คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๔๔/๒๕๓๙
เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ปล้นทรัพย์
ที่ ๕๒๔๔/๒๕๓๙ |
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี | โจทก์ | ||
นางเตียง หรือซิ่วเตียง แซ่เล้า | โจทก์ร่วม | ||
ระหว่าง | |||
นายบัณฑิต โฆษิตชัยวัฒน์ ที่ ๑ | จำเลย | ||
นายสมหมาย สังข์เคลือบ ที่ ๒ | |||
นายสาทิตย์ หรือเอ๊ะ มีเย็น ที่ ๓ | |||
นายสมหมาย หรือลาย เนียมศรี ที่ ๔ |
จำเลยที่ ๑ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ลงวันที่ ๒ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ ศาลฎีการับวันที่ ๑๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๙
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๖ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และ ที่ ๔ กับพวกอีกหนึ่งคน ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ก่อให้จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก ร่วมกันไปฆ่านางสยามล ลาภก่อเกียรติ์ ผู้ตาย หลังจากได้รับการจ้าง วาน ใช้แล้ว จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก ได้ร่วมกันไตร่ตรอง เตรียมการ และวางแผนฆ่าผู้ตาย โดยจัดเตรียมอาวุธปืนสั้น กับมือโบวี่ (มีดเดินป่า) และรถยนต์กระบะป้ายแดง คันหมายเลขทะเบียน ก-๗๗๔๐ กรุงเทพมหานคร เป็นยานพาหนะ ครั้นวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ขณะผู้ตายขับรถยนต์เก๋ง คันหมายเลขทะเบียน ก-๒๓๔๔ ประจวบคีรีขันธ์ ไปตามถนนเพชรเกษม ช่วงกุยบุรี-หัวหิน พร้อมเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง โฆษิตชัยวัฒน์ บุตรสาว อายุสองปีเศษ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก ใช้รถยนต์กระบะคันดังกล่าวขับตาม และแซงปาดหน้า แล้วใช้อาวุธปืนกับมีดที่เตรียมไว้บังคับขู่เข็ญพาผู้ตาย กับเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง พร้อมรถยนต์เก๋ง ไปยังตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี แล้วร่วมกันใช้ผ้ารัดคอผู้ตาย และใช้มีดแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายของผู้ตายหลายครั้ง โดยเจตนาฆ่า ตามที่จำเลยที่ ๑ จ้าง วาน ใช้ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ในระหว่างทางที่จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก พาตัวผู้ตายไปก่อนลงมือฆ่า จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก ได้ร่วมกันปล้นเอาทรัพย์สร้อยคอทองคำหนึ่งเส้น หนักสามบาท ราคาหนึ่งหมื่นสามพันบาท เหรียญพ่อปู่สามร้อยยอดเลี่ยมทอง หนักหนึ่งสลึง หนึ่งองค์ ราคาหนึ่งพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาท แหวนทองคำ หนักหนึ่งเฟื้อง สามวง รวมเป็นเงินหนึ่งพันห้าร้อยบาท เงินสดสี่พันบาท พวงกุญแจรถยนต์หนึ่งพวง กระเป๋าใส่เงินสีดำ ภายในมีบัตรธนาคาร บัตรประจำตัวประชาชน ในอนุญาตขับขี่รถยนต์ของผู้ตาย และภาพของเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง หนึ่งใบ รวมเป็นราคาทรัพย์สองหมื่นสองร้อยห้าสิบบาท ของผู้ตายไป ในการปล้นทรัพย์ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก ใช้กำลังกายบังคับแย่งเอาทรัพย์ไป และใช้อาวุธปืนกับมีดจี้บังคับขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะฆ่าผู้ตายหากขัดขืน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ และเพื่อยึดถือเอาทรัพย์ไว้ และได้ใช้รถยนต์กระบะป้ายแดงคันหมายเลขทะเบียน ก-๗๗๔๐ กรุงเทพมหานคร เป็นยานพาหนะ เพื่อสะดวกในการปล้นทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป เหตุเกิดที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานยึดปลอกมีดและมีดโบวี่ที่ใช้แทง ผ้าที่ใช้รัดคอผู้ตาย กระเป๋าใส่เงิน และพวงกุญแจรถยนต์ของผู้ตาย และรถยนต์กระบะที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด เป็นของกลาง จำเลยที่ ๒ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๓๑๖/๒๕๒๙ ของศาลจังหวัดราชบุรี ให้จำคุกสิบปี ในความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืน จำเลยที่ ๓ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๔/๒๕๓๑ ของศาลจังหวัดนครปฐม ให้จำคุกเจ็ดปี หกเดือน ในความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยที่ ๔ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๘๗๐/๒๕๒๙ ของศาลจังหวัดนครปฐม ให้จำคุกยี่สิบปี ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ พ้นโทษมาภายในไม่เกินสามปี กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๔), ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๙๑, ๘๓, ๘๔, ๓๓, ๙๓ เพิ่มโทษจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ตามกฎหมาย ริบรถยนต์กระบะป้ายแดง คันหมายเลขทะเบียน ก-๗๗๔๐ กรุงเทพมหานคร มีด ปลอกมีด และผ้าของกลาง ให้จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สองหมื่นสองร้อยห้าสิบบาทแก่ทายาทของผู้ตาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๒, ๓ และ ๔ รับว่า เคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางเตียง หรือซิ่วเตียง แซ่เล้า ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๔ ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๓, ๓๕๗ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีก ฐานรับของโจร จำคุกสี่ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ เป็นจำคุกหกปี จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๓ มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๔๐ ตรี เรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีก ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ จำคุกคนละสิบแปดปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ เป็นจำคุกยี่สิบเจ็ดปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๔ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ เป็นจำคุกยี่สิบสี่ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามอบตัว เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และ ที่ ๔ จำคุกตลอดชีวิต ฐานรับของโจร จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดสี่ปี ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนดสิบแปดปี จำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนดสิบหกปี เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษในกระทงความผิดอื่นมารวมเข้าได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) คงลงโทษจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงินสองหมื่นสองร้อยห้าสิบบาทแก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงินหนึ่งหมื่นห้าพันสองร้อยห้าสิบบาท ริบรถยนต์กระบ มีด พร้อมปลอกมีด และผ้าเช็ดรถ ของกลาง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓ ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๔ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ ๔ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ วางโทษประหารชีวิตกระทงเดียว จำเลยที่ ๔ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ (๑) คงจำคุกจำเลยที่ ๔ ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อปี ๒๕๓๐ นางสยามล ลาภก่อเกียรติ์ ผู้ตาย ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการโรงพยาบาลกุยบุรี รักใคร่ชอบพอและมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลเดียวกัน ปี ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๑ และผู้ตายจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ ๑ ให้ผู้ตายลาออกจากงานำไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาปี ๒๕๓๔ ผู้ตายกับจำเลยที่ ๑ มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ เด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง โฆษิตชัยวัฒน์ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมรับว่าเป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ ผู้ตายกับจำเลยที่ ๑ จึงหย่ากัน โดยจำเลยที่ ๑ ให้เงินแก่ผู้ตายสองล้านบาท ต่อมา เดือนกันยายน ๒๕๓๕ ผู้ตายเปิดร้านขายเสื้อผ้าที่ศูนย์การค้าหัวหินคอมเพล็กซ์ ใช้ชื่อร้านว่า "บารมี" ติดภาพถ่ายขนาดใหญ่ของเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ไว้ที่หน้าร้าน เพื่อประจานจำเลยที่ ๑ เพราะเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง หน้าเหมือนจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้ ผู้ตายยังโทรศัพท์ไปด่าจำเลยที่ ๑ บ้าง ให้เด็กในบ้านโทรศัพท์ไปด่าบ้าง บางครั้งก็หมุนโทรศัพท์ไปถึงจำเลยที่ ๑ แล้วให้เด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง พูดด่าบ้าง จำเลยที่ ๑ เคยบอกผู้ตายหลายครั้งว่า ไม่ให้อยู่ที่อำเภอหัวหิน มิฉะนั้น จะไม่ไว้ชีวิต ครั้งสุดท้ายก่อนเกิดเหตุเก้าวัน จำเลยที่ ๑ จะแต่งงานใหม่ และบอกให้ผู้ตายออกไปจากอำเภอหัวหิน หากไม่ออกไป จะไม่ไว้ชีวิต แต่ผู้ตายพูดตอบไปว่า หากจำเลยที่ ๑ แต่งงานใหม่ ผู้ตายจะแต่งชุดดำพาบุตรไปงานแต่งงานของจำเลยที่ ๑ ต่อมากลางเดือนสิงหาคม ๒๕๓๖ นายบรรจบ นิลห้อย ซึ่งรู้จักกับจำเลยที่ ๑ ได้นำบัตรเชิญงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่มาแจกจำเลยที่ ๑ ที่คลินิกจี้อันตึ๊ง จำเลยที่ ๑ เล่าปัญหาระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ ๑ ให้ฟัง และขอให้นายบรรจบช่วยจัดการให้ด้วย นายบรรจบบอกว่า ให้เสร็จงานขึ้นบ้านใหม่วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๖ ค่อยคุยกัน ก่อนวันงานขึ้นบ้านใหม่สองวัน จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้มาช่วยขนของที่บ้านของนายบรรจบ นายบรรจบจึงชวนจำเลยที่ ๓ ฆ่าผู้ตาย หลังจากเสร็จงานขึ้นบ้านใหม่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ นายบรรจบกับจำเลยที่ ๑ นัดพบกันที่ลานจอดรถวัดเขาบันไดอิฐ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เวลาเที่ยงวัน จำเลยที่ ๑ บอกนายบรรจบให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเวลาไปทำงาน กลับบ้าน กับยานพาหนะที่ผู้ตายใช้ และนำภาพถ่ายของผู้ตายให้ดู กับบอกว่า จะทำวิธีใดก็ได้ให้ผู้ตายพ้นไปจากอำเภอหัวหิน และได้เสนอแนะให้ฆ่าผู้ตาย โดยทำเป็นข่มขืนกระทำชำเราแล้วฆ่าชิงทรัพย์ นายบรรจบบอกว่า ต้องใช้คนมาก และต้องซื้อรถยนต์คันหนึ่ง รวมค่าใช้จ่ายแล้วประมาณสี่หมื่นบาท จำเลยที่ ๑ จึงให้เงินแก่นายบรรจบหนึ่งหมื่นบาท ส่วนที่เหลือนัดให้มาเอาที่เดิม หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ เมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยที่ ๑ นำเงินมามอบให้แก่นายบรรจบอีกสามหมื่นบาท และแนะนำให้นายบรรจบนำน้ำอสุจิใส่ขวดไปราดที่ตัวและใส่ช่องคลอดของผู้ตาย โดยให้เตรียมถุงมือไปด้วย เพื่อจะได้ไม่มีร่องรอย