ประกาศในรัชกาลที่ ๕
พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง มีอยู่ ๑๐ ข้อ

มีพระบรมราชโองการมารบัณฑูรสุรสิงหนาทให้ตั้งพระราชบัญญัติไว้เปนธรรมเนียมตรวจตรารักษาคลองเก่าใหม่ใหญ่น้อยในกรุงเทพฯ แลตลอดหัวเมืองใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ลงพิมพ์ประกาศให้รู้ทั่วกันทั้งพระราชอาณาเฃตรประเทศสยามนี้ (เปนพนักงานแต่งตั้งผู้ตรวจตรารักษาคลอง) แล้วมีพระบรมราชโองการดำหรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระชลธารวินิจฉัยเปนพนักงานแลแต่งตั้งผู้ตรวจตรารักษาคลอง แลมีอำนาจที่จะชำระตัดสินคดีของราษฎรซึ่งเกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นเพราะเดินเรือไปมาตามคลองแลริมฝั่งคลองนั้น เปนธรรมเนียม ๑๐ ข้อดังนี้

มาตราห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเททิ้งสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงในลำคลองเปนอันขาดทีเดียว ถ้ามิฟังขืนจะทำให้ผิดธรรมเนียมห้าม นายคลองแลตรวจตรารักษาคลองพบปะจับได้ เหนว่าคลองจะตื้นจะเสียเพราะผู้นั้นเทถมทิ้งสิ่งของต่าง ๆ ลงในลำคลอง นายคลองจะบังคับให้ผู้นั้นโกยขนขึ้นเสียจากในลำคลองให้หมดจดเรียบร้อย แล้วคิดเอาค่าจ้างกับผู้ซึ่งขัดขืนนั้นสองเท่า ส่วนหนึ่งให้ค่าจ้าง ยังส่วนหนึ่งยกขึ้นเปนเงินแผ่นดิน

มาตราห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเปนเจ้าของที่บ้านที่สวนที่นาตลอดถึงริมคลองแห่งหนึ่งแห่งใดปักหลักทอดไม้ขอนแลปักเสาปลูกเรือนปลูกโรงปลูกร้านแลชานน่าบ้านลงในลำคลองเปนอันขาดทีเดียว จะยอมให้ทำได้ก็แต่บันไดน่าบ้านแลขอนลำดับลงกับที่ริมตลิ่งคลอง แลตะพานบันไดยื่นออกไปพ้นตลิ่งคลองในสามศอกก็ไม่ห้าม ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดทำให้ผิดจากธรรมเนียมในมาตรา ๒ นี้ จะบังคับให้รื้อให้ถอนเรือนโรงเรือนร้านแลเสาหลักไม้ขอนเสียให้เรียบร้อยตามกำหนดนายคลองแลผู้ตรวจตรารักษาคลอง ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดขัดขืนมิกระทำตามบังคับในธรรมเนียมประกาศไว้นี้ ก็ให้นายคลองจ้างคนไปรื้อถอนจงจัดแจงเสียให้เรียบร้อย แล้วคิดเอาค่าจ้างแก่เจ้าของที่บ้านเรือนโรงร้านซึ่งขัดขืนมิได้ทำตามธรรมเนียมนั้นตามสมควร

