ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 8
สารตราท่านเจ้าพระยาจักรีฯ[1] มายังองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชา ให้ทราบ ด้วยมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า แต่ก่อน มีศุภอักษรตอบออกมาว่า ด้วยองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีเกณฑ์กองทัพยกไปรบเมืองญวน ความแจ้งอยู่ในศุภอักษรที่ส่งออกมาแต่ก่อนแล้ว แต่ความซึ่งองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีมีใบบอกเข้าไปว่า ราชการในเมืองเขมรทุกอย่างไม่ได้บอกเข้าไปให้รวดเร็วนั้น เพราะคิดระแวงเกรงผิดแลชอบ ลางทีการเกิดขึ้นที่จะใหญ่นานมากลับระงับหายไป ลางทีเกิดขึ้นแต่แรกน้อย ๆ นานมาเกิดโตใหญ่แล้วถอยเป็นน้อยเสียก็มี ลางทีอยู่ดี ๆ ญวนมาปล้นเขมร ๆ ไปปล้นญวร เกิดรบฆ่าฟันกันแล้วก็สงบไป ลางทีเขมรต่อเขมรเกิดวิวาทกวาดครอบครัวไปพึ่งญวน อยู่ได้สองเดือนสามเดือนกลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิม ลางทีหนีไปอยู่ปีหนึ่งสองปีกลับมาก็มี ความเกิดขึ้นในเมืองเขมรไม่ได้เป็นแต่ครั้งหนึ่งสองครั้ง เป็นอย่างนี้มาหลายครั้ง ฯ อย่างเช่นนี้ ความซึ่งอธิบายชี้แจงมาอย่างนี้ ในศุภอักษรซึ่งหลวงศรีเสนาถือเข้ามาเมื่อเดือน ๗ นั้น ยังหาได้ตอบออกมาไม่ ครั้งนี้ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้ตอบความต่อนั้นมาว่า เมืองเขมรเมื่อครั้งแผ่นดินนักพระองค์เองได้เป็นองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ได้เป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองเขมรนั้น เพราะเจ้าแผ่นดินเมืองเขมรยังหนุ่มเยาว์ ยังไม่เป็นที่ไว้ใจในราชการบ้านเมืองทั้งปวงแม่นยำได้ การบ้านการเมืองสิทธิ์ขาดอยู่แก่สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ[2] เมืองเขมรครั้งนั้นเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑเสมาซื่อตรงสุจจริตสนิทแก่กรุงเทพฯ มีเหตุการณ์สิ่งใด ก็มีศุภอักษรบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงเทพมหานครทุกครั้ง ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ด้วยทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่ว่า ใจเขมรยังไม่ยั่งยืน กลับไปกลับมาอยู่แต่โบราณ จึงต้องแต่งคนออกมาฟังราชการแลสืบถามลูกค้าต่างประเทศมาประกอบความในศุภอักษรอยู่ไม่ขาด ครั้นถึงแผ่นดินนักองค์จันเป็นองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร องค์จันยังเยาว์อยู่มากกว่าองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ราชการบ้านเมืองก็ยิ่งสิทธิ์ขาดอยู่แก่สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะเหมือนกัน ครั้นภายหลังมา สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะผู้ใหญ่คนนั้นเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในกรุงเทพฯ มาป่วยลงถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิง ณ พลับพลาที่เมรุวัดสุวรรณาราม เพราะทรงนับถือแลเสียดายสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะผู้ใหญ่นั้นเสมอดังท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยความที่ได้เคยทรงไว้วางพระราชหฤทัยเชื่อถือว่า ซื่อสัตย์สุจริตมาช้านาน ครั้นพระราชทานเพลิงสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะแล้ว