และให้ฆ่าผู้ตายในช่วงที่จำเลยที่ ๑ ลาพักผ่อนระหว่างวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ หลังจากนั้นไม่กี่วัน นายบรรจบได้พบกับจำเลยที่ ๓ ตกลงจะใช้รถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสัน บิ๊กเอ็ม สีน้ำเงิน ป้ายแดง หมายเลขทะเบียน ก-๗๗๔๐ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ เป็นยานพาหนะในการฆ่าผู้ตาย โดยจำเลยที่ ๓ ไปชักชวนจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ มาร่วมฆ่าผู้ตายด้วย ต่อมาวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา จำเลยที่ ๒, ที่ ๓, ที่ ๔ และนายบรรจบ ได้พากันออกจากบ้านนายบรรจบ เพื่อไปดูลาดเลาของผู้ตายที่ศูนย์การค้าหัวหินคอมเพล็กซ์ โดยใช้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ ๒ เป็นยานพาหนะ จนกระทั่งเวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา ผู้ตายได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-๒๓๔๔ ประจวบคีรีขันธ์ พาเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ออกจากศูนย์การค้าหัวหินคอมเพล็กซ์ ไปตามถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปทางอำเภอกุยบุรี จำเลยที่ ๒ ขับรถตามไป เมื่อไปถึงบริเวณบ้านหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓, ที่ ๔ และนายบรรจบ ตัดสินใจจะฆ่าผู้ตายในวันนั้น จำเลยที่ ๒ ได้ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของผู้ตาย เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้ตายเสียหลักลงไปหยุดอยู่ด้านซ้าย จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และนายบรรจบ ได้ไปที่รถยนต์ของผู้ตาย นายบรรจบใช้อาวุธปืนจี้ผู้ตายให้อยู่เฉย ๆ จำเลยที่ ๓ ดึงล็อกเปิดประตูรถ แล้วจำเลยที่ ๓, ที่ ๔ กับนายบรรจบ เข้าไปนั่งในรถยนต์ของผู้ตาย จากนั้น จำเลยที่ ๓ ได้ขับรถยนต์ของผู้ตาย พาผู้ตายและบุตรย้อนกลับมาทางอำเภอหัวหิน โดยมีจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์กระบะตามมา ระหว่างที่อยู่ในรถ จำเลยที่ ๔ ได้ปลดเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองจากคอผู้ตาย และเอากระเป๋าใส่เงินไปจากกระเป๋าสะพายของผู้ตาย นอกจากนี้ ผู้ตายยังได้ถอดแหวนที่นิ้วสามวงให้แก่จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๓ ขับรถไปตามถนนเพชรเกษม จนถึงเขตอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี แล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนทางเข้าบ้านตาลกง หลังจากขับเข้าไปได้ประมาณสามกิโลเมตร จึงจอดรถ โดยมีรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ขับตามมา จอดห่างประมาณห้าเมตร เมื่อจอดรถแล้ว จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และนายบรรจบ ได้ลงจากรถ มาปรึกษาและตกลงกันจะใช้เชือกฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ ๓ ไปหาเชือกในรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ แต่ไม่พบ คงได้มาเพียงผ้าเช็ดรถหนึ่งผืน จำเลยที่ ๓ ส่งผ้าเช็ดรถให้จำเลยที่ ๔ ใช้รัดคอผู้ตาย จนผู้ตายสิ้นสติ แล้วนายบรรจบดึงกางเกงและกางเกงในของผู้ตายลงมาไว้ที่ระดับต่ำกว่าเข่า แล้วใช้ถุงพลาสติกสวมนิ้วแหย่เข้าไปในช่องคลอดของผู้ตาย เพื่ออำพรางให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำชำเรา เมื่อออกมานอกรถ นายบรรจบบอกจำเลยที่ ๔ ว่า เอาให้แน่นอน จำเลยที่ ๔ ถือมีดเข้าไปแทงผู้ตายอีกสามครั้ง จนแน่ใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย นายบรรจบไขกระจกข้างรถด้านคนขับลงเล็กน้อย เพื่อให้เด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง หายใจ หลังจากนั้น จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์กระบะพาจำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และนายบรรจบ ออกไปที่ถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๔ ได้โยนมีดเปื้อนเลือดทิ้งห่างที่เกิดเหตุประมาณสองร้อยเมตร เมื่อจำเลยที่ ๒ ขับรถไปถึงสถานีบริการน้ำมันโมบิล สี่แยกวัดเขาบันไดอิฐ จึงเลี้ยวรถเข้าไปจอดที่ห้องน้ำของสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว จำเลยที่ ๔ เข้าไปล้างมือและกางเกงที่เปื้อนเลือด และได้มอบสร้อยคอทองคำ พร้อมพระเลี่ยมทอง แหวน และกระเป๋าใส่เงินของผู้ตาย ให้แก่นายบรรจบ นายบรรจบเก็บสร้อยคอ แหวน และเงินสดสี่พันบาทเศษในกระเป๋าใส่เงินไว้ ส่วนกระเป๋าใส่เงิน นายบรรจบให้จำเลยที่ ๓ ระหว่างที่อยู่ในรถ นายบรรจบได้มอบสร้อยคอ พร้อมพระเลี่ยมทอง และแหวนหนึ่งวง ให้แก่จำเลยที่ ๒ ส่วนแหวนที่เหลืออีกสองวง โยนทิ้ง เพราะเป็นแหวนไม่มีค่า หลังจากนั้น ได้พากันหลบหนี รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา พันตำรวจตรี สุวัฒน์ ปราสัยระบิน พนักงานสอบสวน และร้อยจำรวจเอกบำเพ็ญ ผ่องผุด รองสารวัตรวิทยาการจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันตรวจที่เกิดเหตุ พบศพผู้ตายอยู่ในรถ มีแผลถูกแทงที่บริเวณเต้านมด้านซ้ายและใต้ราวนมซ้ายสามแผล บริเวณลำคอมีรอยถูกรัด กางเกงและกางเกงในรูดมาอยู่ที่เข่า พบที่เขี่ยบุหรี่ตกอยู่บริเวณพื้นรถตอนหลังด้านซ้าย ผ้าเช็ดรถและปลอกมีดวางอยู่บนเบาะหลัง ได้ใช้ก้านไม้พันสำลีซับน้ำในช่องคลอด ส่งกองพิสูจน์หลักฐานตรวจหาอสุจิ และเก็บลายนิ้วมือและลายฝ่ามือแฝงในรถยนต์ของผู้ตาย นำส่งกองพิสูจน์หลักฐานตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายนิ้วมือเดี่ยวที่เก็บไว้ ปรากฏตามรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุคดีพบศพถูกฆาตกรรม เอกสารหมาย จ.