ประกาศ
ว่าด้วยสารกรมธรรมให้ประทับตราอำเภอ

เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ สมันตพงษพิสุทธิ มหาบุรุศย์รัตนโนม ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดิน รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ประกาศแก่พระบรมวงษานุวงษ์เจ้าต่างกรมแลยังไม่ได้ตั้งกรมฝ่ายน่าฝ่ายใน ข้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวังแลพระราชวังบวร ผู้รักษาเมืองกรมการแลราษฎรหัวเมืองเอกโทตรีจัตวาฝ่ายไต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงทั่วกัน ด้วยข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎรผู้มีคดีทำเรื่องราวฎีกาแลทำขัดข้องร้องทุกข์ด้วยนายเงินกับทาษวิวาทต่อสู่สารกรมธรรมอยู่ในโรงศาลชุกชมหลายเรื่องหลายราย บางทีทาษต่อสู้ทำหนังสือประทวนต่างสารกรมธรรมเอาเอง ว่าได้ส่งเงินให้แก่นายเงิย แลซักซ้อมจ้างบนพยานให้รับสมอ้าง บางทีทาษรู้ว่า ผู้เขียนสารกรมธรรมหลบหนีตาย เจ้าทาษจะอ้างพยานไม่ได้ ก็ต่อสู้ว่าไม่ได้เปนทาษ บางทีไม่ได้เปนทาษ ทำสารกรมธรรมสมยอมว่าเปนทาษ ทำหางว่าวไปยื่นกรมพระสุรัศวดีให้สักไว้เปนทาษ ครั้นสักแล้วก็คืนสารกรมธรรม ปล่อยตัวไป บางทีทาษค่าตัวน้อย นายเงินกดขี่ให้ทำสารกรมธรรมให้เงินมากขึ้นไป ทาษกลัวก็ต้องจำใจทำให้ก็มีบ้าง แลนายเงินกับทาษคิดอุบายยักย้ายฉ้อกันหลายอย่างต่าง ๆ มีอยู่โดยมาก ยากที่จะพิจารณาได้ความจริง เพราะช่วยไถ่ขายตัวหามีที่คำนับให้รู้เหนเปนพยานไม่ แลพระราชกำหนดกฎหมายแต่ก่อนก็มีอยู่ว่า ถ้าผู้ใดเข็นใจขาดแคลนไม่คุ้นเคยกัน ก็ให้ผู้ช่วยไถ่พาผู้ขายนายประกันเรือนเบี้ยไปยังลูกขุนณศาลหลวง ให้ซักไซ้ไล่เลียงผู้ขายนายประกันเรือนเบี้ย ถ้าไม่ได้เปนลูกเมียคาไทยของผู้ใด ก็ให้ช่วยไถ่กันไว้ ประการหนึ่ง ถ้าเจ้าเบี้ยนายเงินผู้จะช่วยไถ่กับผู้ขายนายประกันเรือนเบี้ยตั้งบ้านเรือนอยู่ไกลพระนคร แลบ้านไกลเจ้าเมืองกรมการ ยากที่จะไปจะมาช่วยไถ่กันไว้ ก็ให้ผู้ช่วยไถ่พาผู้ขายนายประกันเรือนเบี้ยไปให้กำนันพันทนายบ้านอำเภอรู้เหนเปนคำนับแล้วจึ่งให้ช่วยไถ่กันไว้ สืบไปภายน่าถึงลูกหนี้จะต่อสู้เจ้าหนี้ ตระลาการพิจารณาว่ากล่าว ก็จะได้ความจริงโดยสดวก พระราชกำหนดกฎหมายมีอยู่แต่ก่อนดังนี้ แลนายเงินกับทาษละเลยเสียไม่ทำตามพระราชกำหนด จึงเกิดความวิวาท ทาษกับนายเงินจึ่งได้ต่อสู้เปนความกัน เพราะจะช่วยไถ่ไม่คำนับกำนันแลอำเภอ ประการหนึ่ง หนังสือสารกรมธรรมทาษ หนังสือกรมธรรมลูกหนี้ หนังสือจำนำ แลหนังสือสัญญาทั้งปวง แต่ก่อนเขียนด้วยดินสอลงสมุดกระดาดลบแปลงง่าย ถ้าเขียนด้วยเส้นหมึกน้ำดำก็จะลบเปลงยาก นายเงินกับทาษแลเจ้าหนี้แลลูกหนี้วิวาทต่อสู้สารกรมธรรมแลหนังสือสัญญาต่าง ๆ ก็จะเบาบางน้ยอลง ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อน่า

