ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร/เอกสาร 5

ศุภอักษรองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ
ขอศัสตราวุธรบญวนแลยืนยันว่า ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ

ข้าพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี[1] จดหมายข้อราชการเมืองเขมรให้หลวงศรีเสนานำเข้ามากราบเรียน ฯพณฯ เจ้าท่าน ลูกขุน ณ ศาลา ทราบแล้ว ขอได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยมีพระเดชพระคุณมีศุภอักษรออกมาเตือนสติข้าพระพุทธเจ้าว่า อย่ามีความกลัวญวนนักเลย แต่มีรับสั่งมานั้น ญวนกับเขมรก็ยังหามีเหตุการควรจะทำศึกสงครามได้ไม่ ครั้นปีมะแม เอก องตงดกฮุงยองกับอ้ายต่วนหลีคบคิดกัน ครั้นเดือนสิบเอ็จ อ้ายต่วนหลีใช้ให้อ้ายสู อ้ายสอิต อ้ายแสดสมาน อ้ายแอม อ้ายกา อ้ายวิเลม อ้ายเซม อ้ายฮุง น้องอ้ายต่วนหลี องตงดกฮุงยองให้อ้ายญวนทุเจียว เสมียร ขึ้นมาด้วยกันถึงเมืองพนมเปญ อ้ายทุเจียว หนึ่ง อ้ายสู หนึ่ง อ้ายสอิต หนึ่ง อ้ายแสดสมาน หนึ่ง อ้ายแอม หนึ่ง อ้ายกา หนึ่ง อ้ายวิเลม หนึ่ง อ้ายเซม หนึ่ง อ้ายมะหุม หนึ่ง พูดจาเกลี้ยกล่อมแขกจามพี่น้องอ้ายต่วนหลี ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ากวาดเอามาจากทะเลทมไว้ที่แขวงเมืองพนมเปญ พากันล่องน้ำหนีไปเมืองโจดก ครั้นข้าพระพุทธเจ้าจะยกกองทัพติดตามไป เกลือกจะพบกองทัพญวนจะมารับครอบครัวแขกจามพบปะพวกเขมร ก็จะเกิดรบพุ่งกันเป็นศึกใหญ่ ด้วยที่เมืองอุดงมีไชยก็ยังไม่ได้เกณฑ์ผู้คนตั้งค่ายจัดแจงเรือรบเรือไล่ไว้สำหรับรักษาเมือง ประการหนึ่ง ยังกริ่งใจอยู่ว่า ญวนจะคบคิดกับอ้ายต่วนหลีจริงฤๅ ๆ เสียไม่ได้ ปล่อยให้พี่น้องอ้ายต่วนหลีมาเกลี้ยกล่อมชักพาครอบครัวหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งไม่ได้ให้ติดตาม จึ่งจัดแจงพระยาธณธิบดี พระยาบวรนายก ถือหนังสือไปถึงองตงดกฮุงยอง ขออ้ายต่วนหลีกับพี่น้องครอบครัวแขกจามมา ณ เมืองอุดงมีไชยคืน ดูใจญวน ครั้นญวนพูดจาบิดเบือนเกียดกันครอบครัวแขกจามไว้ หาให้ไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทราบความชัด จึ่งตรึกตรองเห็นการว่า องญวนกับอ้ายต่วนหลีคบคิดกัน ด้วยญวนรบกับฝรั่งเศสไม่ได้ คิดให้อ้ายต่วนหลีมาเป็นศัตรูต่อสู้กับเขมร ถ้าเขมรเพลี่ยงพล้ำลงกับแขก ญวนก็จะยกกองทัพทุ่มเทยกมาข่มขี่เอาเมืองเขมร ได้แล้วญวนก็จะถ่ายเทเอาครัวญวนที่สู้ฝรั่งไม่ได้มาอยู่เมืองเขมร ด้วยเมืองเขมรเป็นเมืองกว้างใหญ่ มีที่ทำมาหากินอุดมมัธยม ข้าพระพุทธเจ้ากับสมเด็จฟ้าทะละหะ[2] แลจัตุสดมภ์ขุนนางแลเจ้าเมืองเมืองขึ้น เมืองอุดงมีไชย พร้อมกันเห็นว่า จะเป็นดังนี้ จึ่งจะเกณฑ์ผู้คนตั้งค่ายจัดแจงต่อเรือรบเรือไล่แลประกาศให้เจ้าเมืองกรมการที่อยู่ต่อแดนกับญวนเกณฑ์คนตั้งค่ายรักษาเมืองไว้ แลเมืองตรังไตรตราด เมืองกระมวนสอ เมืองป่าสัก รู้ว่า เมืองอุดงมีไชยกะเกณฑ์กองทัพ จึ่งใช้คนให้มาหาสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ สืบความว่า เมืองอุดงมีไชยจะกระทำศึกสงครามกับญวนจริงฤๅ ถ้าทำจริง เมืองเขมรที่ขึ้นกับญวนจะชักชวนกันกำเริบทำศึกกับญวนด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะจึ่งบอกกับเขมรว่า จะทำศึกกับญวนจริง เขมรเมืองป่าสัก เมืองกระมวนสอ เมืองตรังไตรตราด ก็กลับไปกำเริบลุกฆ่าฟันญวน