คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๓๔/๒๕๔๑
เรื่อง ซ่องโจร ลักทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น
ที่ ๔๒๓๔/๒๕๔๑ |
พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง | โจทก์ | ||
ระหว่าง | |||
นายวิชัย วงศ์สมุทร ที่ ๑ | จำเลย | ||
นายประเทือง สุขสวาสดิ์ ที่ ๒ | |||
นายไพริน พรหมเศษ ที่ ๓ | |||
นายเติม กระจายโภชน์ ที่ ๔ | |||
นายปิติ สมัครพงษ์ ที่ ๕ |
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ลงวันที่ ๒๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๐ ศาลฎีการับวันที่ ๒๗ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๑
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนีอีกสองคนได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งห้ากับพวกได้สมคบกันวางแผนเพื่อกระทำความผิดลักทรัพย์รังนกอีแอ่นของบริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหาย แล้วจำเลยทั้งห้าคนกับพวกได้ร่วมกันขึ้นไปบนเกาะยายโส หมู่เกาะสี่เกาะห้า ซึ่งเป็นเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นเขตห้ามตามกฎหมายซึ่งจำเลยทั้งห้ากับพวกได้ทราบความดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งห้ากับพวกไม่ใช่ผู้รับอนุญาต และจำเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นชนิดดำบนเกาะยายซึ่งเป็นเขตห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใช้ไม้แทงรังนกซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำรูปืนบนเกาะยายโสให้หลุดออกจากผนังถ้ำ อันเป็นการกระทำใด ๆ อันเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละทิ้งไปจากเกาะยายโสซึ่งเป็นเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นการกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นซึ่งมีตามธรรมชาติบนเกาะ แล้วจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันลักเอารังนกอีแอ่นชนิดดำ หนักสองกิโลกรัม ราคาประมาณหนึ่งหมื่นบาท ของผู้เสียหายไปเสียจากการครอบครองของผู้เสียหาย โดยมีอาวุธติดตัวไปในการลักทรัพย์ และได้ใช้เรือติดเครื่องยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ภายหลังจากกระทำความผิดแล้ว จำเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นจำนวนดังกล่าวโดยจำเลยทั้งห้ากับพวกรู้ว่า รังนกดังกล่าวได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช ๒๔๘๒ นอกจากนั้น จำเลยที่ ๒ ยังมีอาวุธปืนลูกซองสั้นหนึ่งกระบอกไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและมีเครื่องกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ ๑๒ จำนวนห้านัด ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวใช้ยิงได้ ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๒ มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยที่ ๒ ได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลลำปา อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง และตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ พร้อมยึดเรือมาดไม้หนึ่งลำ พร้อมเครื่องเรือหนึ่งเครื่อง ไฟฉายหนึ่งกระบอก ถ่านไฟฉายห้าสิบก้อน ไฟฉายชนิดใช้กับแบตเตอรีหนึ่งกระบอก กระสอบปุ๋ยสองใบ ไม้แทงรังนกสองอัน รังนกอีแอ่นชนิดดำหนึ่งกิโลกรัม และอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนหนึ่งกระบอก พร้อมกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ ๑๒ จำนวนห้านัด เป็นของกลาง รังนกอีแอ่นชนิดดำของกลางหนึ่งกิโลกรัมผู้เสียได้รับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๒๑๐, ๒๑๓, ๓๓๔, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ, ๓๗๑, พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๒, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งห้าคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รังนกอีแอ่นชนิดดำหนึ่งกิโลกรัม ราคาห้าพันบาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕ (๑), (๗) วรรคสาม ประกอบมาตรา ๓๓๖ ทวิ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๔, ๕ วรรคแรก, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๒ ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาตรา ๓ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง อีกด้วย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกคนละหกปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นอันตนรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิด จำคุกคนละหนึ่งปี ฐานเข้าไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละเก้าสิบบาท สำหรับจำเลยที่ ๒ ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง จำคุกหนึ่งปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกหกเดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ คนละเจ็ดปี และปรับคนละเก้าสิบบาท ส่วนจำเลยที่ ๒ จำคุกแปดปีหกเดือน และปรับเก้าสิบบาท จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ คนละสี่ปีแปดเดือน และปรับคนละหกสิบบาท ส่วนจำเลยที่ ๒ จำคุกห้าปีแปดเดือน และปรับหกสิบบาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้ยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ ริบของกลาง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๕
