คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๒๕/๒๕๔๒


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยให้การ
ระหว่างพิจารณา ภรรยาของผู้ตายเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า
จำเลยนำสืบว่า
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า
๑. ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยใช้, จ้าง หรือวานให้ (๑) สวัสดิ์ พมาลัย และ (๒) บุญมี ดวงดอกมูล ร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ใช่หรือไม่
๒. ปัญหาที่จำเลยฎีกาต่อมามีว่า จำเลยใช้, จ้าง หรือวานให้ (๑) กนกศักดิ์ อินทร์สมาน, (๒) อิศวร เพชรรักษา, (๓) สุนันท์ วงศ์คำหาญ, (๔) สมเจต นนท์งาม, (๕) กิตติพล อินทรปาลิต, (๖) นฤทุกข์ อุ่นตระกูล และ (๗) ชัยชนะ คงหนุน ร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ใช่หรือไม่
๓. คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายถึงกับต้องใช้, จ้าง หรือวานผู้อื่นไปฆ่าผู้ตาย ใช่หรือไม่
๔. ปัญหาต่อไป โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องแต่ละข้อเป็นความผิดคนละกรรม ศาลต้องเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมไป ใช่หรือไม่
พิพากษา





คำพิพากษา
 


เรื่อง ความผิดต่อชีวิต

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๑๓๒๕/๒๕๔๒
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์
ระหว่าง นางวัชรี สุนทรวัฒน์ โจทก์ร่วม

นายทวี พุทธจันทร์ จำเลย



โจทก์และจำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ลงวันที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ศาลฎีการับวันที่ ๒๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

ก. ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๓๗ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๓๘ จำเลยกับพวกร่วมกันก่อให้นายสวัสดิ์ พมาลัย และนายบุญมี หรือมืด ดวงดอกมูล ร่วมกันฆ่านายแสงชัย สุนทรวัฒน์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน เป็นเงินค่าจ้างห้าแสนบาท แต่นายสวัสดิ์และนายบุญมีกลับใจไม่ยอมทำตามที่ได้รับการใช้ จ้าง วานจากจำเลยกับพวก เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง, แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวพันกัน

ข. เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ จำเลยกับพวกร่วมกันก่อให้นายกนกศักดิ์ หรือหนึ่ง อินทร์สมาน จำเลยที่ ๒ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๒๗/๒๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๙๓๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น และนายอิศวร หรือกิ่ง เพชรรักษา ร่วมกันฆ่านายแสงชัย สุนทรวัฒน์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน เป็นเงินค่าจ้างสองแสนบาท แต่นายกนกศักดิ์และนายอิศวรไม่สามารถร่วมกันฆ่านายแสงชัยได้สำเร็จ เหตุเกิดที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวพันกัน

ค. ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ จำเลยกับพวกร่วมกันก่อให้นายสุนันท์ หรือดำ วงศ์คำหาญ จำเลยที่ ๑, นายกนกศักดิ์ หรือหนึ่ง อินทร์สมาน จำเลยที่ ๒ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๒๗/๓๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๙๓๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น, นายสมเจต หรือปาน นนท์งาม และนายกิตติพล หรือโหน่ง อินทรปาลิต ร่วมกันฆ่านายแสงชัย สุนทรวัฒน์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน เป็นเงินค่าจ้างสองแสนบาท แต่นายสุนันท์ นายกนก นายสมเจต และนายกิตติพลไม่สามารถร่วมกันฆ่านายแสงชัยได้สำเร็จ เหตุเกิดที่แขวงใดไม่ปรากฏชัด เขตดอนเมือง, แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวพันกัน

ง. ระหว่างเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกร่วมกันก่อให้นายสุนันท์ หรือดำ วงศ์คำหาญ จำเลยที่ ๑, นายกนกศักดิ์ หรือหนึ่ง อินทร์สมาน จำเลยที่ ๒, นายนฤทุกข์ หรือกิจ หรือกฤษ อุ่นตระกูล จำเลยที่ ๓ และนายชัยชนะ หรือเล็ก คงหนุน จำเลยที่ ๔ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๒๗/๒๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๙๓๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น ร่วมกันฆ่านายแสงชัย สุนทรวัฒน์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการใช้ จ้าง วาน เป็นเงินค่าจ้างสี่แสนบาท ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายแสงชัยถึงแก่ความตายสมดังเจตนาที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้ จ้าง วาน เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง, แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลบางพูด ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวพันกัน วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และยึดได้โทรศัพท์มือถือเครื่องหมายเลข ๐๑-๙๖๐๗๔๕๕, เครื่องหมายเลข ๐๑-๔๔๐๐๕๓๗ และเครื่องหมายเลข ๐๑-๙๑๓๑๘๘๗ ซึ่งจำเลยกับพวกใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้ที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ จ้าง วานให้ร่วมกันฆ่านายแสงชัย และใบฝากโอนเงินของธนาคารจำนวนสามฉบับซึ่งจำเลยโอนเงินค่าจ้างบางส่วนให้แก่ผู้ที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ จ้าง วานให้ร่วมกันฆ่านายแสงชัย เป็นของกลาง ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓, ๘๔, ๙๑