แต่ที่สัจจริงทุกวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทราบอยู่ว่า ตัวยข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่ มีโรคชราเบียดเบียน ไม่อยากเลยที่จะเป็นศึกสงครามเอาบ้านเมืองที่ได้ไปญวนคืน แลให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ความเดือดร้อน แลขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่การบ้านเมืองประจวบการที่ควรจะกระทำศึกกับญวนให้เด็ดขาดกัน จึ่งแต่งให้พระยาจักรี พระยาณรงค์เสนา พระยาธณธิบดี ไปตั้งอยู่เมืองบาพนม พระยายมราช พระยานรินทรนายก พระยาราชวงศา พระยาเอกราช ไปตั้งอยู่เมืองตรัง สู้รบกับญวน ข้าพระพุทธเจ้ากับสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะพร้อมกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยคิดเห็นว่า ถ้าไม่ได้ทำศึกกับญวนคราวนี้ ไปภายหน้ากลัวญวนจะเพลี่ยงพล้ำกับฝรั่งเศส ญวนจะยกเมืองเขมรว่า เป็นเมืองขึ้นกับญวน ให้เป็นของกำนัลฝรั่งเศส ๆ ก็จะดีใจ รับเอาว่า จะตีเมืองเดียวกลับได้เป็นสองเมือง ฝรั่งเศสจะข่มขี่เมืองญวร เมืองเขมร ร่ำไป ผู้ที่จะสืบเจ้านายปกครองเมืองเขมรแลขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยที่มีสติปัญญาไปข้างหน้า รู้จดหมายเหตุการบ้านเมือง ก็จะติฉินนินทาว่า การครั้งนั้นควรจะกระทำกับญวนให้เด็ดขาดออกจากญวรก็พอจะได้ หาคิดอ่านไม่ นิ่งเสียจนเขมรเป็นข้าญวน แล้วมิหนำซ้ำเป็นข้าฝรั่งอีกเล่า เป็นสองทัพสามทัพ ใครเลยจะคิดอ่านแก้เนื้อแก้ตัวอย่างไรได้ ที่จะกระทำกับญวนครั้งนี้ ถ้าแม้นทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำปั่นบรรทุกปืนกระสุนดินดำเครื่องศัสตราวุธออกมาพระราชทานให้เขมรเมืองป่าสัก เมืองพระตะพัง เมืองตรังไตรตราด เมืองกระมวนสอ แล้วทอดสมอรอท่าที่ปากน้ำเมืองป่าสักบ้าง หน้าเมืองเปียม ปากน้ำเมืองกระมวนสอบ้าง ในฤดูน้ำเดือนเก้า เดือนสิบ เดือนสิบเอ็จนี้ไซร้ ญวนกล้าทำศึกสงคราม มีกำลังแต่ในฤดูน้ำแล้ว เขมรก็จะดีใจต่อสู้กับญวนเต็มมือ กิตติศัพท์ก็จะเลื่องลือไปถึงญวนว่า มีกองทัพกำปั่นกรุงเทพฯ ออกไปช่วย ญวนก็จะพะว้าพะวัง หากล้ายกกองทัพขึ้นมากระทำกับเมืองอุดงมีไชยไม่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ พร้อมกันเห็นว่า ถ้าญวนเสียแก่ฝรั่งเศสแล้วยกเมืองเขมรให้แก่ฝรั่งก็ดี ฝรั่งเห็นว่า ตีเมืองญวนได้แล้ว จะรวบเอาเมืองเขมรว่า เป็นเมืองขึ้นของญวนก็ดี ถ้าทำได้ดังนี้ ก็จะมีที่อันจะพูดจาโต้ตอบกับฝรั่งได้สนัด ด้วยว่า เดิมแต่บิดาข้าพระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าขึ้นแก่กรุงเทพฯ ฝ่ายเดียว หาได้ขึ้นแก่เมืองญวนไม่ เมื่อครั้งเจ้าเมืองญวน ชื่อ ยาลอง ออกมาแต่กรุงเทพฯ ยกไปตีไกเซิน รวบเอาเมืองเว้ ก็มีรับสั่งโปรดให้เจ้าฟ้าทะละหะผู้เฒ่าจัดพระยากลาโหมเดิม ชื่อ พรหม เป็นแม่ทัพ จัดขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองบรรทายเพชรแปดนายกับหัวเมืองห้าหัวเมืองคุมกองทัพเขมรห้าพันคนไปช่วยรบไกเซินจนได้เมืองเว้ เมืองญวนก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ ญวนกับเขมรก็เป็นไมตรีกัน ส่งสิ่งของไปมาหากันไม่ขาด ครั้นอยู่มา องค์จัน พี่ชายข้าพระพุทธเจ้า วิวาทกับพี่น้องกัน องค์จันจึ่งออกหากจากกรุงเทพฯ ไปพึ่งญวน