มาตราห้ามมิให้ลูกค้าชาวเรือใหญ่เรือน้อยจอดเรือในลำคลองซ้อนกันสองชั้นสามชั้นแลปักหลักจอดเรือในกลางลำคลองแห่งหนึ่งแห่งใดตามอำเภอน้ำใจให้กีดทางเรือไปมาเปนอันขาดทีเดียว ถ้าจะพักจะหยุดจะจอด ก็ให้จอดแต่ที่ริมคลองข้างหนึ่งข้างใดตามแต่ที่จะจอดได้ไม่ห้าม เว้นเสียแต่เรือที่บันทุกเพียบหนักเดินมาจวนคราวน้ำคลองน้ำตื้นเรือติดเหลือกำลังที่เจ้าของเรือจะถ่อจะเขนจะลากไปได้ก็ไม่เอาโทษเอาผิด เพราะเปนการมิได้แกล้งทำให้เสียธรรมเนียม แต่ให้ชาวเรือระวังอย่าให้เรือติดตื้นซ้อนกันสองลำสามลำอยู่แห่งเดียว ถ้าจะต้องติดตื้น ก็ยอมให้ติดตื้นเรียงลำตามลำคลองแต่แถวเดียว ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดมิทำตามธรรมเนียม ขืนปักหลักจอดเรือกลางลำคลองแลจอดเรือซ้อนกันสองชั้นสามชั้นให้กีดทางเรือไปมา เรือล่องไปมาหลบหลีกไม้พ้น โดนกันเข้าแตกหักเสียหาย ฝ่ายเรือที่จอดกีดขวางจะให้เปนภัพอยู่แต่ตัวเอง ถ้าเรือฝ่ายหนึ่งแตกหักเสียหาย จะบังคับให้เรือที่จอดกีดทางใช้สิ่งของจงเต็มตามมากแลน้อย ถ้าเรือจอดริมคลองชั้นเดียวตามข้อบังคับแล้ว เรือล่องไปมาไม่ระวัง ให้โดนเรือที่จอดเรียบร้อยให้แตกหักเสียหาย จะให้เรือที่โดนนั้นใช้สิ่งของจงเต็มตามมากแลน้อย ถ้าเรือที่ล่องไปมาทำผิด ไม่ระวังให้โดนเรือที่ติดตื้นเช่นว่ามาแล้วนั้นแลเรือของตัวแตกหักเสียสิ่งของมากน้อยเท่าใด ให้เปนภัพอยู่กับตัวเอง จะเอาใช้แต่เรือที่ติดตื้นมิได้ แลที่จะได้รู้ว่าเรือที่ติดตื้นกลางคลองไม่มีความผิด คือ เวลาที่เกิดเหตุโดนกันนั้น ให้เจ้าของเรือทั้งสองฝ่ายบอกกล่าวชาวบ้านแลชาวเรือที่อยู่ใกล้เคียงกันให้รู้เหนเปนพยาน ถ้าเรือจะไม่มีความผิดด้วยติดตื้นนั้น เพราะที่สังเกตว่าไม่ต้องทอดสมอปักหลักแลผูกเชือกเรือไว้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึ่งจะเปนเรือติดตื่น จึ่งไม่มีความผิดได้

มาตราห้ามมิให้ลูกค้าแพไม้ต่าง ๆ จอดซ้อนกันสองชั้นสามชั้นในลำคลองแห่งหนึ่งแห่งใด ให้จอดได้แต่ริมตลิ่งคลองออกมา ๓ วาชั้นเดียว แต่ที่ลำคลองกว้างตั้งแต่ ๑๐ วาขึ้นไป เพราะจะให้มีทางเรือไปมามิให้แพกีดทางเรือได้ ถ้าแลผู้ใดขืนจอดแพกีดทางเรือเดินให้ผิดธรรมเนียมที่กำหนดไว้ซึ่งให้เรือไปมาได้ความขัดขวางเดือดร้อน จะปรับเอาทาแก่ผู้เจ้าของแพแลบังคับให้ถอยแพไปจากที่นั้นตามกำหนดของนายคลอง อนึ่ง ลำคลองเล็ก ๆ นั้นก็มีหลายคลอง กว้างตั้งแต่ ๒ วาขึ้นไปจนถึง ๔ วา ๕ วา ห้ามมิให้เรือกำลังกว้างปากตั้งแต่ ๖ ศอก ๘ ศอก ๑๐ ศอก เข้าไปจอดประจำท่าในคลองเหล่านั้น