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางวัชรี สุนทรวัฒน์ ภรรยานายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดนั้นยังไม่ได้กระทำลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ๘๔ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๕๒, ๕๓ รวมสองกระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละยี่สิบห้าปี และมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๔ อีกกระทงหนึ่ง ให้วางโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประการชีวิตจำเลยเพียงสถานเดียว ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดนั้นยังไม่ได้กระทำลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) มาตรา ๘๔ วรรคสอง ตอนท้าย ประกอบมาตรา ๕๒ (๑), ๕๓ ให้ลงโทษจำคุกยี่สิบห้าปี และมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ๘๔ วรรคสอง ตอนต้น อีกกระทงหนึ่ง ให้วางโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทั้งสองกระทงแล้ว คงให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า นายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้ตาย ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ผู้ตายได้ปรับปรุงงานทางด้านวิทยุรายการโทรทัศน์และงานบริหารบุคคล ทำให้มีผู้สูญเสียผลประโยชน์ ต่อมา ผู้ตายได้เรียกประชุมผู้ร่วมลงทุนขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยทุกรายเพื่อให้รับทราบนโยบาย ในระหว่างการประชุม นางอุบล บุญญชโลธร กรรมการของบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาทางสถานีวิทยุขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยรวมห้าจังหวัด คือ จังหวัดยโสธร จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดเชียงราย และจังหวัดกาญจนบุรี ได้ตำหนิการทำงานของนายสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงรายว่า องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยใช้ดุลพินิจอย่างไรในการคัดเลือกนายสถานีวิทยุ เพราะไปโกงกิน ผู้ตายได้พูดโต้ตอบในที่ประชุมว่า เมื่อผู้ตายเข้ามารับตำแหน่ง นางอุบลได้นำพระและสร้อยคอทองคำมามอบให้ การกระทำของนางอุบลไม่ต่างจากการกระทำของนายสถานีวิทยุจังหวัดเชียงราย และผู้ตายยังพุดต่อไปว่า ที่บ้านผู้ตายมีผู้ตายกับครอบครัวและคนใช้รวมสี่คน มีพระและสร้อยคอทองคำอยู่แล้ว ยกเว้นสุนัขตัวเดียวที่ไม่จำเป็นต้องใช้พระและสายสร้อย จึงไม่รับและขอให้รับคืนไป ต่อมา ประมาณกลางปี ๒๕๓๗ จำเลยซึ่งเป็นบุตรเขยและที่ปรึกษากฎหมายของนางอุบลได้ไปขอพบผู้ตายที่ห้องทำงานเกี่ยวกับสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาทางสถานีวิทยุของบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ที่ทำไว้กับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ตายไม่ยอมให้พบเพราะไม่ได้นัดไว้ก่อน จำเลยไม่พอใจพูดเสียงดังว่า จะพบกับผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยยากเย็นกว่าพบรัฐมนตรี ผู้ตายจึงให้จำเลยเข้าพบประมาณสองถึงสามนาที หลังจากนั้น จำเลยเดินกลับออกมาด้วยอาการโกรธพร้อมกับพูดว่า จะไม่มาเหยียบองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยอีกถ้าผู้ตายยังเป็นผู้อำนวยการ ก่อนหน้าที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเคยมีคำสั่งให้สถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจังหวัดยโสธรระงับการออกอากาศเนื่องจากนางอุบลใช้สถานีวิทยุดังกล่าวเป็นสื่อหาเสียงให้แก่ตนเองและบุตรสาวในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร นางอุบลจึงขอเลิกสัญญาและฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินหกล้านแปดแสนบาทจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ต่อมาในปี ๒๕๓๘ สัญญาเช่าเวลาของสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจังหวัดชัยภูมิสิ้นสุดลง นางอุบลได้ทำหนังสือขอต่อสัญญาแต่ผู้ตายไม่อนุญาตให้ต่อสัญญา โดยให้เหตุผลว่า ยังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลจังหวัดยโสธร นางอุบลจึงฟ้องผู้ตายและคณะกรรมการบริหารองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยต่อศาลจังหวัดชัยภูมิเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสิบล้านบาท หลังจากสัญญาเช่าเวลาของสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจังหวัดชัยภูมิสิ้นสุดลง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างสถานีวิทยุแห่งใหม่เพื่อออกอากาศต่อเนื่องจากสถานีวิทยุเดิม แต่บริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ของนางอุบลยังดำเนินการออกอากาศแข่งกับสถานีวิทยุแห่งใหม่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและทำหนังสือแจ้งบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด เพื่อขอเข้าไปถอดอุปกรณ์เครื่องส่งวิทยุออก แต่จำเลยไม่ยอมให้ขนอุปกรณ์ออกไป พนักงานองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้ขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปขนย้ายอุปกรณ์ออกมา จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า พนักงานองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยปล้นทรัพย์โดยมีผู้ตายเป็นผู้บงการ แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต่อมา ในต้นเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ สัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจังหวัดจันทุบรีและจังหวัดเชียงรายสิ้นสุดลง ผู้ตายไม่ต่ออายุสัญญาให้แก่บริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด เนื่องจากมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลจังหวัดยโสธรและศาลจังหวัดชัยภูมิ และได้พิจารณาให้บริษัทอื่นเป็นผู้เช่าแทน ส่วนสัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรีจะหมดอายุในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ ในการเช่าเวลาสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด จะต้องลงทุนประมาณหกล้านบาทต่อหนึ่งสถานี จะมีรายได้สถานีละประมาณหกล้านบาทต่อปี การที่ผู้ตายไม่ต่ออายุสัญญาเช่าเวลาให้แก่บริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าล้านบาท ในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยชุดใหม่ โดยมีพลเอก นฤดล เดชประดิยุทธิ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ นายจักรสุวรรณ ธนะโสภณ และนายพันธุ์เทพ จำรัสโรมรัน ได้แสดงความเห็นถึงการทำงานของผู้ตายว่า ไม่เรียบร้อย หลังจากนั้น ผู้ตายเคยปรารภกับโจทก์ร่วมและคนใกล้ชิดว่า ทำงานกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ไม่สะดวก มีการขัดแย้งกันในที่ประชุมกับนายจักรสุวรรณและพลเอก นฤดล ประธานคณะกรรมการ อยู่เสมอ ต่อมา สมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายจักรสุวรรณและนายพันธุ์เทพ เนื่องจากนายจักรสุวรรณเป็นกรรมการบริษัทขาบมงคล จำกัด ซึ่งเป็นผู้เช่ารายการขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า นายจักรสุวรรณขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ตายได้แจ้งผลการตีความดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และได้กล่าวถึงพันเอก ณัฐพร เลขานุการของพลเอก นฤดล ว่า ไม่มีสิทธิทำหนังสือประชุมและจะนั่งในห้องประชุมต้องขออนุญาตผู้ตายก่อน ขอให้พลเอก นฤดลเตือนเลขานุการของตนว่า อย่าเหิมเกริม ต่อมา วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๙ เวลา ๑๙ นาฬิกา ผู้ตายและโจทก์ร่วมได้ออกจากบ้านพักที่หมู่บ้านเมืองทองธานี ตำบลบางพูด อำเภอบางเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อไปรับประทานอาหารที่ร้านข้าวใหม่ซึ่งอยู่ภายในหมู่บ้าน จนถึงเวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกาจึงได้เดินทางกลับ โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ขับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ สีบรอนซ์ หมายเลขทะเบียน ง-๔๖๕๙ นนทบุรี ส่วนผู้ตายนั่งอยู่ในที่นั่งตอนหน้าด้านซ้าย เมื่อโจทก์ร่วมขับนถมาใกล้จะถึงโรงแรมอิสตินเลคไซด์ ถนนในช่วงนั้นเป็นลูกระนาด โจทก์ร่วมชะลอความเร็วรถลง สักครู โจทก์ร่วมได้ยินเสียงผู้ตายพูดว่า แนนซี่ พี่ถูกยิง แล้วผู้ตายเอนตัวมาทางโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมเหลือบมองไปทางกระจกข้างรถด้านซ้ายเห็นรอยกระจกร้าว และเห็นรถจักรยานยนต์มีคนนั่งสองคนแล่นผ่านไปทางซ้ายมือ โจทก์ร่วมขับรถพาผู้ตายไปยังโพลีคลินิกใกล้ที่เกิดเหตุ แต่ทางคลินิกไม่รับผู้ตายไว้รักษา จึงได้ขับรถพาผู้ตายไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ผู้ตายทนพิษบาดแผลไม่ไหวและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา กรมตำรวจมีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นหัวหน้า การสอบสวนมุ่งประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และความขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ทำสัญญากับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยประเภทรายการโทรทัศน์ เมื่อได้สอบบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ข้อขัดแย้งกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และกลุ่มผู้ทำรายการโทรทัศน์ดังกล่าวไม่รุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่าผู้ตาย คงเหลือประเด็นความขัดแย้งกับนางอุบลที่ผู้ตายไม่ต่ออายุสัญญาเช่าเวลาสถานทีวิทยุที่จังหวัดยโสธร จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดเชียงราย ทำให้นางอุบลต้องสูญเสีญผลประโยชน์จำนวนมาก ต่อมา วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๙ พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ได้รับข้อมูลจากสายลับว่า นายสวัสดิ์ พมาลัย และนายบุญมี หรือมืด ดวงดอกมูล เคยรับจ้างงานฆ่าผู้ตาย พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์กับพวกได้เดินทางไปจังหวัดเชียงรายเพื่อติดตามตัวและได้พบนายบุญมีในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙ สอบถามได้ความว่า เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๓๗ จำเลยเคยว่าจ้างนายสวัสดิ์และนายบุญมีให้ฆ่าผู้ตายเป็นเงินห้าแสนบาท โดยจำเลยรับงานมาจากแม่ยาย ต่อมา วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์ติดตามไปพบนายสวัสดิ์ซึ่งหนีไปหลบซ่อนที่จังหวัดพะเยา สอบถามได้ความตรงกัน ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ. ๘๕ และ จ. ๑๓๖ ต่อมา วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พันตำรวจโท ปรีชา ธิมามนตรี หนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางชัยว่า เมื่อวันที่ ๑๐พฤษภาคม ๒๕๓๙ มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายนรุต สัตยาสัย พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวพบหลักฐานในที่เกิดเหตุจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาชื่อ นายกิตติพล หรือโหน่ง อินทรปาลิต และนายสมเจต หรือปาน นนท์งาม ได้ นายกิตติพลรับสารภาพว่า ได้ร่วมกับนายสมเจตกระทำความผิดในคดีนั้น โดยมีนายสมเด็จ นาคะ เป็นผู้ใช้ จ้าง วาน นอกจากนี้ นายกิตติพลและนายสมเจตยังให้การว่า เคยร่วมกันดักยิงผู้ตายเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ โดยได้รับการว่าจ้างจากนายสุนันท์ หรือดำ วงศ์คำหาญ และนายกนกศักดิ์ หรือหนึ่ง อินทร์สมาน นายกิตติพลกับนายสมเจตพาพนักงานสอบสวนไปดูจุดดักยิงผู้ตายและพาไปห้องพักของนายสุนันท์และนายกรกที่อาคารรอยัลทาวเวอร์คอนโด ซอยแจ้งวัฒนะ ๒๘ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่ไม่พบคนทั้งสอง คณะพนักงานสอบสวนจึงแบ่งกำลังออกเป็นสามสาย สายหนึ่งเดินทางไปติดตามนายสุนันท์ที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกสายหนึ่งมีพันตำรวจตรี ทวีป โพธิ์แก้ว กับพวก เดินทางไปที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ส่วนที่กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้พันตำรวจโท คณิศร์ชัย มหินทรเทพ เฝ้าอยู่ที่อาคารรอยัลทาวเวอร์คอนโด วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เวลา ๗ นาฬิกา พันตำรวจตรี ทวีป ได้เข้าตรวจค้น...[1] ลงจากรถยนต์รับจ้างสาธารณะที่อาคารรอยัลทาวเวอร์คอนโด ชั้นจับกุม นายสุนันท์ให้การรับสารภาพว่า ร่วมกับนายกนกศักดิ์และพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ. ๓๑ ต่อมา พันตำรวจโท ทวี สอดส่อง กับพวกได้ไปตรวจค้นห้องพักของนายสุนันท์และนายกนกศักดิ์ ยึดได้สมุดฉีกสองเล่ม เล่มหนึ่งเขียนแผนที่แสดงเส้นทางไปบ้านผู้ตายและจุดที่สังหารผู้ตาย อีกเล่มหนึ่งมีรายชื่อผู้ที่นายสุนันท์จะเชิญไปร่วมงานแต่งงานของตนโดยมีชื่อของจำเลยอยู่ในลำดับที่เก้า และเสื้อยืดคอกลมจำนวนหนึ่งตัวที่สวมใส่ในวันที่เกิดเหตุ กับเศษกระดาษเขียนรหัสที่ใช้ในการติดต่อวิทยุสื่อสารอีกหนึ่งแผ่นไว้เป็นของกลาง ตามภาพถ่ายสมุดฉีกและบันทึกการตรวจค้น เอกสารหมาย จ. ๓๒ ถึง จ. ๓๔ ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับนายอิศวรได้ที่จังหวัดชุมพร นายอิศวรให้การในคืนที่ถูกจับกุมว่า เมื่อปลายปี ๒๕๓๘ จำเลยเคยว่าจ้างนายอิศวรและนายกนกศักดิ์ให้ร่วมกันฆ่าผู้ตายแต่ทำไม่สำเร็จ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับจำเลย นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะ ในวันเดียวกัน เวลา ๖ นาฬิกา พันตำรวจโท สรณะ ศิริโกมล เจ้าพนักงานตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย กับพวก จับจำเลยได้ที่บ้านพักเลขที่ ๒๔๓ หมู่ที่ ๙ ตำบลเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แจ้งข้อหาว่า ใช้ จ้าง วานผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยให้การปฏิเสธ หลังจากนั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวจำเลย ปรากฏว่า นายสวัสดิ์ นายบุญมี นายกนกศักดิ์ นายสุนันท์ และนายอิศวรต่างชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องว่า เป็นผู้ใช้ จ้าง วานให้ฆ่าผู้ตาย วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์กับพวกจับนายนฤทุกข์ได้ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งข้อหาว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายนฤทุกข์ให้การรับสารภาพ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๙ นายชัยชนะแจ้งให้พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์ ทราบว่า รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนซ์ หมายเลขทะเบียน ผ-๙๔๗๗ จันทบุรี ที่ใช้ในการกระทำความผิด อยู่ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองชลบุรี พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์จึงยึดมาเป็นของกลาง วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๙ นายชัยชนะเข้ามอบตัวต่อพันตำรวจเอก ภาณุพงศ์ และนำอาวุธปืนยี่ห้อบาเร็ตตา ขนาด ๙ มิลลิเมตร พร้อมกระสุนจำนวนหกนัดบรรจุอยู่ในซองกระสุนปืนมามอบเป็นของกลาง โดยให้การว่า เป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์จึงแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายชัยชนะให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวน นายสุนันท์และนายกนกศักดิ์ให้การรับสารภาพว่า ได้รับการว่าจ้างจากจำเลยให้ฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ให้นายสุนันท์เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ นายนฤทุกข์นั่งซ้อนท้ายเป็นผู้ลงมือยิงผู้ตาย นายกนกศักดิ์และนายชัยชนะใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นพาหนะติดตามผู้ตายและชี้เป้าให้นายสุนันท์และนายนฤทุกข์ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ส่วนนายนฤทุกข์และนายชัยชนะให้การว่า ได้ร่วมกันฆ่าผู้ตายจริง ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ. ๓๕, จ. ๒๔, จ. ๕๙ และ จ. ๗๖ บุคคลทั้งสี่นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปและบันทึกภาพด้วยกล้องวีดิโอเป็นหลักฐานหลายแห่ง เช่น โรงแรมไอยรา จังหวัดเชียงใหม่, ร้านอาหารครัวเดิมเดิม ในซอยรามคำแหง ๕๒/๒ และสนามบินจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างให้นายสุนันท์, องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย, บ้านผู้ตายในหมู่บ้านเมืองทอง, ห้องพักของนายสุนันท์และนายกนกศักดิ์ที่อาคารรอยัลทาวเวอร์คอนโด โรงแรมรอยัลแปซิฟิคพลาซ่า ถนนพระราม ๙ ซึ่งเป็นสถานที่จำเลยว่าจ้างนายสวัสดิ์ นายอิศวร และนายกนกศักดิ์ให้ฆ่าผู้ตาย มีการทำบันทึกการถอดวีดิโอเทปการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสี่ไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๔๔, จ. ๒๘, จ. ๖๘ และ จ. ๖๙ ได้มีการสอบปากคำนางสุวิมล ฮวดศิริ ภรรยาของนายสุนันท์ และนางโสวดี ฮวดศิริ ภรรยาของนายกนกศักดิ์ไว้ ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ. ๗๘ และ จ. ๘๐ ต่อมา นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกบุคคลทั้งสี่ตลอดชีวิต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๙๓๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น ต่อมา ได้มีการสอบปากคำนายสวัสดิ์ นายบุญมี นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะ รวมทั้งนางสุวิมล และนางโสวดีอีกครั้ง ทุกคนต่างยืนยันตามคำให้การเดิมของตน ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ. ๘๖, จ. ๑๔๒, จ. ๕๖, จ. ๓๐, จ. ๗๒, จ. ๗๗, จ. ๗๙ และ จ. ๘๑ ทางสืบสวน ยังได้ความอีกว่า จำเลยมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่หลายหมายเลข คือ หมายเลข ๙๖๐๗๔๕๕, ๙๑๖๙๒๓๙, ๙๕๐๑๙๐๒, ๙๒๓๙๘๑๑ และ ๙๕๒๗๙๖ แต่ที่ใช้ติดตัวอยู่เป็นประจำ คือ หมายเลข ๙๖๐๗๔๕๕ และมีโทรศัพท์หมายเลขพิเศษที่ใช้เรียกติดตามตัว คือ ๑๕๒ เรียก ๓๙๒๕๙๗, ๓๙๒๕๙๘, ๔๘๑๐๙๕, และ ๑๕๐๐ เรียก ๑๑๓๕๔๓ นายสุนันท์ใช้โทรศัพท์มือถือหมายเลข ๔๘๐๕๓๗ นางอุบลใช้โทรศัพท์มือถือหมายเลข ๙๓๖๑๕๕๕ โดยนางอุบลซื้อมาในนามของบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ตามเอกสารหมายเลข จ. ๑๒๖ นายชัยชนะใช้โทรศัพท์มือถือหมายเลข ๙๑๓๑๘๘๗ ซึ่งเป็นของนายชัยศักดิ์ เด่นแดนไทย แต่นางสาววริยา แสงแก้ว ภรรยาของนายชัยศักดิ์ มอบให้นายชัยชนะใช้ชั่วคราว ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ นางอุบล จำเลย นายสุนันท์ และนายชัยชนะได้ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อสื่อสารระหว่างกันหลายครั้ง ตามบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เอกสารหมาย จ. ๑๑๘, จ. ๑๑๙, จ. ๑๒๑, จ. ๑๒๘ ถึง จ. ๑๓๐, จ. ๑๓๒ และ จ.๑๓๓ จำเลยเคยโอนเงินค่าใช้จ่ายบางส่วนจากจังหวัดเชียงรายเข้าบัญชีของนายกนกศักดิ์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหลักที่พลาซ่า ตามใบฝากเงิน เอกสารหมาย จ. ๙๐ ถึง จ. ๙๒ ในวันเกิดเหตุ จำเลยทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) เป็นเงินประมาณสองล้านบาท แล้วถอนเงินบางส่วนโอนไปให้แก่นางสาวอนงค์รัตน์ สิทธิวงค์ หรือคำฮ้อย เลขานุการของจำเลย นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานในบัญชีรายชื่อผู้โดยสารของบริษัทการบินไทย จำกัด ตามเอกสารหมาย จ. ๑๐๙ ว่า หลังเกิดเหตุ มีชื่อนายสุนันท์เป็นผู้โดยสารในเที่ยวบินจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดเชียงราย และมีชื่อจำเลยเป็นผู้โดยสารในเที่ยวบินนี้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายมายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของนายสุนันท์ที่ให้การไว้ว่า หลังเกิดเหตุ นายสุนันท์เดินทางไปรับเงินค่าจ้างจำนวนสองแสนบาทจากจำเลยที่จังหวัดเชียงราย และจำเลยนำเงินค่าจ้างที่เหลือจำนวนสองแสนบาทมามอบให้ที่ร้านอาหารครัวเดิมเดิม กรุงเทพมหานคร คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนยังตรวจพบหลักฐานว่า ในช่วงเกิดเหตุ จำเลยเข้าพักที่โรงแรมรอยัลแปซิฟิคพลาซ่าหลายครั้ง ตามเอกสารหมาย จ. ๑๓๕ จึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยและนางอุบลในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วาน หรือด้วยวิธีอื่นใด แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนางอุบล

จำเลยนำสืบว่า เดิมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตั้งประเด็นการสืบสวนสาเหตุการตายของผู้ตายไว้หลายประเด็น ประเด็นแรก เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างผู้ตายกับคณะกรรมการบริหารองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยชุดใหม่ ในกรณีที่ผู้ตายไม่ให้เกียรติพลเอก นฤดล เดชประดิยุทธ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และในกรณีที่นายจักรสุวรรณ ธนะโสภณ ต้องการเป็นผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยแทนผู้ตาย เพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการอัปลิงก์ดาวน์ลิงก์ (โครงการยิงสัญญาขึ้นสู่ดาวเทียมและรับสัญญาณลงสู่พื้นดิน) ตามที่ผู้ตายเสนอ เป็นผลให้ผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนผู้ตายสามารถบริหารโครงการที่มีผลประโยชน์เป็นมูลค่ามหาศาลและจะทำให้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจการสื่อสารในลักษณะเดียวกันต้องสูญเสียผลประโยชน์และรายได้จากส่วนแบ่งในตลาดลดลงประมาณปีละสองหมื่นล้านบาท ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับการขัดผลประโยชน์ของผู้ที่ทำกิจกรรมร่วมกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยประเภทรายการโทรทัศน์ เนื่องจากผู้ตายเปลี่ยนแปลงผังเวลารายการโทรทัศน์และไม่ต่อสัญญาเช่าเวลาให้แก่ผู้เช่าบางราย เป็นเหตุให้ผู้เช่าเวลาหลายรายสูญเสียรายได้จำนวนมาก ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ตายไม่ยอมรับรถถ่ายทอดข่าวเคลื่อนที่ โดยอ้างว่า ผู้ที่ประมูลได้ส่งมอบรถผิดเงื่อนไข จนเป็นเหตุให้ถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท และกรณีความขัดแย้งผลประโยชน์ค่านายหน้าและค่าตอบแทนในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์โดยวิธีพิเศษโดยไม่ต้องมีการประมูลหรือผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย แต่การสืบสวนในประเด็นดังกล่าว คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนพบว่า ผู้มีอิทธิพลในระดับสูงอยู่ในข่ายเป็นผู้ต้องสงสัย จึงต้องยุติการสืบสวน ประกอบกับทางสภาผู้แทนราษฎรมีการยื่นญัตติให้พลตำรวจเอก พจน์ บุณยะจินดา อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ชี้แจงสาเหตุการตายของผู้ตาย ทำให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนต้องเร่งรัดทำงานเพื่อปิดคดีโดยเร็ว คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงเบี่ยงเบนประเด็นการสืบสวนมุ่งมาในเรื่องความขัดแย้งของจำเลยกับผู้ตายแทน โดยกล่าวหาว่า จำเลยและนางอุบล บุญญชโลธร เป็นผู้จ้าง วาน ใช้ให้กลุ่มมือปืนดังกล่าวฆ่าผู้ตาย มีการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย เนื่องจากจำเลยกับพรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นมีความขัดแย้งกัน และไม่ต้องการที่จะให้จำเลยมีอนาคตในทางการเมืองอีกต่อไป สาเหตุเนื่องมาจากจำเลยเคยเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล แล้วหันไปให้ความช่วยเหลือแก่นักการเมืองในสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จนในที่สุด นายมงคล จงสุทธนามณี ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น ก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งดังกล่าว จำเลยถูกนายทหารลักพาตัวออกจากพื้นที่ตามคำสั่งของผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลแล้วถูกปล่อยตัวหลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ซึ่งได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในการหาเสียงช่วยเหลือนายมงคลครั้งนั้น นายมงคลได้ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดเช็คของจำเลยเป็นเงินจำนวนสองล้านบาทไว้แก่บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) เป็นการตอบแทน สำหรับนางอุบล ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายถึงกับต้องจ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้ตาย เพราะเรื่องที่ผู้ตายต่อว่านางอุบลในที่ประชุมผู้ร่วมลงทุนกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสร้อยคอและพระนั้น เกิดจากการที่นางอุบลต่อว่าผู้ตายก่อนเพราะถูกนายสถานีวิทยุเอารัดเอาเปรียบ จึงเป็นการต่อว่าต่อขายกันธรรมดา ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ตายกับนางอุบลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการสถานีวิทยุนั้น เป็นการใช้สิทธิทางศาลของนางอุบลตามปกติธรรมดาในทางธุรกิจเท่านั้น เช่น กรณีที่บริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้ององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายที่ถูกสั่งห้ามมิให้ออกอากาศสำหรับสถานีวิทยุที่จังหวัดยโสธร และต่อมา ได้มีหนังสือขอยกเลิกสัญญาเองเพราะเห็นว่า กิจการขาดทุน รวมทั้งการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาเจ้าหน้าที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยที่ขนเครื่องมือและอุปกรณ์ออกจากสถานที่วิทยุที่จังหวัดชัยภูมิ และการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย ก็เพราะบริษัทดังกล่าวเชื่อว่า สัญญาที่ทำกันเป็นสัญญาต่างตอบแทน การประกอบธุรกิจของนางอุบลมักจะใช้สิทธิทางศาลเมื่อเกิดปัญหา เช่น การฟ้องคดีแพ่งตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ศาลชั้นต้นและที่ศาลจังหวัดพังงา เป็นต้น การดำเนินกิจการสถานีวิทยุของบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ในห้าจังหวัด ส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุนตลอดมา เช่น ที่จังหวัดยโสธรและที่จังหวัดชัยภูมิ จึงเป็นไปไม่ได้ที่นางอุบลจะสูญเสียผลประโยชน์เป็นจำนวนเงินสี่สิบห้าล้านบาท จำเลยเกี่ยวข้องกับนางอุบลโดยสมรสกับนางกรกนก บุญญชโลธร บุตรสาวนางอุบล ในปี ๒๕๓๑ และทำหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมาย จำเลยมีโอกาสดูแลกิจการของสถานีวิทยุที่จังหวัดเชียงรายในปี ๒๕๓๗ เท่านั้น ต่อมา ปี ๒๕๓๘ จำเลยหย่าร้างกับนางกรกนก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของนางอุบลอีกต่อไป ในระยะหลัง จำเลยมีความขัดแย้งกับนางอุบลจนถูกฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ที่ปรากฏหลักฐานการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยกับนางอุบลเพราะยังมีบางคดีที่จำเลยต้องว่าความให้นางอุบลในการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์ จึงไม่มีสาเหตุใดที่จำเลยจะโกรธเคืองผู้ตายถึงกับต้องจ้างวานให้ผู้อื่นมาฆ่าผู้ตาย สำหรับพยานบุคคล ที่ให้การปรักปรำจำเลยเป็นเพราะพยานเหล่านั้นถูกทำร้าย บังคับ ขู่เข็ญ จูงใจ และมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เช่น นายสวัสดิ์ พมาลัย และนายบุญมี หรือมืด ดวงดอกมูล เคยร่วมกันยักยอกเงินในระหว่างช่วยจำเลยหาเสียงเลือกตั้ง นายสวัสดิ์ไม่ใช่เพื่อนนักเรียนของจำเลย นายสวัสดิ์เคยร่วมกับนายนิคม สมควร นำรถยนต์ยี่ห้อวอลโว หมายเลขทะเบียน ก-๖๐๖๐ เชียงราย มาจำนำไว้แก่จำเลยแล้วหลบหนีเพราะผู้ให้เช่าซื้อติดตามมายึดรถกลับคืน เป็นเหตุให้จำเลยเกิดความขัดแย้งกับพันตำรวจเอก เกษม รัตนสุนทร เกี่ยวกับการยึดรถคันดังกล่าว ประกอบกับจำเลยมีความขัดแย้งทางการเมืองกับนายฉัฐวัสส์ มุตตามระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เป็นผลให้นายบุญมีซึ่งเป็นน้องเขยของนายณัฐพล หรือเลิศ กัปปาหะ กำนันตำบลท่าข้าวเปลือก ลูกน้องของนายฉัฐวัสส์ ยอมเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยให้ต้องได้รับโทษ เพราะนายบุญมีต้องคดีฆ่าผู้อื่น และพันตำรวจเอก เกษมรับรองจะช่วยเหลือคดีดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีนายสวัสดิ์ตามที่นางสะไปทิพย์ จรัสวิทย์ และสามี เบิกความ สำหรับนายอิศวร หรือกิ่ง เพชรรักษา นั้น จำเลยเคยรู้จักมาก่อน เพราะนายวิศิษฏ์ พึ่งรัศมี เป็นผู้แนะนำให้มาช่วยเหลือจำเลยในการหาเสียงเลือกตั้ง เหตุที่นายอิศวรยอมให้การปรักปรำจำเลยเพราะเจ้าพนักงานตำรวจได้ช่วยเหลือในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นในเขตท้องที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จนพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้อง ส่วนเงินที่จำเลยให้นางสาวอนงค์รัตน์ สิทธิวงค์ หรือคำฮ้อย โอนทางบัญชีธนาคารให้แก่นายอิศวรนั้น เป็นเงินที่จำเลยให้โดยเสน่หาเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลมารดาของนายอิศวร สำหรับนายสุนันท์ หรือดำ วงศ์คำหาญ, นายกนกศักดิ์ หรือหนึ่ง อินทร์สมาน, นายชัยชนะ หรือเล็ก คงหนุน และนายนฤทุกข์ หรือกิจ หรือกฤษ อุ่นตระกูลนั้น จำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เหตุที่พยานเหล่านี้เบิกความในชั้นพิจารณาคดีของศาลไม่ตรงกับที่ให้การในชั้นสอบสวน เพราะในชั้นสอบสวน บุคคลทั้งสี่นี้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกาย จึงต้องยอมให้การปรักปรำจำเลย และเหตุที่บุคคลเหล่านั้นชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้อง เพราะหลังจากจำเลยถูกจับกุม ได้มีการนำตัวจำเลยเปิดเผยต่อสาธารณชน ประกอบบุคคลเหล่านั้นรู้จักจำเลยมาก่อน คดีนี้มีการสร้างวัตถุพยานเท็จขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางคดี โดยการปลอมลายมือชื่อผู้ต้องหาเพื่อรับรองการตรวจร่างกายของนายแพทย์กรมตำรวจ การเปลี่ยนหัวกระสุนปืนที่ยึดได้จากศพของผู้ตาย การตรวจหมวกนิรภัยของกลางที่ยึดมาได้ และการตัดต่อภาพในม้วนวีดิโอเทป นอกจากนี้ พยานหลักฐานอื่น ๆ ของโจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ เช่น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากอาจถูกผู้อื่นลักลอบใช้คลื่นความถี่ได้ ทั้งจำเลยมีโทรศัพท์มือถือไว้ใช้เองและให้ผู้อื่นใช้หลายเครื่อง ที่ใช้อยู่เป็นประจำ คือ หมายเลข ๙๖๐๓๔๕๕, ๙๒๓๙๘๑๑ และ ๙๕๒๗๒๙๖ เช่นเดียวกับโทรศัพท์ภายในสำหนักงานทนายความของจำเลยก็มีหลายหมายเลขเช่นกัน การใช้รถยนต์นั้น จำเลยมีรถยนต์ใช้จำนวนสิบเอ็ดคัน รถยนต์ยี่ห้อวอลโว หมายเลขทะเบียน ก-๖๐๖๐ เชียงราย ที่รับจำนำไว้ จำเลยเก็บรักษาไว้ที่บ้านของจำเลย และใช้ครั้งสุดท้ายเพื่อขนย้ายสิ่งของจากสำนักงานทนายความ แล้วถูกผู้ให้เช่าซื้อยึดคืน ส่วนที่นางโสวดี ฮวดศิริ ให้การว่า เห็นจำเลยขับรถยนต์วอลโว หมายเลขทะเบียน ๙ ว-๖๓๗๙ กรุงเทพมหานคร ไปพบกับนายกนกศักดิ์ในเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยเพิ่งจะซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในเดือนเมษายน ๒๕๓๙ จากนายจำเริญ กนกรัตน์ การเข้าพักในโรงแรมที่โจทก์กล่าวอ้าง แม้จะปรากฏชื่อจำเลยเป็นผู้เข้าพัก แต่บางครั้งก็มีผู้อื่นซึ่งเป็นผู้สนับสนุนจำเลยในทางการเมืองมาพักแทน จำเลยยังมีที่พักในกรุงเทพมหานครอีกหลายแห่ง เช่น ที่คอนโดมิเนียมบริเวณถนนลาดพร้าว, คอนโดมิเนียมในซอยรามคำแหง ๕๒ ซึ่งเป็นของน้องสาวจำเลย สำหรับการเดินทางโดยสายการบินของบริษัทการบินไทย จำกัด ที่ปรากฏชื่อจำเลยเป็นผู้โดยสารในบางเที่ยวบิน ความจริงแล้ว จำเลยอาจไม่ได้โดยสารในเที่ยวบินนั้น เนื่องจากจำเลยเป็นสมาชิกบัตรโรแยลออร์คิดพลัส การซื้อตั๋วเครื่องบินในนามของจำเลยจะทำให้จำเลยได้สิทธิประโยชน์เพราะได้รับการสะสมระยะทางการเดินทางเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเดินทางเที่ยวบินภายในประเทศ ผู้เดินทางไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีชื่อในตั๋วเครื่องบิน ในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๙ จำเลยไปร่วมงานรดน้ำดำหัวนายวิโรจน์ จันทรประภาส ผู้ใหญ่ที่จำเลยกับเพื่อนเคารพนับถือ ที่บ้านของนายวิโรจน์ และออกไปรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ รุ่งขึ้น จำเลยนั่งรถยนต์ของนายกฤติ พนาภิรักษ์กุล กลับกรุงเทพมหานครพร้อมกับนายอัคค์ อภิยะกันทะกุล จำเลยขอให้นายอัคค์เดินทางไปจังหวัดระนองด้วยเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในสำนวนคดีที่จำเลยเป็นทนายความแก้ต่างให้แก่นางอุบล แต่จำเลยลืมนำเอกสารมาด้วย จึงให้นายประดิษฐ์ พุทธจันทร์ น้องชายจำเลย โดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด จากจังหวัดเชียงรายนำเอกสารมามอบให้ที่กรุงเทพมหานคร โดยนายประดิษฐ์ซื้อตั๋วเครื่องบินในนามของจำเลยเช่นเคย ต่อมา สื่อมวลชนลงข่าวกล่าวหาจำเลยมีส่วนพัวพันในคดีนี้ จำเลยพยายามติดต่อพลตำรวจโท ธีระชัย เหรียญเจริญ เพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริง ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จำเลยติดต่อนายโชติศิริ ดารายนต์ ประธานสื่อมวลชนจังหวัดเชียงราย เพื่อขอแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้น แต่ในวันที่ ๑๕ เดือนเดียวกัน เวลา ๖:๓๐ นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยเสียก่อน โดยกล่าวหาว่า ร่วมกับพวกกระทำความผิดในคดีนี้ ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ ข., ค. และ ง. เป็นความผิดต่างกรรมกันหรือไม่ และตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ หรือไม่ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำนวนก่อน ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ ก. หรือไม่ เห็นว่า วันรุ่งขึ้นของคืนเกิดเหตุ กรมตำรวจได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อสืบหาคนร้ายรายนี้มาดำเนินคดี จากคำเบิกความของพันตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา พนักงานสอบสวนผู้หนึ่ง ได้ความว่า วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๙ ทราบจากสายลับว่า นายบุญมี หรือมืด ดวงดอกมูล กับนายสวัสดิ์ พมาลัย ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เคยถูกว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตาย พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์กับพวกจึงเดินทางไปติดตามตัวนายบุญมีและนายสวัสดิ์ที่จังหวัดเชียงราย พบนายบุญมีในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙ กับพบนายสวัสดิ์ที่จังหวัดพะเยาในวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน สอบถามบุคคลทั้งสองแล้วได้ความสอดคล้องกันว่า ในปลายปี ๒๕๓๗ จำเลยเคยว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตายเป็นเงินห้าแสนบาท พันตำรวจเอก ภาณุพงศ์กับพวกจึงนำนายบุญมีกับนายสวัสดิ์มาที่กองปราบปราม กรุงเทพมหานคร แล้วทำการสอบสวนในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ตามคำให้การของนายบุญมี เอกสารหมาย จ. ๘๕ และคำให้การของนายสวัสดิ์ เอกสารหมาย จ. ๑๓๖ ในชั้นพิจารณาของศาล โจทก์มีนายบุญมีมาเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อได้ทราบข่าวว่า ผู้ตายถูกคนร้ายยิงตายก็นึกถึงนายสวัสดิ์และจำเลย เพราะเมื่อปลายปี ๒๕๓๗ นายสวัสดิ์เคยพานายบุญมีไปพบจำเลยที่กรุงเทพมหานคร โดยพากันไปพักที่บ้านของลูกสาวของนายบุญมีที่ย่านดอนเมือง และพบจำเลยครั้งแรกที่ร้านขายไอศกรีมที่ศูนย์การค้าแถวหลักสี่ การพบกันครั้งนั้น จำเลยให้เงินคนละหนึ่งหมื่นบาทเป็นค่าใช้จ่าย หลังจากแยกกันกับจำเลยแล้ว นายสวัสดิ์ขับรถกระบะของลูกสาวนายบุญมีพาไปดูบ้านของผู้ตายที่หมู่บ้านเมืองทองธานี นายสวัสดิ์บอกว่า เป็นคนที่จะให้นายบุญมีลงมือฆ่ามีค่าจ้างห้าแสนบาท แต่นายบุญมีเห็นว่า บ้านของผู้ตายเป็นบ้านหลังใหญ่ คิดว่า เจ้าของบ้านเป็นคนดี จึงไม่คิดจะฆ่า ต่อมา นายสวัสดิ์ขับรถพาไปบ้านนางสะไบทิพย์ จรัสวิทย์ น้องภรรยาของนายสวัสดิ์ ซึ่งมีสามีชื่อ นายสุชาติ จรัสวิทย์ เมื่อบุคคลทั้งสองทราบว่า นายสวัสดิ์กับนายบุญมีมาดูลาดเลาเพื่อจะรับจ้างฆ่าผู้ตาย นางสะไบทิพย์กับนายสุชาติก็พูดห้ามไว้ รุ่งเช้า นายสวัสดิ์ขับรถกระบะคันเดิมพานายบุญมีไปบ้านของจำเลย แล้วจำเลยพาไปดูที่ทำงานของผู้ตายที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เมื่อไปถึง จำเลยพาไปดูภาพถ่ายของผู้ตายที่ติดไว้ที่ป้ายประกาศชั้นล่าง แต่นายบุญมีไม่สนใจ เพราะเห็นบ้านของผู้ตายแล้วก็ท้อใจไม่อยากจะทำงานนี้ หลังจากนั้น ก็พากันขึ้นลิฟต์ไปชั้นที่ ๕ เมื่อประตูลิฟต์เปิด จำเลยก็ชี้ให้ดูที่ทำงานของผู้ตายโดยมิได้ออกจากลิฟต์ เสร็จแล้ว พากันลงมาชั้นล่าง แล้วแยกย้ายกันกลับ โดยก่อนกลับ จำเลยให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งหมื่นบาท ระหว่างทางกลับที่พัก นายบุญมีพูดกับนายสวัสดิ์ว่า งานนี้ทำไม่ได้ เพราะคนที่จะให้ฆ่าเป็นคนดีและเป็นคนใหญ่คนโตด้วย นายสวัสดิ์ก็พูดว่า เมื่อนายบุญมีไม่ทำ เขาก็ไม่ทำ เย็นวันนั้นก็พากันกลับจังหวัดเชียงราย คำเบิกความของนายบุญมีดังกล่าว โจทก์มีนางสะไบทิพย์และนายสุชาติมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุน จากคำเบิกความของนางสะไบทิพย์และนายสุชาติได้ความว่า นายสวัสดิ์เคยพานายบุญมีมาเยี่ยมในช่วงเวลาตามที่นายบุญมีเบิกความไว้จริง จากการสอบถาม นายสวัสดิ์บอกว่า มีคนว่าจ้างให้มาฆ่าผู้ตาย นางสะไบทิพย์และนายสุชาติจึงได้พูดห้ามปรามมิให้รับทำ คำเบิกความของนางสะไบทิพย์ นายสุชาติ และนายบุญมีต่างสอดคล้องกันและไม่มีพิรุธให้น่าสงสัยว่า จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญมี ตามเอกสารหมาย จ. ๘๕ และของนายสวัสดิ์ ตามเอกสารหมาย จ. ๑๓๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญมีและนายสวัสดิ์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า นายบุญมีและนายสวัสดิ์ได้ให้การถึงรายละเอียดต่าง ๆ ไว้มาก เป็นต้นว่า เมื่อนายสวัสดิ์ชวนนายบุญมีมาทำงานนี้ นายบุญมีบอกว่า ยังไม่ขอรับปาก แต่จะขอดูงานก่อน ในวันที่พากันเดินทางมาพบจำเลยที่กรุงเทพมหานครนั้น ภรรยาของนายบุญมีก็มาด้วยโดยมาเยี่ยมลูกสาวและมากันโดยรถกระบะของนายบุญมี แต่ตอนนายสวัสดิ์พานายบุญมีไปดูบ้านของผู้ตายนั้นได้ขับรถกระบะของลูกสาวนายบุญมีไป สาเหตุที่ไม่เอารถกระบะของนายบุญมีไปเพราะรถคันดังกล่าวขาดเสียภาษีประจำปี กลัวจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ เมื่อนายสวัสดิ์ไปบ้านนางสะไบทิพย์ นายสวัสดิ์ได้ถามนางสะไบทิพย์ว่า รู้จักผู้ตายหรือไม่ เหตุที่ถามเพราะไปเห็นบ้านของผู้ตายแล้วคิดว่า ผู้ตายน่าจะเป็นคนสำคัญ และในขณะที่พักอยู่ที่บ้านนางสะไบทิพย์ นายสุชาติก็ได้พาเที่ยวเกือบตลอดคืน และตอนที่จำเลยพานายบุญมีกับนายสวัสดิ์มาดูที่ทำงานของผู้ตายที่ อ.ส.ม.ท. นั้น นายบุญมีนั่งรถยี่ห้อวอลโวมากับจำเลย ส่วนนายสวัสดิ์ขับรถกระบะของลูกสาวนายบุญมีตามมาและนำไปจอดไว้ที่ปากทางเข้า อ.ส.ม.ท. แล้วลงมาขึ้นรถของจำเลยไปด้วยกัน ขณะขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้นที่ ๕ ของ อ.ส.ม.