๕๑ และบันทึกข้อความ เอกสารหมาย จ.๕๔ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ นายบรรจบได้ไปรับเงินค่าจ้างฆ่าผู้ตายจากจำเลยที่ ๑ อีกสามหมื่นบาทที่สนามบินดอนเมือง แล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อีกจำนวนสองหมื่นบาท แต่จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ขอเงินจากนายบรรจบอีกคนละหนึ่งหมื่นบาท วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๖ นายบรรจบไปโทรศัพท์ที่ร้านบริการโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งอยู่ตรงข้ามธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเพชรบุรี ติดต่อวิทยุติดตามตัวของจำเลยที่ ๑ หมายเลข ๑๕๒-๑๔๘๕๖๖ แต่จำเลยที่ ๑ บอกให้นายบรรจบไปเอาเงินจากนายชาญชัย ชิ้นศิริ นายบรรจบเล่าเรื่องที่ฆ่าผู้ตายให้นายชาญชัยฟัง และขอรับเงิน แต่นายชาญชัยไม่ให้ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ นายบรรจบจึงให้นางเปรมฤดี นิลห้อย ซึ่งเป็นภรรยา ไปขอรับเงินจากจำเลยที่ ๑ ที่คลินิกจี้อันตึ๊ง โดยทำทีเป็นคนไข้ใช้ชื่อว่า "ปราณี เกตุทอง" แต่จำเลยที่ ๑ ไม่มีเงินให้ และได้สั่งให้นายบรรจบติดต่อไปที่วิทยุติดตามตัวของจำเลยที่ ๑ ในภายหลัง โดยบอกให้ติดต่อกลับมาที่ "นกเอี้ยง" นายบรรจบได้ติดต่อกับจำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๑ นัดให้ไปพบที่ร้านอาหารเรือนชมพู ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟสามเสน ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา วันดังกล่าว จำเลยที่ ๑ มอบเงินให้นายบรรจบอีกสองหมื่นบาท นายบรรจบได้นำไปให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จำนวนหนึ่งหมื่นห้าพันบาท แต่จำเลยที่ ๓ แบ่งคืนให้นายบรรจบสามพันบาท ชั้นแรก เจ้าพนักงานตำรวจสงสัยว่า สิบตำรวจเอก แผ่ว ภู่เต็ง และนายบรรจบ เป็นคนร้าย เพราะสิบตำรวจเอก แผ่วมีความสนิทสนมกับจำเลยที่ ๑ ส่วนนายบรรจบมีความสนิทสนมรักใคร่กับสิบตำรวจเอก แผ่วมาก ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่านายบรรจบเป็นคนร้าย วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานตำรวจจับนายบรรจบได้ในคดีแจ้งความเท็จของสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน แล้วสอบปากคำนายบรรจบเป็นพยานในคดีนี้ ปรากฏตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.๓๑ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ ๑ ชั้นจับกุมและสอบสวน จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนได้ให้นายบรรจบและนางเปรมฤดีชี้ตัวจำเลยที่ ๑ ซึ่งยืนปะปนกับผู้อื่นในเรือนจำจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏว่า นายบรรจบและนางเปรมฤดีชี้ตัวจำเลยที่ ๑ ได้ถูกต้อง วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปตรวจค้นคลินิกจี้อันตึ๊ง ยึดได้บัตรคนไข้และบัตรตรวจโรคที่มีชื่อนางปราณี เกตุทอง เป็นคนไข้ เป็นของกลาง ปรากฏตามบัตรคนไข้และบัตรตรวจโรค เอกสารหมาย จ.๑๒ และ จ.๑๓ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ ๒ พร้อมยึดรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน บิ๊กเอ็ม สีน้ำเงิน ป้ายแดง หมายเลขทะเบียน ก-๗๗๔๐ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ เป็นของกลาง จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ.๔๙ วันที่ ๑๓ และ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนตามลำดับ และให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.๔๖ และ จ.๕๐ ชั้นสอบสวน จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และ ที่ ๔ ให้การรับสารภาพ และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.๖๘ ถึง จ.๗๐ และบันทึกการนำชี้จุดต่าง ๆ ประกอบคำให้การรับสารภาพ กับภาพถ่าย หมาย จ. ๒๓, จ. ๒๕ และ จ.๒๖ ในการนำชี้ที่เกิดเหตุที่สถานีบริการน้ำมันโมบิลนั้น จำเลยที่ ๒ บอกว่า เห็นจำเลยที่ ๓ โยนกระเป๋าใส่เงินและพวงกุญแจรถยนต์ของผู้ตายข้ามกำแพงด้านหลังห้องน้ำออกไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงตรวจค้นบริเวณที่จำเลยที่ ๒ ชี้ พบพวงกุญแจรถยนต์ และกระเป๋าใส่เงินของผู้ตาย ซึ่งมีบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรต่าง ๆ ของผู้ตาย รวมทั้งภาพถ่ายของเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง อยู่ข้างใน ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นยึดของกลางและภาพถ่าย หมาย จ.๒๔ และ จ.๘๒ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานตำรวจยึดสมุดผู้ใช้โทรศัพท์จากร้านบริการโทรศัพท์ทางไกลซึ่งอยู่ตรงข้ามธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเพชรบุรี เป็นของกลาง ปรากฏตามสมุดผู้ใช้โทรศัพท์เอกสารหมาย จ.๙ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบมีดที่จำเลยที่ ๔ ใช้แทงผู้ตายอยู่ในทุ่งนาห่างจากที่เกิดเหตุไปทางวัดตาลกงประมาณสองร้อยเมตร โดยอยู่ห่างจากถนนประมาณห้าเมตร ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.๓๒ และเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดกางเกงยีนสองตัวของจำเลยที่ ๔ ที่อ้างว่าตัวหนึ่งได้สวมใส่ในวันเกิดเหตุ เป็นของกลาง แล้วส่งมีดและกางเกงยีนไปตรวจพิสูจน์หาคราบเลือด ผลการตรวจพิสูจน์ พบคราบเลือดที่มีดและกางเกงยีนตัวหนึ่ง แต่พบเลือดน้อย ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นเลือดมนุษย์หรือไม่ ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย ป.