เพราะจะกีดทางเรือไปมา ถ้าจะเข้าไปจอดด้วยมีกิจธุระสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ยอมให้พักอยู่ในลำคลองได้เพียงคราวน้ำขึ้นคราวหนึ่งสองคราว ถ้าผู้ใดมิได้รักษาธรรมเนียม ทำให้ชาวเรือผู้อื่นได้ความขัดขวางเดือดร้อนเพราะเรือของตัวกำลังกว้าง ปิดทางเรือคนอื่นเดินไม่ได้ อนึ่ง คลองเล็ก ๆ เหมือนเช่นคลองตลาด คลองหลอด แลคลองอื่น ๆ ที่ผ่านทลุเข้าไปในกำแพงพระนครแลใกล้เคียงกำแพง ก็มีอยู่หลายแห่ง ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่ตั้งบ้านเรืออยู่ทั้งสองฝั่งนั้นทำเวจแลถ่ายอุจาระลงไปในลำคลองนั้น เททิ้งสิ่งของอันโสโครก คือ เนื้อสัตวใหญ่ต่าง ๆ แลแมวสุนักข์สุกรตาย เปนอันขาดทีเดียว เพราะคลองเหล่านั้นอยู่ในที่ชุมนุมข้าราชการแลราษฎร ถ้าผู้ใดซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองเล่านั้นจะทำเวจถ่ายอุจาระที่ริมคลอง ก็ให้ก่อด้วยอิฐฤๅทำด้วยไม้เปนหีบลงไปในแผ่นดินให้มีปะตูเปิดได้ปิดได้ไปข้างริมคลองสำหรับรับกันของโสโครกให้มิดชิด แลผู้ที่เปนเจ้าของเวจนั้นต้องเสียเงินค่าจ้างให้แก่นายคลองตามสมควร นายคลองจะได้จัดเรือจ้างคนไว้สำหรับมารับเอาของโสโครกไปทิ้งที่แม่น้ำใหญ่ ๓ วันฤๅ ๕ วันครั้งหนึ่ง ฤๅเจ้าของจะโกยไปเองก็ได้ แต่ให้ทำตามเวลาที่กำหนดไว้ แลที่บ้านของผู้ใดริมตลิ่งคลอง ผู้นั้นต้องรักษาให้เรียบร้อยหมดจดทุก ๆ แห่ง เพราะเหตุที่คนจะใช้น้ำในลำคลองนั้นมากด้วยกัน ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดมิได้กระทำตามข้อบังคับชี้แจงไว้นี้ แลขัดขืนแต่ข้อหนึ่งข้อใด ก็ให้นายคลองจัดแจงทำเสียให้เสร็จ แล้วคิดเอาค่าอิฐค่าปูนค่าจ้างแก่เจ้าของที่นั้น ๆ ตามสมควร ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมิได้กระทำตามบังคับไว้ นายคลองแลผู้ตรวจตรารักษาคลองพบปะฤๅมีผู้มาร้องต่อนายคลอง จะเอาตัวผู้กระทำความผิดธรรมเนียมเปนโทษ

มาตราว่า เรือลูกค้าซึ่งบันทุกสิ่งของสินค้าต่าง ๆ ไปจอดประจำท่าอยู่ในลำคลองใหม่เก่าใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยอมให้จอดริมตลิ่งคลองแต่ชั้นเดียวฝั่งหนึ่งฝั่งใดตามที่ควรจะจอดได้ ก็ไม่ห้าม แลห้ามมิให้จอดเรือขวางลำปักหลักล้อมเรือสูง ๆ แลเรือกำลังใหญ่ไปจอดซื้อขายในลำคลองเล็กให้คับคลองกีดทางเรือไปมาเช่นว่าในข้อ ๔ นั้นแล้ว เพราะมิใช่ลำคลองของตัวขุดไว้ใช้แต่เฉภาะตัวเอง