ท. เมื่อประตูลิฟต์เปิด จำเลยก็ชี้ที่ทำงานของผู้ตายให้ดูโดยมิได้พากันออกจากลิฟต์ รายละเอียดเช่นนี้ หากเรื่องไม่เป็นความจริง ก็ไม่เชื่อว่า นายบุญมีและนายสวัสดิ์จะนึกคิดแต่งเรื่องขึ้นเองนำมาเบิกความถึงได้ นอกจากนี้ จากคำให้การของนายสวัสดิ์ยังได้ความอีกว่า ก่อนที่นายสวัสดิ์จะพานายบุญมีมาพบจำเลยประมาณหนึ่งเดือน นายสวัสดิ์ นายศรีไทย เครือวงศ์ เคยพานายนิคม สมควร นำรถยี่ห้อวอลโวของนายนิคมมาจำนำไว้กับจำเลยเป็นเงินสามแสนบาท ครั้งนั้น จำเลยบอกบุคคลทั้งสามให้ช่วยหามือปืนไปฆ่าผู้ตายให้ และได้ขับรถพาไปดูบ้านของผู้ตายด้วยตนเอง และก่อนที่นายสวัสดิ์ นายศรีไทย กับนายนิคมจะกลับจังหวัดเชียงราย จำเลยได้ให้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของจำเลยแก่นายสวัสดิ์และนายนิคมไว้ด้วย ส่วนนายศรีไทยทราบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยแล้ว จำเลยบอกว่า หากหามือปืนได้ก็ให้ติดต่อมา ภายหลังนายสวัสดิ์จึงได้พานายบุญมีมาพบจำเลยตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ที่จำเลยฎีกาว่า คำให้การของนายสวัสดิ์ นายบุญมี กับคำเบิกความของนายบุญมี นายสุชาติ และนางสะไบทิพย์แตกต่างกัน ไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า คำให้การและคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวในส่วนสาระสำคัญแล้วสอดคล้องกันทุกประการ จะมีแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ขาดน้ำหนักในการรับฟังแต่อย่างใด ทั้งจะเห็นได้ว่า ในที่สุด นายบุญมีกับนายสวัสดิ์มิได้เป็นคนร้ายฆ่าผู้ตาย คนร้ายที่ฆ่าผู้ตายเป็นบุคคลกลุ่มอื่นซึ่งต่อมาถูกดำเนินคดีและศาลพิพากษาลงโทษ กลุ่มคนร้ายที่ฆ่าผู้ตายก็ไม่มีความเกี่ยวพันกับนายบุญมีและนายสวัสดิ์แต่อย่างใด หากเรื่องไม่เป็นความจริงก็ไม่เชื่อว่า พนักงานสอบสวน นายบุญมี นายสวัสดิ์ นายสุชาติ และนางสะไบทิพย์จะแกล้งปรับปรำจำเลยในความผิดข้อหาอุกฉกรรจ์เช่นนี้ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยใช้ให้นายสวัสดิ์และนายบุญมีฆ่าผู้ตายจริง แต่นายสวัสดิ์และนายบุญมีมิได้กระทำการตามที่จำเลยใช้ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ตอนท้าย ประกอบมาตรา ๒๘๙ (๔) ตามฟ้องข้อ ก. ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จำเลยฎีกาต่อมามีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ ข., ข้อ ค. และข้อ ง. หรือไม่ ปัญหาข้อนี้เห็นว่า ที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายสุนันท์ หรือดำ วงศ์คำหาญ, นายกนกศักดิ์ หรือหนึ่ง อินทร์สมาน, นายนฤทุกข์ หรือกฤษ อุ่นตระกูล และนายชัยชนะ หรือเล็ก คงหนุน มาดำเนินคดีฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ มีคนร้ายยิงนายนรุต สัตยาลัย ได้รับบาดเจ็บที่หมู่บ้านสัมมากร เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร จากหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจพบในที่เกิดเหตุ ทำให้สามารถจับนายกิตติพล หรือโหน่ง อินทรปาลิต และนายสมเจต หรือปาน นนท์งาม ผู้ต้องหาในคดีนั้นได้ จากคำเบิกความของพันตำรวจโท คณิศร์ชัย มหินทรเทพ และพันตำรวจโท ปรีชา ธิมามนตรี พยานโจทก์และโจทก์ร่วม ได้ความว่า เมื่อจับผู้ต้องหาในคดีนั้นได้แล้ว ได้พาไปค้นห้องพักของนายกิตติพล จากหลักฐานที่ค้นพบประกอบกับการสอบถามนางอุษา โสภาวัลย์ ภรรยาของนายกิตติพล และนายกิตติพล กับนายสมเจต ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงตายนั้น นายกนกศักดิ์และนายสุนันท์เคยว่าจ้างให้นายกิตติพลกับนายสมเจตฆ่าผู้ตายมาก่อนแล้ว แต่นายกิตติพลกับนายสมเจตกระทำไม่สำเร็จจึงเลิกเสีย ในเบื้องต้น พันตำรวจโท ปรีชากับพวกยังไม่เชื่อตามคำบอกเล่าของนายกิตติพลและนายสมเจต จึงให้แยกนำตัวไปชี้สถานที่ที่บุคคลทั้งสองอ้างว่าไปดังยิงผู้ตาย ก็ปรากฏว่าตรงกัน ประกอบกับนายกิตติพลได้พาไปดูรอยัลทาวเวอร์อพาร์ทเมนท์ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยแจ้งวัฒนะ ๒๘ ท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อันเป็นที่พักของนายกนกศักดิ์และนายสุนันท์ แต่ขณะนั้น บุคคลทั้งสองไม่อยู่ ทราบจากนายกิตติพลว่า เดินทางไปบ้านที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร พันตำรวจโท ปรีชากับพวกจึงวางแผนจับกุมนายกนกศักดิ์และนายสุนันท์ โดยให้พันตำรวจตรี ทวีป โพธิ์แก้ว เดินทางไปอำเภอหลังสวน พันตำรวจโท สฤษณ์ชัย อเนกเวียง เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพราะทราบว่า นายสุนันท์มีอาชีพเป็นเซลแมนขายของอยู่ที่ตลาดวโรรส กับให้พันตำรวจโท คณิศร์ชัยเฝ้าดูอยู่ที่รอยัลทาวเวอร์อพาร์ทเมนท์ จากคำเบิกความของพันตำรวจตรี ทวีป ได้ความว่า ได้พร้อมกับพวกนำนายกิตติพลเดินทางไปอำเภอหลังสวนในคืนวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ แล้วประสานงานกับพันตำรวจโท นพดล เพชรขาวเขียว สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหลังสวน และทราบว่า นายกนกศักดิ์กับนายสุนันท์มาหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านของนางอมร ฮวดศิริ แม่ยายของนายกนกศักดิ์และนายสุนันท์ รุ่งเช้าจึงเข้าตรวจค้น พบนายกนกศักดิ์ พร้อมอาวุธปืนไม่มีทะเบียนหนึ่งกระบอกและกระสุนสิบสองนัด, รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีดำ หมายเลขทะเบียน ๘ ร-๑๑๐๔ กรุงเทพมหานคร กับหมวกนิรภัย ของนายสุนันท์ จึงได้ยึดไว้ ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้น เอกสารหมาย จ. ๒๐ ชั้นจับกุม นายกนกศักดิ์ให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ. ๑๙ และทราบจากนายกนกศักดิ์ว่า นายสุนันท์กับภรรยาเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร โดยรถไฟเมื่อตอนเย็นวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พันตำรวจตรี ทวีปจึงรายงานให้พันตำรวจโท ปรีชาทราบ จากนั้น ก็นำนายกนกศักดิ์เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร พันตำรวจโท ปรีชาเบิกความว่า เมื่อได้รับแจ้งจากพันตำรวจตรี ทวีปว่า นายสุนันท์เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจไปดักรอที่สถานีรถไฟตอนรุ่งเช้าวันที่ ๑๔ เดือนเดียวกัน แต่ไม่พบ จึงแจ้งให้พันตำรวจโท คณิศร์ชัยทราบ พันตำรวจโท คณิศร์ชัยเบิกความว่า รุ่งเช้าวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙ หลังจากได้รับแจ้งจากพันตำรวจโท ปรีชาแล้ว เวลาประมาณ ๘ นาฬิกา เห็นรถแท็กซี่คันหนึ่งแล่นมาจอดที่รอยัลทาวเวอร์อพาร์ทเมนท์ มีชายและหญิงสองคนลงมาจากรถ นายสมเจตซึ่งให้ดักรออยู่ด้วยบอกว่า ผู้ชายคือนายสุนันท์ พันตำรวจโท คณิศร์ชัยจึงควบคุมตัวบุคคลทั้งสองไปยังกองกำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ระหว่างทาง สอบถามนายสุนันท์ ก็ยอมรับว่า ได้ร่วมกับนายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะรับจ้างจากจำเลยทำการฆ่าผู้ตายจริง เมื่อไปถึงกองกำกับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ได้มอบผู้ต้องหาให้พันตำรวจเอก วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ และพันตำรวจโท ปรีชาสอบปากคำนายสุนันท์ ซึ่งนายสุนันท์ก็ให้การรับสารภาพ จึงได้ทำบันทึกการจับกุมไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๓๑ นอกจากนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนยังทราบจากนายกนกศักดิ์อีกว่า ก่อนผู้ตายถูกยิงตายประมาณเจ็ดถึงแปดเดือน จำเลยเคยจ้างนายอิศวร หรือกิ่ง เพชรรักษา กับนายกนกศักดิ์ให้ฆ่าผู้ตายมาก่อน แต่บุคคลทั้งสองกระทำการไม่สำเร็จ เพราะนายอิศวรถูกติดตามจับในคดีอื่นจึงหลบหนีไป จากคำเบิกความของพันตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ได้ความว่า เมื่อทราบว่า นายนฤทุกข์และนายชัยชนะเป็นคนร้ายรายนี้ด้วย พนักงานสอบสวนจึงออกหมายจับบุคคลทั้งสองในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙และวันที่ ๑๖ เดือนเดียวกัน ได้ออกเดินทางไปติดตามจับนายนฤทุกข์ที่บ้านที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่สืบทราบ และจับตัวได้ในวันนั้น ในชั้นแรก นายนฤทุกข์ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อนำตัวมาที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ นายนฤทุกข์ก็ให้การรับสารภาพ จึงได้ทำบันทึกการจับกุมไว้ ปรากฏตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ. ๕๘ นายนฤทุกข์บอกว่า ได้ทราบจากผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง นายนฤทุกข์ไม่เคยพบจำเลย ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของนายชัยชนะ เจ้าของรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าที่ขับให้ความคุ้มกันในวันเกิดเหตุ ในขณะนั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนสืบทราบว่า นายชัยชนะมีบ้านอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจเฝ้าดูทุกจุด ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๙ สามารถยึดรถยนต์ของนายชัยชนะมาได้ และวันที่ ๑๙ เดือนเดียวกัน นายชัยชนะติดต่อขอมอบตัว พร้อมได้มอบอาวุธปืนพกยี่ห้อบาเร็ตตาหนึ่งกระบอกที่ใช้ในการกระทำความผิด พร้อมแมกกาซีนหนึ่งอัน กระสุนหกนัด ให้ด้วย ได้แจ้งข้อหาให้นายชัยชนะทราบว่า ร่วมกับพวกฆ่านายแสงชัย สุนทรวัฒน์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายชัยชนะให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกการมอบตัวเอกสารหมาย จ. ๗๓ สำหรับนายอิศวรนั้น จากคำเบิกความของพลตำรวจตรี ปานศิริ ประภาวัต และบันทึกการซักถาม เอกสารหมาย จ. ๑๔ ได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจจังหวัดชุมพรจับนายอิศวรได้ในข้อหาฆ่าคนตายในคดีอื่น จากการซักถามเบื้องต้นนายอิศวรรับว่า เมื่อเจ็ดถึงแปดเดือนก่อนหน้านั้น จำเลยเคยว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตายเป็นเงินสองแสนบาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๑๔ จึงได้นำตัวมาสอบสวนในฐานะเป็นพยานในคดีนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๑๕ จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังได้กล่าวมาเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า การสืบสวนสอบสวนคดีนี้ พนักงานสืบสวนสอบสวนได้ทำร่วมกันเป็นคณะมีจำนวนทั้งสิ้นถึงสี่สิบคน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๙๓ มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ร่วมด้วยหลายคน โดยมีพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ รองอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เป็นหัวหน้า และได้ทำการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก การสืบสวนสอบสวนได้ความสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกันมาโดยตลอด จนเชื่อมโยงไปถึงคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย การทำงานร่วมกันโดยบุคคลหลายคนกับมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก และตามทางสืบสวนสอบสวนก็ได้ความเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวเนื่องติดต่อกันตามลำดับ เช่นนี้เป็นการยากที่เจ้าพนักงานทั้งหมดหรือคนหนึ่งคนใดจะสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อปรักปรำจำเลย และก็ไม่เห็นมีเหตุผลใดที่จะทำเช่นนั้นด้วย คดีนี้ เมื่อเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนจับผู้ต้องหาได้ก็ได้ทำการสอบสวนทันที การสอบสวนในเวลากระชั้นชิดเช่นนี้เป็นการยากที่ผู้ต้องหาจะนึกคิดถึงรายละเอียดของเรื่องมาเบิกความปรักปรำผู้ใดได้ นายอิศวร นายกนกศักดิ์ นายสุนันท์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะต่างให้การต่อพนักงานสอบสวนสอดคล้องกัน โดยได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายอิศวรตามเอกสารหมาย จ. ๑๕ และคำเบิกความของนายอิศวรในชั้นพิจารณาว่า เมื่อปี ๒๕๓๖ นายโป่ง เพื่อนบ้านของนายอิศวร พานายอิศวรไปฝากให้อยู่กับนายวิศิษฎ์ พึ่งรัศมี ป่าไม้จังหวัดตาก นายอิศวรจึงรู้จักนายสุนันท์ คู่เขยของนายกนกศักดิ์ซึ่งอาศัยอยู่กับนายวิศิษฎ์ก่อนแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ๒๕๓๘ จำเลยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย นายวิศิษฎ์ได้พานายอิศวรไปเป็นมือปืนคุ้มกันจำเลยในการหาเสียงด้วย นายอิศวรจึงได้รู้จักกับจำเลย ครั้นการเลือกตั้งสิ้นสุด นายอิศวรก็กลับไปอยู่ที่บ้านที่จังหวัดชุมพร ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ นายอิศวรเดินทางเข้ามาพักอยู่กับนายกนกศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนกันที่รอยัลทาวเวอร์อพาร์ทเมนท์ที่ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประมาณสิบวัน และยังไม่ได้ทำงานอะไร จึงโทรศัพท์ไปหาจำเลย จำเลยบอกว่า มีงานให้ทำ และนัดให้ไปพบที่โรงแรมแปซิฟิคปาร์ค ถนนพระราม ๙ นายอิศวรได้ชวนนายกนกศักดิ์ไปด้วย พบจำเลยที่ร้านคอฟฟีช็อปชั้นล่างของโรงแรม จำเลยบอกว่า จะให้ฆ่าผู้ตาย พร้อมกับมอบภาพถ่ายของผู้ตายให้ และจะให้ค่าจ้างสองแสนบาท จำเลยได้พาไปดูบ้านของผู้ตายที่หมู่บ้านเมืองทองธานีด้วย จากนั้น นายอิศวรกับนายกนกศักดิ์ก็ติดตามดักดูผู้ตายที่หมู่บ้านเมืองทองธานีหลายครั้ง แต่ไม่สบโอกาสจึงไม่สามารถฆ่าได้ ระหว่างนั้น จำเลยให้ค่าใช้จ่ายบางส่วนโดยโอนเงินมาจากธนาคารกรุงเทพ สาขาเชียงราย มาเข้าบัญชีของนายกนกศักดิ์ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาหลักสี่พลาซ่า ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๙๑ ถึง จ. ๙๒ ซึ่งโจทก์มีนางอนงค์รัตน์ คำฮ้อย เสมียนของจำเลยมาเบิกความว่า จำเลยสั่งให้โอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของนายกนกศักดิ์จริง ต่อมา มีนายจิตรกร หรือแดง นพฤทธิ์ มาชวนนายอิศวรไปยิงนายเล็กที่อำเภอบางบัวทองถึงแก่ความตาย และได้ค่าจ้างมาห้าหมื่นบาท กับนายอิศวรได้ร่วมกับนายจิตรกรจับพระภิกษุรูปหนึ่งไปฆ่าที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง พวกของนายอิศวรถูกตำรวจจับหมด นายอิศวรจึงหลบหนีไปอยู่ที่จังหวัดชุมพร และไม่ได้ร่วมกับนายกนกศักดิ์ยิงผู้ตายตามที่รับจ้าง ในชั้นพิจารณาของศาล โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายอิศวรมาเบิกความเป็นพยาน มีสาระสำคัญสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวน ที่จำเลยฎีกาว่า คำให้การของนายอิศวรไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากแตกต่างไปจากคำให้การของนายกนกศักดิ์ในข้อหาที่ว่า นายอิศวรให้การว่า ก่อนไปพบจำเลย ได้มาพักอยู่ที่บ้านนายกนกศักดิ์ประมาณสิบวัน แต่นายกนกศักดิ์ให้การว่า นายอิศวรมาชวนไปเลยนั้น ตามคำให้การของนายกนกศักดิ์ นายกนกศักดิ์ให้การว่า เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๓๘ นายอิศวรมาชวนนายกนกศักดิ์ไปพบจำเลยที่โรงแรมแปซิฟิคปาร์ค คำให้การของนายกนกศักดิ์ดังกล่าวเป็นเพียงนายกนกศักดิ์มิได้ให้การถึงว่า ก่อนที่นายอิศวรจะชวนนายกนกศักดิ์ไปพบจำเลยนั้น นายอิศวรพักอยู่ที่ไหนมาก่อนเท่านั้น และนายอิศวรให้การว่า จำเลยได้มอบภาพสีและขาวดำของผู้ตายให้อย่างละหนึ่งรูป แต่นายกนกศักดิ์ว่า เป็นภาพถ่ายที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเห็นว่า คำให้การของนายอิศวรดังกล่าว นายอิศวรก็มิได้ให้การว่า ภาพถ่ายที่จำเลยมอบให้นั้นเป็นภาพถ่ายหรือเป็นรูปที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้าง นายอิศวรว่า จำเลยมอบภาพถ่ายให้ แล้วก็บอกว่า จะให้ค่าจ้างสองแสนบาท แต่นายกนกศักดิ์ว่า หลังจากไปดูบ้านผู้ตายแล้ว จำเลยจึงบอกว่า จะให้ค่าจ้างสองแสนบาท คำให้การดังกล่าวหาได้แตกต่างกันอย่างใดไม่ เป็นเพียงเล่าถึงรายละเอียดคนละตอนเท่านั้น และที่จำเลยฎีกาอ้างว่า คำให้การของนายอิศวรกับนายกนกศักดิ์มีข้อแตกต่างกันอีกหลายข้อก็เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า บางข้อก็มิได้แตกต่างกัน และบางข้อที่แตกต่างกันก็เป็นเพียงพลความ หาทำให้คำให้การของนายอิศวรและนายกนกศักดิ์ขัดกันอย่างใดไม่ หลังจากที่นายอิศวรกับนายกนกศักดิ์กระทำการไม่สำเร็จ จากคำให้การของนายกนกศักดิ์ตามเอกสารหมาย จ. ๒๓ ได้ความต่อไปว่า ระหว่างที่ร่วมกับนายอิศวรติดตามดักยิงผู้ตาย แต่ไม่สบโอกาสได้ยิงนั้น พอถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ นายกนกศักดิ์ได้รับอุบัติเหตุรถชนกันได้รับบาดเจ็บ ต้องรักษาตัวอยู่ประมาณสองเดือนเศษ ระหว่างนั้น นายสุนันท์มาบอกนายกนกศักดิ์ว่า จำเลยบอกนายวิศิษฎ์ให้บอกนายสุนันท์มาเตือนนายกนกศักดิ์ว่า รับงานแล้วให้ทำให้สำเร็จ มิฉะนั้น จะโดนเก็บ นายกนกศักดิ์จึงบอกจำเลยไปว่า ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บไม่สามารถทำงานได้ และบอกด้วยว่า นายสุนันท์รับจะทำงานแทน ซึ่งจำเลยก็ตกลงด้วย ต่อมา ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ นายสุนันท์ได้ชวนนายสมเจตกับนายกิตติพลมาร่วมงาน โดยบอกว่า จะได้ค่าจ้างคนละหนึ่งแสนบาท เมื่อตกลงกันแล้วได้ร่วมกันวางแผนการทำงานที่ห้องพักของนายสุนันท์ แล้วไปติดตามเฝ้าดูและดักยิงผู้ตายหลายครั้ง แต่กระทำไม่สำเร็จ นายสมเจตกับนายกิตติพลก็แยกย้ายกลับไปและไม่ได้มาร่วมงานอีก คำให้การของนายกนกศักดิ์ดังกล่าว โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสมเจตกับนายกิตติพลมาเบิกความเป็นพยานได้ความทำนองเดียวกันว่า นายสุนันท์เรียกให้มาพบที่ห้องพักของนายสุนันท์ แล้วชวนให้ร่วมทำการฆ่าผู้ตาย โดยนายสุนันท์บอกนายสมเจตว่า จะให้ค่าจ้างหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และบอกนายกิตติพลว่า จะให้ค่าจ้างสามหมื่นบาท หลังจากนั้น ได้ร่วมกันไปดูบ้านผู้ตาย และวางแผนทำงาน แล้วไปดักยิงผู้ตายหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สบโอกาสจึงยังไม่ได้ยิง ระหว่างนั้น นายสมเจตขอเงินค่าจ้างล่วงหน้าสองหมื่นบาท แต่นายสุนันท์บอกว่า จะให้เมื่องานเสร็จ นายสมเจตไม่พอใจจึงแยกย้ายกันไป และในที่สุด นายสมเจตกับนายกิตติพลไม่ได้ร่วมกับนายสุนันท์และนายกนกศักดิ์ทำงานอีกเลย หลังจากนายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ ร่วมกับนายสมเจต และนายกิตติพลทำการฆ่าผู้ตายไม่สำเร็จ และนายสมเจตกับนายกิตติพลแยกย้ายกันกลับไปแล้ว ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายกนกศักดิ์ ตามเอกสารหมาย จ. ๒๓, ของนายสุนันท์ ตามเอกสารหมาย จ. ๓๕, ของนายชัยชนะ ตามเอกสารหมาย จ. ๗๖ และของนายนฤทุกข์ตามเอกสารหมาย จ. ๕๙ ว่า ประมาณต้นเดือนเมษายน ๒๕๓๙ นายสุนันท์กับนายกนกศักดิ์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ แล้วนัดนายชัยชนะและนายนฤทุกข์ให้ไปพบที่โรงแรมไอยรา เมื่อพบกันแล้ว นายสุนันท์ชวนนายนฤทุกข์กับนายชัยชนะให้ร่วมฆ่าผู้ตายด้วย โดยบอกว่า มีค่าจ้างสองแสนบาท และผู้จ้างจะเพิ่มให้อีกสองแสนบาทหากทำสำเร็จ ทั้งสี่คนตกลงทำงานร่วมกัน แล้ววางแผนการทำงานที่ห้องพักในโรงแรมไอยรา และนัดพบกันที่กรุงเทพมหานครในวันเกิดเหตุ ขั้นตอนดังกล่าวได้ความจากพนักงานสอบสวนว่า ในชั้นสอบสวนนายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะได้ร่วมกันนำชี้สถานที่ที่ร่วมกันวางแผน และพนักงานสอบสวนได้ถ่ายรูปไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๓๖ ภาพที่ ๗ หลังจากผู้ตายถูกยิงตายในวันเกิดเหตุแล้ว ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุนันท์ว่า วันรุ่งขึ้น นายสุนันท์ติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์ติดตามตัว เมื่อจำเลยโทรศัพท์กลับมาหา ได้สอบถามจำเลยว่า เมื่อคืนถูกตัวหรือเปล่า จำเลยตอบว่า ถูกแล้ว