จ.๔ (ศาลอาญากรุงเทพใต้) นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือและลายพิมพ์ฝ่ามือของจำเลยทั้งสี่ นายบรรจบ และผู้ต้องสงสัยรวมสิบเอ็ดคน ไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับรอยนิ้วมือและลายฝ่ามือแฝงที่เก็บได้จากรถยนต์ของผู้ตาย ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า รอยลายนิ้วมือแฝงที่เก็บจากกล่องที่เขี่ยบุหรี่ในรถ ตรงกับลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของจำเลยที่ ๔ รอยลายนิ้วมือแฝงที่เก็บจากประตูหน้าขวาในรถ ตรงกับลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวาของจำเลยที่ ๓ รอยลายฝ่ามือแฝงที่เก็บจากประตูหน้าขวาในรถและประตูหลังขวานอกรถ ตรงกับลายพิมพ์ฝ่ามือขวาของจำเลยที่ ๓ ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย ป.จ.๘ (ศาลอาญากรุงเทพใต้) ผลการตรวจพิสูจน์สำลีที่ซับน้ำในช่องคลอดของผู้ตายปรากฏว่า พบคราบอสุจิติดอยู่ ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย ป.จ. ๒ (ศาลอาญากรุงเทพใต้)
จำเลยที่ ๑ นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับราชการอยู่โรงพยาบาลหัวหิน และยังเปิดคลินิกชื่อ คลินิกจี้อันตึ๊ง หากเป็นคนไข้ประจำหรือคนไข้ที่มาฝากครรภ์ที่คลินิก จำเลยที่ ๑ ก็จะให้นามบัตร ซึ่งมีหมายเลขวิทยุติดตามตัวของจำเลยที่ ๑ แก่คนไข้ด้วย หลังจากที่จำเลยที่ ๑ หย่ากับผู้ตายแล้ว ยังคงพูดจากันด้วยดี ผู้ตายไม่เคยประจานให้จำเลยที่ ๑ เสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่เคยพูดว่า ถ้าจำเลยที่ ๑ แต่งงานใหม่ ผู้ตายจะใส่ชุดดำขับรถเข้าไปในงานแต่งงาน อีกทั้งจำเลยที่ ๑ ก็ยังไม่มีโครงการที่จะแต่งงานใหม่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ไม่รู้จักนายบรรจบ และไม่เคยพบนางเปรมฤดี ส่วนนางปราณีตามบัตรคนไข้และบัตรตรวจโรค เอกสารหมาย จ.๑๒ และ จ.๑๓ นั้น มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดระยอง ปรากฏตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารหมาย ล.๑๔ และ ล.๑๗ นางปราณีมาทำงานอยู่กับนายวรวิทย์ เหล่าพูนทรัพย์ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่หนึ่งเดือนก็ลาออก เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๓๖ นางปราณีมาตรวจรักษาที่คลินิกจี้อันตึ๊ง เพราะประจำเดือนขาดสองเดือน สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ขอให้จำเลยที่ ๑ ทำแท้งให้ แต่จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลหัวหินตั้งแต่เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๖:๓๐ นาฬิกา ปรากฏตามบัญชีลงนามมาทำงาน เอกสารหมาย ล.๗ ไม่ได้ไปกรุงเทพมหานคร
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ จ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ ๒, ที่ ๓, ที่ ๔ และนายบรรจบ ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นมารดาผู้ตาย และนางสาวปาริชาติ ลาภก่อเกียรติ์ พี่สาวผู้ตาย เบิกความเป็นพยานว่า ผู้ตายทำงานธุรการที่โรงพยาบาลกุยบุรี จำเลยที่ ๑ เป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลเดียวกัน ผู้ตายและจำเลยที่ ๑ รักใคร่ชอบพอ และต่อมาได้เสียกัน จำเลยที่ ๑ ให้ผู้ตายลาออกไปเรียนเย็บเสื้อผ้าที่กรุงเทพมหานคร ต่อมา จำเลยที่ ๑ ย้ายไปเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลหัวหิน จำเลยที่ ๑ ไปหาผู้ตายที่กรุงเทพมหานคร และเกิดบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ เด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ต่อมา ผู้ตายอุ้มเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง อายุประมาณหนึ่งเดือน ไปหาโจทก์ร่วม ผู้ตายบอกโจทก์ร่วมว่า ตนผิดไปแล้วที่เสียรู้จำเลยที่ ๑ เมื่อผู้ตายตั้งครรภ์ได้สี่เดือน จำเลยที่ ๑ ให้ผู้ตายทำแท้ง แต่ผู้ตายไม่ยอม ต่อมา ผู้ตายและจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ร่วมได้พาเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ไปบ้านจำเลยที่ ๑ พบบิดา มารดา และอาผู้หญิงของจำเลยที่ ๑ มารดาของจำเลยที่ ๑ พูดว่าไม่รับรู้ และจำเลยที่ ๑ พูดว่า ไม่สามารถรับผู้ตายเป็นลูกเมียได้ เพราะอนาคตจะสั้น เนื่องจากผู้ตายไม่มีความรู้ หากรับเป็นภรรยา จะอายผู้อื่น จำเลยที่ ๑ จะมีภรรยาเป็นแพทย์ ส่วนอาผู้หญิงของจำเลยที่ ๑ เอาไม้กวาดไล่ หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งเดือน ผู้ตายก็หย่ากับจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ให้เงินผู้ตายเป็นการตอบแทนสองล้านบาท ผู้ตายพาเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ไปอยู่กับนางดวงใจ พี่สาว ที่กรุงเทพมหานครประมาณหนึ่งปี ผู้ตายจึงพาเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง มาอยู่กับโจทก์ร่วม ต่อมา เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๕ ผู้ตายเปิดร้านขายเสื้อผ้าชื่อ บารมี อยู่ที่ศูนย์การค้าหัวหินคอมเพล็กซ์ นางสาวปาริชาติเบิกความด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผู้ตายขายเสื้อผ้าอยู่นั้น ผู้ตายโทรศัพท์ไปด่าจำเลยที่ ๑ บ้าง ให้เด็กในบ้านโทรศัพท์ไปด่าบ้าง บางครั้งก็หมุนโทรศัพท์ให้เด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ด่าบ้าง ที่ร้านบารมีติดภาพถ่ายขนาดใหญ่ของเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ไว้ ผู้ตายบอกว่า เพื่อประจานจำเลยที่ ๑ เพราะเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง หน้าเหมือนจำเลยที่ ๑ มาก เมื่อมีคนมาซื้อของที่ร้าน ผู้ตายจะชี้ให้ดูภาพถ่าย และบอกว่าเป็นบุตรจำเลยที่ ๑ เมื่อต้นปี ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ให้คนถือหนังสือนัดพบผู้ตายที่สวนสน ผู้ตายไปพบจำเลยที่ ๑ แล้วทะเลาะกันอย่างรุนแรง จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์จะชนผู้ตาย จำเลยที่ ๑ พูดขู่หลายครั้งไม่ให้ผู้ตายอยู่อำเภอหัวหิน มิฉะนั้น จะไม่ไว้ชีวิต ครั้งสุดท้าย ก่อนเกิดเหตุเก้าวัน ผู้ตายไปบอกนางสาวปาริชาติว่า จำเลยที่ ๑ จะแต่งงานใหม่ จำเลยที่ ๑ บอกผู้ตายให้ออกไปจากอำเภอหัวหิน มิฉะนั้น จะไม่รับผิดชอบ และไม่ไว้ชีวิต ผู้ตายจึงตอบไปว่า หากจำเลยที่ ๑ แต่งงานใหม่ ผู้ตายจะแต่งชุดดำพาเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ไปงานแต่งงานของจำเลยที่ ๑ เมื่อผู้ตายถูกฆ่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปตรวจห้องนอนผู้ตาย พบจดหมายของผู้ตายปรากฏตามเอกสาร หมาย จ.๑ และพบบันทึกเรื่องระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งผู้ตายเขียนไปลงหนังสือคู่สร้างคู่สม ปรากฏตามเอกสาร หมาย จ.๕ นอกจากนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางเตี่ยม กันทาสุข ช่างเสริมสวยซึ่งผู้ตายไปทำผม และนายสุนิษา กลิ่นจันทร์ ซึ่งขายกางเกงที่ศูนย์การค้าหัวหันคอมเพล็กซ์ เบิกความเป็นพยานว่า ผู้ตายเคยเล่าให้ฟังว่า จำเลยที่ ๑ เป็นคนรัก แต่เลิกกันแล้ว เพราะจำเลยที่ ๑ เจ้าชู้ หากจำเลยที่ ๑ แต่งงานใหม่ จะใส่ชุดดำ พาเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง แต่งตัวมอมแมม ไปงานแต่งงานด้วย นางสุนิษายังเบิกความด้วยว่า ผู้ตายเคยนำหนังสือคู่สร้างคู่สมมาให้พยานอ่าน แล้วบอกว่าเป็นชีวิตจริงของผู้ตาย จำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานว่า รู้จักผู้ตาย และได้เสียเมื่อประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๓๑ และได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายปลายปี ๒๕๓๑ โจทก์ร่วมต้องการให้จำเลยที่ ๑ กับผู้ตายจัดพิธีแต่งงาน จำเลยที่ ๑ บอกให้รอไปก่อน เพราะฐานะจำเลยที่ ๑ ยังไม่มั่นคง จำเลยที่ ๑ หาทางออกให้ผู้ตายไปเรียนตัดเสื้อที่กรุงเทพมหานคร ต่อมากลางปี ๒๕๓๓ ผู้ตายตั้งครรภ์ จำเลยที่ ๑ บอกผู้ตายว่า ยังไม่พร้อมจะมีบุตร เพราะจะต้องจัดพิธีแต่งงานเสียก่อนตามประเพณีของคนจีน ต่อมา ผู้ตายได้คลอดบุตร จำเลยที่ ๑ พาไปให้อาคนที่ ๕ หรือโหงวโก เป็นคนตั้งชื่อให้ว่า อิงอิง หลังจากคลอดบุตรแล้ว จำเลยที่ ๑ บอกให้ผู้ตายอยู่กรุงเทพมหานครไปก่อน แต่ผู้ตายไม่ยอม เมื่อเด็กหญิงอิงอิงอายุได้ประมาณหนึ่งเดือน โจทก์ร่วม และนางดวงใจ พี่สาวผู้ตาย ได้พาผู้ตาย และเด็กหญิงบารมี หรืออิงอิง ไปหามารดาจำเลยที่ ๑ ที่บ้านที่อำเภอหัวหิน จะให้มารดาจำเลยที่ ๑ รับผู้ตายเป็นบุตรสะใภ้และจัดพิธีแต่งงานให้ มารดาจำเลยที่ ๑ บอกว่า จะต้องปรึกษากับคนในครอบครัวก่อน โจทก์ร่วมไม่ยอม และกลับไปด้วยความโกรธ หลังจากนั้น ทางบ้านผู้ตายได้กระจายข่าวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับผู้ตายให้คนทั่วไปทราบ ต่อมา ได้มีการเจราจากัน ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับผู้ตายไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ จำเลยที่ ๑ ขอร้องให้มารดาจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ผู้ตายสองล้านบาท และไปทำการหย่ากัน ต่อมา เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน ๒๕๓๔ หนังสือคู่สร้างคู่สมได้ลงเรื่องจำเลยที่ ๑ กับผู้ตาย ตอนที่จำเลยที่ ๑ คบกับผู้ตายใหม่ ๆ จำเลยที่ ๑ มีคู่รักอยู่แล้ว เป็นแพทย์ และเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า แพทย์หญิงบุษบาแอบชอบพอกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ลากิจตั้งแต่วันที่ ๒๗ ถึง ๓๐ กันยายน และ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ตอนที่อยู่จังหวัดภูเก็ต นายไพฑูรย์ หลินลาโพธิ์ เพื่อนจำเลยที่ ๑ เป็นคนพาแพทย์หญิงบุษบาไปเที่ยวกับจำเลยที่ ๑ ด้วย เห็นว่า โจทก์ร่วม นางปาริชาติ นางเตี่ยม และนางสุนิษาเบิกความสอดคล้องกับพยานเอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๕ จำเลยที่ ๑ ก็เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมและข้อความในเอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๕ คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ตายยังมีความผูกพันจำเลยที่ ๑ อยู่ และขัดขวางการที่จำเลยที่ ๑ จะแต่งงานใหม่ โดยจะประจานให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความอับอาย จึงมีมูลเหตุชักจูงใจเพียงพอที่จำเลยที่ ๑ จะหาทางฆ่าผู้ตาย นายบรรจบ พยานโจทก์และโจทก์ร่วม เบิกความว่า เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม ๒๕๓๖ พยานนำบัตรเชิญงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ไปเชิญจำเลยที่ ๑ ที่คลินิกจี้อันตึ๊ง จำเลยที่ ๑ เล่าให้พยานฟังว่า มีปัญหากับผู้ตาย ซึ่งเคยได้เสียกัน แต่เลิกร้างกันแล้ว ผู้ตายยังโทรศัพท์มารบกวน ให้เงินเป็นล้านแล้วยังไม่ยอมเลิก ผู้ตายจะมาแฉในงานแต่งงานที่จำเลยที่ ๑ กำลังจะจัดขึ้น ขอให้พยานช่วยจัดการ ผู้ตายชื่อ หญ้า เปิดร้านขายเสื้อผ้าชื่อ บารมี อยู่ที่ศูนย์การค้าหัวหินคอมเพล็กซ์ พยานบอกจำเลยที่ ๑ ว่า ทำบุญขึ้นบ้านใหม่เสร็จแล้วค่อยคุยกัน