ข้อว่า ถ้านายเงินจะช่วยไถ่ทาษ ห้ามมิให้เขียนสารกรมธรรม หนังสือประทวนต่างสารกรมธรรม หนังสือรับเรือนนายประกัน ด้วยดินสอเหมือนอย่างแต่ก่อน ให้เขียนด้วยเส้นหมึกน้ำดำลงกระดาด แต่ศักราชปีเดือนเรือนเงินอย่าให้เขียนเปนตัวเลข ให้เขียนเปนตัวอักษร แล้วให้นายเงินพาผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนตัวนายประกันกับตัวทาษไปพร้อมกันที่บ้านอำเภอกำนัน ถ้านายเงินมีบันดาศักดิ์ ให้หาอำเภอไปที่บ้านก็ได้ ฤๅนายเงินจะให้ผู้ใดคุมสารกรมธรรมพาผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนรับตัวนายประกันตัวทาษไปที่บ้านอำเภอกำนัน ให้อำเภอกำนันซักถาม ถ้ารับถูกต้องกันแล้ว ให้เขียนลงชื่ออำเภอกำนันว่า ได้ถามถูกต้องตามสารกรมธรรม หนังสือประกัน หนังสือประทวน หนังสือรับเรือน หนังสือรับตัวนายประกัน แล้วให้ผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนตัวนายประกันเขียนลงชื่อไว้ท้ายหนังสือเปนสำคัญ ถ้าผู้ขายนายประกันผู้รับตัวรับเรือนนายประกันแลตัวทาษเขียนหนังสือไม่ได้ ให้วานญาติพี่น้องพวกพ้องลงชื่อแทนต่อน่าอำเภอกำนันจงทุกราย แล้วให้อำเภอกำนันประทับตราประจำศก ประจำชื่อ แลเรือนเงินเปนสำคัญ แล้วให้คืนหนังสือซึ่งได้ประทับตราให้นายเงินไป ถึงมาทว่าผู้เขียนหลบหนีตาย ก็จะได้เอาอำเภอกำนันเปนพยานอีกชั้นหนึ่ง ให้เอาอำเภอกำนันเรียกเอาเงินค่าประทับตราที่ได้เปนพยานแก่ตัวทาษชั่งละสลึง ถึงต่ำกว่าชั่งลงมา ก็ให้เรียกสลึงหนึ่ง ถ้าเงินมากหลายชั่ง ก็ให้เรียกเอาค่าประทับตราแต่ชั่งละสลึงตามจำนวนเงินมาก ถ้าอำเภอกำนันประทับตราไปแล้ว ให้อำเภอกำนันลงบาญชีเปนฉบบ วันเดือนปีขึ้นแรม แลชื่อนายเงิน ชื่อทาษ เก็บไว้เปนคู่มือต่อไป ถ้าอำเภอกำนันตาย ฤๅจะเปลี่ยนอำเภอกำนันใหม่ จะได้รับฉบบบาญชีนั้นเปนพยานความ ถ้านายอำเภอจะช่วยทาษ ก็ให้ภาไปพร้อมกันที่บ้านอำเภอกำนันที่อื่นให้ซักถาม ถ้ารับถูกต้องกันแล้ว ก็ให้อำเภอกำนันที่มิได้เปนเจ้าทาษนั้น จดหมายประทับตราให้เปนสำคัญ ถ้าทาษแลผู้ขายจะขึ้นเงินค่าตัวต่อนายเงิน ก็ให้หาผู้เขียนมาสักหลังสารกรมธรรมด้วยหมึกน้ำดำรวมเงินสิบตำลึงขึ้นไป แลสารกรมธรรม หนังสือประกัน หนังสือรับตัว หนังสือรับเรือนนายประกันทาษเดิมที่เขียนด้วยดินสอนายเงินเก็บรักษาไว้นั้น ให้เปลี่ยนเขียนด้วยหมึกน้ำดำใหม่ ก็ให้นายเงินเสียค่าประทับตราแทนตัวทาษจงทุกราย ด้วยทาษเปนคนยากจน ถ้านายเงินไม่ออกเงินเปลี่ยนสารกรมธรรมไปประทับตราอำเภอกำนันเปนพยานแล้วล่วงพ้นกำหนดไป จะมาฟ้องโรงศาลเอาเปนสำคัญไม่ได้

ข้อว่า ถ้าผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนหนีตาย ก็ให้นายเงินกับตัวทาษเอาสารกรมธรรมไปยังอำเภอกำนันทำสารกรมธรรมใหม่ ให้จดหมายลงในสารกรมธรรมใหม่ว่า ผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนได้ขายได้ประกันแลรับเรือนายประกันอ้ายอี่มีชื่อไว้แต่ปีนั้น เดือนนั้น ศักราชเท่านั้น ผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนหนีตาย แล้วให้ประทับตราให้ไว้แก่นายเงินเปนสำคัญ

ข้อว่า สารกรมธรรมเดิมที่เขียนด้วยเส้นดินสอ ทาษเข้าชื่อหลายคน สารกรมธรรมฉบับเดียว เรือนเงินระคนกันบ้าง หนีบ้าง ตายบ้าง ก็ให้นายเงินกับตัวทาษที่ยังอยู่มาทำสารกรมธรรมใหม่ แบ่งค่าตัวส่วนผู้ตายผู้ยัง พร้อมด้วยอำเภอกำนัน

ข้อว่า ถ้าผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนอยู่บ้านเมืองไกล ก็ให้นายเงินพาตัวทาษไปทำสารกรมธรรมใหม่ ให้จดหมายไว้เปนสำคัญ แต่ให้คงชื่อผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนตามสารกรมธรรมเดิม ถ้าผู้ขายนายประกันผู้รับเรือนกลับมา ก็ให้นายเงินพาตัวไปให้อำเภอกำนันถามปากคำ ถ้ารับถูกต้อง ให้จดหมายเขียนอักษรลงลายมือประทับตราอำเภอกำนันไว้ในสารกรมธรรมเปนสำคัญ ห้ามอย่าให้อำเภอกำนันเรียกเอาเงินค่าประทับตราอีกเปนสองซ้ำ ถ้าตัวทาษหนีนายเงินติดตามยังไม่ได้ตัวก็ดี แลทาษกับนายเงินที่เปนความค้างอยู่ณโรงศาลกรมใดก็ดี ให้นายเงินแลตระลาการพาโจทย์จำเลยเอาสารกรมธรรมแลหนังสือประกันทาษ หนังสือรับเรือนนายประกัน หนังสือประทวน ไปยังอำเภอกำนัน ให้อำเภอกำนันจดหมายว่า ตัวทาษหนีแลยังเปนความกันอยู่ แล้วให้เอากระดาดจดหมายนั้นติดต่อกับสารกรมธรรม ประทับตราของอำเภอกำนันประจำต่อไว้เปนสำคัญ ถ้าได้ตัวทาษที่หนีแลคดีเสร็จกันแล้ว ให้พาทาษมาเปลี่ยนสารกรมธรรม หนังสือประกัน หนังสือรับเรือนนายประกัน หนังสือประทวนใหม่ ไปประทับตราอำเภอกำนันตามหมายประกาศ

ข้อว่า ถ้าสารกรมธรรม หนังสือประกัน หนังสือรับเรือน หนังสือประทวนทาษเดิมที่เขียนด้วยเส้นดินสอนั้น ให้นายเงินรีบเร่งทำสารกรมธรรมใหม่ไปประทับตราอำเภอกำนันตั้งแต่วันออกหมายประกาศไป ๑๒ เดือนครบปีถึงเดือนสิบเอ็จ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมแม ตรีศก เปนสิ้นกำหนด ให้เสร็จตามกำหนดจงทุกราย ถ้าสารกรมธรรม หนังสือประกัน หนังสือรับตัวนายประกัน หนังสือรับเรือนนายประกัน หนังสือประทวนทาษที่อยู่ที่หนีที่ต้องคดีค้างโรงศาล ซึ่งเขียนด้วยดินสอไว้แต่ก่อนนั้น มิได้เปลี่ยนเขียนหมึกน้ำดำลงกระดาดใหม่ ให้อำเภอกำนันจดหมายประทับตราเปนสำคัญ ถึงนานไปนายเงินจับตัวทาษได้ แลว่าความกับทาษเสร็จกันแล้ว จะมาอายัดแลฟ้องณโรงศาลกรมใด ๆ ก็อย่าให้เจ้ากระทรวงรับไว้ชำระว่ากล่าวต่อไป เพราะด้วยนายเงินไม่ทำตามหมายประกาศ

ข้อว่า ถ้าอำเภอกำนันผู้ซึ่งได้ประทับตราสารกรมธรรมนั้น ถ้าในกรุงเทพฯ ฝั่งตวันออก ให้เจ้ากรมกองตระเวนขวา ถ้าในกรุงเทพฯ ฝั่งตวันตก ให้เจ้ากรมกองตระเวนซ้าย บังคับให้อำเภอกำนันเขียนลงชื่อไว้ว่า ชื่อนั้น อยู่บ้านนั้นตำบลนั้น ใช้ตรารูปอย่างนั้น ให้เอาดวงตราประทับชื่ออำเภอกำนัน ให้เจ้ากรมกองตระเวนขวาซ้ายยึดไว้เปนสำคัญ ถ้าหัวเมือง ก็ให้อำเภอกำนันเอาดวงตราประทับชื่อให้ผู้รักษาเมืองยึดไว้เปนสำคัญ

ข้อว่า นายเงิน แลผู้ขาย นายประกัน ตัวทาษ เอาสารกรมธรรม แลหนังสือประกัน หนังสือประทวน หนังสือรับตัวนายประกัน หนังสือรับเรือนนายประกัน ไปให้อำเภอกำนันประทับตรา แลจะทำสารกรมธรรมใหม่ ถ้าถุ้มเถียงกันด้วยต้นเงินดอกเบี้ยว่ามากน้อย ยังไม่ยอมให้ประทับตรา ก็ให้อำเภอกำนันพาตัวไปยังเจ้ากรมกองตระเวนแลผู้รักษาเมืองเปรียบเทียบตัดสินให้แล้วโดยเร็ว ถ้าตกลงแล้ว ให้อำเภอกำนันประทับตราสารกรมธรรมส่งให้นายเงินไป ห้ามอย่าให้เจ้ากรมกองตระเวนแลผู้รักษาเมืองอำเภอกำนันเรียกค่าฤชาแก่นายเงิน นายประกัน ผู้รับตัว ผู้รับเรือน นายประกัน ตัวทาษ ให้ได้ความเดือดร้อนขึ้นได้ ถ้าเจ้ากรมกองตระเวนแลผู้รักษาเมืองว่ากล่าวเปรียบเทียบไม่ตกลง ก็ให้นายเงินแลผู้ขายนายประกันทาษไปร้องฟ้องว่ากล่าวณโรงศาลตามกระทรวง

ข้อว่า หนังสือกรมธรรมกู้ หนังสือประกัน หนังสือจำนำ หนังสือสัญญาสวิญญาณกะทรัพย์และอวิญญาณกะทรัพย์ที่เขียนด้วยดินสอลงกระดาดต่าง ๆ ไว้แต่ก่อนนั้น ก็ให้เร่งเปลี่ยนเขียนใหม่ด้วยหมึกน้ำดำให้แล้วตามกำหนดหมายประกาศ ไม่ต้องประทับตราอำเภอกำนันก็ใช้ได้ ถ้าหนังสือประกันความ หนังสือยอมความ ระวางใบสัจ คำปฤกษาตัดสิน หนังสือผัด หนังสือนัด หนังสือทานบล ณโรงศาลกรมใด ๆ จะเขียนด้วยหมึกน้ำดำฤๅดินสอลงกระดาดต่าง ๆ อย่างเดิมมาแต่ก่อน ก็ใช้ได้แต่ระวางใบสัจ คำปฤกษาตัดสิน ที่ข้อลงโทษข้อปรับไหมนั้น ถ้าเปนกระดาด ให้เขียนด้วยหมึกน้ำดำ ถ้าเปนสมุด ก็ให้เขียนด้วยรงด้วยฝุ่น ถึงจะมีผู้ดัดแปลงได้ก็โดยยาก โจทย์จำเลยจะได้เปนที่ไว้วางใจไม่วิวาทต่อกัน

ข้อว่า ห้ามอย่าให้อำเภอกำนันเจ้าพนักงานประทับตราหน่วงเหนี่ยวไว้ให้เนิ่นช้าเหนแก่สินจ้างสินบน แลเรียกเอาเงินค่าตราเกินพิกัดขึ้นไป ทำให้นายเงินกับทาษได้ความเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปนอันขาดทีเดียว ถ้ากำนันแลอำเภอคิดอุบายยักย้ายต่าง ๆ เอาสินจ้างสินบนแก่แก่นายเงินแลตัวทาษประการใด แลหน่วงเหนี่ยวไว้ให้เนิ่นช้า เรียกเอาเงินค่าตราเกินพิกัด มีผู้มาร้องฟ้องพิจารณาเปนสัจ จะปรับไหมมีโทษแก่อำเภอกำนันตามโทษานุโทษ

ประกาศมาณวันพฤหัศบดี เดือนสิบ แรมสิบสามค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๒ ปีมเมีย โทศก ๚ะ