ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตห้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาถือเป็นความท้าทายและเป็นบทพิสูจน์ครั้งสําคัญที่ประเทศไทยได้ข้ามผ่านอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยอาศัยการประสานความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมดําเนินการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ได้กําหนดไว้ประกอบกับอัตราผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ปวยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตมีจํานวนลดลงอย่างมีนัยสําคัญ เหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยส่งผลต่อภาพรวมของสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยที่มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดี รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งปรับเกณฑ์การพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นและรองรับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ข้อกําหนดฉบับนี้จึงเป็นการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค และรวบรวมบรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการต่าง ๆ ที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกําหนดฉบับก่อนหน้าโดยจําแนกออกเป็นพื้นที่สถานการณ์ที่แตกต่างลดหลั่นกันตามความรุนแรงของการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเน้นย้้าถึงเจตนารมณ์ที่จะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กําหนดไว้ให้ดําเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การดําเนินกิจการและกิจกรรมของบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ อยู่ภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อรักษาสมดุลด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิต - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
สำหรับจังหวัดที่ได้ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ขึ้นใหม่ตามคำสั่งที่ออกตามข้อกำหนดนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเพื่อการดำเนินการตามมาตรการข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการล่วงหน้า
สำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวจะเป็นไปตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ ๑๘/๒๕๖๔ เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้อ ๒ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(๑)พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน
(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน
(๓)พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน
(๔)พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งพันคน
(๕)พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนอื่นทั่วไป โดยให้เร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว
ข้อ ๓ กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่ได้รับยกเว้น กิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของบุคคลดังต่อไปนี้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๒ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๑)กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัวหรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
(๒)กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
(๓)กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน
(๔)การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุม หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
(๕)กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด
พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปกำกับตรวจสอบหรือให้คำแนะนำการดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลได้ และหากพบว่าการจัดหรือการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตักเตือนหรือแนะนำเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรืออาจสั่งให้ยุติการดำเนินกิจกรรมนั้นได้
ข้อ ๔ การห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๓.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น โดยใช้บังคับต่อเนื่องไปสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบห้าวัน (จนถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔) และให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๕ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ สำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งอย่างเต็มความสามารถที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติได้โดยการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องไม่กระทบกับภารกิจเพื่อการให้บริการประชาชน โดยให้ ศปก.ศบค. หารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของข้าราชการ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และสภาพสถานการณ์ด้วย
สำหรับหน่วยงานในพื้นควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำงานของหน่วยงานที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งสามารถจัดมาตรการป้องกันโรคได้ เช่น การรักษาพยาบาล การติดต่อกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม
ข้อ ๖ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่ได้ปรับมาตรการตามข้อกำหนดนี้เพื่อให้เปิดดำเนินการได้ โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมสถานที่ ให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting) ตามประเภทของกิจการกิจกรรมตามระดับความเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จัดระบบหมุนเวียนระบายอากาศกำกับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะดังต่อไปนี้
(๑)พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท รวมถึงสถาบันกวดวิชา ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ และให้มีมาตรการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่เคร่งครัดและรัดกุม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข. สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็ก ให้เปิดดำเนินการได้โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ตามความเหมาะสมของสถานที่นั้น ๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ค. ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สามารถเปิดให้บริการในลักษณะของการดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม โดยกำหนดเงื่อนไขที่ผู้รับบริการและบุคลากรเจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ประกอบการสุ่มตรวจบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์โดยอาจเป็นการใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK) เพื่อยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 หรือโดยวิธีการที่ทางราชการกำหนด
ง. ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท บ้านหนังสือ หอศิลป์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยอาจพิจารณาตามเกณฑ์ของขนาดพื้นที่ตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่สามารถรองรับได้ตามปกติ และให้ผู้ใช้บริการงดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มขณะเข้าชมหรือใช้บริการ รวมทั้งงดการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความแออัด โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
จ. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของจำนวนที่นั่งปกติ
การแสดงดนตรีในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถทำได้โดยมีผู้แสดงไม่เกินจำนวน ๕ คน ต้องมีการเว้นระยะห่างและงดการติดต่อสัมผัสกับผู้ใช้บริการ และให้นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยอนุโลมให้เฉพาะนักร้องและนักดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเป่าที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ขณะทำการแสดง
มาตรการนี้ให้ใช้บังคับกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
ฉ. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดสด หรือตลาดนัด สามารถเปิดเพื่อการจำหน่ายสินค้าได้ทุกประเภทตามเวลาปกติจนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และหากมีการเปิดให้บริการเครื่องเล่น ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ประเมินและพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม สำหรับร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการ ในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในช่วงระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๓.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
ช. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุมได้จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา โดยยังคงให้จำกัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และปิดให้บริการในส่วนที่เป็นร้านเกม ตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก และสวนน้ำ
ซ. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา การจัดงานพิธีตามประเพณีนิยมได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน ๕๐๐ คน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การจัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม การจัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด
ฌ. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา
โดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับร้านสักที่จะให้บริการได้เฉพาะผู้รับบริการที่แสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test Kits : ATK) (ชุดตรวจ ATK)