ขอขึ้นกับญวนแต่ครั้งนั้นครั้งเดียว ครั้นองค์จันถึงพิราลัยไป จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ เป็นแม่ทัพพาข้าพระพุทธเจ้าออกมาสู้รบกับญวน ก็ได้บ้านได้เมืองมาทั้งหมด ยังแต่เมืองพระตะพัง เมืองป่าสัก เมืองตรังไตรตราด เมืองกระมวนสอ เมืองตึกเขมา เมืองอุมน เมืองเปียม เมืองโจดก กำลังคิดอ่านจะสู้รบเอาเมืองทั้งนี้คืนได้จงได้ ก็พอฝรั่งเศสมากับกำปั่นยิงเมืองกวางนาม ญวนเห็นว่า จะมีศึกกระหนาบมาสองข้าง พะว้าพะวัง จะทำศึกกับเขมรไม่ถนัด องญวนแม่ทัพ ชื่อ ทำตานดายทาน องทำตายมาพูดจากับเจ้าพระยาบดินทร์เดชาฯ[3] กับข้าพระพุทธเจ้า ขอเป็นไมตรี ญวนยกมารดาแลบุตรหลานข้าพระพุทธเจ้ากับพระยาพระเขมรราษฎรที่ญวนเก็บได้ไปกับหัวเมืองทั้งแปดนี้มอบให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ขอเป็นไมตรีสืบไปภายหน้า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ได้เมืองแลญาติพี่น้องพระยาพระเขมรราษฎรมาพร้อมแล้ว ๆ คิดสงสารกับพระยาพระเขมรไพร่บ้านพลเมืองที่จะทำศึกกับญวนเหนื่อยลำบากต่อไป จึ่งรับเป็นไมตรี มีศุภอักษรกราบทูลเข้าไปกรุงเทพฯ ทราบ จึ่งโปรดเกล้าฯ มีศุภอักษรตอบออกมาว่า เมืองเขมรเป็นเมืองของข้าพระพุทธเจ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เป็นแต่ช่วยทำนุบำรุง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า เป็นไมตรีกับญวนดีแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดตาม ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งจัดแจงพระยาพระเขมรแลเครื่องบรรณาการไปผูกไมตรีกับเมืองเว้ เจ้าเมืองเว้ก็จัดแจงให้องญวนถือหนังสือคุมเครื่องบรรณาการมาให้ข้าพระพุทธเจ้าผูกพันเป็นไมตรีกันกับญวน เขมรกับญวนก็ถ้อยทีส่งเครื่องบรรณาการกันสามปีครั้งหนึ่ง จนถึงปีมะโรง อัฐ ศักราช ๑๒๑๘ ครั้น ณ ปีวอก โท ศักราช ๑๒๒๒ นี้ เขมรกับญวนเกิดวิวาทกันขึ้น ก็ทราบใต้ฝ่าละอองฯ จึ่งโปรดให้กองทัพกำปั่นออกมาช่วย เรื่องความทั้งนี้ จะว่า เมืองเขมรขึ้นแก่ญวนอย่างไร มิใช่เขมรสู้รบแพ้ญวน ๆ เก็บเอาไปไว้เป็นเมืองขึ้นนั้น ควรที่ว่า เขมรเป็น ความพยานข้าพระพุทธเจ้าหลายชั้นดังนี้ ญวนจะว่า เมืองเขมรอยู่ในอำนาจขึ้นแก่เมืองญวนอย่างไรได้ ถึงฝรั่งเศสตีได้เมืองญวน แล้วจะรบเอาเมืองเขมร ว่า ขึ้นแก่ญวน ก็มีที่พูดกับฝรั่งเศสว่า เมืองฝรั่งเศสรบกับญวน เขมรก็ไม่ได้ช่วย ญวรรบฝรั่ง เมืองเขมรก็แขงเมืองอยู่ แล้วเกณฑ์กองทัพรบสู้กับญวนเอาบ้านเมืองที่ญวนเก็บไว้คืน ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นดังนี้ ถึงญวนจะถือฝรั่งรวบรวมข่มขี่เมืองเขมร ก็มีที่พูดได้ดังนี้ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด จดหมายปรนิบัติมา ณ วัน ค่ำ ปีวอก โท[4]

เลขที่ ๖๘
หมู่ จดหมายเหตุ ร. ๔ จ.ศ. ๑๒๒๒
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

(เรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยเมื่อดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลายพระราชหัตถเลขา ดั่งได้พิมพ์ไว้ในหน้า ๓๒)


  1. คือ นักองค์ด้วง โอรสนักองค์เอง พระนารายณ์รามาธิบดี
  2. ชื่อ เมียต หรือ เมียะ
  3. คือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
  4. ตรงกับวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๓