จึงได้ทรงกำชับมอบหมายราชการบ้านเมืองเขมรแก่สมเด็จเจ้าพระยาจักรี พระยากลาโหม ซึ่งเป็นพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ในเวลานั้น ให้ดูเยี่ยงอย่างสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะที่ถึงแก่กรรมนั้น ทำนุบำรุงนักองค์จันซึ่งเป็นองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช เจ้าแผ่นดินเมืองเขมร ให้ว่าราชการบ้านเมืองโดยยุติธรรม และรักษาความจงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพฯ สืบไป ครั้นมาภายหลัง แต่ครั้งนั้น แผ่นดินเมืองญวน เจ้าเวียดนามยาลอง คือ องเชียงสือ ได้เป็นเจ้า ตั้งตัวโตใหญ่ คิดการกำเริบต่าง ๆ ล่วงลามเข้ามาในเขตแดนเขมรหลายครั้ง เพราะเขตแดนเมืองญวนกับเมืองเขมรติดต่อกัน ภายหลัง องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชคิดกับพระยาพระเขมรผู้น้อย ๆ เห็นว่า จะพึ่งแผ่นดินเมืองญวนซึ่งอยู่ใกล้ดีกว่ากรุงเทพฯ แต่การนั้น จะให้พระยาจักรี พระยากลาโหม เห็นตามด้วยไม่ได้ จึงคิดการประทุษร้าย จับพระยาจักรี พระยากลาโหม ฆ่าเสีย แล้วก็ไปขอพึ่งญวน ถึงกระนั้น ถึงปี องค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชก็ยังจัดเครื่องราชบรรณาการมีศุภอักษรแต่งให้พระยาพระเขมรคุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายทุกปีเนืองมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีนักองค์ผู้เป็นพระเรียมทั้งสองไม่เห็นชอบด้วยนักองค์จัน เจ้าแผ่นดินเมืองเขมร ซึ่งเป็นสมเด็จพระเรียมผู้ใหญ่ มีอำนาจมากขึ้นด้วยพึ่งพิงอิงเมืองญวนซึงอยู่ใกล้ แลเอาใจใส่ให้องญวนมาอยู่เพื่อกำกับการทั้งปวงแล้ว จึงได้สมัครเข้าไปทำราชการอยู่ ณ กรุงเทพมหานครครั้งนั้น มีการงานสิ่งใด พระยาเสนาบดีก็ได้มาปรึกษาหารือเนือง ๆ ไม่มีความรังเกียจ เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกมาเป็นเจ้าปกครองแผ่นดินเมืองเขมร ครั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชาเลิกทัพกลับเข้าไปแล้ว ราชการเมืองเขมรก็มีสิทธิ์ขาดอยู่ในองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีทั้งสิ้นผู้เดียว ข้อราชการที่เมืองเขมรจะบอกเข้าไป จะเป็นแน่บ้างไม่แน่บ้าง เกรงกลัวจะมีความผิด ถึงจะบอกเข้าไปบ้างไม่บอกเข้าไปบ้างก็ควร ก็แล ในแผ่นดินประจุบันนี้ ทรงเชื่อถือรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยในองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีทุกอย่าง เมื่อเหตุการณ์ที่เมืองเขมรเป็นอย่างไร มากก็ดีน้อยก็ดี แน่แล้วก็ดียังไม่แน่ก็ดี ควรที่องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีจะบอกเข้าไปให้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ภายหลัง เมื่อการผันแปรเป็นประการใด จะบอกเข้าอีกนั้น จะเปลืองกระดาษดินสอสักเท่าไร ถ้าเห็นไปว่า การไม่สู้ดี เมื่อจะบอกเข้าไปเป็นศุภอักษร จะต้องอ่านในที่ประชุมพระราชวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย จะเป็นที่ละอายอดสูไม่สู้งดงามเหมือนอย่างความองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชครั้งนี้นั้นแล้ว ก็ควรจะมีจดหมายเป็นความลับเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพราะได้ทรงพระมหากรุณาอนุญาตไว้แล้ว หรือมีมายังเจ้าพระยานิกรบดินทร์[3] ก็ได้ เมื่อคำลูกค้าเข้าไปเล่าลือต่าง ๆ เกิน ๆ ไป ก็จะได้เลี่ยงได้แก้แต่ที่อันควรว่า การไม่เช่นนั้น เป็นอย่างนี้ ๆ อย่าให้เสียเกียรติยศขององค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดี (หรือองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีชอบใจจะให้สืบสวนฟังเอาที่ข่าวคนเล่าลือ) แต่คำคนเล่าลือนั้น ก็จะได้ความเท็จบ้างจริงบ้าง การสิ่งใดที่ไม่สมควร จะช่วยเถียงช่วยแก้ ก็ไม่ทราบแน่ว่าอย่างไร จะเที่ยวสืบสวนซักไซร้ไต่ถามคนนอกคนในประเทศ ก็จะมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า กรุงเทพฯ ไม่ไว้วางใจเมืองเขมร จะพูดจาเล่าลือมาก ๆ น้อย ๆ ผิดไป หาควรไม่ ให้องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีคิดอ่านปกครองแผ่นดินเมืองเขมรให้ดี มีราชการบ้านเมืองใหญ่ เมื่อมีเหตุสิ่งใด อย่าให้ปิดบังไว้เนิ่นช้า จงบอกเข้าไปให้ทราบเนือง ๆ ครั้นเมื่อไม่บอกเนือง ๆ จะคอยต่อการที่โตใหญ่เป็นแน่แล้วจึงจะบอกต่อภายหลัง หรือความอันใดไม่สู้งาม ถึงการนั้นเป็นที่เล่าลืออื้อฉาว ก็อายอดสู่อยู่ จะไม่บอกเข้าไปแล้ว เมื่อมีฝรั่งอังกฤษคนบอกเขารู้แล้วเขามาถาม จะให้ตอบไปว่า ไม่รู้เลย นั้นจะดีจะงามหรือ หรือลางทีเขามาคิดเป็นการใหญ่เหมือนเมื่อลือเข้าไปว่า เจ้าเมืองเขมรบิดาบุตรทั้งสองจะรบกัน ให้มาเกณฑ์ทัพจนถึงเมืองกำปอด กงสุลอังกฤษมาปรึกษาคิดว่า ถ้าเมืองเขมรวุ่นวายจนถึงเจ้าเมืองทั้งสองจะรบกันแล้ว ลูกค้าต่างประเทศก็จะไม่มีที่พึ่ง ใครใครจะแย่งได้แย่งเอา จึงจะขอบอกออกไปถึงอัดมิรัล (มิใช่อัศมิรัฟ) ให้เอาเรือรบอังกฤษมารักษาเมืองกำปอด ปิดไว้ดังนี้ จะให้ตอบแก่เขาอย่างไร ถ้ามีความลือหลายปากว่าไปต่าง ๆ เป็นการทัพการศึกการสำคัญ จะให้อดนิ่งอยู่คอยฟังฤๅ เพราะอยากจะใคร่ทราบเร็ว ๆ ก็ต้องแต่งคนมาสืบถามหรือถามคนที่ไปมาอื้ออึงไป การเป็นดังนั้น จะมิเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติว่า กรุงฯ กับเมืองไม่สนิทกันเหมือนครั้งองค์จันไปฤๅ เมื่อบอกเข้าไปแล้ว เห็นการสิ่งใดขาดสิ่งใดเกิน จะได้ช่วยตักเตือนให้สติองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีคิดราชการต่อไป อย่าให้ระวังเหลือระวังเกินเกรงผิดเหมือนแต่ก่อน หาต้องการไม่ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้วางพระราชหฤทัยสนิทกับองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดียิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินไว้วางพระทัยเจ้าเมืองเมืองเขมรแต่ก่อน ๆ สารตรามา ณ วัน … ค่ำ ปีวอก โทศ๑ก๐ ฯ[4]
เลขที่ | ๗๑ | |
หมู่ | จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒ | |
ประวัติ | ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย | |
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงเรียบเรียง |
- ↑ นามเจ้าพระยาจักรีในสารตราฉบับนี้เป็นนามตำแหน่งสมุหนายกถือตราจักร ประเพณีมีอยู่ว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระบรมราชโองการถึงผู้ใดอันขึ้นอยู่กับมหาดไทย ต้องมีไปในนามเจ้าพระยาจักรี โดยอ้างว่า "สารตราเจ้าพระยาจักรีมายัง…"
- ↑ ชื่อ ปก
- ↑ ชื่อ โต ต้นสกุล กัลยาณมิตร ท่านผู้นี้ถึงอสัญกรรมเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖
- ↑ สารตราเรื่องนี้ไม่ปรากฏดิถีขึ้นแรมและเดือนจันทรคติ แต่เมื่อพิเคราะห์ตามท้องเรื่อง ก็ราว ๆ เดือน ๙ ปีวอก พุทธศักราช ๒๔๐๓