ญ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทยสามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้ โดยจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละสองชั่วโมง จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ยกเว้นการอบตัว อบสมุนไพร และการอบไอน้ำ ที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการโดยกำหนดเงื่อนไขเฉพาะการให้บริการประเภทการใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปาที่ผู้เข้ารับบริการต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา ๑๗๒ ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT- PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK
ฎ. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำ เพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สถานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี สามารถพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การใช้สถานที่เป็นการเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ ได้
สำหรับสถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และงดเว้นการให้บริการอบตัวหรืออบไอน้ำ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ฎ. การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาความเหมาะสม โดยกรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของความจุสนาม และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
สำหรับการใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีหา การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แล้วแต่กรณี เพื่อเข้าใช้สถานที่ได้ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ฐ. โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือโรงละคร สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา โดยโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือโรงละครที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนความจุที่นั่ง แต่หากเป็นโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือโรงละครในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุที่นั่ง ทั้งนี้ ให้จัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างโดยการเว้นที่นั่งตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและงดการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในระหว่างการเข้าใช้บริการ
สำหรับโรงมหรสพหรือโรงละคร ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมให้มีการจัดแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ โดยจำกัดจำนวนผู้แสดงและเจ้าหน้าที่ไม่เกิน ๕๐ คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา อนุโลมให้ขณะแสดงบนเวทีที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ โดยงดการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคลและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยพิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยมาตรการนี้ให้ใช้บังคับกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ โดยยังคงให้จำกัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและปิดให้บริการในส่วนที่เป็นสวนสนุก และสวนน้ำ
ง. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา การจัดงานพิธีตามประเพณีนิยม มหกรรมด้านกีฬา หรือการจัดแสดงสินค้า (งดเว้นกิจกรรมเชิญชวนบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม) ได้โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน ๕๐๐ คน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด
จ. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา
ฉ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทยสามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้จนถึงเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ช. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สถานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี สามารถพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การใช้สถานที่เป็นการเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ ได้
สถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ซ. การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา ให้แจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อทราบ โดยกรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของความจุสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของความจุสนาม และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ณ. โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ โรงละคร สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือโรงละครที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของจำนวนความจุที่นั่ง แต่หากเป็นโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือโรงละครในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี ให้พิจารณาจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ ทั้งนี้ ให้จัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างโดยการเว้นที่นั่งตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในระหว่างการชมภาพยนตร์ มหรสพ การแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม หรือการแสดงพื้นบ้าน
(๓)พื้นที่ควบคุม ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านตามเวลาปกติ โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยมาตรการนี้ ให้ใช้บังคับกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ โดยยังคงให้ปิดให้บริการในส่วนที่เป็นสวนสนุกหรือสวนน้ำที่เป็นห้องปรับอากาศหรือพื้นที่ปิด
ง. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน ๑,๐๐๐ คน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด
จ. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ ร้านสัก สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา
ฉ. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สถานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงสถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดบริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของความจุสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุสนาม และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๔)พื้นที่เฝ้าระวังสูง
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน (๓) ก.
ข. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงสถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดบริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามตามความจุสนาม และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๕)พื้นที่เฝ้าระวัง ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรม ในเขตพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อมโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๗ การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่จังหวัดและการกําหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อ ศปก.ศบค. เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มขันหรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอําเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจําเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในห้วงเวลาต่าง ๆ
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถพิจารณาดําเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ในการสั่งปิด จํากัด หรือห้ามการดําเนินการของสถานที่กิจการ หรือสั่งให้งดการทํากิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่รับผิดชอบเป็นการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่ส่วนกลางกําหนดได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19
เพื่อให้การบริหารจัดการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สําคัญของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกําหนดให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิต - 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับผิดชอบกํากับดูแลการดําเนินการตามมาตรการ รวมทั้งให้มีอํานาจพิจารณากําหนดระดับความเข้มขันหรือผ่อนคลายของมาตรการในพื้นที่รับผิดชอบได้ตามความเหมาะสมและความจําเป็นแห่งสถานการณ์ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวและการกําหนดเป็นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว
ข้อ ๘ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว สําหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว ให้ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ และกิจกรรมสําหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จําแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง และตามมาตรการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๕ แห่งข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่กําหนดจํานวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่ม โดยกําหนดให้การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนมากในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวสามารถทําได้ตามความเหมาะสม โดยปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๙ การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะทั่วราชอาณาจักรยังคงมีความจำเป็นให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน โดยให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่อนคลายการเปิดสถานประกอบกิจการได้ตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนดต่อไปได้อย่างปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขและการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ (ฉบับที่ ๓๕) ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564". (2564, 30 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138, ตอน พิเศษ 251 ง. หน้า 1–12.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"