เปนคลองสำหรับแผ่นดินราษฎรย่อมอาไศรยใช้เรือไปมาด้วยกันทั่วพระราชอาณาเฃตร์ เพราะฉนั้น จึ่งให้มีธรรมเนียมบังคับไว้มิให้เสียประโยชน์ทั้งเรือจอดประจำท่าค้าขายแลเรือไปมาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าแลผู้ใดมิฟัง ขืนกระทำให้ผิดจากธรรมเนียมที่ตั้งบังคับไว้ นายคลองแลพวกตรวจตรารักษาคลองพบปะ แลมีผู้มาร้องต่อนายคลอง จะเอาตัวผู้กระทำผิดธรรมเนียมเปนโทษ

มาตราว่า เรือลูกค้าใหญ่น้อยทั้งปวงแจวพายถ่อ ฤๅขึ้นบลติ่งคลองลาก ฤๅแล่นใบไปมากในลำคลองใหม่เก่าใหญ่น้อยแห่งหนึ่งแห่งใด ก็ให้พึงเข้าใจธรรมเนียมที่หลีกอย่าให้โดยกันให้ชัดเจน ด้วยคนถือท้ายเรือพาย เรือแจว เรือลาก เรือแล่นใบ ก็ย่อมหันน่าไปข้างหัวเรอของตัวทุกคน ถ้าเรือไปมาสวนกันบังคับให้หลีกกันนั้น คือ ให้วาด ฤๅบาย ฤๅให้เหหัวเรือไปข้างขวางมือของคนถือท้ายในเรือฃองตัวเองทั้งสองฝ่าย เพราะเหตุจะให้หลีกกันไปข้างขวามือของตัวเองทั้งสองฝ่าย ถ้าเปนเวลามืดค่ำ ก็ให้ร้องบอกกันแต่เพียงว่าขวามือทั้งสองฝ่ายทั้งเรือไปมา ถ้าเรือเดินแจวพายถ่อลากแล่นตามกันไปลำคลองแห่งหนึ่งแหงใด ถ้าเรือลำข้างหลังเร็วไปโดนเรือข้างน่าแตกหักล่มไปก็ดี ฤๅไปโดนเรือที่จอดอยู่ตามปรกติแตกล่มไปก็ดี ให้ใช้ของแก่เรือที่ล่มจงเต็ม ถ้าจะหลีกขึ้นไปข้างน่าเรือลำที่เดินก่อน ก็ให้หลีกไปข้างซ้ายมือเรือข้างน่า อนึ่ง เรือลำไปมาสวนทางกันแห่งหนึ่งแห่งใด ก็ให้เรือเบาหลีกเรือหนัก เรือเล็กหลีกเรือใหญ่ แต่ถ้าเรือหนักนั้นเล็กกว่าเรือเบาตั้งแต่ห้าท่าขึ้นไป ก็ให้ต่างคนต่างหลีกกัน เพราะเรือหนักนั้นเล็ก ก็ยังหันเรือได้เร็วกว่าเรือเบา ที่ลำใหญ่ ๆ เหมือนเช่นเรียกว่าเรือเหนือ เรือบันทุกอิฐ บันทุกเกลือ บันทุกเข้า บันทุกปลา อย่างนี้ ยาวตั้งแต่ ๖ วา ๗ วาขึ้นไป เรียกว่าเรือใหญ่ในลำคลอง แลห้ามมิให้เรือไปมาสวนทางกันหลีกกัน ๓ ลำ ๔ ลำ ในที่แห่งเดียวกัน ถ้าคลองเล็กคัดเรือจะเลี้ยวแหลมเลี้ยงคุ้งลับลำ ไม่แลเหนกันทั้งสองฝ่ายนั้น ก็ให้รอเรือเลี้ยวแต่ช้า ๆ อนึ่ง เรือลำหนึ่งจะออกจากท่าไป ฤๅออกจากปากคลองก็ดี เรือลำหนึ่งจะเข้าออกก็ดี ฤๅแจวพายถ่อสวนมาตามทางก็ดี หลีกกันมิทันโดนกันเข้าล่มไปด้วยมิได้แกล้ง ให้เจ้าของเรือซึ่งมิได้ล่มอยู่ช่วยกู้เรือเก็บของ ถ้ามิได้อยู่ช่วย ก็ให้ใช้ของที่ล่มเสียไปนั้นกึ่งหนึ่ง เพราะหาความเมดตากรุณามิได้ ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดไม่เข้าใจในธรรมเนียมข้อ ๖ นี้ให้แน่ใจ ก็ให้ไปถามนายคลอง ๆ จะได้ชี้แจงสั่งสอนให้รู้ธรรมเนียม ถ้าแลเรือไปมาในลำคลองแห่งหนึ่งแห่งใดสวนโดนกันแตกหักเสียหายล่มจม นายคลองจะปรับให้คนที่กระทำผิดธรรมเนียมใช้ของที่เสียหายไปฝ่ายเดียว ถ้าแลชาวเรือไปมาโดนกันแตกหักเสียหายล่มจม ฝ่ายผู้กระทำผิดธรรมเนียมมีอำนาจมีพวกพ้องมาก ช่วยกันเอาความเท็จเปนความจริงอ้างอิงเอาพยานจะให้ชะนะแก่ความสัตย์ความจริงความยุติธรรมของเขา นายคลองชำระพิจารณาเปนสัตย์ นายคลองจะเอาสิ่งของที่ผู้เสียหายนั้นตั้งปรับไหมตรีคูณ ด้วยผู้นั้นถืออำนาจข่มขี่ท่านให้ท่านได้ความเดือดร้อน แล้วจะเอาสินเดิมมากน้อยเท่าใด จะคืนให้แก่เจ้าของที่เสียหายหนึ่งส่วน เหลือสองส่วนให้ยกไว้เปนของแผ่นดิน

มาตราว่า ลำคลองเก่าใหม่ใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งห่างกำแพงพระนครออกไปนั้น ควรจะต้องมีถนนริมคลองฝั่งหนึ่งฝั่งใดกว้าง ๔ ศอกฤๅ ๖ ศอกพอให้คนเดินไปมาค้าขายแลกิจการอื่น ๆ โดยสดวก ถ้าแลมีคลองแยกฤๅลำกระโดงที่จะไขน้ำเข้าสวนเข้านาขวางตัดถนนริมคลองฟากหนึ่งฟากใด ก็ให้นายคลองบังคับผู้ที่มีประโยชน์จะใช้คลองแยกแลลำกระโดงนั้นให้ทำตะพานค่ามคลองแยกแลลำกระโดงจงทุกแห่ง ด้วยจะให้คนเดินไปมาตามถนนริมคลองโดยสดวกมิได้ขัดขวาง การที่จะทำตะพานค่ามคลองแยกลำกระโดงนั้น ให้ทำตั้งแต่กว้างศอกหนึ่งขึ้นไป จะทำด้วยไม้ขอน ๕ กำ ๖ กำสองต้นเรียงกัน ฤๅไม้อื่น ๆ และจะทำสูงต่ำเท่าใด ก็ให้ทำตามบังคับของนายคลองโดยสมควร ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งได้ผลประโยชน์ในคลองแยกแลลำกระโดงเหล่านั้นขัดขืนมิทำตามธรรมเนียม ก็ให้นายคลองจัดการทำตะพานค่ามเสียเองให้เสร็จ จะเปนเงินค่าจ้างค่าไม้มากน้อยเท่าใด ก็ให้คิดเอาแก่ผู้ที่ขัดขืนมิกระทำตามบังคับของนายคลอง อนึ่ง ท่านผู้ใดจะมีน้ำใจจะสร้างตะพานค่ามคลองเก่าใหม่ใหญ่น้อยแห่งหนึ่งแห่งใดเพื่อจะให้ราษฎรอาไศรยเดินไปมาได้สะดวกนั้น เปนการที่ดีที่เจริญแก่บ้านเมือง ไม่เปนที่ห้าม แต่ให้บอกแก่นายคลองไปพิจารณาดูที่จะทำตะพานค่ามคลองนั้น แลให้มีแบบตะพานแก่ผู้ที่จะทำให้ถูกต้องด้วยอย่างธรรมเนียม เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาทางนั้น ๆ จะได้ไม่ต้องเปนที่เสียหายอันตรายแก่ตะพาน ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดขืนกระทำให้ผิดธรรมเนียม ผู้ตรวจคลองพบปะจับได้ ฤๅมีผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องต่อนายคลอง ๆ จะเอาตัวมาพิจารณาเปนสัตย์ จะเอาผู้นั้นเปนโทษ