และนัดให้ไปรับเงินที่ปลายซอยรามคำแหง ๕๒/๒ ซึ่งตามบันทึกการใช้โทรศัพท์เอกสารหมาย จ. ๑๓๒ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๙ อันเป็นวันรุ่งขึ้นของคืนเกิดเหตุเวลา ๘ นาฬิกา ๒๖ นาที นายสุนันท์โทรศัพท์เรียกจำเลย ต่อมา เวลา ๙ นาฬิกา ๔๔ นาที จำเลยโทรศัพท์เข้าโทรศัพท์มือถือของนายสุนันท์ จากคำให้การของนายสุนันท์ได้ความต่อไปว่า วันนั้น จำเลยขับรถวอลโวสีเทาไปพบตามนัด เมื่อพบกันแล้ว นายสุนันท์ขึ้นไปบนรถ จำเลยบอกว่า เอาค่าใช้จ่ายไปก่อนสี่หมื่นบาท และบอกว่า ส่วนที่เหลือให้ไปรับเอาที่จังหวัดเชียงใหม่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ หลังจากนั้น ก็แยกย้ายกันไปแล้ว นายสุนันท์ไปซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินไปจังหวัดเชียงใหม่สี่ใบ สำหรับนายสุนันท์ และนางสุวิมล ฮวดศิริ ภรรยาของนายสุนันท์, นายกนกศักดิ์ และนางโสวดี ฮวดศิริ ภรรยาของนายกนกศักดิ์ โดยวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๓๙ นายสุนันท์กับนางสุวิมลเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ก่อนและไปพักที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ เดือนเดียวกัน นายกนกศักดิ์กับนางโสวดีก็เดินทางไปสมทบ ในชั้นพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำนายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นางสุวิมล และนางโสวดีมาเป็นพยานเบิกความรับว่า หลังจากผู้ตายถูกคนร้ายยิงตายแล้ว นายสุนันท์ นางสุวิมล นายกนกศักดิ์ และนางโสวดีได้เดินทางไปพักที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเวลาที่กล่าวแล้วจริง จากคำเบิกความของนางสุวิมลและนางโสวดีได้ความว่า ในการเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เที่ยวนั้น นางสุวิมล นางโสวดี และนายกนกศักดิ์เดินทางกลับกรุงเทพมหานครในวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ ซึ่งตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุนันท์และนายกนกศักดิ์ได้ความว่า บุคคลทั้งสองตกลงกันให้นายสุนันท์ติดต่อรับเงินจากจำเลยคนเดียว และปรากฏตามคำให้การของนายสุนันท์ว่า วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ หลังจากนายกนกศักดิ์ นางสุวิมล และนางโสวดีเดินทางกลับกรุงเทพมหานครแล้ว นายสุนันท์ได้ออกจากโรงแรมเชียงใหม่ภูคำไปพักที่โรงแรมไอยรา ต่อมา นายสุนันท์เดินทางโดยเครื่องบินจากจังหวัดเชียงใหม่ไปพบจำเลยที่สนามบินจังหวัดเชียงรายตามที่โทรศัพท์ติดต่อนัดกันไว้ ซึ่งโจทก์มีบัญชีรายชื่อผู้โดยสารสายการบินบริษัทการบินไทย จำกัด เอกสารหมาย จ. ๙๕ มาแสดง ตามบัญชีดังกล่าวมีชื่อนายสุนันท์เป็นผู้โดยสารจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดเชียงรายรวมอยู่ด้วย นายสุนันท์ให้การต่อไปว่า ก่อนไป ได้นัดนายชัยชนะกับนายนฤทุกข์ให้มารอรับเงินที่โรงแรมไอยราไว้ด้วย เมื่อไปถึงสนามบินจังหวัดเชียงรายและพบจำเลยแล้ว จำเลยได้มอบเงินให้สองแสนบาท นายสุนันท์จึงถามว่า จะให้เท่าไหร่แน่ จำเลยก็ตอบว่า จะให้สี่แสนบาท แต่ธนาคารปิด เงินที่เหลือขอให้ไปรับเอาที่กรุงเทพมหานคร จากนั้น นายสุนันท์ก็เดินทางโดยเครื่องบินกลับจังหวัดเชียงใหม่และพบนายชัยชนะกับนายนฤทุกข์มารออยู่ที่โรงแรมไอยราตามนัด นายสุนันท์มอบเงินให้นายชัยชนะและนายนฤทุกข์สองแสนบาท จากนั้น นายชัยชนะกับนายนฤทุกข์ก็จากไป วันรุ่งขึ้น นายสุนันท์เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น ก็ติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์ติดตามตัว และจำเลยโทรศัพท์เข้าโทรศัพท์มือถือของนายสุนันท์และนัดให้ไปรับเงินที่ร้านอาหารครัวเดิมเดิมในซอยรามคำแหง ๕๒/๒ ซึ่งมีอยู่ร้านเดียว ในวันนัด เมื่อนายสุนันท์ไปถึงร้านครัวเดิมเดิมก็เห็นจำเลยนั่งรออยู่ก่อนแล้ว จำเลยยื่นซองสีน้ำตาลให้และบอกว่า เงินสองแสนบาทที่เหลือ หลังจากนั้น ต่างก็แยกย้ายกันกลับ นายสุนันท์นำเงินไปแบ่งให้นายกนกศักดิ์เจ็ดหมื่นบาท ที่จำเลยเดินทางจากจังหวัดเชียงรายเข้ามายังกรุงเทพมหานครนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีบัญชีผู้โดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด เอกสารหมาย จ. ๑๐๙ แผ่นที่ ๒ มาแสดง ปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๙ มีชื่อจำเลยเป็นผู้โดยสารเครื่องบินจากจังหวัดเชียงรายมายังกรุงเทพมหานคร เป็นการสอดคล้องกับคำให้การของนายสุนันท์ที่ว่า หลังจากมีการจ่ายค่าจ้างที่สนามบินจังหวัดเชียงรายแล้ว จำเลยบอกให้ไปรับส่วนที่เหลือที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวเนตรนภา มีนวน เจ้าของร้านอาหารครัวเดิมเดิม มาเบิกความว่า เคยเห็นจำเลย เนื่องจากนาน ๆ จำเลยจะมารับประทานอาหารสักครั้ง ที่จำได้เนื่องจากจำเลยรับประทานข้าวเพียงจานเดียวและดื่มเบียร์ จากการพูดคุยกับจำเลยทราบว่า จำเลยเป็นคนอาศัยอยู่ต่างจังหวัดและมาเยี่ยมน้องสาวซึ่งอาศัยอยู่ในย่านนั้น ครั้งสุดท้ายหลังวันสงกรานต์ปี ๒๕๓๙ เวลาเที่ยงคืนแล้ว ขณะนั้น ในร้านมีลูกค้ากำลังรับประทานอาหารอยู่สองโต๊ะ นางสาวเนตรนภาปิดร้านแล้ว แต่จำเลยขอเข้ามาดื่มเบียร์เพราะนัดเพื่อนไว้ จำเลยนั่งดื่มเบียร์อยู่ที่โต๊ะติดกระจกหน้าร้าน สังเกตเห็นจำเลยถือซองเอกสารสีน้ำตาลมาด้วย ท่าทางเหมือนมานั่งรอใคร เพราะเห็นมองออกไปนอกร้าน ครั้นเมื่อลูกค้าที่เหลืออยู่เรียกเก็บเงิน นางสาวเนตรนภาก็ไปเก็บเงิน และเมื่อหันไปมองอีกทีจำเลยก็ออกไปแล้ว จำเลยได้ชำระราคาเบียร์ตั้งแต่ตอนที่สั่งมาดื่ม ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ไปที่ร้านครัวเดิมเดิม และนางสาวเนตรนภามิได้ยืนยันว่า จำเลยไปวันใดและลุกไปตั้งแต่เมื่อไรนั้น เห็นว่า นางสาวเนตรนภาไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีข้อที่น่าสงสัยว่า จะเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความของนางสาวเนตรนภาประกอบด้วยเหตุผลและสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุนันท์ ทั้งเจือสมกับคำเบิกความของนางโสวดี ภรรยาของนายกนกศักดิ์ ที่ว่า ในคืนวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๙ เวลาประมาณ ๒ นาฬิกา นายกนกศักดิ์นำเงินมาให้เจ็ดหมื่นบาท ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า คำเบิกความของนางสาวเนตรนภาเป็นความจริง ในคดีที่นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคดีหมายเลขแดงที่ ๙๓๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต นายสุนันท์และนายกนกศักดิ์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ขอให้ลดโทษ ส่วนความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ความผิดนี้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เฉพาะโทษจำคุกของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๓๐๕/๒๕๓๙ ของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืนในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีนั้นจึงฟังยุติแล้วว่า จำเลยทั้งสี่ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่จำเลยต่อสู้ว่า ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าวมิได้ให้การด้วยความสมัครใจนั้น เห็นว่า หลังจากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จไปครั้งหนึ่งแล้วมีการสอบสวนและบันทึกเทปวีดิโอไว้อีกครั้ง โดยมีพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ร่วมด้วย ซึ่งนายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะก็ยืนยันคำให้การเดิมว่า เป็นความจริง และให้การสรุปไว้อีกครั้งมีข้อความสอดคล้องกับคำให้การเดิม ปรากฏตามบันทึกการถอดวีดิโอเทปการสอบสวน เอกสารหมาย จ. ๒๘, จ. ๔๔, จ. ๖๘ และ จ. ๖๙ ตามลำดับ การสอบสวนก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนนำจำเลยทั้งสี่ไปชี้สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนหลายขั้นตอน ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. ๒๕ และ จ. ๓๖ การนำชี้ดังกล่าวมีสื่อมวลชนไปทำข่าวจำนวนมาก และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนบังคับขู่เข็ญจำเลยทั้งสี่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสี่ให้การและนำชี้ด้วยความสมัครใจ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนทำร้ายจำเลยทั้งสี่นั้น เห็นว่า หลังจากพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยทั้งสี่เสร็จแล้ว ได้มีการให้แพทย์ตรวจร่างกายของจำเลยทั้งสี่ด้วย ซึ่งนายแพทย์ประเวศ คุ้มภัย นายแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของจำเลยทั้งสี่มาเบิกความว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายแต่ประการใด ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือ ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้นำนายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะมาสอบสวนเป็นพยานด้วย ซึ่งบุคคลทั้งสี่ก็ให้การยืนยันตามคำให้การเดิมที่กล่าวข้างต้น และให้การเพิ่มเติมมีสาระสำคัญทำนองเดียวกันกับคำให้การเดิม ปรากฏตามคำให้การเพิ่มเติมของแต่ละคนตามเอกสาร หมาย จ. ๕๖, จ. ๓๐, จ. ๗๒ และ จ. ๗๗ ตามลำดับ ที่นายสุนันท์นายกนกศักดิ์มาเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมบ่ายเบี่ยงไปว่า ไม่ได้ร่วมกันฆ่าผู้ตายนั้น ปรากฏทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ก่อนที่นายสุนันท์และนายกนกศักดิ์จะมาเบิกความ ได้มีนายขุน ทองตัน ทนายจำเลย เข้าไปเยี่ยมนายสุนันท์ที่เรือนจำกลางบางขวาง, นายบุญช่วย วรรณกูล ผู้ติดตาม