ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๑๔ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น
เพื่อเป็นการปรับปรุงและผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับภาพรวมของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ด้วยที่ผ่านมาการปฏิบัติงานพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมและจำกัดขอบเขตพื้นที่การระบาดของโรคได้ ดังเช่นในหลายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อเฉพาะในบางเขตพื้นที่เท่านั้น และผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรงได้ลดจำนวนลง ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของการดำเนินการตามแผนการฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต่างมีส่วนร่วมในการประสาน จัดหาและนำเข้าวัคซีนชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายสาธารณสุขได้จัดสรรและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งห้วงเวลาที่ผ่านมาได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาเพื่อให้สามารถกลับมาสู่สภาพการเรียนการสอนตามปกติได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคนี้ได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ดี การติดตามและกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อควบคุมให้การดำเนินกิจการและกิจกรรมของทั้งบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ได้ประกาศไว้แล้ว เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ก็เพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสร้างบรรยากาศ การเข้าใจสถานการณ์ และการรู้จักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันให้ได้ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ใกล้กับภาวะปกติและกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การป้องกันและควบคุมโรคแก่ประชาชนอย่างสมดุลและยั่งยืนสอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์และแนวทางไว้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
สำหรับจังหวัดที่ได้ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ขึ้นใหม่ตามคำสั่งที่ออกตามข้อกำหนดนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเพื่อการดำเนินการตามมาตรการข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการล่วงหน้า
ข้อ ๒ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(๑)พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน
(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน
(๓)พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน
(๔)พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสามร้อยคน
(๕)พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน
โดยให้ข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาตจัดกิจกรรมการพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มที่ได้รับยกเว้นที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๔ และข้อ ๕ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ยังคงบังคับใช้ต่อไป
ข้อ ๓ การปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๓.๐o นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้บรรดาสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้วตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เปิดดำเนินการได้ต่อไป โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำกับดูแลและติดตามการดำเนินการ และผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
(๑)เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้แล้วและมีเงื่อนไขเรื่องกำหนดเวลาทำการไว้ เช่น ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สวนสาธารณะ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติแตไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา
(๒)ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด สามารถเปิดเพื่อการจำหน่ายสินค้าได้ทุกประเภทตามเวลาปกติจนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และหากมีการเปิดให้บริการเครื่องเล่น ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ประเมินและพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม สำหรับร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืนให้ปิดการให้บริการในช่วงระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๓.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
(๓)ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สามารถเปิดให้บริการในลักษณะของการดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม โดยกำหนดเงื่อนไขที่ผู้รับบริการและบุคลากรเจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ประกอบการสุ่มตรวจบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์โดยการใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื่อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง เพื่อยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 หรือโดยวิธีการที่ทางราชการกำหนด
(๔)โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยมได้จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การจัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม การจัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด
(๕)ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยมได้จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนดเช่นเดียวกับกรณีตาม (๔) โดยยังคงให้งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และปิดให้บริการในส่วนที่เป็นร้านเกม ตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก และสวนน้ำ
ข้อ ๕ การขนส่งสาธารณะ การขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการตามที่ได้เคยประกาศไว้เดิมในข้อ ๗ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๒) ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่ทางราชการกำหนดและสอดคล้องกับความเหมาะสมของยานพาหนะและสภาพการเดินทาง
ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) กำหนด โดยจัดการให้การขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนมีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมแก่การให้บริการประชาชน
ข้อ ๖ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการของหน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนยังคงให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการอย่างเต็มความสามารถที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติได้ โดยการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องไม่กระทบกับภารกิจเพื่อการให้บริการประชาชน
ข้อ ๗ การผ่อนคลายมาตรการเพื่อกิจการหรือการดำเนินกิจกรรมบางประเภท
(๑)ร้านเกม ตู้เกม หรือเครื่องเล่น ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้สามารถเปิดดำเนินการได้ในลักษณะของเกมหรือเครื่องเล่นเฉพาะที่มีผู้เล่นเป็นผู้ใช้เครื่องเล่นเดี่ยวหรือการเล่นเป็นคู่เท่านั้น โดยให้ผู้เล่นสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา แต่สวนสนุกและสวนน้ำยังคงให้ปิดดำเนินการ
(๒)การปรับเงื่อนไขกำหนดเวลาการให้บริการของสวนสาธารณะ สนามกีฬา ยิม ฟิตเนส หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายทุกประเภท ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติแต่ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา
ข้อ ๘ การเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการสำหรับกิจการบางประเภทในอนาคต สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังคงให้ปิดดำเนินการทั่วราชอาณาจักรในช่วงเวลานี้
ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการควรเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม การจัดการสถานที่และบุคลากรเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่หรือติดโรค เช่น การจัดสถานที่ให้อากาศสามารถหมุนเวียนถ่ายเทได้ดีหรือมีระบบฟอกอากาศ การให้พนักงานผู้ให้บริการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการ คำแนะนำและแนวปฏิบัติของทางราชการ
ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมในการกำกับดูแลให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ เพื่อการผ่อนคลายให้สามารถเปิดดำเนินการได้ในอนาคตตามความพร้อมและความเหมาะสม รวมทั้งเป็นไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564". (2564, 15 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138, ตอน พิเศษ 251 ง. หน้า 53–57.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"