ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2564

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๓๖)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันอัตราการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง ในการนี้ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมโดยประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางและบูรณาการการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการรองรับเพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบควบคู่กับการกำหนดมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ให้ประชาชนมีความปลอดภัย รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชน อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพดังที่เริ่มปฏิบัติกันในประเทศต่าง ๆ ที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม  ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

การกำหนดเขตพื้นที่ใดให้เป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามวรรคหนึ่ง หรือการปรับปรุงเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ข้อ ๒ การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

ข้อ ๓ การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๔ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคนในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

ให้นำวิธีปฏิบัติในส่วนของข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ชั้นตอนการขออนุญาตจัดกิจกรรม การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๔ และข้อ ๕ แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มาใช้บังคับด้วย

ข้อ ๕ การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  (ฉบับที่ ๓๕) ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด

ข้อ ๖ การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวและการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มข้นหรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในห้วงเวลาต่าง ๆ

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19

ข้อ ๗ การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๓) ของข้อ ๑ การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ ๓ ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๓) ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และข้อ ๑ ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๖) ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

"(๑๓) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล"

ข้อ ๘ มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในประเภทซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตามที่ได้เพิ่มเติมโดยข้อกําหนดนี้ เช่น การกําหนดประเทศหรือพื้นที่ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติการมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ การตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 การมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กําหนด และหลักฐานการชําระค่าที่พัก ให้เป็นไปตามคําสังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิต - 19)

ทั้งนี่ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"