ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 34

สัญญาภาษีสุรา ร้อยชักสาม

ข้อ ๑. ว่า คนอยู่ในสับเยกต์ฝรั่งเศสเสียค่าธรรมเนียมร้อยชักสาม แล้วจะเอาสุราต่างประเทศซึ่งเป็นของกลั่นก็ดี ไม่ใช่ของกลั่นก็ดี บรรทุกด้วยกำปั่นประเทศใด ๆ เข้ามาในแผ่นดินสยามก็ได้ สุรานั้นมีผู้จะไปเที่ยวขายตามหัวเมืองก็ได้โดยสะดวก ไม่ห้าม ไม่ต้องเสียภาษีอีก เว้นแต่ที่กำหนดในข้อสัญญาที่ว่าใต้ลงมานี้

ข้อ ๒. ว่า ผู้ซึ่งจะเอาสุราต่างประเทศซึ่งเป็นของกลั่นก็ดี ไม่ใช่ของกลั่นก็ดี ไปขายปลีก ต้องของหนังสือลายเซ็น[1] สำหรับตัว แต่เจ้าพนักงานฝ่ายข้างไทยจะให้ขัดไม่ได้

ข้อ ๓. ว่า ถ้าจะขอลายเซ็นไปขายสุราซึ่งเป็นของกลั่นมีราคาต่ำกว่าลิตรหนึ่ง คิดเป็นเงินแฟรงค์หนึ่งเจ็ดสิบห้าเซนต์ เป็นเงินตราสองสลึง หนังสือลายเซ็นนั้นใช้ได้จำเพาะสำหรับโรงเดียวหรือเรือลำเดียวแลในเขตรกำหนดเมืองเดียว

ข้อ ๔. ว่า ผู้จะเอาหนังสือลายเซ็นไม่ต้องเสียค่าเสมียน ค่าตรา ถ้าผู้เอาลายเซ็นเอาสุรามีราคาต่ำกว่าลิตรหนึ่ง คิดเป็นเงินแฟรงค์หนึ่งหกสิบห้าเซนต์ เป็นเงินตราสองสลึง ไปขายปลีก เจ้าพนักงานเรียกเอาค่าธรรมเนียมได้ปีหนึ่ง ไม่ให้เกินเงินแปดสิบบาท ถ้าผู้ขายสุราสูงเอาสุราราคาต่ำขายด้วยกัน ต้องเสียค่าลายเซ็นเหมือนกัน

ข้อ ๕. ว่า ผู้ทำผิดไม่ถือตามหนังสือสัญญานี้ จะเอาตัวทำโทษปรับได้ไม่ให้เกินเงินสองร้อยบาท ถ้าผู้ผิดนั้นเป็นคนอยู่ในร่มบังคับฝรั่งเศส กงศุลฝรั่งเศสจะเรียกตัวมาชำระปรับเหมือนกัน

ข้อ ๖. ว่า คนประเทศอื่นไม่ยอมถืออย่างเดียวกันตามว่าในหนังสือสัญญานี้ทุกประการ คนอยู่ในบังคับฝรั่งเศสไม่ต้องถือเหมือนกัน ด้วยว่ามีข้อหนังสือสัญญา คริสต์ศักราช ๑๘๕๖ ว่า คนประเทศอื่นได้ผลประโยชน์ประการใด ฝรั่งเศสจะได้เหมือนกัน

ข้อ ๗. ว่า ถ้าหนังสือสัญญานี้ได้รัตติไฟ[2] เปลี่ยนกันแล้ว ใช้ได้ในกำหนด ๕ ปี สิ้นกำหนด ๕ ปี ถ้าคอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายไม่อยากเปลี่ยน ใช้ได้ต่อไป ถ้าจะเปลี่ยน ต้องบอกล่วงหน้าก่อนปีหนึ่ง สิ้นกำหนด ๕ ปี คอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายจะเติมหรือจะเปลี่ยนข้อหนึ่งข้อใดตามจะเห็นชอบด้วยกัน… … …[3]


  1. licensee
  2. Ratify (คงหมายถึง การแลกเปลี่ยนสัตยาบัน)
  3. มีสัญญา เรื่อง สุรา ติดท้ายอยู่ด้วย และมีเพียงเท่านี้