เข้าเยี่ยมนายกนกศักดิ์, นายโมรา ตรีพยัคฆ์ กับนายสุวรรณชาติ สูตรสุวรรณ ทนายจำเลย เข้าไปเยี่ยมนายนฤทุกข์และนายชัยชนะตามลำดับ โดยที่นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะมิได้ถูกฟ้องในคดีนี้ ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมนักโทษ เอกสารหมาย จร. ๒ และยังปรากฏคำเบิกความของนางโสวดี ภรรยาของนายกนกศักดิ์ ที่ว่า หลังจากนายกนกศักดิ์เบิกความแล้ว วันรุ่งขึ้น นางโสวดีไปเยี่ยมนายกนกศักดิ์สอบถามว่า ทำไมถึงกลับคำ นายกนกศักดิ์บอกว่า จำเลยจะให้เงินก้อนหนึ่งจึงหวังจะให้ลูกเมียสบาย ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้น่าเชื่อว่า นายสุนันท์และนายกนกศักดิ์เบิกความกลับคำเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของนายสุนันท์และนายกนกศักดิ์จึงน่าเชื่อว่า เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำให้การชั้นสอบสวนของนายอิศวร นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะเป็นพยานบอกเล่า เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า คำซัดทอดในระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากการซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ ศาลก็มีอำนาจรับฟังมาประกอบการพิจารณาได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายถึงกับต้องใช้นายอิศวร นายกนกศักดิ์ นายสุนันท์ นายสมเจต นายกิตติพล นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะให้ฆ่าผู้ตายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่า เมื่อครั้งที่ผู้ตายเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ใหม่ ๆ นางอุบลนำพระและสร้อยคอทองคำไปมอบให้ผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่รับ ผู้ตายได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูดในที่ประชุมผู้ร่วมลงทุนกับ อ.ส.ม.ท. และต่อว่านางอุบาลด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า ที่บ้านผู้ตายทุกคนมีพระและสร้อยคอทองคำอยู่แล้ว ยกเว้นสุนัขตัวเดียวที่ยังไม่มี จึงเท่ากับเป็นการด่าว่าประจานนางอุบลในที่ประชุม ทำให้นางอุบลเสียหน้า ขณะนั้น จำเลยซึ่งเป็นบุตรเขยและที่ปรึกษากฎหมายของนางอุบลอยู่ในที่ประชุมด้วย ต่อมา นางอุบลทำผิดข้อตกลงในการออกอากาศตามสัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. จังหวัดยโสธร ที่บริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ของนางอุบลเป็นผู้เช่า ผู้ตายจึงสั่งระงับการออกอากาศ นางอุบลได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย และเมื่อสัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดเชียงราย ที่บริษัทของนางอุบลเช่าสิ้นสุดลง ผู้ตายก็ไม่ยอมต่อสัญญาเช่าให้ จากคำเบิกความของนายวินิจ บุญวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. และนายสนามชัย กำจร หัวหน้าส่วนควบคุมฝ่ายออกอากาศสถานีวิทยุส่วนภูมิภาค ได้ความว่า การไม่ต่อสัญญาเช่าเวลาให้ ทำให้นางอุบลเสียผลประโยชน์ไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าล้านบาท เมื่อจำเลยไปขอพบผู้ตายที่ห้องทำงาน ผู้ตายไม่ยอมให้เข้าพบเพราะมิได้นัดไว้ก่อน ทำให้จำเลยไม่พอใจและพูดเสียงดังว่า เข้าพบยากกว่าการเข้าพบรัฐมนตรี ภายหลัง เมื่อผู้ตายให้เข้าพบ จำเลยกลับออกมาด้วยอาการโกรธพร้อมกับพูดว่า ถ้าผู้ตายยังเป็นผู้อำนวยการอยู่ จำเลยจะไม่เข้ามาเหยียบ อ.ส.ม.ท. อีก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีความโกรธเคืองผู้ตายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังปรากฏอีกว่า เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นปีที่สัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. จังหวัดชัยภูมิ ที่บริษัทของนางอุบลเช่าหมดอายุนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของ อ.ส.ม.ท. ทำการก่อสร้างสถานีใหม่เพื่อให้ออกอากาศต่อเนื่องจากสถานีเดิม และเจ้าหน้าที่ได้ถอดอุปกรณ์สถานีเดิมออกเพื่อมิให้ใช้ต่อไป ขณะที่ อ.ส.ม.ท. ทดลองออกอากาศสถานีใหม่อยู่ บริษัทของนางอุบลได้จ้างบุคคลอื่นทำการติดตั้งอุปกรณ์การออกอากาศสถานีเดิมแล้วทำการออกอากาศแข่งกับสถานีใหม่ ทาง อ.ส.ม.ท. จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและทำหนังสือถึงนางอุบลขอเข้าไปถอดอุปกรณ์ออก แต่จำเลยไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไป เจ้าหน้าที่ต้องไปขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาดูแลการถอดอุปกรณ์ขนย้ายออกมา จำเลยได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ของ อ.ส.ม.ท. ปล้นทรัพย์โดยมีผู้ตายเป็นผู้บงการ ในที่สุด คดีนี้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง นางอุบลได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. และผู้ตายเป็นเงินสิบล้านบาท นายวินิจเบิกความว่า ผู้ตายเคยเล่าให้ฟังว่า หลังจากมีสาเหตุกับจำเลย จำเลยเคยไปขอพบและขอพระพุทธรูปที่ให้ผู้ตายคืนจากผู้ตายด้วย สาเหตุที่กล่าวมา เห็นว่า ร้ายแรงและเพียงพอที่จำเลยจะใช้ให้คนอื่นฆ่าผู้ตายได้ ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของนางวัชรี สุนทรวัฒน์ ภรรยาผู้ตาย ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่แน่นอนว่า คนร้ายที่ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้นสวมหมวกกันน็อกหรือไม่ เห็นว่า นางวัชรีจำคนร้ายไม่ได้และไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร ขณะเกิดเหตุ นางวัชรีกำลังขับรถ คนร้ายยิงผู้ตายแล้วก็ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปทันที นางวัชรีทราบเหตุต่อเมื่อผู้ตายถูกยิงแล้วและล้มตัวเข้ามาหาพร้อมกับบอกว่า ถูกยิง จึงเชื่อว่า ขณะนั้น คนร้ายหลบหนีไปแล้ว คำเบิกความของนางวัชรีจึงหามีผลทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมอย่างใดไม่ และจะเห็นว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายสุนันท์และนายนฤทุกข์ได้แล้ว บุคคลทั้งสอพาไปหาหมวกกันน็อกที่บุคคลทั้งสองทิ้งไว้ในป่าหญ้าข้างทาง ปรากฏว่า มีหมวกใบหนึ่งมีเส้นผมติดอยู่ และจากการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย จ. ๑๕๙ ปรากฏว่า เป็นเส้นผมของนายนฤทุกข์ การตรวจพิสูจน์เช่นนี้เป็นการทำตามหลักวิชาและมีความแน่นอนสามารถเชื่อถือได้ ส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่นายชัยชนะนำมามอบให้พนักงานสอบสวนและจำเลยฎีกาว่า มิใช่อาวุธปืนที่นายนฤทุกข์ใช้ยิงผู้ตายนั้น เห็นว่า อาวุธปืนดังกล่าวได้มีการดัดแปลงแก้ไขให้ผิดไปจากเดิมอันเป็นพิรุธ หากมิใช่อาวุธปืนที่นายนฤทุกข์ใช้ยิงผู้ตายแล้วก็ไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่นายชัยชนะจะต้องให้นายนฤทุกข์นำไปดัดแปลงแก้ไข ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อว่า อาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่นายนฤทุกข์ใช้ยิงผู้ตายดังที่นายนฤทุกข์และนายชัยชนะให้การไว้ในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังได้วินิจฉัยมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ข., ข้อ ค. และข้อ ง. แต่ละข้อเป็นความผิดคนละกรรม ศาลต้องเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามฟ้อง ปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบฟังได้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ จำเลยติดต่อว่าจ้างนายอิศวรและนายกนกศักดิ์ให้ฆ่าผู้ตาย แต่นายอิศวรและนายกนกศักดิ์ทำไม่สำเร็จ เมื่อนายอิศวรต้องหลบหนีการติดตามจับกุมในคดีอื่นไป นายกนกศักดิ์ขอให้นายสุนันท์ช่วยเหลือ นายสุนันท์ไปติดต่อว่าจ้างนายกิตติพลและนายสมเจตมาร่วมกัน แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จอีก นายสุนันท์และนายกนกศักดิ์จึงไปติดต่อจ้างนายนฤทุกข์และนายชัยชนะให้มาช่วย จนสามารถฆ่าผู้ตายได้สำเร็จในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๙ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่า การกระทำของจำเลย คือ การติดต่อว่าจ้างนายอิศวรกับนายกนกศักดิ์ให้ฆ่าผู้ตาย ที่นายกนกศักดิ์ขอให้นายสุนันท์เข้ามาช่วยเหลือ แล้วนายสุนันท์ไปว่าจ้างนายกิตติพลและนายสมเจตให้มาร่วม ก็เพียงเพื่อให้สามารถฆ่าผู้ตายให้สำเร็จตามที่นายกนกศักดิ์รับจ้างมาจากจำเลย และเมื่อนายกิตติพลกับนายสมเจตล้มเลิกเสีย นายสุนันท์และนายกนกศักดิ์จึงไปติดต่อนายนฤทุกข์กับนายชัยชนะให้เข้ามาร่วมทำงานั้นต่อไปจนสำเร็จ การที่นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายกิตติพล นายสมเจตได้ร่วมกันไปดักยิงผู้ตายหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ แล้วในที่สุด นายสุนันท์ นายกนกศักดิ์ นายนฤทุกข์ และนายชัยชนะสามารถฆ่าผู้ตายได้สำเร็จ จึงเป็นผลของการกระทำที่สืบเนื่องติดต่อมาจากการว่าจ้างของจำเลยเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ นั่นเอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ข., ข้อ ค. และข้อ ง. จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ วรรคสอง ตอนต้น ประกอบมาตรา ๒๘๙ (๔) เมื่อรวมการกระทำตามฟ้องข้อ ก. ด้วยแล้ว จำเลยมีความผิดสองกรรม ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน



พิมล สมานิตย์


ไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ


ประดิษฐ์ สิงหทัศน์



เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ต้นฉบับหน้า ๑๖ หายทั้งหน้า — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"