การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคสอง/บทที่ 1

ภาคสอง
การปกครองแคว้นเขมร
บทที่ ๑
การปกครองส่วนกลางของแคว้นเขมร

ฝรั่งเศสได้แคว้นเขมรไปเป็นรัฐอารักขาโดยสนธิสัญญากับกษัตริย์เขมรซึ่งจำยอมอยู่ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น เขมรจึงได้รับการปฏิบัติจากฝรั่งเศสเช่นราชอาณาจักรในอารักขา และกษัตริย์เขมรยังคงเป็นประมุขของแคว้นอยู่โดยนิตินัย

ผู้ปกครองแคว้นเขมรโดยแท้จริง คือ เรสิดังต์สุเปริเออร์ชาวฝรั่งเศส เพราะแม้กษัตริย์จะมีอำนาจบริหารรัฐการแผ่นดินโดยราชโองการก็จริง แต่เรสิดังต์สุเปริเออร์ต้องเป็นผู้รับสนองราชโองการก่อน จึงจะใช้บังคับได้ ในทางปฏิบัติ เมื่อเรสิดังต์สุเปริเออร์ต้องการราชโองการใด ๆ ก็กราบทูลให้ลงพระนามในร่างราชโองการนั้น ๆ แล้วเรสิดังต์สุเปริเออร์จึงลงนามรับสนอง กล่าวได้ว่า เรสิดังต์สุเปริเออร์มีความสัมพันธ์กับกษัตริย์เขมรคล้าย ๆ กับเป็นนายกรัฐมนตรีของพระองค์ แต่หากเรสิดังต์สุเปริเออร์รับผิดชอบต่อผู้สำเร็จราชการอินโดจีนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงในฐานะเป็นผู้แทนรัฐบาลอินโดจีน เรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นเขมรมีอำนาจสิทธิขาดในทางปกครองบังคับบัญชาไม่น้อยไปกว่าเรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นลาวเลย

โดยที่เขมรยังมีสภาพเป็นราชอาณาจักรอยู่ ฝรั่งเศสจึงเรียกองค์การบริหารส่วนกลางว่า รัฐบาล (Gouvernement) และเขมรมีคณะรัฐมนตรีดังเช่นรัฐอิสสระเช่นนั้น คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ๕ กระทรวง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและการสาสนา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง คลัง และศิลปากร, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือ พาณิชย์ และเกษตราธิการ, และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและธรรมการ ซึ่งเป็นขุนนางเขมรทุกคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหล่านี้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นผู้ช่วย ซึ่งต้องเลือกจากข้ารัฐการชั้นอุดมมนตรี คณะรัฐมนตรีมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๑ นาย ซึ่งตั้งจากข้ารัฐการชั้นอุดมมนตรีหรือวอรักมนตรี และเลขานุการ ซึ่งตั้งจากข้ารัฐการชั้นวอรักมนตรีหรืออนุมนตรี เรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นเขมรเป็นนายกของคณะรัฐมนตรี คือ เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี กษัตริย์จะประทับฟังการประชุมก็ได้ คณะรัฐมนตรีอาจตั้งคณะกรรมาธิการประจำ (Commission Permanente) ขึ้นได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและการสาสนาเป็นประธานคณะกรรมาธิการนี้ เรสิดังต์สุเปริเออร์ตั้งข้ารัฐการพลเรือนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งประจำช่วยเหลืออยู่ในคณะรัฐมนตรีเขมร ที่ทำการรัฐบาลเขมรตั้งอยู่ที่พนมเป็ญ

เรสิดังต์สุเปริเออร์มีสภาที่ปรึกษารัฐการ ๓ สภา คือ

๑. Conseil de Protectorat (สภาแห่งรัฐอารักขา)ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นข้ารัฐการผู้ใหญ่ของแคว้นเขมร และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในกิจการปกครองทั่วไป เรสิดังต์สุเปริเออร์เป็นประธานโดยตำแหน่ง สภานี้เทียบได้กับ Conseil de Gouvernement ของรัฐบาลอินโดจีน

๒. Conseil des Intérêts Français Economiques et Financiers (สภาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการคลังของฝรั่งเศส) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกชาติฝรั่งเศส และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในทางเศรษฐกิจและการคลังของรัฐ สภาเลือกประธานขึ้นเองในหมู่สภาชิก

