ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 28 กันยายน 2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น
โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่งในขณะที่จำนวนผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการและประสานความร่วมมือของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนเพื่อการระดมสรรพกำลังในการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งการบริการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามแผน การตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก การกระจายชุดตรวจเพื่อการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง และการดำเนินการและกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาวตามที่ได้ประกาศไว้แล้ว เช่น มาตรการควบคุมโรคโควิด - 19 แนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร ซึ่งฝ่ายสาธารณสุขและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รายงานผลการประเมินสถานการณ์ว่า หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนค่อนข้างมีประสบการณ์และความพร้อม ประกอบกับหน่วยงานและบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพ ความชำนาญ และมีประสิทธิภาพครอบคลุมการตรวจคัดกรองและการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย และมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงสามารถปรับมาตรการโดยผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้มีความเหมาะสม โดยกำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็นตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องติดตามกำกับดูแลทั้งบุคคล สถานที่ การดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาว เพื่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในระยะยาว ควบคู่กับการป้องกันและควบคุมโรคอย่างสมดุลและยั่งยืน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การกําหนดพื้นที่สถานการณ์จําแนกตามเขตพื้นที่จังหวัด ให้การกําหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจําแนกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิต - 19) ที่ ๑๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ยังคงบังคับใช้ต่อไป
ข้อ ๒ การปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยให้การกําหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๓ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคการใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางข้ามจังหวัด การขนส่งสาธารณะ และการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทําการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนยังคงให้ดําเนินการอย่างเต็มความสามารถที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติได้ รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กําหนดขึ้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องไป จนถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้อ ๔ การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กํากับดูแลและติดตามการดําเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้ปรับมาตรการตามข้อกําหนดนี้เพื่อให้เปิดดําเนินการได้ โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมสถานที่ การตรวจสอบระบบหมุนเวียนระบายอากาศ การกํากับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งมาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
(๑)โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจํานวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความจําเป็นและการดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
(๒)สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็ก ให้เปิดดําเนินการได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ตามความเหมาะสมของสถานที่นั้น ๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดอย่างเคร่งครัด
(๓)ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและจํากัดจํานวนผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจํานวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจํานวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจํานวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ ๓๕ ของจํานวนที่นั่งปกติ
ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มอาจจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นได้ โดยมีผู้แสดงไม่เกินจํานวน ๕ คน ต้องมีการเว้นระยะห่างและงดการติดต่อสัมผัสกับผู้ใช้บริการ และให้นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยอนุโลมให้เฉพาะนักร้อง นักแสดง หรือนักดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเป่า ที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ขณะทําการแสดง
มาตรการนี้ให้ใช้บังคับกับร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้ว
(๔)ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัดเฉพาะการจําหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยจํากัดเวลาสําหรับร้านสะดวกซื้อที่ตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
(๕)ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท บ้านหนังสือ หอศิลป์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดําเนินการได้และจํากัดจํานวนผู้ใช้บริการ โดยอาจพิจารณาตามเกณฑ์ของขนาดพื้นที่ตามแนวปฏิบัติที่กระ ทรวงสาธารณสุขกําหนดหรือไม่เกินร้อยละ ๓๕ ของจํานวนผู้เข้าใช้บริการที่สามารถรองรับได้ตามปกติ และให้ผู้ใช้บริการงดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มขณะเข้าชมหรือใช้บริการ รวมทั้งงดการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความแออัด โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๖)โรงภาพยนตร์ สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนความจุที่นั่ง และจัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างโดยการเว้นที่นั่งตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและงดการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในระหว่างการชมภาพยนตร์
(๗)สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา
โดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับร้านสักที่จะให้บริการได้เฉพาะผู้รับบริการที่แสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COMID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test Kits : ATK) (ชุดตรวจ ATK)
(๘)สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้ โดยจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละสองชั่วโมง จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ยกเว้นการอบตัว อบสมุนไพร และการอบไอน้ำ ที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ
โดยกำหนดเงื่อนไขเฉพาะการให้บริการประเภทการใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปาที่ผู้เข้ารับบริการต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK
(๙)สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา
สถานที่ออกกำลังกาย ยิ้มหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และงดเว้นการให้บริการอบตัวหรืออบไอน้ำ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๑๐)การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยกรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้งสามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของความจุสนาม และผู้เข้าชมในสนามต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
สำหรับการใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการฝึกข้อมของนักกีฬาทีมชาติ ให้เข้าใช้สถานที่ได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๑๑)ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทดังต่อไปนี้ที่ยังคงกำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน
ก. โรงเรียนและสถาบันกวดวิชา สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่เพื่อความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข. โรงภาพยนตร์ สามารถเปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๖)
ค. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านทำเล็บ ร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมายและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๓) สำหรับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละสองชั่วโมงตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
ง. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๔)
จ. สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้เปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๔) และ (๑๐)
ฉ. สวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุมยังคงให้ปิดการดำเนินการในช่วงเวลานี้ไว้ก่อน
(๑๒)การถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกัน สามารถทำได้ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
(๑๓)โรงมหรสพ โรงละคร ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมให้มีการจัดแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยจํากัดจํานวนผู้แสดงและเจ้าหน้าที่รวมไม่เกิน ๕๐ คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา อนุโลมให้ขณะแสดงบนเวทีที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ โดยงดการติดต่อสัมผัสระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกําหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๕ การเตรียมการเปิดพื้นที่นําร่องการท่องเที่ยว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อการดําเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นําร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดําเนินการระยะนําร่องแล้วในบางพื้นที่และจะได้ดําเนินการอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจะได้กําหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ขึ้นเพื่อการบังคับใช้เป็นการเฉพาะ
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมพร้อมทั้งเสนอมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ ในการเสนอให้พื้นที่รับผิดชอบเป็นพื้นที่นําร่องการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทยกําหนด ก่อนเสนอศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิต - 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อเสนอ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 28 กันยายน 2564". (2564, 28 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138, ตอน พิเศษ 235 ง. หน้า 5–10.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"