ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 29
จดหมายมายังพระยาราชวรานุกูล[1] เมื่อ ฯข้าฯ จดหมายมาครั้งก่อนนั้น ว่าไถลถลากไปตามสบายใจเมื่อเวลางม ๆ อยู่ เพราะการในอุดงมีไชยไม่ได้รู้เลยว่าอย่างไรเป็นแน่ พูดไปไม่ถูก เป็นแต่คเนว่าไปเลอะ ๆ ถึงท่านเสนาบดีก็เหมือนกัน ก็นายราชสารซึ่งถือหนังสือไปนั้นได้ไปถึงกรุงเทพฯ ในวัน ๕ ๑๕ ฯ ๕ ค่ำ ฯข้าฯ ได้อ่านต่อวัน ๖ ๑ฯ ๕[2] ค่ำ ฯข้าฯ ก็ได้รีบทำหนังสือตอบถึงองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช ความยืดยาวแจ้งอยู่ในหนังสือนั้นแล้ว ไปขอเธออ่านดูก็จะรู้ความดอก ครั้นจะเขียนมาให้ท่านเป็นสองซ้ำ เวลาก็จะช้าไป สังเกตดูหนังสือคำของฝรั่งเศสที่เขียนให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชสองฉบับ กับคำที่มาอ่านอวยพรวันยกฉัตรเป็นสามฉบับด้วยกัน หนังสือเหล่านั้น ฯข้าฯ ลงเนื้อเห็นว่า องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชแปลคัดส่งมาโดยสุจริต ไม่ได้ตัดรอนผ่อนปรนแก้ไขอะไร เพราะคำที่ย้อนมาว่า องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชไปนินทาไทยให้ฟังนั้น ก็ใส่มา หาข้ามเสียไม่ ก็นินทาเช่นนี้ ฯข้าฯ ก็ไม่ถือเอาเป็นนินทา ก็เพราะว่า เมื่อพูดกับผู้อื่น ๆ จะกดเอาไปตามความปรารถนา ก็เมื่อยามผู้พูดด้วยจะไม่ยอมตาม ก็ต้องบ่นออดแอดบ้าง เอาที่โตที่ใหญ่ว่า ตัวต้องจำใจอยู่ในอำนาจผู้อื่น จะทำไปไม่ได้ดังปรารถนาแลอื่น ๆ อย่างนี้เป็นธรรมดาทุกรูปทุกนามทุกบ้านทุกเมืองไป ก็เมื่อยามเขาจะหยิบยกขึ้นว่า เขาก็ว่าไป ฯข้าฯ เข้าใจแล้ว ไม่ได้ถือเอาเป็นนินทาดอก ท่านจงเอาหนังสือนี้เป็นสำคัญ นำความบอกแก่องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชให้รู้ว่า ฯข้าฯ ว่าดังนี้ ถือว่า ที่ส่งหนังสือฉบับเหล่านี้มาให้ดู เป็นที่รู้ว่า เป็นความซื่อตรงขององค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช ก็ใจความในหนังสือของฝรั่งเศสสองฉบับว่าที่โน้น กับคำของกงศุลออบาเรตว่าที่นี้ ใจความก็ไหลเข้าเป็นอย่างเดียวกัน บัดนี้ กงศุลออบาเรต กับท่านเสนาบดีในพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง ก็ปรึกษากันคิดอ่านตกลงกันแล้วว่า จะให้พระยามนตรีสุริยวงศ์คุมเครื่องอภิเศกออกมาทำการอภิเศกองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชให้ทันเดือนหก[3] แต่จะให้มาทางบกก็กลัวจะช้าไปก็ไม่ทัน มาทางเรือขึ้นที่กำปอดก็กลัวจะต้องรบกบฏขึ้นไปอยู่หลายวี่หลายวันกว่าการจะสำเร็จก็จะช้า ตกลงกันว่า จะไปทางไซ่ง่อนพร้อมกับขบวนฝรั่งเศส กงศุลออบาเรตก็รับว่า จะพาไปส่งให้ถึงเมืองอุดงมีไชยให้ทันฤกษ์เดือนหกจงได้ การความคิดกงศุลออบาเรตรับสั่งพระเจ้าฝรั่งเศสมาว่ามาทำครั้งนี้ ดูเหมือนก็ดีอยู่ ต้องตามตำราที่เขาว่า บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ของหลวงไม่ขาด ของราษฎร์ไม่ให้เสีย แต่ฝ่ายเราไปติพวกหมาป่าเมายศ ไม่เคยมีใครขี่ใครกด ก็ไหนเป็นความทรามเสื่อมไป ก็ฝ่ายเรามีอำนาจใหญ่ เราพูดจาเกลี่ยไกล่ได้แต่เพียงอย่างนี้ก็เป็นดีอยู่แล้ว ก็ที่เขมรจัดไว้จะให้เป็นที่ประทับพระยามนตรีสุริยวงศ์แต่ก่อนนั้น ได้ยินว่า ฝรั่งเศสเข้าอยู่เสียแล้ว พระยามนตรีสุริยวงศ์ออกไปครั้งนี้ จะให้อยู่ประทับที่ไหนจะสมควร จะไปกวนพระยาพระเขมรให้ทำ ก็กำลังบ้านเมืองเขามีทัพมีศึกอยู่ พวกเราที่เรียกร้องออกไปในคราวนี้ก็จะมีหลายคน จงคิดอ่านผ่อนปรนให้เบาแรงบ้าง คิดการไว้วางพอเป็นยศอันสมควร อย่าให้อายหน้าแก่เขาอื่นนัก ด้วยการเป็นดังประชันกันอยู่ ดูให้ดี อย่าให้มีติฉินนินทาได้ พระยามนตรีสุริยวงศ์คงจะออกไปทางเมืองไซ่ง่อนในเดือนหกเป็นแน่.
เลขที่ | ||
หมู่ | จดหมายเหตุ ร. ๔ | |
ประวัติ | ได้มาจากหอสมุดแห่งชาติ |