาค่ายตั้งด่านลาดตระเวนระมัดระวังกับญวน การศพจะทำบุญให้แล้วเสร็จเร็วไม่ได้ ต่อถึงเดือน ๓๔ ปีระกา ตรีศก จึงจะได้ทำบุญถวายพระเพลิงเป็นเสร็จการ และทำบุญการศพนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีปรึกษาพร้อมกันว่า บ้านเมืองก็เล็ก ราษฎรก็มีการทำวน ระมัดระวังกับญวน จะทำการศพเล็กตามสมควรกับบ้านเมือง และโกศที่จะโปรดพระราชทานไป ขอพระราชทานออกไปทางทะเลถึงเมืองกำปอด การศพบิดาข้าพระพุทธเจ้ากับกิจการทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้ากับขุนนางมุขมนตรีได้พร้อมมูลปรึกษาหารือข้าหลวงทั้ง ๓ ได้รู้ความทุกข้อ และฟืนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้บังคับบัญชาพระยาเสนาอนุชิต เจ้าเมืองกำปอด พระยาธิเบศสงคราม เจ้าเมืองกะพงโสม ให้ตัดฟืนครบจำนวน นำไปไว้ที่เปียมทะเลนอกตามบังคับ จะคอยพากำปั่นไฟออกไป ควรมิควรตามแต่จะเมตตาโปรด ขอปรนิบัติบอกมา ณ วัน ๓ ๑๓ ฯ ๒ ค่ำ ปีวอก โทศก[3]
เลขที่ | ๒๒ | |
หมู่ | ศุภอักษร เมืองอุดงมีไชย ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒ |