กฎหมายไทยฯ/เล่ม 5/เรื่อง 307

พระราชบัญญัติ
ตั้งศาลรับสั่งเปนการพิเศษครั้งหนึ่ง
สำหรับชำระคนในบังคับสยาม
ที่ต้องหาว่า
กระทำความร้ายผิดกฎหมาย
ที่ทุ่งเชียงคำ แลที่แก่งเจ๊ก
เมืองคำมวญ

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูลสุรสิงหนาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

ได้ทรงพระราชคำนึงถึงความข้อ ๓ ในหนังสือสัญญาคอนเวนชันที่ได้ทำกันไว้ในระหว่างอรรคราชทูตผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายสยามกับฝ่ายฝรั่งเสศเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ นั้นแล้ว

ด้วยคนในบังคับสยามบางคนต้องหาว่ากระทำความร้ายผิดกฎหมายต่อคนในบังคับฝรั่งเสศแห่งหนึ่งที่ทุ่งเชียงคำเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๐

อีกแห่งหนึ่งที่แก่งเจ๊กเมืองคำมวญเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ นั้น

แลมีพระบรมราชประสงค์ว่า จะให้ได้กระทำตามความที่ได้สัญญาไว้ในฝ่ายไทยให้สำเร็จโดยเต็มโดยตรงทั้งสิ้น แลถ้าความร้ายผิดกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะได้ความมีหลักถานว่า คนในบังคับสยามผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำแล้ว ก็ให้มีโทษตามโทษานุโทษฉนี้

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ คือ

ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยตั้งศาล

ข้อว่าให้ตั้งศาลรับสั่งพิเศษคราวหนึ่งขึ้น มีอธิบดีผู้พิพากษาใหญ่ผู้หนึ่ง กับผู้พิพากษารอง ๖ นาย พร้อมกันชำระตัดสินความตามกฎหมายแลตามความจริง เพื่อสำหรับพิจารณาคนในบังคับสยามผู้ต้องหาว่ากระทำความร้ายผิดกฎหมายต่อคนในบังคับฝรั่งเสศในกาลแลเทศอันได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ศาลนี้ให้เรียกว่า ศาลรับสั่งพิเศษสำหรับชำระความที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ แลแก่งเจ๊ก เมืองคำมวญ

ข้อผู้ที่มีนามต่อไปนี้ ให้เปนอธิบดีผู้พิพากษาใหญ่แลผู้พิพากษารองโดยลำดับกันในศาลอันกล่าวมาแล้วนั้น ดังนี้

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีผู้พิพากษา
พระยาสีหราชเดโชไชย ผู้พิพากษารอง
พระยาอภัยรณฤทธิ์ ผู้พิพากษารอง
พระยาเทเวศรวงษวิวัฒน์ ผู้พิพากษารอง
พระยาธรรมสารนิตติ์ ผู้พิพากษารอง
พระยาธรรมสารเนตติ ผู้พิพากษารอง
พระยาฤทธิรงค์รณเฉท ผู้พิพากษารอง

ข้อผู้มีนามต่อไปนี้ ให้เป็นผู้กระทำการในศาลอันกล่าวมาแล้วในตำแหน่งทนายแผ่นดิน คือ หลวงสุนทรโกษา กับนายหัสบำเรอหุ้มแพร

ข้อบันดาผู้ที่ได้รับตำหห่งตามความข้อ ๒ แลข้อ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้กระทำการตลอดเวลาที่จำเปนจะต้องพิจารณาแลตัดสินคะดีความทั้งหลายที่ว่ามาในข้อ ๑ นั้นจนแล้วเสร็จ แต่เพื่อจะป้องกันเหตุป่วยไข้อันตรายด้วยประการใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาจะไม่สามารถมากระทำการให้เต็มน่าที่ได้จนตลอดเวลาตัดสินแล้ว ให้ผู้แทนเสนาบดีว่าการยุติธรรมมีอำนาจจัดสรรเอาผู้อื่นในพวกอธิบดีผู้พิพากษาฤๅผู้พิพากษารองในศาลทั้ง ๗ ที่สนามสถิตย์ยุติธรรมณกรุงเทพฯ นี้ ๒ นาย ๓ นายไปนั่งฟังความไห้รู้เรื่องตลอด สำหรับที่จะได้รับตำแหน่งแทนผู้ที่มีเหตุมานั่งศาลไม่ได้ด้วย

ข้อ ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลนี้มีอำนาจที่จะกำหนดที่ซึ่งจะนั่งศาลชำระความ แลที่จะตั้งผู้ซึ่งจะกระทำการเวลาหนึ่งเปนยกระบัตรศาล เปนเสมียน เปนล่าม เปนนักการ แลเปนพนักงานต่าง ๆ สำหรับกับศาลนี้ แลที่จะกำหนดน่าที่แลเงินบำเหน็จของพนักงานทั้งปวงนี้ด้วย

ส่วนที่ ๒ วิธีชั้นต้น

ข้อบันดาหนังสือสำคัญทั้งหลาย หนังสือโต้ตอบไปมา ใบบอกรายงานในราชการ แลว่าทั่วไปบันดาข้อความที่จะใช้ในศาลได้อันเปนความเกี่ยวข้องกับคะดีทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ซึ่งราชาธิปตัยได้มีอยู่ฤๅจะได้มีต่อไปก็ดี ฤๅซึ่งราชทูตริปับลิกฝรั่งเสศได้ส่งแล้วฤๅจะได้ส่งมายังเสนาบดีว่าการต่างประเทศนั้นก็ดี ให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศส่งให้แก่ทนายแผ่นดินผู้ที่ได้รับตำแหน่งตามความข้อ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้

ข้อเมื่อได้รับแลได้อ่านหนังสือทั้งปวงที่กล่าวมาในข้อ ๖ แลได้ปฤกษาหาฤๅในเรื่องนี้กับผู้แทนพิเศษรับตำแหน่งมาแต่คอเวอนแมนต์ริปับลิกฝรั่งเสศตามความข้อ ๓ ในหนังสือคอนเวนชัน ลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ นั้นแล้ว ทนายแผ่นดินจะได้ร่างส่งต่ออธิบดีผู้พิพากษาเปนคำหาสองฉบับ ๆ หนึ่งว่าด้วยคะดีที่ทุ่งเชียงคำ อีกฉบับหนึ่งว่าด้วยคะดีที่แก่งเจ๊ก เมืองคำมวญ ในคำหา ๒ ฉบับนี้ต้องให้มี

ชื่อผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความร้ายผิดกฎหมาย

ความร้ายผิดกฎหมายที่ว่าผู้นั้น ๆ ได้กระทำ

โทษซึ่งจะมีแก่ผู้ที่ได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายนั้น ๆ ตามพระราชกำหนดกฎหมายฝ่ายสยาม

ข้อภายในกำหนดสามวันตั้งแต่ได้รับคำหาทั้งสองฤๅฉบับใดฉบับหนึ่งแล้วก็ดี ให้อธิบดีผู้พิพากษาออกหมายเกาะตัวผู้ต้องหาไว้ แลในคะณะเดียวกันนั้น ให้กำหนดวันเวลาโดยเร็วพอสมควรที่จะเรียกตัวผู้ต้องหามาพิจารณายังน่าศาลให้ ๆ การแก้ข้อความที่กล่าวโทษหาผิดของผู้นั้น กำหนดวันเวลานี้ให้บอกล่วงน่าโดยเวลาสมควรให้ทูตฝรั่งเสศกับผู้แทนพิเศษของริปับลิกฝรั่งเสศทราบด้วย

