การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคสอง/บทที่ 2

บทที่ ๒
การปกครองส่วนภูมภาคและส่วนท้องถิ่นของแคว้นเขมร

แคว้นเขมรจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเป็นดังนี้.—

๑.Province (จังหวัด)

๒.Khet (เขตต์)

๓.Srok (สรก)

๔.Khand (ขัณฑ์)

๕.Khum (คุ้ม)

การแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของแคว้นเขมร จะเปรียบเทียบกับไทยได้ดังนี้.—

เขมร ไทย
Province และเขตต์ จังหวัด
สรก อำเภอ
ขัณฑ์ ตำบล
คุ้ม หมู่บ้าน

จังหวัดของเขมรนั้นมีการปกครองผิดกับจังหวัดในแคว้นลาว คือ จังหวัด (Province) คงมีชาวฝรั่งเศสเป็นเรสิดังต์เดอฟรังส์ ซึ่งเทียบเท่ากับข้าหลวงประจำจังหวัดของไทย เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเช่นเดียวกันกับในแคว้นลาว แต่ในแคว้นเขมรยังกำหนดจังหวัดนั้น ๆ เป็นเขตต์อีกชื่อหนึ่งด้วย ซึ่งแท้จริงก็มีท้องที่ตามอาณาเขตต์ของจังหวัดเรสิดังต์ (Province) นั้นเอง แต่ที่กำหนดขึ้นเช่นนี้ก็เพื่อให้ข้ารัฐการชาวพื้นเมืองได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าฝ่ายเขตต์ อันเป็นตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดหรือเจ้าเมืองฝ่ายพื้นเมือง

เมื่อเป็นดังนี้ รูปการจึ่งเป็นว่า จังหวัดในแคว้นเขมรนั้นมีเจ้าเมืองสองคน คนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส เรียกว่า เรสิดังต์เดอฟรังส์ อีกคนหนึ่งเป็นชาวพื้นเมือง เรียกว่า เจ้าฝ่ายเขตต์ เรสิดังต์เดอฟรังส์นั้นย่อมสังกัดขึ้นตรงต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์เช่นเดียวกับในแคว้นลาว ส่วนเจ้าฝ่ายเขตต์นั้นขึ้นกับคณะรัฐมนตรี แต่แท้จริง อำนาจบริหารกิจการในจังหวัดนั้น ๆ ย่อมตกอยู่กับเรสิดังต์เดอฟรังส์เป็นเด็ดขาด ฉะนั้น ถ้าจะถือว่า ตำแหน่งเจ้าฝ่ายเขตต์เป็นเสมือนปลัดจังหวัด ก็พอจะได้ การที่ฝรั่งเศสจัดตำแหน่งผู้ปกครองในแคว้นเขมรดังนี้ ก็คงจะเนื่องด้วยให้เห็นเป็นเกียรติยศสมกับที่แคว้นเขมรมีกษัตริย์และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารรัฐการแห่งรัฐของตน ซึ่งโดยแท้จริงก็เป็นเพียงแต่ในนามดังกล่าวแล้วนั้น ทั้งนี้ อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า การที่ฝรั่งเศสจัดเช่นนี้ ก็คือว่า ฝรั่งเศสจะดำเนินการปกครองบังคับบัญชาราษฎรประการใด ก็ไม่ต้องไปบังคับถึงตัวราษฎร เพียงแต่บังคับสั่งเสียแสดงความประสงค์แก่ข้ารัฐการชาวพื้นเมืองแล้ว ข้ารัฐการพื้นเมืองเป็นผู้บังคับใช้อำนาจแก่ราษฎรพลเมืองอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ เป็นทางให้บาปตกอยู่แก่ฝ่ายพื้นเมือง ส่วนฝรั่งเศสย่อมเอาตัวรอดพ้นจากบาปไปได้

ตำแหน่งผู้ปกครองท้องที่ในแคว้นเขมรเปรียบเทียบกับไทยได้ดังนี้.—

เขมร ไทย
Résident de France ข้าหลวงประจำจังหวัด
(ชาวฝรั่งเศส)
เจ้าฝ่ายเขตต์
(ชาวพื้นเมือง)
Délégué นายอำเภอชั้นเอก
(ชาวฝรั่งเศส)
เจ้าฝ่ายสรก นายอำเภอ
เจ้าฝ่ายขัณฑ์ กำนัน
แม่คุ้ม ผู้ใหญ่บ้าน

แคว้นเขมรแบ่งการปกครองเป็น ๑๔ จังหวัดดังนี้.—

๑.พระตะบอง

๒.กำปอด

๓.กันดาล (ศาลากลางตั้งที่พนมเป็ญ)

๔.กำปงจาม

๕.กำปงสะปือ

๖.กำปงทม

๗.กระแจะ

๘.เปรเวง

๙.โพธิสัตว์

๑๐.สตึงเตรง

๑๑.เสียมราฐ

๑๒.กำปงชนัง

๑๓.สวายเรียง

๑๔.ตาแก้ว

ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีเรสิดังต์เดอฟรังส์ชาวฝรั่งเศส เทียบได้กับตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดของไทย เป็นผู้ปกครอง ดำเนินงานรับผิดชอบต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นเขมร และมีปลัดจังหวัด หัวหน้าแผนกต่าง ๆ ชาวฝรั่งเศส เช่นเดียวกับจังหวัดในแคว้นลาว และจังหวัดนั้น ๆ ได้กำหนดนามอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เขตต์ มีเจ้าฝ่ายเขตต์เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยปลัดเขตต์และพนักงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองบริหารกิจการประสานกับเรสิดังต์เดอฟรังส์

ท้องที่ในเขตต์จังหวัดซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ ตั้งเป็นอำเภอพิเศษ เรียกว่า Délégation มีเดเลเกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจเช่นเดียวกับเดเลเกในแคว้นลาว

เขตต์ ๆ หนึ่งแบ่งเป็นสรก ขัณฑ์ คุ้ม มีผู้ปกครองเป็นชาวพื้นเมืองเช่นเดียวกับเขตต์ จึงจะได้กล่าวถึงตำแหน่งนี้ในบทที่เกี่ยวกับเจ้าและข้ารัฐการพื้นเมือง

ท้องถิ่นที่ยกฐานะเป็นเทศบาล จัดการปกครองเช่นเดียวกับเทศบาลในแคว้นลาว.