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๔, ๕ วรรคแรก, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๓, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานเก็บรังนก จำคุกคนละหนึ่งปี ปรับคนละเก้าร้อยบาท ฐานครอบครองรังนกอีแอ่น จำคุกคนละหนึ่งปี เมื่อรวมกับโทษฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่แล้ว คงจำคุกคนละสองปี ปรับคนละเก้าร้อยเก้าสิบบาท จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละหนึ่งปีสี่เดือน ปรับคนละหกร้อยหกสิบบาท แต่สำหรับจำเลยที่ ๒ เมื่อรวมโทษเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้ว เป็นจำคุกสองปีสี่เดือน ปรับหกร้อยหกสิบบาท โทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละสองปี และให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือนต่อครั้งเป็นเวลาหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ เรือมาดไม้หนึ่งลำ พร้อมเครื่องยนต์หนึ่งเครื่อง อันเป็นเรือหางยาวของกลาง ให้คืนแก่เจ้าของ ข้อหาลักทรัพย์ให้ยก นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ขึ้นไปบนเกาะยายโส แล้วแทงเอารังนกอีแอ่น โดยมีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ใช้เรือรับส่ง อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ดังกล่าวเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า รังนกอีแอ่นในถ้ำตามเกาะเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๘ การที่บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหายได้รับสัมปทานให้เก็บรังนกอีแอ่นจากรัฐบาล คงมีผลเพียงว่า ถ้าผู้เสียหายประสงค์จะเก็บรังนกอีแอ่นในถ้ำตามเกาะที่ได้รับสัมปทานก็มีสิทธิกระทำได้ไม่ถูกหวงห้ามเหมือนบุคคลอื่นที่ไม่ได้รับสัมปทานเท่านั้น แต่ผู้เสียหายจะมีกรรมสิทธิ์ในรังนกอีแอ่นดังกล่าวก็ต่อเมื่อได้มีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ผู้เสียหายปักป้ายแสดงเจตนาห้ามเข้าไว้โดยรอบเกาะและจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าตรวจตราดูแลมิให้บุคคลภายนอกเข้าไปเก็บรังนกอีแอ่นในถ้ำตามเกาะในเขตสัมปทานของผู้เสียหายก็ตาม ก็เป็นเพียงการคุ้มครองดูแลมิให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้รับสัมปทานเข้ามาเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่มีสิทธิเท่านั้น แต่ยังถือไม่ได้ว่า ผู้เสียหายได้เข้ายึดถือเอารังนกอีแอ่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๘ แล้ว ผู้เสียหายจึงยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกอีแอ่นรายนี้ การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กับพวกร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้น แม้ขณะเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จะเป็นความผิดในฐานดังกล่าวก็ตาม แต่ปรากฏว่า ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้มีพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓ ยกเลิกพระราชบัญญัติรังนกอีแอ่นฉบับเดิมทั้งหมด โดยไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่า การเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น หรือผู้ที่อาศัยอำนาจผู้ได้รับอนุญาต หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตามมาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฉบับเดิม และไม่มีบทกำหนดโทษเช่นพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฉบับเดิมด้วย จึงถือได้ว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคสอง แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเอกได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ ข้อกล่าวหาตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ คงมีความผิดฐานร่วมกับพวกเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นอันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย อีกกระทงหนึ่ง
สำหรับความผิดฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่น ฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น และฐานมีไวในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่น อันเป็นความผิดตามมาตรา ๓, มาตรา ๕ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น มีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา ๑๐ ว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ ฉบับใหม่ มีบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายแก่รังนกอีแอ่น อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ไว้ในมาตรา ๒๘ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นโดยรู้ว่าได้มาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา ๒๖ ไว้ในมาตรา ๓๑ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวของจำเลยที่๑ ถึงที่ ๔ ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ ฉบับใหม่ กำหนดโทษไว้หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติอากรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ ฉบับเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งถูกยกเลิก จึงต้องใช้โทษตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ ฉบับเดิม ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที ๑ ถึงที่ ๔ ลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า เรือมาดไม้และเครื่องเรือของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและควรริบหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจากคำรับในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ใช้เรือมาดไม้พร้อมเครื่องเรือของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะสำหรับเดินทางไปยังเกาะยายโสเพื่อเก็บรังนกอีแอ่น และเมื่อเก็บรังนกอีแอ่นได้แล้วก็จะใช้เรือมาดไม้พร้อมเครื่องเรือของกลางดังกล่าวบรรทุกรังนกอีแอ่นที่เก็บได้และเครื่องมือสำหรับเก็บรังนกเดินทางกลับออกมาจากเกาะยายโส ดังนั้น เรือมาดไม้พร้อมเครื่องเรือของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กับพวกใช้ในการเดินทางไปมาเท่านั้น มิใช่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ที่ให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันหลายคน และจำเลยที่ ๒ ยังมีอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงและอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สาธารณชนได้ นับว่า เป็นการกระทำที่อุกอาจและไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่มีเหตุอันควรได้รับความปรานีรอการลงโทษให้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดฐานร่วมกันขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๖, ๑๒ ไม่รอการลงโทษจำคุกทุกข้อหา และไม่ปรับ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓
- อมร วีรวงศ์
- สุรินทร์ นาควิเชียร
- พันธาวุธ ปาณิยบุตร
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"