ส่วนที่ ๓ การพิจารณา

ข้อณวันที่กำหนดนัดนั้น เมื่อได้ตัวผู้ที่ต้องหามายังศาลแลได้ตรวจสอบสวนไม่ผิดตัวแล้ว ในทันทีนั้น จะได้อ่านคำหาแลคำให้การฤๅคำพยานอื่น ๆ ซึ่งได้นำมาว่าความหาเอาผิดนั้นให้ผู้ต้องหาฟัง ถ้าคำหาเหล่านั้นได้เขียนมาเปนภาษาต่างประเทศแลผู้ต้องหานั้นต้องการจะฟัง ก็ให้แปลออกเปนภาษาไทยด้วย แล้วอธิบดีในศาลนั้นจะได้ถามผู้ต้องหาว่า จะให้การแก้คำหาเปนประการใดบ้าง คำที่ผู้ต้องหากล่าวคำใด ๆ จะได้จดลงไว้แลอ่านสอบทานให้ถูกต้องแล้วจะใช้เปนหลักถานในการที่ผู้ต้องหาจะพิรุธ์นั้นไม่ต้องสืบพยานอื่นประกอบอีกก็ได้ ถ้าผู้ต้องหารับตามคำหาแลไม่ได้ให้การต่อสู้ฤๅไม่ได้ยกเหตุที่ควรลดหย่อนโทษขึ้นให้การแก้แล้ว ศาลก็พึงฟังเอาเปนสัตยแลตัดสินได้ตามนั้น

ถ้าผู้ต้องหาผู้เดียวฤๅหลายคนก็ดีจะหลบหลีกหนีรอดไปฤๅไม่มายังศาลอีกต่อไป พ้นกำหนดสิบวันแล้ว ให้ศาลพิจารณาความต่อไปเสมอเหมือนกับผู้นั้นได้อยู่ในศาลแลไม่ได้ให้การต่อสู้ฤๅไม่ได้ยกเหตุที่ควรลดหย่อนโทษขึ้นให้การแก้นั้นเหมือนกัน

ข้อ๑๐ให้ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งต้องหานั้นมีอำนาจที่จะแต่งทนายช่วยสู้ความได้นายหนึ่งฤๅหลายนาย แต่ทนายนั้นต้องเปนผู้มีคุณสมบัติอันได้ยอมให้ว่าความในศาลฝ่ายสยามนั้นด้วย แลผู้ต้องหานั้นจะได้รับอนุญาตให้ตัวเองฤๅทนายฃองผู้นั้นให้การแก้คำหาให้เต็มข้อความ แลให้การซักไซร้พยานคนใดคนหนึ่งซึ่งเปนพยานข้างฝ่ายอื่นได้ แลสืบถามพยานฤๅคำพยานอันใดที่จะสู้ความของตนได้ ให้ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหาส่งรายชื่อพยานของตนนั้นให้แก่ทนายแผ่นดินทราบด้วย

ข้อ๑๑เมื่อผู้ต้องหาได้ให้การแก้คำหาเสร็จแล้ว ทนายแผ่นดินผู้หนึ่งจะได้อ่านรายชื่อพยานผู้ซึ่งทนายแผ่นดิน ฤๅผู้แทนริปับลิกฝรั่งเสศ ฤๅผู้ต้องหาจะขอให้นำมาเบิกความในศาลนั้น แล้วอธิบดีผู้พิพากษาจะได้เรียกพยานเหล่านั้นมาตามลำดับชื่อ แล้วจะได้มีคำสั่งให้ออกไปพักอยู่ยังห้องสำหรับพยานที่จะได้รอคอยอยู่จนกว่าจะได้เรียกเข้าไปเบิกความในศาลนั้น

ข้อ๑๒พยานทุก ๆ คนจะได้เรียกให้มาเบิกความแยกกันทีละคน แลอธิบดีผู้พิพากษาจะได้วินิจฉัยว่า จะเรียกพยานคนใดมาเบิกความก่อนแลหลังตามลำดับกัน

ข้อ๑๓คำพยานทุก ๆ คำจะได้เปนคำอันสาบาลตามแบบฤๅตามวิธีซึ่งพยานนั้นปฏิญาณว่าเปนที่นับถือผูกรัดในใจของพยานนั้นแล้ว

ข้อ๑๔ทนายแผ่นดินแลผู้แทนริปับลิกฝรั่งเสศจะซักไซ้พยานคนใดคนหนึ่งซึ่งผู้ต้องหานำมาสืบนั้นก็ได้

ข้อ๑๕คำพยานอันใดที่ได้มาเบิกความในศาลเปนภาษาที่ผู้ต้องหาไม่เข้าใจแล้วก็ให้ล่ามแปลให้ฟังในเวลาที่เบิกความในศาลนั้น

