ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประชุมเพลงยาว ภาคที่ 3
อธิบายเพลงยาว
เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
พระนิพนธ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เพลงยาวนี้เป็นสำนวนผู้หญิงชาววังแต่ง เจ้าของเรียกว่า นิราศ แต่ที่แท้เป็นเรื่องจดหมายเหตุครั้งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรตั้งแต่เดือน ๔ ปีเถาะ เบญจศก พ.ศ. ๒๓๘๖ ประชวรอยู่ช้านานกว่า ๖ เดือน การรักษาพยาบาลกวดขัดแข็งแรง ด้วยเป็นพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเมตตามาก ผู้แต่งเพลงยาวเป็นข้าหลวงอยู่ในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ อยู่ที่ตำหนัก จึงจดหมายเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้เป็นกลอนเพลงยาว สำนวนที่แต่ง ว่าตามนิสัยใจคอของผู้หญิงก็จริง แต่เมื่อ่านพิจารณาดู เห็นว่า มีทางความรู้เรื่องโบราณคดีอยู่มาก ควรรรักษาไว้มิให้สูญเสีย

ผู้ที่แต่งเพลงยาวนี้ แม้ไม่บอกออกตัวไว้ให้ปรากฏตรง ๆ ก็รู้ได้โดยทางความในเพลงยาวกล่าวไว้ในที่แห่ง ๑ ว่า เป็นของคุณสุวรรณแต่งเป็นแน่นอน ไม่มีที่สงสัย คุณสุวรรณนี้เป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง) เป็นราชินีกูลบางช้าง ได้ความตามที่ปรากฏในเพลงยาวนี้ว่า แรกถวายตัวอยู่ในพระบรมมหาราชวังเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ ไปอยู่ในสำนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ คุณสุวรรณเห็นจะชอบแต่งกลอนมาตั้งแต่ยังสาว ไปอยู่ในวังได้ ๓ ปี แต่งเพลงยาวนี้ดูก็สันทันกลอนอยู่แล้ว แต่มามีชื่อเสียงเลื่องลือว่า ฟุ้งเฟื่องในกระบวนกลอนเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ด้วยมาในตอนปลาย คุณสุวรรณเสียจริต อาการที่เสียจริตก็วุ่นไปแต่ในกระบวนแต่งกลอนอย่างเดียว กลอนที่คุณสุวรรณแต่งเมื่อเสียจริตแล้ว บางทีก็ขบขันถึงท่อนจำกันได้จนทุกวันนี้ก็มี เช่น บทละคอน เรื่อง พระมเหลเถไถ คุณสุวรรณแต่งไว้ ดังนี้:—

  เมื่อนั้น พระมเหลเถไถมะไหลถา
สถิตย์ยังแท่นทองกะโปลา ศุขาปาลากะเปเล
วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก มเหลไถไพรพฤกษ์มฤกเข
คิดจะไปเที่ยวชมมะลมเต มเหลไถไพล่เผลทั้งสองรา ฯ
  ครั้นถึงจึงเข้าตะหลุดตุด ก้มเกล้าเค้าคุดตะหลาต๋า
มเหลไถกราบไหว้ทั้งสองรา จึงแจ้งกิจจามะเลาเตา
ตัวข้าชื่อว่ามเหลเถ ไม่สบายถ่ายเทกะเหงาเก๋า
จะกราบลาสองราหน้าเม้าเค้า เที่ยวไปชมเป่าพนาลี ฯ

บทละคอนนี้ขันที่ไม่เป็นภาษา แต่เข้าใจได้ดีว่า ความเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างดังตรงว่า "วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก" นี่ก็เข้าใจได้ว่า คือ "คิดขึ้นมา" ถ้าลองคิดต่อไปตรงว่า "ไม่สบายถ่ายเทมะเหงาเก๋า" ดูก็เข้าใจว่า คงไม่สบายถึงนั่งกอดเข่า ขันเช่นนี้จึงมักจำกันได้

คุณสุวรรณถึงแก่กรรมเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จะได้แต่งหนังสือไว้สักกี่เรื่องยังหาทราบไม่ แต่เพลงยาวจดหมายเหตุนี้มีอยู่ในสมุดเล่ม ๑ ซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณได้มา จึงคัดมาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้เป็นครั้งแรก.