ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 23

พรรณนาความวุ่นวายในเมืองอุดงมีไชย

จดหมายเรื่องการซึ่งเมืองเขมรเกิดวุ่นวายครั้งนี้ ว่าโดยลำดับกาล ณ เมืองอุดงมีไชย องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีเจ้าทรงราชผู้เป็นใหญ่ป่วยลงถึงแก่พิราลัยในเดือนกัติกมาสที่ ๑๒ ในปีวอกนักษัตร โท ศักราชสยาม ๑๒๒๒ ตรงกันกับเดือนนอเวมเบอร์ คริสตศักราช ๑๘๖๐ ข่าวนั้นได้ทราบมาถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึ่งมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานมีศุภอักษรออกไป ณ เมืองอุดงมีไชย บังคับให้องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชเจ้าที่สองรองทรงราช แลเป็นบุตรผู้ใหญ่ขององค์สมเด็จพระหริรัฏษารามมหาอิศราธิบดีเจ้าทรงนั้น ว่าราชการบ้านเมืองไปกว่าจะเสร็จการศพเจ้าทรงราชผู้เป็นบิดาแล้ว จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งให้เป็นทรงราชรักษาแผ่นดินเขมรต่อไป องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชได้รักษาบ้านเมืองเขมรเป็นปกติมาถึง ๗ เดือน ตั้งแต่เดือนนอเวมเบอร์นั้นมาจนเดือนเม[1] ในปีปัจจุบันนี้ ก็เมื่อองค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีเจ้าทรงราชนั้นยังอยู่ นักองค์วัตถา ซึ่งเป็นบุตรชายที่ ๓ เข้ามาอยู่ทำราชการในกรุงเทพมหานครนี้ได้หลายปีแล้ว ครั้นเมื่อมีข่าวเข้ามาว่า เจ้าทรงราชเมืองเขมรป่วยหนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทราบแล้ว จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดเรือให้ขุนนางในกรุงเทพมหานครพานักองค์วัตถาผู้บุตรออกไปช่วยปรนิบัติรักษาไข้เจ้าทรงราชผู้บิดา นักองค์วัตถาได้กราบถวายบังคมลาออกไปถึงเมืองอุดงมีไชย เมื่อเวลาเจ้าทรงราชผู้บิดาถึงแก่พิราลัยแล้ว องค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราชผู้พี่จึ่งมีศุภอักษรเข้ามาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้นักองค์วัตถาผู้น้องอยู่เพื่อคิดราชการบ้านเมืองแลการศพเจ้าทรงราชผู้บิดา ณ เมืองอุดงมีไชย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตยอมให้นักองค์วัตถาอยู่ แต่ครอบครัวบุตรภรรยาของนักองค์วัตถายังค้างอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้ นักองค์วัตถาอยู่กับพี่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าอุปราชที่สองรองทรงราชลงมาแต่ก่อน แลถึงเวลานั้น ได้ว่าที่ทรงราชอยู่กับพี่ชายรองอุปราชลงมา มีตำแหน่งว่า องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า เป็นที่สามของทรงราช เรียบร้อยกันเป็นปกติมาถึง ๕ เดือน ครั้นมาเมื่อเดือนจิตรมาส เป็นที่ ๕ แต่ต้นฤดูหนาวมา ตรงกันกับเดือนเอเปรียล ในปีวอก ปัจจุบันนี้ นักองค์วัตถากับนักองค์ศิริวงศ์ บุตรที่ ๔[2] ของเจ้าทรงราชเก่า เป็นน้องรองนักองค์วัตถาลงมา ได้มีที่อยู่แห่งเดียวกันในเมืองอุดงมีไชยแล้ว มีความวิวาทบาดหมางกันขึ้นกับเจ้าอุปราชพี่ชายใหญ่เล็กน้อย จึ่งมีชาวเมืองเขมรใจพาลพลอยยุยงนักองค์วัตถาให้ขุ่นเคืองขัดแย้งต่อพี่ใหญ่ ซ่องสุมคนบางพวกไว้ในบ้าน จนมีข่าวลือว่า จะคิดร้ายแก่เจ้าอุปราชผู้พี่ ๆ ให้ยกพวกพ้องไปลอมบ้านนั้น ด้วยคิดจะกำจัดคนที่ไปซ่องสุมเข้าพวกยุยงน้องชายทั้ง ๒ นั้นเสีย พวกบ้านในนั้นก็ต่อสู้รบกันขึ้นเล็กน้อยในเมืองอุดงมีไชย เห็นว่า จะสู้ไม่ได้ ก็พากันแตกหนีไปในที่ต่าง ๆ นักองค์วัตถา นักองค์ศิริวงศ์ ก็หนีมาจากเมืองอุดงมีไชยมาโดยลำดับหนทาง เข้ามาอาศัยในเมืองนครเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง ซึ่งมิได้เป็นเมืองขึ้นเมืองอุดงมีไชย แต่ในเดือนวิสาข เป็นเดือนที่ ๖ ตรงกันกับเดือนเมในปีปัจจุบันนี้ แลนักองค์วัตถานั้นได้มีหนังสือฉบับหนึ่งกล่าวโทษเจ้าอุปราชพี่ชายต่าง ๆ ส่งเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฝ่ายเจ้าอุปราชผู้พี่ซึ่งรักษาเมืองอุดงมีไชยก็ได้มีศุภอักษรกล่าวโทษนักองค์วัตถาน้องชายและพวกพ้องเข้ามาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แลจะขอให้ชำระในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทันทรงแต่งตั้งผู้รับสั่งไปชำระไต่ถามก่อน ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ขุนนางผู้หนึ่งออกไปรับนักองค์วัตถา นักองค์ศิริวงศ์ ที่หนีมาอยู่ ณ เมืองพระตะบองนั้นเข้ามายังกรุงเทพมหานคร แล้วให้ไต่ถามเอาถ้อยคำไว้ เมื่อนักองค์วัตถา นักองค์ศิริวงศ์ หนีมาจากเมืองอุดงมีไชยแล้ว พวกพ้องที่เข้าด้วยนักองค์วัตถาแต่ก่อน ซึ่งหนีไปในที่ต่าง ๆ นั้น ไปเที่ยวยุยงชาวบ้านชาวเมืองข้างนอกว่า นักองค์วัตถา นักองค์ศิริวงศ์ หนีมาทางใด เจ้าอุปราชผู้ว่าราชการเมืองเขมรจะให้ตามจับตัวมาทำโทษ เพราะเหตุที่ให้กำลังแก่น้องชายทั้ง ๒ ซึ่งหนีมานั้น เขมรในบ้านเมืองต่าง ๆ แทบทุกตำบลก็เกิดกำเริบ พากันคุมเข้าเป็นกองทัพแล้วยกไปว่า จะล้อมตีเอาเมืองอุดงมีไชย เจ้าอุปราชกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่เห็นว่า จะต่อสู้พวกเขมรที่ลุกลามยกเป็นกองทัพมานั้นไม่ได้แล้ว จึ่งพาครอบครัวบุตรภรรยาหนีมายังเมืองพระตะบองซึ่งเป็นเขตแขวงขึ้นกรุงเทพมหานคร แต่ในเดือนอุตราสาธแรก ตรงกันกับเดือนยุไล ในปีปัจจุบันนี้ แล้วมีศุภอักษรเข้ามาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อ้อนวอนเข้ามาขอกองทัพในกรุงเทพมหานครนี้ให้ออกไปช่วย แต่องค์พระแก้วฟ้าน้องเจ้าอุปราชนั้น เพราะไม่ได้มีความขุ่นเคืองกับพวกซึ่งเข้าด้วยนักองค์วัตถา ก็ยังอยู่ที่เมืองอุดงมีไชย ฝ่ายพวกเขมรที่กำเริบยกเป็นกองทัพมานั้น มาถึงบ้านใดตำบลใดใกล้เมืองอุดงมีไชย ถ้าคนในบ้านนั้นตำบลนั้นไว้ตัวเป็นกลางอยู่ไม่เข้าพวกยกมาด้วย ก็เข้าตีรันฟันฆ่าแย่งชิงเอาทรัพย์สิ่งของเสบียงอาหารไปเป็นกำลังตัวเสียเป็นอันมาก ราษฎรที่ไว้ตัวเป็นกลางต้องความทุกข์ลำบากมากเพราะพวกที่กำเริบขึ้นนั้นดังนี้ พวกกองทัพซึ่งกำเริบขึ้นนั้นยกเข้ามาถึงเมืองอุดงมีไชยแล้วล้อมเมืองไว้ ฝ่ายองค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้าจึ่งให้ออกไปเกลี้ยกล่อมพวกกองทัพที่ยกมานั้นว่า พวกนั้นยกมาด้วยมีความโกรธแก่พวกใด พวกนั้นหนีไปเสียจากบ้านเมืองเข้ามาอยู่ในเขตแขวงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียหมดแล้ว ต้นวิวาท คือ นักองค์วัตถา นักองค์ศิริวงศ์ ก็เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้แล้ว ข้อคดีทั้งปวงเห็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จะทรงชำระดอก องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า กับญาติพี่น้องแลพวกพ้องที่อยู่เมืองอุดงไชย เป็นผู้ไม่มีผิด เป็นคนกลาง ไม่ได้เข้าข้างไหน ขอเสียเถิด อย่าปล้นเอาบ้านเมืองให้วุ่นวายไปเลย พวกกองทัพเห็นชอบด้วยจึ่งถอยออกไปแยกย้ายตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ ห่างเมืองอุดงมีไชย ออกมารักษากันตามพวก เที่ยวข่มขู่ราษฎร เก็บภาษีอากรเอาเองบ้าง ปล้นชิงคนเดินทางบกทางเรือคุมเหงเอาบ้าง ขอร้องเอาบ้างตามอำเภอใจ องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า และพระยาพระเขมรที่อยู่ในเมืองอุดงมีไชย รักษาได้ก็แต่ตัวแลครอบครัวในที่อยู่ เมื่อจะเอื้อมออกไปว่า จะบังคับบัญชาก็ไม่ได้ จึงได้เขียนหนังสือให้คนใช้เล็ดลอดออกมาถึงเจ้าอุปราชถึงเมืองพระตะบองแลแจ้งการเข้ามา ณ กรุงเทพมหานครนี้ด้วย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเมื่อทราบข่าวเขมรมีการกำเริบทุกแห่งทุกตำบลดังนี้ จึงมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือรบสองลำออกไปอยู่รักษาเมืองกำปอด ป้องกันไม่ให้พวกเขมรที่กำเริบทำร้ายแย่งชิงแก่ลูกค้าวานิชต่างประเทศซึ่งเข้ามาค้าขายอยู่ ณ เมืองกำปอด แลให้ขอหนังสือประกาศแต่กงศุลอังกฤษผู้ว่าแทนกงศุลฝรั่งเศสไปเป็นสำคัญด้วยเพื่อจะมิให้ลูกค้าตกใจ เรือรบสองลำได้ไปแต่ปลายเดือน ๙[3] ตรงกันกับเดือนออทคุสต ในปีปัจจุบันนี้ แต่ที่เมืองอุดงมีไชยนั้นอยู่ตอนฤดูฝนโคลนตมมาก จะให้กองทัพออกไปรักษา เดินไปไม่ได้ จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ท่านเสนาบดีจัดขุนนางผู้น้อยนำเอาคำประกาศเป็นหนังสือพิมพ์ออกไปห้ามพวกกำเริบให้งดรอสงบไว้อย่ารบพุ่งกัน ต่อเมื่อฤดูแล้งทางเดินได้สะดวก จึ่งจะทรงแต่งตั้งผู้รับสั่งมีกำลังออกไปจัดแจงการบ้านเมืองให้เรียบร้อย พวกเขมรได้ฟังคำประกาศดังนี้แล้วก็สงบอยู่ทุกตำบล ไม่ได้ทำ[4] . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . กำเริบต่อไป จนบางแห่งที่นาไร่ในฤดูฝนนี้ก็ได้ทำบ้าง เมื่อท่านเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศได้ขอหนังสือประกาศแต่มองซิเออไวสกอนลือโดวิกแกศติลโน บุตรกงศุลฝรั่งเศสที่ว่าการแทนบิดาอยู่นั้น เพื่อจะเอาไปเป็นสำคัญในเรือกันโบด มองซิเออไวสกอนลือโดวิกแกศติลโนให้หนังสือแล้วจึ่งแจ้งความแก่เสนาบดีว่าการต่างประเทศว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ส่งเกรแดนแฉล[5] มาให้กอนลือโดวิกแกศติลโน กงศุลฝรั่งเศสสำหรับเมืองไทย ผู้เป็นบิดา ซึ่งออกไปอยู่เมืองสิงคโปร์นั้น ว่า ให้มาทำสัญญาที่เมืองเขมร กงศุลฝรั่งเศสจะเข้ามาในกรุงเทพมหานครก่อน แล้วจึ่งจะไป เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศฝ่ายสยามจึ่งตอบว่า เมืองเขมรเกิดวุ่นวายมากทุกบ้านทุกเมือง จนเจ้านายฝ่ายเขมรแลพระยาพระเขมรผู้ใหญ่อยู่ไม่ได้ ต้องหลบลี้หนีเข้ามาเมืองพระตะบองซึ่งเป็นส่วนของกรุงเทพมหานคร แลเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครบ้างก็มี ผู้ปกครองฝ่ายกรุงเทพมหานครยังคิดอ่านจะออกไประงับอยู่ ก็ซึ่งกงศุลฝรั่งเศสจะไปทำสัญญาในเวลานี้ เห็นจะยังไม่ได้ เห็นจะต้องรอยู่ก่อน จนเมืองเขมรมีเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นปกติ มองซิเออไวสกอนลือโตวิกแกศติลโนก็สงบเงียบไปสองสามวัน จึ่งเขียนหนังสือมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวความว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมีรับสั่งให้บิดาไปทำสัญญาที่เมืองเขมร แลสั่งให้อัดมิราลแม่ทัพที่มารบเมืองญวนเอาเรือรบรับกงศุลมาส่งที่เมืองเขมร ก็บัดนี้ ลือโดวิกแกศติลโนผู้บุตรว่าการแทนบิดาอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ได้ทั้งข่าวแล้วว่า เมืองเขมรวุ่นวายนัก จะทำสัญญายังไม่ได้ แต่จะถือเอาแต่ที่ได้ฟังแล้วจะมีหนังสือห้ามเรือรบออกไปยังไม่ควร จะใคร่ได้ไปเห็นความวุ่นวายนั้นแก่ตัว จึ่งมีหนังสือออกไปแจ้งความแก่บิดาให้ขอเรือรบไว้ได้ เพราะฉะนั้น ลือโดวิกแกศติลโนขอราชทานกราบทูลแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงคิดถึงพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสซึ่งได้ส่งเรือรบมารับทูตานุทูตแลทำนุบำรุงไปส่งเมืองฝรั่งเศสแล้วจะรับกลับมาส่งฉันใด ขอพระราชทานให้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งให้เรือกลไฟเป็นของกรุงเทพมหานครรับแลทำนุบำรุงตัวลือโดวิกแกศติลโนออกไปส่งเที่ยวดูการที่เมืองเขมรให้เป็นประจักษแต่ตาแล้วพากลับมายังกรุงเทพมหานครนี้ให้เหมือนกัน จึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพนักงานจัดเรือสกุศเนอลำหนึ่งออกไปส่งลือโดวิกแกศติลโนตามประสงค์ถึงเมืองกำปอด เพราะเรือกลไฟที่ใช้ออกไปเดินหนังสือท้องตรานั้นได้ล่วงไปเสียก่อนแล้ว ลือโดวิกแกศติลโนออกไปถึงเมืองกำปอด ไปพักอยู่ที่บาทหลวงเหศเตรดไม่ช้าวัน ครั้นเรือกลไฟกรุงเทพมหานครซึ่งไปเดินท้องตรานั้นกลับมา ก็กลับเข้ามาด้วยเรือกลไฟ ละเรือใบที่ไปส่งนั้นเสีย เมื่อมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ก็มานิ่งอยู่ หาได้ต่อว่าต่อขานด้วยการที่ไปรู้ไปเห็นมาแต่เมืองเขมรประการใดไม่ . . . . .[6]

เลขที่ ๑๑๐
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ชื่อ จดหมาย เรื่อง การวุ่นวายในเมืองเขมร
ประวัติ น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔

  1. พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ จ.ศ. ๑๒๒๓
  2. ลางทีเรียก ศรีวงศา
  3. สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๔
  4. ความขาดอยู่เพียงเท่านี้ ต่อไปเป็นเรื่องอื่น ความไม่ต่อกัน
  5. คือ Credentials ภาษาไทยออกเสียงแต่โบราณว่า 'กระดานฉาน'
  6. ต้นฉบับมีเพียงเท่านี้