หลังจากทำบุญขึ้นบ้านใหม่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ พยานและจำเลยที่ ๑ นัดพบกันที่วัดเขาบันไดอิฐ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ ๑ บอกพยานว่า บ้านผู้ตายอยู่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ตายใช้รถยนต์นิสสัน สีขาว หมายเลขทะเบียน ก-๒๓๔๔ ประจวบคีรีขันธ์ กระจกหลังติดสติกเกอร์อิงอิง ผู้ตายจะกลับบ้านเวลา ๑๗ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ นำภาพถ่ายของผู้ตายให้พยานดู และบอกว่า ให้ทำด้วยวิธีใดก็ได้ ให้ผู้ตายพ้นไปจากอำเภอหัวหิน พยานเสนอว่า เอารถจักรยานยนต์ประกอบ แล้วยิงทิ้ง จำเลยที่ ๑ บอกว่า ไม่ได้ เดี๋ยวตนเดือดร้อน พยานจึงเสนอว่า ให้จี้ผู้ตาย แล้วทำให้หายตัวไป จำเลยที่ ๑ ไม่เอา เพราผู้ตายไม่เคยไปไหนกับใคร จำเลยที ๑ จึงบอกพยานให้ทำเป็นกระทำชำเรา แล้วฆ่าชิงทรัพย์ พยานบอกว่า ช่วงเวลา ๑๗ นาฬิกามีคนมาก ต้องใช้เงินเยอะ และใช้รถยนต์กระบะ กับต้องใช้เงินประมาณสี่หมื่นบาท จำเลยที่ ๑ จึงให้เงินพยานหนึ่งหมื่นบาท ส่วนที่เหลือนัดให้ไปเอาหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยนัดกันทีเดิม เวลาเที่ยง อีกสองวันต่อมา จำเลยที่ ๓ มาหาพยานที่บ้าน พยานจึงคุยเรื่องจะไปฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ ๓ บอกว่า จำเลยที่ ๒ มีรถยนต์กระบะอยู่ พยานจึงให้ชวนจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ มาร่วมงานด้วย ต่อมา เมื่อถึงวันนัด เวลาเที่ยง พยานไปรอจำเลยที่ ๑ ที่วัดเขาบันไดอิฐ จำเลยที่ ๑ แนะนำให้นำน้ำอสุจิของใครก็ได้ใส่ขวดไปรดที่ตัวและที่ช่องคลอดของผู้ตาย ให้เตรียมถุงมือไปด้วยจะได้ไม่มีร่องรอย จำเลยที่ ๑ ให้พยานทำงานระหว่างวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นช่วงที่จำเลยที่ ๑ ลาพักร้อน จำเลยที่ ๑ ให้เงินพยานอีกสามหมื่นบาท ต่อมา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มาบ้านพยาน พยานจึงคุยกับจำเลยที่ ๓ ว่า จะลงมือทำงานช่วงวันที่ ๒๖ ถึงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ ในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ลาพักร้อน คือ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓, ที่ ๔ และพยานร่วมกันฆ่าผู้ตายและปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา พยานติดต่อทางวิทยุติดตามตัวไปหาจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ โทรศัพท์มาหาพยาน พยานพูดขอเงินอีกสามหมื่นบาท จำเลยที่ ๑ นัดพยานให้ไปพบที่สนามบินดอนเมือง เวลา ๑๘ นาฬิกา ขณะนั้น จำเลยที่ ๑ บอกว่า อยู่จังหวัดภูเก็ต อีกประมาณสิบนาที จำเลยที่ ๑ โทรศัพท์มาขอเลื่อนเวลาเป็นประมาณ ๑๙ นาฬิกา เมื่อจำเลยที่ ๑ พบพยานที่สนามบินดอนเมือง จำเลยที่ ๑ ถามพยานว่า เรียบร้อยหรือไม่ พยานก็ตอบว่า เรียบร้อย จำเลยที่ ๑ จึงให้เงินพยานอีกสามหมื่นบาท พยานแบ่งเงินให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อีกสองหมื่นบาท แต่จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ขอเงินจากพยานอีกคนละหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้น ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๖ พยานจึงไปโทรศัพท์ที่ร้านบริการโทรศัพท์ซึ่งอยู่ข้างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเพชรบุรี เรียกวิทยุติดตามตัว หมายเลข ๑๕๒-๑๔๘๕๖๖ แล้วจำเลยที่ ๑ ได้โทรศัพท์ติดต่อกลับมาที่ร้านบริการโทรศัพท์ พยานได้พูดเรื่องเงินกับจำเลยที่ ๑ อีก แต่จำเลยที่ ๑ ให้ไปเอาจากนายชาญชัย ซึ่งเป็นเพื่อนจำเลยที่ ๑ และเคยเป็นนายจ้างของพยาน แต่นายชาญชัยไม่ยอมให้ ต่อมา วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ พยานจึงให้นางเปรมฤดี นิลห้อย ภรรยาพยาน ทำเป็นคนไข้ในนามนางปราณี เกตุทอง ไปขอเงินจากจำเลยที่ ๑ ที่คลินิกจี้อันตึ๊ง แต่จำเลยที่ ๑ ไม่มีเงินให้ และสั่งนางเปรมฤดีให้บอกพยานติดต่อไปที่วิทยุติดตามตัว เพื่อให้จำเลยที่ ๑ โทรศัพท์ติดต่อกับพยาน พยานจึงโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ บอกว่า พรุ่งนี้จะโทรศัพท์ไปหาพยานที่แฟลตสามเสน รุ่งขึ้น วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ โทรศัพท์ไปหาพยาน และนัดพบใกล้ร้านอาหารเรือนชมพู ตรงข้ามสถานีรถไฟสามเสน จำเลยที่ ๑, พยาน และนางเปรมฤดี ไปนั่งในร้านอาหารไม่มีชื่อ ที่ร้านอาหารนี้ จำเลยที่ ๑ เอาเงินให้พยาน พยานนำเงินที่ได้มาแบ่งให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไปหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ส่วนที่เหลือจำนวนเท่าใดพยานไม่ได้นับและเก็บเอาไว้ใช้เอง หลังจากนั้น พยานหลบหนีไปที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จนกระทั่งวันที่ ๑๙ ตุลาคม พันตำรวจโท เรวัต กลิ่นเกสร ติดตามจับกุมพยานได้ มีปัญหาว่า คำเบิกความของนายบรรจบดังกล่าวจะรับฟังได้เพียงใด เห็นว่า แม้นายบรรจบเป็นผู้ร่วมกระทำผิด แต่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีกับนายบรรจบและได้สอบสวนเป็นพยานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณามิได้มีบทบัญญัติใดที่ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนกันผู้กระทำผิดเป็นพยาน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนกันนายบรรจบเป็นพยานในคดีนี้จึงมีสิทธิทำได้โดยชอบ อีกทั้งไม่ปรากฏว่า การที่นายบรรจบให้การต่อพนักงานสอบสวน ตามเอกสารหมาย จ. ๓๑ ตลอดจนเบิกความต่อศาล เกิดจากการจูงใจให้คำมั่นสัญญาของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๕ และ ๒๒๖ นายบรรจบไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๑ มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลยที่ ๑ คำเบิกความของนายบรรจบเชื่อมโยงสอดคล้องสมเหตุผล แม้จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน แต่ก็มิได้เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้นแต่อย่างใด จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ซึ่งในคดีนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายไพฑูรย์ หลินลาโพธิ์ เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๖ กับนางสาวบุษบา หรือป้อม คนรัก ต่อมา วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ บอกพยานว่า ผู้ตายถูกฆ่า ต้องรีบกลับ พยานจึงไปส่งจำเลยที่ ๑ ที่สนามบินในเย็นวันนั้น ระหว่างที่จำเลยที่ ๑ อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต พยานเห็นจำเลยที่ ๑ มีวิทยุติดตามตัวและโทรศัพท์มือถือ โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางสาวสาวิตรี พุฒเทศ ลูกจ้างร้านบริการโทรศัพท์ เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๖ นายบรรจบมาใช้บริการขอให้ติดต่อวิทยุติดตามตัว หมายเลข ๑๕๒-๑๔๘๕๖๖ และให้โทรศัพท์กลับมาที่หมายเลข (๐๓๒) ๔๒๘๔๙๙ ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของร้านบริการโทรศัพท์ ต่อมาสักครู่ มีโทรศัพท์จากผู้ใช้วิทยุติดตามตัวหมายเลขดังกล่าวติดต่อกลับมา พยานจึงให้นายบรรจบพูดโทรศัพท์ ปรากฏตามสมุดผู้ใช้โทรศัพท์ เอกสารหมายเลข จ. ๙ และได้ชี้ตัวนายบรรจบ ปรากฏตามภาพถ่าย หมาย จ. ๑๐ ตอนนายบรรจบมาใช้บริการมีหนวด นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางเปรมฤดีเป็นพยานเบิกความว่า ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๑๕๓๖ พยานไปที่คลินิกของจำเลยที่ ๑ ในฐานะคนไข้ชื่อ นางปราณี และนำภาพถ่ายตอนแต่งงานกับนายบรรจบให้จำเลยที่ ๑ ดู กับบอกจำเลยที่ ๑ ว่า นายบรรจบให้มาเอาเงิน จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ให้เงินพยาน แต่ให้นายบรรจบโทรศัพท์ติดต่อไปโดยใช้รหัสว่า "นกเอี้ยง" บัตรตรวจโรคของนางปราณีตามที่นางเปรมฤดีอ้างชื่อ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๑๓ นายรัชชพงษ์ วัฒนะกูล ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทชินวัตรเพจจิ้ง จำกัด สาขาราชบุรี ในตำแหน่งผู้จัดการ เบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมด้วย ว่า เมื่อปลายปี ๒๕๓๖ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรีได้ขอให้ตรวจสอบว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของวิทยุติดตามตัว หมายเลข ๑๔๘๕๖๖ หรือไม่ ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ. ๑ (ศาลจังหวัดราชบุรี) ส่วนพันตำรวจตรี สุวัฒน์ ปราสัยระบิน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากหนึ่ง เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ ให้การชั้นสอบสวน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๖๐ จำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ ๑ เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๖ กับแพทย์หญิงบุษบา วันเดียวกันนั้น นายชาญชัยได้ติดต่อทางวิทยุติดตามตัวมาถึงจำเลยที่ ๑ เมื่อโทรศัพท์กลับไป นายชาญชัยได้แจ้งให้ทราบว่า ผู้ตายถูกฆ่าตาย จึงรีบเดินทางมากรุงเทพมหานครในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๖ โดยนั่งเครื่องบินถึงสนามบินดอนเมือง เวลาประมาณสามทุ่มครึ่ง คืนนั้น นายชาญชัยแนะนำให้จำเลยที่ ๑ ไปพบตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ จำเลยที่ ๑ ลงรายการในบัตรตรวจโรค เอกสารหมาย ล. ๑๓ เห็นว่า นายรัชชพงษ์เป็นพยานคนกลาง คำเบิกความสอดคล้องกับพยานเอกสารหมาย ป.จ. ๑ (ศาลจังหวัดราชบุรี) และ ป.จ. ๒ (ศาลจังหวัดราชบุรี) จำเลยที่ ๑ เองก็ให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย ล. ๖๐ รับว่า หมายเลขวิทยุติดตามตัวดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๑ ส่วนนางสาวสาวิตรีก็เป็นพยานคนกลาง และเบิกความสอดคล้องกับพยานเอกสารหมาย จ. ๙, ภาพถ่ายหมาย จ. ๑๐ และสอดคล้องกับคำเบิกความของนายบรรจบและนายไพฑูรย์ คำเบิกความของนางสาวสาวิตรีจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ สนับสนุนให้คำเบิกความของนายบรรจบน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายบรรจบได้โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ ๑ ตามที่นายบรรจบเบิกความจริง ส่วนคำเบิกความของนางเปรมฤดีสอดคล้องกับเอกสารหมาย จ. ๑๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็เบิกความรับว่า ได้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวจริง คำเบิกความของนางเปรมฤดีจึงสนับสนุนให้คำเบิกความของนายบรรจบมีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งขึ้น พยานจำเลยที่ ๑ ที่นำสืบว่าไม่เคยรู้จักนายบรรจบมาก่อน ไม่ได้จ้างวานให้นายบรรจบฆ่าผู้ตาย เป็นการนำสืบลอย ๆ มีน้ำหนักไม่พอฟังหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้จ้างวาน ใช้ ให้นายบรรจบกับพวกฆ่าผู้ตาย เมื่อนายบรรจบกับพวกฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ ๑ จึงต้องมีความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
- สถิตย์ ไพเราะ
- พรชัย สมรรถเวช
- สมคิด ไตรโสรัส
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"