มาตราห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเปนเจ้าของที่บ้านที่สวนที่นาตกริมคลองเก่าใหม่ใหญ่น้อยทั้งปวงปลูกต้นจาวต้นเตยแขมต้นไม้อื่น ๆ ฤๅชักสะวะปลูกผักน้ำต่าง ๆ ฤๅปล่อยให้ต้นลำพูต้นอ้อต้นพงงอกขึ้นยื่นลงไปในลำคลองเปนอันขาดที่เดียว เพราะของเหล่านั้นจะชักให้คลองตื้นแคบเข้าทุกปี ผู้ตรวจคลองต้องบังคับให้เจ้าของที่บ้านที่สวนที่นาแผ้วถางรื้อขึ้นเสียจากในลำคลองให้เรียบร้อย ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมิทำตามบังคับของนายคลอง ๆ จะเอาคนโทษซึ่งจะได้มาแต่ข้อ ๖ นั้นมาแผ้วถางขุดรื้อเสียให้เรียบร้อย แล้วจะคิดเอาเงินค่าจ้างแก่เจ้าของที่บ้านที่สวนที่นาตามสมควรยกไว้เปนเงินแผ่นดิน อนึ่ง คลองใหม่ที่ทลุตลอดออกไปหัวเมืองนั้น ๆ เหมือนเช่นคลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัส คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสดวก คลองพวกประชาชื่น คลองแสนแสบ คลองบอน คลองสุนักข์หอน เหล่านี้ ต้องให้มีถนนริมคลองฝั่งหนึ่งกว้าง ๘ ศอกให้ตลอดลำคลอง เพราะจะให้เปนที่อาไศรยของชาวเรือใหญ่น้อยทั้งปวงลากเรือไปมาโดยสดวกด้วยทางไกล ควรจะปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ ริมถนนทางตลิ่งคลองขึ้นไป ๘ ศอกให้ตลอด ถ้าผู้ใดมิทำตามธรรมเนียมข้อบังคับ จะเอาตัวเปนโทษ

มาตราว่า คลองใหม่เก่าใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งห่างกรุงเทพฯ ออกไป ที่ยังไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะจับจองเปนเจ้าของทำบ้านทำสวนทำนา จะได้รักษาแผ้วถางที่ริมคลองนั้นให้เรียบร้อย ก็ยังมีอยู่เปนอันมาก ที่คลองเหล่านั้นก็พังตื้นรกเรี้ยวชำรุดซุดโซมไปเปนอันมาก นายคลองก็ต้องมีอำนาจไปเบิกคนโทษที่กรมหนึ่งกรมใดฤๅในคุกมาให้ขุดรื้อคลองให้เรียบร้อยตามสมควร เพราะคนโทษคนคุกเหล่านั้นเปนคนใจร้ายใจพาลทำการอยาบช้า ควรจะเอามาตรากตรำทำการทำนุบำรุงบ้านเมือง อนึ่ง นายคลองต้องมีอำนาจชำระตัดสินถ้อยความของราษฎรซึ่งวิวาทด้วยเรือโดนกัน แลเหตุเกิดขึ้นในลำคลองต่าง ๆ โดยยุติธรรมตามผิดแลชอบเสียก่อน ถ้าชำระไม่ตกลงขัดขวางอยู่ด้วยประการหนึ่งประการใด นายคลองจึ่งจะส่งไปตามกระทรวง