Assemblée Consultative Indigène (สภาที่ปรึกษาชาวพื้นเมือง) สภานี้ประกอบด้วยสมาชิกชาวพื้นเมือง และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์ ตามแต่เรสิดังต์สุเปริเออร์จะส่งเรื่องไปให้พิจารณา

แคว้นเขมรมีองค์การ เช่น Chambre de Commerce (หอการค้า) และ Chambre d'Agriculture (หอการเกษตรกรรม) ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของหอนั้น ๆ เช่นเดียวกับในแคว้นอื่น ๆ ของอินโดจีน

การแบ่งส่วนรัฐการในสำนักงานของเรสิดังต์สุเปริเออร์นั้น แบ่งเช่นเดียวกับในแคว้นลาว และตำแหน่งสูง ๆ ครองโดยชาวฝรั่งเศสเช่นกัน

โดยฉะเพาะข้ารัฐการพื้นเมืองซึ่งสังกัดส่วนกลางนั้น แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ก. กรมรัฐบาล มีหน้าที่ทางปกครอง

ข. กรมตุลาการ มีหน้าที่ทางตุลาการ

กรมรัฐบาลมีตำแหน่งดังนี้―

๑. อุดมมนตรี เทียบได้กับข้าราชการชั้นพิเศษของไทย

๒. วอรักมนตรี เทียบได้กับข้าราชการชั้นเอกหรือชั้นพิเศษของไทย

๓. อนุมนตรี เทียบได้กับข้าราชการชั้นโทของไทย

๔. กรมการ เทียบได้กับข้าราชการชั้นตรีของไทย

๕. ยกกระบัตร์ เทียบได้กับข้าราชการชั้นจัตวาหรือชั้นตรีของไทย

๖. เสมียน เทียบได้กับข้าราชการชั้นจัตวาของไทย

กรมตุลาการมีตำแหน่งดังนี้―

๑. กรรมการศาลฎีกา เทียบตำแหน่งอุดมมนตรี

๒. ผู้พิพากษาชั้นพิเศษและชั้นเอก เทียบตำแหน่งวอรักมนตรี

๓. ผู้พิพากษาชั้นโท เทียบตำแหน่งอนุมนตรี

๔. ผู้พิพากษาชั้นตรี เทียบตำแหน่งกรมการ

๕. จ่าศาล เทียบตำแหน่งยกกระบัตร์

๖. รองจ่าศาล เทียบตำแหน่งเสมียน

แคว้นเขมรมีงบประมาณโดยฉะเพาะของแคว้น และการทำงบประมาณอยู่ในอำนาจของเรสิดังต์สุเปริเออร์ งบประมาณรายได้ได้จากภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรงมีดังนี้

๑. ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวยุโรปและคนต่างด้าว

๒. ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวเขมรและชาวพื้นเมืองอื่น ๆ

๓. ภาษีรัชชูปการสำหรับชาวญวน

๔. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนคนต่างด้าวแก่ชาวจีนและอินเดีย

๕. ภาษีถ่ายแรงแทนเกณฑ์จ้างสำหรับชาวเขมรและคนพื้นเมืองอื่น ๆ

๖. ภาษีถ่ายแรงแทนเกณฑ์จ้างสำหรับชาวญวน คนต่างด้าวชาวเอเซีย และอื่น ๆ

๗. ภาษีเสริม

๘. ภาษีที่ดินซึ่งประกอบการกสิกรรมของชาวยุโรป ญวน คนต่างด้าวชาวเอเซีย และอื่น ๆ

๙. อากรค่านา

๑๐. ภาษีต้นตาล

๑๑. ภาษีพริกไทย

๑๒. ภาษีรถยนตร์และจักรยาน

๑๓. ภาษีโรงค้า

๑๔. ภาษีเรือ

๑๕. ค่าธรรมเนียมอนุญาตให้เดินทางและหนังสือเดินทาง

๑๖. ภาษีเครื่องมือจับสัตว์น้ำ

๑๗. ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้มีและใช้อาวุธปืน ค่าทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสำหรับสัตว์พาหนะ ฯลฯ

สำหรับภาษีทางอ้อม เก็บเช่นเดียวกันกับในแคว้นลาว.