คำพยานอันใดที่ได้มาเบิกความเปนสยามภาษาฤๅเปนภาษาอื่นในทวีปอาเซียแล้วจะได้แปลเปนภาษาฝรั่งเสศในเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งผู้แทนริปับลิกฝรั่งเสศปราถนาจะให้แปล

ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาก็ดี ฤๅผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งได้ให้การเปนคำพยานเขียนไว้ฤๅเบิกความด้วยปากก็ดี เปนล่ามในคะดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งในศาลนี้

ข้อ๑๖ในเวลาชำระความนี้ ศาลจะเหนสมควรเองฤๅคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอก็ดี ให้ศาลหมายเรียกคนในบังคับไทยมาให้การเปนพยานฤๅให้นำหนังสือสำคัญอันใดมา ฤๅจะซักถามผู้นั้นก็ได้ แลถ้าเปนการจำเปน ศาลจะออกหมายให้เกาะกุมผู้นั้นมาก็ได้

ข้อ๑๗ถ้าความปรากฎเห็นว่า คนในบังคับต่างประเทศจะเบิกความเปนแก่นสารในคำพยานฃองฝ่ายโจทย์ฤๅฝ่ายจำเลยก็ดี ศาลจะขอให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศจัดการตามความที่จำเปนจะต้องคิดกับราชทูตฤๅกงสุลต่างประเทศผู้ที่สมควรจะจัดได้เพื่อที่จะให้คนในบังคับต่างประเทศนั้นได้มายังศาลนี้ก็ได้ เงินค่าเดินทางแลค่าใช้สอยอื่น ๆ ของพยานเหล่านี้จะได้จ่ายเงินหลวงให้

ข้อ๑๘ผู้ต้องหาจะร้องขอเมื่อพยานได้เบิกความแล้วนั้นว่า ให้พยานบางคนออกไปเสียนอกศาลก็ได้ แลจะร้องขอให้ถามพยานคนหนึ่งฤๅหลายคนอีกโดยถามทีละคนฤๅให้เบิกความยันกันต่อปากซึ่งกันแลกันก็ได้ อธิบดีผู้พิพากษาจะบังคับให้ก็ได้ แลทนายแผ่นดินจะร้องขอให้ทำอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน

ข้อ๑๙ถ้าหลายคนต้องหาในคะดีเรื่องเดียวกันแล้ว ในเวลาถามพยานอยู่ฤๅถามแล้วก็ดี อธิบดีผู้พิพากษาจะบังคับให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งฤๅหลายคนออกเสียนอกศาลก็ได้ แลจะแยกถามผู้ต้องหาทีละคนในเหตุการบางข้อในคะดีนั้นก็ได้ แต่เมื่อได้เรียกผู้ต้องหาที่ให้ออกไปนอกศาลนั้นกลับเข้ามายังน่าศาลคะณะใด อธิบดีผู้พิพากษาต้องบอกให้ผู้ต้องหานั้นทราบความที่พิจารณาได้ในเวลาผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในขณะนั้น

ข้อ๒๐อธิบดีผู้พิพากษาเปนผู้วินิจฉัยว่า จะลำดับข้อหาตามความที่ว่าเปนจริงหลายข้อต่อผู้ที่ต้องหาหลายคนในคดีอันเดียวกันนั้น ควรพิจารณาข้อใดก่อนแลหลัง

ข้อ๒๑เมื่อได้สืบสวนทวนพยานเสร็จแล้ว ทนายแผ่นดินจะได้ร่างจตหมายข้อปัณหาตามกฎหมายแลตามความจริงซึ่งศาลจะตัดสินให้ถูกต้องได้ ในการที่ทนายแผ่นดินจะทำนี้จะต้องฟังตามความเห็นซึ่งผู้แทนริปับลิกฝรั่งเสศจะพึงแจ้งความให้ทราบเพื่อเปนที่อุดหนุนในคำหานั้นด้วยแล้ว

