ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๔๑)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏกรณีไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทําให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลําดับ แม้ว่าจะได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มประชากรในประเทศเป็นจํานวนมากแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ยังมีจํานวนไม่มากพอและอาจเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขที่ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจึงจําเป็นต้องกําหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการปรับพื้นที่สถานการณ์ และปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคเพิ่มเติมจากข้อกําหนดและคําสั่งที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่ สถานการณ์และการกําหนดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ โดยให้ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่ควบคุม ยกเว้นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้

ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ มาตรการควบคุม

แบบบูรณาการจําแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่อง

ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นภายใต้ข้อกําหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

ในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาเพื่อดําเนินมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ตั้งหน่วยงานหรือสถานประกอบการ (Work From Home) ตามความเหมาะสมเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรค โดยให้ดําเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องไป จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕

ข้อ ๓ การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว สําหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวให้ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ และกิจกรรมสําหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จําแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อ ๖ (๕) และข้อ ๘ ของข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว จะเปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID - 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา

ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากําหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่

ข้อ ๔ การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักรยังคงมีความจําเป็นให้ปิดดําเนินการไว้ก่อน

หากผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ตามวรรคหนึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กําหนด และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกํากับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

การให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ตามวรรคหนึ่งที่ได้ปรับรูปแบบเป็นร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวจะต้องดําเนินการตามมาตรการที่กําหนดไว้ในข้อ ๓ ด้วย

ข้อ ๕ การปรับแนวปฏิบัติเพื่อการดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคสําหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งเพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมแนวปฏิบัติเพื่อให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์อุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด จากที่ได้ประกาศไว้ในคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ ๒๕/๒๕๖๔ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๐) ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๖ การยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด ด้วยการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดที่จํานวนผู้ติดเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และทุกหน่วยงานยกระดับการปฏิบัติงานตามที่ได้มีคําสั่งมอบภารกิจไว้แล้วในคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิต - 19) ที่ ๑๔/๒๕๖๔ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๕) ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อการตรวจสอบและกํากับติดตามการเปิดดําเนินการของสถานที่ การดําเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค และตามแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะได้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายนี้เป็นระยะ

ให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ เตรียมความพร้อมโดยจัดให้มีระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center : EOC) เพื่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างบูรณาการ โดยอาจขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์อุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบยกระดับการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานข้อมูล (call center) ในทุกระบบเพื่อการดําเนินงานอย่างสอดคล้อง พร้อมรองรับการให้ความช่วยเหลือและบริการแก่ประชาชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"