มาตรา๑๐ว่า คลองใหม่ คือ คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัส คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสดวก เปนคลองสำคัญสำหรับลูกค้าชาวเรือบันทุกสินค้าต่าง ๆ ไปมาค้าขายโดยเร็วโดยสดวก ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดล่องแพไม้ซุงไม้เสาไม้ไผ่ไม้รวก แพอื่น ๆ แลเรือพวงไม้ ไปมาทางคลองที่กำหนดห้ามนั้น เพราะจะกีดทางเรือไปมา แลห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดปล่อยให้ช้างให้โคกระบือลงลุยย่ำในลำคลองแห่งหนึ่งแห่งใดนอกจากนายคลองยอมให้ลงเปนอันขาดทีเดียว แลห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดพาสมัคพัคพวกถือเครื่องสาตราวุธไปมั่วสุมชุมนุมที่ในลำคลองแลริมตลิ่งคลองแห่งหนึ่งแห่งใดให้เกิดกำหนดใน ๒๐ คนขึ้นไป แลห้ามมิให้พวกหนึ่งพวกใดถือเครื่องสาตราวุธเดินไปมาที่ริมคลิ่งคลอง แลไปเรือในลำคลองแห่งหนึ่งแห่งใด ที่เปนพวกเกี่ยวกันมากกว่า ๒๐ คนขึ้นไปเปนอันขาดทีเดียว ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมิฟัง ขืนทำให้ผิดธรรมเนียมที่ประกาศไว้ จะเอาตัวเปนโทษ ประการหนึ่ง นายคลองแลผู้ตรวจตรารักษาคลองต้องมีตรา แลเครื่องแต่งตัว แลเครื่องสาตราวุธ แลเรือธงสำหรับตัวให้เปนที่สังเกตุของอาณาประชาราษฎรจะได้รู้ว่าเปนผู้ตรวจตรารักษาคลอง แลนายคลองต้องรักษาคลองโดยยุติธรรม ถ้าแลนายคลองผู้ตรวจตรารักษาคลองกระทำความข่มขี่ข่มเหงประชาราษฎรนอกธรรมเนียม ๑๐ ข้อนี้ไป ให้ราษฎรได้ความขัดขวางเดือดร้อนแต่ข้อหนึ่งข้อใด จะเอาตัวนายคลองเปนโทษ ธรรมเนียม ๑๐ มาตรานี้ก็ยังไม่ถ้วนถี่ดีทีเดียว ถ้าตั้งธรรมเนียมนี้ลงแล้ว ๖ เดือน ฤๅปีหนึ่ง ๒ ปี เหนว่าข้อความสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ควรจะยกเสียฤๅเติมลง จะต้องยอมให้ยกให้เติมตามสมควร แลยังมีความไขข้อออกจากธรรมเนียมนี้อีก ๑๐ ข้อ เปนกฎหมายสำหรับให้นายคลองชำระตัดสินความของราษฎรซึ่งวิวาทกันในลำคลองแลริมตลิ่งคลองขึ้นไปเส้น ๑ ๒ เส้น ๓ เส้นตามสมควร ตั้งแต่วันออกหมายประกาศทำธรรมเนียมคลองนี้ไปสองเดือน ถ้าแลผู้ใดไม่ระวัง ทำให้ผิดธรรมเนียมคลองใน ๑๐ มาตรานี้แต่ข้อหนึ่งข้อใด นายคลองแลผู้ตรวจตรารักษาคลองพบปะจับได้ จะปรับเอาตามพิกัตที่ตัดสินไว้ ๑๐ ข้อดังนี้ ๚ะ

ประกาศมาณวันพฤหัศบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมเมีย โทศก ศักราช ๑๒๓๒ เปนวันที่ ๖๖๗ ในรัชกาลประจุบันนี้