ขณะนั้น ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหานั้นจะได้กระทำคำชี้แจงร้องต่อศาล แล้วถ้าทนายแผ่นดินเหนควร จะทำคำตอบร้องต่อศาลก็ได้ แต่คำท้ายที่สุดก่อนตัดสินนั้นให้เปนข้างผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหาได้กล่าวต่อน่าศาล แล้วจะได้เลิกนั่งศาลสำหรับไปปรับสัตย์ตัดสินกัน

ข้อ๒๒ให้อธิบดีผู้พิพากษามีอำนาจตามความที่จะคิดเหนชอบในการที่จะได้บังคับบัญชาให้การเปนไปโดยควร เพื่อที่จะให้ศาลคิดเหนการที่จะเอาใจตนไปใส่ในที่ลูกความได้แจ่มแจ้งชัดเจน แลเพื่อจะยกเลิกเสียซึ่งเหตุทั้งหลายอันปรากฎว่าเปนธรรมดาประวิงความโดยไม่มีผลกับการว่าความแลสู้ความนั้น

ข้อ๒๓เมื่อได้ลงมือชำระความครั้งหนึ่งแล้ว ก็ให้เปิดศาลพิจารณาต่อกันไป อย่าให้ต้องหยุดหย่อนที่ไม่จำเปน ให้ศาลกระทำการแต่เฉพาะในเรื่องความที่ตั้งศาลนี้ขึ้นแล้ว แลให้พิจารณาความต่อติดเนื่องกันไป อย่าให้ต้องหยุดยั้งโดยเหตุอื่นนอกจากการซึ่งเปนจตุปัตจัย คำตัดสินนั้นให้ได้อ่านในศาลที่เปิดเผย อย่างช้าที่สุดภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาพิจารณาความนั้นแล้วเสร็จ

ส่วนที่ ๔ การตัดสิน

ข้อ๒๔คำตัดสินนั้นให้เรียงลงไว้ แลให้ลงชื่ออธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษารอง ๖ นาย กับยกระบัตรศาลด้วย จะต้องมีคำวินิจฉัยวิสัชนาปัณหาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ต้องหาทั้งปวงนั้นตามความอย่างนี้

ผู้ต้องหามีผิดที่กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวหาข้อเดียวก็ดี หลายข้อก็ดีนั้น ฤๅไม่มีผิด

ถ้าว่ามีคำร้องยกเหตุอันควรทวีโทษต่อผู้ต้องหา ฤๅว่ามีคำยกเหตุอันควรลดหย่อยโทษแก่ผู้ต้องหาก็ดี ผู้ต้องหานั้นจะได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายในเหตุการอย่างเช่นว่านั้นฤๅไม่

ถ้าว่ามีคำให้การแก้แทนผู้ต้องหาว่ามีข้อที่กฎหมายยอมยกเว้นโทษให้เปนการแก้ตัวได้แล้ว ประการหนึ่ง ความจริงที่กล่าวอ้างเปนการแก้ตัวนั้นเปนอันได้พิสูตรเหนจริงแล้วฤๅไม่ อีกประการหนึ่ง ถ้าได้พิสูตรเหนจริงแล้ว ความจริงอันนั้นเปนอันกฎหมายยอมยกเว้นโทษให้เปนการแก้ตัวได้ฤๅไม่

ถ้าตามคำวินิจฉัยวิสัชนาข้อปัญหาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ปรากฎว่า ผู้ต้องหาไม่มีผิดในความร้ายผิดกฎหมายแล้ว เมื่อศาลอ่านคำตัดสินนั้น ในที่สุตจะได้แสดงว่า ผู้ต้องหาพ้นผิด แลให้ปล่อยตัวไป ถ้าการไม่เปนเช่นนั้น หากปรากฎว่า ผู้ต้องหานั้นมีเหตุควรทวีโทษฤๅไม่มีเหตุควรลดหย่อนโทษ แลไม่มีข้อแก้ตัวได้ตามกฎหมาย ได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวต่อผู้ต้องหาแล้ว ศาลจะได้ว่าโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่สำหรับความร้ายผิดกฎหมายนั้น ศาลจะบังคับให้ผู้ต้องหาที่เปนสัตย์ว่า ได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวหานั้นใช้เงินค่าฤชาธรรมเนียมแลค่าที่ใช้จ่ายในการชำระนั้นทั้งสิ้นฤๅแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้

ข้อ๒๕ศาลจะปฤกษาปรับสัตย์ในเนื้อความแลข้อความในคำตัดสินนั้นณะห้องที่สงัดในความทุกข้อทุกกระทง อธิบดีผู้พิพากษาจะต้องถามความเห็นเฉพาะตัวผู้พิพากษารองทุกนาย ตั้งต้นแต่ผู้ที่มีอายุมากกว่ากันก่อน อธิบดีผู้พิพากษาจะได้ออกความเห็นในที่สุด ข้อปัณหาอันใดอันหนึ่งจะพึงเปนอันไม่ได้ตัดสินตกลงเว้นไว้แต่ได้เห็นมากกว่ากันอย่างต่ำที่สุตก็ ๔ ความเหนใน ๗ คนนั้น ถ้ามีความเหนแตกต่างกันมากกว่าสองอย่างขึ้นไปในความเหนข้อเดียวกัน แลถ้าในความเห็นนั้นไม่เปนอันเห็นมากกว่ากันแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้พิพากษาผู้มีความเหนอันไม่ชอบอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ต้องหานั้นจำเปนต้องยอมตามความเหนอย่างอื่นทั้งปวง

อนึ่ง เปนพระบรมราชประสงค์แลเปนพระกระแสรับสั่งเฉพาะว่า ในการที่ผู้พิพากษาออกความเห็นต่อข้อปัณหาในกฎหมายแลในความจริงซึ่งจะต้องวินิจฉัยนั้น ผู้พิพากษาศาลนี้จงได้คิดตริตรองดูแต่โดยใจเย็น ๆ ในเหตุที่สมควร แลแต่โดยเอาใจของตนเข้าใส่ในใจของลูกความนั้น อย่าได้ปล่อยใจให้เหนผิดไปโดยอคติ เหนแก่หน้าบุทคลฤๅเหนแก่ชาติของผู้ใด ดังนี้แล้ว คำสัดสินของศาลจะได้เปนการที่สมได้ที่สุดกับความจริงแลความยุติธรรม

ส่วนที่ ๕ ความเพิ่มเติม

ข้อ๒๖ศาลที่จะนั่งชำระความก็ดี ฤๅสำหรับที่จะอ่านคำตัดสินก็ดี ให้เปนที่เปิดเผย อธิบดีผู้พิพากษามีอำนาจที่จะขับไล่ฤๅห้ามไม่ให้อยู่ในศาลบรรดาคนผู้ที่กีดขวางฤๅขัดขวางทางพิจารณาคดีในศาลนั้น

ข้อ๒๗ให้จัดการให้ผู้แทนคอเวอนแมนต์ฝรั่งเสศได้กระทำการตามอำนาจซึ่งได้มีในหนังสือสัญญาคอนเวนชัน ลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ที่จะมาศาลในการชำระความนั้นโดยสดวกทุกประการ

ข้อ๒๘ศาลรับสั่งพิเสศที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีตราสำหรับใช้ในศาลตามอย่างที่ผู้แทนเสนาบดีว่าการยุติธรรมจะมีหนังสือวางแบบไว้ให้ด้วย

ข้อ๒๙จดหมายเหตุของการชำระความนี้ให้เขียนไว้ แลให้ลงชื่ออธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษารอง กับยกระบัตรศาล แลประทับตราสำหรับศาลด้วย

จดหมายเหตุกับทั้งคำให้การพยานที่เขียนมาแลที่จดไว้ในเวลาเบิกความที่ศาลนั้น ให้รักษาไว้ณกองเก็บหนังสือของกระทรวงยุติธรรม

สำเนาจดหมายเหตุการชำระความแลคำพยานที่จัดไว้นั้น เมื่อได้ตัดสินแล้ว ให้ไปส่งยังราชทูตริปับลิกฝรั่งเสศด้วย

ประกาศมาแต่ณวัน ๕ ที่ ๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ เปนวันที่ ๙๒๒๑ ในรัชกาลปัตยุบันนี้